Love

เข้าใจกัญฯ ไว้ เพราะเรื่องนี้มีมากกว่าเมา

ก็เพราะโดนปลูกฝังด้วยโฆษณาชวนเชื่อมาตั้งนานว่ากัญชาเป็นสารเสพติด กินหรือเสพแล้วอาจพลัดพรากสติเราไปอยู่มิติไหนก็ไม่รู้ คนกลุ่มหนึ่ง (ยกมือเลยว่าฉันเอง) ก็เลยตั้งแง่ไว้ก่อนว่า กัญชาดูไม่ compromise กันเลย ใจที่ไม่พร้อมจะเปิดรับก็เลยมองไม่เห็นว่า ถ้าใช้สิ่งที่อยู่ในกัญชาให้ถูกวิธี มันมีประโยชน์มหาศาลเลยนะเว้ยแก

ตั้งแต่ประเทศไทยปลดล็อกกัญชาเพื่อการศึกษาและใช้ในเชิงการแพทย์ และมีมูฟเมนต์ผลักดันการใช้กัญชาในเชิงสันทนาการในอนาคตไกลๆ สิ่งที่ทุกคนน่าจะรู้สึกเหมือนกันคือ ต่อให้ตั้งแต่เกิดมาเราไม่เคยเฉียดใกล้กัญชาเลย วันนี้เราแทบจะปฏิเสธไม่ได้แล้วนะว่ามันขยับเข้าประชิดตัวเรามากกว่าเดิม อย่างปากซอยออฟฟิศของพวกเราชาวไอแอลไอยูก็มีคาเฟ่กัญชาเปิดสแตนบายด์อยู่ หรือแค่เปิดแอพฯ เดลิเวอรี่ ก็มีเมนูเครื่องดื่มกัญชาให้จิ้มเลือกมาลองกันขำๆ สร้างประสบการณ์ชีวิต

แล้วพอพยายามเปิดใจลอง (แบบถูกกฎหมายนะทุกคน ขอย้ำ) เริ่มต้นทำความเข้าใจกัญชาในหลายๆ มิติ เหตุผลที่ใครหลายๆ คนยืนหยัดสู้เพื่อสิ่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นชาวสายเขียว ฝั่งแพทย์ หรือแม้กระทั่งฝั่งเกษตรกรผู้ปลูกกัญชา ที่เราเพิ่งได้รู้ไม่นานมานี้ มุมหนึ่งมันก็ทำเราหัวเราะไม่ออกเหมือนกัน

เพราะมันว่าด้วยเรื่องความเท่าเทียม ผลประโยชน์และการเมืองล้วนๆ เลยล่ะ

สารพัดเมนูกัญชา กินแล้วไม่ได้แปลว่าจะ high เสมอไปนะ

เชื่อว่าก่อนหน้านี้ทุกคนต้องเคยได้ยินสมญานามร้านก๋วยเตี๋ยวกัญชา ร้านไก่ทอดกัญชา ที่มีอยู่ทั่วสารทิศในเมืองไทย สิ่งที่ก๋วยเตี๋ยวกัญชาทุกร้านมีเหมือนกันคือ ความอร่อยที่ทำให้อยากกลับไปกินซ้ำๆ แต่เอาเข้าจริง ไม่มีใครพิสูจน์ได้ว่าคุณพี่เจ้าของร้านใส่กัญชาไปจริงๆ หรือเปล่า (ถ้าอยากรู้ไม่ไหว อันนี้ต้องแอบกระซิบถามหลังไมค์เองนะ)

หลังจากสเต็ปแรกของการปลดล็อกเกิดขึ้น เจ้าพืชตัวนี้จึงขยับเข้าใกล้เราได้อย่างถูกกฎหมายมากขึ้น ที่เดินไปจับต้องได้เลยก็คือสารพัดเมนูอาหารและเครื่องดื่มกัญชา ในคาเฟ่หรือร้านอาหารที่มองเห็นว่ากัญชาน่าจะเป็นจุดเพิ่มยอดขาย และไม่ใช่ทุกร้านจะคิดแบบเดียวกันเสมอไป เพราะหลายๆ ร้านก็ตั้งใจเป็นด่านแรกในการ educate ผู้บริโภคว่าจริงๆ แล้วกัญชาไม่ได้มีฤทธิ์อันตราย หรือทำให้เราล่องลอยในอวกาศได้อย่างเดียวเท่านั้น อย่างน้อยๆ ในแง่การต้มยำทำแกง มันช่วยชูรส และทำให้คนกินเจริญอาหารได้นะ

