Eat —— สาระสำคัญ

เรื่องกล้วยเช้านี้

เช้าที่เราตื่นขึ้นมา เรารีบไปทำงาน แต่เราหิว เราจึงเดินเข้าร้านสะดวกซื้อ เราซื้อกล้วยหนึ่งใบมากินให้อยู่ท้อง / จบ. เรื่องกล้วยอาจจะเป็นเรื่องกล้วยๆ จริงๆ แบบที่เล่าจบในบรรทัดครึ่งได้ในฐานะคนกิน

แต่ไอ้เรื่องกล้วยๆ ของเราเนี่ย ถ้าเราฉุกคิดสักหน่อย มองย้อนไปก่อนที่มันจะถูกปอกเข้าปาก แท้จริงยังมีเรื่องราวของผู้คนอีกหลากชีวิตที่เกี่ยวข้อง เรื่องของเศรษฐกิจ ระบบและกลไกที่เข้ามาควบคุมจัดการ รวมไปถึงเรื่องราวที่สิ่งมีชีวิตอย่างกล้วยเองต้องผ่าน ทั้งโรคระบาด สารเคมี ปุ๋ย ยาอะไรต่อมิอะไร ที่มันไม่ได้เป็นเรื่องกล้วยๆ สักเท่าไหร่ แต่เป็นปัญหาใหญ่ที่กระทบความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) ของโลกเลยล่ะ

ลองอ่านเรื่องราวไม่กล้วยเหล่านี้ดู อาจจะทำให้การเลือกซื้อกล้วยมาปอกเข้าปากแต่ละครั้งของผู้บริโภคตาดำๆ อย่างเรา กลายเป็นเรื่องที่ต้องคิด ตัดสินใจแบบตาสว่างมากขึ้น เช่นเดียวกับอาหารอื่นๆ อีกมากที่กำลังเผชิญสิ่งเดียวกัน

กาลครั้งหนึ่ง บนโลกนี้ มีกล้วยหลายแบบ

กล้วยน้ำว้าเวลาสุกงอม กล้วยหอมกินแล้วชื่นใจ ฉันชอบกล้วยไข่ เพราะมันไม่มีกระดูก… นอกจากกล้วย 3 พันธุ์ในเพลงของวงเฉลียงที่สะท้อนให้เห็นว่าคนยุคเราโตมากับกล้วยพันธุ์ไหนบ้าง เกิดมาในชีวิตนี้เรายังเคยกินกล้วยเล็บมือนาง (ที่หวีของมันหน้าตาเหมือนมือจริงๆ) และกล้วยหักมุก (ที่ปิ้งแล้วเปลือกดำๆ ไม่น่ากิน แต่ข้างในอร่อยหักมุมเฉย) 

แต่ถ้าดูตามประวัติศาสตร์ของกล้วย ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเราคือศูนย์กลางความหลากหลายของกล้วยมาแต่โบราณ ว่ากันว่า บ้านไทยเราเองก็เคยมีกล้วยเป็นร้อยสายพันธุ์ ทั้งกล้วยป่ากล้วยปลูก พอกล้วยจากอาเซียนของเราได้กระจายความอร่อยไปปลูกทั่วเอเชีย แอฟริกา ยุโรป แคริบเบียน และละตินอเมริกา กล้วยก็กลายเป็นพืชอาหารสุดฮอตของคนแทบทั้งโลก โดยเฉพาะแอฟริกา ที่สภาพภูมิประเทศเขาก็ปลูกกล้วยได้ดีเหมือนกับบ้านเรา 

ศตวรรษที่ 19 ฝรั่งเขาบอกว่า 

กล้วยนี้ดี มีกลิ่นหอม เปลือกหนา อยู่ได้นาน เหมาะแก่การค้า

ด้วยความกินได้กินดีของกล้วย และยังเป็นพืชที่ปลูกง่าย โตได้โตดีอีก ช่วงศตวรรษที่ 19 กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตร (ขีดเส้นใต้ไว้เลย) ในอเมริกาก็เริ่มหัวใส ส่งเสริมการปลูกกล้วยในละตินอเมริกาและแคริบเบียน แต่กล้วยมันเยอะไปหมด แล้วจะเลือกพันธุ์ไหนดีน้า

