Love —— มนุษยสัมพันธ์

ฟังเสียง 10 คนรุ่นใหม่ที่กำลังแอคทีฟเพื่อเมือง

ทุกครั้งที่เราเห็นคนรุ่นใหม่, เราเห็นความหวัง

ไม่ใช่เพราะพวกเขายังอายุน้อย ยังอยู่ในเมืองนี้ไปได้อีกนานหลายปี แต่เป็นเพราะพวกเขามีวิธีคิดและวิธีทำใหม่ๆ และยังเชื่อว่าทุกปัญหาของเมืองเปลี่ยนแปลงได้ แก้ไขได้ ทำให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้

ili U ไปชวนพวกเขาคุย เพราะอยากรู้ว่าพวกเขามองเห็นอะไรในซอยบ้าน ในถังขยะ ในร้านอาหารริมทาง ในระบบขนส่งมวลชน ในเพื่อนร่วมเมือง หรือในมิติอื่นๆ ที่ไม่ได้ลี้ลับ แต่เราไม่เคยมองเห็น และพวกเขาลงมือทำอะไรที่ค่อยๆ ขยับเมืองผ่านความเชื่อนั้น

นี่คือคำตอบที่เราได้ฟังจากพวกเขา

1

คุยกับปอม – ขวัญชาย ดำรงค์ขวัญ เจ้าของเพจมนุษย์กรุงเทพฯ ว่าด้วยการสร้าง empathy ต่อกันผ่านเรื่องเล่าของคนเล็กๆ 

พื้นที่เรียนรู้ความหลากหลายของผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่เมืองนี้ ที่นอกจากจะสะท้อนเรื่องเล่าของคนเล็ก คนน้อย คนที่สังคมมองไม่เห็น (หรือเห็นแบบผิดๆ) ผ่านบทสัมภาษณ์เรียบง่ายแต่ทรงพลัง เพจยอดไลก์สามแสนกว่าเพจนี้ ยังสร้างอิมแพคให้สังคมหันมาเข้าใจ หรืออย่างน้อยก็เริ่มหันมาสนใจ ประเด็นละเอียดอ่อนของการอยู่ร่วมกันมากขึ้น 

คนเล็กๆ ที่ไม่ค่อยมีใครสนใจมักเป็นคนที่มนุษย์กรุงเทพฯ สัมภาษณ์เสมอ นอกจากรับฟังความแตกต่างหลากหลาย คุณมีแมสเสจอะไรที่อยากบอกผ่านคนเหล่านั้นหรือเปล่า

ผมเชื่อว่าทุกคนมีเรื่องเล่าของตัวเอง ถ้าคุยแล้วไม่มี อาจเพราะเขายังไม่ได้คิด ไม่ถนัดพูด ผมถามไม่ดีพอ หรือจังหวะและบรรยากาศในการคุยไม่เอื้อ ความเชื่อแบบนั้นไม่ใช่วิถีของสื่อที่เป็นอยู่ในสังคมไทย เพราะคนเล็กคนน้อยมักถูกหยิบมารับใช้โครงเรื่องหนึ่งๆ ที่ไม่ใช่เรื่องเล่าของเขาเอง เช่น สัมภาษณ์แม่ค้าเรื่องการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอย แต่ไม่ได้สัมภาษณ์ว่าเขาทำอาชีพนี้ได้ยังไง ต้องเจอกับอะไร ความสุขความทุกข์คืออะไร คนเล็กคนน้อยมีเรื่องเล่าตามสื่อบ้าง แต่ก็ต้องเป็นระดับหัวๆ ส่วนคนเล็กคนน้อยที่ทำเรื่องไม่ดีทั้งทางกฎหมายและศีลธรรม ยิ่งแทบไม่มีพื้นที่เลย

ถ้าตอบคำถามนี้ มันตรงไปตรงมาแค่นั้นเลยครับ ผมเชื่อแบบนั้น เลยพยายามทำงานแบบนั้น ตลอดหลายปีที่ทำก็พบว่าเป็นความจริง 

ความคาดหวังจากการเล่าเรื่องคนธรรมดา คนทั่วไป หรือใครก็ได้ คือการทำให้คนอ่านเชื่อแบบเดียวกับที่ผมเชื่อ เท่าที่เพจจะมีพลังพาไปได้ ผมอยากคลายวิถีคนดังในสื่อ เปลี่ยนให้ทุกคนน่าสนใจในแบบของตัวเอง ถ้าพูดให้ดูมีอะไรหน่อย ผมอยากสร้างความเท่าเทียมในเรื่องเล่า ทำให้คนอ่านเชื่อว่าทุกคนก็มีคุณค่า

ได้อ่านบทสัมภาษณ์ที่คุณบอกว่า วิธีคิดในการทำงาน คือการถามและเรียบเรียงให้คนอ่านเห็นตัวเองในเรื่องเล่าของคนอื่น สิ่งนั้นจำเป็นอย่างไรกับเพจมนุษย์กรุงเทพฯ หรือพูดให้ไกลไปกว่านั้น มันจำเป็นกับการอยู่ร่วมกันในสังคมเลยไหม

เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับสองเรื่อง คือ หนึ่ง ทำให้บทสัมภาษณ์นั้นอิมแพค มีคนไลก์ คอมเมนต์ และแชร์ เพราะเขารู้สึกว่าเรื่องนั้นเกี่ยวข้องกับตัวเอง ถ้าเราเล่าถึงชีวิตคนจนเมืองว่าเก็บขยะยังไง ขายที่ไหน เงินดีไหม มันจะเป็นเรื่องเล่าที่โดดๆ ออกมาจากคนอ่าน แต่ถ้าเอาเรื่องเหล่านั้นมาเชื่อมโยงหาความรู้สึกภายในของมนุษย์คนหนึ่ง เช่น เหนื่อยไหม ท้อไหม ความสุขคืออะไร อยากเห็นชีวิตเป็นยังไง ฯลฯ มันจะเชื่อมโยงกับคนอ่านได้ 

สอง การเห็นเราในเขา เห็นเขาในเรา ทำให้เราเห็นอกเห็นใจกัน มันไม่ใช่ความสงสารแบบ ฉันสบาย เธอลำบาก น่าสงสารจัง แต่มันคือการรับรู้ความรู้สึกของเขา เท่าที่เรารับรู้ได้ แล้วหลังจากนั้นอาจนำไปสู่ความเข้าใจ ทั้งจากการพูดคุยและศึกษาเพิ่มเติม เกิดการช่วยเหลือกันอย่างถูกต้องด้วย ผมนึกถึงเรื่องคนไร้บ้าน ถ้าเราเห็นอกเห็นใจเขา มันจะไม่ใช่มองเขาแบนๆ ว่า สกปรก ขี้เกียจ บ้านก็มีทำไมไม่อยู่ แต่มันจะพาไปสู่แง่มุมที่ละเอียดลออว่านั้น 

เวลาคนอ่านคอมเม้นต์แรงๆ กับคนที่เราสัมภาษณ์ในโพสต์ มันสั่นคลอนความเชื่อที่จะสร้างการยอมรับกันและกันบ้างไหม แล้วดึงใจตัวเองกลับมายังไงว่าต้องทำต่อไป

ปกติผมอ่านคอมเมนต์แค่ช่วงแรกๆ อาจจะ 1-2 วัน หลังจากนั้นไม่ค่อยอ่านแล้ว ยิ่งถ้าทิศทางคอมเมนต์น่าจะมีคำด่าเยอะๆ ผมไม่อ่านเลย เพราะอ่านแล้วก็สะเทือนใจกับคำด่าเหล่านั้น ทั้งคนที่ไม่เข้าใจสิ่งที่สื่อสาร คนที่เห็นแย้งแล้วหยาบคาย ไปจนถึงคนป่วนๆ พิมพ์แย้งเอาสะใจ พูดง่ายๆ ก็กวนตีนนั่นแหละ

ตอนทำเพจใหม่ๆ ผมก็โลกสวย คิดว่าถ้าเราระมัดระวังในการสื่อสาร เลือกแง่มุมที่จะเข้าใจกันมาเล่า คนน่าจะเข้าใจกันมากขึ้น แต่ทำมาหลายปี ผมเลิกหวังอะไรแบบนั้นแล้ว คนเข้าใจมากขึ้นมีอยู่แล้ว แต่เป็นไปไม่ได้ที่คนส่วนใหญ่หรือทุกคนจะเข้าใจ ยิ่งกับบางเรื่องคือแทบเป็นไปไม่ได้ เช่น เรื่องการเมือง เรื่องศาสนา เรื่องวัฒนธรรมบางอย่าง ก็ต้องทำใจยอมรับ 

ผมเข้าใจคำพูดว่า ‘ทำเท่าที่ทำได้’ มากขึ้นนะ อย่างน้อยผมเข้าใจคนที่ให้สัมภาษณ์มากขึ้น คนอ่านหนึ่งคน สองคน สามคน เข้าใจคนที่ให้สัมภาษณ์มากขึ้น แค่นั้นก็พอแล้ว มันทำได้แค่นี้จริงๆ

แล้วปฏิสัมพันธ์ในเพจแบบไหนที่คุณรู้สึกว่ามนุษย์กรุงเทพฯ มาถูกทางแล้วจริงๆ

ไม่เคยนึกถึงมุมนี้เลย, เป็นกำลังใจให้นะ, ขอบคุณที่เล่าให้ฟัง (ในกรณีเล่าเรื่องที่ละเอียดอ่อนหน่อย เช่น ทำแท้ง ฆ่าตัวตาย) เดี๋ยวจะหาเวลาไปอุดหนุนนะ (ในกรณีเล่าเรื่องร้านขายอาหาร) 

ทำเพจมาหกปี มนุษย์ที่เราได้คุยในเพจมามากมาย มันสะท้อนความเป็นกรุงเทพฯ ในแง่ไหนบ้าง

มนุษย์ (ใน) กรุงเทพฯ มีทั้งความเหมือนและความต่าง เหมือนคือไม่ว่าเขาจะทำอาชีพอะไร ยากดีมีจนแค่ไหน ก็มีความรู้สึกและความปรารถนาไม่ได้แตกต่างกัน ขณะที่ความต่างคือ แต่ละคนมีรายละเอียดของชีวิตที่มีคุณค่าในแบบของตัวเอง ไม่จำเป็นต้องเหมือนกับค่ามาตรฐานที่ใครกำหนด

และสุดท้ายแล้ว ชีวิตของพวกเขาก็บอกเล่าสภาพปัญหาต่างๆ ด้วย เช่น คนพิการที่ออกไปใช้ชีวิตไม่ได้ พนักงานห้างที่เบียดเสียดบนรถเมล์ตอนสี่ทุ่ม การกีดขวางของป้ายโฆษณา สายไฟ น้ำขังในที่สาธารณะ การโดนบูลลี่จากคนรอบตัว ฯลฯ 

ประเด็นอะไรตอนนี้ที่มนุษย์กรุงเทพฯ อยากสื่อสารที่สุด

ไม่มีเรื่องที่อยากทำมากแบบโดดออกมา แต่เวลาได้รู้ข้อมูลของคนเล็กคนน้อย คนที่ถูกสังคมตีตรา ก็อยากไปพูดคุยเพื่อหาวิธีเล่าตลอด คนใช้สารเสพติด ผู้หญิงขายบริการ คนออกจากคุก ฯลฯ ก็เคยคุยมาบ้างและอยากคุยอีก

