Play —— จากผู้ใช้จริง

มองโลกให้น่ารักแบบแก๊งหมอ!

วนเวียนอยู่ในโรงพยาบาลยุลเจมาถึงสองซีซั่น ในที่สุดมหากาพย์ Hospital Playlist ก็เดินทางมาถึงตอนสุดท้ายของซีซั่นสองแล้ว!

 

สำหรับใครที่ไม่คุ้นเคยกับวงการซีรีส์เกาหลี เราขอแนะนำ Hospital Playlist แบบรวบรัดให้พอเข้าใจที่มาที่ไปสักเล็กน้อย ซีรีส์เพลย์ลิสต์โรงพยาบาลเป็นหนึ่งในผลงานการกำกับของชินวอนโฮ ผู้ฝากลายเซ็นชัดแจ๋วไว้ในซีรีส์ตระกูล Reply (Reply 1997, Reply 1994 และ Reply 1988) และซีรีส์มิตรภาพคนคุกอย่าง Prison Playbook 

Hospital Playlist เล่าเรื่องราวของแก๊งหมอ 5 คนที่บังเอิญพบกันจากการหนีงานรับน้องของคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยโซลในปี 1999 จนอายุย่างเข้าสู่เลข 4 อี อิกจุน, แช ซงฮวา, อัน จองวอน, คิม จุนวาน และ ยาง ซอกฮยองก็ยังเป็นเพื่อนรักซี้ปึ้กที่ทำงานอยู่ในโรงพยาบาลเดียวกัน โดยพวกเขาสัญญาว่าในวันว่างทุกคนจะต้องมารวมกันซ้อมดนตรี เพื่อทั้ง 5 คนจะได้มาเจอกันโดยไม่มีข้อยกเว้น 

แม้เรื่องราวมิตรภาพ 20 ปีจะเป็นตัวชูโรงสำคัญ โดยมีเส้นเรื่องใครรักใครชอบใคร และการเติบโตของตัวละครต่างๆ ให้เราได้จับตามอง (และลุ้นตัวโก่ง) อย่างใกล้ชิด แต่ลึกไปกว่านั้น Hospital Playlist ยังมีเรื่องราวความเป็นมนุษย์ ความ empathy และประเด็นทางสังคมที่เล่าผ่านสายตาแสนเข้าอกเข้าใจ จนทำให้เราอดยิ้มไปกับวิธีการมองโลกแสนน่ารักของเหล่าหมอไม่ได้ (ส่วนนี้ต้องยกความดีความชอบให้ผู้เขียนบทอย่างอี อูจอง ที่ตั้งใจสร้างสรรค์บทละครเรื่องนี้มาตั้งแต่ซีซั่นแรกด้วย) 

ถึงจะดูเอาสนุก แต่เชื่อเถอะว่าเราจะต้องพยักหน้าแล้วบอกตัวเองเบาๆ ว่า ‘นี่สิน้าชีวิต’ และไหนๆ ซีรีส์เรื่องนี้ก็จบลงแล้ว เราเลยขอรวบรวมรายละเอียดเล็กใหญ่ที่เราค้นพบในซีรีส์ ซึ่งทำให้เราเข้าใจความเป็นมนุษย์เพิ่มขึ้นอีกนิดมาเล่าสู่กันฟังสักหน่อย

*เปิดเผยเนื้อหาส่วนหนึ่งของซีรีส์

เดือนมีนาคมของหมอฝึกหัด ที่ทำให้รู้จักคำว่า ‘ไม่เป็นไร’

เดือนมีนาคมของโรงพยาบาลยุลเจถือเป็นเดือนแห่งการเริ่มต้นใหม่

นักศึกษาแพทย์อินเทิร์นจะโตขึ้นอีกปี แพทย์ประจำบ้านปีสุดท้ายจะขยับไปเป็นเฟลโล่ว (ผู้ช่วยอาจารย์หมอ ที่ต้องเรียนสาขาแยกย่อยลงไปอีก) 

