Work —— มนุษยสัมพันธ์

เบน-เบญจรัตน์ เอี่ยมรัตน์ ดีไซเนอร์ ที่เข้าครัวทำวุ้นโยคังให้กลายเป็นงาน

เรากดติดตาม @Ben_Benjarat เพราะเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ที่ทำให้เราตื่นเต้นกับผลงานอยู่เสมอๆ โดยเฉพาะงาน paper craft ที่ทั้งคราฟต์และกราฟิกอยู่ในชิ้นเดียวกัน

แล้วอยู่ๆ เราก็พบว่าเบนเริ่มโพสต์ภาพอาหาร (ที่ก็ยังกราฟี้ก กราฟิก) ทั้งไข่รอเจียวกับ secret ingredient ที่สลับสับเปลี่ยนไป ผัก ผลไม้ที่ถูกมองใหม่ไม่เหมือนเดิม และพักใหญ่มานี้ เราก็เห็นเบนหมกมุ่นอยู่กับการทำโยคัง-วุ้นญี่ปุ่นหน้าตาเท่ จนกลายเป็นผลงานต่อเนื่องจริงจัง

ล่าสุด เราเห็นว่าเจ้าวุ้นนี้กลายเป็น Zine : Food Touring (ซึ่งส่งไปร่วมงาน Jakarta Art Book Fair ในธีม FEATOURING ที่ประเทศอินโดนีเซีย) เห็นเบนสนุกกับการส่งซีนให้ลูกค้าพร้อมแพ็คเกจให้ชิมโยคังที่อยู่ในเล่มแบบจริงๆ และกำลังทำโปรเจ็กต์ An Edible Scenery วาดวุ้นโยคังแล้วไปทำสติ๊กเกอร์ เพื่อร่วมงาน Good Food Fest กับ XXXYYY 

ด้วยความสนใจ (บวกความตะกละ) เราไปชวนเบนคุย เพราะอยากรู้ว่าทำไมกราฟิกดีไซเนอร์คนนี้หันมาเข้าครัว แถมเป็นการเข้าครัวที่ดูสนุกจัง

แน่นอน เบนเอาโยคังมาให้ชิม แล้วเล่าเรื่องที่ชวนให้เราอินไปด้วยอีก!

จุดเริ่มต้นที่ทำให้เบนเข้าครัว เป็นเพราะโควิด

“เราอยู่คอนโดฯ ที่กรุงเทพฯ แม่อยู่ต่างจังหวัด ไม่ค่อยได้สื่อสารกัน เพราะก็จะไปกลับที่บ้านตลอด พอโควิด กลับบ้านไม่ได้ก็เลยเริ่มทำอาหาร ส่งรูปให้แม่ดู ก็รู้สึกคุยกับแม่ง่ายขึ้น คือปกติไม่ได้คอนเน็กต์กันง่ายเพราะว่าเรื่องที่คุยมันคนละเรื่องกัน เลยกลายเป็นว่าเราถามสูตรแม่มา แล้วทำอาหารเมนูเดียวกับแม่ แต่ว่าเรามองเห็นองค์ประกอบอาหารเหมือนเวลาทำงานกราฟิกที่เป็นชิ้น เป็นรูปร่าง เป็นฟอร์ม ก็เลยเล่นๆ ไป แม่ก็แบบ “มันทำอย่างนี้ได้ด้วยเหรอ” เลยกลายเป็นว่าเราได้ทำอาหารเพื่อแชร์กับแม่

“แม่เมนูนี้ทำไง เวอร์ชั่นดีไซเนอร์” – เราแซว ก่อนจะถามว่าจากไข่เจียวและเมนูอาหารทั่วไป อยู่ดีๆ มันกลายมาเป็นวุ้นญี่ปุ่นหน้าตาเท่แบบนี้ได้ยังไงกัน

