Love —— พจนานุคน

พจนานุคน 02: ทริกเกอร์ (น.)

ปัญหาหัวใจ (ที่หมายถึงความเจ็บป่วยทางใจ) เป็นเรื่องที่คนในสังคมกล้าพูดมากขึ้น และให้ความสำคัญมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เดือนกันยายน ซึ่งถือเป็น Suicide Prevention Awareness Month เลยอยากชวนนิยามคำสำคัญเรื่องหัวจิตหัวใจอย่าง ‘ทริกเกอร์’ ซึ่งเป็นคำยอดฮิตที่พบได้บ่อยๆ ในโลกโซเชียล มาสำรวจตัวเองไปพร้อมกันว่าตอนนี้เรารู้จักเจ้าคำนี้ดีหรือยัง และในฐานะชาวเน็ตเราใช้มันอย่างถูกต้องแล้วหรือเปล่า

ในบริบทโลกออนไลน์ ทริกเกอร์ถูกใช้นิยามสิ่งกระตุ้นจากการเสพคอนเทนต์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล่า ภาพ หรือวีดีโอ ซึ่งอาจทำให้ผู้ที่ไม่ชอบ กลัว หรือเคยมีความทรงจำไม่ดีกับเรื่องนั้นๆ  โดยเฉพาะผู้ป่วย PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) ย้อนกลับไปนึกถึงเรื่องที่เกิดขึ้นจนอาจส่งผลกระทบต่อจิตใจได้ ดังนั้นเวลาจะพูดถึงเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรง การทำร้ายร่างกาย หรือการคุกคามทางเพศ สังคมออนไลน์จึงรณรงค์ให้ชาวเน็ตติดสัญลักษณ์ TW (Trigger Warning) หรือ CW (Content Warning) ด้านหน้าของเนื้อหา เพื่อเตือนชาวเน็ตรายอื่นที่ผ่านมาว่าควรระวังเนื้อหาของคอนเทนต์ที่คุณกำลังจะกดเข้าไปอ่าน เผื่อใครที่คิดว่าหัวใจอาจไม่แข็งแรงพอจะรับไหว จะได้ไม่หลงเข้ามาอ่านจนทำใจบาดเจ็บได้

เราคงไม่สามารถบอกได้หมดว่าอะไรคือปัจจัยที่เสี่ยงเป็นทริกเกอร์ได้บ้าง ส่วนหนึ่งจึงขึ้นอยู่กับการพิจารณาของเจ้าของคอนเทนต์เองด้วยว่า เมื่อไหร่กันแน่ที่ควรจะติด TW ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับการฆาตรกรรม ความตาย การทำแท้ง การคุกคามทางเพศ แต่ถ้าอยากเมกชัวร์หลายเว็บไซต์เขามีแจกลิสต์เบื้องต้นอยู่เหมือนกันว่าอะไรคือเนื้อหาที่ควรติด TW บ้าง ดังนั้นถ้าเจอประสบการณ์มาแล้วอยากเล่า มีอุทาหรณ์สอนใจอยากแชร์ หรือเป็นนักเขียน นักแต่งนิยายที่มีความจำเป็นต้องอ้างถึงเหตุการณ์รุนแรงบางอย่างจริงๆ การเช็กข้อมูลเหล่านี้ให้ดีก่อนโพสต์ก็คงไม่ใช่เรื่องเสียเวลานัก

ถึงอย่างนั้น วิธีใช้ TW ก็ต้องไม่ใช่การใช้เป็นยันต์กันด่า! (เรียกกันตามภาษาชาวเน็ต) ที่เมื่อติดแล้วจะกลายเป็นสูตรโกงให้เราสร้างคอนเทนต์รุนแรงพวกนี้ได้อย่างสบายใจ ยกตัวอย่างเช่น ติด TW แล้วจะได้แต่งนิยายที่มีฉากข่มขืนได้แบบไม่รู้สึกผิด หรือจะโพสต์ถึงชาวบ้านด้วยถ้อยคำเกลียดชังได้แบบไม่ต้องคิดอะไร และติดแล้วก็ต้องมีวิจารณญานในการเลือกใช้ถ้อยคำอยู่ดี เพราะอาจยังมีคนที่ได้รับผลกระทบจากเนื้อหาที่เราสร้าง แม้สำหรับบางคนผลกระทบที่ว่าอาจเป็นเรื่องเล็กๆ อย่างความรู้สึกไม่ชอบใจเมื่อเห็น แต่ในระดับที่ใหญ่กว่านั้น บางเรื่องก็สามารถทริกเกอร์ใจคนได้อย่างรุนแรงโดยไม่รู้ตัวมาก่อนได้เช่นกัน

อย่างที่บอกว่า จักรวาลของทริกเกอร์นั้นแสนกว้างใหญ่และซับซ้อน แต่การเป็นชาวเน็ตที่ใจดีกับผู้อื่นก็คงไม่ใช่เรื่องยากจนเกินไป ก่อนจะโพสต์อะไรก็อย่าลืมนึกถึงใจคนอื่นเยอะๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กจิ๋วขนาดต้องติด TW หรือไม่ก็ตาม เพราะเราไม่มีทางรู้หรอกว่าคนอื่นๆ ที่อยู่หลังคีย์บอร์ดเขาเป็นคนแบบไหน และเคยผ่านอะไรมาบ้าง

Content Designer

#อดีตนิสิตภาควารสารฯ #เรียนจบแล้ว #นักเขียน

Communication Designer

#กราฟิกดีไซเนอร์ #นิสิตออกแบบสื่อสาร