Work —— มนุษยสัมพันธ์

คุยกับ 4 เจ้าของโต๊ะทำงานที่ใช่ ในวัน Work From Home

จากโต๊ะกินข้าวเทิร์นมาเป็นโต๊ะทำงาน จากไม่มีมุมทำงานจริงจังต้องย้ายของเพื่อวางโต๊ะทำงานใหม่ นั่งทำงานแล้วปวดหลังจังสั่งเก้าอี้แพงๆ ดีไหมนะ นี่คือวังวนเบสิกที่คน Work From Home ทั้งวันต้องเจอ 

เพราะนั่งทำงานมุมเดิมตั้งแต่เช้ายันค่ำจนขยับความสัมพันธ์มาเป็นคนสนิทกับโต๊ะทำงานไปเรียบร้อย หลายคนจึงหมกมุ่นกับการมองหาโต๊ะทำงานที่คิดว่าใช่ บางคนตกแต่งโต๊ะเพิ่มความเบิกบานใจให้ผ่านแต่ละวันไปได้โดยไม่เฉา บางคนไม่ต้องการอะไรขอแค่นั่งทำงานแล้วไม่ปวดหลัง บางคนแค่โต๊ะซัพพอร์ตร่างกายไม่พอต้องมีของซัพพอร์ตจิตใจด้วย หรือบางคนบอกว่าไม่ต้องมีหรอกโต๊ะทำงานย้ายมุมไปทำงานไปรอบบ้านก็ไม่แย่สักหน่อย

นี่คือเจ้าของโต๊ะทำงานทั้ง 4 ที่เราไปชวนคุยเรื่องสถานะความสัมพันธ์ระหว่างเขากับโต๊ะทำงาน แต่ละคนมีวิธีจัดการโต๊ะทำงานยังไงให้นั่งทำงานได้โดยที่ร่างไม่พัง และจิตใจยังคงดีในสถานการณ์บ้านเมืองแบบนี้ ใครจะยืมทริกไปใช้สานสัมพันธ์กับโต๊ะทำงานที่บ้านบ้างก็ยินดีเลย

01 โต๊ะชุบชูใจของย้วย 

เจ้าของโต๊ะคนแรกที่เราคุยด้วยคือ ‘ย้วย-นภษร ศรีวิลาศ’ ย้วยเป็น Content Editor ที่ Salmon Books และเป็นเจ้าของเดียวกับเพจ น้องนอนในห้องลองเสื้อ คราวนี้เราไม่ได้ตามย้วยไปนอนในห้องลองเสื้อแต่อย่างใด แต่ตามไปเกาะโต๊ะทำงานที่บ้านของเขาแทน อยากรู้ว่าสนิทกันเบอร์ไหน สถานะทางใจเป็นอย่างไรกันบ้าง

หลังจากเราบอกความประสงค์ไป เธอก็หายไปราว 20 นาที และกดส่งรูปภาพโต๊ะทำงานแสงสวยมุมดีเรียงมาเป็นสิบ ทำให้เรายิ่งอยากรู้สตอรี่ของความสัมพันธ์นี้เร็วขึ้นไปอีก

“เป็นความสัมพันธ์ที่ดีนะ เขาใจกว้างมีพื้นที่วางของเยอะ เราทำเขาถลอกตอนย้ายคอนโด ตอนแรกก็เอาเทป MT มาปิดรอยถลอก แต่ไม่สวย เคยคิดจะซื้อโต๊ะใหม่เหมือนกัน แต่เราว่าก็ยังใช้ได้ดี ช่วยเราทำงานเยอะ”

ย้วยเล่าว่าพอเวิร์กฟอร์มโฮมจริงๆ จึงเริ่มจัดการโต๊ะทำงานที่มีให้เข้าที่ทางมากขึ้น จากแค่วางพักของหรือหนังสือที่ซื้อมาเฉยๆ ก็เริ่มมีอุปกรณ์ที่ช่วยให้นั่งทำงานทั้งวันได้อย่างสบายใจ โต๊ะทำงานของย้วยมีชีวิตขึ้นมาได้เพราะสิ่งของเหล่านี้

