Play —— Bangkok PLAYlist

Bangkok Playlist ep.04: ทำไม Public Space ในกรุงเทพฯ ซีนนี้ไม่เห็นเหมือนที่คิดไว้เลย (Feat. Cloud Floor) 

อยู่บ้านจนยม ไม่อยากเดินห้างฯ วันหยุดนี้ไปนั่งเล่นที่สวนสาธารณะกันดีไหมน้า เหมือนในต่างประเทศที่การเดินหอบตะกร้าปิกนิกไปในกินขนมในสวนเป็นเรื่องแสนง่าย แต่ซีนที่คิดกับความเป็นจริงในเมืองนี้ อย่างที่รู้ๆ กันว่าแค่เริ่มคิดก็ยากกว่ามากๆ แล้ว

ตั้งแต่กดเปิดกูเกิ้ลแมพเสิร์ชหาสวนที่ดี เจอสวนนี้วิวดี ร่มรื่นแต่อยู่ไกลจัง ต้องเดินทางหลายต่อจะเหนื่อยเกินไปไหม ทำไมสวนนี้มีข้อห้ามเยอะ ไม่ใช่ว่าพื้นที่สาธารณะแล้วจะทำอะไรก็ได้เหรอ จะเปลี่ยนไปเดินเล่นหอศิลป์ที่เดินทางง่ายๆ ก็คิดได้ไม่กี่ที่ หรือลานโล่งบางพื้นที่ที่น่าจะนั่งเล่นเฉยๆ ได้ ก็โดนไล่ ก็ใครจะรู้ว่าไม่ใช่พื้นที่สาธารณะอ่ะ ทำไมคนเมืองที่แค่อยากใช้พื้นที่สาธารณะพักผ่อนหย่อนใจ มันดูยากจัง ไม่เห็นเหมือนที่คิดไว้เลย

เราเลยเดินไปเคาะประตูหา โจ-ดลพร ชนะชัย และ ฟิวส์-นัฐพงษ์ พัฒนโกศัย แห่ง Cloud-Floor กลุ่มสถาปนิกออฟฟิศบ้านใกล้เรือนเคียงของเรา ที่สนใจเรื่องการออกแบบพื้นที่สาธารณะและอยากเห็นเมืองที่ดีเกิดขึ้นจริง มานั่งจับเข่าถกประเด็นปัญหาพื้นที่สาธารณะในกรุงเทพฯ ในหลายมิติ และมองหาความหวังให้คนเมืองได้มีพื้นที่สาธารณะใช้ได้ปลอดภัยทางใจและกายกันอีกสักหน่อย 

Q: ทำไมพื้นที่สาธารณะอย่างสวนในกรุงเทพฯ ดูเข้าถึงยาก?

ฟิวส์: ถ้าพูดถึงในกรุงเทพฯ สวนสาธารณะมันก็มี อยู่กระจายเป็นโหนด กระจายเป็นเส้นเลือดใหญ่ไม่ได้กระจายแบบเส้นเลือดฝอย เรามีหลายสวนที่ใหญ่แต่ไม่ติดกับชุมชนและพื้นที่คนเดินเท้า พื้นที่สาธารณะเดียวที่คนเข้าถึงง่ายสุดคือ ‘ถนน’ กับ ‘ฟุตบาต’ แค่นั้น

แต่ว่าถนนกับฟุตบาต มันกลับกลายเป็นสิ่งที่คนทั่วไปหรือชนชั้นกลาง ใช้ในการทำกิจกรรมเพียงแค่การเดิน การสัญจร แต่ไม่ก่อให้เกิดกิจกรรมอื่นๆ ที่เป็นความต้องการของคนจริงๆ   

โจ: สวนสาธารณะที่อยู่ภายใต้การดูแลของ กทม. มี 39 สวน ซึ่งหากดูในเชิงตัวเลขของพื้นที่สีเขียวเทียบกับจำนวนประชากรก็ยังน้อย ทีนี้ใน 39 สวนที่ ถูกดูแลโดยรัฐมันก็กระจายไป การเข้าถึงในแต่ละพื้นที่มันก็เป็นไปอย่างไม่เท่าเทียมเนื่องด้วยการจัดสรรงบประมาณหรืออะไรก็ตาม ทำให้โอกาสในการเข้าถึงพื้นที่ที่จะเข้าถึงโดยประชากรทั่วไปต่ำมาก 

สมมุติว่าเทียบพื้นที่ที่ไกลออกไปในเขตชานเมือง พื้นที่สาธารณะที่มีระยะการเข้าถึงแบบเดิน 10 นาที หรือประมาณ 800 เมตร นั้นแทบเป็นไปไม่ได้เลย ไม่ต้องพูดถึงความเหลื่อมล้ำเรื่องรายได้ แค่ความเหลื่อมล้ำเรื่องการเข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ควรจะเป็นสแตนดาร์ดมันก็ค่อนข้างต่ำมากอยู่แล้ว 

