Love —— ผลการทดลอง

เรื่องตบแต่ง เมื่อฉันจัดงานแต่งงานแบบเอาใจโลก

ใครไม่รู้พูดว่า “งานแต่งงานคืองานที่เจ้าสาวควรจะได้ตามใจตัวเองมากที่สุด เพราะมันเป็นครั้งเดียวในชีวิต” ฟังผ่านๆ ก็ดูเมกเซ้นส์อยู่นะ แต่พอตกที่นั่งเป็นว่าที่เจ้าสาวขึ้นมาจริงๆ กลับรู้สึกว่าไอ้ความเอาแต่ใจตัวเองได้ของเจ้าสาว มันก็ไม่ควรจะเป็นเหตุผลให้เราไม่รู้สึกผิดกับการสิ้นเปลืองกับบางอย่างโดยใช่เหตุรึเปล่า แล้วจำเป็นไหมนะที่งานแต่งงานจะต้องมีทุกอย่างตามที่ใครบางคนขึ้นแพตเทิร์นเอาไว้

ไหนๆ งานนี้ก็จะดื้อจัดงานแต่งงานกันเอง แบบไม่ง้อโรงแรมและออร์แกไนเซอร์ละ เลยถือโอกาสนี้ท้าทายตัวเอง (และว่าที่เจ้าบ่าว) ให้จัดงานแต่งงานแบบคำนึงถึงทรัพยากรโลกให้มากขึ้นด้วย

เอาล่ะ โจทย์คือ ถ้าฉันจะเป็นเจ้าสาวที่เอาแต่ใจตัวเองน้อยลง เอาใจโลกมากขึ้น จะทำจริงได้สักแค่ไหนกัน?

จัดงานแต่งแบบเอาแต่ใจตัวเองมันง่าย เอาใจโลกมันยาก

เมื่อประกาศกร้าวในใจตัวเองแล้ว การทดลองที่เอาอีเวนต์สำคัญหนึ่งในชีวิตไปเดิมพันก็เริ่มต้นขึ้น… ด้วยการร่างแนวคิดในใจแบบยังไม่ปรึกษาใครก่อน ว่าถ้าฉันตัดสินใจทำสิ่งนี้แล้วจะเจอกับอะไรบ้าง

โจทย์: ลดการใช้ทรัพยากรในงานแต่งงานของตัวเอง
ที่มาและปัญหา: งานแต่งงานมันสิ้นเปลืองจังนะ
สมมติฐาน: ถ้าปรับลดบางอย่างที่ต้องมีในงานแต่งงาน แล้วเปลี่ยนให้สนุก น่าจะประนีประนอมกับตัวเองและทุกฝ่ายได้ที่สุด
ตัวแปรที่เกี่ยวข้อง: แฟน พ่อแม่ ป๊าม้า ผู้มาร่วมงานหลากหลายวัย และเวลาในการเตรียมงาน


Part 1: เจ้าสาวที่กลัวเสียดายของ

ต่อให้เป็นคนมินิมอลแค่ไหน แต่ถ้าตัดสินใจว่าจะจัดงานแล้วล่ะก็ เชื่อเถอะว่าพอเริ่มมาลิสต์ดีๆ ว่าในงานแต่งงานของฉันต้องการอะไรบ้าง บุลเล็ตก็ออกมาเยอะยาวเหยียดกว่าที่คิดอยู่ดี แถมส่วนใหญ่ก็จะเป็นการซื้อของๆๆๆๆๆ รวมทั้งผลิตของๆๆๆๆๆๆ เพื่อมาใช้ในงานนี้โดยเฉพาะทั้งนั้น

ถ้าไม่ใช่ของกินก็แทบจะเป็นของที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งเกือบหมด

