Play —— บันทึกประจำวัน

เดินสวนแบบก้มหน้าก้มตา นับญาติกับวัชพืชริมทาง

แสงแดด ยอดหญ้า ตัวข้า สีเขียว!

ออกตัวตั้งแต่บรรทัดนี้เลยว่า ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับต้นไม้ ใบหญ้า ธรรมชาติ ของคนเมืองเช่นฉันนั้นมีอย่างผิวเผินพอๆ กับเพลงเชียร์ที่ร้องตอนเด็กโดยไม่เข้าใจความหมาย แต่พอได้ยินข่าวว่า ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เชิญชวนผู้สนใจร่วมสำรวจและเรียนรู้เรื่องของสมุนไพรใกล้ตัวกับกิจกรรม Herbal Walk ซึ่งเป็นกิจกรรมในชุดโครงการ Herbal Appreciation ที่จัดต่อเนื่องมาพักหนึ่ง ฉันก็รีบยกมือสมัครขอไปเดินด้วยคน

เช้าวันเสาร์ในเดือนกุมภาพันธ์ แม้จะต้องตื่นเช้ากว่าปกติ (มาก) แต่ฉันก็ได้รับการต้อนรับอย่างดีจากนักพฤกษศาสตร์ (aka อาจารย์จากภาควิชาฯ) ผู้จัดกิจกรรม เจ้าหน้าที่จากสวนเบญจกิติ ที่มาอนุญาตให้เราเด็ด ดม ชิม ต้นไม้เป็นกรณีพิเศษเพื่อการศึกษา (ปกติมาเดินสวนแล้วจะเดินดุ่มๆ ไปเด็ดไม่ได้นะ!!!) และเจ้าบ้านนกเค้าจุดที่แวะมาทักทายที่โพรงต้นโพธิ์อย่างน่ารัก  

เริ่มสตาร์ท อาจารย์ป๋อม อาจารย์เตย อาจารย์หลิม อาจารย์ยิ้ม และเจ้าหน้าที่จากภาควิชา พาเราแหงนหน้าดูต้นไม้ใหญ่ ชี้ชวนให้ดูดอก ใบ เปลือกต้น แล้วก็ชวนเรานั่งยองๆ ก้มหารากและผลที่หล่นไม่ไกลต้น พร้อมกับสอนวิชาพฤกษศาสตร์ 101 แบบง่าย ชนิดที่คนไม่เคยเรียนชีววิทยามาก่อนอย่างฉันก็พอพยักหน้าหงึกหงักตาม ที่แต่สนุกสุดๆ ยกให้เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยจากต้นหมากรากไม้ เช่น ต้นสาธรใบดก คนอีสานเขาเด็ดใบอ่อนมาโขลกแล้วหมักกับน้ำสะอาด 2 คืน ได้น้ำผักสะทอน เป็นน้ำนัวปรุงรส (ฟังแล้วอยากลองชิมบ้าง) หรือวิธีแยกต้นไม้ดอกสีม่วงสวยช่วงฤดูร้อน ให้ท่องง่ายๆ ว่า “เสลาเปลือกแตก ตะแบกเปลือกล่อน” เป็นอาทิ

และที่สนุกที่สุด คือการได้ก้มหน้าก้มตามองหาวัชพืชริมทางที่ไม่ได้ตั้งใจปลูก (แต่สวนนี้เขาตั้งใจปล่อย เพื่อให้ระบบนิเวศทำงานเต็มกำลัง) เพราะถึงจะคุ้นตา แต่เราก็ไม่เคยรู้จักมักจี่มันจริงๆ ยิ่งพอได้ความรู้จากเหล่านักพฤกษศาสตร์มาเติม เราก็พูดได้เต็มปากว่าอยากจะนับญาติกับดอกไม้ริมทางเหล่านี้ขึ้นมา 

ไมยราบญาติเยอะ

ได้ชื่อว่า Sensitive plant เพราะถูกแตะต้องเมื่อไหร่ มันจะหุบใบลู่เพื่อป้องกันตัวเองจากภัยคุกคาม (แต่สักนาทีเดียวก็บานออกเหมือนเดิม) จริงๆ ด้วยหน้าตา เราอาจจะคิดถึงผักกระเฉดที่ดอกและใบคล้ายๆ กัน แค่ไม่มีนวมขาวๆ (เรียกว่านม) ที่พยุงให้มันลอยอยู่ในน้ำ แต่นักพฤกษศาสตร์ประจำทริปก็ชี้ชวนให้เห็น ‘ฝัก’ ที่เหมือนฝักถั่วขนาดจิ๋ว ก่อนที่จะเฉลยว่าพวกมันเป็นญาติกับถั่ว ร่วมวงศ์ตระกูล Fabaceae เดียวกัน

มีฝักเหมือนถั่วยังไม่สาแก่ใจ อาจารย์ชวนเราจินตนาการต่อว่าเจ้าฝักจิ๋วๆ ของไมยราบถ้าถูกขยายใหญ่จะเหมือนอะไร ก่อนจะบอกว่า ‘สะตอ’ กลิ่นฉุนในอาหารใต้ ก็เป็นพืชตระกูลถั่วและเป็นญาติกับไมยราบด้วยนะ!