นอกเหนือจากสวนต่างๆ ที่ถูกดูแลโดยรัฐ มันก็ยังมีสวนสาธารณะย่อยๆ ที่เป็นเหมือนสวนหย่อมที่ถูกดูแลโดยเอกชน แต่สวนเหล่านั้นมันไม่ได้หมายความว่าทุกคนสามารถเข้าถึงได้เพราะบางทีเข้าได้เฉพาะบางกลุ่ม เลยมองว่าพื้นที่สาธารณะเป็นการตั้งคำถามเกี่ยวกับความเท่าเทียม อย่างน้อยในการมีคุณภาพชีวิตที่เป็นสแตนดาร์ดก็พูดไม่ได้แล้ว 

ฟิวส์ : พื้นที่สาธารณะบ้านเรามีน้อยน่ะ ใช่ แต่พื้นที่กึ่งสาธารณะในบ้านเราเยอะนะครับ จะสังเกตว่า ถ้าเรามีบ้านเดี่ยว เราจะมีหน้าบ้านหรือหลังบ้านก็แล้วแต่ อันนั้นแหละคือ พื้นที่กึ่งสาธารณะสำหรับคนในบ้าน 

ถ้าเกิดว่าเรามีพื้นที่กึ่งสาธารณะ คนในครอบครัวมาแฮงก์เอาต์กันได้ ปิ้งบาร์บีคิวได้ เราอาจจะไม่ต้องการพื้นที่สาธารณะจริงๆ จากภาครัฐก็ได้ แต่ในของต่างประเทศโดยเฉพาะยุโรป สิ่งก่อสร้างของเขามีลักษณะอพาร์ตเมนต์ เลยทำให้เขามีพื้นที่สาธารณะให้คนออกมาทำกิจกรรมเยอะเพราะบ้านเขาไม่มี เพราะเขาอยู่ในตึกหมดเลย 

Q: ซึ่งในความเป็นจริง คนกรุงเทพฯ ต้องการพื้นที่สาธารณะแบบไหน? 

ฟิวส์: ต้องถามกันอีกทีว่า เราต้องการพื้นที่สาธารณะหรือเปล่า ต้องการเอาไว้ทำอะไร อย่างปัจจุบันคนที่ทำธุรกิจในเมือง คนที่เป็นผู้อำนาจทางการเงิน เขาจะสร้างสิ่งที่เป็นตลาด ห้างสรรพสินค้าเพื่อจับจ่ายใช้สอยขึ้นมา แต่หลังๆ เขาก็จะเริ่มปรับเปลี่ยนพื้นที่นั้นๆ ให้มันกึ่งสาธารณะ ให้คนพักผ่อนหย่อนใจได้ สิ่งนี้มันก็เลยเริ่มเป็นคาแรกเตอร์แบบหนึ่งของบ้านเรา ที่เอกชนพยายามสร้างบางอย่างเพื่อให้เป็นสาธารณะ เพื่อให้คนรู้สึกว่าพักผ่อนได้ จับจ่ายได้ วิน-วินทั้งคู่ 

ในกรณีถามกลับกันว่า รัฐได้ศึกษาพฤติกรรมคนเหมือนที่ห้างสรรพสินค้าทำกับเราหรือเปล่า เพราะถ้าเขาทำอย่างจริงจัง และคิดถึงความเป็นมนุษย์สุดๆ มันอาจจะเกิดสิ่งที่เป็นพื้นที่สาธารณะ หรือสวนสาธารณะที่ตอบโจทย์ความต้องการคนจริงๆ อาจเกิดคาแรกเตอร์ของพื้นที่สาธารณะที่เหมาะสมกับคนไทย ในสภาพแวดล้อมแบบไทยๆ วัฒนธรรมแบบไทยๆ ก็ได้ และนั่นก็จะเป็นพื้นที่สาธารณะที่ดี เพราะว่าจะมีคนใช้งานและเกิดประโยชน์สูงสุด

Q: จริงๆ แล้วพื้นที่สาธารณะ เป็นสาธารณะจริงแท้แค่ไหน ทำไมบางพื้นที่มีข้อห้ามเยอะจัง?

ฟิวส์: คำว่าพื้นที่สาธารณะ มันเท่ากับ ประโยชน์สาธารณะ หมายความว่า เป็นพื้นที่ที่สามารถอนุญาตให้มนุษย์ที่อยู่ในพื้นที่นั้น ทำสิ่งใดก็ได้ที่ไม่ผิดกฎหมาย อยู่ภายใต้กฎหมาย แต่บางทีพื้นที่สาธารณะของไทย มันมีความย้อนแย้งในเชิงของความเชื่อ คติต่างๆ เช่น ลานนั้นมีรูปเคารพอยู่หนึ่งชิ้น แต่ว่าพื้นที่ตรงนั้นเด็กๆ อยากเล่นสเก็ตบอร์ด หรือเต้นบีบอยที่ชี้ขาขึ้น ผู้ที่มีอำนาจหรือผู้ครอบครองพื้นที่นั้นก็จะบอกว่า เล่นไม่ได้นะ มันเป็นการชี้ขาขึ้น ไม่สุภาพต่อรูปเคารพ ผมคิดว่าสิ่งนี้มันเป็นอีกเลเยอร์หนึ่ง ที่ทำให้คำว่า สาธารณะ มันอาจยังไม่เกิดขึ้นเต็มรูปแบบ ด้วยคติความเชื่อที่เราเป็นอยู่ 