พอไปเห็นตัวอย่างจากตอนที่ลองเอา ‘กล้วยหอมทอง’ ไปปลูกที่จาไมก้าแล้วมันเวิร์ก! ได้กล้วยสวยงามดี มีกลิ่นหอม เปลือกหนา ไม่เหี่ยวง่าย มีคุณสมบัติเหมาะแก่การค้า ก็เลยทำตัวเป็นป๋าดันให้กล้วยหอมพันธุ์ทองไม่ใช่ของแปลกหน้าของคนอเมริกัน แต่กลายเป็นผลไม้ยอดนิยมของที่นั่นจนได้ (ลองนึกภาพบานาน่าสปลิท) ถึงขั้นมีผลสำรวจว่าปริมาณบริโภคกล้วยของอเมริกันยุคนั้นมีมากกว่าแอปเปิ้ลกับส้มรวมกันซะอีก  

ก็เลยปลูกแต่กล้วยหอมทอง กล้วยหอมทอง กล้วยหอมทอง ๆ ๆ ๆ

เมื่อคนอเมริกันต้องการกล้วยหอมทองมาก ชาวสวนในละตินอเมริกาและแคริบเบียนก็ยิ่งต้องปลูกเยอะ บางคนอาจจะมองว่าปลูกเยอะมันผิดตรงไหน ปัญหาคือมันสร้างระบบเกษตรกรรมแบบไม่น่ารักที่เรียกว่าการ ‘ปลูกพืชเชิงเดี่ยว’ เน้นปลูกพืชชนิดเดียวแบบไร้คู่แข่งแย่งอาหารในดิน เน้นการใช้พื้นที่ให้คุ้มค่า เก็บเกี่ยวได้เยอะ หวังผลโต สวยงาม เพื่อให้ขายได้ราคา

แต่ในทางกลับกัน การจะปลูกพืชแบบนี้ได้สำเร็จ ชาวสวนกลับต้องพึ่งพาปัจจัยภายนอกในการผลิต (ปุ๋ย ยา ฯลฯ) แทบทุกอย่าง กำหนดต้นทุนเองไม่ได้ ควบคุมราคาก็ไม่ได้ เสี่ยงต่อโรคร้าย แถมยังต้องเป็นหนี้อีกมากมาย พึ่งพาตัวเองไม่ได้สักที 

นอกจากเรื่องที่ว่าไป ยังมีปัจจัยเหนือการควบคุม ที่รอคุกคามกล้วยอยู่อีก…

แต่เชื้อรา (ปานา) มา! ทำกล้วยหอมทองตายเกือบหมด

ปัจจัยที่ว่า นั่นก็คือเชื้อราที่ชื่อ Fusarium!

เจ้าเชื้อราชนิดนี้ก็เหมือนโรคระบาดที่มนุษย์เจอ ซึ่งพอมันมาเจอกับกล้วยเชิงเดี่ยวที่ขยายพันธุ์โดยการใช้หน่อ ทำให้ทุกต้นมีจุดอ่อนคือลักษณะที่เหมือนกันทุกประการ แถมการใช้ปุ๋ยและสารเคมีจำนวนมาก ยังไปทำลายสมดุลของระบบนิเวศและสมดุลของสิ่งมีชีวิตในดิน สุดท้ายจึงกลายเป็นเรื่องกล้วยๆ ของเจ้าเชื้อราที่จะทำลายกล้วยหอมทองทุกต้นให้ตายลงอย่างง่ายดาย เพราะมันปรับตัวให้ต้านทานต่อการใช้สารเคมีได้ด้วย 

โรคระบาดนี้เริ่มต้นที่สวนกล้วยในปานามา จึงถูกเรียกว่า Panama Disease (โรคตายพราย) และไม่หยุดแค่นั้น ไปต่อที่คอสตาริก้า โคลัมเบีย กัวเตมาลา และเอกวาดอร์ พื้นที่ปลูกกล้วยหอมทองถูกทำลายแทบหมดก่อนสิ้นปี 1960 มันกลายเป็นประวัติศาสตร์โรคระบาดของพืชที่ร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งของโลก