ถ้าถามว่ากินอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาแล้วจะเมามั้ย คำตอบเป็นไปได้สองแบบ! เพราะมันขึ้นอยู่กับว่าไอ้สิ่งที่เรากินเข้าไป ใส่ส่วนประกอบไหนของต้นกัญชาลงไปนั่นเอง ตามร้านที่ทำขายอย่างถูกกฎหมาย วัตถุดิบหลักๆ ที่ใช้คือส่วนใบ (ที่ไม่ผิดกฎหมายเพราะใบมีสารทำให้เมาต่ำมากๆ) หรือเมนูดริ้งก์มาแรงอย่าง CBD Drink ที่มาจากการคั้นใบกัญชาสดๆ หรือชาจากใบที่ถูกนำไปอบแห้ง อันนี้ก็ไม่ทำให้เมานะ เว้นแต่ว่าใส่เกิน 5 ใบ ส่วนนี้ก็รับประกันไม่ได้ว่าร่างกายคุณจะตอบสนองเปลี่ยนไปจากเดิมหรือเปล่า

เราเรียกการกินให้เมาหรือ get high ว่าเป็นการเสพแบบ ‘edible’ ซึ่งส่วนประกอบที่ใช้ส่วนใหญ่จะเป็นช่อดอกและน้ำมันจากเมล็ดกัญชา (กาดอกจันไว้เลยว่า ในบ้านเราการใช้สองส่วนนี้ในภาคครัวเรือนยัง ‘ผิดกฎหมาย’ อยู่ เนื่องจากว่ามันมีปริมาณของสารทำให้เมาสูง กฎหมายจึงกำหนดให้ใช้ได้แค่ในเชิงการวิจัยและการแพทย์เท่านั้น) อย่างพวกคุกกี้ หรือบราวนี่อวกาศที่เคลมว่ากินแล้วเมา หรือกินไปสัก 10 นาทีแล้วเกิดอาการตาหวาน มู้ดเปลี่ยน หรือมีอาการแพนิกเกิดขึ้น อันนี้ก็สงสัยได้เลยว่า คุณพี่ใส่ส่วนผสมต้องห้ามลงไปแน่ๆ

หนึ่งในชื่อเรียกกัญชาอย่าง ‘Marijuana’
มีการเหยียดเชื้อชาติอยู่เบื้องหลัง

กัญชาเป็นที่รู้จักในฐานะสมุนไพรหรือยาที่มนุษย์ใช้รักษาโรคมาหลายพันปี แต่ที่มันถูกตราหน้าว่าผิดกฎหมายในปี 1937 ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะกัญชาเป็นที่คาดการณ์ว่า จะเป็นศัตรูคู่แข่งของอุตสาหกรรมยาแก้ปวดและอุตสาหกรรมปิโตรเคมี (ก็ต้นกัญชามีประโยชน์เยอะอ่ะเนอะ ช่วยไม่ได้) ดังนั้น การที่รัฐบาลสหรัฐฯ ยุคนั้นออกมาประกาศห้าม มีความหมายเป็นการกีดกันทางการค้าล้วนๆ เลย

พอได้อวยยศเป็นพืชพรรณผิดกฎหมาย กัญชาเลยมีศัพท์แสลง เรียกเพื่อเลี่ยงตำรวจเต็มไปหมด เช่น weed, pot, mary jane (โห ชื่อหวานมาก) ทว่าชื่อทางการจริงๆ คือ Cannabis ส่วน Marijuana คือชื่อแสลงที่พบเห็นแพร่หลายมากสุด

คำว่า Marijuana พัฒนามาจากคำว่า mallihuan ภาษา Aztec หนึ่งในภาษาที่ถูกใช้ในเม็กซิโก (ความหมายคือ นักโทษ) เรื่องของเรื่องคือ การปฏิวัติในเม็กซิโก ทำให้ชาวเม็กซิกันอพยพมาอยู่ที่สหรัฐฯ มากขึ้น สิ่งที่พวกเขาหอบข้ามประเทศมาด้วยคือวัฒนธรรมการสูบกัญชา ขณะเดียวกัน เจ้าบ้านก็ทนไม่ไหวกับอาชญากรรมที่ก่อโดยผู้อพยพ แถมภาพจำของชาวเม็กซิกันก็ดันเป็นภาพคนดูดกัญชา สังคมอเมริกันยุคนั้นจึงมองชาวเม็กซิกันทุกคนด้วยสายตาไม่เป็นมิตร เท่านั้นยังไม่พอ กัญชาก็โดนตราหน้าด้วยว่าเป็น ‘evil weed’ สเตอริโอไทป์กันแบบใจร้ายสุดๆ ไปเลย