หรือเราไปใช้พื้นที่ของรัฐที่นับถือศาสนาอิสลาม เราอาจจะไม่สามารถจูบกันได้ในที่ตรงนั้น แต่หากพื้นที่ของรัฐตรงนั้นนับถือศาสนาคริสต์เราก็สามารถจูบกันได้ในพื้นที่สาธารณะ หรือถ้าศาสนาพุทธอาจจะไม่เหมาะสม มันจะมีข้อจำกัดไปตามพื้นที่ที่รัฐเป็นผู้ปกครอง 

Q: พื้นที่สาธารณะ เลยไม่เท่ากับ พื้นที่อิสระ?

ฟิวส์: คำว่า สาธารณะ ไม่มีความอิสระ 100% หรอกครับ มันขึ้นอยู่กับว่า อยู่ภายใต้อีกเลเยอร์หนึ่งของชุดความคิดใด 

โจ: ถึงเราเรียกว่า พื้นที่สาธารณะ แต่มันก็จะมีกฎและข้อจำกัดในการแสดงพฤติกรรมหรือทำกิจกรรมอะไรบางอย่าง บางทีมันอาจจะเป็นชุดความเชื่อที่จับต้องด้วยกฎหมายไม่ได้ อย่างในกรุงเทพฯ ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เราก็คงจะทำอะไรประหลาดไม่ได้ อย่างเชียงใหม่ก็ลานสามกษัตริย์ เขาก็ไม่ให้เล่นสเก็ตบอร์ด ก็จะมีป้ายบอกอยู่ ถ้าถามว่าสาธารณะสุดๆ ควรจะเป็นอะไร มันก็น่าจะเป็นสิ่งที่รัฐ ให้กับทุกคนได้เท่าเทียมกัน

Q: มีข้อสังเกตไหมว่า พื้นที่ไหนคือพื้นที่สาธารณะจริงๆ ?

ฟิวส์: ให้ดูว่าเขาไปชุมนุมที่ไหนกัน ถ้าพื้นที่ไหนที่เขาไปชุมนุมกันนั่นคือพื้นที่สาธารณะ 

โจ: แต่สิ่งนั้นก็อาจเป็น Movement  และ Strategy ในเชิงการเมืองด้วย

ฟิวส์: ใช่ แต่ว่ามันก็เป็นสิ่งสังเกตได้ง่ายเช่นเดียวกัน สมมุติว่าวันหนึ่ง สนามหลวงเป็นสถานที่สาธารณะจริงๆ คนก็อาจไปชุมนุมกันที่นั่นก็ได้ เพราะมันเป็นพื้นที่สาธารณะแล้ว 

โจ: และแต่ละในพื้นที่สาธารณะในบ้านเรา ก็จะมีเชิงสัญลักษณ์อะไรบางอย่างทางการเมืองที่มันสอดคล้องก็ได้

ฟิวส์: อย่างเมืองนอกที่เขาไปชุมนุมที่จัตุรัส เขารู้แล้วว่าเป็นพื้นที่สาธารณะ ฉันมีสิทธิฉันจะไปกระเทือนรัฐกัน นั่นแหละครับจุดสังเกต

Q: ถ้าเรามีพื้นที่สาธารณะที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิต จะมีอะไรตามมา?

โจ: ตั้งแต่มีโควิดมาคนที่ใช้ชีวิตปกติก็เปลี่ยนไป อย่างการที่โรงเรียนต้องถูกปิดหรือเด็กต้องเรียนหนังสือในบ้าน แต่ละที่เขามีทางออกหรือนโยบายอย่างไร มีเคสในต่างประเทศที่น่าสนใจ ประเทศที่มีการเข้าถึงสวนสาธารณะหรือพื้นที่สาธารณะที่ง่ายกว่าเรา เขาเลือกที่จะใช้พื้นที่นั้นมาทดแทนในการไปเรียนที่โรงเรียน โอกาสที่ทำให้เด็กกลับไปเรียนหนังสือเหมือนเดิม โดยที่ไม่ต้องไปเรียนในห้องเรียนมันก็มากขึ้น

กลับมาดูในสัดส่วนของประเทศไทย โรงเรียนในกรุงเทพฯ มีเยอะมาก แต่ว่าสวนสาธารณะหรือพื้นที่สาธารณะน้อยมาก มันเลยเป็นปัญหาที่พัวพันต่อไปเรื่อยๆ ว่า การที่เรามีพื้นที่สาธารณะน้อย มันทำให้เราไปแก้ไขปัญหาอะไรค่อนข้างยาก 

