Work —— ทัวร์ลง

ทัวร์ลง ep.05 ทำ Wild Tonic ลงขวดกับ Waang Pi คนว่างที่ขยันชวนคนอื่นมาหาทำ (จนเป็นงาน)

ยกแก้วให้กับอีพีสุดท้ายของ ‘ทัวร์ลง’ ซีรีส์คอนเทนต์ที่ชาวไอแอลไอ สวมหมวกเป็นลูกทัวร์ ผูกมิตรกับคนทำทัวร์และนักจัดทริปที่ออกแบบประสบการณ์สนุกๆ ให้คนอื่นจนกลายเป็นจ๊อบหนึ่งหรือไม่ก็จ๊อบสองที่เลี้ยงชีพได้ แต่เหนือสิ่งอื่นใด งานเหล่านี้ก็ชุบชูจิตใจพวกเขาด้วย

ตัวแทนคนชอบดื่มมากๆ ประจำออฟฟิศแบบเรา (พูดเหมือนมีหลายคน เปล่าเลย มีแค่ฉัน) จึงถือโอกาสนี้ ลงคลาสทำ Wild Tonic กับ Waang Pi ที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ พอเอ่ยถึงคลาส บางคนอาจแย้งว่านี่ผิดประเภทกับทัวร์หรือเปล่า แต่บอกเลยว่าสารพัดคลาสเรียนเกี่ยวกับอาหารและเครื่องดื่มที่เบสออนฤดูกาลของทีมนี้ (ที่ฮอตสุดคือคลาสเก็บน้ำผึ้ง ทำวานิลลา ทำชา ทำโกโก้ แปรรูปกาแฟ ลงนาไปเกี่ยวข้าวสาลีก็มีเด้อ) มาแล้วเราจะไม่ได้อยู่กันแค่ในห้องเรียน แต่ได้ออกทริปเปิดประสบการณ์เก็บวัตถุดิบจากป่า เริ่มเข้าใจโพรเซสกันตั้งแต่ 0 และได้สัมผัสธรรมชาติของเชียงดาวในแบบที่สนุกเกินคาด!

“ผมตัดสินใจว่าช่วงที่ยังมีแรงเหลือก็อยากใช้ชีวิตอยู่ในที่ที่ตัวเองชอบ ทำยังไงก็ได้ให้เราไม่ต้องกลับไปอยู่ในเมือง ได้ทำงานน้อยลง อยู่แบบขี้เกียจได้มากขึ้น ต้นทุนของเราคือเวลา ซึ่งที่นี่มีทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศที่เราไม่ต้องซื้อ ชีวิตเราวนเวียนอยู่กับการกินอาหารทั้งวันทั้งคืนอยู่แล้ว ก็ใช้อาหารที่เป็นทั้งความชอบและงานอดิเรก มาสร้างเป็นอาชีพใหม่ที่ช่วยให้เราดูแลตัวเองได้”

ผู้ก่อตั้ง Waang Pi อย่างพี่จ๊อบ-มัณฑนากร อินถา คนซ้ายมือเราคนนี้ เป็นอดีตหนุ่มในเมืองกรุงฯ เคยทำอาชีพอินทีเรียร์ดีไซเนอร์และครีเอทีฟเอเจนซีโฆษณามาก่อน (ส่วนคนขวาคือพี่ปุ๊ก หนึ่งในทีมหลังบ้านคนสำคัญของ Waang Pi นะ) สำหรับตัวพี่จ๊อบแล้วการเลือกทำงานนี้ ในบ้านที่เชียงดาวหลังนี้แหละ คือจุดที่อยู่แล้วเขารู้สึกพอใจกับชีวิตสุดๆ

ถ้าอยากรู้ว่าความหาทำของพี่จ๊อบจะไปสิ้นสุดอยู่ตรงไหน จุดที่พอใจของเจ้าตัวมีหน้าตาเป็นยังไง หรือเชียงดาวมีอะไรให้คนเมืองคนนี้ตกหลุมรักและเลือกย้ายไปปักหลักอยู่ ตีตั๋วรถเมล์จากสถานีขนส่งช้างเผือกในตัวเมืองเชียงใหม่ ตามมาเรียนทำโทนิกด้วยกันโลดๆ จ้า

