Love —— Safe Zone First

Safe Zone First ep.03: จะเป็นยังไง…ถ้าบ้านเป็นเซฟโซนให้ลูกๆ

ส่วนตัว เราเชื่อว่าการที่คนคนหนึ่งจะกลายเป็นคนแบบหนึ่ง (ไม่ได้บอกว่าดีหรือไม่ดีนะ) ภาพที่เราเห็นนั้นถูกกอปรสร้างด้วยกาลเวลา ประสบการณ์ที่เขาเจอตั้งแต่เด็กจนถึงวัยปัจจุบัน รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวเขากับสิ่งที่แวดล้อม และ ‘บ้าน’ คือหนึ่งในเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้

ในยุคที่กรุ๊ปของคนวัยพ่อแม่พูดคุยเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยจิตวิทยากันมากขึ้น ‘พื้นที่ปลอดภัยในครอบครัว’ ที่เรารับฟังกันอย่างไม่ตัดสิน ปรึกษากันได้แม้กระทั่งเรื่องเล็กจิ๋วไปจนถึงเรื่องใหญ่มหึมา ก็กลายเป็นแนวคิดก้อนใหญ่ที่กดบ่าพ่อแม่สมัยนี้ ที่เฝ้าฝันว่าอยากจะให้ครอบครัวตัวเองเป็นครอบครัวที่ลูกอยู่ด้วยแล้วแฮปปี้สุดๆ 

สำหรับ ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ หลายคนคงคุ้นตาเธอในบทบาทเวิร์กกิ้งวูแมน ผู้ก่อตั้ง Documentary Club ที่คอยสรรหาภาพยนตร์สารคดีดีๆ มาให้คอหนังดูเสมอๆ ทว่าบทบาทที่คนทั่วไปอาจจะไม่คุ้น คือการเป็นคุณแม่ธิดาของลูกๆ ทั้งสองคน ซึ่งนอกจากบทบาทของแม่ ที่พี่ธิดา (เราขอเรียก ‘พี่’) มองว่าเป็นบทเรียน lifelong learning แล้ว การทำบ้านให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับลูกๆ ก็ถือเป็นบทเรียนภาคปฏิบัติ ที่พี่ธิดาต้องเรียนรู้และปรับตัวตลอดชีวิตเช่นกัน

ทำไมพื้นที่ปลอดภัยในบ้านถึงสำคัญนัก เซฟโซนที่ดีเป็นแบบไหน เรียกร้องอะไรจากเราบ้าง และถ้าพ่อแม่สักคนแถวนี้มีเงื่อนไขในชีวิตเยอะ โดยเฉพาะเรื่องเวลาที่อยู่กับลูก แบบนี้จะเป็นเซฟโซนให้ลูกได้มั้ย ไปขอคำปรึกษาจากพี่ธิดากัน

คำว่า ‘บ้านที่เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้ลูก’ มันเป็นคอนเซปต์ที่อยู่ในใจพี่ธิดาตั้งแต่วันแรกที่เปลี่ยนสเตตัสเป็นแม่เลยมั้ย

คือมันไม่ใช่สิ่งที่เรารู้ตั้งแต่ตอนมีลูก จริงๆ ตอนที่ตั้งท้องหรือในช่วงปีแรก ค่อนข้างจะเลี้ยงลูกไม่ค่อยเป็น (หัวเราะ) เหมือนกับเราคลุกคลีอยู่กับลูก ใช้เวลาด้วยกันตลอด ลูกค่อยๆ โต เราก็ค่อยๆ เรียนรู้ที่จะปรับตัวไปเรื่อยๆ อย่างลูกคนโตตอนนี้เขา 15 แล้ว ก่อนที่เขาจะอายุเท่านี้ มันจะมีช่วงเวลาที่เราได้รู้สึกว่า อุ๊ย สิ่งที่เราเคยเชื่อ ความเป็นจริงมันไม่ใช่นี่หว่า พอเราต้องอยู่กับความเป็นจริง เราก็ค่อยๆ เข้าใจเองเรื่อยๆ ว่าครอบครัวเราจะสงบสุขก็ต่อเมื่อเราเป็นเนื้อเดียวกัน เราจะเข้าใจเขาเมื่อเรารับฟังเขามากๆ แล้วพอถึงจุดหนึ่งที่รู้สึกว่าลูกไว้วางใจ ถึงค่อยมาเก็ตว่านี่ใช่มั้ยที่เขาเรียกว่าเซฟโซนในครอบครัว เหมือนว่ามันค่อยๆ มาทีละสเต็ปมากกว่า