สิ่งแรกที่เราทำ คือเราจะแยกวิธีมองงานเราออกเป็น 2 ส่วน ส่วน พิธีการ ที่ผู้หลักผู้ใหญ่น่าจะเข้ามามีอารมณ์ร่วมด้วยมากๆ เราจะยกเอาไว้ในฐานที่ใจดี คือไม่หักดิบตัดพิธีการอะไรออกดื้อๆ สินสอดก็ต้องมา ยกน้ำชาก็ต้องมี กินขนมอี๊ก็ด้วย แต่ลดให้แต่ละอย่างมันมีของน้อยๆ ลงหน่อย เอาเท่าที่จำเป็นพอ สินสอดก็ด้วย (ฮ่า) ซึ่งพอประนีประนอมแล้ว ทางบิดามารดาก็ไม่ว่าอะไร เห็นว่ามีครบก็พอ

แต่ส่วนที่เราจะเปลี่ยนให้มากเท่าที่จะทำได้ คือ สิ่งของและกิจกรรมการตกแต่งงาน เพราะของเหล่านี้อยู่ในมือเจ้าบ่าวเจ้าสาวแบบร้อยเปอร์เซ็นต์เต็ม พ่อแม่จะไม่ยุ่ง (แค่ไม่มีสีดำก็พอ) ทีนี้เราก็มาลงรายละเอียดว่า แล้วของอะไรล่ะที่เราอยากเปลี่ยน อยากลด มันเสียดาย…

เสียดายอะไร 

  • การ์ดเชิญ – ซองพอรียูสได้ แต่การ์ด ส่วนใหญ่ได้มาถ้าน่ารักก็เก็บไว้ แต่เก็บวันนี้ พรุ่งนี้ก็ทิ้งเนียนๆ ไปกับกองกระดาษอยู่ดี
  • สิ่งตกแต่งงาน – ตัวอักษรชื่อเอย แบ็กดร็อปเอย ผ้าหวานฟรุ้งฟริ้งเอย สิ่งประดิษฐ์เลื้อยประดับนานา ที่ไม่น่าจะมีใครเอาไปใช้ต่อได้เลย
  • ของชำร่วย – ของจิ๋วที่ถ้าไม่ชอบปุ๊บก็ไม่ได้ใช้เลย หรือติดชื่อมาไม่กล้าใช้

หลังจากเลือกสถานที่ที่ชอบ สรุปอาหารที่ใช่ บอกเลยว่าหนักกว่าการเลือกชุด ด่านยากของว่าที่เจ้าสาวและเจ้าบ่าวคู่นี้ คือการต้องมานั่งคิดจนปวดหัว เถียงกันจนเบื่อหน้า ว่าถ้าเราจะเปลี่ยน 3 อย่างนี้ให้เป็นแบบที่เราชอบกว่าเดิม มันจะออกมาเป็นแบบไหน

เกรงว่าเล่าหมดจะยาวเกินไป ขอตัดข้ามการตีกัน ไอเดียที่ตัดตกทิ้ง ไปสู่ตอนที่คิดออกและยอมรับกันทั้งคู่แล้วเลยละกัน

Part 2: จะเกิดอะไรไหม ถ้าหากใจฉันต้องการให้… 

  • ถ้าหากใจฉันต้องการให้ตกแต่งงาน ด้วยผ้าทั้งหมด

เราเป็นพวกไม่อยากจัดงานแต่งงานแบบมีธีม มีสี เพราะเคยประสบความลำบากเวลาหาชุดให้ตรงกับสีงาน แล้วต้องจบด้วยการไปซื้อชุดใหม่เพื่อการนี้ แต่ทีนี้ พอริอ่านจะจัดงานแต่งฯ ไม่มีธีมอะไรเลย แล้วการตกแต่งงาน มันต้องตั้งต้นที่อะไรล่ะ 

กุมขมับกันมาหลายเดือน สุดท้ายมาคิดได้ว่า เราชอบดูหนังกันมาก และถ้าต้องเล่าเรื่องเราสองคนจริงๆ จะขอเล่าผ่านหนังที่เราสองคนชอบทั้งคู่ละกัน แล้วเราก็จะคัดเลือกหนัง 7 เรื่องที่เราชอบ มาจัดแสดงเป็นอะไรสักอย่างในงานเรา แทนของตกแต่งไปเลย “งั้นเดี๋ยวเราถ่ายรูป ตีความจากหนังเอง” เรายกมืออาสา  เพราะเป็นคนชอบถ่ายรูป ก็เลยหาทางอวดเก่งซะ 555
แล้วทำไมต้องเป็นผ้า 