ขอบคุณภาพถ่ายจาก waymagazine.org ถ่ายภาพโดย อนุชิต นิ่มตลุง


2

คุยกับชาช่า – ทิชา นักเรียนกราฟิก และอินฟลูเอนเซอร์ที่อยากชวนทุกคนมาใส่ใจเรื่องการบริโภคของตัวเองมากขึ้นอีกนิด

นอกจากบทบาทของนิสิตสาขากราฟิกดีไซน์เจ้าของแบรนด์เสื้อ CO.PINION อีกสิ่งหนึ่งที่ชาช่า-ทิชา วงศ์พิมลพร กำลังพยายามทำอย่างเต็มที่ คือการเป็นกระบอกเสียงบอกเล่าปัญหาในวงการอุตสาหกรรมแฟชั่น ที่ทำลายทั้งทรัพยากรและแรงงานมนุษย์หลายล้านชีวิตให้ผู้ติดตามแสนกว่าคนในอินสตาแกรมของเธอได้รู้ เพราะชาช่าเชื่อว่าเสียงของเธอจะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงบางอย่างในอุตสาหกรรมแฟชั่นได้

ทำไมคุณถึงลุกขึ้นมาพูดเรื่องฟาสต์แฟชั่น

เพื่อนเราเคยมาเล่าปัญหาในวงการแฟชั่นให้ฟัง ด้วยความที่เราชอบแฟชั่น ชอบแต่งตัว ร้านเสื้อเลยชอบส่งเสื้อผ้ามาให้รีวิวในอินสตาแกรมบ่อยๆ เราเริ่มรู้สึกว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของปัญหานี้ แม้เราจะสนับสนุนแบรนด์รายย่อย แต่เราก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้วงจรเสื้อผ้าหมุนเร็วขึ้นตามกลไกทุนนิยมที่พยายามทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าต้องซื้อสินค้าของเขาอยู่เรื่อยๆ ซึ่งเรามองว่าวงการแฟชั่นยังต้องเดินหน้าต่อ แต่ตอนนี้มันวิ่งไปเร็วมาก เราจะทำให้ช้าลง และใส่ใจโลกมากขึ้นได้ยังไง

ในฐานะที่คุณเป็นอินฟลูเอนเซอร์ มีคนติดตามผลงานของคุณเยอะ การออกมาพูดเรื่องนี้สำคัญกับคุณอย่างไร

ชื่อเสียงเป็นพริวิเลจ เราส่งสารถึงคนจำนวนมากได้เร็วและง่ายกว่าใครหลายคน ตอนนี้มีคนอีกมากมายที่พยายามสื่อสารปัญหาระดับประเทศ ระดับโลกไปหาคนอีกกลุ่มด้วยความลำบาก บางคนโดนลิดรอนสิทธิจนออกมาพูดอะไรไม่ได้ด้วยซ้ำ บางคนมีงานมีการยังสละเวลาออกมาสื่อสาร แล้วเราที่มีกำลังในการสื่อสาร มีพรีวิเลจมากกว่าคนอื่น ก็ควรออกมาใช้เสียงให้เป็นประโยชน์สิ 

การออกมาพูดเรื่องฟาสต์แฟชั่น ทั้งๆ ที่ทำงานในวงการแฟชั่น ไม่ว่าจะรับรีวิวเสื้อ ทำแบรนด์เสื้อของตัวเอง ส่งผลอะไรกับคุณไหม

มีแน่นอน จริงๆ เราเคยกังวลเรื่องนี้เหมือนกัน คนจะมองว่าเราย้อนแย้งไหม เมื่อก่อนเราลงเสื้อผ้าเต็มไปหมด แล้วอยู่ๆ ก็มาพูดเรื่องฟาสต์แฟชั่น แต่จะให้เราทำยังไง ลอยหน้าลอยตาไม่พูดเรื่องนี้หรอ ก็ไม่ได้ไหม เรารู้สึกว่าเราควรออกมาขอโทษ ออกมารับผิดชอบด้วยการส่งต่อเรื่องนี้ให้คนอื่นๆ ได้รู้ แล้วก็ปรับพฤติกรรมตัวเองไปด้วย 

อย่างเราขายเสื้อ คนที่ไม่รู้ว่า ethic brand เป็นยังไง ก็มาด่าว่าแบรนด์เสื้อที่เรากับเพื่อนทำรักษ์โลกตรงไหน ทั้งๆ ที่ ethic brand มันไม่ต้องตะโกนว่ารักษ์โลกออกมาก็ได้ ไม่จำเป็นต้องทอผ้าจากเส้นใยรีไซเคิลเท่านั้น เรายังทำเสื้อผ้าที่เข้ากับคนเมืองได้ แต่มี ethic หน่อย ทำเสื้อให้คุณภาพดี ใส่ได้นาน ผลิตน้อยลงจะได้ไม่เป็นขยะ ให้ค่าแรงที่เป็นธรรมกับช่าง หรือติดตามกระบวนการผลิตว่าทุกขั้นตอนโปร่งใส ตอบลูกค้าได้ว่าเสื้อตัวนี้มาจากไหน ใครทำ แบบนี้ก็ได้เหมือนกัน

ถึงตอนนี้จะเป็นแค่จุดเริ่มต้น แต่ต่อไปคุณอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรในวงการแฟชั่น

เราอยากให้คนตระหนักถึงปัญหานี้จริงๆ หลายคนรู้ว่าฟาสต์แฟชั่นคืออะไร แต่ตัวเองก็ยังสนับสนุนแบรนด์ที่ใช้ผ้าฝ้ายจากแคว้นซินเจียง ซึ่งมีข่าวออกมาว่ามีค่ายกักกันใช้แรงงานคนอุยกูร์กว่าล้านคนอยู่ 

เราต้องการใช้เสียงของผู้บริโภคในการกดดันผู้ผลิตให้สนใจสิ่งแวดล้อมและให้ความเป็นธรรมกับแรงงานมากขึ้น อยากให้คนมองว่าการถามที่มาของเสื้อผ้าจากร้านที่ซื้อเป็นเรื่องปกติ 

นอกจากแบรนด์ฟาสต์แฟชั่นใหญ่ๆ ที่เรารู้จักแล้ว วงการพรีออเดอร์ก็มีปัญหาเยอะมากๆ ทั้งการลอกดีไซน์มาจากแบรนด์อื่นแต่มักขายดีกว่าแบรนด์ที่ผลิตและออกแบบเอง กระบวนการผลิตก็ตรวจสอบไม่ได้ว่ามาจากโรงงานไหน ยิ่งราคาถูกยิ่งเป็นไปได้สูงว่ามาจากโรงงานในประเทศที่แรงงานไม่ได้รับความเป็นธรรม บางทีอาจจะไม่ได้รับแม้แต่ค่าแรงขั้นต่ำด้วยซ้ำ คุณภาพก็เดาไม่ได้ เพราะมักจะเป็นร้านออนไลน์ บางร้านเผลอๆ ออกเสื้อผ้าถี่กว่าแบรนด์ฟาสต์แฟชั่นที่บอกว่าออกใหม่ทุกอาทิตย์อีก

คนอาจจะเผลอให้ความสำคัญกับการซื้อเสื้อผ้าในเทรนด์ด้วยราคาที่ถูกที่สุด มากกว่าสนใจว่าเสื้อที่ซื้อมาจะใส่คุ้มแค่ไหน แรงงานได้ค่าแรงเท่าไหร่ ใช้ผ้าอะไร ใครเป็นคนออกแบบ เราอยากให้คนหันมาสนใจเรื่องนี้มากขึ้น  เพราะการผลิตอะไรก็ใช้ทรัพยากรทั้งนั้น แต่คุณค่ามันคุ้มกับการถูกสร้างออกมาไหม หรือเราเป็นส่วนหนึ่งในการผลิตขยะที่สร้างจากหยาดเหงื่อและเลือดเนื้อของใครบางคนอยู่


3

คุยกับภาพพิมพ์ พิมมะรัตน์ นักสื่อสารที่มีแพสชั่นเรื่องการจัดการขยะ และเชื่อว่าสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องของ ‘คนกับคน’

สำหรับเรา ภาพพิมพ์คือดีไซเนอร์ที่มีแพสชั่นเรื่องการจัดการขยะ และนักเขียนที่พร้อมกระโจนเข้าไปทำความเข้าใจเบื้องหลังปัญหามากกว่าใครๆ 

หลังเรียนจบปริญญาโทด้าน design for social innovation จากนิวยอร์ก เธอก็กลับมาทำงานที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารเรื่องขยะ สังคม และสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันเขียนคอลัมน์เรื่องสิ่งแวดล้อมให้ greenery และ Refill Station เป็นอาร์ตไดเรกเตอร์ให้เพจ The Potential และกำลังศึกษาปริญญาโทภาคภาษาอังกฤษ ด้านการพัฒนาระหว่างประเทศ (International Development Studies) ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เพราะเชื่อว่าปัญหาเรื่องการจัดการขยะในบ้านเรายังต้องการแรงผลักดันจากนโยบาย

เห็นลงพื้นที่จริงจัง ตามคนเก็บขยะไปดู ไปคุยกับซาเล้ง ฯลฯ บางครั้งไม่ได้ทำคอนเทนต์ แต่ก็เอามาเล่าในเฟซบุ๊กตัวเองบ่อยๆ ทำไมถึงอินกับสื่อสารเรื่องปัญหาขยะขนาดนี้

ซาเล้งคือตัวละครสำคัญในวงจรการคัดแยกขยะ ซึ่งเราไม่เคยคิดมาก่อน คือเราคิดถึงต้นไม้ อากาศ แต่เราไม่เห็นคนจริงๆ ในนั้น พอเริ่มไปดูพนักงานเก็บขยะ คุยกับซาเล้ง เราก็เริ่มเห็นว่าเขาเป็นคนสำคัญมากเลยนะในการรีไซเคิล เราแค่หยุดใช้หลอด แต่ซาเล้งเป็นคนเก็บพลาสติก เก็บขยะรีไซเคิลทั้งหมดที่อยู่ตามบ้าน ตามซอก ตามซอย มาแยกได้ละเอียดมากๆ สำหรับเขาอาจจะแค่ยิ่งแยกได้มากก็ได้เงินมาก แต่ในขณะเดียวกันมันคือขยะได้ไปสู่โรงงานรีไซเคิลได้มากขึ้น อุตสาหกรรมการขายและรีไซเคิลขยะรายย่อยได้มีเงินหมุนเวียน นอกจากเรื่องลดขยะ มันคือ เศรษฐกิจ แรงงาน และคุณภาพชีวิตด้วย

แต่ตอนนี้ ทั้งหมดนี้กำลังจะล่มสลาย เพราะการนำเข้าขยะพลาสติก ทำให้ราคาขยะรีไซเคิลในประเทศลดลงทันทีครึ่งหนึ่ง ทำให้พวกโรงรับซื้อของเก่ารายย่อยปิดไปเพราะอยู่ไม่ไหว ซาเล้งก็ไม่มีที่ปล่อยขาย หรือขายก็ได้เงินน้อยมาก ขายได้แค่โลละบาท เขาก็ไม่อยากขาย 