นี่ก็ญาติไมยราบในวงศ์วานถั่ว

เห็นดอกแดงๆ ช้ำๆ หน้าตาคล้ายอัญชัน ก็เดาได้ว่าเป็นญาติกันแน่ๆ ซึ่งแน่นอนว่าเจ้าถั่วผีที่ว่านี้ ก็อยู่ในพืชตระกูลถั่วเช่นเดียวกัน แต่อย่าคิดว่าเราจะเดินผ่านเจ้าต้นนี้ไปได้ง่ายๆ เพราะอาจารย์สาธยายญาติๆ ของพืชวงศ์ถั่วให้เราฟังอีกเพียบ ไม่ว่าจะเป็นกระถินณรงค์ กระเฉด โสน ดอกแค มะขาม จามจุรี ฯลฯ คือถ้าจะนับกันจริงๆ ทั้งไม้ยืนต้น ไม้ล้มลุกในวงศ์นี้ มีอยู่เกือบสองหมื่นสปีชีส์เลยจ้ะ

ญาติดีกับกะทกรก

ชอบกินเคปกูสเบอร์รี่ เพราะมันดูเป็นผลไม้เซ็กซี่ มีชุดซีทรูวับๆ แวมๆ ให้เปิดก่อนเจอผลเหลืองๆ พอได้เห็นเจ้ากะทกรกที่เลื้อยรกๆ อยู่ตามรั้วริมทาง ก็พบว่ามันมีชุดซีทรูวับๆ แวมๆ เหมือนกันเลย 

เหล่าอาจารย์พยายามมองหาลูกให้เราได้ลองชิมกัน เพื่อจะให้ทุกคนยืนยันว่ามันไม่อร่อยเหมือนเคปกูสเบอร์รี่หรอก (ออกจะเฝื่อนๆ เจื่อนๆ กว่า) แต่ยอดอ่อนก็มีการเด็ดไปลวกจิ้มน้ำพริกได้ ส่วนต้นของมัน ต้มสุกเป็นยาแก้ไอ ขับเสมหะ ขับปัสสาวะได้ แต่ถ้าสดๆ มีสารพิษอันตรายระดับถึงชีวิตเชียวนะ!

นับญาติมะก่องข้าวน้อยกันค่ะแม่

นี่เป็นครั้งแรกที่รู้จักเจ้าวัชพืชดอกแปลกนี้ หน้าตาเป็นก่องข้าวน้อยจริงค่ะแม่ แต่ด้วยความที่ขึ้นในพื้นที่หลากหลายเหนือ ใต้ ออก ตก จึงมีชื่อเรียกมากไปด้วย ปอบแปบ ตอบแตบ ครอบจักรวาล ครอบฟันสี ฯลฯ แต่ที่ถูกพูดถึงบ่อยๆ เพราะในเชิงสมุนไพร เจ้าต้นนี้สรรพคุณแน่น ทั้งบำรุงโลหิต ขับลม ช่วยย่อยอาหาร บำรุงธาตุ แก้ไข้ แก้เบาหวาน ขับปัสสาวะ ล้างลำไส้ แก้ปวดฟัน ฯลฯ โอ้ย เอาเป็นว่าเยอะ แต่อาจารย์ก็บอกว่า สารสำคัญหรือสรรพคุณเหล่านี้ รู้ไว้ก็ต้องใช้ให้เป็น ปัญหาที่พบบ่อยๆ คือคนไทยขี้เห่อ รู้ว่าดีก็กินเอา กินเอา อะไรที่สะสมมากไปก็ไม่ดีทั้งนั้น

แล้วถามว่าก่องข้าวน้อยนี้เป็นญาติกับต้นไหน ก็เหล่ากระเจี๊ยบ พุดตาน ชบา ฝ้าย ไม่เชื่อก็ดูกลีบดอกที่หน้าตาคลานตามกันมาก็ได้

ปืนนกไส้ญาติเยอะ (กว่าอีก!)