ถ้าย้อนกลับไปตอนเราเป็นเด็ก ตอนนั้นพี่ธิดาเป็นเด็กที่มีบ้านเป็นเซฟโซนมั้ย

ก็เป็นนะ จริงๆ ครอบครัวเราเป็นครอบครัวทำมาค้าขาย เป็นคนจีนทำการค้าอยู่ในบ้านอะไรแบบนี้ พ่อแม่พี่เขาเป็นพ่อแม่รุ่นที่ไม่ได้มีจิตวิทยาในการเลี้ยงเด็กใดๆ แต่เขาก็เป็นเซฟโซนในแง่ที่ว่า ไม่เคยมีการกระทำอะไรที่ทำให้เรารู้สึกสั่นคลอนในแง่จิตใจหรือร่างกาย คือเขาก็ดุด่าแบบพ่อแม่ทั่วๆ ไป แต่เราไม่เคยมีความรู้สึกว่าเราอยากจะออกไปจากพื้นที่ตรงนี้เลย คือมันเป็นเซฟโซนที่แม้เราจะไม่เคยปรึกษาปัญหาชีวิตใดๆ กับเขา เพราะเราคิดว่าเขาคงไม่เก็ตปัญหาของเราเท่าไหร่ แต่ว่าเรามั่นคงเมื่อเราอยู่ในที่ตรงนั้น ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราจะรู้สึกว่าเขาอยู่ตรงนั้นกับเราเสมอ

แล้วเวลาที่มีปัญหาชีวิต หันหน้าไปคุยกับใคร

คุยกับเพื่อน โชคดีที่ได้เพื่อนดีที่เข้าใจกัน คือเวลาอยู่บ้านก็ใช้ชีวิตกันแบบคนในครอบครัวเดียวกัน แต่ที่ไม่เคยคุยปัญหาชีวิตกับพ่อแม่เลย เพราะเราไม่ได้มีความรู้สึกว่า เราควรที่จะเอาปัญหาของเราไปปรึกษาเขา เพราะเขาก็ต้องทำมาหากิน เลี้ยงดูเราอยู่ เขาก็คงไม่ได้ละเอียดอ่อนในเรื่องอย่างนี้ ขณะเดียวกันเรารู้สึกว่าเขามีความเป็นห่วงเรา ถ้าเราทำตัวแบบนี้ (มีปัญหา) อาจจะกลายเป็นว่าเราสร้างปัญหาให้เขา 

ความรู้สึกที่ว่าเราต้องฟังลูกมันเกิดขึ้นตอนไหน

น่าจะ 3-4 ปีที่แล้ว ตอนที่ลูกคนโตเข้าวัย 10 ต้นๆ เริ่มเข้าสู่ความเป็น pre-teen ความจริงก่อนหน้านั้นมีช่วงเวลาที่ไม่เข้าใจเขาด้วย เราคิดว่าเราให้เขาอยู่ในโรงเรียนทางเลือก แลดูมีทุกสิ่งทุกอย่างที่ดูดี แต่เขาก็จะมีมาเล่าปัญหาว่าโดนเพื่อนแกล้ง คือดูไม่มีความสุขน่ะ ซึ่งตอนนั้นเราก็ยังไม่เท่าทัน คิดว่าลูกเด็ก ลูกคงไม่ได้รู้จักปัญหาที่ลูกเล่าจริงๆ หรอก ลูกอาจจะขี้บ่นเฉยๆ เพราะเราไว้ใจว่าโรงเรียนดี 

หลังจากนั้นลูกออกจากโรงเรียนมาเป็นโฮมสคูล มันเป็นจังหวะที่ทุกอย่างประจวบกัน พอใกล้ชิดกันมากขึ้น เขาก็โตมากขึ้นด้วย เราก็ย้อนกลับมาคิดว่าตอนนั้นเรารับฟังลูกน้อยไปหรือเปล่านะ เพราะวันที่เขาโตขึ้น เขาสื่อสารได้เก่งและพูดความในใจได้ละเอียดขึ้น

เราก็ได้รู้ว่าจริงๆ แล้วเขารู้ว่าเขากำลังรู้สึกอะไร แต่เป็นเราที่ให้ค่าความรู้สึกเขาน้อยไป เนี่ย ตรงนี้เลยที่เรารู้สึกว่าเขาต้องการเรา เขาต้องมีบ้านที่เป็นที่พึ่งพิงเขามากกว่านี้ พื้นที่ปลอดภัยมันคือบทบาทที่เขาต้องการจากเรา