เราไม่รู้ว่าสิ่งที่เราทำจะมีผลกับเมืองขนาดไหน แต่เราพยายามให้คนมองสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่อง ‘คนกับคน’ มากขึ้น ไม่ต้องนึกถึงว่าน้ำแข็งขั้วโลกจะละลาย โลกจะร้อนขึ้น แต่พี่ที่มาเก็บขยะหน้าบ้าน ซาเล้งที่ผ่านไปทุกวัน อยากให้ใจดีต่อกัน ถ้าจะเจอซาเล้งที่เขาไม่รับขยะ อยากให้เข้าใจว่าเพราะอะไร เราอยากจะสื่อสารในด้านนั้นมากขึ้น อยากสื่อสารให้เห็นว่าปัญหาจริงๆ มันอยู่ตรงไหน เรื่องนี้ไม่ค่อยเป็นมิติที่คนพูดกัน แต่สำหรับเรา การจัดการขยะมันเป็นเรื่องของการอยู่ร่วมกันในเมืองด้วย

เท่าที่ไปลงพื้นที่มา จริงๆ แล้วปัญหาขยะบ้านเรา มันหนักที่ตรงไหน

มันคือโครงสร้างของการคัดแยก ที่คุณมีถังขยะแยกไว้ แต่สุดท้ายก็เอาไปรวมๆ กันในห้องเดียว คนอาจจะโฟกัสว่ามันไปรวมที่รถขยะของ กทม. แต่เราเห็นในหลายๆ ที่ว่าขยะมันไปรวมกันตั้งแต่ก่อนไปถึงเขาแล้ว เช่น ที่นิติคอนโด หรือห้องเก็บขยะตามห้างฯ ที่ขยะทุกอย่างไปรวมอยู่ในห้องขยะเปียกหมดเลย มันเป็นตั้งแต่ที่เอกชนเขาไม่ตั้งใจจะแก้ปัญหากับมันจริงๆ แล้วก็โยนความรับผิดชอบมาที่ฝั่งคนใช้อย่างเดียว ว่าเราต้องช่วยกันแยกสิ

ถ้ามองกันในแง่ดีไซน์ พลาสติกคือ service design ที่ประสบความสำเร็จมากๆ มันออกแบบมาเพื่อให้คนมีชีวิตที่สะดวกสบายมากขึ้น เขาคิดมาเพื่อคนใช้งาน แต่ตอนนี้ด้วยการใช้การทิ้ง มันเลยกลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม เราเลยคิดว่าถ้าจะสู้เรื่องนี้ การแยกขยะก็ควรเป็น service design ที่สะดวกสบายต่อคนทิ้ง คิดถึงคนใช้ให้มากขึ้น

ในฐานะดีไซเนอร์ เรารู้สึกว่า user โดนผลักภาระมามากเกินไป แต่การจัดการขยะมันเป็น service design ที่รัฐและเอกชนควรจะออกแบบให้มันดี ไม่ใช่เราต้องทำฝ่ายเดียว มันก็เป็นมิติพวกนี้ที่ทำให้เราเข้าใจว่าขยะเป็นเรื่องนโยบาย และเป็นเรื่องระหว่างประเทศจริงๆ เราสู้จากข้างล่างไม่ไหว ทำให้เราตัดสินใจเรียนต่อปริญญาโทด้านการพัฒนาระหว่างประเทศ ถ้าเป็นไปได้ก็อยากทำธีสิสเรื่อง waste management (การจัดการขยะ) ทั้งในมิติของนโยบาย เทคโนโลยี ว่าใน South East Asia มันเกิดอะไรขึ้น ทำไมมันถึงกลายเป็นบ่อขยะของโลก 

แรงขับเคลื่อนที่ทำให้อยากเรียนต่อ อยากแอคทีฟ อยากทำให้เรื่องนี้มันดีขึ้น คืออะไร

เพราะเราเห็นความตั้งใจของทุกคนมั้ง เราเห็นว่าทุกคนอยากทำให้มันดีขึ้น หาวิธีแยกขยะ วิธีเอาขยะไปรีไซเคิล ทั้งผ้า พลาสติก แต่มันขยับน้อยมากๆ ทั้งๆ ที่มันควรจะขยับไปมากกว่านี้ แต่มันมีอะไรบางอย่างที่ต่อให้เราพยายามแค่ไหนมันก็ไม่มีผล แล้วเรารู้สึกว่ามันใจร้ายมากเลย ที่คุณไม่เห็นความพยายามของพวกเรา

การที่จะมีไลฟ์สไตล์กรีน คนต้องยอมแลกกับความไม่สะดวกสบายจำนวนมาก ต้นทุนในการใช้ชีวิตมันเพิ่มขึ้น เราเคยลองใช้ชีวิตให้ไม่แตะ single-use พลาสติกเลยแล้วเจอว่ามันหลบยากมาก คิดว่า โห นี่ฉันต้องลำบากกับชีวิตขนาดนี้ รักโลกแต่ไม่ได้รักตัวเองเลย เราเลยชื่นชมทุกคนที่ทำได้ว่าทำไมเขาถึงยอมทำ ทำไมเขาถึงยอมพกช้อนส้อม ขวดน้ำ แก้วน้ำ กระเป๋าใบใหญ่ไปทำงานทุกวัน เขาไม่ได้อะไรเลยนะ แต่ทุกคนก็ทำด้วยใจ คิดว่าเขาควรจะได้รับอะไรตอบแทนจากสิ่งนี้บ้าง

เราว่าคนที่เขาทำอยู่แล้ว เขาทำเพราะเขาอยากทำ เขาไม่ได้หวังว่ามันจะเวิร์กหรือไม่เวิร์ก เขาก็คงรู้ว่าอิมแพ็กมันน้อย แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลที่จะไม่ทำไง เขาก็ไม่ได้ suffer กับมันขนาดนั้น เราเลยยิ่งรู้สึกว่าอยากให้สิ่งที่เขาทำโดยไม่หวังผลตอบแทน มันเอฟเฟ็กต์กว่าเดิม เราเลยอยากจะไปผลักดันในระดับบนๆ ให้ได้ 

อยากบอกอะไรกับคนเมืองที่กำลังสิ้นหวังกับการแยกขยะ

ทำเท่าที่ทำได้ แต่ไม่ต้องทำจนรู้สึกว่าลำบากตัวเอง ไม่ต้องเสียสละก็ได้ เราโอเคนะถ้าคนจะไม่ทำ แต่เอาความโกรธแค้นเหล่านั้นมาผลักดันให้คนมีอำนาจทำ ส่วนตัวเราไม่ด่า เราไม่ชอบด่า เราว่ามันไม่ไปไหน เราเชื่อในการทำให้เห็น ทำให้ดู ว่ามันดีกว่านี้ได้ ถ้าเราทำระบบอะไรบางอย่างขึ้นมา เหมือนที่มูลนิธิกระจกเงากำลังทำอยู่ 

สำหรับการแยกขยะ สุดท้ายตอนนี้มันอาจจะไปรวมกัน แต่อยากให้มองในมิติของ ‘คน’ อย่างน้อยมันทำให้พี่แม่บ้านในตึกและพนักงานเก็บขยะเขาทำงานได้ง่ายขึ้น หรือถ้าจะทิ้งตู้เย็นก็ลองเรียกซาเล้งมารับไหม แทนที่จะเอาไปทิ้งกับ กทม. มันอาจจะเป็นค่าเทอมของลูกซาเล้งได้นะ หรือเอาไปให้กระจกเงา ให้เงินมันหมุนเวียนในวงย่อย แล้วอย่าไปโกรธถ้าจะเจอคนที่เขาไม่รับ ลองหาทางที่มันวิน-วิน อยากให้มองว่ามันคือการอยู่ร่วมกันในเมืองมากกว่า 


4

คุยกับเบสท์ – วรรจธนภูมิ ซีอีโอแห่ง Eyedropper Fill มัลติมีเดียดีไซน์สตูดิโอที่อยากสื่อสารแทนเสียงของคนในสังคมที่มีปัญหา

CEO แห่งมัลติมีเดียดีไซน์สตูดิโอที่ทำงานสร้างสรรค์ ทำหนังสารคดี ทำเอ็มวี ทำสเปซ ทำงานศิลปะ ทำเวิร์กช็อป ฯลฯ หลังโชว์ฝีมือผ่านงานออกแบบมัลติมิเดียทั้งแนวทดลองสนุกๆ และแนวเพื่อสังคมมาหลายชิ้น ขวบปีที่ 10 ของมัลติมีเดียดีไซน์สตูดิโอ Eyedropper Fill เบสท์ตัดสินใจหยิบเอา personal passion มาปรับเป็น mission ใหม่ของบริษัท โดยตั้งใจจะหยิบเอาความรู้ด้านการออกแบบ ศิลปะ และการทำสื่อมาเล่าเรื่องแทน ‘เสียงที่ถูกกดทับ’ ในสังคม 

ล่าสุดหนังสารคดีสะท้อนระบบการศึกษาว่าด้วยเรื่องชีวิตของเด็กแรปในคลองเตยที่ชื่อ School Town King ของเบสท์ ได้เข้าร่วมประกวดเทศกาลหนังปูซาน และน่าจะเข้าฉายในไทยสิ้นปีนี้

เพราะอะไร งานยุคปัจจุบันของ Eyedropper Fill ถึงโฟกัสไปที่ปัญหาของคนเล็กๆ ในสังคม

จริงๆ อายดรอปฯ ทำงานเพื่อสังคมมา 5-6 ปี แต่ไม่ค่อยมีใครเห็น เราไม่ค่อยได้สื่อสารออกไปเพราะกลัวคนจะงงว่าอายดรอปฯ ทำงานคอมเมอร์เชียลหรือเพื่อสังคมกันแน่ ก่อนหน้านี้งานเพื่อสังคมเลยถูกเก็บไว้เป็นแพสชั่นส่วนตัวของเรามากกว่า 

คือเราตั้งคำถามกับตัวเองว่า ตื่นมาเราไถหน้าฟีด เห็นเรื่องราวที่เป็นเรื่องปัญหาสังคมเยอะไปหมด การเมืองก็คือทุกสิ่งเหมือนกัน ในฐานะที่เรามีความรู้ด้านการออกแบบ ศิลปะ การทำสื่อ มันจะช่วยผลักดันหรือขับเคลื่อนอะไรได้บ้าง เราอยากช่วยพูดแทนเสียงของคนที่ได้รับปัญหามากขึ้น มันก็เลยนำพามาซึ่งโปรเจ็กต์ที่พูดถึงสังคมอย่าง Connext Klongtoey หรือแม้กระทั่งหนังสารคดีที่เราทำสองเรื่อง มันก็จะพูดถึง voice ต่างๆ ที่ถูกกดทับ หรือไม่มีการสื่อสารในสังคมทั่วไป เราคิดว่าเราจะเอาความรู้ของเราไปสื่อสารแทน‘เสียงที่ถูกกดทับ’ ยังไงได้บ้าง  