ถ้าในเชิงวิทยาศาสตร์ การมีพื้นที่สาธารณะมันส่งผลที่ดีต่อ Mental Health มากนะ ทำไมผลวิจัยที่วิจัยว่าคนเมืองมีสุขภาพจิตที่ค่อนข้างแย่โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ คิดว่าการที่เรามีพื้นที่สาธารณะที่จะเป็นพื้นที่ที่ทำกิจกรรมอย่างอื่นได้ มันจะทำให้ชีวิตบาลานซ์มากขึ้น ไม่ต้องไปออกกำลังกายก็ได้ แต่ไปเพื่อให้เราได้ออกกำลังกายสุขภาพจิต ทีนี้พอเรามีพื้นที่เหล่านั้นค่อนข้างน้อย สภาวะความเครียดก็สูงขึ้น เลยทำให้หัวสมองการทำงานของคนเมืองมันไม่ปลอดโปร่งเท่าคนที่อยู่ในพื้นที่นอกเมืองที่เขามีพื้นที่ให้ใช้ชีวิตได้ 

ฟิวส์: อีกทางหนึ่งสวนสาธารณะไม่ถูกสร้างมาเพื่อให้มนุษย์หย่อนใจอย่างเดียว แต่ถูกสร้างมาเพื่อให้มีพื้นที่สีเขียวให้มันบาลานซ์พื้นที่ในเมือง ทั้งในแง่ของอากาศ ความชื้น พื้นที่ธรรมชาติให้สัตว์ ได้อยู่อาศัยมีนก มีปลา ระบบนิเวศ 

โจ: บางทีบางพื้นที่มันอาจเป็นได้มากกว่า 1 อย่าง เช่น พื้นที่นี้เป็นได้ทั้งพักผ่อนหย่อนใจด้วย เป็นได้ทั้งพื้นที่แสดงออกด้วย การเป็นพื้นที่สาธารณะมันไม่ใช่แค่สร้างสเปซขึ้นมา มันจะต้องมีกิจกรรมอะไรบางอย่างเกิดขึ้น แล้วกิจกรรมนั้นมันก็อาจไม่ได้กำหนดตายตัว ต่อไปอาจจะมีวัฒนธรรมใหม่ๆ ที่ทำให้คนมาใช้พื้นที่สาธารณะ ในอีกแบบหนึ่งที่ต่างไปจากเดิม 

แต่ก่อนเราอาจจะไม่ได้มีเซิร์ฟสเก็ตเลย แต่พอวันหนึ่งมันเปลี่ยนไป พื้นที่สาธารณะก็อาจถูกเปลี่ยนไปเป็นพื้นที่ที่มาเซิร์ฟสเก็ตกันก็ได้ มันควรจะเปลี่ยนไปตามกลไกของโลกด้วย

Q: อยากให้มีการเปลี่ยนแปลงเรื่องพื้นที่สาธารณะในกรุงเทพฯ มากขึ้น ผู้มีอำนาจจะช่วยเราได้แค่ไหน?

ฟิวส์: ผมเชื่อว่าผู้มีอำนาจในเมืองเขารู้อยู่แล้วว่าสิ่งเหล่านี้มันขาดแคลน เขาก็มีการพยายามมาโดยตลอดในการเพิ่มปริมาณเพิ่มคุณภาพให้คนไปใช้ประโยชน์มากขึ้น 

โจ: ด้วยความที่มันมีแรงกดดันจากกลุ่มคนอื่นๆ ที่เยอะขึ้นด้วย เราเลยอาจเห็นความเปลี่ยนแปลงเรื่องพื้นที่สาธารณะถี่ขึ้น อย่าลืมว่าเราไม่ได้เริ่มจากศูนย์ เราเริ่มจากติดลบ สิ่งที่เรามีมันยังไม่ถึงมาตรฐานของสิ่งที่มันควรจะมี ตอนนี้เราต้องทำให้เราที่ติดลบอยู่ขึ้นมาที่ศูนย์ให้ได้ก่อน อย่างน้อยต้องมีความเท่าเทียมในพื้นฐานการใช้ชีวิตก่อน อย่างมูฟเมนต์แบบ Informal (ไม่เป็นทางการ) ที่มีหลายองค์กรหลายกลุ่มรวมตัวกันเพื่อขับเคลื่อนเรื่องนี้ก็คิดว่าสำคัญเหมือนกัน 

Q: มูฟเมนต์แบบ Informal ที่เกิดขึ้น สร้างแรงผลักดันให้พื้นที่สาธารณะยังไง?

