Work —— ทัวร์ลง

ทัวร์ลง ep.03 สเก็ตซ์เมืองลง ‘กระดาษ’ กับ Bangkok Sketchers

ความตั้งใจของการทำซีรีส์ ‘ทัวร์ลง’ คือการลงไปคุยกับคนทำทัวร์และคนจัดทริป ที่ออกแบบประสบการณ์ให้กลายเป็นงานที่เลี้ยงชีพได้ แต่กับกลุ่ม Bangkok Sketchers เราไม่อาจจัดหมวดจัดหมู่ในอยู่ในกล่องที่ว่า เพราะพวกเขาขับเคลื่อนมันโดยไม่มีเรื่องเงินมาเกี่ยวข้อง ไม่มีใครได้รับค่าตอบแทน แต่ทริปก็ถี่ซะจนเราสงสัยว่าเอาแรงที่ไหนมาทำกันเนี่ย!!!

ด้วยเหตุนี้ เราจึงยกมือขอไปร่วมทริปวาดรูปประจำเดือนกับแก๊งนี้ดูสักตั้ง (ทั้งที่สกิลวาดรูปหยุดอยู่แค่ชั้น ป.4) เพราะอยากรู้ว่า กลุ่มที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ พ.ศ. 2553 มีสมาชิกเหนียวแน่นอยู่ในกรุ๊ปเฟซบุ๊กเหยียบสามหมื่นคน รวมตัวทำทริปต่อเนื่องทุกเดือน (หยุดไปนานหน่อยก็ช่วงโควิดระบาด) แถมกรุ๊ปไม่เคยเงียบเหงา ยังคงมีภาพสเก็ตช์หลากแนว หลายแบบจากสมาชิกมาอัพเดตบนไทม์ไลน์อย่างสม่ำเสมอ พวกเขาเกาะเกี่ยวกันไว้ด้วยอะไร ถึงเหนียวแน่นได้ขนาดนี้

เราได้ล้อมวงคุยกับแก๊งผู้ก่อตั้งและผู้สานต่อจำนวนหนึ่ง (ใช่-จริงๆ มีโต้โผมากว่านี้ที่ร่วมทำให้ทริปแต่ละครั้งเกิดขึ้น) ทั้ง พี่อัสนี ทัศนเรืองรอง พี่หมอ-ทิววัฒน์ ภัทรกุลวณิชย์ พี่พิสิฐ อภิรติกุล พี่เธียร-สุเธียร โล้กูลประกิจ และพี่เต้ ปิติรัตน์ ยศวัฒน บอกกับเราเหมือนกันว่าพวกเขารวมตัวกันเพื่อความสุข 

ความสุขที่ว่าหน้าตาเป็นแบบไหน เหมือนสิ่งที่พวกเขาวาดลงไปบนกระดาษหรือเปล่า ตามพวกเขาไปในทริปวาดสามแพร่ง ที่เกิดขึ้นเมื่อปลายเดือนตุลาคมกัน 

13.00

หลังจากกรอกกูเกิลฟอร์มยื่นความจำนงว่าจะเข้าร่วมในทริปนี้ด้วยคน ก็ได้รับการนัดแนะว่าให้มาเจอกันเวลาบ่ายโมงตรงที่ P.Space แกลเลอรีและร้านกาแฟน่ารักในสามแพร่ง เพื่อรับกระดาษ 1 แผ่น ที่ Museo ร่วมสนับสนุน จากนั้น ก็เดินหามุมที่ถูกใจ แล้วเริ่มต้นสเก็ตซ์ได้เลย

แต่เมื่อเรามาถึงตามเวลา ก็พบว่าตลอดสองฝั่งซอยมีแก๊ง Bangkok Sketchers จับจองฐานที่มั่นในการเริ่มร่างดินสอ ลงสี นำไปก่อนหน้าแล้ว เพราะเมื่อสถานที่เป็นย่านของอร่อยอย่างสามแพร่ง-เสาชิงช้า ทั้งที หลายคนก็เลือกมาฝากท้องแต่เนิ่นๆ และเมื่อมาถึง ก็ยากที่จะไม่คันไม้คันมือ ก็เลยลงมือจับจองและเริ่มสเก็ตซ์กันแบบไม่ต้องมีใครรอใคร