เสียงที่ถูกกดทับ ถ้ามองแค่กรุงเทพฯ มันคือเสียงของใคร

ชีวิตในกรุงเทพฯ คือความหลากหลาย เรามองเหมือนหนัง Parasite เลย คือมีเลเยอร์ของครอบครัวที่รวย ครอบครัวที่อยู่ใต้ดิน แต่ในกรุงเทพฯ นี่น่าจะมีเป็นสิบระดับเลย ข้อดีคือเราอยู่ร่วมกัน ขาดใครไปก็จะทำให้เมืองนี้มันไม่เคลื่อน เช่น ท่ามกลางตึกสูง ก็จะเห็นว่ามีคนเล็กๆ มาทำงานขายของให้คนในออฟฟิศ เหตุผลที่เปอร์เซ็นต์ของคนต่างจังหวัด เข้ามาอยู่ในเมืองเยอะ เพราะการเมืองเราเป็นแบบรวมศูนย์ 

แต่พอได้ลงไปในพื้นที่อย่างคลองเตย เราเจอว่าสำหรับคนต่างจังหวัดที่เข้ามาทำงานเป็นฟันเฟืองให้เมือง เขากลับมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ค่อยดี  คือเราไม่เคยรู้เลยว่าคนเหล่านี้พอเลิกงานแล้วกลับบ้าน เขาไปอยู่ในคุณภาพชีวิตแบบไหน หลายคนบอกว่าถ้าไม่จำเป็น เขาไม่อยากมาอยู่ในเมืองหรอก พอมาอยู่ตรงนี้ ความสัมพันธ์ในครอบครัวเขาก็หายไป เกิดภาวะเครียด ซึมเศร้า โดดเดี่ยว เพราะต้องเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคในการหางาน ยิ่งเศรษฐกิจแย่ คนเหล่านี้ยิ่งทรมาน สำหรับคนต่างจังหวัด เมืองหรือระบบการเมืองของประเทศเรา ยังไม่สามารถต่อยอดความฝันหรือคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับเขาได้

ทำไมถึงอยากสื่อสารแทนเสียงของคนที่มีปัญหา 

ในเชิงนโยบาย ภาพรวมของประเทศ มันต้องอาศัยเสียงจำนวนมากในการเปลี่ยนแปลง แต่เราต้องเห็นความเชื่อมโยงระหว่างปัญหาที่เราเจอ กับปัญหาที่คนอื่นเจอก่อน แล้วพลังของเสียงจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ผลักดันไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายขึ้นมาได้ เราเชื่อว่าการรับฟัง การเห็นและได้ยิน voice ของคนอื่นที่มีปัญหา การที่ทำให้คนเหล่านี้ได้ตระหนักรู้ว่าตัวเองมี voice และเชื่อว่าเสียงของเราเปลี่ยนประเทศได้ มันน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

เราเองก็ไม่ใช่นักการเมืองหรือ NGOs ที่เข้าไปพัฒนาในเชิงนโยบาย เราเป็น communicator (นักสื่อสาร) สิ่งที่เราพอจะทำได้คือพยายามเข้าใจในสิ่งที่เขาเจอ นำสิ่งที่เขาเจอมาสื่อสารสู่คนภายนอกที่ไม่เคยเห็น ไม่รับรู้เรื่องราวเหล่านี้มาก่อน ถ้าเราเอาแมสเสจเหล่านี้มาสื่อสารให้คนข้างนอกรับรู้และเข้าใจได้ มันน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง 

ความตั้งใจของเราในการทำสื่อ คืออยากให้เราทุกคนเห็นเขาอยู่ร่วมกันกับเรา ความเห็นอกเห็นใจกันมันสำคัญมาก กับการอยู่ร่วมกันในเมืองที่มันหลากหลายแบบนี้ เห็นอกเห็นใจไม่ได้หมายถึงไปสงสาร เราอาจจะมีชีวิตที่ดี กลับบ้านนอนเต็มอิ่ม แต่วันหนึ่งที่เราเห็นข่าวมีคนออกมาประท้วงจากการไล่ที่ อย่างน้อยระดับที่เราหวังในจุดเริ่มต้นคือ เขาไม่ได้ ignore สิ่งนี้ และเขารู้สึกร่วมไปกับมันด้วย คนที่พอจะมีกำลังบางอย่างและรู้สึกเห็นอกเห็นใจ รู้สึกร่วมไปกับสิ่งที่คนอื่นลำบากในวันหนึ่งมันอาจจะทำให้เขาเกิดแอ็กชั่นได้

คิดว่าการสื่อสารแทนเสียงของคนเล็กๆ ที่เจอปัญหาในสังคม มันจะช่วยเมือง หรือช่วยประเทศให้ดีขึ้นได้ยังไง

ตอบแทนอายดรอปฯ เราคิดว่าประเทศเรา วัฒนธรรมการสื่อสารมันไม่ค่อยเป็นประชาธิปไตยเท่าไหร่ มันยังมีความกลัวในการพูดอะไรบางอย่างออกไป

สังคมเรามันสร้างความไม่ comfort ในการพูดความจริง แต่สำหรับเรา สิทธิในการสื่อสารมันเป็นการยืนยันตัวตนแบบหนึ่ง เราคิดยังไง เราพูดออกไป คนอื่นก็รู้ว่าเราเป็นยังไง การแสดงออกก็เท่ากับการที่เรา exist ในสังคมนี้ขึ้นมา 

mission ของบริษัท เราอยากสื่อสารแทนคนที่มีเสียง แต่เขาอาจจะไม่คิดว่าเสียงของเขามันสำคัญ เสียงในที่นี้อาจไม่ใช่การพูด แต่เป็นความคิด ชีวิตเขา มันก็เป็น voice ของเขาเหมือนกัน ในมุมแรกเราอยากสื่อสารแทนกลุ่มคนเหล่านี้ สองคือเราไม่ได้ทำแค่หนัง แต่เราทำสเปซด้วย เราอยากทำพื้นที่ที่มันเซฟพอที่คนจะสามารถพูดอะไรบางอย่างที่ตัวเองอาจจะไม่เคยได้พูด เราว่าการได้แสงออกบางอย่างในพื้นที่คอมฟอร์ต มันทำให้เราเข้าใจตัวเองและเห็นคนอื่นมากขึ้น มันเริ่มต้นจากพื้นที่ที่ปลอดภัย ทำให้กล้าออกไปมีชีวิตสู่สังคม

ทำไมถึงอยากทำเพื่อสังคม ทำไปทำไม 

อยากให้มันเปลี่ยนแปลงสักที อย่างช้าก็ได้นะ หลักสิบปี แล้วเรามีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ไม่อยากนั่งแล้วรอให้มันเปลี่ยน แต่เราทำอะไรได้บ้างในฐานะที่เรามีความรู้และอาวุธในการหาวิธีสื่อสารหลายๆ รูปแบบ เพราะเราอยากเห็นมันเปลี่ยนไปในทางที่ดี สมมติคิดว่าถ้าเรามีลูกเกิดมาในสภาพสังคมแบบนี้ เราคงไม่มีแน่ๆ เราอยากจะมีชีวิตที่ดีขึ้นได้ และไม่อยากแค่นั่งมองให้มันเกิด


5

คุยกับเบียร์ – วีระพล Foto_momo ช่างภาพที่ตามเก็บความทรงจำของตึกยุคโมเดิร์นที่กำลังหายไปจากเมือง

วีระพล สิงห์น้อย หรือเบียร์ คือช่างภาพสถาปัตยกรรมที่หลงใหลในสถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์น จากแฟนคลับที่ตามถ่ายภาพตึกในเมืองเอาสนุก พอเริ่มศึกษาข้อมูลลงลึกก็พัฒนาแพสชั่นตัวเองเป็นโปรเจ็กต์สะสมภาพถ่ายและข้อมูลตึกยุคโมเดิร์นในไทยที่ใกล้จะหายหรือถูกรื้อทำลายไป เบียร์แชร์ความรู้เรื่องตึกเก่าๆ ไว้ให้ผู้คนที่สนใจไว้ในเพจที่ทำหน้าที่คล้ายคลังสะสมความทรงจำ Foto_momo 

เพราะเชื่อว่าสถาปัตยกรรมเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่น่าศึกษาไว้ ภาพถ่ายก็น่าจะเป็นสื่อหนึ่งที่ส่งเสียงให้เกิดการอนุรักษ์ได้ และเราในฐานะคนเมืองน่าจะทำอะไรได้มากกว่าแค่การบ่นว่าเสียดาย

ทำไมถึงเลือกที่จะตามถ่ายแค่สถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์น มันมีเสน่ห์ตรงไหน

สถาปัตยกรรมโมเดิร์นมันไม่มีเสน่ห์หรอก ถ้ามีเสน่ห์จริงๆ เขาคงไม่ไล่รื้อออกไป มากมายในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ความน่าเกลียดของมันก็คือผิวปูน ผิวคอนกรีตที่ดูเก่าคร่ำครึ หยาบกระด้าง ไร้ชีวิตชีวา ไม่อย่างนั้นเขาคงไม่ทาสี ไม่ติดป้ายโฆษณาบดบังตัวอาคารเสียหมด แต่ไอ้ความไม่มีเสน่ห์ของมันนี่แหละ มันก็สะท้อนความเป็นไปของยุคสมัยหนึ่งที่วงการสถาปัตยกรรมของไทยเปิดรับความทันสมัยของการก่อสร้างแบบตะวันตกเข้ามา และสร้างเมืองให้เป็นเมืองอย่างทุกวันนี้

ทำไมถึงเปลี่ยนจากการตามถ่ายภาพตึกเก่าเพราะคิดว่ามันสวย ไปสู่การรีเสิร์ชข้อมูลตึก ผู้ออกแบบ แล้วตามถ่ายภาพ ทำเป็นโปรเจ็กต์จริงจัง 

ผมเริ่มสงสัยว่าตึกสวยๆ นี้ใครออกแบบกันนะ พอรู้ข้อมูลรู้ที่มาที่ไปของการออกแบบ เราก็เหมือนเป็นแฟนคลับ อยากตามสืบว่าเขาออกแบบอาคารอะไรอีก จะได้ตามไปถ่ายเก็บไว้ พอศึกษาลงลึกก็เริ่มสนุก ทำตัวเหมือนเป็นนักสืบสถาปัตยกรรม โดยใช้ภาพถ่ายเหล่านี้เป็นของสะสม ตึกไหนยิ่งหายากยิ่งเกิดแรงบันดาลใจให้อยากเดินทางไปดู

พอข้อมูลมันมากขึ้น ผมก็พบว่าน่าจะมีประโยชน์ที่จะแชร์ให้คนอื่นด้วย ที่ผ่านมาก็จะมีน้องๆ นักศึกษามาถามข้อมูลไปศึกษาต่อ ซึ่งเขาจะเก่งกว่าผมในด้านการวิเคราะห์ วิจารณ์สถาปัตยกรรม ผมก็อยากฝากให้เขาศึกษาตึกยุคนี้กันเยอะๆ เพราะมันถูกทุบไปเร็วมาก ลำพังผมคงได้เพียงแค่ถ่ายรูปรวบรวมเอาไว้กว้างๆ เป็นภาพรวมครับ

