Home —— มนุษยสัมพันธ์

มนุษยสัมพันธ์ 04: ชวน อ.ธนาศรี คุยเรื่อง plant therapy ระดับทำเองได้ ไปจนถึงใช้เยียวยาเหยื่อข่มขืน และบำบัดคนในเมือง!

หลังจากการเวิร์กฟรอมโฮมทำให้ใครหลายๆ คนผันตัวมาเป็นคนสวนประจำบ้าน และหลังจากญาญ่าทำให้การปลูกต้นไม้กลายเป็นเทรนด์มาแรงหยุดไม่อยู่ การทำสวน ปลูกต้นไม้ก็ดูจะเป็นเรื่องใกล้ตัวเรามากขึ้นเยอะ

ในฐานะมือใหม่หัดปลูก เราเคยได้ยินมาบ้างว่านอกจากคุณสมบัติในการฟอกอากาศกับตกแต่งบ้านอย่างที่ฮิตๆ กันแล้ว ต้นไม้ยังเป็นหนึ่งในเครื่องมือบำบัดชั้นเยี่ยม แต่ถ้านึกดูเราจะพบว่าการบำบัดด้วยต้นไม้เป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยคุ้นเคยนัก หรือหากเคยได้ยินก็มักจะเป็นข้อมูลเบื้องต้นที่ค้นเจอได้ตามอินเทอร์เน็ตเท่านั้น เอาเข้าจริง เราเองก็นึกภาพไม่ค่อยออกว่าเขาทำกันด้วยวิธีไหน และทำแล้วจะเห็นผลอย่างไรบ้าง

พอดีกับที่เราได้ไปเจอผลงานหนังสือ ‘สวนบำบัด’ ของ ผศ.ดร.ธนาศรี สัมพันธารักษ์ เพ็ชรยิ้ม หัวหน้าภาควิชาภูมิสถาปัตย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เราเลยขอชวนอาจารย์ผู้คร่ำหวอดในวงการพืชสวนบำบัด หรือ plant therapy มาเล่าเรื่องการบำบัดด้วยต้นไม้ตั้งแต่ระดับเล็กๆ ทำเองได้ ไปจนถึงภาพใหญ่ระดับการสร้างสวนในเมืองให้ทุกคนได้เข้าใจกันมากขึ้น

ถ้าเธอเหนื่อยล้า จงมองหาต้นไม้

มนุษย์ทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เรามีวิวัฒนาการสอดคล้องกับสิ่งรอบตัว แต่ไม่กี่ร้อยปีที่ผ่านมาสังคมมีความเป็นเมืองมากขึ้น ซึ่งมนุษย์เราไม่สามารถอยู่ในพื้นที่ที่มีแต่สิ่งปลูกสร้างได้นาน ลองสังเกตดูสิว่าทำไมเวลาเหนื่อยๆ เราถึงอยากไปทะเล ไปขึ้นเขา ไปเดินสวน เพราะมันทำให้เรารู้สึกดีขึ้นแบบที่บางคนอาจไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ” อาจารย์ธนาศรีเกริ่นถึงหลักเบื้องต้นของธรรมชาติบำบัด ซึ่งเป็นภาพใหญ่ของการบำบัดโดยมีธรรมชาติเป็นเครื่องมือเยียวยาร่างกายและจิตใจ

“พอเป็น plant therapy มันก็คือการใช้ต้นไม้เป็นหลักในการรักษาอาการใดๆ” อาจารย์ขยายความ

ดังนั้นพืชสวนบำบัดจึงทำด้วยวิธีไหนก็ได้ จะออกไปเดินสวน ลงมือปลูกต้นไม้ ทำกายภาพบำบัดในสวนของโรงพยาบาล หรือแค่มองต้นไม้นอกหน้าต่าง ถ้าทำแล้วสบายใจ เราก็เรียกว่าการบำบัดได้ทั้งนั้น 

