Love —— สาระสำคัญ

ภาษาพากรีน | ศึกษานโยบายสิ่งแวดล้อมในสนามเลือกตั้ง ๒๕๖๖

    บทนี้มุ่งสอนใจ หนูจงใคร่ครวญก่อนกา
พรรคไหนอวดวาจา สัญญาว่าจะดูแล
    นโยบายสิ่งแวดล้อม พูดอ้อมค้อมหรือว่าแถ
ศัพท์กรีนที่ว่าแน่ เก็ทถ่องแท้ก่อนเลือกเอย

 

สนามเลือกตั้งปีนี้สุดจะเดือดไม่แพ้สภาพอากาศ แต่ละพรรคทุ่มนโยบายหาเสียงแบบมีเท่าไหร่ใส่มาหมด ส่วนหนึ่งของนโยบายที่ไอแอลไอยูเห็นแล้วสะดุดตาอยากเอามาเล่าต่อคือ ‘นโยบายสิ่งแวดล้อม’ ที่ส่วนใหญ่มาเป็นหัวข้อไว้ก่อน ส่วนรายละเอียดและวิธีทำเอาไว้ทีหลัง เอ้า แล้วแบบนี้จะรู้ได้อย่างไรว่านโยบายสิ่งแวดล้อมนี้เป็นจริงได้แค่ไหน หรือแค่มาขายฝัน

ไอแอลไอยูเลยขอหยิบศัพท์แสงที่ซ่อนอยู่ในนโยบาย สิ่งแวดล้อม ของหลายพรรค มาเปิดนิยามทำความเข้าใจกันรอบสุดท้ายก่อนเข้าคูหา ผ่านตัวละครในบทเรียน ‘ภาษาพากรีน’ ที่ผลัดกันมาพูดถึงคำศัพท์ สิ่งแวดล้อม เหล่านี้ ทั้งเรื่องของน้าอุ้ย ที่กำลังเข้าวงการคาร์บอนเครดิต, ใยบัว ที่เรียกร้องสิทธิที่จะหายใจอากาศสะอาด, เกี๊ยว ที่อยากให้ประเทศไทยเอาจริงเรื่องขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตเสียที และตู๋ ที่รับปากพล่อยๆ เรื่องเป็นกลางทางคาร์บอน และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์สู่ สิ่งแวดล้อม

หลังจากเก็ทคำศัพท์ เข้าใจบริบทแวดล้อมและประเด็นที่ถกเถียงกัน ขอชวนให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งไปลงรายละเอียดศึกษานโนบายกันต่อ ก่อนตัดสินใจ  เราหวังว่าพรรคที่ได้รับโอกาสครั้งนี้จะทำตามนโยบายที่ว่าได้จริง เพราะไม่ว่าอย่างไรสิ่งแวดล้อมก็ยังสำคัญเสมอกับมนุษย์ และกำลังวิกฤตไม่น้อยไปกว่าปัญหาอื่นๆ ในสังคม จะแกล้งมองไม่เห็นหรือทำเป็นไม่สนใจไม่ได้!

คำศัพท์: คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit)
ไอแอลไอยู สิ่งแวดล้อม

ช่วงนี้ได้ยินกันบ่อยเหลือเกินว่า ประเทศไทยจะมีวงการ ‘คาร์บอนเครดิต’ ที่ใหญ่ขึ้น ทุกคนที่มีทรัพยากรต้นไม้ป่าไม้ในมือจะเริ่มเข้าถึงคาร์บอนเครดิตได้ง่าย แต่มันคืออะไรกันแน่ มาทำความเข้าใจคำนี้กันหน่อย