ว่ากันอย่างไม่มีความรู้ เราว่าปืนนกไส้ (ที่เพิ่งรู้จักชื่อก็วันนี้แหละ) ชนะขาดเรื่องความคิวท์ เป็นตัวแทนหมู่บ้านไปสู้กับดอกหญ้าริมทางเมืองนอกเมืองนาพอไหว แต่พออาจารย์มาชี้ชวนพิจารณากลีบใบ และให้ทายว่าเหมือนดอกอะไรน้าาา ก่อนจะเฉลยว่าเจ้าดอกจิ๋วนี้ก็เป็นญาติวงศ์เดียวกับดอกทานตะวัน และชวนเราเพ่งดูช่อกระจุกๆ กับกลีบดอกที่แผ่อยู่รอบๆ แล้วชี้ดอกหญ้าหมอน้อย (หญ้าดอกขาว) ที่มีทั้งดอกหุบที่ยังเป็นกระจุกปลายม่วงๆ กับดอกบานที่กลีบกลายเป็นสีขาวกระจายเป็นปุยๆ ใช่ค่ะ นักเรียน…มันก็เป็นญาติกับดอกทานตะวันบานแฉ่งแข่งแสงอาทิตย์

ตื่นเต้นกับพืชตระกูลถั่วมีสองหมื่นสปีชีส์อยู่ได้แป๊บเดียว อาจารย์ก็บอกว่าวงศ์ทานตะวันมีมากกว่า และมากเป็นอันดับสองของโลกเลยนะ ดอกดาวกระจาย (คอสมอส) เดซี่ เบญจมาศ เยอร์บีร่า แดนดิไลออน ตีนตุ๊กแก ยันผักกาดหอม ก็อยู่ในตระกูลนี้!

ขอแถมอีกหนึ่ง ที่ไม่เข้าพวกวัชพืช!

จริงๆ เราได้ทำความรู้จักสารพัดวัชพืชริมทางในสวนเบญจกิติอีกมากมาย แต่เมมสมองเต็ม จำไม่หมด (ฮ่า)

อีกหนึ่งดอกที่ไม่ใช่วัชพืชแต่ประทับใจจนต้องขอบันทึกไว้ คือดอกเอื้องหมายนา กอไม้ประดับประจำสวน ที่เจ้าหน้าที่ยกเว้นให้เป็นกรณีพิเศษ อนุญาตให้เราได้ลองชิมกลีบเลี้ยงสีแดงที่มันยื่นออกมาดอกละกลีบสองกลีบ แล้วพบว่ามันมีรสเปรี้ยวๆ หวานๆ ฉ่ำน้ำนิดๆ เหมือนกินสตรอว์เบอร์รี่! 

แต่มันไม่ใช่ญาติกับสตรอว์เบอร์รี่หรอกนะ จริงๆ มันเป็นญาติกับขิง Bird of Paradise ไปจนถึงกล้วย 

ถามว่าจะนับญาติกับต้นหมากรากไม้เหล่านี้ไปทำไม ไม่ได้ต้องสอบชีวะ ไม่ได้จะเป็นแม่หมอสมุนไพร หรือไม่แม้แต่จะคิดปลูกต้นไม้เองสักต้น แต่การได้ตีสนิทกับธรรมชาติรอบตัว ไม่เป็นต้นและคนแปลกหน้าให้กันและกัน มันก็รู้สึกชุ่มชื่นหัวใจ แล้วไอ้ความรู้สึกอยากดูแล ปกป้อง หรือหวงแหน มันก็คงมาจากจุดเริ่มต้นแถวๆ นี้แหละนะ 

และนั่นอาจจะเป็นเหตุผลว่าทำไมกิจกรรมนี้ถึงบรรจุอยู่ในชื่อเพจ Herbal Appreciation ก็ได้  

ขอบคุณภาพถ่าย: โครงการ Herbal Appreciation ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Content Designer

อดีตผู้ช่วยบรรณาธิการนิตยสาร #aday คือเจ้าของหนังสือทั้งเรื่องจริงและเรื่องแต่ง อาทิ #สนธิสัญญาฟลามิงโก #ร้านหวานหวานวันวาน คือบรรณาธิการอิสระและคอนเทนต์ครีเอเตอร์ฟรีแลนซ์ ก่อนจะมาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทออกแบบคอนเทนต์ที่ยังไม่รู้จะตั้งชื่อตำแหน่งตัวเองว่าอะไร

Read More:

Play The Conscious Shopper

แชร์วิธีเช็คอินโรงแรมสีเขียว เที่ยวนี้ขอเฟรนด์ลี่กับโลกด้วย

ชวนเป็นนักท่องเที่ยวใส่ใจโลก ตอบรับกับที่หลายโรงแรมเริ่มมีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม

Play จากผู้ใช้จริง

<strong>ตู้กดฝีมือคนไทย ที่ไม่มีใครนั่งอยู่ข้างใน</strong>

แต่นั่งในใจผู้บริโภค จนต้องขอรีวิว!

Play ผลการทดลอง

‘ตามล่า’ หนังสือที่อยากได้จากร้านมือสอง

ทดลองช้อปหนังสือมือสองแบบมีมิชชั่น (ไม่) อิมพอสซิเบิ้ล