“สมมติเราแค่อยากดูแลสุขภาพ ไม่ได้ป่วยอะไร การนั่งมองต้นไม้ริมหน้าต่าง ปลูกต้นไม้ง่ายๆ ในบ้าน ดูมันเติบโต ก็เยียวยาจิตใจของเราได้แล้ว เพราะการดูแลต้นไม้ก็เหมือนการเลี้ยงสัตว์ เลี้ยงลูก แต่ง่ายกว่าเยอะ หรือบางคนใช้วิธีไปเดินสวน ไปจับ ไปดมใบไม้ นี่ก็ช่วยกระตุ้นสมองและระบบประสาทให้ทำงานได้อย่างเต็มที่ ส่วนใครที่จริงจังหน่อยอาจจะลงมือเพาะเมล็ด ขุดดิน เราก็จะได้พัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่ มัดเล็กโดยไม่รู้ตัว”

ใช่ว่าต้นไม้ทุกต้น จะเหมาะกับทุกคน

สำหรับใครที่ไม่ได้ป่วย การใช้ต้นไม้สร้างความสุขคงฟังดูเป็นเรื่องง่าย อย่างเราเองคิดว่าแค่มีต้นไม้อยู่ใกล้ตัวสักต้นเดี๋ยวก็คงรู้สึกดี พออากาศปลอดโปร่งร่างกายก็แข็งแรง หรือหากได้ไปเดินตลาดต้นไม้ แค่ซื้อต้นไม้สักต้นกลับมาตั้งที่บ้านก็คงพอ และนี่แหละคือสิ่งที่อาจารย์บอกว่าเป็นความเข้าใจผิดของมือใหม่หัดปลูกส่วนใหญ่ 

“จริงๆ การปลูกต้นไม้ให้ดีต่อเรา มันมีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ อีกที่คนไม่รู้” อาจารย์อธิบายต่อ

เรามักได้ยินว่าอยู่กับต้นไม้แล้วดี แต่ทำไมบางคนพอไปซื้อต้นไม้กลับมาตั้งที่บ้านจริงๆ แล้วไม่ได้รู้สึกดีขึ้นเลย หรือเราน่าจะพอรู้กันว่าถ้าได้ใกล้ชิดธรรมชาติแล้วจะหายป่วย แต่ทำไมบางคนป่วยกว่าเดิมล่ะ นั่นเพราะจริงๆ แล้วจิตใจและร่างกายของแต่ละคนไม่เหมือนกัน 

“เรื่องนี้สำคัญมากและเป็นพื้นฐานที่หลายคนอาจลืมนึกไป ยิ่งปลูกต้นไม้เพื่อรักษาหรือบำบัด เรายิ่งต้องเลือกต้นไม้ให้เหมาะกับวิถีชีวิต มันไม่ใช่ใครก็ได้กับต้นไม้ไหนก็ได้ เราต้องดูรสนิยม ความชอบ และประวัติส่วนตัวก่อน เช่น เรากลัวอะไร ไม่ชอบอะไร มีโรคประจำตัวหรือเปล่า บางคนกลัวสัตว์ก็ต้องเลือกต้นไม้ที่สัตว์จะมาอาศัยไม่ได้ บางคนไม่ชอบพื้นที่รกๆ ก็ต้องจัดวางต้นไม้ให้เป็นระเบียบหน่อย ไม่งั้นแทนที่จะได้บำบัดคงรู้สึกแย่กว่าเดิม”

รู้จักตัวเอง รู้จักต้นไม้ ก็เป็นนักบำบัดได้แล้ว

แล้วถ้าอยากลองปลูกต้นไม้เพื่อบำบัดง่ายๆ จะปลูกยังไงให้เวิร์ก เราตั้งคำถามกับอาจารย์ เมื่อเห็นว่าจริงๆ แล้วการลงมือปลูกต้นไม้เองยังมีปัจจัยอีกหลายอย่างกว่าจะสำเร็จได้อย่างที่ตั้งใจ

