Play —— The Conscious shopper

นอนฟังฝนก็สุขได้! เทรนด์บำบัดใจด้วย ‘เสียง’

เสียงลำโพงจากรถพุ่มพวง เสียงสัญญาณกันขโมยรถยนต์ เสียงไซเรนของหน่วยกู้ภัย เสียงจากงานก่อสร้าง ถ้านิยามว่าเสียงเหล่านี้มาพร้อมความตึงเครียดก็คงไม่เกินไปนัก เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่มันแล่นผ่านหู ร่างกายก็เหมือนจะถูกดึงเอาความผ่อนคลายออกไปโดยอัตโนมัติ นั่นเป็นเพราะคลื่นความถี่ของแต่ละเสียงส่งผลต่อความรู้สึกของเราไม่เหมือนกัน กลับกัน เสียงในคลื่นความถี่ที่ถูกต้องจึงช่วยคลายความเครียดและความวิตกกังวลได้ดีเยี่ยม เลยอยากชวนมาฮีลใจด้วยสารพัดศาสตร์แห่งเสียงต่อไปนี้ที่ดีกับกายใจ

คลื่นเสียงบำบัด

Sound Healing คือ ศาสตร์การบำบัดด้วยเสียง จากการใช้คลื่นความถี่ที่แตกต่างกันมาเยียวยาจิตใจบำบัดอารมณ์ของผู้คน ลงลึกในรายละเอียดกว่านั้น นักบำบัดและผู้เชี่ยวชาญอธิบายว่า คลื่นเสียงบำบัดเป็นการสื่อสารระหว่างเซลล์ประสาทและคลื่นความถี่ที่แตกต่างของสมองทั้ง 4 ประเภท คือ คลื่นเดลตา (Delta Wave) คลื่นธีตา/เธตา (Theta Wave) คลื่นอัลฟา (Alpha Wave) และคลื่นเบตา (Beta Wave) โดยคลื่นอัลฟาและคลื่นเบตาเป็นคลื่นไฟฟ้าหลักในช่วงที่ร่างกายตื่น ส่วนช่วงงัวเงียหรือนอนหลับ เป็นช่วงเวลาของคลื่นเธตาและเดลตา 

การใช้ชีวิตในแต่ละวันของเรา เจ้าคลื่นไฟฟ้าเหล่านี้จะมีการเปลี่ยนแปลงจากความถี่สูง (ตื่น-ทำงาน) ไปสู่ความถี่ต่ำ (ก่อนเข้านอน-หลับลึก) หมายความว่าเมื่อสมองมีคลื่นความถี่ต่ำเท่ากับร่างกายกำลังได้รับความผ่อนคลายนั่นเอง เมื่อสอดคล้องกับงานวิจัยบางส่วนและสามารถอธิบายได้ด้วยหลักวิทยาศาสตร์อยู่เหมือนกัน (แม้ยังไม่มีการยืนยันที่ชัดเจน) การบำบัดด้วยคลื่นเสียงจึงไม่ใช่แค่ความเชื่อลอยๆ แต่กลายเป็นอีกเทรนด์ Selfcare ในยุคนี้ที่อย่างน้อยก็ช่วยชุบใจเราได้ก็แล้วกัน

  • Gong Bath

ส่วนหนึ่งของ Sound Bath คือการอาบร่างกายด้วยเสียงของฆ้อง ให้ความทุ้มสุขุมของเสียงจากการตีฆ้องหลากหลายขนาดสะท้อนผ่านหูและอาบไปทั่วร่างกายขณะที่เรานอนหลับตา ทั้งคลื่นเสียงและการสั่นไหวจากฆ้องจะทำให้ร่างกายและจิตใจเข้าสู่สภาวะผ่อนคลาย เป็นการปลดปล่อยสภาวะปิดกั้น (Blockage) บางอย่างให้หลุดออกไป

  • Tibetan Bow

ขันทิเบต นับเป็นแหล่งกำเนิดเสียงอีกประเภทของการคลื่นเสียงบำบัด ในทีนี้หมายถึงขันที่ทำจากเหล็กผสมทองเหลืองแบบที่พระทิเบตใช้ประกอบการสวดมนต์ โดยใช้ไม้สัมผัสวนเป็นวงกลมไปรอบตัวขันจนเกิดเสียงกังวาล แพทย์ทางเลือกและนักบำบัดเลือกใช้ประกอบการบำบัดด้วยเสียง เพราะเชื่อว่าเสียงจากขันช่วยเปิดระบบประสาทสู่การปลดปล่อยให้รู้สึกสงบทั้งกายใจ นอกจากได้รับความผ่อนคลาย ยังช่วยในการนอนหลับ ปรับอารมณ์หม่นเศร้าให้บรรเทาลง ไปจนถึงลดอาการเจ็บปวดจากบางสิ่ง หรืออย่างน้อยก็นำไปสู่ ‘ความรู้สึกดี’ ที่สำคัญกว่าอะไรทั้งหมด

  • Tuning Fork

เดิมที Tuning Fork หรือส้อมเสียง ทางการแพทย์ใช้เป็นอุปกรณ์ตรวจการได้ยินรูปแบบหนึ่ง โดยอาศัยเครื่องมือที่ทำจากเหล็กหรืออลูมิเนียมรูปร่างหน้าตาคล้ายส้อมในการทดสอบ หากย้อนกลับไปกว่านั้น ส้อมเสียงเกิดขึ้นจากการประดิษฐ์ของนักดนตรีชาวอังกฤษนาม John Shore เพื่อใช้เทียบเสียงจากตัวโน้ต ปัจจุบันส้อมเสียงถูกนำมาประยุกต์ใช้ในศาสตร์การบำบัดด้วยเสียงเช่นกัน ด้วยความเชื่อว่าการสั่นสะเทือนของส้อมเสียงที่เกิดจากการเคาะมีส่วนช่วยปรับสมดุลของธาตุต่างๆ ในร่างกาย ทำให้ระบบไหลเวียนเลือดดีขึ้น 