แสดงว่าที่ผ่านมาก็แทบไม่มีปัญหาว่าลูกไม่ยอมคุยกับเรา

คุยมากๆ คุยเยอะจนแบบว่าลูกไม่ต้องเล่าทุกเรื่องก็ได้ (หัวเราะ)

จำได้มั้ยว่าเรื่องแรกที่เขาเล่าให้ฟังเป็นเรื่องอะไร

ก็เป็นเรื่องเพื่อน น่าจะสักป.3 นะที่เขาเริ่มเล่าว่าโดนแกล้งอะไรแบบนี้ แล้วช่วงประถมปลายถึงม.1 ก็เริ่มเล่าได้ชัดขึ้นว่าเขามีปัญหากับสังคมนี้ มีเพื่อนที่ไม่ชอบเขา ในตอนเด็กๆ เขาอาจจะพูดโฟกัสไปที่คนอื่นว่าเพื่อนเกลียดเขา แต่พอเขาโตขึ้น เขาก็เริ่มโฟกัสกลับมาที่ตัวเองว่า มันเป็นเพราะเขาเองแหละที่ทำตัวแบบนี้ กลายเป็นว่าเขาเริ่มเห็นปัญหาที่มันเกิดขึ้นกับตัวเขา

พอเราฟังเขาเยอะๆ ลึกๆ มีหวังมั้ยว่าลูกเราจะสามารถเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้คนอื่นได้ด้วย

ถ้าเป็นได้ก็จะดีมาก แต่ที่หวังมากกว่าคือเราไม่ควรจะไปเป็นพื้นที่ toxic ให้ใครทั้งนั้น เพราะว่าจริงๆ เราก็เคยมีช่วงที่ทำตัวไม่น่ารักแบบนั้นมาก่อน จริงๆ แล้วมันก็ไม่สมควร

ถ้าครอบครัวเป็นที่ที่รับฟังลูกได้ทุกเรื่อง สิ่งนี้จะเอฟเฟ็กต์กับสังคมยังไงบ้าง

ช่วงที่ผ่านมาเราจะรู้สึกว่าสังคมเรามีปัญหาที่สั่นสะเทือนข้างในเยอะ เราเห็นคนที่รู้สึกเศร้า ท้อแท้ หรือรู้สึกว่าตัวเองไม่ค่อยมีค่าแทบจะทุกวัน สำหรับหลายๆ คนที่เราพอจะสนิทหรือมีโอกาสได้คุย เรารู้สึกว่าจริงๆ แล้วในความสัมพันธ์ของเขากับครอบครัวมันเป็นสาเหตุสำคัญ ไม่ใช่เพราะแรงกระทบภายนอก แต่เป็นแรงกระทบภายใน ซึ่งไอ้แรงตรงนี้แหละที่ทำให้ฐานข้างในของเราไม่มั่นคง ฐานที่แข็งแรงจะทำให้เราสามารถอยู่กับแรงกระทบภายนอกได้มั่นคงขึ้น เราว่าครอบครัวสำคัญตรงนี้

เป้าหมายจริงๆ ของการเลี้ยงลูก มันคือการที่เราช่วยให้คนคนหนึ่งที่เกิดมาเป็นลูกเรา เขามีฐานที่แข็งแรงในจิตใจ เมื่อวันหนึ่งที่ออกไปสู่โลกข้างนอก เขาจะทำอาชีพอะไร ได้เงินเดือนเท่าไหร่มันเป็นเรื่องของเขา แต่เขาต้องออกไปเป็นคนที่พร้อมจะอยู่กับโลก เราสนใจเรื่องนี้มากกว่า เตรียมความพร้อมให้เขาแข็งแรง พร้อมเผชิญชีวิต เราเชื่อว่าถ้าครอบครัวทำหน้าที่นี้ สังคมเราก็น่าจะมีทรัพยากรมนุษย์ที่เข้มแข็ง แล้วก็ออกไปทำสิ่งต่างๆ ได้ดีขึ้น