“ตามสบายเลยนะ กลับมาเจอกันที่นี่ตอนห้าโมงเย็น” ใครคนหนึ่งบอกเมื่อดูออกว่าฉันเป็นสมาชิกใหม่ไม่คุ้นหน้าและทำตัวเด๋อด๋าอย่างโจ่งแจ้ง ฉันจึงใช้สิทธิ์สมาชิกใหม่ช่างซัก เริ่มต้นคำถามถึงจุดเริ่มต้นของ Bangkok Sketchers

พี่อัสนีเล่าว่า ย้อนกลับไปเมื่อ 12 ปีที่แล้ว เขาเพิ่งกลับมากรุงเทพฯ หลังจากไปทำงานเป็นสถาปนิกอยู่ที่สิงคโปร์พักใหญ่ และได้รู้จักกับพี่ปราโมทย์ ที่เป็นนักออกแบบเฟอร์นิเจอร์ แล้วอยู่ดีๆ ก็ครึ้มใจ ชวนกันออกมาเดินเล่นในเมืองและเริ่มวาดรูป แล้วอยู่ดีๆ (อีกที) เพื่อนคนอื่นๆ ที่มีความสนใจในรูปแบบเดียวกัน ก็เริ่มมาขอเดินด้วย วาดด้วย ตามสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นถนนเจริญกรุง ริมแม่น้ำเจ้าพระยา หรือวัดวาอารามในย่านเก่า รวมตัวกันหลวมๆ ราวๆ 4-5 คน นัดแนะกันตามสะดวกผ่านสายโทรศัพท์ “ตอนนั้นแค่สนุกกับการวาดรูป วาดเมืองของเรา โดยที่ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายที่จะใช้เมืองเป็นพิเศษ แต่ก็มีความสุขกับเมืองอยู่แล้วพอสมควร”  

จนกระทั่งพี่กวิน ตัวละครสำคัญยุคบุกเบิกเริ่มตั้งกลุ่มเฟซบุ๊กในชื่อ Bangkok Sketchers จุดมุ่งหมายก็คือรวมตัวเพื่อนัดแนะกันมาวาดรูป ‘ทุกสัปดาห์’ สมาชิกจึงเริ่มมากหน้าหลายตา และเข้มแข็งมาถึงปัจจุบัน

13.10 

เพื่อร่วมกิจกรรมอย่างครบถ้วน ฉันเซอร์เวย์เส้นทางทั้งสามย่าน ด้อมๆ มองๆ กลุ่มนักวาดที่อาศัยขอบฟุตบาทเป็นเก้าอี้จิ๋ว บ้างก็มีเก้าอี้พับเล็กๆ เคลื่อนย้ายง่ายมาเป็นตัวช่วย บ้างก็ยืนวาดด้วยเหตุผลว่าเคลื่อนที่ง่ายไม่เกะกะคนผ่านไปผ่านมา และบ้างก็ปั่นจักรยานมาร่วมวาด และใช้แฮนด์จักรยานเป็นขาตั้งสำหรับวาดรูปซะเลย!

ฉันย้อนมานั่งรวมกับแก๊งหนึ่งที่ฟุตปาธข้างๆ อดีตโรงเรียนตะละภัฏศึกษา ซึ่งเป็นอดีตวังแพร่งนราของกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์และอดีตโรงละครปรีดาลัยอีกที มองซ้ายมองขวาเห็นทุกคนจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ตาเห็นตรงหน้า กับสิ่งที่ร่างอยู่บนกระดาษ ฉันจึงขอเริ่มลงมือสเก็ตซ์อาคารเก่าชราที่ยังมีร่องรอยความงามให้เห็นอยู่กับเขาอีกคน

