Love —— จดหมายเหตุ

ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งรื้อ

ระหว่างที่ปิดเมืองหนีโควิด หลายแห่งในกรุงเทพฯ ก็ถูกล้อมรั้วเขตก่อสร้าง รื้อนู่นนี่ไปมากมาย และอีกไม่กี่อึดใจก็จะมีอะไรใหม่ออกมาให้เห็น ซึ่งตามประสาคนรักกรุงเทพฯ เหมือนแฟน (คือรักและผูกพัน ถึงจะมีข้อเสียอะไรก็พยายามเข้าใจและปรับตัว) เราออกจะหวาดระแวงกับเวลานี้ไม่น้อย เหมือนแฟนมีอะไรปิดบังเราอยู่ บอกอะไรก็บอกไม่หมด แล้วเอาแต่ขอให้เชื่อใจ ไม่มีอะไรหรอกน่า!

ก็อยากจะเป็น Good citizen เห็นดีเห็นงาม คลองโอ่งอ่างได้รางวัลระดับนานาชาติมาก็ดีใจด้วยแหละ (แต่งบระดับนั้นทำได้แค่คลองเดียวจริงดิ) และจากผลงานการไล่รื้อของคุณเมือง เราก็ต้องขอขุดวีรกรรมไล่ชุมชนหลังป้อมมหากาฬ แลกกับสวนร้างๆ ที่ไม่มีคนไปใช้ กวาดรถเข็นแผงลอยสตรีทฟู้ดไว้ใต้พรม โดยไม่หามาตรการอะไรรองรับ หมุดหมายทางประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยหายไปไหนก็ไม่รู้ อนุสาวรีย์ใหญ่ท่นโท่ก็หายวับไปได้ ฯลฯ

ไม่ได้จะมางอแง แต่ขอคุยด้วยหน่อยว่าเราและชุมชนได้อะไรจากทางลอดเข้าวัดพระแก้ว จะเปลี่ยนตัวเองเป็นโอปป้าสร้างสวนสาธารณะริมคลอง เราก็อยากแน่ใจว่ามันจะไม่ใช่แค่สวนเกาะกลางถนนสวนปิ๊งแต่ไปใช้จริงลำบาก สกาล่าที่เรารักจะกลายเป็นเซ็นทรัลอีกสาขาจริงดิ หรือเรากำลังถูกริบคืนพื้นที่สาธารณะแบบเนียนๆ เหมือนที่คุณเอารั้วไปล้อมสนามหลวงให้เราเดินบนขอบฟุตบาทอีกแล้วเหรอ!?!

คุณจะรื้อ จะพัฒนาตัวเอง จะมีโร้ดแมพยิ่งใหญ่เราก็ว่าดีนะ แต่คุณเก็บประวัติศาสตร์ที่เพิ่งรื้อเหล่านี้ไว้ที่ไหน ก่อนจะเริ่มทำคุณปรึกษาเราด้วยได้ไหม มีอะไรไม่ถามเราหน่อยเหรอ บอกว่าทำเพื่อเรามันจริงหรือเปล่า เรายังหวังว่าจะอยู่ด้วยกันอย่างเข้าใจได้จริงใช่ไหม

ไม่อยากให้คิดว่าทำไมเอาแต่จับผิดกัน เพราะเราคิดอีกด้านว่า ถ้ารักกันจริง อยากพัฒนาเมืองนี้ให้ถูกทาง คนอยู่กับคนสร้างมันควรจะเข้าใจกันด้วยสิ

ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งถูกรื้อไปของท่าช้าง ไม่ต้องไล่ไปสมัยมันเคยเป็นท่าที่เอาช้างในวังมาอาบน้ำก็ได้เนอะ เอาเร็วๆ ที่เราทัน มันคือย่านท่าน้ำแสนคึกคัก เต็มไปด้วยสตรีทฟู้ดและร้านรวงเขรอะๆ และต้นลั่นทมกลิ่นหอมเต็มลาน ภาวะเดินกระทบไหล่กันระหว่างคนไทยสัญจรไปมาและมาหาของอร่อยกิน ฝรั่งนักท่องเที่ยวแบ็คแพ็ก และกรุ๊ปทัวร์จีนกระโปรงบานแฉ่ง 

แต่สิ่งที่กำลังจะมาแทนที่ คืออุโมงค์ทางเดินลอดถนนหน้าพระลาน-ถนนมหาราช หนึ่งในงานรื้ออลังการของผู้ว่าอัศวินด้วยงบ 1.125 พันล้านบาท เป็นทางลอดใต้ดินโอ่โถงแบบสถานีรถไฟใต้ดิน มีห้องน้ำสะดวกสบายรองรับนักท่องเที่ยวมา Grand Palace เมื่อเปิดประเทศ สอดรับกับการอนุรักษ์ตึกแถวท่าช้างวังหลวงของสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่เสร็จไปก่อนหน้า กับราชนาวีสโมสรที่รีโนเวตพื้นที่ให้สวยปิ๊ง และที่ไม่ได้เกี่ยวข้องเสียทีเดียวคือคอมมูนิตี้มอลล์ใหม่กิ๊ก ที่อยู่ถัดจากกลุ่มตึกแถวท่าช้างฝั่งถนนมหาราช ก็รอเปิดทำการเมื่อการเปิดเมืองเริ่มต้น