สอดคล้องกับช่วงที่รัฐบาลสหรัฐฯ มีนโยบายแบนกัญชา จากที่เคยเรียกกัญชาด้วยชื่อทางการอย่าง Cannabis พวกเขาก็เปลี่ยนมาเรียก Marijuana ช่วงหนึ่ง แถมยังเอาคำๆ นี้ ไปใช้เป็นโฆษณาชวนเชื่อ และตั้งเป็นชื่อกฎหมายกัญชาฉบับแรกอย่าง ‘The Marijuana Tax Act of 1937’ เพื่อให้คนอเมริกันรู้สึกกับกัญชาในแง่ลบแบบสุดทางนั่นเอง

Marijuana Vs Hemp
แค่กัญชาก็งง แล้วกัญชงมาจากไหน

อย่างช่วงที่ผ่านมา ตามข่าวในทีวีหรือสื่อออนไลน์ต่างๆ พูดเรื่องการอนุญาตให้เกษตรกรปลูกกัญชาเพื่อใช้ทางการแพทย์ แล้วในเนื้อหาเหล่านั้น มักพ่วงชื่อของ ‘กัญชง’ มาด้วย ทีนี้ คนที่ไม่ได้อยู่ในทีมสายเขียวก็งงหนักเลยว่า กัญชากับกัญชงนี่มันอันเดียวกันหรือเปล่าคะพี่?

จริงๆ แล้วพืชทั้งสองชนิดนี้เป็นพืชที่มีสายพันธุ์ต้นกำเนิดจาก Cannabis sativa L. เหมือนกัน อยู่วงศ์ Cannabaceae วงศ์เดียวกัน ใบ ช่อดอก และเมล็ดแปรรูปไปใช้ประโยชน์ได้ ลำต้นก็เอาไปทำสิ่งทอได้เหมือนกัน แถมลักษณะทางกายภาพก็คล้ายกัน แต่ถึงจะคล้าย ถ้าสังเกตดีๆ ก็แยกออกได้ไม่ยาก อย่างกัญชงหรือ Hemp ใบจะสีอ่อนกว่ากัญชา จำนวนแฉกเยอะกว่า (เกิน 7 แฉกขึ้นไป) และมีลำต้นสูงเรียวกว่า

พ้อยต์ที่ทำให้กัญชาและกัญชงต่างกัน คือสารต้นกำเนิดของสาร CBD (Cannabidiol) และสารที่ทำให้เมาอย่าง THC (Tetrahydrocannabinol) ที่อยู่ข้างใน ที่กัญชาเด่นดังเรื่องงานเอนเตอร์เทนก็เพราะว่า ในช่อดอกและเมล็ดของมันมีสารต้นกำเนิดของ THC สูงมากๆ แอบโน้ตไว้ตรงนี้หน่อยว่า ยิ่งเป็นกัญชาสายพันธุ์ไทย THC ยิ่งสูง อันนี้เป็น fact ที่อยากชวนเพื่อนๆ มาร่วมภูมิใจ

ส่วนกัญชงมีจุดเด่นเรื่องปริมาณสารต้นกำเนิดของ CBD สูง แถมฤทธิ์ของ CBD ยังช่วยยับยั้งฤทธิ์ของ THC และมีประโยชน์ในการเอาไปทำยารักษาโรค ทว่าจริงๆ แล้ว THC ก็ใช้ทำยาได้เหมือนกันนะ (กัญชารับบทเป็นดาบสองคมแหละคิดว่า)

สิ่งที่แยกกัญชาและกัญชงออกจากกัน คือรูปแบบการนำผลผลิตไปใช้งานในสุดปลายของสายพานนั่นเอง

ทำไมเราถึงต้องรู้จักกัญฯ 
เพราะว่ากัญฯ เป็นเรื่องความเท่าเทียมในการรักษาโรคยังไงล่ะ