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าศาสตร์บำบัดด้วยเสียงหรือคลื่นเสียงจากอุปกรณ์เหล่านี้จะใช้ได้ผลกับทุกคน ถ้าพบว่าการเข้าคลาสบำบัดจริงจังไม่ใช่คำตอบ ก็ไม่จำเป็นต้องฝืน เพราะเราสามารถดึงประโยชน์จากเสียงรอบข้างมาใช้ในการฮีลใจได้ด้วยเหมือนกัน

เสียงจากธรรมชาติ

การฟังเสียงของธรรมชาติในยูทูบหรือพอดแคสต์ กระทั่งเสียงจากธรรมชาติจริงๆ อย่างเสียงฝนในฤดูนี้ ในเชิงสุขภาพก็ช่วยคลายเครียดและลดความวิตกกังวลได้

แค่ได้นอนฟังเสียงฝนก็รู้สึกดีแล้ว เชื่อว่าหลายคนเคยรู้สึกแบบนี้ แต่ไม่แน่ใจว่าความรู้สึกดีที่ว่ามันเกิดจากอะไร ต้องบอกว่ามีงานวิจัยยืนยันว่าคลื่นเสียงต่างๆ ส่งผลต่อจิตใจและการทำงานของสมองที่แตกต่างกันจริง จากการทดสอบโดยให้อาสาสมัครฟังเสียงจากธรรมชาติและเสียงที่เกิดจากคน พร้อมกับตรวจการทำงานของสมองไปด้วย พบว่าเสียงที่เกิดจากคนทำให้พวกเขาเกิดความเครียดและวิตกกังวลมากกว่า ขณะที่การฟังเสียงจากธรรมชาติช่วยปรับการสื่อสารในสมอง ทำให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลาย และจิตใจก็เบิกบานขึ้นด้วย 

นอกจากนี้ เสียงจากธรรมชาติยังส่งผลต่อการทำงานของสมองให้รู้สึกสงบใกล้เคียงกับการนั่งสมาธิเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นเสียงฝนตกกระทบ เสียงสายน้ำไหลเอื่อย เสียงคลื่นทะเลซัดชายฝั่ง ล้วนเป็นเสียงที่นิ่งเรียบและมีความสม่ำเสมอ การฟังเสียงเหล่านี้ซ้ำไปซ้ำมามีส่วนช่วยปกป้องเราจากเสียงรบกวนอื่นๆ ทำให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลาย นับเป็นการพักผ่อนอีกรูปแบบหนึ่ง 

[Conscious Tips by ili U]

แนะนำเสียงสงบ ฮีลใจก่อนนอน 

นอกจาก Bedtime Routine ที่เรารู้และควรทำ เช่น การเข้านอนและตื่นให้เป็นเวลาเดียวกันทุกวัน ทำกิจกรรมที่สร้างความผ่อนคลายก่อนนอน หลีกเลี่ยงการใช้โซเชียลมีเดียก่อนนอนแล้ว การฟังเสียงก็มีส่วนช่วยในการนอนหลับด้วย 

  • Deep Sleep Sounds พอดแคสต์ที่รวบรวมเสียงจากธรรมชาติอย่างฝนตก ลมพัด น้ำไหล ใบไม้ปลิว มาไว้ให้ฟังก่อนจบวันที่เหนื่อยล้า
  • Sleep Tight Stories เรื่องเล่าก่อนนอนสำหรับเด็กและผู้ที่มีหัวใจเด็กก็ฟังได้ ด้วยน้ำเสียงแบบกาลครั้งหนึ่งนานมาแล้วของการเล่านิทานก่อนนอน
  • Boring Books For Bedtime พอดแคสต์ที่มาอ่านหนังสือหรือบทความที่ ‘น่าเบื่อ’ ด้วยเสียงกระซิบกระซาบเพื่อกล่อมให้เราง่วงจนหลับไปในที่สุด

Contributor

อดีตกองบรรณาธิการสำนักพิมพ์ ปัจจุบันรับจ้างเขียนเป็นการเลี้ยงชีพ

graphic designer

Freelance Graphic Designer ชอบการทำเลย์เอาต์หนังสือและงานกระดาษ รักการเก็บสะสมพืช และมีแมวในการดูแลหนึ่งหน่วย

Read More:

Play

ili U Quiz: เพื่อนใหม่ในจินตนาการของคุณในปี 2024 คือใคร?

จับคู่คุณและเพื่อนใหม่ในจินตนาการ จับคู่เส้นทางในย่านอารีย์-ประดิพัทธ์ ที่เหมาะเจาะให้ไปซอกแซกกรุงเทพฯ ในมุมที่สนุกกว่าเดิม!

Play ผลการทดลอง

‘ตามล่า’ หนังสือที่อยากได้จากร้านมือสอง

ทดลองช้อปหนังสือมือสองแบบมีมิชชั่น (ไม่) อิมพอสซิเบิ้ล

Play จากผู้ใช้จริง

มองโลกให้น่ารักแบบแก๊งหมอ!

ส่องความ empathy ที่แอบอยู่ในซีรีส์ ส่งท้าย Hospital Playlist