“อันดับแรก ต้องหาจุดที่เหมาะสมกับตัวเองให้ได้ว่าเราชอบต้นไม้แบบไหน อย่างอาจารย์ชอบไม้ใบ เพราะเลี้ยงง่าย เติบโตไปให้ร่มเงาดี ไม่เหมือนไม้ดอกที่ดูแป๊บๆ ก็เบื่อ

“ทีนี้ก็ต้องดูว่าเรามีเวลาแค่ไหน มีทักษะหรือเปล่า สมมติเป็นมือใหม่ อยากปลูกกุหลาบนี่ยากเลยนะ ลองหาต้นไม้ที่เหมาะกับเราจริงๆ ดีกว่า แล้วศึกษาข้อมูลให้ดีว่าต้นนี้ดูแลยังไง มีอายุไขเท่าไหร่ ค่อยๆ เรียนรู้จากเขาไป ที่สำคัญอย่าเริ่มจากต้นแพงๆ เวลาตายจะได้ไม่เจ็บใจ” อาจารย์กล่าวพร้อมเสียงหัวเราะเมื่อนึกถึงเทรนด์ต้นไม้ที่กำลังมาแรงในตอนนี้จนต้นไม้หลายชนิดราคาพุ่งสูงจนน่าตกใจ

“อาจารย์ว่าการเป็นเทรนด์ก็ดีนะ เพราะ จริงๆ ต้นไม้ก็คือแฟชั่นนี่แหละ ความนิยมมันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ พอมีกระแสก็เกิดการร่วมกลุ่มกัน มีร้านหลากหลายขึ้น มันก็ง่ายสำหรับมือใหม่ในการเจอคนที่ให้คำปรึกษาได้ ถึงจะมีคนที่ปลูกแล้วเลิกไป แต่ถ้ามีสมาชิกใหม่เข้ามาเรื่อยๆ วงการนี้ก็คงอยู่ได้อีกยาว”

อาจารย์สาวยังเสริมอีกว่า การเลือกร้านต้นไม้ให้เป็นถือเป็นอีกหนึ่งเคล็ดลับสำคัญสู่ความสำเร็จ ดูรีวิวเยอะๆ และหาร้านที่ไว้ใจได้จริงๆ เพราะร้านต้นไม้บางแห่งจะมีจุดเพาะชำต้นไม้ก่อนย้ายมาวางขายหน้าร้าน ซึ่งสภาพหน้าร้านอาจไม่ดีเท่าตอนเพาะชำ เมื่อเรานำกลับบ้าน ต้นไม้เลยอยู่ได้ไม่นานก็ตาย ฉะนั้นอย่าเพิ่งรีบโทษตัวเองเลยว่าทำไมปลูกอะไรก็ไม่โต หรือบางทีเราอาจจะพบว่าตัวเองมีสกิลในการชุบชีวิตต้นไม้ระดับดีเยี่ยมก็ได้ ใครจะไปรู้

“แล้วข้อดีของการปลูกต้นไม้คืออะไรรู้ไหม เราอยากคุย อยากตั้งชื่อ อยากทำอะไรกับเขาก็ได้ เพราะเขาพูด เขาเถียงไม่ได้ แบบไหนทำแล้วรู้สึกดี ก็ทำแบบนั้นแหละ

แต่อย่าลืมว่าเขาก็ป่วยได้ ตายได้ เขามีอายุของเขา อย่าไปทุ่มใจเยอะ ถ้าเขาตายไปหรือปลูกแล้วไม่เป็นดั่งใจก็เริ่มต้นใหม่ แค่นั้นเอง” อาจารย์กล่าวพร้อมร้อยยิ้ม”

รักษาแผลใจด้วยเศษใบไม้และปุ๋ยหมัก

อย่างที่อาจารย์บอก ว่าการปลูกต้นไม้สามารถเลือกได้ตามความเหมาะสมและความชอบ ก็เหมือนกับการใช้ต้นไม้เพื่อบำบัดผู้ป่วย ซึ่งสามารถกำหนดเป้าหมายของการปลูกหรือการทำกิจกรรมตามความพร้อมของแต่ละคนได้เช่นกัน 

