Love —— สาระสำคัญ

โควิด-19 คือข่าวดีของการกอบกู้สิ่งแวดล้อมจริงไหม?

การคาดว่าในปีนี้อัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะลดต่ำลงมาที่สุดในรอบ 70 ปี สถานที่ท่องเที่ยวได้รับการฟื้นฟูจนน้ำใสสะอาด ถนนหนทางที่ปราศจากเครื่องยนต์จนสัตว์ป่าที่ออกมาเดินเล่นได้ สิ่งเหล่านี้คงทำให้หลายๆ คนแอบคิดในใจว่าหรือโควิด-19 จะเป็น ‘ฮีโร่’ ที่มาช่วยรักษาฟื้นฟูธรรมชาติให้มาสวยงามอีกครั้ง!!

แต่เดี๋ยวก่อน ตอนนี้นักวิชาการทั่วโลก รวมถึง อิงเกอร์ แอนเดอร์สัน (Inger Andersen) ผู้อำนวยการโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ได้ออกมาบอกแล้วว่าผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เหมือนจะเป็นไปในแง่บวกจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในตอนนี้ ไม่ได้ยั่งยืนอย่างที่หลายๆ คนคิด ผลที่มองเห็นได้ในเชิงบวกไม่ว่าจะเป็นคุณภาพอากาศที่ดีขึ้น หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ลดลง ล้วนเป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้นชั่วคราวเท่านั้น

อยู่บ้านไม่ใช้รถก็ดี แต่ก็ยังสร้างขยะมหาศาล

แน่นอนว่ามาตรการอยู่บ้านหยุดเชื้อที่เราใช้การทั่วโลก สามารถลดการใช้รถใช้ถนน ลดมลพิษทางอากาศไปได้อย่างมาก แต่การอยู่บ้านก็เพิ่มมลพิษทางขยะจำนวนมหาศาลเช่นเดียวกัน อย่างในประเทศไทย กรมควบคุมมลพิษก็ได้ประเมินแนวโน้มปริมาณขยะช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 พบว่าขยะพลาสติกมีปริมาณเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 15% โดยเฉพาะประเภทกล่องพลาสติกใส่อาหารสำเร็จรูป ช้อนส้อมพลาสติก แก้วพลาสติก และหลอดดูดน้ำจากบริการส่งอาหารแบบเดลิเวอรี่ที่เติบโตขึ้นหลายเท่าตัวในเวลานี้ นอกจากนี้ยังพบปริมาณขยะเศษอาหารถูกทิ้งปะปนมากับขยะทั่วไปมีปริมาณเพิ่มขึ้น เนื่องจากครัวเรือนส่วนใหญ่ไม่มีการคัดแยกขยะก่อนนำไปทิ้ง

ในต่างประเทศเองก็พบว่าปริมาณขยะพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งมีปริมาณเพิ่มขึ้นมากเช่นกัน บางประเทศที่มีการแบนถุงพลาสติกก็เริ่มมีประชาชนนำพลาสติกออกมาใช้เพราะกังวลเรื่องความสะอาดปลอดภัย แม้ในเวลานี้จะไม่มีงานศึกษาใดๆ ยืนยันได้ว่าบรรจุภัณฑ์ใช้ซ้ำจะเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และแนะนำให้คนหันมารักษาสุขอนามัยล้างมือเป็นประจำจะลดความเสี่ยงได้มากกว่า

แต่ถึงอย่างนั้นมาตรการอยู่บ้านหยุดเชื้อนี้ก็ทำให้หลายๆ คน เห็นว่าการเดินทางที่ลดลงส่งผลให้อากาศในเมืองดีขึ้นได้จริงๆ และเราสามารถทำงานอยู่บ้านได้ ถ้าหากเราจำเป็นต้องสั่งอาหารเดลิเวอรี่จริงๆ ก็ควรจะช่วยกันคัดแยกขยะออกเป็นชิ้นๆ เช่น พลาสติก ถุงกระดาษ และวัสดุอื่นเพื่อให้ง่ายต่อการจัดเก็บและนำไปทำลาย หรือลองหันมาทำอาหารเอง นอกจากจะลดขยะยังเพิ่มสกิลการเอาตัวรอดได้ด้วยนะ

สัตว์ป่ากลับมาร่าเริง แต่บางชนิดก็จะอดตาย

เมื่อถนนไม่มีรถ มนุษย์ส่วนใหญ่อยู่บ้าน เราก็ได้เห็นภาพน่ารักๆ ของสัตว์ป่าหลากหลายชนิดออกมาใช้ชีวิตอย่างเริงร่า ไม่ต้องหลบซ่อนมนุษย์อีกต่อไป จนหลายๆ เชื่อว่ามันคือยุคแห่งการกลับคืนถิ่นของสัตว์ป่าที่อดีตเคยถูกรุกรานจากการตั้งถิ่นฐานของมนุย์ 