แน่นอน การเริ่มต้นใหม่ไม่ใช่เรื่องง่าย นักศึกษาแพทย์อินเทิร์นที่เคยเดินตามอาจารย์หมอต้อยๆ เพื่อดูการทำงานในวันนั้น ได้เริ่มรับมอบหมายให้ทำหน้าที่เล็กๆ น้อยๆ ด้วยตนเอง ในวันที่ได้จับอุปกรณ์จริงจังครั้งแรก จาง ยุนบก อินเทิร์นสาวหัวกะทิที่ตอบคำถามอาจารย์หมอได้ละเอียดยิบเสมอ เริ่มสวนจมูกคนไข้ด้วยความมั่นใจ แต่กลับอุดจมูกคนไข้ไปทั้งสองรูจนเกือบหายใจไม่ออก นับประสาอะไรกับฝาแฝดของเธออย่างจาง ฮงโดที่ปกติก็ตอบคำถามอาจารย์หมอไม่ค่อยจะถูกอยู่แล้ว เมื่อได้รับหน้าที่ในห้องผ่าตัดจึงปล่อยไก่ตัวเบ้อเร้อไปตามระเบียบ

แม้กระทั่งจาง คยออุล ศัลยแพทย์ประจำบ้านที่คลุกคลีกับการผ่าตัดจนได้ชื่อว่าเป็นลูกสาวของแผนกศัลยกรรม เมื่อคยออุลกลายเป็นเฟลโล่ว เธอได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่จริงจังในห้องผ่าตัดครั้งแรก แต่ทุกอย่างก็ดันไม่ราบรื่นอย่างที่คิดจนทำเอาเธอซึมไปพักใหญ่

เราว่าอีพีนี้น่าจะสามารถปลอบประโลมใจให้หนุ่มสาวยุคใหม่ที่เติบโตมาพร้อมความคาดหวังและกดดันให้เป็นคนเก่งตั้งแต่เริ่มได้เป็นอย่างดี เพราะเนื้อเรื่องในตอนนี้กำลังบอกเรากลายๆ ว่า ก็เราเป็นมนุษย์ไม่ใช่เครื่องจักรยังไงล่ะ จะทำผิดสักครั้ง จะเงอะงะสักหน่อยก็ไม่เห็นเป็นไร ขนาดคนที่เราเห็นว่าเก่งที่สุดในวันนี้ ยังเคยมีวันที่ไม่รู้อะไรเลยเหมือนกันนั่นแหละ

“เมื่อเดือนก่อนเธอยังเป็นแพทย์ประจำบ้านอยู่เลย เป็นเฟลโล่วได้ไม่ถึงสองสัปดาห์ด้วยซ้ำ ยังเป็นมือใหม่อยู่เลยนี่ แค่ดูและเรียนรู้ไว้ ไม่เป็นไรหรอก” อี อิกจุน ศัลยแพทย์ทั่วไปผู้มอบหมายงานผ่าตัดให้คยออุลกล่าวกับเธอหลังการผ่าตัดครั้งนั้น 

‘ตอนเป็นอินเทิร์น ฉันพลาดเยอะกว่านายอีก ไม่เป็นไรนะ’ ข้อความบนถ้วยบะหมี่ที่มินฮานำไปวางให้ฮงโดที่สลบไปจากการฝึกงานก็บอกไว้แบบนั้น

แล้วก็เหมือนที่เพลงในอีพีที่ 6 ย้ำชัดกับเราอีกครั้งว่า ‘ไม่เป็นไรหรอก เดี๋ยวมันก็จะดีขึ้นเอง…เพราะเธอคือซูเปอร์สตาร์ในชีวิตของเธอเองยังไงล่ะ’

(ถ้าอยากรู้ว่าเพลงปิดอีพีนี้กลายเป็นฮีลลิ่งให้กับเหล่าผู้เริ่มต้นใหม่ขนาดไหน www.youtube.com/watch?v=URRimPZBHf8&ab_channel=StoneMusicEntertainment ขอแนะนำให้แวะไปอ่านคอมเมนต์ในเอ็มวีประจำตอนนี้!)

‘แม่’ ไม่ใช่จุดต่ำสุดของห่วงโซ่อาหาร!