เราไม่อยากให้มีโครงสร้างอะไรที่ต้องทำขึ้นมาใหม่ในงานเราเลย พอไปส่องดูสถานที่ ในห้องที่เราใช้จัดงานมันจะมีโครงเหล็กบางๆ ทั่วเพดานห้อง ไว้สำหรับห้อยโปรเจกเตอร์และผ้าอยู่แล้ว ก็เลยเลียบๆ เคียงขอสถานที่ว่าเราจะขอติดผ้าตกแต่ง 7 ชิ้นห้อยลงมานะ และผ้าอื่นๆ อีกนิดหน่อยในบริเวณงานและหน้าเวที ถ้าไม่มีเลยก็จะเซอร์เกินไปหน่อย

อ่านมาถึงตรงนี้อย่าเพิ่งด่า ใช่ค่ะ เราไปสั่งพิมพ์รูปถ่ายลงไปบนผ้า และขึ้นชิ้นงานอาร์ตเวิร์กอีกหลายชิ้นบนผ้า พิมพ์ออกมาแล้วไปตกแต่งรอบงานจริงๆ ซึ่งทำแบบนี้ก็ยังเปลืองทรัพยากรอยู่ดี แต่เดี๋ยวก่อน เราวางแผนไว้แล้วว่าเราจะไม่ทิ้ง แต่หลังจบงาน เราจะเอาผ้าที่ใช้ตกแต่งงานไปทำของชำร่วย!

ต้นทุนของชำร่วยงานแต่งของคนส่วนใหญ่ มันถูกมากๆ แต่เราคิดว่าถ้าเราหาทางเปลี่ยนผ้าไปเป็นของชำร่วยได้จริงๆ ต่อให้แพงกว่า แต่ถ้ามันถูกต้องในใจเรามากกว่า ก็ยอมนะ 

แต่เราจะเอาผ้าตกแต่งงานไปทำเป็นของชำร่วยอะไรดี 

  • ถ้าหากใจฉันต้องการให้ผ้าตกแต่งงาน กลายร่างเป็นของชำร่วย

ถุงผ้าเป็นช้อยส์ที่ตัดตกไปตอนต้น แล้วสุดท้ายก็เอากลับมา เพราะมันเป็นสิ่งที่ยังไงทุกคนก็น่าจะใช้ และวัตถุดิบที่เรามีก็คือผ้านี่นา อย่าเซอร์มากเลย ซึ่งถ้าวัดจากจำนวนคนมางานและขนาดของผ้าที่เรามีดีๆ เราน่าจะพอสั่งตัดถุงผ้าเล็กๆ ขนาดใหญ่กว่าฝ่ามือไว้แจกคนมางานได้นะ ข้อดีของไซส์นี้คือมันก็หายากในทั่วไป จะเอาไว้ใส่แก้วน้ำ ใส่กระเป๋าตังค์กับมือถือเวลาไปกินข้าวกลางวัน หรือเอาไปช้อปข้าวแกงก็ได้ นี่แหละของชำร่วยที่เราว่าเวิร์ก!

การจะทำสิ่งนี้ เราต้องคิดให้ละเอียดอีกหลายเรื่อง ทั้งเลือกผ้าเนื้อทนๆ เลือกถ่ายรูปสิ่งที่จะดูโอเคเมื่อไปอยู่บนถุงผ้า เลือกใส่ชื่อเราสองคนให้เล็กที่สุดและอยู่มุมๆ เพราะไม่อยากให้เพื่อนได้ไปแล้วไม่กล้าใช้ เลือกร้านที่ราคาพอสู้ไหว นั่นหมายถึงการทำการบ้านหนักมาก แต่มันก็สนุกดีเหมือนกัน

แต่มันยังไม่จบแค่นั้นค่ะ ถ้าของชำร่วยคือสิ่งที่เสร็จหลังงาน มันจะไปอยู่ในมือญาติๆ และเพื่อนๆ ได้ยังไง 