“จริงๆ เราไม่รู้มาก่อนว่ามันคืออะไร ไม่รู้ว่ามันคือขนมญี่ปุ่น ไม่รู้ว่ามันคือประเภทหนึ่งของวากาชิ แต่เคยเห็นรูปตอนไถฟีดไอจี มันสวย และกินได้พอดีคำดี  ก็ลองไปหาดูว่าส่วนประกอบคืออะไร มันดูเป็นอาหารที่สนุกอ่ะ มีแค่ตัวคันเต็นที่เป็นวุ้นจากสาหร่าย น้ำ น้ำตาล แล้วก็สิ่งที่เราอยากใส่ มีเท่านี้เราก็เล่นไปได้เรื่อยๆ วิธีการตอนทำมันเหมือนเราทำกราฟิก คือเราเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ที่ชินกับงานมือ ซึ่งมันก็ใกล้เคียงมากเลยเวลาเราพับกระดาษ พับหนังสือทำม็อกอัพ หรือทำโปรโตไทป์ก่อนผลิต เหมือนต้องคิดว่าเราต้องทำอะไรก่อน อะไรหลังมันถึงจะได้หน้าตาอย่างนี้ เหมือนตอนออกแบบพวกสิ่งของ แต่เพิ่มเรื่องรสชาติเข้ามา” เบนเล่า ก่อนจะบอกอีกว่า ตอนแรกก็ไม่รู้หรอกว่ารสชาติควรจะเป็นอย่างไร จนได้ไปลงเรียนจริงจังที่โรงเรียนสอนทำอาหารญี่ปุ่น แล้วรู้ว่า สิ่งที่เธอกำลังสนใจ เรียกว่า กิงโยคุ (Kingyoku) กับโยคัง (Yokan) ซึ่งเป็นขนมญี่ปุ่นดั้งเดิมที่ไว้เสิร์ฟคู่กับชา เหมาะมากในช่วงฤดูร้อนที่ผู้คนต้องการความสดชื่น

“เคยไปร่วม Tea Experience กับ koto tea space เราก็ได้รู้ว่าทำไมมันต้องหวานขนาดนั้น เพราะมันต้องกินคู่กับชา แล้วเขาดันเอาวากาชิของโทรายะ ซึ่งเป็นร้านต้นตำรับของญี่ปุ่นมาให้ชิม เฮ้ย อร่อย เท็กซ์เจอร์มันดีจังวะ ไปๆ มาๆ เขาก็ถามว่าทำไมเราถึงมา ก็บอกไปว่าไม่ได้รู้เรื่องชา ไม่ได้สนใจชา แต่สนใจขนมที่กินกับคู่กับชา และอยากทำขนมนี้ ก็เลยกลายเป็นว่าที่ร้านชวนให้ลองทำด้วยกันไหม เราทำหน้าตาแล้วเดี๋ยวเขาทำรสชาติ”

เมื่อกลายเป็นงานก็ยิ่งเข้าทางไปใหญ่ เบน Study หนักว่าผงวุ้นที่แตกต่างให้ผลลัพธ์ต่างกันอย่างไร กว่าจะได้ขนมสักชิ้นเธอทดลองใช้ผงวุ้นกี่ตัว เพื่อดูรสชาติและเท็กซ์เจอร์ของมัน แล้วจดไว้เป็นเล่มจริงจัง เราขอเปิดดูแล้วก็พึมพัมออกมาว่าจริงจังมากจริงๆ ด้วย 

ก่อนจะเริ่มทำโยคังสักชิ้น หากเป็นนักทำขนมส่วนใหญ่คงเริ่มจากการหาวัตถุดิบหรือวางแผนเรื่องรสชาติ แต่เบนเริ่มจากการสเก็ตซ์

“ไม่ใช่แค่เรื่องหน้าตา คือของที่เราทำมันต้องกินได้ มันไม่เหมือนงานกราฟิกที่ปะติดลงไปอย่างเดียว