ที่หลายๆ ประเทศยอมถอดกัญชาออกจากสิ่งเสพติด เป็นเพราะว่าฤทธิ์ทางยาของมันช่วยผู้ป่วยและแบ่งเบาภาระบุคลากรทางการแพทย์ แถมตลอดหลายปีที่ผ่านมา ก็มีงานวิจัยเกี่ยวกับกัญชามากมายที่สนับสนุนว่า พืชสมุนไพรตัวนี้รักษาโรคบางโรค อาทิ โรคพาร์กินสัน โรคปลอกประสาทอักเสบ โรคลมชัก ลดอาการข้างเคียงของการรักษามะเร็ง (หรือการทำคีโม) ได้จริง คือถ้าเราใช้มันในทางที่ถูกต้องและควบคุมการใช้งานให้อยู่ในร่องในรอยได้ยังไงก็ดี

รายการทีวีในบ้านเราก็หยิบประเด็น ‘กัญชาเป็นยาทางเลือก’ มาพูดก็เยอะ ตั้งแต่เคสการใช้กัญชาที่ถูกบันทึกในตำรับยาหลวง ภูมิปัญญาแพทย์แผนไทยที่ระบุว่าการบริโภคกัญชาช่วยเรื่องการนอนหลับ หรือการที่ชาวบ้านทาน้ำมันกัญชารักษามะเร็ง (อันนี้ยังไม่มีงานวิจัยรับรองนะ) ซึ่งทุกวันนี้ การใช้สารสกัดกัญชารักษาโรค บ้านเราสามารถทำได้แล้ว แต่ผู้ป่วยต้องมีใบสั่งจากแพทย์ในโรงพยาบาลที่มีคลินิกกัญชาเท่านั้น การผลิตและใช้เองก็ยังถือว่าผิดกฎหมายอยู่

แต่ความเป็นจริงที่เราปฏิเสธไม่ได้คือ คนที่ไม่มีเงินรักษาตัวจำนวนไม่น้อย เลือกที่จะปลูกกัญชา สกัดน้ำมันมาใช้เอง เสี่ยงทำเรื่องผิดกฎหมาย เพียงเพราะอยากจะหายทรมานจากอาการป่วย ถ้ามองในกรอบความเท่าเทียมในการเข้าถึงยารักษาโรค เราคงพูดแบบกำปั้นทุบดินได้ว่า กัญชาก็น่าจะเป็นคำตอบนั้นได้นะ

แต่ก็ด้วยการออกฤทธิ์แบบสารเสพติดของกัญชา ก็ทำให้เราไม่แน่ใจเหมือนกันว่า ความเท่าเทียมที่เราฝันถึงจะมีเรื่องไม่สวยงามอะไรตามมาด้วยหรือเปล่า 

‘กัญชาเสรี’ ดีกับใครบ้าง
และอีกไกลแค่ไหนจนกว่าไทยจะใกล้ 

อีกประเด็นที่กัญชามีเอี่ยวก็คือเรื่องผลประโยชน์และการเมือง 

จริงๆ คำว่ากัญชาเสรี เคยถูกใช้เป็นนโยบายขายฝันของพรรคการเมืองบางพรรค และพอการปลดล็อกกัญชาเกิดขึ้นจริง ก็ดูเหมือนว่าจะทำได้แบบครึ่งๆ กลางๆ อย่างการผลักดันว่ามันจะเป็นพืชเศรษฐกิจ ก็ทำให้ชาวบ้านแห่ลงทุนทำโรงเรือนปลูกกัญชาแบบถล่มทลาย

ตามกฎหมายคือครัวเรือนจะปลูกพืชชนิดนี้ได้ก็ต่อเมื่อรวมตัวกันเป็นวิสาหกิจชุมชน (ที่บอกกันปากต่อปากว่าบ้านละ 6 ต้น ความจริงคือบ้านเหล่านั้นเป็นสมาชิกวิสาหกิจชุมชน ‘โนนมาลัยโมเดล’ นะ แก้ข่าวให้ตรงนี้) และสิ่งสำคัญคือ วิสาหกิจต้องมีสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรว่าตัวช่อดอกและเมล็ดที่เปี่ยมด้วยสาร THC จะต้องมีหน่วยงานวิจัยหรือสถาบันทางการแพทย์เซ็นยืนยันว่าจะรับซื้อ ส่วนใบ ลำต้น และราก เกษตรกรสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ หรือถึงจะขายใบให้คาเฟ่หรือร้านอาหารก็ขายได้ ทว่าราคาก็ไม่สูงเท่าส่วนที่มีสารกัญชาเยอะๆ อยู่ดี เพราะแบบนี้เราเลยเห็นปรากฎการณ์การปั่นราคาใบกัญชาเกิดขึ้นอยู่พักหนึ่งนั่นเอง