  • ถ้าหากใจฉันต้องการให้การ์ดเชิญ เป็นแค่ซองเปล่า

ไม่อยากพิมพ์การ์ด บางคนอาจจะจบง่ายแค่ไม่แจกการ์ดเชิญ แล้วเชิญเพื่อนมางานแต่งทางอีเวนต์เฟซบุ๊กแทน แต่สำหรับเรามันไม่ง่ายอย่างนั้น เพราะหนึ่ง-งานเรามีผู้ใหญ่ ยังไงก็ต้องเชิญด้วยการ์ด สอง-งานเราพื้นที่เล็ก เชิญเพื่อนในเฟซบุ๊ก อาจจะจำกัดจำนวนไม่ค่อยได้ และสาม-แฟนฉันนั้นไม่อยากตั้งอีเวนต์เฟซบุ๊ก/จบยากละทีนี้

แต่เรายังสู้ ไหนๆ ก็ต้องสั่งพิมพ์การ์ดแน่ๆ ละ เราจะทำยังไงให้การ์ดนี้มันถูกใช้คุ้มๆ ดี งั้นถ้าเราทำการ์ดเชิญนี้ให้เป็นซองเปล่า แล้วเอาซองนี้ไปส่งของชำร่วยหลังงานไปด้วยเลยได้รึเปล่าล่ะ

และนี่คือหน้าตาการ์ด เอ้ย ซองเชิญของเรา

ด้านหนึ่ง เราเอาข้อมูลที่จำเป็นต้องบอก และเรื่องที่คนมักเกิดคำถามเวลาใกล้ๆ งาน ไปรวบรวมเป็น HOW TO อยู่ที่ด้านหนึ่งของซองเลย เรื่องก็เล่าเอง รูปก็วาดเอง ละเลงทุก Info ลงไปให้คุ้มทุกกระเบียดของกระดาษ เราไม่มีอีเวนต์เฟซบุ๊กคอยแจ้งข่าวใคร ดังนั้นทุกอย่างอยู่ในนี้แล้ว ไม่งงกันนะ

อีกด้านหนึ่ง เราทำเหมือนซองไปรษณีย์เอาไว้ให้คนเขียนชื่อที่อยู่จริงๆ เพราะหลังจากที่เขาถือซองมาหย่อนหน้างานเรา เราจะเอาซองเดิมนี้แหละ (ที่เอาสตางค์ออกแล้ว แฮ่) ไปใส่ของชำร่วยแล้วส่งไปรษณีย์ให้หลังงานจริงๆ นะจ๊ะ

ส่วนเนื้อกระดาษ เราเลือกแบบแข็งหน่อยและกันน้ำ เพราะอยากให้มันทนมือกลับมาถึงเราอีกครั้ง และดูแลถุงผ้าไปได้ตลอดรอดฝั่ง ดังนั้น มันอาจจะเขียนด้วยปากกาธรรมดาไม่ค่อยติดเท่าไหร่ ขออภัยในความไม่สะดวก แต่ไม่เป็นไร เราเตรียมมาร์กเกอร์ไว้ให้หน้างานแล้ว

  • ถ้าหากใจฉันต้องการให้ของชำร่วย ส่งตามไปถึงบ้าน

เรื่องนี้ละเอียดอ่อนเหมือนกัน การที่คนจะไม่ได้ของชำร่วยทันทีที่หย่อนซอง มันเป็นอะไรที่เสี่ยงต่อการรู้สึกแย่ได้ง่ายๆ ด้วยความกังวลเราเลยต้องทำป้าย Info หน้างานเล็กๆ อธิบายว่าจะมีของชำร่วยส่งตามไปถึงบ้านหลังงานนะจ๊ะ อย่าลืมจ่าหน้าซองให้ดีๆ ด้วยล่ะ และก็ต้องให้เพื่อนสาวที่มานั่งทีมหน้างาน คอยดูแลเรื่องนี้ระดับนึงเลย 