เพื่อนร่วมคลาสมาถึงบ้านพัก (จุดเดียวกับที่เรียนทำโทนิก) กันพร้อมหน้าในเวลา 9.00 น. พี่จ๊อบให้เรานั่งล้อมวงในห้องที่เต็มไปด้วยหนังสือเกี่ยวกับอาหารและเครื่องดื่ม กลางโต๊ะมีหนังสือเล่มหนา ปกมีคำว่า ‘Tonic’ เด่นชัด ไม่นานนัก เล็คเชอร์เบาๆ เกี่ยวกับน้ำซ่ารสขมก็เริ่มขึ้นแล้ว!

“ในอดีตคนดื่มโทนิกเป็นยา เพราะในโทนิกมีสารที่ให้รสขมอย่างควินิน มีฤทธิ์ป้องกันมาลาเรียได้ แต่เครื่องดื่มประเภทนี้ขมมาก กินยาก วิธีทำให้ง่ายขึ้นคือการใส่เหล้า ใส่น้ำเชื่อมลงไป ทีนี้พอมาถึงยุคหลังก็มีงานวิจัยพูดถึงโทนิกว่า ปริมาณควินินที่ใส่เข้าไปยังไม่มากพอที่จะช่วยต้านมาลาเรียได้จริง บวกกับว่าเรามียารักษาโรคมาลาเรียแล้ว จุดประสงค์การดื่มก็เปลี่ยนไป (ดื่มเป็นมิกเซอร์ เน้นบันเทิงมากขึ้น) ตัวโทนิกยังถูกพูดถึงในอีกมิติหนึ่ง ก็คือรสขมที่ช่วยให้ร่างกายเตรียมย่อยอาหารที่มีไขมันเยอะ หลายๆ ประเทศเลยนิยมดื่มโทนิกก่อนมื้ออาหาร”

รู้จักโทนิก 101 แล้วก็ตัดบทมาที่สิ่งแรกที่เรากำลังจะได้ทำ “โทนิกที่เราจะทำ ไม่ใช่การเอาน้ำมาอัดก๊าซแบบทั่วๆ ไป แต่เราจะสร้างความซ่านั้นด้วยการใช้เชื้อจุลชีพ  หรือ Wild Yeast Starter ที่แข็งแรง การตามหาเชื้อจุลชีพที่ว่า เป็นเป้าหมายสำคัญที่เราต้องไปเดินตามหาในป่าวันนี้” 

จังหวะนี้พี่ปุ๊กก็เข้ามารับไม้ต่อ แนะนำวิธีเตรียมตัวเข้าป่า จากนั้นเราทุกคนก็ได้รับกระเป๋าย่ามสุดคิ้วต์มาคนละหนึ่งใบ เอาไว้ใส่กระบอกน้ำและสิ่งของจำเป็น ส่วนใครไม่มีกระบอกน้ำติดมือมาด้วย ที่นี่เขามีให้ยืมนะ งกๆ เงิ่นๆ กับการเตรียมตัวเสร็จแล้วก็พากันกระโดดขึ้นรถโฟร์วีล ถึงเวลาไปเจอพรานและเข้าป่าของจริงกันแล้วจ้า

ป่าแรกที่เราได้ย่ำเดินกันคือป่าสนที่อยู่บนระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล 900 เมตรขึ้นไป พิกัดป่าสนที่เราไปถึงอยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ปางมะโอ ที่มีคนชาติพันธุ์ 2 หมู่บ้านช่วยกันดูแล แต่ก่อนจะเข้าเรื่องว่ามาทำอะไรที่นี่ ขอพาย้อนกลับไปตอนนั่งรถที่พี่จ๊อบเป็นคนขับ เราโยนความสงสัยไปให้เจ้าตัวว่า คนเมืองแบบเขามาปักหลักอยู่ที่อำเภอเชียงดาวแบบนี้ได้ยังไง