การที่ตึกเก่าในเมืองค่อยๆ ถูกทุบทำลายไปเรื่อยๆ คุณคิดว่ามันส่งผลกระทบอะไรต่อเมืองบ้าง มากไปกว่าแค่คำว่า ‘น่าเสียดาย’

อันดับแรกเลยคือ เมื่อเขาทุบตึกเก่าออกไป แน่นอนว่าต้องการสร้างตึกใหม่ที่ใหญ่ ขึ้นให้คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ จากเดิมที่พื้นที่ตรงนั้นอาจเคยมีถนนรองรับตึกที่มีคนใช้งาน 200 คน มันอาจจะถูกเปลี่ยนเป็น 1,000 คนที่จะเข้ามาใช้งานตึกใหม่นั้น แต่โครงข่ายถนนกลับไม่รองรับ ไม่ได้ถูกพัฒนาหรือคิดไปพร้อมๆ กัน ก็ทำให้เกิดปัญหาการจราจรทับถมเข้ามาในพื้นที่เดิมๆ อีก นี่คือปัญหาด้านกายภาพที่เกิดขึ้น

สอง ถ้าตึกนั้นมันยังแข็งแรงดีอยู่ การต้องรื้อทำลายแล้วสร้างใหม่จะต้องสูญเสีย ทรัพยากรอีกมากมายแค่ไหนในการสร้างอาคารสักหลังขึ้นมา คอนกรีต เหล็ก ไม้ กระจก และฝุ่นที่เกิดขึ้นในเมือง ซึ่งทุกวันนี้ผมว่าเราก็มีปัญหาสิ่งแวดล้อมกันมากพอแล้ว

งานภาพถ่ายที่คุณทำจะช่วยขับเคลื่อนเมืองได้ยังไง หรืออยากให้ภาพถ่ายเหล่านี้ มันทำงานกับผู้คนที่เข้ามาเห็นมันยังไงบ้าง

ผมอยากให้ภาพถ่ายเป็นสื่อหนึ่งที่ส่งเสียงให้เกิดการอนุรักษ์อาคารได้ แน่นอนว่าศิลปะ ของการถ่ายภาพเบื้องต้นนั้นต้องสวยสะดุดตา และนอกจากสะดุดตาแล้วยังอยากให้เห็นถึงคุณค่าของการเก็บบันทึกประวัติศาสตร์ไว้ แน่นอนว่าการสงวนรักษา ‘ของแท้’ หรือ authentic ไว้ย่อมดีอยู่แล้ว แต่ผมก็ไม่ปฏิเสธความเปลี่ยนแปลง ถ้าอาคารใดอาคารหนึ่งมันต้องปรับปรุงต่อเติม แค่อยากให้การกระทำเช่นนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานความงามของสถาปัตยกรรมและภาพรวมของเมือง

ในกรณีของอาคารของเอกชน เราคงไม่มีบทบาทมากไปกว่าเจ้าของอาคารนั้นๆ แต่สำหรับอาคารสาธารณะ ผมคิดว่ารัฐควรจะเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนว่าจะบริหารจัดการกับอาคารนั้นอย่างไร

เพราะสุดท้าย แม้ว่าจะต้องรื้อถอนอาคารพวกนั้นไป การสำรวจเก็บข้อมูลสถาปัตยกรรมอย่างเป็นระบบจะเป็นผลดีต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ในอนาคต ไม่เช่นนั้นเราจะต้องกล่าวคำว่าเสียดายอีกไม่รู้กี่ครั้งเมื่อพบว่าอาคารสวยๆ เหล่านั้นอันตรธานหายไปแล้ว

เป้าหมายสูงสุดของโปรเจกต์ Foto_momo คืออะไร

อยากให้บ้านเรามีพิพิธภัณฑ์ของอาคารโมเดิร์นอย่างครบวงจรครับ ผมคิดว่าสถาปัตยกรรมเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่น่าศึกษาไว้ ลำพังตัวเองตอนนี้คงได้แค่ถ่ายภาพ แต่มีอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันและจะสำคัญกว่าภาพถ่ายด้วยก็คือแบบ architectural drawing หรือแบบที่ใช้ในการก่อสร้าง เอกสารนี้จะเป็นของสำคัญมาก ถ้าเราอยากจะศึกษารายละเอียดของอาคารใดอาคารหนึ่ง อยากให้มีหน่วยงานที่เก็บรวบรวม archive ด้านสถาปัตยกรรมที่สร้างในประเทศไทยได้ก็น่าจะดี สามารถจัดแสดงเป็นแหล่งเรียนรู้ดีๆ ได้เลย

แทนที่จะมองตึกเก่าถูกทุบไปเฉยๆ ทำไมคุณถึงอยากลงมือทำสิ่งนี้ 

แรงขับเคลื่อนคือ ‘เวลา’ และ ‘ความเสียดาย’ ครับ ตึกและเมืองเป็นสิ่งที่สัมพันธ์กับผู้คน มันส่งผลต่อวิถีชีวิตและความคิดของพลเมือง ผมคงรอให้คนอื่นทำไม่ได้ เพราะเวลาก็ไม่รอเรา เท่าที่ทำงานนี้มาหลายปี ผมเห็นหลายๆ ตึกถูกทุบลงไปต่อหน้าต่อตา เมื่อก่อนก็ไม่คิดว่าจะเสียน้ำตาให้ซากปรักหักพังพวกนี้นะ แต่ก็ไม่น่าเชื่อว่าเคยร้องไห้มาแล้ว มันอาจจะไม่ใช่ความรู้สึกเสียดายตึก แต่มันคือความรู้สึกเสียดายสายสัมพันธ์ที่คนกับตึกมีร่วมกัน


6

คุยกับแวน – วริทธิ์ธร สุขสบาย ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม MAYDAY! นักออกแบบผู้หลงใหลรถเมล์ และอยากให้ขนส่งสาธารณะเป็นมิตรกับทุกคน 

จากเด็กหนุ่มผู้หลงใหลในเสน่ห์ของรถเมล์ไทยตั้งแต่เด็กๆ สู่การก่อตั้ง MAYDAY! กลุ่มคนที่พัฒนาระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพ ด้วยการสร้างความเป็นมิตรและผลักดันให้เกิดการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วมของประชาชน จนสามารถติดตั้งป้ายรถเมล์โฉมใหม่ที่สวย อ่านง่าย มีข้อมูลครบถ้วนกว่า 530 ป้ายทั่วกรุงเทพฯ ซึ่งแวนบอกว่านี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการพัฒนาเพื่อให้ระบบขนส่งสาธารณะเป็นทางเลือกหลักในการเดินทางสำหรับทุกคน

ทำไมถึงสนใจการพัฒนารถเมล์ไทย

จริงๆ ความรู้สึกอยากพัฒนากับชีวิตจริงเหมือนเดินเป็นเส้นขนานนะ เราทำงานกราฟิกดีไซน์ และเป็นคนชอบรถเมล์มากมาตั้งแต่เด็กๆ บ้านเป็นชนชั้นกลางที่แท้ทรูที่ต้องใช้ขนส่งมวลชน ซึ่งเรารู้สึกว่าขนส่งมวลชนสมัยเด็กๆ มันดีกว่านี้ รถมันใหม่กว่านี้ รถมันถี่กว่านี้ ถ้าวันนี้คนส่วนใหญ่ไม่อยากใช้คนส่งสาธารณะแปลว่ามันไม่ดีแล้ว ต้องพัฒนาแล้วในด้านใดด้านหนึ่ง 

ความคิดอยากพัฒนารถเมล์มันเลยมีมาตลอดในหัว สมัยก่อนก็ได้ทำงานที่เกี่ยวกับรถเมล์บ้าง แต่ส่วนใหญ่เป็นจิตอาสา ก็เป็นชนวนที่เราเห็นว่าจริงๆ มันก็มี คนคิด คนทำ คนอยากพัฒนาเรื่องรถเมล์ เรื่องป้ายอยู่นะ แต่พอหมดงานพวกนี้เราก็กลับไปทำงานประจำเหมือนเดิม

แล้วเส้นทางคู่ขนานของการพัฒนารถเมล์ไทยกับการทำงานมาบรรจบกันได้อย่างไร

ตอนที่มาทำงานกับพี่ศานนท์ (ศานนท์ หวังสร้างบุญ-เจ้าของ Once Again Hostel และ SATARANA) เราทำกราฟิกเพื่อพัฒนาชุมชนเมือง พอพูดถึงเมืองก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าขนส่งมวลชนมันเกี่ยวข้องทั้งหมดเนอะ ทีมก็คุยกันว่าจะพัฒนาขนส่งมวลชนอย่างไรดี จนตอนนั้นมีพระราชพิธีฯ รัชกาลที่ 9  มีคนมาที่สนามหลวงเยอะมาก มีครั้งหนึ่งเรานั่งรถเมล์มาทำงานตามปกติ สังเกตว่าผู้โดยสารหน้าคุ้นหมดเลย เป็นพนักงานบริษัทที่เราเคยไปฝึกงานด้วย ตั้งแต่รุ่นพี่ถึงผู้บริหารกำลังนั่งรถเมล์มาสนามหลวง ตรงนั้นเป็นจุดเปลี่ยนความคิดเลย เราชอบคิดว่าคนไม่ขึ้นรถเมล์ด้วยเหตุผลเดียวคือมันดูจน แต่บางทีที่เขาไม่ขึ้นเพราะเขาไม่รู้ข้อมูล เลยคิดว่าถ้าเราสื่อสารได้ดีมันอาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ จึงไปเสนอทีมว่ามาทำป้ายรถเมล์ใหม่กันไหม

ทำไมถึงเลือกพัฒนาป้ายรถเมล์เป็นสิ่งแรก

ป้ายรถเมล์อาจจะดูเป็นแค่ส่วนเล็กๆ ของระบบขนส่งมวลชน แต่เราเชื่อว่าถ้าป้ายรถเมล์สื่อสารได้ดี มีข้อมูลที่ควรจะบอก ดูแล้วรู้ว่าสายอะไรไปที่ไหน ไปเจออะไร ก็ช่วยให้คนดูสามารถวางแผนการเดินทางได้ มันสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ เลยออกแบบป้ายให้มีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อคนใช้งาน

ที่ผ่านมาหลายคนก็พยายามหา reference จากสิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน ที่ป้ายเขาดีแต่มันยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในไทย เราก็คิดว่ามันอาจต้องประนีประนอมกับโครงเดิมที่เขามีอยู่ ทำยังไงก็ได้ให้มันเกิดประโยชน์กับผู้โดยสารสูงสุด ป้ายสีฟ้าแถบนิดเดียวยังมีพื้นที่โล่งเหลืออยู่ เราปรับอะไรเล็กๆ น้อยๆ เป็น small change, big move เพื่อช่วยเหลือได้บ้าง

ซึ่งการทำงานจริงๆ เราก็สร้างกระบวนการมีส่วนร่วม มีจัดเวิร์กช็อป ทำแบบสอบถามออนไลน์เยอะมาก ว่าคนใช้งานจริงๆ เขาต้องการป้ายแบบไหน ก่อนจะทำไปคุยกับภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพราะแก่นการทำงานของเราคือการให้ผู้ใช้เป็นศูนย์กลาง (User-Centric) แล้วเอาการออกแบบมาจับให้ชีวิตดีขึ้น