“เราซื้อพัดลมดูดแอร์ของมูจิมา เพราะไม่อยากเปิดแอร์หลายตัว ซื้อกระจกตั้งโต๊ะบานใหญ่ขึ้น ซื้อไอแพดใหม่เพราะเดิมชอบทดงานบนกระดาษ A3 แล้วพอไม่ได้ไปออฟฟิศก็ไม่มีกระดาษไซส์ใหญ่ให้ใช้ มันดูเหตุผลเล็กจิ๋วเนอะ แต่เรื่องความเบาและคล่องตัวต้องยกให้เขาจริงๆ

“แต่ที่ต่างไปจากเวิร์กฟอร์มโฮมครั้งเก่าคือไม่ได้ซื้อดอกไม้มาประดับโต๊ะแล้ว เปลี่ยนมาจุดธูปอโรม่าแทน ความผ่อนคลายที่ได้มันต่างกันนะ ดอกไม้มันผ่อนคลายตอนได้จัดลงแจกันและคอยเปลี่ยนน้ำ แต่อายุมันสั้นมากและค่อนข้างเปลือง ส่วนธูปเนี่ย มีกลิ่นให้เลือกเยอะ มันคล้ายฉีดรูมสเปรย์ แต่ย้วยชอบกลิ่นควัน มันเหมือนได้ทำสมาธิ สำหรับย้วยมันเลยรู้สึกผ่อนคลายมากกว่า แต่ถ้าคนไม่ชอบจะรู้สึกมึนได้ ต้องเปิดหน้าต่างระบายนะ”

พอกดซูมดูรูปโต๊ะทำงานของเธอ นอกจากจะเจอธูปอโรม่าที่เธอพูดถึง ยังมีบอร์ดสำหรับทำมู้ดบอร์ด มีนิตยสารหรือหนังสือที่กำลังอ่านวางรวมกัน และบนโต๊ะทั้งสองฝั่งมีกระจกขนาดกำลังดีวางตั้งอยู่ 

“เราจะมีกระจกตั้งโต๊ะสองบาน ไม่ว่าย้ายไปนั่งทำงานที่ไหนก็จะต้องมีทิศการจัดวางแบบนี้ เราชอบหันไปยิ้มให้กระจกเป็นการปลุกพลังตัวเอง เลยมีกระจกรอบทิศ (ฮา)

“ที่ขาดไม่ได้อีกอย่างคือลิปสติกสีโปรด มีคติว่าปากไม่แดงไม่มีแรงทำงาน อีกอย่างที่สำคัญมากคือยาดม เราชอบกลั้นหายใจเวลาคิดงานเพลินๆ มันทำให้เหนื่อย เลยต้องคอยดมยาเสมอไม่งั้นเผลอไม่ได้กลั้นหายใจทุกที นอกจากนี้ก็เป็นพวกของหวาน เยลลี่ ลูกอม มีไม่ขาด แล้วก็มีแก้วน้ำ 2-3 ใบ แยกระหว่างแก้วน้ำเปล่า กาแฟ และน้ำหวานด้วย”

คนที่ไม่มีสิ่งสวยงามใดใดบนโต๊ะอย่างเราเห็นแบบนี้ก็รู้สึกผ่อนคลายขึ้นมาเสียเฉยๆ ทั้งมู้ดโทนสีอุ่น ทริกเพิ่มพลังกายพลังใจให้เวิร์กฟอร์มโฮมต่อไปอย่าได้ถอยหนี หลังจากคุยกับย้วยจบเราไปค้นกระจกมาวางบนโต๊ะทำงานหนึ่งบาน จากที่ไม่เคยเห็นว่าหน้าตาตัวเองตอนจริงจังทำงานมันบึ้งตึงขนาดไหน เหลือบไปเห็นแล้วตกใจจนต้องยิ้มขอโทษตัวเองหนึ่งกรุบแล้วทำงานต่อด้วยความสดใส นึกขอบคุณย้วยในใจเพราะมันเวิร์กจริง!

