Work —— สาระสำคัญ

งานที่ดี คือ งานที่_________

งานที่ดีคืองานแบบไหน เราเองก็ไม่เคยได้ใช้เวลามานั่งตอบคำถามแบบนี้จริงๆ จังๆ เสียที ถ้าให้คิดไวๆ เราก็คงตอบได้แค่ว่างานที่ดีคืองานที่เสร็จ เพราะจะมีอะไรน่าดีใจไปกว่าการเคลียร์งานในแต่ละวันให้ผ่านไปจนไม่มีอะไรค้างคาอีกล่ะ

แต่ถ้าลองมานั่งคิดดูดีๆ เราพบว่านอกจากการทำงานให้เสร็จไปวันๆ แล้ว ยังมีปัจจัยอีกหลายอย่างที่ยึดโยงเราเข้ากับการทำงาน ไม่อย่างนั้นเราคงไม่สามารถทำงานให้สำเร็จออกมาได้จริงๆ 

หลังจากค่อยๆ หาคำตอบไปทีละนิด เราก็ได้ข้อสรุปมาจนได้ว่างานที่ดีในแบบของเราเป็นแบบไหน ซึ่งแน่นอนว่าในบางวันที่หนักหนา คำว่างานดีๆ พูดไปก็คงไม่อินเท่าไหร่ แต่ลึกๆ แล้วเราว่าทุกคนก็คงมีนิยามบางอย่างสำหรับการทำงานที่คอยช่วยพยุงตัวเองไว้ ไม่ให้ยกมือยอมแพ้ หรือโบกมือบ๊ายบายไปเสียก่อน

งานที่ดีคืองานที่รู้สึกสนุก

ถ้างานที่ดีเป็นงานที่สนุก การทำงานก็คงไม่เหมือนการทำงานขนาดนั้น ออฟฟิศหลายแห่งทั่วโลกเลยหันมาให้ความสำคัญกับการทำงานเป็นทีมกันมากขึ้น ทั้งการเปิดกว้างให้ทุกคนร่วมแสดงความคิดเห็นและออกแบบงานไปพร้อมๆ กันอย่างเต็มที่ ไอเดียของทุกคนจึงมีความหมาย นั่นช่วยให้ทุกคนได้เป็นส่วนหนึ่งของการทำงานอย่างแท้จริง

ไม่เพียงแค่การเปิดกว้างทางไอเดียเท่านั้น แต่การจัดบรรยากาศของออฟฟิศให้กระตุ้นความครีเอทีฟและรู้สึกสนุกที่จะทำงานก็เป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้เช่นกัน ออฟฟิศหลายแห่งใน Silicon Valley ถือเป็นตัวอย่างของการทำงานแบบออฟฟิศรุ่นใหม่ที่ใครหลายๆ คนพูดถึงและเชื่อว่ามันคือการล้างขนบการทำงานเดิมๆ ที่เคยเกิดขึ้น จนกลายเป็นไอเดียให้กับออฟฟิศหลายๆ แห่งทั่วโลกนำไปปรับใช้

เดี๋ยวนี้เราเลยเห็นออฟฟิศยุคใหม่ที่ออกแบบห้องประชุมให้สามารถจัดโต๊ะเองได้ตามใจชอบ ออฟฟิศบางแห่งถึงขั้นไม่มีโต๊ะที่เจาะจง แต่จัดมุมให้สงบเหมาะสำหรับการทำงานแล้วใครอยากจะนั่งตรงไหนก็สามารถเลือกนั่งได้เลย บางแห่งมีพื้นที่ส่วนกลางสำหรับขีดเขียนแลกเปลี่ยนความคิด ส่วนออฟฟิศที่มีพื้นที่มากหน่อยก็มีจุดพักผ่อนหย่อนใจพร้อมอุปกรณ์ครบครัน แถมบางออฟฟิศยังมีวันที่อนุญาตให้นำสัตว์เลี้ยงเข้าไปทำงานได้อีก ซึ่งเราก็เริ่มเห็นออฟฟิศในไทย 2-3 แห่งเริ่มทำสิ่งนี้แล้วเหมือนกัน 

แม้จะไม่สามารถเอาน้องหมาไปนั่งทำงานได้ (หรือถ้าเอาไปได้จริงๆ ก็คงจะวุ่นวายมากกว่าจะได้ทำงาน) แต่การได้ทำงานในบรรยากาศสนุกๆ ที่ทุกคนแลกเปลี่ยนกันได้อย่างสร้างสรรค์ และมีพื้นที่ส่งเสริมให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เท่านี้เราว่าก็เพียงพอแล้วล่ะ