“คือเราต้องคิดก่อนว่า เราจะต้องใส่อะไรลงไปบ้าง ถ้าอยากได้สีนี้ หน้าตาแบบนี้ วัตถุดิบอะไรที่เราเอามาใช้ได้บ้าง รสชาติมันจะเป็นยังไง เบนจะใช้สูตรว่าให้ชิ้นหนึ่งมันมีรสที่แหลมคมกับรสที่นุ่มนวลในชิ้นเดียวกัน เพื่อให้มันกลม คือตอนที่เราเรียนกราฟิก เราเคยเจอคำว่า Bouba กับ Kiki แล้วชอบมาก เลยทดเอาไว้เป็นสูตรเวลาทำกราฟิก

“ตอนที่ทำกราฟิก Kiki มันคือกราฟิกที่แหลมคม พุ่งชน แข็งแรง ส่วน Bouba คืออะไรที่ดูนุ่มๆ ออร์แกนิก เวลาจะทำคีย์วิชวลสักอันขึ้นมาแล้วมีสองน้ำหนักนี้อยู่ด้วยกัน มันก็จะกลางๆ และลงตัวสำหรับบรีฟที่ต้องการอะไรกลางๆ หน่อย ตอนทำกราฟิกเราจะสนใจ color shape texture ใช่ไหม แต่พอมันเป็นอาหารมันมี flavor เราก็เลยเอาอันนี้มาบวกดู ว่าชิ้นหนึ่งมันจะให้เทสที่เป็น Bouba กับ Kiki ได้ยังไง” เบนหัวเราะ เพราะรู้ตัวแล้วว่าได้เล่าความเนิร์ดออกมา “Kiki คือรสชาติแหลมๆ อาจจะขมมาก เผ็ดมาก หรือน้ำแข็งที่ดูทิ่มๆ ส่วน Bouba อาจจะเป็นรสนุ่มๆ นวลๆ อะไรอย่างนี้”

แต่ถ้าใครเคยเห็นหรือเคยชิมโยคัง ก็จะรู้ว่าหน้าตาโยคังของเบนช่างแตกต่างจากต้นตำรับอย่างสิ้นเชิง 

เบนเล่าว่าช่วงที่ไปทำงานเป็น Strategy Designer เพื่อรีแบรนด์ให้ PRY1 โรงแรมเท่กลางธรรมชาติที่เขาใหญ่ เธอต้องทำการบ้านเยอะ อ่าน Walden ของกวีและนักธรรมชาติวิทยาอย่าง Thoreau เรียนรู้คำศัพท์ที่บรรยายความรู้สึกปีติอิ่มเอมที่ได้อยู่ในธรรมชาติ รวมทั้งได้เดิน เดิน และเดิน จนในมือถือมีแต่ภาพธรรมชาติ เบนเลยคิดว่าก็น่าจะเป็นโจทย์ที่ดีให้หยิบมาตีความใส่โยคังของเธอ

“ดูรูปที่เราอยากทำ แล้วก็สเก็ตซ์ว่าเป็นยังไงได้บ้าง บางทีก็เป็นรูปนั้นเลย บางทีก็ไม่ใช่ เอาแต่เซนส์มาเฉยๆ เช่น ใบไม้ที่ร่วงบนแอ่งน้ำ ก็อาจจะอยากได้แค่ใบไม้ แล้วใบไม้ต้องสีอะไร รสชาติน่าจะเป็นอะไรที่จะให้ความรู้สึกของแอ่งน้ำนั้นได้ ตอนสเก็ตซ์ก็จะเขียนออกมาด้วย เป็นคนคิดเยอะเพื่อทำหนึ่งชิ้น เวลาทำงานกราฟิก เราเป็นดีไซเนอร์ประเภทให้ออพชั่นเป็นร้อยหรือจำนวนมากในเวลาน้อยไม่ได้ เพราะเราคิดงานแบบ story-based มีเวลาสักช่วงให้ไปห้องสมุด อ่านหนังสือก่อนคิดคอนเซ็ปต์ ซึ่งต้องใช้เวลา 2-3 วันกว่าจะได้คอนเซ็ปต์ แต่พอมันได้แล้วมันจะกลมมาก”