02 โต๊ะย่อยืดยืนของชัช 

เจ้าของโต๊ะย่อยืดยืนได้ตัวนี้คือ ‘ชัช-ชัชวาล สุวรรณสวัสดิ์’ ชัชเป็นสถาปนิกเจ้าของสตูดิโอ Everyday Architect & Design Studio สตูดิโอขนาดกะทัดรัดในย่านคลองสาน เคยเป็นอดีตมนุษย์ออฟฟิศ และเป็นผู้ประสบภัยออฟฟิศซินโดรมจนต้องออกมาทำงานที่บ้าน นับนิ้วไปมาก็ 3 ปีกว่าที่ชัชต้องเรียนรู้สรีระตัวเองใหม่ไปพร้อมกับจัดโต๊ะทำงานยังไงก็ได้ให้ไหล่ไม่เกร็ง ศอกไม่เจ็บ หลังไม่ปวด 

จากบทเรียนของการนั่งผิดท่าและอุปกรณ์การทำงานที่ไม่ซัพพอร์ตร่างกาย เขาได้ประกอบโต๊ะทำงานใหม่ ค่อยๆ ปรับตัวเข้าหากัน เริ่มรู้ว่าอุปกรณ์นี้ถ้าวางตรงนี้จะไม่เวิร์กเพราะสูงไป ที่วางแขนมันเตี้ยไปต้องขยับขึ้นอีกนิด เรียนรู้กันจนกลายเป็นเพื่อนสนิทไปแล้ว

“เรากับโต๊ะทำงานสนิทกันมาก เพราะเรียนรู้กันมาหลายปีว่าทำยังไงให้เราเหมาะกัน ลองผิดลองถูกมากันเยอะ เพราะระดับความสูงที่เราปรับแค่ 2-3 เซนติเมตร มีผลจริงๆ นะ มันต่างมากในการทำงานด้วยกัน แค่ขยับไปนิดเดียว เราก็รู้แล้ว”

โต๊ะทำงานที่ชัชว่าคือโต๊ะทำงานขนาดเล็กที่ต่อกัน 2 ตัว ตัวด้านล่างคือโต๊ะไซส์จิ๋วรูปร่างแข็งแรง ทำหน้าที่รับน้ำหนักโต๊ะท็อปด้านบนที่สามารถปรับยืดได้ นั่งจนเมื่อยก็ยืนทำงาน ยืนจนเมื่อยก็นั่งมีจังหวะให้ร่างกายได้ยืด จากการปรับชิ้นนั้นเพิ่มชิ้นนี้จนกลายเป็นโต๊ะทำงานขนาดกะทัดรัดที่ครบฟังก์ชัน ซัพพอร์ตร่างกายได้ดีทีเดียว 

“เพราะช่วงแรกๆ เราพยายามประหยัด เพราะเราพบว่าอุปกรณ์การทำงานจริงๆ เกี่ยวกับออฟฟิศซินโดรมมันแพงมาก เราก็ค่อยๆ ปรับทีละอย่าง ต้องหาทางเลือกว่าท่านั่งแบบไหนที่เราปรับได้โดยราคาไม่แพง พบว่าประกอบด้วย 2 ส่วน คือ โต๊ะกับเก้าอี้ เก้าอี้จะช่วยให้นั่งให้นานขึ้น ช่วยซัพพอร์ตหลัง โต๊ะที่พอดีจะช่วยปรับระดับให้ตรงกับท่านั่งเรา ทั้งระดับแขนและคอให้ถูกต้อง

“ที่สำคัญเลย เราควรปรับตำแหน่งของหน้าจอให้ไม่ต้องก้มทำงาน เราไปเจออุปกรณ์แท่นวางโน้ตบุ๊คก็ซื้อมายกโน้ตบุ๊คให้พอดีระดับสายตา มีคีย์บอร์ดแยกเพราะพิมพ์แบบวางบนแท่นวางนานๆ จะเมื่อยข้อมือ เราซื้อที่ชั้นรองคีย์บอร์ดที่หนีบติดเข้ากับโต๊ะเดิมที่มีได้ เพราะตอนแรกเราใช้โต๊ะราบๆ ทุกอย่างอยู่ในระนาบเดียวกัน เวลาเราทำงานเราต้องยกแขนขึ้นมาแล้วมันจะเมื่อยแขน เกร็งไหล่ เกร็งคอ ผิดท่าทางไปหมดเลย”