ถ้ารถเมล์ดี คนและเมืองจะดีขึ้นอย่างไรบ้าง

ดีขึ้นหลายด้านนะ ถ้าระบบมันถูกออกแบบมาดี มีป้ายที่ชัดเจน มีสายรถเมล์ไม่ทับซ้อน รถก็ไม่ต้องวิ่งแข่งกันเยอะ ผู้โดยสารก็สามารถคาดเดาเวลาได้ว่าเขาจะไปถึงที่นั่นภายในกี่นาที และถ้าเรามี Bus Lane เหมือนประเทศอื่นๆ มันสะท้อนว่าเราฟังเสียงของคนใช้ขนส่งสาธารณะ เห็นว่าเสียงเขามีคุณค่า

ด้านความปลอดภัย ถ้าตัวรถดีขึ้นเขาก็ไม่ต้องเอาตัวเองไปเสี่ยงกับสภาพอันตรายของรถเมล์ที่จะพังตอนไหนก็ไม่รู้ ประตูจะหนีบตอนไหนก็ไม่รู้ ถ้ารถมันดีขึ้นคุณภาพชีวิตคนก็ดีขึ้นด้วย ใครๆ ก็อยากนั่งรถใหม่ ถ้าแอร์เย็น รถสะอาด เราก็ได้เดินทางไปทำงานอย่างแฮปปี้ ถ้าเราเจอพนักงานที่มารยาทดีสุขภาพจิตเราก็ดี ถ้าพัฒนาไปถึงพลังงานรถได้รถใช้พลังงานสะอาด มลพิษก็จะน้อยลง

และมันยังส่งผลต่อคนที่ไม่ขึ้นรถเมล์ด้วย ทีแรกเราก็นึกว่ามันมีแต่คนที่ต้องขึ้นหรืออยากขึ้นรถเมล์เท่านั้นที่อยากทำให้มันดีขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้วมันกลมกว่านั้น มีคนที่ไม่ได้ขึ้นรถเมล์ แต่อยากให้รถเมล์ดี เพราะเขาคาดเดาไม่ได้ว่าจะต้องขึ้นวันไหน และสุดท้ายถ้าคนรู้สึกว่ามันใช้ขนส่งมวลชนดีน่าใช้ คนจะใช้รถส่วนตัวน้อยลง ถนนก็โล่งขึ้น 


7

คุยกับ ยศ- ยศพล บุญสม ภูมิสถาปนิกผู้ก่อตั้ง we!park ที่เชื่อมโยงหน่วยงานต่างๆ แล้วร่วมสร้างพื้นที่สีเขียวไปด้วยกัน 

ยศ- ยศพล บุญสม คือภูมิสถาปนิกที่ตระหนักถึงปัญหาจากมลพิษ และการก่อสร้างที่ทำให้พื้นที่สีเขียวในเมืองหายไป เขาจึงร่วมก่อตั้งโครงการไม่แสวงผลกำไรในชื่อ we!park ที่เชื่อว่านอกจากภาครัฐแล้ว เราทุกคนล้วนมีส่วนร่วมพัฒนาพื้นที่สีเขียวใกล้ตัวให้ดีและตรงใจคนในชุมชนได้จริง

จากการเป็นภูมิสถาปนิก คุณเห็นอะไรเกี่ยวกับสวนในเมืองที่ทำให้คุณเริ่มก่อตั้งกลุ่ม we!park

ตอนแรกเรามองว่าการสร้างสวนเป็นหน้าที่ของภาครัฐ แต่เราพบว่ารัฐมีข้อจำกัด มีทุนและบุคลากรในการสร้างพื้นที่สีเขียวน้อย กลับกันเมืองก็โตขึ้นเรื่อยๆ อย่างพื้นที่สีเขียวทั่วกรุงเทพฯ ที่เดินถึงได้ในระยะ 400 เมตรรอบตัว มีแค่ 13 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ถ้ารัฐอยากหาที่มาทำสวนเพิ่มก็ยาก เพราะที่ตรงนั้นอาจเป็นของเอกชนก็ได้ มันขาดคนเชื่อมหน่วยงานต่างๆ พวกนี้เข้าด้วยกัน จะให้ภาครัฐมาตามหาที่ว่าง มาสร้างสวนอย่างเดียวมันไม่ทันหรอก เราเลยอยากช่วยเชื่อมกลุ่มคนเหล่านี้เข้าด้วยกันเพื่อให้เกิดสวนที่ดีขึ้นจริงๆ

ถ้าเคยเห็นจะพบว่าสวนที่รัฐสร้างมีแพตเทิร์นคล้ายกัน คือมีม้านั่ง มีเครื่องเล่นนิดๆ หน่อยๆ ซึ่งมันไม่ได้ตอบโจทย์ทุกคน สวนมันไม่ควรเป็นพื้นที่ของคนบางกลุ่ม แต่ควรเป็นที่ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการพื้นฐานนี้เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นได้

ดังนั้นเมื่อเราพูดถึงที่ว่างในชุมชน แต่ละที่จะมีโจทย์ต่างกันไป เช่น ชุมชนนี้อยากได้ฟาร์มปลูกผัก บางที่แค่อยากเปลี่ยนจุดรกร้างเป็นสวนที่คนอยากมา หรือเขาอาจจะอยากกระตุ้นระบบนิเวศโดยรวม ลดคาร์บอน ลดอุณหภูมิในชุมชน เราพบว่าสวนจะตอบโจทย์ทุกคนได้ ถ้าเราค้นหาคำตอบและมีส่วนร่วมไปด้วยกัน 

แสดงว่าหน่วยงานอื่นๆ และชุมชน ยังไม่ให้ความสำคัญกับการมีสวนมากพอหรือเปล่า

จริงๆ ชุมชนเขาเห็นความสำคัญนะ แต่บางทีไม่รู้จะเริ่มยังไง จะไปบอกภาครัฐยังไง บางทีไปคุยกับรัฐเองกว่างบจะมาลงอีกสองปี คนเลยหมดหวัง แต่ถ้าเราช่วยเชื่อมโยงได้ เราอาจจะเจอเอกชนที่อยากทำ CSR มีนักออกแบบมาสนับสนุนค่าออกแบบ มีคนยินดีช่วยระดมทุน เราว่าทุกฝ่ายล้วนมีบทบาทสำคัญและเป็นส่วนหนึ่งได้ แต่เขาแค่ยังไม่รู้เท่านั้นเอง

เราพบว่าจริงๆ มีอีกหลายที่ที่ทำสวนได้ แต่ทำยังไงมันจะเกิดนโยบายที่ยั่งยืนต่อทุกคน เราพยายามสร้างหลักเกณฑ์พวกนี้กับกทม.ด้วย เช่น ถ้าเอกชนมาบริจาคเงินสร้างสวนเขาจะได้อะไร ลดภาษีได้ไหม เหมือนที่สิงคโปร์ ถ้าคุณสร้างตึกแล้วแบ่งพื้นที่มาทำสวนสาธารณะ คุณจะสามารถสร้างตึกได้สูงขึ้น ถ้าบ้านเรามีกฎเกณฑ์แบบนี้ หรือมีขั้นตอนที่จะทำให้คนมาสนับสนุนเรื่องสวนได้สะดวกขึ้น ทุกอย่างจะง่ายมาก มันไม่ใช่ว่าเราไม่มีพื้นที่ แต่ระบบของเราไม่เป็นองค์รวม

แล้วคนตัวเล็กๆ อย่าเราจะช่วย we!park หรือช่วยผลักดันให้ชุมชนของเรามีสวนที่ดีได้อย่างไร

ในส่วนของ we!park ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้ ระยะถัดไปเราจะเปิดให้แต่ละคนลงข้อมูลว่ามีพื้นที่ตรงไหนใช้สร้างสวนได้ และจะมีการจัดประกวดแบบสวนจากทุกคน ไม่จำเป็นต้องเป็นสถาปนิกก็เข้าร่วมได้ อย่างโครงการนำร่องของเราหลังวัดหัวลำโพง เราก็ชวนนักศึกษา คนในชุมชนมาร่วมทำข้อมูล แล้วจะเปิดระดมทุนช่วงปลายปีนี้ เสร็จแล้วเราจะชวนทุกคนมาช่วยปลูกต้นไม้ ทาสี หาคนมาร่วมระดมทุนบริจาคสนามเด็กเล่นและที่นั่งในสวน

เมื่อทุกคนมีส่วนร่วมได้ เขาก็จะอยากมาใช้มาดูแล แล้วเราก็อยากส่งต่อแนวคิดนี้ไปสู่ส่วนอื่นๆ ในเมือง ทั้งการสร้างทางเท้า การตัดต้นไม้ในเมือง ซึ่งรัฐก็ต้องเอาสิ่งนี้ไปปฏิบัติด้วย เพราะตอนนี้ไม่ใช่แค่เราส่งเสียงไปหาภาครัฐเฉยๆ แต่เราลงมือทำให้เห็นแล้ว ภาครัฐล่ะ พร้อมหรือยังที่จะมาร่วมลงมือไปกับเรา 


8

คุยกับพลอย – เพียงพลอย จิตรปิยธรรม ผู้ร่วมก่อตั้ง Locall Thailand บริการเดลิเวอรี่ที่พาร้านอาหารเล็กๆ ในหลากหลายย่านผ่านวิกฤตในยามล็อกดาวน์

จากบริการเดลิเวอรี่กึ่งแอนะล็อกที่ทีม SATARANA และ Once Again Hostel คิดขึ้นเพื่อช่วยให้ตัวเองและชุมชนรอบข้างอยู่รอดได้ในสถานการณ์โควิด-19 โดยอาสาเป็นตัวกลางรับสั่งอาหารจากร้านค้าเล็กๆ ในย่านเสาชิงช้าและประตูผี ที่ไม่พร้อมกระโดดเข้าสู่ตลาดออนไลน์ ปัจจุบันขยับขยายบริการไปแล้ว 12 ย่านทั่วประเทศ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้หลายๆ ชุมชนในประเทศไทย สามารถพึ่งพาตัวเองได้โดยไม่ต้องรอขอความช่วยเหลือจากใคร

ทำไมถึงสร้างแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ขึ้นมาเองทั้งๆ ที่มีแอพเดลิเวอรี่ให้เลือกใช้มากมาย

ย้อนกลับไปตอนสถานการณ์โควิดใหม่ๆ ตอนนั้นใครๆ ก็ขายเดลิเวอรี่ ร้านอาหารในโรงแรม ร้านดังต่างๆ ก็เข้าแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่กันหมด เราเป็นร้านอาหารโนเนมในโฮสเทล (Living Kafe) ถ้าเข้าไปอยู่บนแพลตฟอร์พูดกันตรงๆ เลยว่าขายยากจึงคิดจะทำบริการเดลิเวอรี่ในไลน์ของตนเองมา 