แต่ถ้าพูดถึงการรักษาอาการของผู้ป่วยจริงๆ การบำบัดจะต้องคิดให้ละเอียดรอบคอบมากขึ้น มันจึงไม่ใช่แค่การทำ plant therapy ที่เป็นอะไรก็ได้เกี่ยวกับต้นไม้ แต่จะเจาะจงไปที่ ‘สวนบำบัด’ หรือ garden therapy ซึ่งอาศัยสถาปนิกช่วยออกแบบพื้นที่ให้ใช้งานง่าย มีนักพฤกษศาสตร์ช่วยคัดเลือกต้นไม้ที่เหมาะสม และมีทีมแพทย์หรือเจ้าหน้าที่คอยดูแลผู้ป่วยเมื่อถึงเวลาบำบัดอย่างใกล้ชิด

“ผู้ป่วยบางรายไม่ได้เข้มแข็งพอจะรับมือการเติบโตและตายไปของต้นไม้ กิจกรรมของเขาอาจเป็นแค่การตั้งเป้าหมายง่ายๆ ในแต่ละวัน เช่น วันนี้จะเอากระถางมาเรียงแล้วกรอกดินใส่ให้ครบตามเวลาที่กำหนดไว้ เท่านี้ก็รู้สึกดีได้แล้ว”

“หรืองานที่อาจารย์เคยศึกษามาแล้วพบว่าน่าสนใจมากคือการใช้สวนบำบัดผู้ป่วยที่เคยโดนล่วงละเมิดทางเพศ คนกลุ่มนี้เขาไม่ต้องมาปลูกอะไรเลย แค่ถอนหญ้า พรวนดิน แล้วเอาเศษใบไม้ที่ได้ไปทำปุ๋ยหมัก 

ที่ต้องทำปุ๋ยหมักก็เพราะการทำปุ๋ยเหมือนการเอาขยะไปโยนทิ้ง แต่พอทิ้งไปสักพัก ขยะเหล่านั้นจะมีคุณค่า เอากลับมาปลูกต้นไม้ให้เจริญงอกงามได้ มันจึงเหมือนการทิ้งของแย่ๆ ในใจออกไป ทิ้งแล้วมันก็ไม่ได้หายไปไหนหรอก แต่มันจะกลายเป็นการสร้างพลังให้เขามีกำลังใจในการใช้ชีวิตต่อไป

เมื่อฟังถึงตรงนี้เราก็ได้แต่ร้องว้าว เพราะไม่เคยนึกเลยว่านอกจากการปลูกต้นไม้หรือเดินสวน กิจกรรมง่ายๆ แค่นี้จะมีความหมายอันยิ่งใหญ่ต่อใครหลายๆ คน จนอดทึ่งไม่ได้ว่าโลกของพืชสวนบำบัดนั้นกว้างขวางกว่าแค่การปลูกต้นไม้ในกระถางอย่างที่เราเคยรู้ไปเยอะ

“แถวสแกนดิเนเวียก็น่าสนใจ เพราะเขามีสวนที่ใช้รักษาโรคจิตเวชและโรคเครียดโดยเฉพาะ เป็นการร่วมมือกันของนักภูมิสถาปัตย์และแพทย์ อย่างผู้ป่วยหนักโรคเบิร์นเอาต์ที่ไม่สามารถออกจากห้องไปเจอคนได้ เขาก็จะรักษาด้วยการพาคนเหล่านี้ไปอยู่ในสวนป่า ไม่มีการออกแบบ ไม่มีร่องรอยคนเพื่อให้เกิดความคุ้นชินกับพื้นที่นอกบ้าน เมื่อปรับตัวได้ก็จะเปลี่ยนให้ผู้ป่วยไปอยู่ในสวนที่เริ่มมีการตกแต่ง เห็นผลไม้ เห็นผัก จนจิตใจแข็งแรงก็จะขยับไปสู่สวนที่มีคนเดินไปเดินมาบ้าง พอใกล้หายเขาก็จะได้ทำกิจกรรมร่วมกับผู้ป่วยคนอื่น มาปลูกผัก ทำอาหาร ถือเป็นการรักษาอย่างเต็มรูปแบบจริงๆ”