“Bangkok Sketchers ตอนแรกไม่มีกติกาอะไรเลย แค่มาเจอกันแล้ววาดรูป แต่จริงๆ เหมือนวาดรูปบังหน้า เพราะมันคือการมาหาของอร่อยกินกัน คือใครไปย่านไหนแล้วมีอะไรอร่อยเราจะรู้ แล้วเราก็จะบอกว่าไปวาดที่นี่ แล้วไปกินอันนี้กัน” พี่หมอ-ทิววัฒน์บอกเล่า “ด้วยความที่ตอนนั้นเรายังเป็นเด็กๆ กันอยู่ ยังไม่วัยรุ่นเท่าปัจจุบัน เราก็รวมตัวกันหลวมๆ วาดกันแหลก ตอนที่วาด มันสนุกตรงที่คนวาดเก่งกับคนวาดไม่เก่งนั่งด้วยกันได้เลย

“ผมจำได้ครั้งหนึ่งชวนกันไปวาดวัดสระเกศ-ภูเขาทอง คนวาดเก่งซัดภูเขาทองทั้งลูกเลย ขึ้นไปบนภูเขาทอง มองลงมาวาดเบิร์ดอายวิวเห็นไปครึ่งเมือง ส่วนคนที่วาดไม่เป็นเลย จบบัญชีมาวาดถังขยะ วาดดอกลั่นทม วาดของเล็กๆ สรุปสุดท้าย พอเอางานมาวางเรียงกันหมด สิ่งที่เห็นมันคือความสุข สิ่งที่ทำให้ Bangkok Sketchers รวมคนเข้ามาได้ เพราะเป้าหมายอย่างเดียวเลยคือ ความสุข”

13.30 

จากนั้น พี่หมอก็ผายมือแนะนำไปที่พี่พิสิฐที่ตามมาทริปครั้งแรกแบบไม่รู้อะไรมาก่อน แต่เพราะเป็นแฟนรายการวิทยุของพี่หมอ พอแกชวนว่าไปเที่ยวคลองอรชรตรงสยามพารากอน พี่พิสิฐก็ตามมาเพราะคิดว่าพี่หมอจะเป็นไกด์พาเที่ยว 

“วันนั้นพี่อัสนีแกก็ชวนผมวาดรูป ผมบอกผมไม่วาดผมวาดไม่เป็น ไม่เคยวาด ผมเรียนบัญชีมา แล้วพี่อัสนีก็บอกว่า เราไม่ได้วาดเพื่ออวดกัน แต่เราวาดเพื่อเก็บความทรงจำ” พี่พิสิฐผู้ควบตำแหน่งเหรัญญิกอาสาประจำแก๊ง เล่าถึงจุดเริ่มต้นของตัวแกเอง

“หลังจากทริปนั้น ผมก็เจอพี่พิสิฐอีกครั้งหนึ่งที่วังสราญรมย์ พี่พิสิฐมาเลยครับมีไม้บรรทัดมาด้วย ขีดเส้นตรง เอายางลบมาลบด้วย ผมก็เลยบอกว่า อย่างแรกให้เอายางลบทิ้งไปก่อน อย่างที่สอง ให้เอาไม้บรรทัดทิ้งไป” พี่หมอเล่าติดหัวเราะ

“จากนั้นเราเลยตั้งเป็นกฎ 2 กฎแรกของกลุ่ม ห้ามใช้ไม้บรรทัด ห้ามใช้ยางลบ” พี่อัสนีช่วยเสริม ก่อนจะบอกว่า หลังจากนั้น ผลงานของพี่พิสิฐก็พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ จากคนที่ไม่กล้าลากเส้น กลายเป็นนักวาดฝีมือดีที่เหล่าลุง ป้า น้า อา ประจำชุมชนต้องมายืนชื่นชมอยู่เสมอ

14.30 

ภาพแรกของฉันไม่ได้เรื่องเลยในสายตาตัวเอง ’ตีฟผิดรุนแรง ลงสีเละเทะ แถมยังไม่เหมือนวังแพร่งนราสักกะนิด เลยรีบปิดสมุดและแก้เก้อด้วยการขอเปลี่ยนพิกัด เดินไปสำรวจผลงานเพื่อนร่วมทริป ซึ่งบอกเลยว่าใจฝ่อกว่าเดิม