การสร้างฐานภายในที่แข็งแรง พี่ธิดาให้ความสำคัญกับอะไรบ้าง

อย่างแรกเลยคือเรื่องจิตใจที่มีความเข้มแข็ง เพราะชีวิตคนแต่ละคนมันเผชิญอุปสรรคมากน้อยต่างกันไป มันไม่มีความเรียบง่ายตลอด คือเราอยากทำให้เขาเป็นคนที่เผชิญกับสิ่งเหล่านี้ได้ แล้วก็เผชิญโดยที่มีความเข้าใจว่านี่มันคือปกติของชีวิต มันไม่ใช่เรื่องที่แบบเมื่อเจอปัญหาแล้วเราต้องฟูมฟาย หรือรู้สึกว่าทำไมปัญหานี้ต้องมาเกิดขึ้นกับฉัน แต่แน่นอนว่าเราจะเรียกร้องให้ทุกคนมาทนกับทุกๆ เรื่องไม่ได้ แต่หมายถึงว่าทำยังไงให้ฐานมันแข็งแรงเพียงพอที่จะรู้สึกว่าชีวิตเป็นเรื่องปกติ แล้วเราจะผ่านพ้นสิ่งเหล่านี้ไปได้ในที่สุด 

กับอีกอย่างคือในขณะที่เราใช้ชีวิตของเราแล้ว เราก็ควรเห็นอกเห็นใจคนอื่น มองเห็นคนที่เขาไม่เหมือนเรา แล้วมันจะได้อยู่กันได้ไม่ยากมาก เราคิดว่าเรื่องประมาณนี้นี่แหละที่มันสำคัญ ส่วนปัจจัยอื่นๆ เช่น สติปัญญา ทักษะ ความสามารถใดๆ มันเป็นเรื่องที่เติมด้วยปัจจัยภายนอกได้ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเรื่องจิตใจ

เชื่อว่าพ่อแม่ทุกคนต้องเคยผ่านจุด ‘มือใหม่’ มีประสบการณ์ที่ทำพลาดกันบ้าง พี่ธิดาแชร์เรื่องที่ตัวเองเคยทำพลาดให้ฟังหน่อยได้มั้ย

โอ้ เยอะแยะ อย่างเช่นตอนลูกเล็กๆ คือเราเป็นแม่ที่ไม่เคยเตรียมพร้อมสภาพจิตใจตัวเองเลย เราใช้ชีวิตเป็นคนทำงานมาตลอด เป็นเซ็นเตอร์มาตลอด แต่พอลูกมาปุ๊บ แน่นอนว่าชีวิตเปลี่ยน เซ็นเตอร์ไม่ได้อยู่ที่เรา แล้วเราก็ไม่สามารถควบคุมทุกอย่างในชีวิตได้อีกต่อไป เช่น ลูกจะร้อง ลูกจะหิว คือทุกอย่างมันขึ้นกับเขา ช่วงแรกเราก็รวนมาก แล้วเราก็เผลอไปลงกับเขา ลงที่ลูกไม่ใช่การฟาดตีนะ แต่หมายความว่าเราเบื่อกับการเลี้ยงลูก เราไม่ได้อุ้มเขามากพอ เราเหนื่อย เราอยากให้คนอื่นช่วยอุ้ม ในช่วงนั้นจะเป็นแบบนี้ 

แล้วพอเขาโตขึ้น เราก็มีความกังวลตามประสาพ่อแม่ที่แบกรับวิธีคิดภายนอก เช่น ต้องส่งลูกเข้าโรงเรียนอย่างงี้ ลูกดื้อเราต้องปฏิบัติอย่างงี้ คือมันก็จะมีวิธีคิดที่เราอยากควบคุมเขาให้ได้ ซึ่งเวลาที่เรากับลูกปะทะกัน เราเอาอารมณ์นำตลอด มีหลายช่วงเลยที่เป็นแบบนี้ แต่ในที่สุดเราก็ค่อยๆ เรียนรู้ว่า นี่มันคือภาวะความเป็นจริงที่เราเลี่ยงไม่ได้

เราไม่สามารถทำให้ลูกหายไปหรือกลับไปจุดเริ่มต้นใหม่ เขาอยู่กับเราและเขาก็โตขึ้นทุกวัน เขารู้ขึ้นเรื่อยๆ ในสิ่งที่เราทำ มันเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะไม่ฟังเขา เขาโตขึ้น เขาฉลาด เขามีความรู้สึก มันเหมือนเราก็ค่อยๆ ปรับตัวเอง trial and error ไปเรื่อยๆ ว่าเราจะใช้ชีวิตอย่างไร เราครึ่งหนึ่ง เขาครึ่งหนึ่ง อยู่ร่วมกันยังไงให้ราบรื่นกว่านี้