ชัชย้ำให้เราฟังหลายครั้งว่าการเรียนรู้ร่างกายตัวเองให้ดีเป็นเรื่องสำคัญมาก ใครที่อยากลองปรับโต๊ะทำงานของตัวเองใหม่ ชัชแนะนำเบื้องต้นว่าให้ลองเริ่มที่ ‘โต๊ะกับเก้าอี้’ และยึดร่างกายตัวเองเป็นหลัก โต๊ะทำงานส่วนใหญ่ยังปรับระดับสูงต่ำไม่ได้ ให้ลองไปเลือกระดับโต๊ะที่เข้ากับตัวเองก่อนเพราะเก้าอี้มันปรับตามทีหลังได้ ส่วนเก้าอี้ให้ลองนั่งดูว่าสบายไหม ปรับเอนหรือปรับสูงได้แค่ไหน หรือนั่งแล้วเท้าลอย ก็ควรหาแท่นมาวางเท้าด้วย ก่อนตัดสินใจต้องไปลองก่อนนะว่าเข้ากับสรีระเราแค่ไหน

“แต่ละคนท่าทางการนั่งไม่เหมือนกัน ร่างกายไม่เท่ากัน เราดูสเป็กโต๊ะเก้าอี้ตามเขารีวิวอย่างเดียวมันไม่ได้ มันต้องค่อยๆ หา ค่อยๆ ปรับให้ตรงกับท่านั่งเรา จนใช้เวลานานเหมือนกันนะ กว่าจะเข้าใจท่าทางการนั่งตัวเอง

“ปัจจุบันเราก็ยังปวดหลังอยู่แหละเพราะเรานั่งทำงานนานไป พบแล้วว่าสุดท้ายเราควรยืนทำงานด้วย มีช่วงนึงพยายามนั่งทำงาน 45 นาที และลุกเดินบ้าง แต่สุดท้ายก็ทำงานเพลินลืมลุก ตอนแรกก็มีใช้นาฬิกาแบบสมาร์ทวอชช่วยเตือน หลังๆ เราใช้ความรู้สึกแทนให้ร่างกายเป็นคำตอบ พอนั่งเมื่อยก็ยืนทำงานอาการปวดมันก็เบาลง โต๊ะปรับยืนนี่ได้ช่วยเราได้เยอะ”

ไม่ว่าจะมีเก้าอี้หรือโต๊ะที่ดีขนาดไหน การลุกขึ้นเดินหรือเปลี่ยนอิริยาบถอื่นบ้างสำคัญกว่าเสมอ เพราะการนั่งจมที่โต๊ะนานๆ สมองจะเริ่มทำงานช้าลง นั่นเป็นเหตุผลที่เราคิดงานกันไม่ค่อยออกยังไงล่ะ ลุกไปเดินเล่นบ้างหรือลุกไปเข้าห้องน้ำก็ได้ 

ท้ายนี้ชัชทำให้เราเห็นว่าโต๊ะที่ดีอาจไม่ต้องแพง แค่ต้องตามหาให้เหมาะกับร่างกายตัวเอง ชัชยังบอกว่าโต๊ะที่ราคาสูงส่วนใหญ่วัสดุที่ใช้ทนทานกว่า ถ้ามีโอกาสก็อยากลงทุนแบบครบชุดน่าจะแข็งแรงกว่าปัจจุบันที่ประกอบเองเกือบหมด ที่สำคัญต้องใช้ร่างกายตัวเองเป็นคนเลือกด้วย 

03 โต๊ะที่ไร้สถานะของแบงค์

เจ้าของโต๊ะที่ไร้สถานะตัวนี้คือ ‘แบงค์-ณัฐชนน มหาอิทธิดล’ เจ้าของบริษัท Plankton Lab มีออฟฟิศของตัว แต่ตอนนี้ต้องเซฟตัวเองและครอบครัวด้วยการเวิร์กฟอร์มโฮมไปก่อน ที่สรุปได้ว่าโต๊ะนี้ไร้สถานะ เพราะเท่าที่ฟังความสัมพันธ์ของแบงค์และโต๊ะทำงานที่ดูยังไม่มั่นใจต่อกัน เหมือนจะดีแต่ก็ยังไม่ดี ไม่รู้ว่าทุ่มเทกันไปจะเป็นผลดีหรือเปล่า ตกลงความสัมพันธ์กันไม่ได้ (ฟังไปก็แอบเศร้า)