โจ: มันเหมือนอีกห่วงโซ่หนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า ยิ่งเกิดสิ่งนี้ขึ้นเยอะๆ ยิ่งหมายความว่าเราไม่ได้เชื่อถือสิ่งที่รัฐมีหรือสิ่งที่รัฐทำ หรือรัฐมีให้ไม่พอ จึงเกิดคนกลุ่มนี้เยอะแยะมากมายที่ออกมาทำของฉันเอง ไม่รอรัฐแล้ว เช่น คนที่มองหาความเป็นไปได้ว่ามันจะเกิดสวนสาธารณะ สวนหย่อมตรงไหนอย่างไรได้บ้าง ด้วยความร่วมมือของแต่ละชุมชน

ซึ่งพอเอากราฟมาพล็อตดู คนที่ออกมาทำแบบ Informal จำนวนมันเยอะขึ้นมากใน 5-10 ปีที่ผ่านมา มันก็ต้องตั้งคำถามย้อนกลับไปว่าทำไมมันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คิดว่ามันมีแรงกดดันหลายๆ อย่างทั้งในเชิงโซเชียลด้วย ในเชิงของกลไกเมือง ที่คนในเมืองออกมาเคลื่อนไหวด้วยตัวเอง มันก็ต้องเกิดตอนนี้แหละ ถ้ามันเกิดช้ากว่านี้มันอาจจะไม่ดีด้วย

Q: ถ้าประชาชนอย่างเราๆ อยากฝากความหวังเรื่องพื้นที่สาธารณะควรฝากไว้กับใคร และทำยังไงได้บ้าง?

ฟิวส์:  เราคนทั่วไปเลย สามารถส่งเสียงบอกโดยตรงให้หน่วยงานภาครัฐหรือสื่อได้รับรู้ได้ อาจจะในโซเชียลของเรา แต่ในขณะเดียวกัน ด้านผู้มีอำนาจผู้ที่ปกครองเราอยู่ เขาก็อาจจะเอาสิ่งนี้ไปเป็นเครื่องมือทางการเมืองในการหาเสียงก็ได้ เพราะเขาวิจัยมาแล้วว่าคนต้องการพื้นที่สาธารณะนี่ คนสมัยนี้สนใจเรื่องเมืองนี่ งั้นเราทำโปรเจกต์ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้กัน 

ซึ่งเราจะสังเกตว่า อะไรที่มันดูเร็วกว่าปกติ อันนั้นมันจะกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองทันที อย่างภายใน 2 ปี พื้นที่สาธารณะผุดขึ้นมาเต็มเลย ถูกพัฒนาอย่างดีเลย ให้สังเกตว่าจะเป็นเครื่องมือทางการเมืองหรือเปล่า มันมีความจริงใจ มีคุณภาพอยู่ในนั้นมากน้อยแค่ไหน มีการมีส่วนร่วมในการรับฟังความเห็นของประชาชนมากน้อยแค่ไหน หรือเป็นเพียงแค่เครื่องมือทางการเมืองหรือเปล่า เพราะมันจะส่งผลต่อเราทั้งหมดเลย ไม่อย่างนั้นพื้นที่สาธารณะ จะกลายเป็นของเล่นที่เป็นแลนด์มาร์กเท่านั้น แต่มันไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้คนใช้เลย 

Q: ช่วงที่ใกล้เลือกตั้งผู้ว่า กทม. เรามีข้อสังเกตอย่างไรไหมว่า นโยบายใครจะเป็นไปได้จริง เราฝากความหวังไว้ที่เขาได้ไหม?

ฟิวส์: คนที่เป็นผู้ว่า เขามีอำนาจโดยตรงในการที่จะร่างนโยบายขึ้นมา ว่าจะเน้นเรื่องอะไร ส่วนตัวผมคิดนะครับ เขาก็คิดก่อนว่าใครจะเป็นฐานเสียงของเขา ถ้ากลุ่มที่เป็นฐานเสียงเขาคือคนชนชั้นกลาง ก็จะเล่นเรื่องพื้นที่สาธารณะ ฟุตบาต ทางเดิน เพราะคะแนนเสียงมาแน่ แต่ถ้าคนมีรายได้น้อยเขาจะเน้นเรื่องแก้ปัญหาปากท้อง ประกันไร่พืชไร่สวน มันก็เลยย้อนกลับมาว่า กลุ่มเป้าหมายของคนที่มีอำนาจคนต่อไปในกรุงเทพฯ คือใคร แต่ว่าก็ไม่ได้มองในแง่ลบนะ เพราะก็อาจมีคนที่จริงใจก็อยู่ด้วยก็ได้

โจ: ถ้าโดยอำนาจในการตัดสินใจมีความเป็นไปได้อยู่แล้ว คิดว่าแต่ละพรรคนโยบายไม่เหมือนกัน และจับกลุ่มเป้าหมายคนละกลุ่ม แต่ถ้าคนไหนที่พูดถึงพื้นที่สาธารณะแล้วทำให้มันจับต้องได้มากสุด ก็ต้องดูด้วยว่าแผนนั้นมันแอคชั่นยังไง บางคนอาจจะไม่ใช่แค่แผนว่าจะทำอะไร แต่วิธีการทำให้แผนนั้นสำเร็จทำยังไง อันนี้น่าสนใจ มากกว่าแค่บอกปลายทางอย่างเดียว 


