Home —— จากผู้ใช้จริง

เนียนเป็นชาวสวีเดน หยอดตู้คืนขยะรีไซเคิล

ไปเที่ยวสวีเดนทั้งที เยือนประเทศที่ติดอันดับต้นๆ ของโลกในแง่ของความน่าอยู่จนต้องร้องโอ๊ย! นอกจากเขาจะมีทั้งระบบการศึกษาดี สวัสดิการรัฐดี รายได้ต่อหัวดี มีความเท่าเทียม เรื่องใกล้ตัวในครัวเรือนอย่างการจัดการขยะ บ้านเขาก็มีวิธีคิดและลงมือทำที่ต่างจากบ้านเรา จนอยากมารีวิวประสบการณ์จากผู้ใช้ ‘ตู้คืนขยะรีไซเคิล’ จริง ให้ฟังหน่อย

เรื่องมันเริ่มจากนักท่องเที่ยวหัวดำอย่างเรา เกิดความเอ๊ะว่า ทำไมทุกครั้งที่ซื้อน้ำที่บรรจุในขวด PET หรือกระป๋อง CAN จากมินิมาร์ทหรือซูเปอร์มาร์เก็ต ที่ท้ายใบเสร็จเราจะโดนบวกค่า ‘pant’ เพิ่มไปอีก 1-2 โครนาสวีเดนเสมอ พอหาคำตอบถึงเก็ทว่า pant ไม่ใช่ภาษาอังกฤษที่แปลว่ากางเกง แต่เป็นภาษาสวีดิชที่แปลว่า ‘มัดจำ’ ต่างหาก พูดง่ายๆ มันคือค่ามัดจำขวดกับกระป๋องที่ผู้บริโภคต้องเป็นคนจ่าย และเมื่อเราเอาขวดไปคืน จึงจะได้ค่ามัดจำนี้กลับคืนมา

เรื่องนี้อาจจะฟังดูว้าวสำหรับเรา แต่ระบบการจัดการขยะที่เรียกว่า pant system แบบนี้มันเกิดขึ้นในสวีเดนมาตั้งแต่ก่อนเราเกิดอีก (ฮา) โดยเริ่มระบบนี้กับกระป๋องก่อนในปี ค.ศ. 1984 และตามด้วยขวดพลาสติกในอีก 10 ปีถัดมา โดยกระบวนการคิดก็คือสร้างระบบมัดจำมาจูงใจแกมบังคับให้คนอยากเอาขยะรีไซเคิลเหล่านี้กลับมาคืนในระบบเพื่อนำไปรีไซเคิล ซึ่งแม้ว่าระบบมัดจำที่ว่านี้จะจัดการโดยบริษัทเอกชน มีเจ้าของเป็นองค์กรอุตสาหกรรม แต่อยู่ภายใต้การออกใบอนุญาต กำกับดูแล และควบคุมโดยระเบียบว่าด้วยระบบการคืนขวดพลาสติกและกระป๋องโลหะ โดยคณะกรรมการเกษตรแห่งสวีเดน ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐ

นอกจากชื่นชมนโยบาย ขอย้อนกลับมาชื่นชมในวิธีการที่มันทำให้เรื่องคืนขยะมันง่าย (ง่ายเกินกว่าที่จะมีข้ออ้างงอแงใดๆ) โดยปัจเจกบุคคลอย่างเราๆ สามารถเดินไปหา ‘ตู้คืนขยะอัตโนมัติ’ หรือ deposit machine ได้ที่ร้านค้าเล็กๆ แถวบ้าน ซึ่งมีอยู่มากกว่าสามพันแห่งในสวีเดน หรือถ้าเราเป็นร้านค้าบริษัทที่รวบรวมขยะเหล่านี้ได้จำนวนมากๆ เขาก็มีจุดรับและตู้ขนาดใหญ่ที่ไม่ยากเกินจะไขว่คว้าหาแถวบ้านเช่นกัน นั่นทำให้ในแต่ละปี ชาวสวีเดนรีไซเคิลขวดและกระป๋องได้มากกว่า 2 พันล้านขวด เป็นตัวเลขที่ชวนฮึกเหิมเหลือเกิน