นอกจากภาพสีน้ำที่สเก็ตซ์ในเวลาอันรวดเร็ว (แถมสวยและมีชีวิตชีวาทุกภาพ) ยังมีบางคนเลือกใช้เทคนิคอื่นๆ อย่างสีน้ำมัน ลองถามไถ่ได้เหตุผลว่ากำลังสนุกกับการใช้สีเทาหลากเฉดในสีน้ำมัน การได้มาวาดตึกเก่าในย่านเก่าจึงเหมาะเจาะ บางคนก็สเก็ตซ์ด้วยปากกาด้ามเดียวแต่ก็เต็มไปด้วยรายละเอียดที่บันทึกสิ่งตรงหน้าไว้อย่างน่าปรบมือ 

“เราไม่ตัดสินกันว่าของใครสวย ไม่สวย เรารวมกลุ่มที่มีความหลากหลายในวงการวิชาชีพมากเลย ตั้งแต่หมอ สถาปนิก ครูบาอาจารย์ นักบัญชี แต่เรามีหลักการว่าเราไม่ได้ถือว่าเราเป็นกลุ่มศิลปะ แค่ต้องการส่งเสริมคนที่ชอบวาดรูปเป็นหลัก ไม่คิดว่าจะต้องมีการเรียนรู้อะไรกัน อีกกฎของกลุ่มก็คือ เราไม่สอน แต่เราให้เรียนรู้จากกันและกัน อันนี้เป็นจุดหลัก ไม่มาสอนให้วาดอย่างโน้นอย่างนี้ วาดที่อยากวาด คนที่เรียนมาแล้วเขาไม่อยากจะวาด มันก็ไม่มีประโยชน์อะไร 

“การสเก็ตซ์มันเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ที่จะมีความสุขและมีโอกาสได้แบ่งปัน แต่ละคนก็จะใช้กิจกรรมตรงนี้ในการพัฒนาตนเอง ให้ตัวเองได้รู้จักกับสังคม รู้จักกับเพื่อนบ้าน รู้จักกับสิ่งที่ตัวเองชอบ โดยธรรมชาติของรูปสเก็ตซ์ มันเป็นสิ่งที่คนเราเข้าถึงได้ง่ายที่สุดรูปแบบหนึ่ง มันไม่เหมือนเราไปนั่งเพ้นต์รูปบนขาตั้งใหญ่โต อย่างเช่นวันนี้ผมได้เพื่อนใหม่อายุ 10 ปี ที่ไปนั่งร้านไอติมแล้วได้มา

“การสเก็ตซ์มันเป็นการสะท้อนสิ่งที่เรารู้สึกกับสถานที่นั้น แล้วก็ไม่ได้ตั้งใจจะปั้นให้มันสวยงามเพื่อที่จะเอารูปไปขายได้หรืออะไรอย่าง เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นการวาดที่ไม่ต้องกดดันว่าคนจะชมว่าสวยไหม ยอดไลก์จะเยอะไหม จะขายได้ไหม คิวเรเตอร์จะสนใจหรือเปล่า 

“ทุกคนวาดสวย ไม่สวยไม่เป็นไร เขามีความสุขขณะวาด นั่นก็เพียงพอแล้ว”