เล่าง่ายๆ คาร์บอนเครดิต คือสินค้าทางอุตสาหกรรมที่มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนกันในตลาดใหญ่ การซื้อขายคาร์บอนเครดิตนี้เกิดขึ้นเพื่อเป็นแรงจูงใจเพื่อโน้มน้าวให้โรงงานอุตสาหกรรมและผู้ผลิตรายใหญ่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ เพราะหากอุตสาหกรรมนั้นปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณที่เกินกำหนด ต้องซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อเพิ่มปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้กับอุตสาหกรรมตัวเอง แต่หากอุตสาหกรรมนั้นปล่อยน้อยกว่าเกณฑ์ก็สามารถนำส่วนต่างนั้น แปลงเป็นคาร์บอนเครดิตขายให้กับบริษัทอื่นได้ หรือเราเห็นหลายองค์กรมีโครงการปลูกป่าเพื่อสิ่งแวดล้อมต่างๆ ควบคู่ไปด้วย เป็นอีกวิธีในการสร้างคาร์บอนเครดิตอีกรูปแบบหนึ่ง

ดูรวมแล้วเหมือนเป็นเรื่องที่ทำในอุตสาหกรรมใหญ่ แต่มีนโยบายออกมาว่า คนทั่วไปก็สามารถปลูกต้นไม้ขายคาร์บอนเครดิตได้ (จริงหรือ?) จากองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO หน่วยงานที่ดูแลจัดการเรื่องก๊าซเรือนกระจกและเป็นศูนย์กลางข้อมูลให้ความรู้ด้านคาร์บอนเครดิตในไทยบอกว่า สามารถทำได้จริง! แต่จะต้อง มีพื้นที่ปลูกต้นไม้ประเภทไม้ยืนต้นตั้งแต่ 10 ไร่ขึ้นไป, มีเอกสารสิทธิ์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย, มีความรู้ในการประเมินการกักเก็บคาร์บอนและจัดทำเอกสารข้อเสนอโครงการ และมีเงินในการจ้างผู้ประเมินภายนอกมาตรวจสอบ (การประเมินราคาขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ข้อมูลจากหลายคนที่เคยทำโครงการนี้บอกว่า อัตราขั้นต่ำอยู่ที่ 20 ไร่ ราคาประเมินประมาณ 80,000 บาท) โดยจะนำข้อมูลพื้นที่ต้นไม้ป่าไม้ที่เรามีไปคำนวณคาร์บอนเครดิต โดยจากวัดความสูง เส้นรอบวง และพันธุ์ของต้นไม้ ส่งไปคำนวณคุณสมบัติในการดูดซับก๊าซเรือนกระจก และแปลงออกมาเป็นเครดิต จากข้อจำกัดที่ว่ามายาวเหยียดนี้ แปลง่ายๆ ก็คือมันไม่ง่ายอย่างที่พูดค่ะ และเราคงไม่สามารถผลิตคาร์บอนเครดิตจากต้นไม้ใหญ่รอบบ้านแค่ 4-5 ต้นแน่ๆ 


ถึงแม้ตลาดคาร์บอนเครดิตในไทยยังไม่บูมมาก แต่ก็นับว่าเห็นสัญญาณตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อมของภาคอุตสาหกรรมไทย แต่ในวงการนี้ก็ยังมีข้อถกเถียงกันอีกว่า แนวคิดของคาร์บอนเครดิตนี้คือการสร้างแรงจูงใจให้ภาคอุตสาหกรรมเหล่านี้ให้รับผิดชอบต่อมลพิษที่สร้างขึ้น หรือเป็นแค่ช่องโหว่ให้นายทุนปล่อยของเสียต่อไปได้ แค่เพิ่มกิจกรรม CSR ปลูกป่ารักโลกเท่านั้น 

อ้างอิง: คาร์บอนเครดิต คืออะไร? , คาร์บอนเครดิตและสถานการณ์ตลาด , มีพื้นที่ปลูกต้นไม้ จะขายคาร์บอนเครดิตอย่างไร ? 