งั้นกลับไปปลูกกล้วยหอมเขียว กล้วยหอมเขียว กล้วยหอมเขียว ก็ได้

ช่วงเวลา 50 ปีหลังการพบเชื้อราฟูซาเรียม กล้วยหอมทองก็ถูกทำลายจนเกือบสูญพันธุ์ แต่อุตสาหกรรมกล้วยยังไม่ยอมแพ้ ดิ้นต่อด้วยการนำกล้วยหอมเขียวพันธุ์ Cavendish จากเวียดนามที่ต้านทานโรคร้ายเก่งมาปลูกแทน

คนที่ไม่ใช่แฟนอาจจะทำแทนไม่ได้ แต่กล้วยหอมเขียวเข้ามาแทนที่กล้วยหอมทองได้อย่างรวดเร็ว พร้อมๆ กับการเติบโตของร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ทั่วโลก โดยที่เหล่าคนกินอาจจะไม่รู้อะไรเลย นอกจาก โอ้ ฉันมีกล้วยหอมพันธุ์ใหม่ที่หาซื้อกินง่าย เท่านั้น

ปี 1990 อุ๊ยตาย โรคตายพรายกลับมาใหม่ ร้ายกว่าเดิม

เคราะห์ซ้ำกรรมซัดกับกล้วยอีกครั้งในช่วงปี 1990 กล้วยหอมเขียวที่ชาวสวนเคยคิดว่าแกร่ง ต้านทานโรคตายพรายได้ ไม่มีใครคาดคิดว่าเจ้าเชื้อรามันปรับตัวกลับมาเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่ชื่อว่า Furasium TR4 (เอ๊ะ เรื่องนี้คุ้นๆ นะ)

นับตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา พื้นที่ปลูกกล้วยหอมเขียวในไต้หวัน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และตอนบนของออสเตรเลียก็เจอปัญหาโรคระบาดในกล้วยนี้เล่นงานอย่างหนัก ช่วงนั้นเองที่กลุ่มอุตสาหกรรมกล้วยในทวีปอเมริกาและยุโรป เริ่มตะหงิดใจและกังวลขึ้นมาว่าประวัติศาสตร์ที่ทำหายนะให้สวนกล้วยหอมทองที่ละตินอเมริกาและแคริบเบียนจะซ้ำรอยเดิมอีกครั้งหนึ่ง..

ตัดภาพมาที่ประเทศไทยบ้านเรา ที่ยังดูเหมือนว่าจะมีกล้วยหลายพันธุ์กินได้สบายใจอยู่ ก็เริ่มมีกระแสการค้ากล้วยหอมที่ขับเคลื่อนด้วยระบบค้าปลีกขนาดใหญ่  

ปี 2019 โรคตายพรายมาบุกไทย ที่สวนกล้วยจีน ณ เชียงราย

.ใช่ว่าสวนกล้วยบ้านเราจะปลอดภัย เพราะข้อมูลจาก Biothai พบว่าหลังจากการเข้ามาลงทุนในสวนกล้วยของกลุ่มนักลงทุนจีนในจังหวัดเชียงราย ในปี 2019 ก็มีการค้นพบโรคระบาดหรือเจ้าโรคตายพรายในสวนกล้วยหอมเขียวที่ปลูกแบบเชิงเดี่ยวที่นั่น และแม้จะเปลี่ยนพื้นที่เพื่อปลูกเป็นกล้วยสายพันธุ์อื่นแบบเชิงเดี่ยว เจ้าโรคระบาดก็ยังทำลายได้

นี่ยังไม่นับประเด็นน่าเศร้า เรื่องการปล่อยให้มีนอมินีต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยแบบผิดกฎหมาย ทำให้ชาวสวนไทยไม่ได้รับผลประโยชน์ที่เป็นธรรม อย่างนี้เกษตรกรบ้านเราก็ไม่มีวันเข้มแข็งได้สักที

หลายปีที่ผ่านมา เรามีกล้วยลูกเดี่ยว ให้ซื้อกินทุกวัน

ฟังเรื่องใหญ่ๆ และปัญหาเรื่องกล้วยหนักๆ แล้วลองย้อนกลับมาที่ตัวเราในฐานะคนกินคนหนึ่ง 