Part 3: สรุปผลการทดลอง

ก่อนงาน – เมื่อแจกซอง ที่ไม่มีการ์ดอยู่ข้างใน                            

ฟีดแบ็กจากเพื่อนๆ เมื่อได้รับซอง ส่วนใหญ่ก็พอจะเก็ทไอเดียบ้าง แต่ตื่นเต้นกับความใหญ่ (เกินปกติ) ของซองและหน้าตาของมันมากกว่า (วาดเองหมดก็จะเหมือนเด็กวาดนิดนึง) มีเพื่อนบางคนที่แซวว่าซองใหญ่อย่างนี้จะให้ใส่เงินเยอะๆ ใช่ไหม งั้นใส่เหรียญมาให้นะ จะได้เต็ม 555 

ส่วนพ่อแม่ป๊าม้าก็อาจจะเหนื่อยหน่อยตอนอธิบายญาติๆ ว่าทำไมมาแต่ซอง แล้วทำไมต้องถือซองมางาน แล้วอะไรยังไงอีกมาก (Info มันเยอะไป ผู้ใหญ่ไม่ค่อยอ่าน) หลังๆ ป๊าม้าก็เริ่มโปร เลยใช้วิธีบอกญาติไปว่า ลูกๆ ออกแบบและทำกันเองหมดเลยน่ะ นี่ฉันไม่รู้เรื่องเลยนะ ถือเป็นการตัดจบอย่างชาญฉลาด 555

วันงาน – เมื่อหย่อนซอง แล้วไม่ได้ของชำร่วยทันที

ไม่น่าเชื่อว่ากว่า 80% ของผู้มาร่วมงาน ถือซองมาหน้างานจริงๆ จากตอนแรกที่เกร็งว่าซองมันใหญ่ พกพายาก คนจะลืมไหม ถ้าลืมแล้วไอเดียนี้จะกลายเป็นไม่เวิร์กรึเปล่า ก็ปรากฏว่าถึงเวลาจริงมันก็เป็นไปได้นะ (อาจจะเพราะซองมันใหญ่มากจนคนไม่กล้าลืม) แม้กระทั่งผู้ใหญ่เองก็ยังถือและปิดซองกันมาแบบค่อนข้างเรียบร้อย จะมีบ้างที่ลืมหยิบซองมาเราก็มีซองสำรองอยู่นิดหน่อยให้เขียนหน้างาน 

สิ่งที่ได้เรียนรู้คือ การทำสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่เหมือนเดิมหรือมีเงื่อนไขเพิ่ม คนมางานก็เปิดใจและพร้อมให้ความร่วมมือพอสมควรเลยนะ ไม่ต้องกลัวว่าจะมีปัญหาใหญ่โต ที่จริงปัญหาหลักๆ ของซอง น่าจะเป็นกระดาษเนื้อมันที่เขียนด้วยปากกาทั่วไปไม่ติดต่างหาก คนส่วนใหญ่เลยต้องมาเขียนด้วยมาร์กเกอร์ที่หน้างานแทน ยังไงก็ขอบคุณมากๆ ที่ให้ความร่วมมือกันจ้า 

หลังงาน – เมื่อผ้าตกแต่งกลายเป็นของชำร่วย บรรจุซองส่งไปรษณีย์

ที่จริงเป็นการตัดสินใจที่เหนื่อยเราอยู่เหมือนกัน เพราะมันทำให้เรามีงานงอก ตั้งแต่วันงานต้องไล่เก็บผ้าตกแต่งในวันงานให้เรียบร้อย พับกลับมาไว้ที่บ้านก่อน หลังหายเหนื่อยจากงานแต่งฯ ไม่กี่วันก็ต้องวิ่งหาร้านตัดกระเป๋าผ้า เอาผ้าไปส่ง เจรจารายละเอียดในดีเทลให้เสร็จสรรพ ซึ่งต้นทุนก็แพงกว่าของชำร่วยทั่วไปอีกด้วย จากนั้นก็ต้องมานับซองว่าจ่าหน้ามากันครบไหม ขาดใครต้องไปขอที่อยู่เพิ่มเติม นับจำนวนกระเป๋าที่เราตัดว่าเพียงพอต่อแขกที่มางานทุกคนรึเปล่า