พี่อัสนีบอกเล่าถึงแก่นของการรวมตัว ก่อนที่พี่หมอจะเสริมจากมุมของตัวเอง

“มนุษย์เป็นสัตว์สังคม เรามาเจอพี่ๆ เพื่อนๆ เราก็ได้แลกเปลี่ยน ทุกครั้งที่มาเจอ มันคือการได้เรียนรู้หมด หลายๆ คนที่มา ทุกคนค่อยๆ วาด เรียนรู้ด้วยตัวเอง จนตอนนี้เขาใช้การวาดรูปบำบัดตัวเองได้ หรืออย่างพี่เอง พี่เริ่มต้นสเก็ตซ์ภาพตอนวิกฤตต้มยำกุ้ง ตอนนั้นบ้านเมืองมันหดหู่ ไฟถนนไม่เปิด ไม่มีความหวัง วันหนึ่งพี่เหลือเงินทั้งตัว 80 บาท ไม่มีตังค์เติมน้ำมันรถ ต้องขึ้นรถเมล์ แล้วพอเราเดิน เราเห็นเลยว่า เฮ้ย! มันมีอย่างนี้อยู่ในบ้านเราเมืองเราด้วยเหรอ ก็เลยเริ่มสเก็ตซ์ จน บก. มาเห็นเข้าก็ชวนเอามาลงหนังสือพิมพ์ไหม ตอนนั้นพี่เขียนอยู่ในกรุงเทพธุรกิจ บางทีก็เขียนบ่นกับเรื่องบ้านเมือง บางทีก็เขียนชื่นชมสิ่งที่มันดีงามเกิดขึ้น เพื่อที่จะให้คนอ่านได้เห็นว่ามันมีมุมที่รื่นรมย์ มันมีโลกอีกโลกหนึ่งนะ ไม่ใช่โลกที่เราอยู่กับความหดหู่ โลกที่เราคิดว่าเศรษฐกิจไม่มีทางฟื้นกลับมาได้ พี่ก็อาศัยตรงนี้เป็นเวทีบอกคน และมารู้ทีหลังว่าพี่ปราโมทย์ที่ร่วมก่อตั้งกับพี่อัสนี ก็ได้แรงบันดาลใจจากที่พี่เขียนเหมือนกัน”

16.30 

“ผมบอกกฎอีกข้อนึงนะครับ กลุ่มเรา ไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไหร่ จะอายุมากหรืออายุน้อย เรียกพี่กับน้องเท่านั้น ไม่มีเรียกอย่างอื่น ห้ามเรียกลุง ห้ามเรียกคุณตาคุณยาย มันถึงยั่งยืน” พี่พิสิฐในฐานะผู้อาวุโส เอ่ยปากบอกเราตั้งแต่แรกๆ ที่ตอนแรกเราก็นึกว่าล้อเล่น แต่ดูเหมือนทุกคนจะเป็นเพียงพี่และน้องเท่านั้นจริงๆ 

ขณะที่เราเดินไปร่วมก๊วนใหญ่บนแพร่งนรา ก็ได้นั่งฟังแก๊งรุ่นเก๋า 5-6 ชีวิตวาดกันไป แซวกันไป ทอปปิกส่วนใหญ่ก็ไม่พ้นการอำกันเรื่องวัยเกษียณ แต่กลับเป็นบทสนทนาที่สนุกและมีชีวิตชีวา จนดูเหมือนว่าความโรยราของวัย ไม่อาจพรากความสนุกและความสุขจากการวาดรูปไปได้เลย 

“ทุกคนที่เข้ามาหรือที่มีความสัมพันธ์กัน เพราะว่าเรามีหน้าที่ปรบมือชื่นชมซึ่งกันและกันอยู่เสมอ

“ไม่ว่าจะวาดเก่งวาดไม่เก่ง มันมีคุณค่าในตัวมันเอง และเจตนาเบื้องหลัง เราถือว่าเราทำเพื่อจุดมุ่งหมายของการเรียนรู้ความสุขของแต่ละคน โดยที่ไม่มีอย่างอื่นเข้ามาแอบแฝง” 

พี่อัสนีในวัยที่ไม่ต้องระบุตัวเลข บอกฉันอย่างนั้น

17.00 

นอกจากบันทึกเรื่องราวจากความทรงจำของตัวเองแล้ว หลายๆ คนยังใช้ภาพวาดเป็นเครื่องมือสานสัมพันธ์ อย่างพี่พิสิฐนักบัญชีคนเดิม ชอบบันทึกเรื่องราวของชุมชนรอบๆ ทั้งแม่ค้า ร้านรวง หรือบ้านเรือนที่ได้แวะเวียนไป แล้วส่งให้เจ้าของแรงบันดาลใจเป็นของขวัญ