“เราเวิร์กฟอร์มโฮมมา 2 ปี แล้ว เรารู้สึกว่าโต๊ะทำงานกับเรามันเหมือนการคบกันลับๆ เราไม่กล้าลงทุนกับสิ่งนี้ เพราะว่าเราก็มีออฟฟิศ ก็หวังว่าจะกลับไปปกติภายใน 2-3 เดือน แต่ยังไงก็รักโต๊ะทำงานแหละ มันก็สะดวกดี แต่อย่างที่บอกว่าไม่อยากลงทุนกับมันเท่าไร เพราะอยากกลับไปออฟฟิศแล้ว” 

แรกเริ่มไม่มีใครคิดว่าสถานการณ์โควิดจะยืดเยื้อได้เพียงนี้ ทำให้การได้เวิร์กฟอร์มโฮมช่วงแรกจึงเป็นประสบการณ์ใหม่ๆ ที่สดใส ไม่เกรงกลัวชีวิตในเช้าวันจันทร์อีกต่อไป ทำให้คนอินโทรเวิร์ตอย่างแบงค์ดีใจเพราะทำงานที่บ้านได้ ไม่ได้ต้องเข้าออฟฟิศแล้ว! 

“ตอนเวิร์กฟอร์มโฮมช่วงแรกมันเหมือนปิดเทอม มันได้เจอสิ่งใหม่ มีไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ ที่ไม่ต้องอยู่ออฟฟิศก็ทำงานได้นี่ มีการประชุมออนไลน์เยอะขึ้น แต่จริงๆ วิถีชีวิตของเราเป็นพวกทำงานที่บ้านอยู่แล้ว ไม่ได้รู้สึกแยกออกจากกันขนาดนั้น 

“เมื่อก่อนเราจะมีเก้าอี้ดูแลสุขภาพนะ แล้วเราก็ขายไปเพราะว่าหน้าตามันเป็นเก้าอี้เกมเมอร์เกินไป ก็เลยซื้อเก้าอี้ที่ควรอยู่ในบ้านมา เป็นเก้าอี้ไม้สวยๆ แบบไม่ต้องนั่งนาน เพราะตั้งใจว่าอยากแบ่งชีวิตทำงานกับชีวิตในครอบครัวออกจากกัน เอาเวลาเดินไปคุยกับคนในครอบครัวบ้าง”

ดูเป็นวิธีที่ดี แล้ววิธีเวิร์กนี้ไหม? 

“ตอนแรกเหมือนจะดี แต่ความจริง คือไม่ เราไม่เดินไงเพราะมันสบาย อยู่ที่บ้านก็เอาทุกอย่างมากองให้เอื้อมถึง แล้วปกติเราทำงาน 2 จอ เลยต้องเอี้ยวตัวตอนทำงานมันเลยทำให้หลังเราเบี้ยว ตัวเร่งรัดของการปวดหลังเราเกิดจากเก้าอี้สวยๆ แต่นั่งไม่เคยสบายนี่แหละ แล้วเราก็ชอบย้ายที่นั่งไปเรื่อยๆ แต่ทั้งบ้านมีแต่เก้าอี้ที่แบบหน้าตาโอเคแต่นิสัยไม่ดี มันแข็งเกิน เลยเป็นที่มาของการไปเช่าเก้าอี้สุขภาพมานั่ง”

เพิ่งรู้ว่าเก้าอี้เพื่อสุขภาพตอนนี้เขามีให้เช่าด้วยนะเออ เจ้าเก้าอี้สุขภาพ หรือ Ergonomic Chair นี่คือ เก้าอี้ที่ถูกออกแบบตามหลักสรีรศาสตร์ของมนุษย์ มีความยืดหยุ่น โอบอุ้มร่างกายให้นั่งทำงานได้นานและเมื่อยน้อยลง (แต่ต้องนั่งทำงานให้ถูกท่าก่อนนะ) ซึ่งราคาก็ไต่ระดับไปตามฟังก์ชันการใช้งาน หากถ้ายังไม่พร้อมซื้อจริงจัง ลองเช่ามานั่งก่อนอย่างที่แบงค์ทำอยู่ก็ได้ อาจเป็นทางออกที่ดีช่วงเวิร์กฟอร์มโฮมแบบนี้