งานที่ดีคืองานที่ยืดหยุ่นตามสถานการณ์

ก่อนหน้านี้การเวิร์กฟรอมโฮมน่าจะเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับเราทุกคน แต่หลังจากสถานการณ์โควิดเราก็ได้หันมารู้จักการทำงานที่บ้านกันจนคุ้นชิน และอาจจะเรียกได้ว่าบ้านคือออฟฟิศแห่งที่สองไปแล้ว 

แต่จริงๆ แล้วการทำงานที่บ้าน หรือที่ไหนก็ตามแต่สะดวกใจไม่ว่าจะเป็นคาเฟ่ ร้านอาหาร หรือ co-working space แบบที่ใครๆ เขาเรียกว่า work form anywhere ก็เป็นสิ่งที่ออฟฟิศหลายแห่งในอเมริกาทำกันมาได้หลายปีแล้ว โดยผลสำรวจของสหรัฐฯ เมื่อปี 2017 พบว่าพนักงานออฟฟิศกว่า 48% ที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานที่ไหนก็ได้อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง แฮปปี้กับการงานมากกว่าคนที่ต้องเข้าออฟฟิศทุกวัน เพราะพวกเขามีเวลาได้พักมากขึ้น และสามารถจัดการตารางการทำงานของตัวเองได้อย่างอิสระ พร้อมตอนไหนก็เริ่มทำตอนนั้น ขอแค่ให้มีงานส่งตอนมาเจอกันก็พอ

ในระยะยาวการทำงานจากที่ไหนก็ได้ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายของออฟฟิศไปได้เยอะ ออฟฟิศใหญ่ๆ หลายแห่งในสหรัฐฯ เขาเลยหันมาแบ่งวันให้พนักงานได้ทำงานที่บ้านกันมากขึ้น งานนี้เลยได้ประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย

ส่วนเราเองที่มีประสบการณ์ทำงานแบบ work from home กันเป็นเดือนๆ พบว่าการทำงานที่บ้านก็เวิร์กดีในช่วงแรกๆ เพราะมีช่วงเวลาที่โปรดักทีฟสุดๆ และไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปออฟฟิศ แต่พออยู่บ้านไปนานๆ เข้าก็เริ่มเกิดอาการขี้เกียจขึ้นมาบ้าง แถมยังสรรหากิจกรรมอื่นนอกจากงานมาทำแทนอีก จนคิดว่าบางทีการได้แวะเวียนไปนั่งทำงานตามร้านกาแฟบ้าง หรือไปออฟฟิศเพื่อเจอเพื่อนร่วมงานเป็นบางวันก็ช่วยเปลี่ยนบรรยากาศที่ชักจะเริ่มเบื่อๆ เวลาอยู่บ้านได้เยอะมากทีเดียว

งานที่ดีคืองานที่มีเพื่อนร่วมงานดี

หลายๆ ครั้งมนุษย์ทำงานก็มักเจอปัญหาประมาณว่าเข้ากับเพื่อนร่วมงานไม่ได้มั่ง สั่งงานลูกน้องไปไม่เห็นทำบ้างเลย หรือบางทีพูดกับหัวหน้าไปทำไมไม่ยอมฟัง ซึ่งส่วนใหญ่สิ่งเหล่านี้ก็เกิดขึ้นเพราะทัศนคติของเราไม่ตรงกันนี่แหละ โดยเฉพาะเวลาที่ต้องร่วมงานกับคนต่างวัยมากๆ ก็มักจะมีปัญหาอย่างการคุยกันไม่รู้เรื่อง หรือเห็นไม่ตรงกันตามมาให้ปวดหัวอีก

ปัญหาเหล่านี้เป็นสิ่งที่ออฟฟิศยุคใหม่ทั่วโลกไม่ได้นิ่งนอนใจ หลายๆ ออฟฟิศเลยหันมาให้ความสำคัญกับการทำงานโดยไม่มีช่องว่างระหว่างวัย หรือการทำออฟฟิศแบบ inclusive กันมากขึ้น เพราะจริงๆ แล้วการมีผู้คนที่หลากหลายในออฟฟิศก็ทำให้เราได้ความคิดเห็นที่แตกต่างจากผู้คนที่มีประสบการณ์ต่างกันมาแลกเปลี่ยนกันให้งานออกมาดีขึ้นได้ 

Cash Nickerson เจ้าของหนังสือ Boomerangs ผู้เขียนเรื่องเทรนด์การทำงานของคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ ที่มีแนวโน้มจะอยู่ในองค์กรต่างๆ นานขึ้น ได้ให้คำแนะนำว่าสิ่งที่ควรจะเปลี่ยกันอย่างแรกเลยก็คือเรื่องของไลฟ์สไตล์การทำงาน แม้จะมีเจ้านายและลูกน้อง แต่เจ้านายก็ควรจะเปิดใจและพยายามเข้าถึงเพื่อนร่วมงานในเจนเนอเรชั่นที่เด็กกว่าด้วย เพื่อที่ทุกๆ คนจะได้เข้าใจแนวคิดของแต่ละฝ่าย แล้วหาจุดที่จะสบายใจในการทำงานร่วมกันให้เจอ