ใครที่ติดตามวงการซีรีส์เกาหลีอยู่บ้าง ในช่วงหลังเราจะพบว่าซีรีส์หลายเรื่องเริ่มพูดถึงบทบาทของผู้หญิงยุคใหม่และปัญหาในสังคมปิตาธิปไตยที่กดทับผู้หญิงเกาหลีกันมากขึ้นเยอะ

Hospital Playlist ก็เป็นหนึ่งในซีรีส์เหล่านั้นที่ปูพรมเรื่องความเหลื่อมล้ำและรุนแรงในสังคมชายเป็นใหญ่มาตั้งแต่ซีซั่นแรก จนเราได้เห็นซีนคุณหมอในโรงพยาบาลเปิดวอร์กับญาติคนไข้ที่นิยมความรุนแรงอยู่เรื่อยๆ 

แล้วทำไมปัญหาในสังคมเกาหลีถึงได้ใหญ่โตขนาดนั้น? เรื่องนี้คงต้องย้อนกลับไปหลายพันปี ตั้งแต่ราชวงศ์โครยอเริ่มนำแนวคิดแบบขงจื๊อใหม่มาใช้ในการปกครองประเทศ แนวคิดนี้มีความเชื่ออย่างเข้มข้นว่าชายดีกว่าหญิงในทุกด้าน และมีคำสอนว่าด้วยหน้าที่ของหญิงสาวอย่างชัดเจน หนึ่งในคำสอนเหล่านั้นคือการที่ผู้หญิง ในฐานะลูกสาวจะต้องเชื่อฟังพ่อแม่ (ซึ่งในที่นี้รวมไปถึงพ่อแม่สามีเมื่อแต่งงานด้วย) ในฐานะภรรยาก็ต้องเชื่อฟังสามี และในฐานะแม่หม้ายก็ต้องเชื่อฟังลูกชาย

แต่ไหนแต่ไรที่ยืนของผู้หญิงเกาหลีในสังคมชายเป็นใหญ่จึงแทบเป็นศูนย์อยู่แล้ว แม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนไป หลักคิดนี้ก็ยังฝังรากลึกอยู่ในหัวคนรุ่นต่อๆ มาจนถอนแทบไม่ขึ้น และเมื่อลองหาข้อมูลเพิ่มเติม เรายังเจอความจริงที่น่าตกใจอีกว่าคนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งก็ยังไม่เชื่อในความเท่าเทียมระหว่างเพศเช่นกัน

“แค่ไม่มีพ่ออยู่ฉันก็ไม่กลัวการกลับบ้านแล้วล่ะค่ะ” คยออุลกล่าว หลังเธอได้เปิดเผยเบื้องหลังของครอบครัว ที่พ่อนิยมความรุนแรงจนทำให้แม่ต้องเข้าโรงพยาบาลอยู่หลายหน แม้ในที่สุดพ่อของเธอจะติดคุก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็กลายเป็นแผลใจที่ทำร้ายทั้งคยออุล แม่ และน้องชายของเธอไปแล้วเรียบร้อย

แม้จะมีเรื่องแบบนี้วนเวียนอยู่เรื่อยๆ แต่ซีรีส์ก็พยายามบอกเราอยู่เสมอว่าบทบาทของแม่นั้นไม่ได้ต่ำต่อยไปกว่าใครที่ไหน! อย่างในซีนผ่าตัดทารกที่มีภาวะหลอดอาหารตีบตัน ผลการตรวจสุดเคร่งเครียดทำให้แม่สามีของคนไข้หัวฟัดหัวเหวี่ยงจนโทษว่าความผิดปกตินั้นมาจากลูกสะใภ้ของเธอที่เป็นคนอุ้มท้อง (โชคดีที่สามีเป็นคนดีจึงเหวอตาแตกไปกับคำพูดของแม่) ซึ่งคำพูดดังกล่าวก็ดันไปเข้าหูหมออัน จองวอนผู้รับผิดชอบการผ่าตัดพอดี

“เรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะความผิดของใคร มันแค่เกิดขึ้นเท่านั้นเอง” จองวอนแก้ความเข้าใจผิดให้แม่สามีหลังการผ่าตัด พร้อมตั้งคำถามว่าถ้าจะมีใครผิดก็ต้องเป็นพ่อกับแม่ทั้งคู่หรือเปล่านะ