“เก้าอี้ตัวนี้เราเช่ามาเดือนละพันกว่าบาท เลยคิดว่าหรือจะซื้อดี ถ้าเช่าไปเรื่อยๆ อยู่อีก 10 เดือน ก็หลายหมื่นเลย มันก็พบว่าเนี่ยแหละ จุดที่บอกว่าเราจะลงทุนกับมันดีไหม และอุปกรณ์ทำงานที่ออฟฟิศเราก็ไม่ได้ขนกลับมา หรือเราจะต้องซื้อไว้ที่บ้านอีกชุดหรอ มันก็เลยคิดว่า เอาน่ะ เดี๋ยวมันก็หายแล้ว เดี๋ยวมันก็ดีขึ้น เดี๋ยวเราก็กลับไปใช้ชีวิตเดิมๆ ไม่ต้องอยู่กับตรงนี้มากก็ได้”

ชีวิตการทำงานที่บ้านของแบงค์นอกจากต้องการสิ่งซัพพอร์ตร่างกายที่ดีอย่างเก้าอี้เพื่อสุขภาพ สิ่งที่ซัพพอร์ตจิตใจในช่วงนี้ก็สำคัญไม่แพ้กัน 

“นอกจากทุกเช้าจะมีนิสัยว่าต้องแต่งตัวเหมือนไปทำงานทุกวัน ถึงต่อให้ไม่ได้ประชุมออนไลน์กับใครก็ต้องแต่งเรียบร้อย และเฉพาะวันทำงานเท่านั้นที่เราจะใส่สร้อยพระด้วย (ฮา) แล้วเพิ่งมาเป็นช่วงเวิร์กฟอร์มโฮมหลังๆ ที่เราต้องพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์มากเป็นพิเศษ เพราะเหมือนทุกคนอยู่บ้านแล้วอารมณ์ไม่นิ่ง มันว้าวุ่น เครียดเกินไป บนโต๊ะเราจะมีแมวกวักจากออฟฟิศ ไม่ได้จริงจังนะ แต่ต้องการความมงคลอย่างสูง ขอให้ทุกวันผ่านไปโดยที่ทุกคนไม่บ้าบอใส่กัน เหมือนเราจะพูดเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์จริงจัง แต่เชื่อว่าถ้าเรามั่นใจมันก็ทำให้ทุกอย่างดีขึ้นได้

“อีกหนึ่งสิ่งที่ขาดไม่ได้บนโต๊ะคือ เรามีของเล่นญี่ปุ่นคล้ายๆ ลูกบอลแก้นิ้วล็อก เอาไว้บีบๆ ของเราเป็นรูปสมอง พิมพ์งานทั้งวันแล้วบริหารมือแบบนี้มันดีขึ้นนะ เราว่าทุกโต๊ะทำงานควรมีสิ่งนี้จริงๆ”

ช่วงเวิร์กฟอร์มโฮมช่วงแรกคิดว่าน่าจะเป็นช่วงเวลาดี๊ด๊าของชาวอินโทรเวิร์ตทั้งปวงเพราะไม่ต้องออกไปเจอคน ไม่ต้องสุงสิงกับใคร แต่หลังๆ มานี้ชาวอินโทรเวิร์ตกลุ่มที่ว่า (รวมถึงเราด้วย) เริ่มรู้ซึ้งว่ามนุษย์ต้องเกิดมาเพื่อพบเจอกันบ้าง ฉันอยากเจอมนุษย์แล้ว ขอให้สถานการณ์ดีขึ้นในเร็ววัน ขอให้รัฐจัดการปัญหาบ้านเมืองได้ชาญฉลาดบ้าง สาธุ!