ทว่าปัญหาอยู่ตรงที่วันนี้วิสาหกิจหลายๆ กลุ่มเจอดีลที่ว่าด้วย ‘การขอบริจาค’ เพื่อนำไปวิจัยและแปรรูปเป็นยา แทนที่พวกเขาจะได้เงินจากการขายช่อดอกและเมล็ด การมอบให้องค์กรใดองค์กรหนึ่งแบบฟรีๆ ก็ไม่ต่างอะไรกับการที่เกษตรกรเผาทำลายผลผลิตทิ้ง เพราะถึงจะเก็บไว้ในมือ ชาวบ้านก็ไม่สามารถนำช่อดอกและเมล็ดไปแปรรูป จำหน่ายอย่างถูกกฎหมายเองได้อยู่ดี (แถมขั้นตอนในการขออนุญาตซับซ้อนซ่อนเงื่อนมากๆ) หลายคนอาจคิดในใจว่า ก็หาผู้รับซื้อรายใหม่สิ ไม่น่าจะยากอะไร จริงๆ จำนวนหน่วยงานเหล่านั้นมีจำกัดมากๆ และอย่าลืมว่าคนปลูกกัญชาไม่ได้มีแค่วิสาหกิจเท่านั้น ยังมีบริษัทใหญ่ๆ ที่มีเงินลงทุนหนาๆ เข้ามาเล่นในตลาดนี้เหมือนกัน

เรื่องการผูกขาดที่น่าจะซ่อนด้วยผลประโยชน์บางอย่าง ไม่ได้เกิดขึ้นที่ต้นสายพานเท่านั้น ในนโยบายปลดล็อกกัญชาเสรีระยะ 5 ปีแรก รัฐได้ผูกขาดสิทธิ์ในการเข้าถึงกัญชาของแพทย์แผนไทยและหมอพื้นบ้านด้วย นั่นแปลว่า ช่องทางที่ชาวบ้านจะเข้าถึงยาทางเลือกตัวนี้ไม่ได้กว้างขวาง หรือมี ‘เสรี’ ตามชื่อของนโยบายเลย

การปลดล็อกกัญชาในเชิงการแพทย์ คือจุดเริ่มต้นที่สายเขียวฝากความหวังไว้ว่า มันจะเป็นบันไดขั้นแรกที่ปูทางไปสู่การใช้กัญชาในเชิงสันทนาการ ปั้นกัญชาให้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจ สร้างรายได้เข้ากระเป๋าคนในประเทศ ทว่าก่อนที่บ้านเราจะไปถึงจุดที่ฝันไว้จริงๆ หนึ่งในเรื่องที่เราต้องทบทวนกันตอนนี้คือ บันไดขั้นแรกที่เรายืนอยู่ในนาทีนี้ มันถูกสร้างให้ ‘ทุกคน’ เดินไปข้างหน้าพร้อมกันจริงๆ หรือเปล่า?

ที่มา:
Jenny Sansouci. (2020). “THE REBEL’S APOTHECARY”
mgronline.com
hfocus.org
history.com
healthline.com

Graphic Designer

#กราฟิกดีไซเนอร์ #เป็นเด็กหญิงMoodyGirl #แต่ถ้าได้กินของอร่อยฟังเพลงเพราะนอนเต็มอิ่มจะจิตใจแจ่มใสและหัวใจพองโต

Read More:

Love บันทึกประจำวัน

เป็นแม่ค้าออนไลน์เวอร์ชั่นชังชาติก็ได้ แค่อยากช่วยเพื่อนร่วมชาติบ้าง

เปลี่ยนความโกรธให้มีมูลค่า ด้วยแชร์ริตี้ช้อปเวอร์ชั่นจิ๋วและส่วนตัวมาก

Love สาระสำคัญ

ร่วมด้วยช่วยซื้อ ชวนกินช้อปใกล้บ้าน แล้วช่วยกันแชร์ร้านที่น่าอุดหนุน

ชวนไปชิม ช้อป สินค้าจากร้านรายย่อยน่าอุดหนุน ผ่านความช่วยเหลือของเหล่าชาวเน็ต

Love มนุษยสัมพันธ์

คุยกับ ‘แก้ว-มณีวรรณ’ เด็ก ม.ปลาย ที่เลือกตอบความฝันด้วยการศึกษานอกระบบ

"ครูคะ หนูขอลาออก"