ดังนั้นเราจึงเห็นว่าออฟฟิศหรือสตาร์ทอัพใหม่ๆ หลายแห่งไม่ค่อยให้ความสำคัญกับระบบอาวุโสมากนัก ห้องทำงานของเจ้านายเลยไม่ใช่ห้องที่จะต้องปิดประตูเอาไว้ตลอดเวลา แต่ทุกๆ คนในออฟฟิศสามารถไปมาหาสู่กันได้สบายๆ และในบางครั้งก็อาจมีกิจกรรมร่วมกันบ้างเพื่อให้ได้เห็นไลฟ์สไตล์นอกเหนือจากการทำงานของสมาชิกแต่ละคน ซึ่งก็เหมือนกับที่ออฟฟิศหลายๆ แห่งพยายามมีกิจกรรมนอกสถานที่หรือกิจกรรมประจำปีสนุกๆ นี่แหละ

เราเองก็คิดว่าการมีกิจกรรมนอกเหนือจากการทำงานเป็นส่วนสำคัญมากๆ ที่ทำให้เราได้เห็นรูปแบบการใช้ชีวิตที่แตกต่างไปของเพื่อนร่วมงาน เพราะเราจะได้รู้ว่าใครชอบอะไร ไม่ชอบอะไร ปกติแล้วเป็นคนแบบไหน ซึ่งนั่นก็จะง่ายต่อการสานสัมพันธ์ในเรื่องอื่นๆ และเมื่อความสัมพันธ์ของทุกๆ คนในออฟฟิศดี การทำงานก็จะราบรื่นและแฮปปี้ขึ้นตามไปด้วย

งานที่ดีคืองานที่เหลือเวลาให้ตัวเอง

ในปี 2018 มีผลสำรวจออกมาคนไทยกว่า 91% กำลังเผชิญกับความเครียด ซึ่ง 35% จากทั้งหมดนี้มีเรื่องการงานเข้ามาเกี่ยวข้อง!

โดยเฉพาะเหล่าพนักงานออฟฟิศรุ่นใหม่ที่มีความกังวลถาโถมทั้งความกดดันในหน้าที่การงาน ปัญหาเศรษฐกิจ และการต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำทำให้พวกเขาไม่มีเวลาเพื่อตัวเองมากนัก จนกลายเป็นความเครียดที่ค่อยๆ สะสมเป็น working anxiety disorder ที่นอกจากจะส่งผลต่อสภาวะจิตใจของเราอย่างรุนแรงแล้ว มันยังทำให้ความสามารถในการทำงานของเราลดลงอย่างเห็นได้ชัดด้วย 

ดังนั้นเราเลยมักเห็นพนักงานรุ่นใหม่บ่นเรื่องการทำงานอันเหนื่อยล้า และช่วงเวลาการทำงานที่เหมาะสมกันอยู่บ่อยๆ บนโลกโซเชียล (อย่าเพิ่งรีบตัดสินไปว่าทำไมเหล่าเด็กยุคใหม่ถึงได้ไม่มีความอดทนแบบนี้) เพราะจริงๆ แล้วไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ออฟฟิศเจนฯ ไหน ก็คงไม่มีใครอยากทำงานกันทั้งวันทั้งคืนหรอกจริงไหม 

Heather Monahan ผู้ก่อตั้งกลุ่ม #BossinHeels ที่ช่วยให้คำแนะนำเรื่องการทำงาน ได้เสนอวิธีการการสร้าง work-life balance ที่ดีไว้ว่าจริงๆ ถ้าเรามีความกล้าในการตัดขาดจากโลกแห่งการทำงานหลังเลิกงานแล้วล่ะก็ ปัญหาเรื่องการหยิบงานมาทำต่อก็จะหมดไปทันที

เป็นวิธีการที่เราพบว่าพูดง่ายแต่ทำยากมากทีเดียว เพราะแม้จะตัดขาดจากงานไปแล้ว บางครั้งเราก็อาจจะเผลอคิดถึงงานแม้จะไม่ได้หยิบมาทำอยู่ดี  สุดท้ายทางที่ดูจะเป็นไปได้ที่สุด และเราพบว่าหลายๆ ที่ก็แนะนำกัน (เราเองก็พยายามจะทำให้ได้) คือการจัดตารางเวลาทำงานในแต่ละวันของตัวเองก่อน แล้วเลือกทำงานเท่าที่ไหว ที่สำคัญคืออย่าใจร้ายกับตัวเองเกินไปนัก สุขภาพทั้งกายและใจของเราก็สำคัญไม่แพ้ผลงานนี่แหละ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นจริงได้เจ้านายก็จะต้องเข้าใจลูกน้องด้วยเช่นกัน พอเริ่มจัดการเวลาทำงานของตัวเองให้เข้าที่เข้าทางแล้ว ก็จงใช้วันหยุดที่มีอย่างเต็มที่ แล้วต่อไปการลองตัดขาดจากโลกของการทำงานไปบ้างก็ไม่น่าใช่เรื่องยากขนาดนั้น