“ผมออกจากเมืองมาได้เพราะว่าบวช ระหว่าง 6 ปีที่บวช ผมก็เดินไปยังที่ต่างๆ จากลพบุรี มาภาคเหนือ ไปพม่า การบวชทำให้ผมได้คิดทบทวนอะไรหลายอย่างในชีวิต แล้วผมเริ่มรู้สึกว่าไม่อยากกลับกรุงเทพฯ เชียงดาวเป็นที่ที่หนึ่งที่ได้มีโอกาสมา ทำเลที่นี่น่าสนใจ เงียบสงบและอยู่ไม่ไกลจากอำเภอเมืองเชียงใหม่ วันไหนที่โหยหาเมืองก็ขับรถไป นอกจากความเงียบที่เข้าทางผมแล้ว ที่นี่ยังมีอาหาร มีวัฒนธรรมหลากหลายมาก เพราะผู้คนที่อยู่ที่นี่มีหลากหลายถึง 7 ชาติพันธุ์ 

“วัฒนธรรมการหาอาหารหลักๆ ของคนชนเผ่าคือต้องเป็นพราน เข้าไปในพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์แล้วเอาอาหารออกมา ไม่ต้องรู้จักการถนอมอาหารเหมือนคนย่านอื่นก็ได้ เพราะรู้ว่าซีซั่นไหนอะไรกินได้ กินไม่ได้ อาชีพโบราณที่ใช้สัญชาตญาณความเป็นมนุษย์เลี้ยงดูตัวเอง มันเป็นอะไรที่พิเศษนะ” 
เพื่อให้เข้าใจวิถีชีวิตของพราน Waang Pi ก็เลยให้เราไปเดินป่าแบบมีพรานตัวจริงเสียงจริงไปด้วย และสำหรับป่าสนเบื้องหน้าตรงนี้ ‘พี่เล็ก’ คือพรานผู้รับไม้ต่อนำทาง เดินหาวัตถุดิบล็อตแรกไปกับเรา

วนกลับมาที่คลาส Wild Tonic ไอเท็มที่เราต้องมาเก็บจากป่าสนเป็นอะไรที่ไม่ซับซ้อนเลย ก็คือเปลือกและกิ่งสนนั่นเอง นอกจากจะถือเป็นการตามหาจุลินทรีย์จากธรรมชาติ (พูดง่ายๆ ก็คือมาเอายีสต์ที่เกาะตรงเปลือกสน) ไปเลี้ยงเป็นหัวเชื้อแล้ว ความเท่ของการคราฟต์โทนิกเอง คือไม่ว่าเราจะใส่วัตถุดิบอะไรเข้าไป คาแรกเตอร์ของมันจะกลายมาเป็นคาแรกเตอร์ของน้ำโทนิกที่เราทำ อย่างเปลือกสนหรือกิ่งสน ด้านในของมันจะมีน้ำมันหอมระเหย ดังนั้น โทนิกที่ซ่าด้วยหัวเชื้อที่เลี้ยงจากเปลือกสนจะมีกลิ่นสดชื่นของสนอยู่ในนั้นด้วย

ตลอดทางที่เดินหาต้นสน พี่เล็กไม่ได้เป็นพรานที่ถนัดแค่เดินนำอย่างเดียว แต่ยังชอบเล่าเรื่องป่าให้ฟังด้วย พี่เล็กชี้เป้าผลไม้ป่าที่กินได้ หรือเหล่าสมุนไพรป่าที่มีประโยชน์ อาทิ ต้นสาบเสือที่มีฤทธิ์ห้ามเลือด ให้เราได้เห็นและรู้จัก หรืออย่างตอนเดินผ่านบริเวณที่มีดอกเห็ดโผล่ขึ้นมา พี่เล็กก็จะคอยบอกว่าอันนี้กินได้หรือกินไม่ได้ พร้อมแนะนำทริกการเก็บและแยกแยะเห็ดป่ากินได้ มาถึงตรงนี้ก็คิดในใจ ถ้าหลงป่าแบบมีพี่เล็กอยู่ด้วย ยังไงก็มีชีวิตรอดแน่ๆ อุ่นใจได้เลย

มาป่าสน เก็บสนจริงๆ แค่ 15 นาที แต่แวะข้างทาง ฟังเรื่องเล่าสุดเพลินจากพี่เล็กในจำนวนนาทีที่บอกได้เลยว่ามันนานกว่านั้นมาก เสร็จภารกิจแรก ก็ย้ายทัพกันไปอีกหนึ่งหมู่บ้าน เพื่อพักกินข้าวเที่ยง เตรียมแรงไปเก็บสมุนไพรในป่าเบญจพรรณ!