เราว่าความว้าวของซีนนี้คือการได้เห็นคุณหมอผู้ชายพูดกับคุณแม่อย่างเข้าอกเข้าใจถึงขนบอันกดทับ ซึ่งทำให้ผู้หญิงที่แม้จะท้องอยู่ก็ต้องทำงานบ้าน เมื่อคลอดลูกมาก็ต้องอยู่บ้านเลี้ยงลูก พร้อมจัดการกิจทุกอย่างในบ้านด้วยตัวคนเดียว

“คุณแม่ต้องดูแลตัวเองให้ดี พอทารกฟื้นตัวจะได้ดูแลเขาอย่างดีนะครับ 

ส่วนเรื่องอื่นๆ ก็สั่งคุณพ่อไปทำให้หมดเลย” จองวอนหันไปบอกกับคุณแม่ที่พักฟื้นบนเตียงคนไข้พร้อมรอยยิ้ม 

ขนบธรรมเนียมที่ส่งเสริมให้ชายเป็นใหญ่ถึงเวลาถูกทลายลงแล้ว!

ใส่ชุดเดิมแล้วทำไม ก็ฉันมีสไตล์ของตัวเอง 

ถึงจะไม่ได้ใส่มาอย่างตั้งใจ แต่ตัวละครในเรื่องหลายคนก็มีไลฟ์สไตล์สุด conscious!

ถ้าจะพูดถึงเรื่องนี้ก็ต้องพูดถึงรองเท้าไซส์ 225 อันเป็นตำนานของแช ซงฮวา ที่เธอใส่มาตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษาแพทย์ปีที่ 4 จนกลายเป็นอาจารย์หมอฝีมือดี ถ้านี่ยังฟังดูไม่ค่อยนาน เทียบง่ายๆ ก็ได้ว่ารองเท้าคู่นี้ เป็นรองเท้าที่เธอใส่ตอนรักษาคุณแม่ของเด็กแฝดฮงโดและยุนบกที่เราพูดถึงไปก่อนหน้านี้ กระทั่งแม่ของเด็กๆ ต้องขึ้นไปอยู่บนสวรรค์ นักศึกษาแพทย์รองเท้าไซส์ 225 คนนั้น (ซึ่งเด็กๆ มัวแต่ก้มหน้าก้มตาร้องไห้จึงไม่เคยเห็นหน้า) ก็ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กทั้งสองคนตัดสินใจเรียนแพทย์ จนได้มาพบเจ้าของรองเท้าคู่เดิมตอนมาเป็นอินเทิร์นในโรงพยาบาล

อาจจะด้วยคาแรกเตอร์รักธรรมชาติ รักน้ำ รักเสียงฝนของซงฮวาทำให้เธอเป็นคนไม่ค่อยสนใจตามเทรนด์โลกเท่าไหร่ ใช้อะไรก็ใช้อยู่อย่างนั้น เน้นซื้อของคุณภาพดีแล้วใช้ยาวๆ ซึ่งเราว่าการใช้ของให้คุ้มสุดคุ้มแบบนี้ ก็เป็นไอเดียที่น่าลองเอาไปทำตามอยู่เหมือนกันนะ

อีกหนึ่งตัวเต็งความ conscious ประจำโรงพยาบาลยุลเจ จะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากจาง คยออุลผู้หาสไตล์ของตัวเองเจอมานานแล้ว! คยออุลใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายสุดขีด เธอมาทำงานด้วยลุคหัวฟู หน้าไม่แต่ง เทรนด์ไม่ตาม ในฤดูร้อนเธอจะใส่เสื้อสีขาวสไตล์เดิมมาทำงานเสมอ และเมื่อเข้าฤดูใบไม้ร่วงเธอจะใส่เสื้อเชิ้ตยีนส์ พอหนาวหน่อยก็แค่ใส่เสื้อโค้ททับ เป็นแบบนี้วนไปเรื่อยๆ จนเธอกลายเป็นปฏิทินฤดูกาลของเพื่อนๆ ไปโดยไม่ได้ตั้งใจ 

หากมีใครสักคนมาแซว เราว่าคยออุลคงโต้กลับอย่างไม่ยอมแพ้ได้เลยว่า ที่บ้านฉันมีเครื่องซักผ้าไงล่ะ เลยใส่เสื้อวนไปวนมาได้ และการแต่งตัวเหมือนเดิมก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร ในเมื่อฉันหาสไตล์ของตัวเองเจอแล้ว เลยไม่จำเป็นต้องวิ่งตามเทรนด์อีกต่อไป!