นอกจากการรับฟัง พื้นที่ปลอดภัยมันเรียกร้องอะไรมากกว่านั้นอีกมั้ย

อืม นึกไม่ออก คือสิ่งที่เราทำคือการฟัง ทำให้เขามีความรู้สึกว่าเขาสามารถพูดได้ทุกๆ เรื่อง แล้วก็ทำให้เขารู้สึกว่าเขาเป็นอะไรก็ได้ เราไม่ได้มีธงในใจว่าอย่าพูดสิ่งนี้นะ เราพยายามทำให้เขารู้สึกว่าทุกเรื่องถ้าเขาอยากพูด เขาสามารถพูดให้แม่ฟังได้ แม่จะไม่ตัดสินใจอะไร หรือทำอะไรที่ทำให้เขารู้สึกอาย ซึ่งยังไม่ค่อยสำเร็จนะ เรื่องไม่ตัดสินเนี่ย หลายครั้งเราเองก็เผลอพูดอะไรออกไป แต่ว่าลูกเขาโตมาด้วยกันกับเรา เราจะมีความสัมพันธ์ในลักษณะที่ เวลาที่เราเผลอพูดอะไรที่ไม่ควรพูดออกไป เขาจะท้วงแม่ แม่ไม่ควรนะแบบนี้ เหมือนเพื่อนเตือนกัน ซึ่งเราโอเคมาก

ตัวอย่างเช่น เมื่อสักเดือนที่แล้ว ลูกชายบอกว่าเพื่อนๆ ผู้ชายชวนไปเดินเที่ยวกันเอง คือปกติเวลาเขาไปเดินเขาจะไปกับพี่สาว พอมีเพื่อนผู้ชายชวนไปเดิน เราก็เผลอแซวว่าลูกจะไปเหล่สาวเหรอ โดยที่เราไม่ได้คิดอะไรเลยนะ แต่ลูกสาว พี่เขาก็รีบเบรกเลยว่าแม่ไม่ควรพูดแบบนี้ แม่รู้หรือเปล่าว่า ผู้ใหญ่ชอบพูดแบบนี้ บางทีเด็กๆ เขาไม่ได้คิดอะไรที่มันเป็นเรื่องเพศนะ แต่ว่าผู้ใหญ่ชอบแซวเรื่องเพศ มันทำให้เด็กคิด มันไม่สมควรพูด เราก็ตายละ (หัวเราะ) รู้งี้ไม่น่าพูดเลย

พอมีลูก 2 คนที่เหมือนจะคาแรกเตอร์ต่างกัน วิธีพูดที่เราใช้ก็ต้องต่างกันด้วยใช่มั้ย

ใช่ ลูกสาวจะเป็นคนละเอียดอ่อน เราก็จะพูดกันได้ละเอียด แต่ลูกชายเขาโผงผางกว่า ละเอียดน้อยกว่า เราก็จะพูดกับเขาตรงๆ สมมติว่าเป็นปัญหาแบบเดียวกัน เช่น เราอยากเตือนเขาในเรื่องนี้ กับลูกชายเราจะพูดตรงๆ สั้นๆ ลูกอย่าพูดแบบนี้นะ เหตุผล 1 2 3 สั้นๆ จบแล้วเขาก็จะฟัง แต่ลูกสาว เวลาเราพูดกับเขาเราก็ต้องคิดดีๆ ว่าเหตุผลที่เราพูดมันใช่เปล่า คิดแบบละเอียดมากขึ้น

มีจัดสรรเวลาชัดเจนมั้ยว่า นี่คือชั่วโมงที่เราจะนั่งคุยกัน

จริงๆ มันเกิดขึ้นแทบจะตลอดเวลาเพราะเราอยู่ด้วยกันตลอด แล้วลูกตลกมาก เป็นประเภทที่ว่ามีอะไรต้องเล่า เจอคลิปนี้นะ อย่างงู้นอย่างงี้ เราก็แบบทำไมต้องมาเล่า แม่ทำงานอยู่ (หัวเราะ) คือมันเกิดขึ้นในทุกพื้นที่ของบ้าน แต่ที่อาจจะพิเศษมากหน่อย ในเวลาที่เราได้อยู่ด้วยกันจริงๆ เช่น ช่วงก่อนนอน หรือช่วงที่เราชวนลูกไปเดินเล่น เดินไปชั่วโมงหนึ่ง ระหว่างทางก็จะคุยนั่นคุยนี่ สักพักบทสนทนาก็จะเริ่มเป็นเรื่องของเขามากขึ้นเรื่อยๆ