เราอาจจะไม่ได้รู้อะไรเลยเกี่ยวกับเบื้องหลังของกล้วยทุกผลที่เราปอกเข้าปากลงไป แต่การที่เรามีกล้วยแบบกินง้ายง่าย ส่งขายมาถึงมือคนทั่วประเทศแทบทุกวัน โดยไม่ต้องไปซื้อแบบยกทั้งหวีเหมือนเวลาเดินตลาดสดแถวบ้าน ก็น่าคิดนะว่าเรื่องนี้มันสะท้อนให้เราเห็นอะไรบ้างรึเปล่า

ประสบการณ์ส่วนตัวเราเอง ถ้าไม่ได้ไปเดินตลาดเจอแม่ค้า ก็อาจจะไม่ได้ยินกับหูตัวเองมาว่า “ช่วงนี้กล้วยแพงนะหนู เพราะช่วงก่อนมันมีโรคระบาด” เราเชื่อว่าการได้ปฏิสัมพันธ์กับแม่ค้าอาจจะทำให้หูตาเรากว้างขึ้น หรือจะไปอ่านข่าวหรือสื่อที่นำเสนอเรื่องปัญหาเหล่านี้ก็เป็นเรื่องสำคัญ 

แล้วจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าเรากินกล้วยอยู่พันธุ์เดียว แบบไม่ตั้งคำถามเลย

ไม่ได้บอกว่าการกินกล้วยแบบสะดวกมันผิดนะ แต่การไม่ตั้งคำถามก่อนปอกกล้วยเข้าปาก ก็อาจจะทำให้เรากลายเป็นคนไม่รู้…

  • ไม่รู้ว่ากล้วยบางพันธุ์ที่เรากินอยู่มันมาจากพันธุกรรมที่แคบมากๆ 
  • ไม่รู้ว่าตอนนี้โลกกำลังเผชิญปัญหาความมั่นคงทางอาหาร 
  • ไม่รู้ว่าอีกหน่อยเราอาจจะไม่มีกล้วยกินก็ได้ 
  • ไม่รู้ว่าเงินที่จ่ายไปมันทำอะไรกับสุขภาพของเราบ้าง
  • ไม่รู้ว่าการเลือกกินง่ายๆ ของเราในวันนี้ มันเท่ากับสนับสนุนให้ตัวเองและคนรุ่นหลังไม่มีทางเลือกในวันข้างหน้ารึเปล่า

กินกล้วยครั้งต่อไป ลองฝึกตั้งคำถามดูนะ แล้วเอาไปใช้กับอาหารอื่นๆ ดูบ้าง

Content Designer

#อดีตเป็นบรรณาธิการสารคดีนิตยสารวัยรุ่น #เขียนหนังสือบ้างตามโอกาส #ปัจจุบันเป็นเจ้าของบริษัทคอนเทนต์ขนาดเล็ก #กำลังตั้งใจเรียนรู้ที่จะใส่ใจสิ่งรอบตัวมากขึ้นผ่านการเล่าเรื่องราวในไอแอลไอยู

Graphic Designer

#กราฟิกดีไซเนอร์ #เป็นเด็กหญิงMoodyGirl #แต่ถ้าได้กินของอร่อยฟังเพลงเพราะนอนเต็มอิ่มจะจิตใจแจ่มใสและหัวใจพองโต

Read More:

Eat วิธีทำ

ก่อนมูฟออนสู่บ๊วยโหลใหม่ เปลี่ยนบ๊วยค้างโหลยังไงให้ไม่บ๊วย

3 เมนูเคลียร์บ๊วยค้างโหลจากฤดูดองเหล้าบ๊วยปีก่อน

Eat มนุษยสัมพันธ์

มนุษย์สัมพันธ์ 01 : คุยกับ 3 คนไกลบ้าน เปิดกล่องเสบียงอาหารจากครอบครัว

ชวนคนไกลบ้านทั้งหลายมาเปิดเสบียง โชว์กล่องอาหาร พร้อมเล่าเรื่องราวความเป็นห่วงเป็นใยของแต่ละครอบครัวให้เราฟัง

Eat จากผู้ใช้จริง

ผักไม่สวยก็มีที่ยืนในจานได้!

ภารกิจช่วยชีวิตเหล่าผักหน้าเบี้ยวให้กลับมามีที่ยืนอีกครั้ง