“แถวบ้านผมมีตลาด มีแม่ค้าขายสารพัด ผมก็จะวาดเจ้านี้เจ้านั้น แล้วก็ไปให้เขา เขาก็โอ้โห! บางคนนี่เอาไปติดที่บ้านเลยนะ มีความสุขมาก ขอบคุณมากเลย ผมว่าคือคนที่ได้รับรูป เขาก็มีความสุข ทุกวันนี้ผมก็ยังทำอยู่ คนที่สนิทๆ กันผมก็จะวาดการ์ดวันเกิดแล้วส่งให้” พี่พิสิฐบอกเล่า ก่อนที่ทุกคนจะเริ่มแชร์ความเป็นมิตรที่ได้รับจากการวาดรูป พร้อมข้อสรุปว่า “Sketchers ไปที่ไหนก็มีแต่คนรัก” ทั้งเจ้าของบ้านที่ฮอยอัน มาเสิร์ฟน้ำและกาแฟให้ตอนวาดรูปหน้าบ้านเขา พ่อค้ารถเข็นขายน้ำเชิงสะพานพุทธก็หยิบยื่นน้ำเปล่าให้โดยไม่คิดเงิน ร้านสังฆภัณฑ์ที่เสาชิงช้าก็หยิบยื่นเก้าอี้และน้ำดื่มให้ เมื่อเห็นว่ากำลังยืนวาดเก้ๆ กังๆ หรือการหยิบยื่นให้กับแบบเป็นจริงเป็นจัง ก็เจ้าของร้านอาหารที่ญี่ปุ่นที่เห็นภาพวาดร้านอาหารของตัวเอง ก็ประทับใจจนขอถ่ายรูป และเสนอให้วาดรูปหลานของเขาให้หน่อย พร้อมกับหยิบยื่นแอปเปิ้ลลูกใหญ่ๆ และเงินใส่ซองแบบเป็นทางการ!

และสำหรับทริปนี้ เมื่อถึงเวลานัดรวมผลงาน ทุกคนจะนำผลงานที่วาดได้มาติดตั้งง่ายๆ บนผนังร้าน P.Space แบบไม่มีแบ่งแยกรุ่นใหญ่ รุ่นเล็ก เพื่อให้คนในย่านได้แวะมาดูบ้านของตัวเองผ่านภาพวาดและมุมมองของผู้มาเยือน และสอดคล้องไปกับงานสามแพร่ง facestreet ที่จะเกิดขึ้นตามกันมา 

พี่เต้ หญิงสาวที่วุ่นกับการจัดการตลอดวันเข้ามาเสริมเมื่อจิ๊กซอว์สามแพร่งจากภาพวาดในมุมต่างๆ ถูกร้อยเรียงอยู่บนผนัง “การลงนั่งสเก็ตช์รูป เป็นการใช้เวลาอย่างช้าๆ ให้เราได้สัมผัสประสบการณ์ ณ ที่ตรงนั้นได้สังเกต ได้รู้จักสิ่งที่เราวาดมากกว่าแค่ถ่ายรูปแล้วเดินผ่านไป

“และยังสะท้อนให้ผู้คนในสถานที่นั้น รู้สึกภูมิใจและมองเห็นคุณค่าความงามในพื้นที่ของตนเองผ่านสายตาของคนนอกพื้นที่อย่างที่เขาอาจไม่เคยนึกถึงอีกด้วย”

ชื่นชมผลงานเต็มที่ ก็ถึงเวลากินของอร่อยจากร้านในย่าน ที่นักวาด (สายกิน) คัดสรรมาให้ได้อิ่มหนำ และได้อุดหนุนชุมชนอีกทางหนึ่งด้วย 

18.00 

เพราะเป็นทริปแรกๆ ที่ได้กลับมาเจอกันหนาตาหลังสถานการณ์โควิด ทำให้จำนวนสมาชิกค่อนข้างคึกคัก มีตั้งแต่รุ่นก่อตั้ง รุ่นบุกเบิก และรุ่นแอคทีฟยุคปัจจุบัน เรียกว่านั่งมองเพลินๆ ก็เจอการยกมือไหว้ กอดคอ ตบบ่ากันนับครั้งไม่ถ้วน

และไม่ใช่แค่สมาชิก Bangkok Sketchers เท่านั้น ในครั้งนี้ยังมีสมาชิกชาวต่างชาติในเครือข่าย Urban Sketchers ขอตามมาร่วมกิจกรรมด้วย เพราะภาพวาดไม่มีกำแพงภาษา Sketchers ทุกคนจึงเป็นเพื่อนกันได้และผูกโยงกันด้วยหลักเกณฑ์ง่ายๆ ว่าต้องวาดรูปจากสถานที่จริงเท่านั้น 