การฟังลูกมันดีกับพ่อแม่ยังไงบ้าง

การทำให้บ้านเป็นโซนครอบครัวที่มีลักษณะความสัมพันธ์ที่ทุกคนไว้เนื้อเชื่อใจกัน ในแง่ของพ่อแม่ เราจะพบจุดที่ทำให้เราสงบ เพราะถ้าไม่มีจุดนี้ ชีวิตเราคงจะวุ่นวายกว่านี้อีกเยอะ เช่น ถ้าเราไปโฟกัสว่าลูกไม่ได้ดั่งใจนั่นนี่ โห ชีวิตประจำวันเราคงจะเหนื่อยมากๆ  หรือสมมติทะเลาะกัน พูดกันไม่รู้เรื่อง ทำไมไม่เข้าใจกัน ชีวิตเราคงเต็มไปด้วยรายละเอียดที่น่าปวดหัว เราเลยรู้สึกว่าเก็บตรงนั้นไปก่อน ถ้าเราเชื่อใจกันก่อน เราว่าชีวิตมันจะง่ายและเบาขึ้นเยอะเลย

หมายถึงว่าต่อให้ทะเลาะกัน พอมันเกิดขึ้นบนเซฟโซนมันก็จะเป็นการทะเลาะที่เฮลท์ตี้ ถูกมั้ย

เรารู้สึกแบบนั้นนะ การทะเลาะมันจะข้ามไปอีกแบบหนึ่ง คือถ้าไม่ใช่เซฟโซนเนี่ย เราจะทะเลาะกันบนความโกรธกัน ต้องเอาชนะกัน เพราะแกไม่เข้าใจในสิ่งที่ฉันพูด แกไม่เข้าใจเจตนาของฉัน คือต่างคนต่างคิดแบบนี้ แต่ถ้าฐานมันมีความเข้าใจกัน ยังไงที่นี่มันไม่ทำให้เราเจ็บปวดจนตาย เพราะที่นี่คือที่ปลอดภัย เราจะขัดแย้งกันแบบที่เรารู้ว่ามันจะไม่นำเราไปสู่จุดที่เราไม่ต้องการ ขัดแย้งกันแล้วเดี๋ยวเราจะกลับมาดีกัน เพราะเราไม่อยากให้พื้นที่ตรงนี้่มันหายไป การทะเลาะกันมันจบง่ายขึ้น มันผ่านไปเร็วขึ้นอะไรแบบนี้

ถ้าพ่อแม่มือใหม่คนอื่นๆ อยากจะสร้างพื้นที่แบบนี้บ้าง ควรเริ่มจากตรงไหน

จากมุมที่เราเรียนรู้มาเองเนาะ มันต้องเริ่มจากตัวเราเอง เราต้องละความคิดแบบเดิมๆ ไปก่อน โดยเฉพาะความกลัวต่างๆ เช่น กลัวว่าลูกจะไม่เป็นอย่างงั้นอย่างงี้ในภาพที่เราฝันอยากจะให้เขาเป็น หรือลูกไม่ควรเป็นอย่างงั้นอย่างงี้ในแบบที่เราไม่อยากจะเห็น เราจะต้องเปลี่ยนวิธีคิด มองว่าเขาเป็นคนคนหนึ่ง โอเค เราเป็นพ่อแม่ เราก็มีความคาดหวัง มีความหวังดีทั้งนั้นแหละ แต่อย่าลืมว่าเขาเป็นคนคนหนึ่งแล้วเขาก็จะโตไปเป็นในสิ่งที่เขาต้องการจะเป็น ดังนั้น เราไม่มีทางควบคุมเขาได้ 

ย้อนกลับไปคิดถึงตัวเองก็ได้ว่า เราโตมาในครอบครัวที่พ่อแม่มีความคาดหวัง แต่ท้ายที่สุดแล้วเราก็เป็นในสิ่งที่เราเป็นนั่นแหละ คือเราก็ค้นหาตัวเองไปเรื่อยๆ มันอาจจะไม่ได้ดีเท่าภาพที่พ่อแม่ฝันก็ได้ แต่ว่าเราก็มีชีวิตที่โอเค เราเอาชีวิตรอดมาได้ เราเป็นมนุษย์ ลูกเราก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งเหมือนกัน มีความคิด มีชีวิตจิตใจ แล้วถ้าเราเปิดใจกว้างๆ แทนที่เราเดินนำเขา มาเดินใกล้ๆ แล้วฟังเขาไปเรื่อยๆ เราก็จะค่อยๆ ค้นพบ ได้รู้จักว่าเขาเป็นคนยังไง กว่าจะเก็ตอันนี้เราเองก็ใช้เวลานาน 