คิดมาแล้วว่าอยากให้แม่น้ำไหลแบบนี้ 

ฟองคลื่นบนผืนทรายเป็นแบบนี้

และเป็นสิ่งอื่นๆ ได้อีกมากมาย

เพราะความชอบทดลอง

เบนเล่าว่าการทำโยคังมีแม่พิมพ์พื้นฐานอยู่ แต่ถ้าอยากได้รูปทรงแปลกประหลาด เธอก็หยิบจับเอาของใกล้ตัวมาทดลอง นึกจะพับโอริกามิให้เป็นแม่พิมพ์ เอาแรปพลาสติกมาขยำ หรือการหยิบเทคนิคอาหารฝรั่งเศสมาใช้กับการทำโยคังก็กลายเป็นเรื่องทดลองน่าสนุก ล่าสุด เบนเพิ่งเจอว่าศาสตร์ของบาร์เทนเดอร์ (Mixologist) ก็น่าจะเอามาปรับใช้ได้

“เราชอบทำงานด้วยความสนุก ชอบทดลอง เคยมีคอมเมนต์ว่าเราเป็นคนที่ยังมี Child Mind เวลาได้โปรเจ็กต์มา เราสตาร์ทด้วยความอยากทำตลอด ถ้าไม่รู้สึกก็น่าจะทำงานไม่ได้ อยากชาเลนจ์ไปเรื่อยๆ ไม่ได้รู้สึกว่ายากจัง”

และที่มากกว่านั้น เบนเชื่อว่างานดีไซน์มันอยู่ได้ในทุกๆ ที่

ปัจจุบัน เบนเป็นดีไซเนอร์อิสระที่พร้อมรับงานหลากหลาย (ฝากข่าว) และเร็วๆ นี้ เราจะได้เห็นการ collaboration ระหว่างเบนกับเชฟร้าน Koto ที่จะออกแบบอาหารและขนมวุ้นสำหรับปีหน้าร่วมกัน ได้เห็น Collaboration กับโปรดักส์ Vintage Wine ที่จะเสิร์ฟประสบการณ์ช่วงคริสมาสต์ที่ XXXYYY และอาจจะมีอีกหลายๆ งาน ที่ไม่ได้อยู่ในรูปแบบเดิมๆ ที่เราคุ้นเคยกัน

เราตักวุ้นโยคังเข้าปาก ยิ้มออกมาเมื่อรับรู้รสชาติหอมและหวาน และนึกขึ้นได้ว่าเรากำลังกินงานดีไซน์เข้าไป 

Content Designer

อดีตผู้ช่วยบรรณาธิการนิตยสาร #aday คือเจ้าของหนังสือทั้งเรื่องจริงและเรื่องแต่ง อาทิ #สนธิสัญญาฟลามิงโก #ร้านหวานหวานวันวาน คือบรรณาธิการอิสระและคอนเทนต์ครีเอเตอร์ฟรีแลนซ์ ก่อนจะมาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทออกแบบคอนเทนต์ที่ยังไม่รู้จะตั้งชื่อตำแหน่งตัวเองว่าอะไร

Read More:

Work สาระสำคัญ

งานที่ดี คือ งานที่_________

งานที่ดีคืองานแบบไหน ลองมานิยามกันดูไหมให้การทำงานเวิร์กขึ้น!

Work บันทึกประจำวัน

บันทึกวันไร้แพสชันที่สรุปได้เองว่า ก็อยู่ได้ไม่ตายนี่แก

ทางออกในวันไร้แพสชันแบบฉบับมนุษย์ที่อยากเป็นเพื่อน(ที่แสนใจดี)กับตัวเอง

Work บันทึกประจำวัน

a day #233 ใครไม่แคร์ คนทำแคร์

บันทึกการแคร์โลกในแบบของกลุ่มคนทำคอนเทนต์