งานที่ดีคืองานที่มีความหมาย

สุดท้าย งานที่ดีจริงๆ คงจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าเราไม่ได้ทำงานที่มีความหมายต่อทั้งตัวเองและผู้อื่น หรือจะพูดอีกอย่างก็คือการยึดหลัก Ikigai นั่นเอง ซึ่งหลักนี้เป็นแนวทางของชาวญี่ปุ่น หมายถึงการใช้ชีวิตที่ทำให้การตื่นนอนในตอนเช้าไม่ใช่เรื่องน่าเบื่ออีกต่อไป

เอาเข้าจริงการตื่นนอนในตอนเช้าสำหรับเราก็ยังเป็นเรื่องยากอยู่ดี เแต่ถึงอย่างนั้นหัวใจสำคัญของการทำงานแบบ Ikigai ก็ยังเป็นสิ่งที่เราคิดว่าเหมาะมากๆ สำหรับใครที่กำลังเคว้งคว้าง ไม่รู้จะเอายังไงกับชีวิตการงานดี การได้ย้อนกลับมามองตัวเองตามหลักนี้ก็อาจจะเป็นตัวช่วยที่ดีได้เหมือนกัน โดยเจ้าหลักนี้จะแบ่งการทำงานออกเป็น 4 ส่วน คือ 

  • ทำในสิ่งที่เราทำได้ดี เช่น เป็นคนวาดรูปเก่ง เขียนหนังสือดี หรือมีมนุษย์สัมพันธ์เลิศทำให้ดีลกับคนอื่นได้สบายๆ 
  • สิ่งที่เราทำได้นั้นจะสามารถแตกหน่อไปเป็นอะไรได้บ้างที่ให้ค่าตอบแทนพอดีกับการใช้ชีวิต ลองคำนวณให้แน่ใจว่างานที่ทำอยู่ได้ค่าแรงสมกับแรงที่เสียไปหรือเปล่า 
  • สิ่งที่ทำอยู่เป็นสิ่งที่ดีกับโลกนี้มั้ย เช่น ตอนนี้หลายๆ ออฟฟิศหันมาใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น หรือออฟฟิศบางแห่งอาจจะให้ความสำคัญเรื่องสิทธิและความเท่าเทียม  ดังนั้นเราก็ควรย้อนกลับมามองดูด้วยว่าสิ่งที่เราทำนั้นส่งผลกระทบต่อโลกนี้แค่ไหน และมีประโยชน์กับโลกบ้างหรือเปล่า
  • หัวใจสำคัญอย่างสุดท้าย คือสิ่งที่เราทำต้องเป็นสิ่งที่เรารัก เพราะเมื่อเรารักมันแล้วไม่ว่างานข้างหน้าจะเป็นอย่างไร เราก็จะอยู่กับมันได้อย่างสบายใจมากกว่าการทำในสิ่งที่ไม่ชอบ

เมื่อลองตอบคำถามทั้ง 4 ข้อนี้ เราก็คงจะพอได้คำตอบเกี่ยวกับงานที่ทำกันมากขึ้น ส่วนไหนที่ยังหาคำตอบไม่ได้ ก็คงต้องค่อยๆ ใช้เวลาในการหาคำตอบอีกสักหน่อย แต่เมื่อเราสามารถตอบได้ครบทั้งหมด เราก็จะกลายเป็นมนุษย์ทำงานที่มีความสุขมากๆ เลยล่ะ

แล้วงานที่ดีในนิยามของคุณ เป็นงานแบบไหนกันนะ

Content Designer

#อดีตนิสิตภาควารสารฯ #เรียนจบแล้ว #นักเขียน

Read More:

Work สาระสำคัญ

work from home ยังไง ให้งานยังเวิร์ก!

วิธีทำงานให้รอดและอยู่อย่างปลอดภัย เมื่อต้อง work from home

Work สาระสำคัญ

มันคงเป็น KRAM รัก เมื่อของพรีเมียมองค์กรก็มี 'คราม' ใส่ใจโลก

ของพรีเมียมองค์กรที่ย้อม ‘คราม’ ใส่ใจโลก ให้คนในก็รัก คนนอกก็เลิฟ

Work จากผู้ใช้จริง

รีวิวยกออฟฟิศไปเวิร์กช็อปศิลปะบำบัดที่ Studio Persona

เมื่อ ili ยกออฟฟิศ (ที่มีกันแค่ 6 ชีวิต) ไปสตูดิโอศิลปะบำบัด