กรุงเทพฯ ชีวิตดีๆ ที่จะลงตัวกว่านี้ถ้ามีสวน

ยิ่งได้ฟังสิ่งที่อาจารย์เล่า เราก็เริ่มเห็นภาพแล้วว่าการมีสวนดีๆ หรือต้นไม้เขียวๆ ไม่ได้ดีแค่กับคนทั่วไปแบบเราที่ต้องการพื้นที่ผ่อนคลายเท่านั้น แต่ถ้าสวนดี ไม่ว่าจะเป็นคนป่วย หรือใครๆ ก็จะมีพื้นที่ที่เหมาะสมในการเยียวยาจิตใจเช่นกัน เราเลยได้แต่ตั้งคำถามกับอาจารย์ว่า ประเทศไทยจะมีโอกาสมีพื้นที่สีเขียวหลากหลาย บ้างไหม อาจจะไม่ต้องยิ่งใหญ่แบบที่อาจารย์ยกตัวอย่างให้ฟัง แต่อย่างน้อยก็ช่วยจริงจังเรื่องสวนอีกนิดก็ยังดี

“อาจารย์ว่าสวนที่ดีต้องตอบโจทย์ทุกคน อย่างสวนชุมชนของอังกฤษที่อาจารย์เคยไป คนป่วยหรือคนทั่วไปก็มาได้ มีกิจกรรมให้ทำ มีผู้ดูแลสวนที่พอจะทราบว่าแต่ละคนเป็นใครมาจากไหน มันจึงเป็นสังคมเล็กๆ ให้คนได้มาพบปะพูดคุยกัน บางคนไม่ได้มาทำอะไรเลยนะ แค่แวะเอาขนมมาแจก มานั่งคุยเฉยๆ ก็มี

“ในไทยเองก็ใช่ว่าจะไม่มีนะ อาจารย์มีโอกาสไปทำงานกับโรงพยาบาลหลายแห่ง เขาก็ให้ความสำคัญกับการมีสวนดีๆ ที่พนักงานใช้พักผ่อนได้ มีพื้นที่ปลูกผักไว้กิน คนเฝ้าไข้เหนื่อยๆ ก็มานั่งผ่อนคลายได้ ไม่ต้องอุดอู้อยู่แต่ในอาคาร มันอาจจะยังไปไม่ถึงการบำบัดผู้ป่วยอย่างเต็มรูปแบบ แต่ก็ถือเป็นพื้นที่ที่ทุกคนใช้ประโยชน์ร่วมกันได้”

อาจารย์เล่าให้เราเห็นภาพอีกนิด ว่ากว่าจะมีสวนสำหรับการบำบัดอย่างเต็มรูปแบบหรือสวนชุมชนดีๆ สักแห่ง ไม่ใช่แค่ออกแบบเสร็จแล้วทุกอย่างจะสำเร็จตามภาพที่วางไว้ เพราะเมื่อลงมือทำจริงจะมีปัจจัยเรื่องงบประมาณและระยะเวลาเข้ามาเกี่ยวข้อง สวนบางแห่งที่อาจารย์เคยไปช่วยออกแบบเลยใช้วิธีค่อยๆ ทำทีละนิด ปรับปรุงไปทีละจุด กว่าจะได้สวนที่สมบูรณ์แบบจึงต้องใช้เวลาอยู่พอสมควร