เมื่อฉันออกไปเลียนแบบหนังรัก (มั้ง) ในกรุงเทพฯ

Ft. Cloud Floor

ว่ากันว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองไม่โรแมนติกเอาเสียเลย ไม่มีพื้นที่ให้หนุ่มสาวได้ออกไปเดินเล่นกัน อย่าว่าจะเดตเลย จะหาพื้นที่ไปตกหลุมรักกันและกันยังยาก แต่ก็อยากสู้อีกสักนิดนะ ว่ากรุงเทพฯ น่ะ ก็น่ามีพื้นที่สาธารณะที่ช่วยถักสานความสัมพันธ์กันได้บ้างสิ 

ด้วยความอยากเป็นตัวละครสุดโรแมนติกในหนัง เลยลองไปตามรอยซีนหนังรักเรื่องโปรด เทียบซีนต่อซีนกันไปเลยว่า เดตในกรุงเทพฯ จะเวิร์กอย่างในหนังไหมและเรื่องราวความรักของเราจะเจอกับอะไรบ้าง ระหว่างทางยังชวน โจ-ดลพร ชนะชัย และ ฟิวส์-นัฐพงษ์ พัฒนโกศัย แห่ง Cloud-Floor กลุ่มสถาปนิกที่สนใจเรื่องการออกแบบพื้นที่สาธารณะ มาคุยประเด็นปัญหาพื้นที่สาธารณะไปด้วยกัน 

ซีนที่คิดและซีนที่ได้จะเหมือนหรือต่างกันขนาดไหน จะพาให้ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับเขา และเรากับเมืองไปด้วยกันได้ไกลไหม รวมทั้งคนตัวเล็กๆ อย่างเราจะช่วยส่งเสียงเรื่องพื้นที่สาธารณะให้ดังขึ้นอย่างไรได้บ้าง 

เชิญรับชมฉบับเต็มได้ที่นี่ ให้เสียงภาษาไทยโดย ไอแอลไอยู

01

เฝ้าฝันถึงความโรแมนติกจากซีนโปรดที่เดินคุยกันหนุงหนิงตอนค่ำๆ เสาร์สุดสัปดาห์เลยเดินไปหาแลนมาร์กที่ไม่เคยไปอย่าง ‘คลองโอ่งอ่าง’ มีสะพานเหมือนกัน ค่ำมาก็มีไฟสุดโรแมนติก (ไหมนะ) ยกมือถือขึ้นมาถ่ายรูปก็สวยดี เดินถ่ายรูปเล่นไปเรื่อยๆ ก็เกิดคำถามว่า นี่เป็นการสร้างให้ที่นี้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะที่ใช้ได้จริง จริงๆ ใช่ไหม เพราะเดินข้ามไปสะพานถัดไปก็ยังเจอน้ำดำปี๋อยู่เลย หรือนี่คือผลลัพธ์ของพื้นที่สาธารณะที่ผู้ที่มีอำนาจรับผิดชอบวาดฝันไว้หรือเปล่านะ

“พื้นที่สาธารณะที่ดี ไม่จำเป็นต้องไปถ่ายรูปให้สวยก็ได้นะครับ เป็นลานหญ้าโล่งๆ ก็ได้ แต่ทุกวันนี้ พอมันกลายเป็นเครื่องมืออะไรบางอย่างถูกผนวกกับสิ่งที่ต้องทำเป็นแลนด์มาร์กนะ ต้องทำให้ถ่ายรูปได้นะทำให้เป็นฟีเจอร์ระดับเมือง นักท่องเที่ยวต้องมาเที่ยวกันนะ 

“นี่คือการมองในมิติของนักธุรกิจที่ต้องการจะสร้างเศรษฐกิจให้กับเมือง แต่ไม่ได้มองประโยชน์ในเชิงของคุณภาพชีวิตของคนทั่วไปที่อำนาจเขาน้อยเหลือเกิน” ฟิวส์บอกกับเรา

02

อยากไปเดตที่หอศิลป์ที่มีให้แวะทั่วไป เดินไปที่ไหนก็เจอแบบในหนังต่างประเทศ (ที่ก็อาจสะท้อนได้ว่าประเทศนั้นเขาให้ความสำคัญกับศิลปะขนาดไหนด้วยน่ะนะ ถึงได้มีพื้นที่ทางศิลปะที่เยอะและหลากหลาย) 