ซึ่งปรากฏการณ์นี้ เบกกี้ โธมัส (Becky Thomas) ศาสตราจารย์อาวุโสด้านนิเวศวิทยาจาก Royal Holloway ให้คำอธิบายไว้ว่าจะมีสัตว์บางประเภทที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์เหล่านี้ได้อย่างในสหราชอาณาจักร เหล่าเฮดจ์ฮอกมีความสุขกับการที่ถนนโล่ง แต่ขณะเดียวกันก็มีสัตว์อีกหลายตัวที่ไม่ได้สามารถปรับเปลี่ยนได้เช่นกัน เช่น เป็ด ซึ่งมักจะได้รับอาหารจากมนุษย์ก็ต้องเผชิญกับภาวะหิวโหยและอดอยาก หรือฝูงกวางในสวนกวางเมืองนาราของญี่ปุ่น พากันบุกเข้าเมืองเพื่อหาอาหารกิน หลังจำนวนนักท่องเที่ยวที่เคยเข้าไปซื้ออาหารให้กวางลดลงไปอย่างมาก เพราะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งประเด็นสัตว์ที่น่าสนใจคือการอนุรักษ์สัตว์ป่า หลังจากที่อธิบดีกรมควบคุมและป้องกันโรคของจีนออกมายอมรับว่าเป็นไปได้อย่างมากที่เชื้อไวรัสโควิด-19 มีต้นกำเนิดมาจากตลาดค้าขายสัตว์ป่าผิดกฎหมายในเมืองอู่ฮั่น จนทำให้จีนต้องออกมาประกาศปิดตลาดค้าสัตว์ป่าทั่วประเทศชั่วคราว ตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม จนกลายเป็นความหวังของการอนุรักษ์สัตว์ป่า

แต่หลายคนก็กังวลว่ามาตรการนี้จะไม่ยั่งยืน เพราะย้อนกลับไปตอนที่เกิดเหตุโรคซาร์สระบาดเมื่อ ค.ศ.2003 ทางการจีนก็เคยมีนโยบายที่คล้ายคลึงกันออกมาเช่นกัน แต่เมื่อโรคระบาดหายไป ตลาดค้าสัตว์ป่าก็กลับมาค้าขายกันเหมือนเดิม และขยายตัวยิ่งกว่าเดิมด้วยซ้ำตามการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน 

ถึงอย่างนั้น ผลดีของการระบาดครั้งนี้คือทำให้คนจับตามองการอนุรักษ์สัตว์ของจีนมากขึ้น เพราะการอนุรักษ์สัตว์ไม่ได้มีผลดีแค่ช่วยให้ระบบนิเวศมีความหลากหลายยั่งยืน นักวิทยาศาสตร์หลายคนเชื่อว่าหากไม่มีมาตรการควบคุมการจำหน่ายสัตว์ป่าอย่างจริงจัง เราก็แค่รอเวลาให้โรคที่แพร่เชื้อจากสัตว์สู่คนอันใหม่เกิดระบาดขึ้นในอนาคต ในทางกลับกันกฎหมายควรควบคุม และตรวจสอบการค้าเหล่านี้อย่างละเอียดและเข้มงวด ก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของเชื้อโรคแบบที่เรากำลังเจออยู่ในตอนนี้

ลำคลองเวนิสใสสะอาด แต่อาจส่งผลให้เกิดการอัดฉีดการท่องเที่ยวจนไม่ยั่งยืน

อุตสาหกรรมท่องเที่ยวถือว่าเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจาก โควิด-19 มากที่สุด การงดเดินทางของผู้คนทั่วโลกแม้จะทำให้เศรษฐกิจหดตัวลงอย่างน่าใจหาย แต่กลับทำให้แหล่งท่องเที่ยวหลายๆ แห่งฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่ อย่างเช่นคลองเวนิสที่ปกติดำขุ่น ก็ใสสะอาดขึ้น

แต่การฟื้นฟูนี้จะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น เพราะมีการคาดเดาว่าในอนาคตประชาชนทุกประเทศทั่วโลกจะเกิดการอัดฉีดส่งเสริมการเที่ยวให้มากขึ้น อย่างในประเทศจีนที่เริ่มฟื้นตัวเป็นประเทศแรกๆ ก็เริ่มมีสัญญาณว่าจะเกิดนโยบายของรัฐบาลที่ช่วยกระตุ้นตลาดท่องเที่ยว ทำให้การเปอร์เซ็นต์การท่องเที่ยวของชาวจีนที่ปกติก่อนจะเกิดเหตุการณ์โควิด-19 อยู่ที่ 41.3% หลังจบปัญหา Covid-19 จะกลับมาสูงกว่า 63.4% เลยทีเดียว