ว่าแล้วก็ขอลองคืนขยะกับเขาดูบ้าง

เราพกเอาขยะขวดน้ำอัดลมไซส์ใหญ่ที่ล้างเก็บไว้ไปหยอดที่ตู้อัตโนมัติหน้าซูเปอร์มาร์เก็ตแถวที่พัก

เจอเข้ากับ 2 ปุ่มปริศนาที่ต้องกดแปลในกูเกิ้ลทรานสเลตดู สีเขียวคือปุ่มแลกคืนเป็นคูปองเงินสดเพื่อเอาไปใช้จ่ายต่อในร้านค้า ส่วนสีเหลืองคือปุ่มบริจาคเงินก้อนนี้ให้กับองค์กรรักษ์สิ่งแวดล้อมที่แอฟริกา ซึ่งดึงดูดใจกว่า แต่รอบนี้ความหิวเป็นเหตุให้เราตัดสินใจว่าขอรับคูปองไปซื้อของกินต่อก่อนนะ (ขออภัยสายเขียวมา ณ ที่นี้)

หน้าตาของคูปองเงินสดที่ได้มาก็เรียบง่ายเหมือนใบเสร็จจิ๋วๆ ใบนึง ที่เราเอาไปใช้แทนเงินสดในราคา 2 โครนาสวีเดนต่อในซูเปอร์ฯ ได้ทันที 

ส่วนนี่คือภาพน่ารักที่เราเห็นได้บ่อยๆ ในร้านค้าจนต้องถ่ายรูปมาจนได้ หลายๆ บ้านเขาจะยกหน้าที่คืนขยะรีไซเคิลนี้ให้กับเด็กๆ อย่างแก๊งตัวจิ๋วที่เราเห็นนี้ก็ยกกันมาหลายคน หิ้วถุงใส่ขวดกันมาเป็นสิบ แล้วหยอดกันอย่างสนุกสนาน เห็นแล้วมันชื่นใจ 

Content Designer

#อดีตเป็นบรรณาธิการสารคดีนิตยสารวัยรุ่น #เขียนหนังสือบ้างตามโอกาส #ปัจจุบันเป็นเจ้าของบริษัทคอนเทนต์ขนาดเล็ก #กำลังตั้งใจเรียนรู้ที่จะใส่ใจสิ่งรอบตัวมากขึ้นผ่านการเล่าเรื่องราวในไอแอลไอยู

Communication Designer

#กราฟิกดีไซเนอร์ #นิสิตออกแบบสื่อสาร

Read More:

Home

ทำไมต้องตัดใจจากเขา เอ้ย ของ ให้เป็น?

ชวนเรียนรู้กระบวนการบอกเลิก บอกเล่า และบอกแลก ของเคยรัก ในเวิร์กช็อป Barter System Club: Pre-loved Talk & Trade

Home บันทึกประจำวัน

บันทึก 7 วันไม่อันตราย เพราะไม่ใช้ถุงพลาสติก

บันทึกการรับและไม่รับถุงพลาสติกจากร้านค้าและซูเปอร์มาร์เก็ตตลอด 7 วัน

Home มนุษยสัมพันธ์

มนุษยสัมพันธ์ 04: ชวน อ.ธนาศรี คุยเรื่อง plant therapy ระดับทำเองได้ ไปจนถึงใช้เยียวยาเหยื่อข่มขืน และบำบัดคนในเมือง!

มาทำความรู้จักกับ plant therapy ตั้งแต่การปลูกต้นไม้เอง การใช้ต้นไม้บำบัดผู้ป่วย และการสร้างสวนเพื่อบำบัดคนในเมือง