แต่พื้นที่ศิลปะแห่งเดียวใน กทม. ที่คิดได้แบบไวๆ คือ ‘BACC’ หอศิลป์ที่อยู่ใจกลางเมืองเดินทางง่ายโดยรถไฟฟ้า มีงานศิลปะหมุนเวียน เป็นพื้นที่หย่อนใจและปลุกไฟศิลปะในใจให้คนเมืองมาโดยตลอด แต่ด้วยชะตากรรมที่ไม่รู้ว่าหากหมดสัญญากับ กทม. ในอีก 10 ปี ข้างหน้าแล้ว หอศิลป์ตรงนี้จะกลายเป็นห้างสรรพสินค้าแห่งใหม่ที่หลายๆ ตึกรอบข้างกำลังจะเป็นหรือเปล่า หรือจะมีพื้นที่ทางศิลปะชุบชูจิตใจแห่งใหม่ที่มีคุณสมบัติที่เทียบเท่าหรือดีกว่าที่นี่อีกไหม ฝากความหวังให้ผู้อำนาจตัดสินใจมองอนาคตพื้นที่ศิลปะให้ไกลขึ้นอีกนิดน่าจะดี

03

“สวนสาธารณะที่ได้สกอร์เต็มสแตนดาร์ดของสวนที่มีตอนนี้คือ สวนลุมพินี”

สวนกลางเมืองที่ได้คะแนนเช็กลิสต์สวนดีนำลิ่วกว่าสวนอื่น แต่โชคร้ายคือ มีสวนแบบนี้น้อยนิดเหลือเกินในกรุงเทพฯ 

“สวนที่ได้สแตนดาร์ดที่ว่าคือ มีห้องปฐมพยาบาล มีเจ้าหน้าที่รักษา มีไฟ แสงสว่าง มีพื้นที่นั่งพักคอย มีห้องน้ำ มันก็มีสวนที่เจอกับมาตรฐานนั้นอยู่ แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นสวนในเมือง ที่มีขนาดใหญ่ และมีคนใช้จำนวนมาก 

“แต่ถ้าเราเริ่มพูดถึงสเกลที่มันเล็กลงเรื่อยๆ Facilities ก็จะน้อยลงไปเรื่อยๆ แต่ความสแตนดาร์ดคือ สิ่งที่สำคัญ สมมติ เรามองว่า ความปลอดภัยสำคัญ การที่คนไปอยู่ในพื้นที่นั้นแล้วมันมีอะไรก็ตามที่บอกได้ว่ามันปลอดภัยนะ เช่น ถ้าเขาหัวใจวายไป มันมีเครื่องปั๊มหัวใจ มีคนที่จะช่วยเหลือเขา” โจบอกกับเรา

ด้วยความที่เป็นสวนที่ได้มาตรฐานเลยอยากมาใช้งาน อยากมาเดินเล่น ทำกิจกรรมนู่นนี่ เอาจริงๆ ถึงไกลก็รู้สึกไม่เป็น เพราะถ้าอยู่ในพื้นที่ที่สบายใจและปลอดภัยก้ได้อยู่ แต่ถ้าจะให้ดีจริงๆ เลยคือ น่าจะมีพื้นที่สาธารณะที่ให้ความสบายใจและปลอดภัยกระจายเป็นเส้นเลือดฝอยอย่างที่คุณสถาปนิกได้ว่าไว้

ถึงแม้ว่าเราจะนัดกันที่นี่ เพราะเป็นสวนดีอย่างที่เขาว่า แต่ก็เป็นสวนดีที่ใกล้เธอ แต่ไกลลลลล ฉันมาก เผื่อเวลาแล้วก็มาไม่ทันรถติดอยู่เกือบชั่วโมงแหน่ะ

04

ร้องว้าวให้พื้นที่สาธารณะริมน้ำที่เห็นในหนัง แล้วบอกกันเลยว่าจะหาพื้นที่แบบนี้ในกรุงเทพฯ ให้ได้ แต่ขออย่างเดียวว่าครั้งนี้อย่านัดกันไกลๆ ได้ไหม เดี๋ยวก็ทะเลาะกันแบบครั้งก่อนอีก 

ในหนังเป็นพื้นที่กึ่งสาธารณะริมน้ำที่อยู่ในโรงงานเผาขยะอีกที ตัดภาพมาบ้านเรา ใกล้สุดคงเป็นพื้นที่กึ่งสาธารณะริมน้ำที่อยู่ในวัดอีกที ไกลจากภาพที่คิดแต่วิวก็ใกล้ๆ กันก็ได้อยู่ (มั้ง) 

“พื้นที่กึ่งสาธารณะ หมายถึง พื้นที่สาธารณะที่คนเดินผ่านได้ โดยที่ไม่มีรั้วรอบขอบชิด แต่จะไม่อนุญาตให้ทำบางสิ่งบางอย่างได้ในพื้นที่ตรงนั้น เช่น เอางานไปตั้งไม่ได้ ต้องขออนุญาตก่อน

“ในพื้นที่บางพื้นที่ ก็อาจมีเลเยอร์ของการให้ใช้พื้นที่คนละแบบ อาจจะเป็นความเชื่อ ศาสนา หรืออื่นๆ สมมุติเราไปใช้พื้นที่ของรัฐที่นับถือพื้นที่อิสลาม เราอาจจะไม่สามารถที่จะจูบกันได้ แต่หากพื้นที่ของรัฐตรงนั้นเป็นคริสต์เราก็สามารถทำได้ถ้าพุทธ อาจจะไม่เหมาะสม เพราะฉะนั้นการแสดงออก อิสระภาพของมนุษย์ในพื้นที่ที่เรียกว่าสาธารณะ มันก็จะถูกมีข้อจำกัดมากขึ้น”