การเลี้ยงหัวเชื้อในคลาสของพี่จ๊อบ ไม่ได้ใช้แค่เปลือกสนอย่างเดียวเท่านั้น แต่ใส่พวกเครื่องเทศและสมุนไพร เช่น หัวขิง หัวข่า เข้าไปด้วย นอกจากจะรวบเอาจุลินทรีย์จากวัตถุดิบเหล่านั้นแล้ว ความ spice หรือรสเผ็ดๆ ซ่าๆ ที่เป็นคาแรกเตอร์พิเศษของมัน ยังมีหน้าที่ช่วยควบคุมจำนวนแบคทีเรียที่ไม่ดีด้วย 

“ป่าเบญจพรรณเป็นป่าที่อยู่บนความสูง 500-800 เมตรจากระดับน้ำทะเล มีจุดเด่นคือเขียวตลอดปี นั่นแปลว่าในพื้นที่ตรงนั้นมีความชื้น มีพืชหลากหลายชนิดเติบโต พืชประเภทเครื่องเทศและสมุนไพรก็เลยมีเยอะพอสมควร” พี่จ๊อบเล่าอินโทรจบก็แนะนำให้เราได้รู้จักกับ ‘พี่คม’ พรานที่รับหน้าที่ดูแลภารกิจเข้าป่าหนที่สองของพวกเราในวันนี้

สมุนไพรชื่อไม่คุ้นอย่าง ‘จะค่าน’ คือไฮไลต์ของการแวะป่าแห่งนี้ หลังจากเดินเข้าไปไม่นานพี่คมก็ชี้ให้เราดูไม้เถาที่เกาะต้นไม้ต้นใหญ่อยู่ ลักษณะใบของมันคล้าบกับใบพลู แถมผลเล็กๆ สีเขียวเข้มของมันก็มาเป็นพวงๆ คล้ายกับพริกไทยสดที่เราเคยเห็นในตลาด ใช่ค่ะ เราเจอจะค่านแล้ว!

พรานอย่างพี่คมเห็นแล้วก็ไม่ลังเล ใช้มีดคู่กายฟันบางส่วนของไม้เถาต้นนั้น หั่นก้านจะค่านเป็นเศษเล็กๆ ให้พวกเราทุกลองชิม รสชาติของมันเผ็ดชาลิ้น ทำให้นึกถึงมะแขว่นหรือหม่าล่ามากทีเดียว พี่คมบอกว่าปกติแล้ว คนเหนือจะใส่จะค่านลงไปในอาหารประเภทแกง เช่น แกงอ่อม แกงแค เป็นต้น ใครอยากชิมจะค่านของจริง ไม่ต้องสู้เข้าป่าแบบพี่คมและพวกเรานะ ลองไปเดินตลาดโลคอลกันดูได้ เพราะจะค่านเป็นเครื่องเทศคู่ครัวที่ชาวเหนือหลายๆ บ้านต้องมีกันอยู่แล้ว 

เราใช้เวลาในป่าเบญจพรรณค่อนข้างนานกว่าป่าสน เพราะความหลากหลายของพืชพรรณที่นี่ ชวนให้เราแวะดูสีสันและหน้าตาแทบจะตลอดทาง แต่ที่เราขอทึ่ง ไม่สิ ต้องทึ่ง คือความรู้ในการหาอาหารในป่าของพี่คม ที่รู้ว่าถ้าเราอยากจะได้ของป่าชนิดไหน ยกตัวอย่างเช่น เห็ดขอน เห็ดหลินจือป่า พี่คมจะรู้ว่าต้องไปหาในมุมไหนในป่าเขียวๆ แห่งนี้ เก่งสุดๆ (ถ้าเขาบอกว่าหลับตาเดินได้เราก็เชื่อนะ)

นอกจากจะค่านแล้ว พี่คมยังพาเราไปดูต้นขิงป่า พาไปขุดหัวข่า เก็บดอกข่า ทำตามบรีฟของพี่จ๊อบเป๊ะๆ ของครบแล้วก็กลับบ้านพัก เข้าสู่กิจกรรมที่เป็นหัวใจสำคัญ นั่นคือการเรียนทำ Wild Tonic ที่เริ่มต้นตั้งแต่เลี้ยงหัวเชื้อสำหรับหมักเอง!