แต่ถ้าเราใช้ตัวเองนำ ไม่ฟัง เราจะไม่มีวันรู้ว่าลูกของเราเป็นอะไร เราจะมีแต่ภาพในหัวของลูกที่เราอยากเห็น ปรับโหมดแบบนี้ก่อน แล้วถ้าปรับวิธีคิดว่าลูกต้องเป็นแบบนู้นแบบนี้ได้ เราก็เอาเป้าที่อยากให้ลูกเป็นมาแค่ประมาณหนึ่ง ค่อยๆ ดูว่าเราจะช่วยเขาได้ยังไงให้มันไปถึงเป้าประมาณนั้นได้ ส่วนที่เหลือก็ให้เขาเลือกเดินแบบสบายๆ ของเขา เรารู้สึกว่าเป็นแบบนี้มันดีกว่า ความสัมพันธ์มันก็จะง่ายขึ้นตาม

ทั้งเลี้ยงลูกไปด้วย ทำงาน(เยอะมาก)ไปด้วย มีวันที่เราไม่ฟังลูกบ้างมั้ย

อันนี้เป็นปัญหามากที่สุด ทุกวันนี้ยังเป็นอยู่ แล้วหลายครั้งมันทำให้เรารู้สึกว่าเราควรจะทำได้ดีกว่านี้ แม้แต่ทุกวันนี้ที่รู้สึกว่าความสัมพันธ์มันโอเค ก็ยังมีที่แบบ นี่วันนี้เราทำอะไรลงไปวะ เอาเวลาไปทำอะไรหมด เสียใจ พรุ่งนี้เอาใหม่ แล้วพอเวลาผ่านไปอีกก็กลับมาลูปนี้เหมือนเดิม เพราะเราเอาตัวเองไปอยู่ในวงจรของการทำงานที่เราแก้ไม่ได้ แต่มันเหมือนเรารู้ตัวขึ้นทุกวัน ว่าเราต้องจัดการตัวเองในตรงนี้ให้ดี

ซึ่งพอไม่ฟังหลายๆ ครั้งเข้า มันกระทบกับความเชื่อใจที่เขามีให้มั้ย

ตรงนี้เป็นสิ่งที่ต้องพยายาม อย่างลูกสาว ช่วงสองปีที่แล้วเป็นช่วงที่เขาฮอร์โมนกำลังแรง สมมติเขาพูดอะไร แล้วเราบอกว่า เดี๋ยวก่อน แม่กำลังทำงาน เขาก็จะเสียอารมณ์เดินออกไป ทะเลาะกันก็มี จากนั้นเราก็จะรู้สึกผิดกับลูก ทั้งโกรธ ทั้งรู้สึกผิดกับตัวเอง แต่เราก็ต้องค่อยๆ ปรับตัว ค่อยๆ ใช้เวลา เขาเองก็ค่อยๆ โตขึ้น พอมีปัญหา เราก็พยายามชดเชยด้วยการขอโทษ เดินไปหา วันนี้ว่างละ คุยกัน พยายามจัดสรรตัวเองให้มีช่วงเวลาอื่นๆ มาทดแทน ให้มันเกิดโมเมนต์ที่ใช้ด้วยกันขึ้นมา ถูไถไปเรื่อยๆ วันไหนที่ยุ่งมากจริงๆ ก็ต้องพูดกับเขา เย็นนี้แม่ไม่ได้ขึ้นไปนอนพร้อมกันแล้วนะ ขอเคลียร์งานก่อน ยิ่งเขาเรียนโฮมสคูล เขาเห็นการทำงานของเรามากขึ้น เรากับเขาก็เข้าใจมากขึ้น

ข้อความไหนจากลูกๆ ที่ได้ยินแล้วรู้สึกใจฟู หรือรู้สึกว่าเราบรรลุเป้าหมายแล้ว

ลูกสาวเราเป็นคนชอบพูด ชอบเล่า เขาเป็นคนมีความสามารถในการเล่าความรู้สึกของตัวเอง เหมือนเขาสนใจเรื่องจิตวิทยา ชอบสังเกต เขาเลยเป็นคนถ่ายทอดความรู้สึกค่อนข้างดี เขาจะพูดบ่อยๆ ว่าเนี่ยดีจังเลยที่เล่าเรื่องนี้ให้แม่ฟังได้ เพราะว่าเคยฟังจากเพื่อนนะ เพื่อนไปเล่าให้พ่อแม่ฟังแล้วเพื่อนก็บอกกับเขาว่าวันหลังไม่เล่าแล้ว แต่ว่าเนี่ย บ้านเราดีจังที่มีอะไรก็พูดกันได้ เราว่าอันนี้แหละที่เราอยากทำ แต่พอนึกดีๆ เราว่ามันเป็นเพราะว่าเขามาพูดกับเราก่อนด้วย ทำให้เราปิ๊งขึ้นมาว่าเซฟโซนมันคือตรงนี้ การที่เรารับฟังคือสิ่งที่สำคัญสำหรับเขาสินะ