ผ่านไปอีกสองสัปดาห์ ก็ต้องไปรับกระเป๋าผ้า ลุ้นมากว่าเขาจะตัดมาถูกใจเราไหม จะมีลายอะไรจากผ้าชิ้นไหน หนังเรื่องไหนออกมาบ้าง เสร็จแล้วก็เอามาเรียงจัดกลุ่ม สุ่มเลือกลายที่เหมาะสมให้กับเพื่อนบางคนที่สั่งจองลายหนังบางเรื่องเอาไว้ เช่น เพื่อนชื่อนกอยากได้ลายที่มีนก เป็นต้น 555

ยังไม่จบ เราต้องเป็นแรงงานแพ็กถุงผ้าใส่ซอง ปิดกันเองทีละใบสองใบ ซึ่งมันเป็นงานที่เนี้ยบและเหนื่อยเอาการ แพ็กเสร็จเล่นเอาเมื่อย แล้วก็ต้องแบกไปส่งที่ไปรษณีย์ต่ออีก เข้าใจแม่ค้าออนไลน์ที่ขายดีๆ เลยว่าเห็นเหมือนไม่มีอะไรอย่างนี้ก็ไม่ใช่งานง่ายๆ นะ

จบภารกิจไปไม่กี่วันก็มีคนได้รับของชำร่วยของเรา ขอบคุณเพื่อนๆ ที่ส่งฟีดแบ็กเป็นภาพถ่ายถุงผ้ากลับมาให้ บางคนก็โชคดีได้ลายที่มีชื่อเราไป 555 หลายคนก็ให้คำชมมาว่าถุงผ้าน่ารัก จะเอาไปใช้งานต่อจริงๆ เรื่องตลกก็คือมีวันหนึ่งคุณพ่อไปโรงพยาบาลก็เห็นคนถือถุงผ้าเราไปใส่ยาด้วย จริงเท็จยังไงก็ไม่รู้ แต่ถ้าจริงก็ดีใจมากเลยที่ของชำร่วยของเรา (ซึ่งอดีตเคยเป็นผ้าตกแต่ง) ได้ถูกใช้ประโยชน์

การเปลี่ยนของบางอย่างในงานแต่งงานให้มันถูกใช้งานคุ้มค่าขึ้น ระหว่างทางมันก็ทั้งเครียด เหนื่อย และลุ้น ผลลัพธ์ก็อาจจะไม่ได้ยิ่งใหญ่อะไรมากหรืออาจจะมีคนไม่ชอบก็ได้นะ แต่ก็ไม่เสียใจเลยที่ทำลงไป เพราะงานแต่งงานมีครั้งเดียวในชีวิต และโลกก็มีอยู่ใบเดียวนี่นา

Content Designer

#อดีตเป็นบรรณาธิการสารคดีนิตยสารวัยรุ่น #เขียนหนังสือบ้างตามโอกาส #ปัจจุบันเป็นเจ้าของบริษัทคอนเทนต์ขนาดเล็ก #กำลังตั้งใจเรียนรู้ที่จะใส่ใจสิ่งรอบตัวมากขึ้นผ่านการเล่าเรื่องราวในไอแอลไอยู

Read More:

Love มนุษยสัมพันธ์

ฟังเสียง 10 คนรุ่นใหม่ที่กำลังแอคทีฟเพื่อเมือง

10 คนรุ่นใหม่ขยับเมืองในหลากหลายประเด็น ที่เราอยากชวนมาฟังเบื้องหลังการลงมือทำของพวกเขา

Love สาระสำคัญ

เผลอทำร้ายสัตว์โดยไม่ได้ตั้งใจอยู่รึเปล่า?

เข้าใจ Animal Welfare แล้วหาวิธีใจดีกับเหล่าสัตว์ขึ้นอีกนิด

Love มนุษยสัมพันธ์

คุยกับ ‘แก้ว-มณีวรรณ’ เด็ก ม.ปลาย ที่เลือกตอบความฝันด้วยการศึกษานอกระบบ

"ครูคะ หนูขอลาออก"