มาถึงตรงนี้ ต้องมีคนขมวดคิ้วแน่ๆ ว่าเก็บยีสต์มาแล้ว ใช้เลยไม่ได้เลยเหรอ เราได้คำตอบจากพี่จ๊อบมาว่า ตัวยีสต์ธรรมชาติจากเปลือกไม้เหล่านั้นอาจจะยังมีปริมาณที่น้อยและยังไม่แข็งแรงพอที่จะทำให้กระบวนการหมักสร้างความซ่าเกิดขึ้นได้ เราจึงต้องมีการ ‘สร้างบ้านให้ยีสต์’ ใส่มันในโหล ใส่น้ำและอาหารให้มันกินเพื่อขยายตัวหรือเพิ่มปริมาณ กลายเป็นแก๊งยีสต์ธรรมชาติที่แข็งแรงเสียก่อน

ถึงบ้านพักปั๊บ พี่ปุ๊กก็รับเอาสิ่งที่เราเก็บมาทั้งหมด มาปัดดิน ทำความสะอาด และหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ เตรียมไว้ พอเราพักจนหายเหนื่อยแล้ว ก็ถึงเวลาเรียนของจริง เริ่มต้นด้วยการนำน้ำตาลและน้ำสะอาดใส่โหล คนให้น้ำตาลละลายแล้วก็ค่อยเอาวัตถุดิบ 3 ชนิดใส่ลงไป มีเปลือกสน จะค่าน และข่า เป็นสูตรที่พี่จ๊อบขายว่ากลิ่นหอมสดชื่นสุดๆ เสร็จแล้วก็ปิดโหลด้วยผ้าขาวบาง เก็บไว้ในที่มืดและอุณหภูมิห้องปกติ 

พี่จ๊อบแถลงว่าหัวเชื้อที่ใช้ได้ เราต้องเลี้ยงมัน 3-5 วันก่อน โดยในแต่ละวัน เราต้องใส่น้ำตาลและเพิ่มจำนวนวัตถุดิบ 1 ครั้ง เลี้ยงกระบวนการกินน้ำตาลของยีสต์ให้เกิดขึ้นเรื่อยๆ พอได้ยีสต์ที่แข็งแรงแล้ว ก็เก็บเข้าตู้เย็นหรือตักออกมาใช้หมักน้ำโทนิก เนรมิตความซ่าได้เลย นอกจากนี้บนโต๊ะเรียนยังเต็มไปด้วยโหลหมักหัวเชื้อที่ทำสำเร็จแล้ว วางไว้ให้เราสังเกตและดมกลิ่นหอมๆ ให้ซีรีบรัมจดจำความรู้สึกเหล่านั้นเป็นตัวอย่าง

และนี่ยังไม่จบ! ทำหัวเชื้อแล้ว ต้องเตรียมน้ำโทนิกด้วย! เนื่องจากเป็นผลิตแบบ home brew รสขมที่ใส่เข้าไปในน้ำเปล่านั้นไม่ได้มาจากควินิน แต่เป็นรสขมจากเปลือกผลไม้ตระกูลซีตรัสอย่างเลมอนที่เราหาได้จากซูเปอร์ฯ ใกล้บ้าน วิธีทำก็ไม่ยาก แค่แช่เปลือกซีตรัสในน้ำที่ผสมน้ำตาลไว้แล้วอย่างต่ำ 8 ชม. เช้าวันรุ่งขึ้นน้ำโทนิกก็พร้อมหมักต่อได้เลย

ใครชอบดื่ม ขอบอกว่าบ้านพักที่พี่จ๊อบทำไว้รับรองคนที่มาเรียน บรรยากาศดีงามมาก มีบาร์ให้เราสั่งกาแฟ สั่งดริ้งก์อร่อยๆ ด้วย ซึ่งคนชงก็ไม่ใช่ใครเลย พี่จ๊อบนั่นเอง (แล้วฉันจะไม่เรียกเขาว่าเป็นคนชอบหาทำได้ยังไง๊!)