นอกจากประชาชนจะเที่ยวมากขึ้นแล้ว ภาคธุรกิจเองก็จะมีมาตรการลดแลกแจกแถมเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวให้กลับมาบูมอีกครั้งเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะธุรกิจการบินที่คาดการณ์กันว่าค่าตั๋วโดยสารของสายการบินต่างๆ จะมีราคาถูกลง มีโปรโมชั่นเพื่อให้คนบินมากขึ้น ซึ่งอุตสาหกรรมการบิน ถือว่าเป็นตัวปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เติบโตเร็วที่สุดที่ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และถ้าอุตสาหกรรมเติบโตมากขึ้น คนบินมากขึ้น ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็จะเพิ่มขึ้นในระยะยาว

ถึงอย่างนั้นก็ใช่ว่าเราควรจะงดการเที่ยวไปเลย แต่หลังจากนี้ ทุกครั้งที่เที่ยวเราอาจจะต้องคำนึงถึงคาร์บอนฟุตปรินต์จากการเที่ยวของเราให้มากขึ้น เปลี่ยนมาเที่ยวในประเทศเมืองใกล้ๆ เพื่อลดการบิน เลือกเที่ยวตามวิถีชุมชนที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น เพื่อสร้างความยั่งยืนทั้งทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน

อุตสาหกรรมจะเร่งการผลิตอย่างสุดขีด เกิดเป็นการก่อมลพิษชดเชยระลอกใหม่

อย่างที่บอกไปว่าการระบาดของโควิด-19 นั้นทำให้ในปีนี้มีการคาดการณ์ว่าปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะลดลงต่ำที่สุดในรอบ 70 ปีหรือตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งสาเหตุหลักๆ ก็มาจากการหยุดชะงักทางเศรษฐกิจ รวมถึงมาตรการปิดเมืองที่ทำให้โรงงานหลายแห่งโดยเฉพาะในประเทศจีนไม่สามารถดำเนินกิจกรรมได้

แต่การลดลงของคาร์บอนไดออกไซด์นี้จะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น กรีนพีซเอเชียตะวันออกบอกไว้ว่า เมื่อการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซาลง เราคงจะได้เห็นการก่อมลพิษชดเชยระลอกใหม่ เพราะโรงงานอุตสาหกรรมจะต้องเร่งกำลังผลิตสูงสุด เพื่อชดเชยความสูญเสียในช่วงที่ต้องปิดโรงงาน

นอกจากนี้ยังมีนักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศบอกไว้ว่าการลดลงของมลพิษในช่วงนี้ ไม่ได้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ดังนั้นทันทีที่มาตรการกักตัวสิ้นสุดลง ปริมาณการปล่อยมลพิษจะกลับไปอยู่ในจุดที่ใกล้เคียงกับที่มันเคยเป็น

ซึ่งสหประชาชาติก็ได้ย้ำว่าการระบาดของโควิด-19 ที่ต้องแลกมาด้วยการเจ็บป่วยล้มตายของผู้คน แลกด้วยระบบเศรฐกิจที่หยุดชะงัก มีผู้คนมากมายถูกทิ้งไว้ข้างหลัง จึงไม่ใช่ความหวังหรือโมเดลการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ทุกคนมองหาอย่างแน่นอน

แต่ถ้ามองในอีกมุม นี่อาจจะเป็นสัญญาณที่ดีที่ทำให้เราทุกคนเห็นชัดเจนว่า อุตสาหกรรมการผลิตและพฤติกรรมการบริโภคของเราทุกคนบนโลก ล้วนส่งผลกระทบชัดเจนแค่ไหนก็อาจ

คำถามสำคัญคือเราจะรักษาวิถีชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สนับสนุนการผลิตและการบริโภคที่สร้างมลพิษน้อยลงหลังวิกฤตโรคระบาดได้อย่างไร เป็นไปได้ไหม ที่เราจะเลือกใช้ชีวิตให้เป็นส่วนหนึ่งที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงของระบบสังคมในระยะยาวที่จะช่วยรักษาโลกได้อย่างยั่งยืน

Content Designer

#เกิดจังหวัดตาก #ไปเรียนที่เชียงใหม่ #กำลังเป็นนักเขียนอยู่ในเมืองกรุง

Read More:

Love ผลการทดลอง

เรื่องตบแต่ง เมื่อฉันจัดงานแต่งงานแบบเอาใจโลก

ทดลองจัดงานแต่งงานแบบเอาใจโลก แต่ก็ต้องดูใจตัวเองไปด้วย

Love มนุษยสัมพันธ์

ฟังเสียง 10 คนรุ่นใหม่ที่กำลังแอคทีฟเพื่อเมือง

10 คนรุ่นใหม่ขยับเมืองในหลากหลายประเด็น ที่เราอยากชวนมาฟังเบื้องหลังการลงมือทำของพวกเขา

Love บันทึกประจำวัน

สำรวจหมาแมวจรแถวบ้านฉัน เจอจนจำกันได้แล้ว

ตั้งคำถามกับความใจดีและความดาร์กในโลกของสัตว์ถูกทิ้ง