ชูมินฮาผู้เป็นเพื่อนของผู้หญิงทุกคน!

ถ้าโลกนี้มีคนแบบคยออุล ขั้วตรงข้ามของเธอ (แต่ดันเป็นเพื่อนรักกัน) ก็คือ ชู มินฮา แพทย์ประจำบ้านด้านสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยาที่คนดูทุกคนต่างหลงรัก เพราะเชื่อเถอะว่าในเสี้ยวหนึ่ง เราต่างมีความเป็นมินฮาอยู่ในตัว

มินฮาคือหญิงสาวที่โตมากับคำสอนของแม่ที่บอกว่าการแต่งตัวเหมือนคนอื่นไม่ใช่แฟชั่น เธอจึงพยายามหาสไตล์ที่เข้ากับตนเองด้วยการลองผิดลองถูกอยู่เรื่อยๆ 

ภาพจำของเรากับตัวละครนี้ในครั้งแรก คือมินฮาที่ทาตาสีเขียวแบบยุค 90s จนใครหลายคนเรียกเธอว่าหมอนกแก้ว อีกไม่กี่ตอนหลังจากนั้น มินฮามาพร้อมการแต่งหน้าสไตล์ไข่มุกดำที่ทำให้หน้าดำมืด ทาแก้มแดงแจ๋จนนึกว่าเมามาทำงาน แต่งหน้าโกลวใสจนกลายเป็นกระจกของเพื่อนๆ และแต่งถุงใต้ตากองหิมะที่หนาเหมือนคนไม่ได้นอน

ทุกความผิดพลาดที่เกิดขึ้น มินฮาไม่เคยเฟล เพราะเธอมั่นใจเสมอว่าเธอคือผู้นำแฟชั่นที่สวยที่สุด จนเราคิดว่าคงไม่มีใครเหมาะกับคำว่า ‘love yourself’ ไปมากกว่าเธออีกแล้ว แถมล่าสุดมินฮายังเจอสไตล์การแต่งหน้าที่ใช่แล้วด้วย!

นอกจากความผิดพลาดด้านแฟชั่นแล้ว ด้านการใช้ชีวิตมินฮาก็ไม่ใช่คนที่เก่งที่สุด เธอมักจะโดนอาจารย์หมอดุอยู่หลายหน ถึงอย่างนั้นเธอก็กล้าแสดงความรู้สึกอย่างตรงไปตรงมากับทุกเรื่องเสมอ เมื่อไม่เข้าใจว่าพลาดตรงไหน มินฮาก็แค่ถาม ถ้าเสียใจก็แค่ร้องไห้ ถ้าโดนทิ้งให้อยู่เวรติดต่อกันหลายคืนก็แค่โวยวายออกมา หรือถ้ามีความสุขมินฮาก็แค่ยิ้ม ทุกอย่างสำหรับเธอเป็นเรื่องเรียบง่าย จริงใจ และอาจตรงใจเราหลายๆ คนที่ใช้ชีวิตไม่ต่างจากเธอ เหมือนที่ทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “สู้ๆ เราก็เคยเป็นแบบนั้นเหมือนกัน” ในวันที่เธอต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำไม่ได้นอน

สำหรับเรา มินฮาจึงเป็นเหมือนพี่สาวที่แสนเข้าอกเข้าใจ และพร้อมบอกเราเสมอว่า เธอไม่จำเป็นต้องเก่งที่สุด ดีที่สุด หรือเอามาตรฐานของใครเป็นตัวตั้ง แค่เป็นตัวของตัวเอง แคนั้นก็ดีจะแย่แล้ว