 “ถ้าเราคิดว่าเราอยากจะทำงานน้อยลง ก็ต้องยอมรับว่าต้องใช้เงินให้น้อยลงด้วย ผมไม่ได้อยากอยู่แบบอัตคัด การผลิตอาหารเองก็เลยสำคัญ แล้วพอผมอยากได้ความสุนทรีย์จากอาหาร อยากได้อะไรที่มันพิเศษเพิ่ม ผมก็เลยต้องสนใจเรื่องการแปรรูปอาหาร การอยู่แบบ sustainable ดูเหมือนจะไม่ต้องทำอะไรมาก แต่เอาเข้าจริง ทำเยอะมากเลย (หัวเราะ) พอลองทำไปเรื่อยๆ ก็สนุก ไม่มีตังค์ซื้อไวน์ก็ทำไวน์เอง แทนที่จะใช้เป็นยีสต์ไวน์ปกติ ก็เอายีสต์ที่เลี้ยงมาลองทำดู ชอบกาแฟก็คั่วกาแฟเอง ผมว่ามันเป็นสุนทรีย์ที่หรูหรานะ” เราถามกลับไปที่จ๊อบว่า ทำเองกินเองก็ดูเอนจอยดี แล้วสารพัดเวิร์กช็อปที่ชวนคนอื่น aka คนมีเวลาว่างมาหาทำด้วย เกิดขึ้นตอนไหนกัน พี่จ๊อบตอบเราว่า

“เมื่อก่อนผมเคยคิดจะลองทำชาขาย มีครั้งหนึ่ง ผมพาเพื่อนมาลองทำชา เพื่อนดูเอนจอย ผมเลยรู้สึกว่าการพาคนมาสร้างประสบการณ์ การได้แชร์เรื่องราวที่ผมทำอยู่ มันเป็นอะไรที่สนุกดี ผมไม่ได้คิดว่าเราจะต้องปลูกทุกอย่างเอง ผมต้องหาเงินมาเพื่อซัพพอร์ตบางสิ่ง ความชอบก็เลยกลายมาเป็นรายได้หลักไปเลย ได้เงินมาซื้อของมาทดลองอะไรใหม่ๆ เป็นอาชีพที่เราเลือกทำสิ่งที่เราสนใจได้เอง ถือว่าเป็นจุดที่พอใจแล้วนะ”

สวัสดีเช้าวันใหม่! เราทานมื้อเช้าเสร็จเรียบร้อย ก็เข้าสู่ชั่วโมงเรียนสุดท้ายที่เปิดบทแรกด้วยการชิม Wild Tonic หลากหลายสูตรที่พี่จ๊อบกับพี่ปุ๊กทำไว้ รสซ่าที่เราได้ชิม อาจจะซู่ซ่าสู้พวกโทนิกอัดก๊าซไม่ได้ แต่พอรู้ว่าความซ่านี้มาจากยีสต์ธรรมชาติที่เราไปลงมือเก็บกันมา ก็ทำเอาใจเต้นอยู่เหมือนกัน

สานต่อจากงานเมื่อคืน พี่ปุ๊กนำน้ำโทนิกที่ปรุงรสขมไว้มาใส่หัวเชื้อที่แข็งแรงแล้ว (อันนี้พวกเขาเตรียมไว้รอเราล่วงหน้าจ้ะ) จากนั้นก็เทน้ำโทนิกใส่ขวดแก้ว ปิดฝาให้เรียบร้อย เก็บไว้ในตู้เย็น รอ 1-2 วัน โทนิกของเราก็จะซ่าและพร้อมดื่มโดยสมบูรณ์ 