แล้วเราเองที่ทำงานในชุมชนก็เห็นว่ายังมีร้านอาหารเล็กๆ ของคุณลุง คุณป้า ที่ไม่มีพร้อมจะกระโดดเข้าสู่สนามออนไลน์เดลิเวอรี่ด้วยตนเองได้ทันที ไหนๆ จะทำเดลิเวอรี่แล้ว เราทำทั้งย่านเลยแล้วกัน เพื่อให้ลุงป้าที่เขาเข้าถึงบริการเดลิเวอรี่ไม่ได้ ได้ประโยชน์ร่วมกันไปกับเราด้วย

การ #Saveร้านอาหารชุมชน สำคัญอย่างไร

เราก็เคยตั้งคำถามตัวเองเหมือนกันนะ เรากลัวว่าวิถีชีวิตของร้านอาหารร้านเล็กๆ จะหายไป การที่เรามีร้านอาหารใกล้ๆ บ้าน เป็นร้านอาหารเล็กๆ มันเติมเต็มอะไรบางอย่างเหมือนกันนะ การได้คุยกับอาอี๊กับเฮียแลกเปลี่ยนเรื่องต่างๆ ได้เม้าท์มอยเรื่องนู้นนี้ สิ่งพวกนี้มันทำให้เราชุ่มชื่นใจ แล้วมันก็เป็นเสน่ห์ รอยยิ้มที่เกิดขึ้นมันไม่ใช่สิ่งที่ร้านอาหารใหญ่ๆ หรือกระทั่งบริการเดลิเวอรี่เองจะมาตอบโจทย์ตรงนี้ได้

จุดหมายจริงๆของ Locall ไม่ใช่การสร้างบริการเดลิเวอรี่ขึ้นมาใหม่ แต่คือการสร้างเครื่องมือเพื่อพัฒนาชุมชน

ใช่ หลังจากที่ทำ locall มาสักพัก เราเห็นภาพว่ามันไม่ใช่แค่แพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ที่ช่วยร้านอาหารชุมชนให้อยู่รอดในวิกฤตเท่านั้น แต่สามารถเป็นเครื่องมือพัฒนาชุมชนได้ด้วย ที่ผ่านมาเราอยากเชื่อมโยงคนในชุมชนเข้าด้วยกันเพื่อจุดประสงค์ในการพัฒนาย่านมาโดยตลอดแต่ก็ทำได้ยาก

อย่างเราอยู่ประตูผี มีร้านอาหารเยอะ จึงอยากทำงานเฟสติวัลประตูผี รวมร้านค้า คนในย่านมาจัดกิจกรรมร่วมกันก็ทำได้ยาก พอมี locall ทุกคนเห็นผลประโยชน์ร่วมกัน เรากลับรู้สึกว่ามันเชื่อมโยงกันง่ายจัง จากที่ร้านอาหารบางร้านเราไม่เคยรู้จักเขาเลยเขาก็ยินดีมาอยู่ในแพลตฟอร์มเรา เหมือนต่างคนต่างหันหน้าเข้าหากัน ตอนนี้เราไม่ได้โฟกัสเรื่องการเดลิเวอรี่อาหารอย่างเดียว แต่เดลิเวอรี่อย่างอื่นในย่านต่างๆ ด้วย ให้คนในแต่ละย่านเห็นเชื่อมความโยงของเขา แล้วเราก็ได้รู้จักคนในชุมชนมากขึ้น เห็นปัญหาที่เขาอยากจัดการ อยากพัฒนาได้ง่ายขึ้นสามารถเข้าไปพัฒนาย่านไปได้ในแบบที่คนยินดีกันทุกๆ ฝ่าย

ทำไมการพัฒนาย่านชุมชนในเมืองให้เข้มแข็งถึงเป็นเรื่องสำคัญ

โควิดทำให้เห็นภาพชัดๆ เลยว่าถ้าชุมชนเข้มแข็งเราจะสามารถแก้ปัญหาผ่านวิกฤตไปได้ด้วยดี แต่จริงๆ แล้วการแก้ปัญหาช่วงวิกฤตมันก็แค่ทำให้เราอยู่ในสถานะที่ไม่เจ็บตัวมาก ซึ่งก่อนจะเจอวิกฤตใหญ่ๆ มันจะดีกว่าไหมถ้าชุมชนสามารถรวมกลุ่มกันแล้วรู้ว่าย่านของเรามีปัญหาอะไร ก็จะแก้ไขได้ตรงจุด มันก็จะมีค่าเท่ากับพัฒนาความเป็นอยู่ ไม่ต้องรอนโยบายที่ภาครัฐหว่านลงมา 

พอ locall เปิดมา 12 ย่าน เรารู้เลยว่าแต่ละย่านมีลักษณะของปัญหาที่ต่างกัน มีจุดแข็งจุดอ่อนที่ต่างกัน ถ้าสมมุติว่าเราสามารถเชื่อมโยงกันได้ในย่านก่อน มันจะทำให้เราเข้าใจตัวเราเอง แล้วจะได้รู้ว่าเราควรพัฒนาย่านเราไปในทิศทางไหน ซึ่งเรามองว่าถ้าหน่วยที่ใหญ่อย่างย่านมันดี หน่วยๆ เล็กในย่านอย่างครอบครัว  หรือการเป็นคนหนึ่งคนที่อาศัยอยู่ในย่านมันก็จะได้รับผลดีไปด้วย 


9

คุยกับต้า – ปานทิพย์ ลิกขะไชย ผู้ก่อตั้งชมรมเกสรลำพู ที่ชวนเด็กๆ ในชุมชนมาเป็นไกด์ให้เรารู้จักและรักบางลำพูมากขึ้น

เด็กบางลำพูแต่กำเนิดที่เกิดอยากรวมกลุ่มเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ในชุมชนบางลำพู และพัฒนามาเป็นการจัดกิจกรรมในงานเทศกาลการแสดงศิลปวัฒนธรรมที่หลากหลายมานานกว่า 17 ปี รวมถึงก่อตั้งกลุ่ม ‘ไกด์เด็กบางลำพู’ ที่ชวนเด็กในชุมชนย่านบางลำพูมานำเสนอเรื่องราวของบ้านตนเอง ให้คนนอกได้รู้จักบางลำพู ส่วนเด็กๆ ก็ได้ภูมิใจในบ้านตัวเองมากยิ่งขึ้น

ทำไมถึงสนใจการทำงานร่วมกับเด็กๆ เยาวชนในบางลำพู

ตอนที่เราเริ่มมาทำงานพัฒนาชุมชนบางลำพู บางลำพู​ได้มีกลุ่มประชาคมบางลำพู​ที่เป็นกลุ่มผู้ใหญ่​ผู้สูงอายุ​ที่ทำงานด้านพัฒนาชุมชนมาก่อน​ ทำงานในเชิงบริหาร ติดต่อกับหน่วยงานภาครัฐต่างๆ อยู่แล้ว ตอนนั้นเราเองก็เด็ก เรียนมหาวิทยาลัย เราชอบทำงานกับเด็กการได้เจอเด็กต่างวัย ทำให้ได้สร้างกระบวนการเรียนรู้แบบที่เราชอบด้วย 

เราเห็นอยู่ว่าเด็กในชุมชน วันๆ เขาก็ไม่ได้ทำอะไร อาจจะไปเที่ยวห้าง เล่นเกม แต่เด็กเป็นอนาคตของชุมชนนะ เราเลยพยายามให้เขาได้มีส่วนร่วมพัฒนาชุมชน อย่างการเป็นไกด์ ให้เขาได้เห็นโลกอีกใบที่เอาไปต่อยอดในชีวิตเขาเองได้ นอกจากนี้พ่อแม่ยังได้เห็นว่าสิ่งที่เด็กทำมันเกิดคุณประโยชน์ต่อเด็ก ต่อครอบครัว ต่อชุมชนเอง

มีวิธีการชวนเด็กๆ ในชุมชนมาร่วมพัฒนาชุมชนอย่างไรบ้าง

เราชวนเด็กๆ มาทำกิจกรรมต่างๆ ในชื่อชมรมเยาวชนอาสาสมัครเกสรลำพู ซึ่งกิจกรรมที่เราทำก็มีหลากหลาย มีจัดงานดนตรี ทำงานศิลปะ จัดงานเทศกาลต่างๆ บ้าง ทำสื่อบ้าง มาถึงทุกวันนี้สร้างกิจกรรมไกด์เด็กบางลำพูที่ชวนเด็กๆ มาเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ รอบบ้านของเขา และคอยนำเที่ยวให้กับคนที่สนใจมาเรียนรู้มารู้จักชุมชนบางลำพู

ซึ่งกิจกรรมไกด์เด็กบางลำพูนอกจากจะทำให้คนนอกได้รู้จักชุมชนเราแล้ว ยังทำให้เด็กๆ ได้เห็นคุณค่าความสำคัญของชุมชนที่เขาอยู่ด้วย เพราะคนที่อยู่ในชุมชนเห็นทุกวันก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่เรื่องธรรมดาบางอย่างก็เป็นเรื่องน่าสนใจ เป็นสิ่งที่คนภายนอกตื่นเต้นได้ เด็กก็จะเกิดความภูมิใจในชุมชนตนเองไปด้วย 

นอกจากความภาคภูมิใจในชุมชนตัวเองแล้ว ไกด์เด็กบางลำพูช่วยพัฒนาชุมชนในด้านใดบ้าง 

การได้เห็นว่าสิ่งที่เขาทำมีบุคคลภายนอกหรือมีสื่อมาสนใจ ก็เป็นแรงกระตุ้นทำให้คนในชุมชน คนในบ้านอยากมาสนับสนุนเด็กมากขึ้น เด็กๆ ​นอกจากทำงานแนะนำชุมชน​ในการเป็นไกด์เด็กบางลำพูแล้ว​ ยังได้เป็นคนสร้างกิจกรรมที่พัฒนาชุมชน​ ศิลปวัฒนธรรมด้วย​ เช่น​ เป็นผู้จัดงานวันเด็ก  วันพ่อ วันแม่​ วันสงกรานต์​ วันลอยกระ​ทง​ หรืองานดนตรีศิลปะต่างๆ ​ที่เราจัดเอง​ หรือร่วมกันจัดกับเครือข่าย​หน่วยงานภายนอก ​เพื่อให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนเกิดขึ้นค่ะ

การที่คนกลับมามีส่วนร่วมกับการพัฒนาชุมชนมากขึ้นมีความสำคัญอย่างไร

ที่อื่นเราไม่รู้นะ แต่บางลำพูมันเป็นพื้นที่ใจกลางเกาะรัตนโกสินทร์ มันเป็นแหล่งเศรษกิจสำคัญ เป็นแหล่งรวมศิลปวัฒนธรรม เป็นแหล่งที่มีเรื่องราวหลายอย่างเกิดขึ้น การพัฒนาชุมชนที่เราทำคือการทำให้คนในชุมชนรู้สึกว่าบ้านที่เราอยู่อาศัยมันเป็นรากเหง้า มีวิถีชีวิต มีประวัติศาสตร์ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน และก็มีหลายอย่างที่กำลังจะหายไปแล้ว ซึ่งเราควรจะอนุรักษ์นะ 

สิ่งที่เราทำมันไม่ใช่แค่เด็กได้ประโยชน์ ได้เงิน ไปทำกิจกรรมอื่นๆ หาประสบการณ์ แต่มันคือการทำให้วิถีชีวิตในชุมชนยังคงอยู่ มีคนสืบทอด