คำศัพท์: สิทธิที่จะหายใจอากาศสะอาด (Right to Breathe Clean Air)
ไอแอลไอยู สิ่งแวดล้อม

ฝุ่น PM 2.5 ตลบล่าสุดในช่วงเวลาหาเสียง เราได้ยินแนวทางการแก้ปัญหาจากพรรคการเมืองต่างๆ มากมาย บ้างมาเป็นมาตรการ บ้างมาเป็นแนวคิดคำโต บ้างก็บลัฟโบ้ยกันพอหอมปากหอมคอว่าทำไมนายกฯ ถึงปัดตกร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาด อ้างว่าซ้ำซ้อนกับกฎหมายเดิมบ้างล่ะ เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ. การเงินฯ บ้างล่ะ หรือแม้แต่กำลังพิจารณา (a.k.a ดอง) อยู่ แต่พอดีตอนนี้ ยุบสภาแล้วน่ะ เป็นต้น

ด้วยความสงสัย ว่าเราก็ไอแค่กๆ อยู่กับฤดูฝุ่นมาก็หลายปี ได้ยินเลาๆ เรื่อง พ.ร.บ. อากาศสะอาดอยู่บ่อยครั้ง ทำไมมันยังไม่ไปไหน พอค้นดูก็พบว่า ร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาดถูกเสนอเข้าสภามาแล้ว 5 ร่าง ต่างกรรมต่างวาระ โดยเริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 (อืม..3 ปีผ่านไป) ปัจจุบัน ปัดตกไป 3 ดองอยู่อีก 2 คือร่างของพรรคพลังประชารัฐ และร่างของเครือข่ายอากาศสะอาด ที่บัญญัติว่า สิทธิที่จะหายใจอากาศสะอาด (Right to Breathe Clean Air) เป็นของประชาชนทุกคน และรัฐมี ‘หน้าที่’ ต้องดูแล ปกป้อง คุ้มครอง ทั้งเชิงรุก เชิงรับ ต้องออกกฎหมายคุ้มครอง และกำกับดูแลให้ใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ หากรัฐละเลย ประชาชนสามารถฟ้องร้องได้!

แต่รัฐในนามของนายกชื่อประยุทธ์บอกว่ามอบหมายให้สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) เร่งจัดทำร่างกฎหมายว่าด้วยอากาศสะอาดอยู่ตามขั้นตอน ก็มันละเอียดอ่อนน่ะ ต้องป้องกันการซ้ำซ้อน แถมยังเกี่ยวข้องกับงบประมาณ ก็ต้องใช้เวลาทำงานนานหน่อย แต่รับรองว่าไม่เกินสิงหาคมปีนี้ จะเสนอร่างเข้าสภาแน่นอน!

(รู้สึกว่ากำลังพายร่างเป็นวงกลมเหมือนเราไหม?)

แม้คำว่าตามขั้นตอนจะดูน่าเบื่อหน่าย กฎหมายและมาตรการจากพรรคที่หาเสียงไว้ก็ไม่รู้จะต้องไปพายร่างเป็นวงกลมอะเกนหรือเปล่า แต่สิ่งที่ประชาชนจมูกดำๆ จากฝุ่นควันอย่างเราไม่ควรละเลย ลืม หรือชินชา เพราะไม่ว่ารัฐจะมอบ สิทธิที่จะหายใจอากาศสะอาด กับเราในทางกฎหมายหรือไม่ แต่ในฐานะมนุษย์ที่ต้องใช้อากาศหายใจ เราต้องเรียกร้องสิทธิและไม่เพิกเฉยต่อการขับเคลื่อนเรื่องนี้เช่นกัน 

เพราะเราจะยืมจมูกพรรคการเมืองอย่างเดียวคงไม่พอ 

อ้างอิง: พรบ. อากาศสะอาด ของเครือข่ายอากาศสะอาด , ความคืบหน้ากฎหมายอากาศสะอาด โดย ป.ย.ป. 