“เรารู้จักเพื่อนในปีนังและสิงคโปร์ผ่านทาง Urban Sketchers จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่เราจัด Chao Praya Sketchwalk โดยมีเพื่อนๆ จากต่างประเทศเข้ามาร่วมด้วย เป็นครั้งแรกที่เราช่วยกันทำงานในฐานะรูปแบบของกลุ่ม และประสบความสำเร็จดีมาก ต่อมา เราก็เป็นเจ้าภาพจัด ASIA-Link SketchWalk : Bangkok 2016 โดยมี 13 ประเทศในเอเชียเข้าร่วม แล้วก็เริ่มใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันมีออสเตรเลียและนิวซีแลนด์เข้าร่วมด้วย” พี่เธียร แอดมินยุคล่าสุดบอกเล่าถึง ‘ความเป็นเพื่อน’ ที่คุยกันด้วยภาพวาด และการไปเยี่ยมเยือนบ้านแล้วบันทึกลงกระดาษสเก็ตซ์ แม้ในช่วงโควิดที่ต้องหยุดทุกกิจกรรม พวกเขาก็จัด Joint sketchwalk Online sketchwalk ร่วมกับพม่าและกัวลาลัมเปอร์ แลกกันวาดรูปสถานที่สำคัญของประเทศเพื่อนจากการเสิร์ชกูเกิลแล้วแชร์แลกกัน เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ที่อาจห่างเหินไปเพราะไม่ได้เจอ

“สิ่งสำคัญมากที่ได้จากการที่เราจัดงานแบบนี้ คือการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน ตั้งแต่เรื่องวิถีชีวิต การกิน ทัศนคติ เราอยู่ด้วยกันประมาณ 4 วัน 3 คืน เราจะรู้เลยว่าเพื่อนมุสลิมจากอินโดฯ เพื่อนมุสลิมทางมาเลย์ กับเพื่อนมุสลิมในไทยเราเองแตกต่างกันอย่างไร เราเองก็ได้เห็นผลงานของศิลปินเบอร์ใหญ่มากของบ้านเขา ฝั่งโน้นเขามาเยือนเราก็บอกว่า ไอ้วัดวาอะไรทั้งหลายของเราเนี่ย มันวาดยากฉิบหายเลยนะเว้ย” พี่หมอเล่าพร้อมเสียงหัวเราะ 

“ถึงจะเป็นศิลปินใหญ่ พอมาเจอวัดเจอวังบ้านเราก็ไปไม่เป็นหมือนกัน มันคือการได้เรียนรู้กันและกัน บางคนภาษาไม่ได้ แต่มาเจอกันเราสื่อสารกันด้วยภาพ ตรงนี้มันเป็นสะพานเชื่อม เหมือนเป็นใบเบิกทางให้เกิดมิตรภาพ หรือแม้บางคนอาจจะไม่ได้มาวาดรูปด้วยกัน แต่เราไปนั่งวาดรูปอยู่ริมถนน คนก็จะเดินมาชวนคุย มาถามว่าวาดรูปไปทำไม ถ้าเราแค่เดินถ่ายรูปเฉยๆ ก็จะไม่เกิดบทสนทนาแบบนี้  หลายคนอาจจะเจอคนเดินมาถามว่าวาดรูปไปส่งครูใช่ไหม พอหันหน้าไปเจออีกที อุ๊ย! อายุเยอะกว่าครูใหญ่กูอีก

“สรุปว่าสิ่งเราทำอยู่ เขาเรียกกันว่าซอฟต์พาวเวอร์ที่ภาครัฐไม่รู้จัก มันคือการสื่อสารระหว่างมนุษย์ธรรมดาด้วยกัน ไม่ได้ผ่านวิธีการทางการทูตใดๆ แต่มันทัชมาก มันทัชกัน” 

“ที่เรามารวมกัน เป้าหมายเดียวเลยคือความสุข”