ลึกๆ เชื่อมั้ยว่าพ่อแม่ทุกคน สามารถเป็นพื้นที่แบบนี้ให้ลูกได้

ถ้าให้พูดทั่วๆ ไป เราคิดว่ามันเป็นสิ่งที่น่าจะเรียนรู้ได้ อย่าลืมว่าพ่อแม่แต่ละคนมีความพร้อมไม่เหมือนกัน ปัจจัยในการดำเนินชีวิตแต่ละคนมันต่างกัน บางคนอาจจะไม่ได้มีเวลาให้ลูกเยอะๆ เพียงแต่ว่าไอ้การที่เรา เข้าใจว่าจริงๆ สิ่งที่ลูกต้องการจากเราที่สุดมันคือตรงนี้ มันไม่ใช่ตรงนั้น ตรงนี้มันน่าจะเป็นสิ่งที่น่าจะทำความเข้าใจได้ไม่ยากเกินไป

ย้อนกลับไปที่พ่อแม่เรา เขาไม่ได้ต้องพยายามทำอะไร คือเขาทำมาหากิน แต่เราก็รู้สึกได้ว่ามันเป็นบรรยากาศที่พ่อแม่ความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน แล้วเขาก็มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อเรา เขาไม่ได้ทำให้เรารู้สึกว่าเป็นส่วนเกินในชีวิตเขา หรือแม้แต่เขาก็ไม่เคยมาพูดว่าทำมาหากินเลี้ยงเราลำบากมาก เราไม่เคยมีความรู้สึกว่า ความลำบากนี้มันเป็นเพราะฉันเกิดมา เราว่าแค่นี้มันก็เป็นโซนปลอดภัยของเราแล้ว

ถามเผื่ออนาคต สมมติว่าเราเดินทางไปถึงวันที่ลูกโตมากๆ กลัวมั้ยว่าเขาอาจจะไม่ได้มองเราเป็นเซฟโซนอีกแล้ว

เรากลัวในแง่ว่า เราจะเผลอพลาดทำอะไรไปแล้วทำให้เขารู้สึกไม่ไว้ใจอีกต่อไป เรากลัวอันนี้มากกว่า แต่ถ้าเป็นเชิงกายภาพ วันหนึ่งลูกมีแฟน ซึ่งตอนนี้มันยังไม่เกิดขึ้นนะ วันนั้นเราอาจจะกลัวก็ได้ (หัวเราะ) จริงๆ มันอาจจะไม่ใช่ความกลัวหรอก แต่เราก็ไม่ได้ชิลล์ขนาดที่ว่าไม่รู้สึกอะไร อาจจะเหงาก็ได้นะ เพราะตอนอยู่ด้วยกันเราก็พึ่งพิงกันสูง วันหนึ่งหายไปเราก็อาจจะรู้สึกแย่เหมือนกัน แต่นั่นก็เป็นเรื่องที่เราต้องจัดการ มันเป็นเรื่องธรรมชาติ

ลูกอยู่กับเราไปตลอดไม่ได้ แต่ถ้าเรามีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน บ้านเป็นที่พิงของเขาตลอด เราว่าไอ้ความรู้สึกนี้มันจะไม่มีวันหายไป แม้แต่วันที่พ่อแม่ตายหมดมันก็จะไม่หายไป เหมือนกับเรา พ่อแม่เราไม่อยู่แล้ว แต่วันที่นึกถึงเขา ข้างในมันก็มีความรู้สึกอยู่ตลอด มันไม่ใช่ว่าโลกนี้มันล่มสลายไปแล้ว สิ่งที่เราทำไว้นี่แหละที่มันสำคัญ

Read More:

Love สาระสำคัญ

เขื่อนเพื่อฉัน? ฝันเพื่อใคร?

เขาบอกว่าเขื่อนไม่ดี แล้วทำไมปี 2021 ใครบางคนยังอยากได้เขื่อนอยู่อี้ก (เสียงสูง)

Love วิธีทำ

ฮาวทูสู้กับ Climate Despair

สิ้นหวัง หมดไฟ ไปต่อยังไงกับปัญหาโลกร้อน/โลกรวน

Love ผลการทดลอง

เรื่องตบแต่ง เมื่อฉันจัดงานแต่งงานแบบเอาใจโลก

ทดลองจัดงานแต่งงานแบบเอาใจโลก แต่ก็ต้องดูใจตัวเองไปด้วย