คำศัพท์: การขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (EPR)
ไอแอลไอยู สิ่งแวดล้อม

ปัญหาขยะเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ไม่ว่าพรรคไหนๆ ก็ให้ความสนใจ ทั้งออกนโยบายยกเลิกการนำเข้าขยะจากต่างประเทศ หาทางเปลี่ยนขยะมาเป็นเงิน สร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) ด้วยการลดการผลิตและบริโภค หันมาใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์มากที่สุด แต่ก็มีน้อยพรรคนักที่จะกำหนดวิธีการไปให้ถึงจุดนั้นอย่างเป็นรูปธรรม

หนึ่งในวิธีการอันเป็นรูปธรรมที่ว่าก็คือ ‘การขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต’ หรือ ‘Extended Producer Responsibility (EPR)’ แนวคิดและกฎหมายที่มีในต่างประเทศมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 ซึ่งได้รับการเคลมว่าช่วยจัดการปัญหาขยะได้จริง และในหลายๆ ประเทศก็ใช้วิธีนี้ผลักดันให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนสำเร็จมาแล้ว

เป้าหมายสำคัญของ EPR คือการสร้างระบบเก็บขยะบรรจุภัณฑ์หรือผลิตภัณฑ์ เพื่อลดการทิ้งขยะไม่เป็นที่, เพิ่มสัดส่วนการนำวัสดุจากผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์กลับมาใช้ซ้ำ นำกลับมาใช้ใหม่ และแปลงเป็นพลังงาน รวมถึงกระตุ้นให้ผู้ผลิตออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น 

โดยทั่วไปหลักการของแนวคิดนี้ก็คือ การที่รัฐบาลจะออกกฎหมายเพื่อระบุขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต เพื่อให้เจ้าของสินค้าไม่ผลักภาระมาให้ผู้บริโภคเป็นคนจัดการขยะแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่จะคิดและวางแผนเรื่องนี้มาแบบครบวงจร ครอบคลุมตั้งแต่การออกแบบและผลิตบรรจุภัณฑ์ให้เป็นมิตรต่อโลก คิดระบบจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว เช่น ตั้งจุดคืนบรรจุภัณฑ์เพื่อเปิดให้ผู้บริโภคส่งบรรจุภัณฑ์คืนให้เจ้าของสินค้านำไปรีไซเคิลหรือกำจัดให้ถูกวิธี หรือมีการเก็บค่ามัดจำบรรจุภัณฑ์ไว้ก่อน เมื่อนำมาคืนก็จะได้เงินกลับคืนไป โดยที่รัฐบาลก็จะเข้ามาช่วยกำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบของภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างร้านค้าปลีก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้บริโภคด้วย 

ข้อมูลจากสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกไว้เลยนะว่าระบบ EPR จะสามารถช่วยลดปริมาณขยะที่ต้องส่งไปกำจัด เพิ่มอัตราการรีไซเคิล และช่วยลดภาระงบประมาณของท้องถิ่นในการจัดการขยะมูลฝอยลง โดยในประเทศญี่ปุ่นพบว่า EPR ช่วยเพิ่มอัตราการรีไซเคิลขยะบรรจุภัณฑ์จากปี พ.ศ. 2540 เพิ่มขึ้นร้อยละ 27 ในปี พ.ศ.  2543 หรือจาก 1.25 ล้านตันเป็น 1.59 ล้านตัน ในหลายประเทศที่มีระบบนี้ เราเลยเห็นตู้คืนขวดแก้ว ขวดพลาสติก หรือบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ตั้งอยู่ละแวกบ้าน เพื่อให้ง่ายต่อการนำไปรีไซเคิลนั่นเอง!