พี่พิสิฐบอกว่า การวาดรูปคือการบันทึกที่ไม่มีทางลืม “เราวาดรูปนึงกว่าจะเสร็จ นั่งกันอยู่ตั้งนาน เป็นชั่วโมง เราจะรู้จักกับคนรอบข้างรู้จักสถานที่ที่เราบันทึกมากขึ้น แล้วที่สำคัญ สถานที่ที่เราวาดไป วันหนึ่งมันอาจจะเปลี่ยนไปแล้ว คราวที่แล้วเราวาดถนนพระสุเมรุ ที่เขาจะสร้างสถานีรถไฟใต้ดินแล้วต้องทุบตึกทิ้ง เราก็วาดเก็บไว้แล้ว โรงแรมสยามอินเตอร์คอนติเนลตัล คุณหมอก็เคยวาดไว้” 

พี่หมอเสริมต่อ “พอเมืองมันเปลี่ยน ทุกอย่างมันหายเกลี้ยง ภาพวาดมันคือการบันทึกเมือง บันทึกความทรงจำที่เกิดขึ้น และเบื้องหลังการวาด มันประเมินค่าไม่ได้ อีก 10 ปีข้างหน้าเราเอารูปเก่าที่เคยวาดมาดู ทุกคนยังเล่าได้เลยว่า รูปนี้เราวาดกับใคร อากาศวันนั้นเป็นแบบไหน อย่างวันที่เจอพี่พิสิฐครั้งแรกที่คลองอรชร ผมยังจำได้ว่าขณะผมนั่งวาดอยู่ฝนตก พี่พิสิฐนี่แหละมากางร่มให้ นี่คือสิ่งที่มันเกิดขึ้นเบื้องหลังการวาดรูป”

“ที่เรารวมตัวกัน เป้าหมายเดียวเลยคือความสุข แล้วเรารู้ว่าพอเรามีความสุข เพื่อนเรามันจะมีความสุขด้วย ทุกคนก็เลยแฮปปี้ที่จะทำทริป หรืออาสาทำให้กลุ่มต่อเนื่องไปได้” 

พี่หมอปิดท้าย และยืนยันสมมติฐานในใจเราว่าแม้จะไม่ใช่งานเลี้ยงชีพ แต่มนุษย์เราก็อาจจะยังต้องการพื้นที่ความสุขในใจ และพร้อมจะขับเคลื่อนมันอย่างจริงจัง จนเหมือนเป็นงานจริงๆ ได้โดยไม่รู้สึกเหนื่อยหนักหรือเป็นภาระเลย  

ภาพถ่าย: ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ออกแบบกราฟิก: paperis

Content Designer

อดีตผู้ช่วยบรรณาธิการนิตยสาร #aday คือเจ้าของหนังสือทั้งเรื่องจริงและเรื่องแต่ง อาทิ #สนธิสัญญาฟลามิงโก #ร้านหวานหวานวันวาน คือบรรณาธิการอิสระและคอนเทนต์ครีเอเตอร์ฟรีแลนซ์ ก่อนจะมาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทออกแบบคอนเทนต์ที่ยังไม่รู้จะตั้งชื่อตำแหน่งตัวเองว่าอะไร

Read More:

Work มนุษยสัมพันธ์

เบน-เบญจรัตน์ เอี่ยมรัตน์ ดีไซเนอร์ ที่เข้าครัวทำวุ้นโยคังให้กลายเป็นงาน

เมื่องานของกราฟิกดีไซเนอร์ไม่ได้อยู่บนกระดาษ หน้าจอคอมพิวเตอร์ บนโลโก้แบรนด์ ฯลฯ แต่อยู่ในขนม

Work มนุษยสัมพันธ์

หมา-นุษย์ สัมพันธ์ เคาะประตูหาเพื่อน (สี่ขา) ข้างบ้าน ili

ออฟฟิศ pet-friendly ที่เงยหน้าจากงานปุ๊บ ก็เยียวยาใจปั๊บ

Work สาระสำคัญ

งานที่ดี คือ งานที่_________

งานที่ดีคืองานแบบไหน ลองมานิยามกันดูไหมให้การทำงานเวิร์กขึ้น!