ให้คนในชุมชนได้ภาคภูมิใจในชุมชนของตนเอง ขณะที่คนนอกก็ได้เห็นคุณค่าชุมชนเราว่านี่ยังเป็นชุมชนที่มีชีวิต มีคนอยู่จริงๆ การพัฒนาจริงต้องให้ความสำคัญกับคนอยู่ด้วย


10

คุยกับอุ้ม – วิภาวี กิตติเธียร ซีอีโอ SATARANA หน่วยงานรุ่นใหม่ที่เชื่อว่าการสร้างการมีส่วนร่วมจะเปลี่ยนเมืองให้ดีขึ้นได้

SATARANA คือส่วนประกอบของหลายๆ ทีมรวมกัน เช่น Mayday! Trawell Locall แต่ไม่ว่าจะยูนิตไหน แกนการทำงานหลักของทุกฝ่ายคือการสร้างการมีส่วนร่วม ออกแบบกระบวนการฟัง เรียนรู้ และเข้าใจ เพื่อหล่อหลอม ‘ความเป็นเจ้าของ’ เมืองร่วมกัน แม้แต่กับคนตัวเล็กๆ ของสังคม

อุ้ม-วิภาวี กิตติเธียร คือซีอีโอรุ่นใหม่ของหน่วยนี้ และพลเมืองที่เชื่อว่าเมืองนี้เปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นได้

SATARANA คืออะไร (กันแน่)

เราเป็นภาคประชาสังคมที่เชื่อในความเป็นมนุษย์ เราเชื่อว่าในทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ได้ ไม่ว่าเขาจะเป็นกลุ่มย่อยแค่ไหน เพราะเราทุกคนเป็นเจ้าของเมืองเหมือนกันทั้งหมด แต่ในรูปแบบและบทบาทที่แตกต่างกันออกไป นั่นทำให้แก่นในการทำงานทุกครั้งเราจะต้องสร้างการมีส่วนร่วม และการ empower คนตัวเล็กให้มีบทบาทในสังคมมากขึ้น  

คำว่า ‘ประชาสังคม’ หรือ ‘การมีส่วนร่วม’ มันฟังดูเอ็นจีโอมากเลย แต่สิ่งที่ SATARANA ทำมักจะดูสนุกและสร้างสรรค์เกินภาพจำเดิมๆ วิธีการเหล่านี้ถูกออกแบบมาตั้งแต่ต้นเลยไหม 

นโยบายของภาครัฐหรือวิธีการทำงานในรูปแบบเดิมๆ อย่างการขอความคิดเห็นจากภาคประชาชนมักจะเป็นการทำประชาพิจารณ์บ้าง การแปะบอร์ดแล้วรอคนมาให้ความเห็นบ้าง ซึ่งที่ผ่านมา ความต้องการที่ได้จากวิธีการเหล่านั้นมันไม่สามารถสร้างอิมแพคในกระบวนการการทำงานได้จริง หรือไม่ได้ทำให้ความคิดเห็นของคนถูกนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในเชิงระบบเท่าไหร่ 

ด้วยความที่ทีมเราเป็นคนรุ่นใหม่ทั้งหมด เราค่อนข้างเข้าใจเครื่องมือใหม่ๆ ในการพัฒนาสิ่งต่างๆ อย่างกลุ่มสตาร์ทอัพเขาชอบใช้ design thinking ในการพัฒนางานกัน เราเองก็ใช้กระบวนการอย่างเดียวกันเลยค่ะที่จะทำให้เรารู้ความต้องการของคน เราอยากได้ความเห็นจากภาคประชาชนนี่แหละ แต่เราทำงานในลักษณะ citizen-centric base หรือ user-centric base คือออกแบบกระบวนการการมีส่วนร่วม เพื่อเรียนรู้และเข้าใจความต้องการของคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมือง

วิธีการเปลี่ยน passive citizen ให้เป็น active citizen แบบ SATARANA เป็นอย่างไร

เมื่อ citizen-centric เป็นแกนหลักในการคิด มันไม่ใช่การที่ไปถามว่า คุณมีความพึงพอใจต่อเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน แต่เราชวนเขามาแอคชั่นด้วยกันในพื้นที่ที่เป็นบ้านหรือในละแวกย่านของเขาเอง และสิ่งที่เกิดจากกระบวนการนี้มันได้นำไปอ้างอิงและเกิดการนำไปใช้จริง ทำให้ผู้ที่เข้ามาอยู่ในกระบวนการของเรารู้สึกว่าได้เป็นเจ้าของเมืองมากยิ่งขึ้น เขาเริ่มรู้สึกว่ามี Sense of belonging กับพื้นที่มากขึ้น มันไม่ใช่แค่การพร่ำบ่นว่านี่คืองานของรัฐนะ ทำไมฉันจะต้องมารับผิดชอบสิ่งนี้ด้วย แต่มันจะช่วยสร้างเซ้นส์ของการเป็นเจ้าของเมืองร่วมกัน เซ้นส์ของการอยากอยู่อาศัยในพื้นที่ที่เราเป็นเจ้าของร่วมกัน เหมือนได้ขยายพื้นที่ให้เราได้มีห้องนั่งเล่นที่ใหญ่ขึ้น 

หลายๆ เครือข่ายที่เราทำงานด้วย จากที่เคยเป็น Passive Citizen คอยรอว่านโยบายรัฐมีอะไร โครงสร้างพื้นฐานที่ฉันจะได้รับต่อไปเป็นอย่างไร กลับเป็นฝ่ายที่แอคทีฟมากขึ้น เอาความต้องการหรือไอเดียสร้างสรรค์ต่างๆ มาร่วมสร้างไปด้วยกันได้

Sense of belonging คืออะไร

Sense of belonging มันง่ายมากๆ เลย คือเวลาคนบอกว่าแถวบ้านฉันคือตรงไหน เหมือนเดินผ่านตู้โทรศัพท์นี้ปุ๊บรู้สึกแล้วว่าเป็นแถวบ้าน แต่ถ้าเซ้นส์นี้มันไกลออกไปเรื่อยๆ ไปอยู่ในระดับเมืองมากขึ้น ระดับประเทศมากขึ้น อุ้มมองว่ามันคล้ายๆ เซนส์รักชาติที่เรารู้สึกว่าคนญี่ปุ่นเขารักชาติกันจังเลย

เมื่อเรามีความเป็นส่วนหนึ่ง ความเป็นเจ้าของมากขึ้น เราน่าจะหวงแหนและเห็นคุณค่าสิ่งที่มีอยู่ในนั้นมากขึ้นเช่นเดียวกัน จะเริ่มจากปากซอยบ้านก็ได้ แต่อยากให้มันขยายไปเห็นคนอื่นๆ เห็นชุมชนอื่นๆ ด้วย

สร้างได้ยังไง 

มันคือการสร้างตัวตนให้เขาเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนา SATARANA ไม่เคยมองว่าตัวเองเป็นเจ้าของโปรเจกต์นั้นๆ แต่คนในพื้นที่และคนที่มีส่วนร่วมทั้งหมดคือเจ้าของงานนั้นจริงๆ เราจะไม่คิดแทนคุณว่าคุณควรเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่เราให้ทุกอย่างเกิดการออกแบบผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมทั้งหมด คุณจะเห็นตัวตนของตัวเอง ความคิดเห็นของคุณอยู่ในผลลัพธ์ของการทำงาน มันทำให้เขามีตัวตนอยู่ในนั้นอยู่เสมอ และหล่อหลอมความรู้สึกว่าเรากำลังทำความเข้าใจพื้นที่ของเราอยู่ กำลังเข้าใจคนในเมืองของเรามากขึ้นอยู่ มันค่อยๆ สร้างเซนส์นี้เพิ่มขึ้นได้

คุณมีความหวังกับเมืองเมืองนี้แค่ไหน

การที่คนรุ่นใหม่เริ่มมามีบทบาทในเมืองมากขึ้น ทำให้อุ้มรู้สึกว่าการทำงานแบบครีเอทีฟมันเริ่มมีตัวตนมากขึ้นในเมืองนี้ จริงๆ เราเข้าใจว่าอะไรหลายๆ อย่างมันดูเปลี่ยนแปลงไปได้ยากมากเลย ถนนก็ตัดมาอย่างนี้แล้ว จะทำยังไงรถถึงจะหายติดได้ แต่การคิดในเชิง innovation หรือการคิดในเชิงสร้างสรรค์มันท้าทายเรา เราจะดีกว่านี้ได้แค่ไหน มันอยู่ที่ว่าเรามีทัศนคติต่อเมืองอย่างไร เราจะมองว่ายังไงเราก็จะเจอปัญหานี้ต่อไป หรือมองว่าเราจะเปลี่ยนปัญหาที่พร่ำบ่นให้เป็น Challenge ได้ 

อุ้มยังมองว่าเมืองที่ปัญหาเยอะอย่างกรุงเทพฯ ยังมีความหวังในเชิงบวกอยู่นะ เพราะปัญหาหลายๆ อย่างยังตีความให้เป็นเรื่องที่สนุกได้อยู่เหมือนกัน

Content Designer

อดีตผู้ช่วยบรรณาธิการนิตยสาร #aday คือเจ้าของหนังสือทั้งเรื่องจริงและเรื่องแต่ง อาทิ #สนธิสัญญาฟลามิงโก #ร้านหวานหวานวันวาน คือบรรณาธิการอิสระและคอนเทนต์ครีเอเตอร์ฟรีแลนซ์ ก่อนจะมาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทออกแบบคอนเทนต์ที่ยังไม่รู้จะตั้งชื่อตำแหน่งตัวเองว่าอะไร

Content Designer

#อดีตเป็นบรรณาธิการสารคดีนิตยสารวัยรุ่น #เขียนหนังสือบ้างตามโอกาส #ปัจจุบันเป็นเจ้าของบริษัทคอนเทนต์ขนาดเล็ก #กำลังตั้งใจเรียนรู้ที่จะใส่ใจสิ่งรอบตัวมากขึ้นผ่านการเล่าเรื่องราวในไอแอลไอยู

Content Designer

#อดีตนิสิตภาควารสารฯ #เรียนจบแล้ว #นักเขียน

Content Designer

#เกิดจังหวัดตาก #ไปเรียนที่เชียงใหม่ #กำลังเป็นนักเขียนอยู่ในเมืองกรุง

Read More:

Love วิธีทำ

วิธีคลายกังวล ในวันที่ใจกำลังไม่ไหวแล้ว

It's okay to feel worried

Love บันทึกประจำวัน

สำรวจหมาแมวจรแถวบ้านฉัน เจอจนจำกันได้แล้ว

ตั้งคำถามกับความใจดีและความดาร์กในโลกของสัตว์ถูกทิ้ง

Love สาระสำคัญ

โควิด-19 คือข่าวดีของการกอบกู้สิ่งแวดล้อมจริงไหม?

หรือคุณภาพอากาศที่ดีขึ้น การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ลดลง สัตว์ป่าออกมาเริงร่า อาจจะเป็นผลดีที่อยู่เพียงชั่วคราว