แถมเท่าที่ศึกษา ก็แทบจะไม่มีใครพูดถึงข้อเสียของแนวคิดนี้เลยด้วย หากประเทศไทยเอาจริงเอาจังในการผลักดันแนวคิดนี้อีกนิด ไม่แน่เราอาจได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่บ้านเมืองสะอาดกับเขาในสักวัน เพราะเมื่อขยะทุกชิ้นมีทางไป ผู้ผลิตรับผิดชอบต่อสินค้าของตัวเองตั้งแต่ต้นจนจบ ประชาชนรู้ว่าต้องจัดการกับขยะเหล่านั้นยังไง เราก็คงไม่ต้องนั่งกุมขมับ หรือจมอยู่กับวลี แยกขยะไปเขาก็นำมารวมกันอยู่ดี แล้วก้าวเข้าสู่ circular economy อย่างจริงๆ จังๆ เสียที

อ้างอิง: หลักการ EPR “ปิดลูปการจัดการซากผลิตภัณฑ์ด้วยการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต”

คำศัพท์: คำศัพท์: ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)
การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)
ไอแอลไอยู สิ่งแวดล้อม

ทั้ง Carbon Neutrality และ Net Zero คือสองคำสำคัญที่วนเวียนอยู่ในทุกวงประชุมเมื่อมนุษย์พูดเรื่องสิ่งแวดล้อม ล่าสุดก็ไปอยู่ในวงประชุมสมัชชาประเทศว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP 26) ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร โดยผู้แทนจากกว่า 200 ประเทศได้เข้าร่วมเพื่อสร้างพันธสัญญาในการวางแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มีเป้าหมายร่วมกันว่าจะจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิของโลกไม่ให้เกิน 2 องศาเซลเซียสและให้พยายามตั้งเป้าไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียสให้จงได้ ซึ่งในการประชุมครั้งนั้น ประเทศไทยเรา โดยนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ประกาศเป้าหมายสำคัญคือประเทศไทยจะเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี พ.ศ. 2593 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี พ.ศ. 2608!

ย้อนมาดูนิยามกันก่อน สองคำนี้อาจชวนงงตรงที่ความหมายคล้ายคลึงกันมาก แต่ถ้าจะอธิบายง่ายๆ Net Zero จะพูดถึงถึงมิติที่กว้างกว่าแค่การปล่อยคาร์บอน (CO2) อย่างเดียว คือพิจารณาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ส่งผลให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นทั้งสามตัวหลัก (CO2 CH4 และ N2O) ซึ่งทั้งสองคำจะทำให้กลาย ‘เป็นกลาง’ หรือ ‘เป็นศูนย์’ ได้ก็ต่อเมื่อมนุษย์เราช่วยกันทำให้ปริมาณการปล่อยก๊าซนั้นๆ สู่ชั้นบรรยากาศ เท่ากับปริมาณที่ก๊าซนั้นๆ ถูกดูดซับออกจากชั้นบรรยากาศได้ และถ้าทำได้ เท่ากับว่าเราจะหยุดปริมาณก๊าซส่วนเกินอันเป็นสาเหตุที่ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์โลกร้อนได้นั่นเอง

ข้อมูลบอกไว้ว่า การบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality ทำได้ทั้งในระดับบุคคล องค์กร หรือประเทศ โดยการ ‘ลด’ และ ‘ชดเชย’ คาร์บอน เช่น การลดหรือละกิจกรรมบางอย่างโดยไม่จำเป็น เช่น การขนส่งระยะไกล หรือการใช้เทคโนโลยีการผลิตและการจัดการของเสียที่สะอาดขึ้น หรือการใช้พลังงานสะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม แล้วก็ไปชดเชยคาร์บอนที่ยังปล่อยอยู่ผ่านกิจกรรมที่ไปลดคาร์บอนที่อื่นๆ เช่น การปลูกป่า การลงทุนในพลังงานหมุนเวียน หรือการซื้อคาร์บอนเครดิต เป็นต้น 