04 โต๊ะที่ไม่ใช่โต๊ะของเอม

เจ้าของโต๊ะที่ไม่ใช่โต๊ะคือ ‘เอม มฤคทัต’ เอมเป็น Content Designer ที่บริษัทไอแอลไอของพวกเราเอง เอมกับเรามีสถานะเป็นเพื่อนร่วมงาน ถึงจะวิดีโอคอลอัพเดตงานกันทุกวัน แต่เราจะเห็นแค่ผมหน้าม้าของเอมและฉากพื้นหลังที่เป็นรูปโปเนียวในการ์ตูนจิบลิ มีเสียงเห่าของเจ้ากีกี้แทรกเข้ามาในไมค์ที่ลืมปิดบ้าง เสียงแม่เรียกบ้าง หรือเสียงพัดลมบ้าง แต่ข้อมูลเท่านั้นทำให้เราจินตนาการไปไม่ถึงว่าโต๊ะทำงานของเอมเป็นแบบไหน และมีความสัมพันธ์ต่อกันยังไง 

“จริงๆ มันเป็นความสัมพันธ์แบบเลี่ยงไม่ได้ เพราะทุกวันฉันต้องใช้ประโยชน์จากเธอ! แล้วทั้งวันก็เปลี่ยนที่นั่งหลายที่ ก็เลยไม่ได้มีความผูกพันกับที่ไหนเป็นพิเศษ”

ช่วงเวิร์กฟอร์มโฮมครั้งก่อนเรายังได้ไปออฟฟิศกันบ้าง เอมเลยยังไม่ครองพื้นที่ชั้นล่างของบ้านเท่าเวิร์กฟอร์มโฮมครั้งนี้ พื้นที่นั่งทำงานของเอมลากยาวไปตั้งแต่นอนทำงานที่พื้น ย้ายไปนั่งทำงานบนโซฟา เมื่อยแล้วก็มานั่งทำงานที่เก้าอี้นวดไฟฟ้า เลยต้องมีการปรับไอเท็มให้เข้ากับการโยกย้ายสไตล์เอมแบบนี้ด้วย

“เวิร์กฟรอมโฮมครั้งก่อนเราซื้อเมาส์มาใช้เพราะเมื่อยมือมาก (ตอนนี้เมาส์พังไปแล้วแบบปริศนา) ส่วนรอบนี้ซื้อแค่เบาะรองนั่งใหม่ เพราะเวลาชาร์จไฟไปทำงานไปไฟดูด กลัวไฟช็อตตายก็เลยต้องหาเบาะมารองไว้ ส่วนเบาะเก่าสงสารหมาที่มานั่งเฝ้าข้างๆ เลยเอาไปให้มันนอนแล้ว”

ถึงอยู่บ้านที่มีพื้นที่กว้างมันสบายตรงที่ย้ายมุมทำงานไปนั่งตรงไหนก็ได้ ในความเป็นจริงมันทำงานได้สะดวกสบายจริงไหม เราอยากรู้ว่าเอมมีโต๊ะทำงานจริงจังบ้างหรือเปล่า แล้วจัดการกับพื้นที่ต้องโยกย้ายไปเรื่อยนี้ยังไง 

“เรามีโต๊ะทำงานในห้องนอนชั้นบน ชอบทำงานที่โต๊ะนี้สุดแต่ก็ไม่ค่อยได้อยู่เพราะถ้าไม่เปิดแอร์จะอึดอัดมาก แล้วก็ไม่ค่อยอยากเปิดแอร์ ก็เลยจะอยู่ชั้นล่างมากกว่า ตอนนี้โต๊ะที่ใช้นั่งทำงานหลักๆ จะมีโน้ตบุ๊คแล้วล้อมรอบด้วยหนังสือที่ซื้อมากองไว้ช่วงนี้ แค่มีที่ให้วางโน้ตบุ๊คก็รู้สึกเป็นบุญสุดๆ แล้ว”

เอมเล่าให้ฟังว่าใช้ชีวิตหน้าคอมฯ ทั้งวันจนใกล้จะมีปัญหาเรื่องสุขภาพทั้ง ปวดหลัง ปวดไหล่ ปวดข้อมือ ถึงขั้นอยากโดดดัดกระดูกให้มีเสียงกร๊อบ เพราะการนั่งทำงานที่นานและผิดท่าส่งให้อาการปวดหลังถามหาแบบไม่ตั้งตัว