เอาเข้าจริงสวนในกรุงเทพฯ ก็เริ่มเยอะขึ้นและใกล้ตัวมากขึ้นนะ เราเริ่มเห็นสวนของภาคเอกชน หรือสวนดาดฟ้าที่ปลูกผัก ทำตลาดออร์แกนิก แต่ปัญหาคือมันไม่สะดวกพอ บางที่เดินทางยาก บางที่ไม่มีที่จอดรถ และมันไม่มีความหลากหลาย 

“ในมุมสถาปนิกแบบเรา เราก็อยากให้คนมีพื้นที่สาธารณะใช้เยอะๆ อยู่แล้ว ยังไงมีก็ดีกว่าไม่มี แต่มีแล้วต้องตอบโจทย์ด้วย บางคนอาจจะอยากมานั่งพักเงียบๆ บางคนอาจจะผ่อนคลายด้วยการจับกลุ่มเล่นกีฬา บางคนอาจจะอยากพาคนแก่มาเดินเล่น สวนจึงต้องหลากหลาย จะมีแยกกันหลายที่ หรือมีที่ใหญ่ๆ แล้วทำได้หลายกิจกรรมก็ได้

“แต่ใช่ว่ามีเยอะๆ เข้าไว้ แล้วจะดีนะ” อาจารย์รีบหยุดภาพฝันของเราไว้ ระหว่างแลกเปลี่ยนเรื่องสวนที่เราพบเจอในกรุงเทพฯ 

บ่อยครั้งที่เราเจอสวนถูกทิ้งร้างใต้ทางด่วน สวนสาธารณะที่เต็มไปด้วยต้นไม้แห้งๆ และสวนหย่อมที่มาพร้อมอุปกรณ์ออกกำลังกายทรุดโทรม ขนาดเราเองเห็นแล้วยังไม่กล้าใช้บริการ นี่จึงเป็นเรื่องยากเข้าไปใหญ่สำหรับใครที่อยากผ่อนคลายจิตใจหรือขยับเขยื้อนรักษาอาการป่วย แต่ไม่สะดวกเดินทางไปสวนใหญ่ๆ ในเมือง หรือไม่มีความจำเป็นต้องไปโรงพยาบาล เพราะแม้จะมีสวนขนาดย่อมพออำนวยความสะดวกได้บ้าง แต่สวนหลายแห่งเหล่านี้ก็ไม่ได้เป็นพื้นที่ของทุกคนอย่างแท้จริง

เมื่อมีสวนแล้ว สิ่งสำคัญคือต้องดูแลรักษามันให้ดีอยู่เสมอ เพราะเมื่อไหร่สวนทรุดโทรม ต้นไม้ตายยับเยิน มันก็ให้ผลตรงข้ามแล้ว การที่เราเห็นต้นไม้ตายไม่ได้ทำให้เรารู้สึกดีเลยนะ ขนาดสวนที่จะช่วยเยียวยาเรายังไปไม่รอด แล้วเราจะเหลืออะไร”

ภาพ: ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

Content Designer

#อดีตนิสิตภาควารสารฯ #เรียนจบแล้ว #นักเขียน

Read More:

Home ผลการทดลอง

ทดลองพกถุงก๊อบแก๊บไปใช้ซ้ำในชีวิตประจำวัน (ฉบับคนขี้ลืม)

อยากรียูสถุงก๊อบแก๊บ แต่ลืมเอามาทุกที ก็ต้องหาวิธีแก้กันหน่อย

Home

#จับฉลากของขวัญเคยรัก หมายเลข 1 | เจ้าของเก่า: โอ๋

ของขวัญเคยรักปริศนาหมายเลข 1 ที่จะนำมาจับฉลากสิ้นปีนี้ในธีม จับฉลากของขวัญเคยรัก!

Home บันทึกประจำวัน

บันทึก 7 วันไม่อันตราย เพราะไม่ใช้ถุงพลาสติก

บันทึกการรับและไม่รับถุงพลาสติกจากร้านค้าและซูเปอร์มาร์เก็ตตลอด 7 วัน