อย่างที่บอกว่านั่งคุยยังไม่ทันได้ดีพทอล์ก ก็ต้องเปิดทางให้คนปล่อยปลา เพราะพื้นที่นั้นถูกสร้างเพื่อกิจกรรมประกอบการทำบุญ เราจึงทำได้แค่ย้ายที่และเสิร์ชหาพื้นที่ริมน้ำใหม่ต่อไป (ซึ่งเอาจริงๆ ที่เข้าถึงได้แบบไม่ต้องเสียสตางค์ก็มีไม่เยอะนะ) 

05

การชุมนุมในพื้นที่สาธารณะเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่เราฝันจะมีโอกาสได้พาคนรักไปทำร่วมกัน เพราะได้แรงบันดาลใจจากหนัง แต่พื้นที่ในกรุงเทพฯ ที่เคยเป็นที่แสดงออกทางความคิดในอดีตอย่างสนามหลวง ปัจจุบันเดินได้แค่บนฟุตบาตรอบข้าง แถมยังต้องหลบพุ่มไม้ นับประสาอะไรกับการอนุญาตให้แสดงออกทางความคิดในเรื่องต่างๆ

จนต้องตั้งคำถามว่า ‘สนามหลวง’ เป็นพื้นที่สาธารณะมากน้อยแค่ไหน

“ต้องดูว่าพื้นที่ตรงนั้นเจ้าของเป็นใคร ถ้าเจ้าของเป็นรัฐถ้ารัฐกั้นรั้ว ก็แสดงว่าเขามีเลเยอร์ในการห้ามใช้ แต่ถ้าเกิดว่าพูดตามสิทธิประโยชน์ ถ้าพื้นที่เป็นของรัฐจริงๆ ประชาชนสามารถใช้ได้ เพราะในเชิงสิทธิเราเสียภาษีในการบำรุงดูแล แต่เรากลับถูกล้อมไม่ให้เข้าไปใช้ด้วย เลเยอร์ทางความกังวลหรืออำนาจบางอย่าง เพราะฉะนั้นมันเลยเป็นเหตุเป็นผลว่า ทำไมเราถึงใช้ได้ หรือใช้ไม่ได้”

ถ้าลองสังเกตดีๆ ในกรุงเทพฯ จะมีพื้นที่ที่ ‘ดูเหมือน’ จะเข้าไปใช้ได้อยู่เยอะมาก แต่ติดที่เจ้าของเป็นใคร และมีเลเยอร์ไหนครอบพื้นที่ไว้หรือเปล่า ทำให้เปอร์เซ็นต์ที่จะเข้าไปใช้แทบจะเป็นศูนย์ 

การที่จะมีพื้นที่สาธารณะที่คนเมืองอย่างเรา เข้าไปใช้ได้อย่างไม่ต้องกังวลกับสิ่งใด จึงเป็นอีกสิ่งที่สำคัญในชีวิตคนเมืองตอนนี้ที่โหยหา อย่างน้อยขอเป็นพื้นที่ที่นั่งเฉยๆ แล้วปลอดภัยก็พอแล้ว

Content Creator

#นักเขียน #จบครูศิลปะ กำลังไล่อ่านหนังสือที่ซื้อมาให้หมดทุกเล่ม

Read More:

Play

ทัวร์สุ่มสี่สุ่ม SUN: พา KOLs เดินท้าแดด สุ่มสู้แสงไปกับ Biore

ทัวร์สุ่มเดินย่านกลับมาอีกครั้ง แบบโนสนแดดจ้า! เรากลับมาแบบ Exclusive Tour ไอแอลไอยูถูกชวนให้ไปซุ่มจัดกิจกรรมให้เหล่า KOLs สู้แดดทั้ง 8 คน ให้มามองเมืองที่คุ้นเคยในมุมที่น่ารักขึ้นอีกนิด มาสนิทกับย่านขึ้นอีกหน่อย

Play

คุณจะได้เจออะไรใน ทัวร์สุ่มสี่สุ่มให้ Ver 2.0 'ROUTE: Caffeine Calling'

เส้นทางที่คุณและเพื่อนใหม่แปลกหน้า จะมาเสพคาเฟอีนเข้าเส้นร่วมกัน ในย่านประดิพัทธ์-อารีย์ ตามลายแทงที่คุณไม่รู้ล่วงหน้า ทัก cup!

Play จากผู้ใช้จริง

ตามพ่อแม่ไปดู ว่าทำไมสวนลุมถึงเป็น Third Place ของสูงวัย

แชร์โล Third Place ของผู้สูงวัย เขาไปทำอะไรที่สวนลุมทั้งวัน