ขณะที่การบรรลุเป้าหมาย net zero นั้นโดยมากเป็นเป้าหมายระดับประเทศ และยากกว่า เพราะต่อให้พยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านมาตรการต่างๆ แล้ว กิจกรรมในบางอุตสาหกรรมก็อาจยังต้องมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ดี เพื่อให้บรรลุเป้าการปล่อยสุทธิเป็นศูนย์ เลยหันไปชดเชยด้วยการทำกิจกรรมที่สามารถดูดซับก๊าซเรือนกระจกออกจากชั้นบรรยากาศในระยะยาว เช่น การปลูกป่า การปลูกพืชคลุมดินเพิ่มเติมในพื้นที่เกษตรเพื่อเพิ่มการตรึงคาร์บอนในดิน หรือใช้เทคโนโลยีในการดูดคาร์บอนที่ดักจับและกักเก็บโดยตรง อะไรแบบนี้เป็นต้น ซึ่งแน่นอนว่าการชดเชยมันทำได้ง่ายกว่าการลด แต่ว่ายั่งยืนไหม หนุนกลุ่มทุนอีกหรือเปล่า ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่น่าคิดเช่นกัน

กลับมาที่พวกเราในฐานะผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง มีคนเขาวิเคราะห์ไว้ว่า สิ่งที่เห็นชัดๆ ในสนามเลือกตั้งปี 66 ก็คือนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานนอกจากจะมีให้เห็นน้อยแล้ว ยังเทน้ำหนักไปแค่การนำเสนอในมุมของ ‘ปากท้อง’ มากกว่าจะแก้ไขปัญหา (คาร์บอนเครดิตเอย ป่าแลกเงินเอย ลดค่าไฟเอย ใดๆ เอย) ซึ่งแต่ละนโยบายก็ยังฟังดูไม่ชัดเจน ไม่มีรายละเอียดมากพอที่จะทำให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายอย่างที่ (ลุงตู่) เคยรับปากกับประชาคมโลกไว้ได้ แถมเรายังไม่เห็นว่าจะมีนโยบายที่เกี่ยวกับการปรับตัวและลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเลยด้วยซ้ำ!

ที่พูดมาเนี่ย ไม่ได้มาต่อว่าใครหรือพรรคไหน แค่อยากบอกคุณว่าที่ สส. ในอนาคตว่า “ถ้าได้เข้าไปจับมือกันเป็นรัฐบาลผสมกันแล้ว อย่าลืมหาหนทางแก้ปัญหาที่รับปากกันไว้ด้วย เพราะเรื่องโลกร้อนไม่เหลือเวลาให้ทะเลาะกันเหมือนเรื่องอื่นๆ นะคะพี่!”

อ้างอิง: 4 มีนาคม 2565 “Carbon neutrality” กับ “net zero emissions” ต่างกันอย่างไร? , ข้อเสนอสำหรับพรรคการเมืองต่อ 4 นโยบายด้านสังคมในการเลือกตั้งทั่วไป 2566

ดูอธิบายศัพท์อื่นได้ที่คอลัมน์ พจนานุคน

Content Designer

หน่วยย่อยของนักเล่าเรื่องที่อยากเล่าเรื่องส่วนตัวเล็กๆ ง่ายๆ ที่อยู่ในวงโคจรและความสนใจเรื่องไลฟ์สไตล์ที่สร้างภาระต่อโลกน้อยลงหน่อย ด้วยสมมติฐานที่ตั้งเองว่า เราน่าจะมีทางเลือกในการใช้ชีวิตที่สนุกและสนิทกับโลกมากกว่าที่หลายคนคิดนะ

Read More:

Love บันทึกประจำวัน

สำรวจหมาแมวจรแถวบ้านฉัน เจอจนจำกันได้แล้ว

ตั้งคำถามกับความใจดีและความดาร์กในโลกของสัตว์ถูกทิ้ง

Love สาระสำคัญ

รวมแพ็กเกจน่ารักที่รักษ์โลกด้วย

ชวนมาดูแพคเกจจิ้งน่ารัก น่าส่งต่อ จากทั่วโลกที่นอกจากงานดีไซน์จะมาเหนือ ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมก็ยังไม่แพ้ใคร

Love มนุษยสัมพันธ์

คุยกับ ‘แก้ว-มณีวรรณ’ เด็ก ม.ปลาย ที่เลือกตอบความฝันด้วยการศึกษานอกระบบ

"ครูคะ หนูขอลาออก"