ให้อีกชีวิตได้ไปต่อ ในวันที่เราไม่จำเป็นต้องใช้ชีวิต

“ถ้าบริจาคอวัยวะ ก็จะช่วยคนได้อีกหลายคนเลยใช่ไหมครับ” การ์ดหน้าโรงพยาบาลถาม

“คนไข้อีกมากมายจะได้รับชีวิตใหม่ คุณมอบโอกาสให้พวกเขามีชีวิตครับ” อิกจุนตอบ

หากซีรีส์หลายเรื่องส่งต่อ soft power ด้วยแฟชั่นและวัฒนธรรม Hospital Playlist ก็เลือกส่งต่อแนวคิดเรื่องการต่อชีวิต จนทำให้ยอดบริจาคอวัยวะหลังตอนที่ 7 พุ่งขึ้นถึง 11 เปอร์เซ็นต์ (ส่วนหนึ่งของตอนนี้พูดถึงพี่การ์ดหน้าโรงพยาบาลที่ต้องตัดสินใจเซ็นยินยอมบริจาคอวัยวะให้ร่างของแม่ที่ไม่เคยพบกันมา 30 ปี)

เอาเข้าจริงซีรีส์ทั้งสองซีซั่นมีการพูดถึงการบริจาคอวัยวะอยู่เนืองๆ ด้วยตัวละครหลักอย่างอิกจุนนั้นเป็นศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการปลูกถ่ายตับเป็นพิเศษ เราจึงได้เห็นสตอรี่ของญาติผู้ป่วยที่ยินดีทำทุกวิถีทางเพื่อให้พวกเขาสามารถเข้าร่วมการปลูกถ่ายตับเพื่อรักษาชีวิตญาติพี่น้องที่ป่วยได้อย่างราบรื่นอยู่เสมอ

หรือในซีซั่นแรกคิม จุนวาน ศัลยแพทย์หัวใจและทรวงอกก็เคยถึงกับเข้าไปขอผู้ปกครองของเด็กทารกที่เสียชีวิตด้วยโรคเกี่ยวกับหัวใจ ให้พวกเขาช่วยยินยอมบริจาคอวัยวะเด็กน้อยคนนี้เพื่อเป็นประโยชน์กับการศึกษาในภายภาคหน้า

“เพราะเป็นโรคหายาก ถ้ามีทารกแบบนี้ขึ้นมาอีก ผมก็ไม่อยากเสียเขาไปอีกแล้วครับ” อิกจุนบอกกับพ่อแม่ที่ยังร้องไห้อย่างหนัก


ถึงจะไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งในสถิติการบริจาคอวัยวะที่พุ่งกระฉูดร่วมกับชาวเกาหลี แต่การบริจาคอวัยวะในประเทศไทยก็สามารถทำได้ และมีประโยชน์ไม่ต่างกัน เพราะหนึ่งชีวิตที่เราไม่จำเป็นต้องใช้แล้ว อาจกลายเป็นการต่อชีวิตให้คนได้อีกหลายชีวิต (ถ้าดูตอนนี้แล้วอิน ลองไปทำความเข้าใจเรื่องการบริจาคอวัยวะเพิ่มเติมได้ที่ www.organdonate.in.th ด้วยนะ)

Content Designer

#อดีตนิสิตภาควารสารฯ #เรียนจบแล้ว #นักเขียน

Graphic Designer

#กราฟิกดีไซเนอร์ #เป็นเด็กหญิงMoodyGirl #แต่ถ้าได้กินของอร่อยฟังเพลงเพราะนอนเต็มอิ่มจะจิตใจแจ่มใสและหัวใจพองโต

Read More:

Play จากผู้ใช้จริง

ตามหาที่นั่งทำงาน สะดวก ถูกและดี ในกรุงเทพฯ มีอยู่จริงปะ?

ถ้าอยากออกไปทำงานนอกบ้าน จะไปนั่งที่ไหนได้บ้างนะ

Play

คุณจะได้เจออะไรใน ทัวร์สุ่มสี่สุ่มให้ Ver 2.0 'ROUTE: Caffeine Calling'

เส้นทางที่คุณและเพื่อนใหม่แปลกหน้า จะมาเสพคาเฟอีนเข้าเส้นร่วมกัน ในย่านประดิพัทธ์-อารีย์ ตามลายแทงที่คุณไม่รู้ล่วงหน้า ทัก cup!

Play

เปิดรับสมัครเดินทัวร์ย่าน 'ทัวร์สุ่มสี่สุ่มให้ Ver 2.0'

ทัวร์สุ่มเส้นทางเดินย่านอารีย์-ประดิพัทธ์ ให้แบบเซอร์ไพรส์ พร้อมสุ่มแก๊งเพื่อนใหม่ให้ตาม Personality Test!