“เรานั่งนานมากและท่านั่งไม่ดี ไม่ค่อยลุกไปไหนเท่าไหร่ กินข้าวก็กินหน้าคอมฯ เลยแพลนว่าจะซื้อเบาะรองนั่งที่ดีกว่านี้ แบบที่พิงหลังได้ด้วยแต่ยังเลือกไม่ได้ ตอนนี้วิธีแก้ก็คือไปนอนทำงานที่พื้นบ้าง บนโซฟาบ้าง โลเคชั่นทำงานเยอะมากทำได้ทุกที่ บางทีทำไปนั่งเครื่องนวดไป หรือบางครั้งก็เดินไปหาอะไรกิน ทำอย่างอื่นไปเลยให้ร่างกายมันได้ยืดบ้าง

“สิ่งที่ขาดไม่ได้บนโต๊ะทำงานอีกอย่างคือ ลำโพง เพราะถ้าไม่เขียนงานจะต้องฟังเพลงตลอดเวลา แต่โน้ตบุ๊คลำโพงพัง ตอนนี้เลยต้องถือลำโพงบลูทูธไปทุกที่ เหมือนเป็นคนบ้ามาก”

ถึงจะไม่ได้นั่งทำงานที่โต๊ะเป็นหลักแหล่ง เราก็ภาวนาให้เอมได้เบาะนั่งพิงหลังที่ถูกใจไวๆ เราเป็นห่วงสุขภาพหลัง พอๆ กับห่วงเรื่องไฟช็อตตอนทำงานเลยนะเอม ดูแลร่างกายให้ดีแล้วมาเจอกันที่ออฟฟิศอีกทีในเร็ววันนะ

ไม่ว่าเวิร์กฟอร์มโฮมครั้งนี้จะเวิร์กกับคุณไหม แต่การดูแลจิตใจและร่างกายให้ดีในทุกวันยังสำคัญเสมอ

ถ้านั่งทำงานนานๆ แล้วปวดบ่าปวดหลังลองเช็กดูว่าท่านั่งของเราถูกต้องไหม สิ่งไหนปรับได้อยากให้ปรับเพราะร่างกายถ้าเจ็บปวดแล้วมันยากที่กลับมาแข็งแรงเหมือนเดิม หรือลองหาสิ่งที่ชอบมาวางซัพพอร์ตจิตใจมองเห็นเมื่อไรก็ยิ้มได้ ก็ช่วยได้เยอะ

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นยิ่งเราสนิทกับโต๊ะทำงานที่บ้านมาเท่าไร แสดงว่าเหตุการณ์ข้างนอกยังไม่ดีพอให้เราออกไปใช้ชีวิตที่ออฟฟิศได้อย่างใจอยาก ยิ่งคิดก็ท้อใจ หันไปยิ้มแบบฮึกเหิมให้ตัวเองหนึ่งที หวังว่าเราจะกลับไปใช้ชีวิตปกติได้ในเร็ววัน

Content Creator

#นักเขียน #จบครูศิลปะ กำลังไล่อ่านหนังสือที่ซื้อมาให้หมดทุกเล่ม

Graphic Designer

#กราฟิกดีไซเนอร์ #เป็นเด็กหญิงMoodyGirl #แต่ถ้าได้กินของอร่อยฟังเพลงเพราะนอนเต็มอิ่มจะจิตใจแจ่มใสและหัวใจพองโต

Read More:

Work มนุษยสัมพันธ์

หมา-นุษย์ สัมพันธ์ เคาะประตูหาเพื่อน (สี่ขา) ข้างบ้าน ili

ออฟฟิศ pet-friendly ที่เงยหน้าจากงานปุ๊บ ก็เยียวยาใจปั๊บ

Work บันทึกประจำวัน

a day #233 ใครไม่แคร์ คนทำแคร์

บันทึกการแคร์โลกในแบบของกลุ่มคนทำคอนเทนต์

Work สาระสำคัญ

work from home ยังไง ให้งานยังเวิร์ก!

วิธีทำงานให้รอดและอยู่อย่างปลอดภัย เมื่อต้อง work from home