และเนื่องจากเมื่อวาน มีเพื่อนร่วมคลาสสนใจ Mead หรือไวน์น้ำผึ้งที่พวกเขาทำไว้ ก่อนจบคลาสคราฟต์เครื่องดื่มรอบนี้ ทั้งคู่ก็เลยแถมสูตรหมัก Mead ที่ใช้ Wild Yeast Starter แทนยีสต์หมักไวน์ และน้ำผึ้งโลคอลเป็นวัตถุดิบหลักให้พวกเราซะเลย! การทำ Mead ไม่ซับซ้อนเท่าโทนิก แค่เอาน้ำผึ้งมาผสมกับน้ำและยีสต์ในโหลหมัก จากนั้นก็ปิดฝา air lock ทิ้งไว้ราวๆ หนึ่งเดือน ง่ายแต่นาน ทว่าผลลัพธ์ความอร่อยนั้นคุ้มอยู่นะ (การันตีจากการชิม Mead ของพี่ๆ Waang Pi จ้ะ)

ความประทับใจที่เราเก็บกลับบ้าน ไม่ได้มีแค่บรรยากาศการเดินป่าที่สนุก เพื่อนร่วมคลาสที่คุยกันถูกคอเพราะชอบกินเหมือนๆ กัน หรือความรู้เรื่องอาหารและความเป็นนักทดลองที่พี่จ๊อบมีอยู่กับตัว เป้าหมายในอนาคตของ Waang Pi ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่อง ที่คนชอบหาทำหมือนกันแบบเราฟังแล้วก็อยากเป็นกำลังใจ ให้เกิดขึ้นเสียวันพรุ่งนี้!

“ความฝันเลยคืออยากซัพพอร์ตคนที่เป็นเหมือนผม การศึกษาจากหนังสือเป็นอีกพาร์ตที่ชอบ เลยอยากทำห้องสมุด ส่วนหนึ่งก็ซัพพอร์ตงานตัวเอง แล้วก็เผื่อใครที่อยากจะเรียนรู้ด้วยตัวเอง หรืออยากจะหาข้อมูลเอาไปใช้ในสิ่งที่ตัวเองสนใจ ผมจะได้มีหนังสือที่ผมแนะนำให้ได้ แล้วก็อยากมีแกลลอรีเกี่ยวกับอาหาร ทำนิทรรศการน้ำปลาจากแมลง หรือสิ่งที่ได้ทดลองเองให้มันออกมาสนุกๆ เหมือนกำลังเดินดูงานอาร์ตที่หอศิลป์

“ผมไม่สนใจว่าสุดท้ายเราจะต้องมีชีวิตแบบไหน ขอแค่ว่าสิ่งที่เราทำ ทำให้เราอยู่ได้ ตื่นขึ้นมาแล้วรู้สึกชุ่มชื้น โอเค ฉันยังอยู่ในบริบทของชีวิตที่สดชื่นได้ ไม่ได้กัดกินตัวเองจากสิ่งที่เลือก ถ้าเรายังไม่กดดันตัวเอง แปลว่ามันยังเป็นทิศทางที่เหมาะสมอยู่”

รู้ตัวอีกที ไอ้เป้าหมายที่ปักหมุดว่าจบคลาสแล้วจะไปทำโทนิกรสชาติสนุกๆ แจกเพื่อนของเรานั้นหนีหายไปซ่อนอยู่ในหลืบไหนของป่าเชียงดาวแล้วก็ไม่รู้ แต่ที่รู้ตอนนี้คือ อยากจะขอบคุณตัวเองที่ตัดสินใจเลือกมาทัวร์ไกลถึงเชียงดาว เพื่อให้ได้ยินประโยคข้างบนนี้

อ่านซีรีส์ ‘ทัวร์ลง’ ทั้งหมด ที่นี่

ออกแบบกราฟิก: paperis

Read More:

Work มนุษยสัมพันธ์

คุยกับ 4 เจ้าของโต๊ะทำงานที่ใช่ ในวัน Work From Home

In a Relationship with My Workstation!

Work มนุษยสัมพันธ์

หมา-นุษย์ สัมพันธ์ เคาะประตูหาเพื่อน (สี่ขา) ข้างบ้าน ili

ออฟฟิศ pet-friendly ที่เงยหน้าจากงานปุ๊บ ก็เยียวยาใจปั๊บ

Work สาระสำคัญ

work from home ยังไง ให้งานยังเวิร์ก!

วิธีทำงานให้รอดและอยู่อย่างปลอดภัย เมื่อต้อง work from home