ห้องน้ำสะอาด ทางเดินราบเรียบศิวิไลซ์มันก็ดีอยู่หรอก แต่เราก็อยากได้ความสวยงามที่มีฟังก์ชั่นเมกเซนส์ เช่นถ้าจะทำทางม้าลายคนข้าม แต่ข้ามไปเจอเกาะกลางที่ปลูกต้นไม้สวยไว้จนไม่มีทางเดินมันก็ผิดจุดป่ะนะ หรือต้นไม้ที่ล้อมออกไป จะเอากลับคืนมาให้ร่มเงาเหมือนเดิมไหม และสิ่งที่เราอยากแน่ใจคือการพัฒนานี้จะมีการจัดการที่ดีกับคนที่อาศัยอยู่เดิมในพื้นที่หรือหาบเร่แผงลอย ไม่ใช่เมืองศิวิไลซ์สำหรับทัวริสต์ แต่ไม่มีชีวิตของเจ้าของพื้นที่ ซึ่งเราพยายามหาเอกสารประชาสัมพันธ์ของกรุงเทพมหานครว่ามีแผนจัดการอย่างไร แต่ก็ไม่มีพูดถึงในประเด็นนี้ไว้เลย ก็เลยขอมาถามไถ่และหวังจะได้การจัดการที่ดีตอบแทน 

ภาพจากสำนักประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร

2

งงนิดๆ ว่าทำไมรัฐและกทมถึงคลั่งรักคลองชองกเยซอนแห่งเกาหลีจนเมนชั่นถี่ เมนชั่นบ่อย แถมยังใช้เป็นคำโฆษณาว่าจะปรับปรุงคลองช่องนนทรีตั้งแต่ต้นถนนสุรวงศ์ ยาวตลอดแนวถนนนราธิวาสฯ จบที่ลงแม่น้ำเจ้าพระยา ให้กลายเป็นชองกเยซอนเมืองไทย พร้อมตำแหน่งสวนสาธารณะคลองแห่งแรกและยาวที่สุดในประเทศไทย ผลงานใหญ่สู่เป้าหมาย Green Bangkok 2030

โดยสถานะเดิม คลองช่องนนทรีถูกออกแบบมาให้อยู่ตรงกลางระหว่างถนนนราธิวาสราชนครินทร์ที่ขึ้นชื่อเรื่องรถติดหนึบ ทำหน้าที่เป็นคลองระบายน้ำป้องกันน้ำท่วม สภาพเดิมไม่ได้โสภีแต่ก็ไม่เลวร้ายอะไรในสายตาเรา แต่เมื่อเห็นแปลนอลังการและงบที่ทุ่มลงคลองไป 980 ล้าน ในฐานะผู้เสียภาษีอย่างยากลำบาก บอกตรงๆ ว่าทั้ง ‘งอง’ และ ‘งอน’ เพราะโปรเจกต์ใหญ่โตอย่างนี้ ไม่ถามเราในฐานะแฟน (พลเมือง) สักคำ หรืออย่างน้อยก็ควรถามคนในพื้นที่รายล้อม ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่จะใช้สวนนี้บ้างว่าต้องการอะไร ไอ้ที่วางคอนเซปต์สวยหรู มีเราอยู่ในแผนจริงไหม เน้นให้สวย เน้นให้อลังการไว้ก่อน ความเชื่อมโยงกับผู้คนค่อยว่ากัน หรือเดี๋ยวมีคนมาเช็คอิน ก็แห่กันมาเองแหละ ไม่ต้องสนใจเรื่องความยั่งยืนเชิงพื้นที่นักหรอก?

เราได้อ่านโพสต์ของดร. นิรมล กุลศรีสมบัติ ผอ. Uddc ที่ออกมาตั้งคำถาม (เพราะอาจารย์เชื่อว่า อยากได้เมืองดี ยิ่งต้องถามคำถามยากๆ) ว่านี่เป็นโครงการฟื้นฟูเมืองอย่างที่อ้างหรือเป็นแค่งานฟื้นฟูภูมิทัศน์กันแน่ จริงๆ ในโพสต์มีรายละเอียดมากมาย แต่ถ้าสรุปสั้นๆ อาจารย์เทียบให้เห็นว่าคลองชองกเยซอนทำงานกับคนพื้นที่ที่มีส่วนได้ส่วนเสียแบบเข้มข้น ออกแบบทั้งระบบ ลดเลนถนนที่ขนาบคลองให้เล็กลงเพื่อให้รถน้อย ทำสวนและถนนให้ต่างระดับ แล้วหาเส้นทางอื่นทดแทนให้การสัญจรหลักเพื่อให้คนข้ามมาใช้พื้นที่สีเขียวในคลองได้จริง แต่ยังไม่เห็นว่าโครงการชองกเยช่องนี้จะจัดการการเข้าถึงพื้นที่อย่างไร นี่ยังไม่นับว่า แล้วยังจะใช้เป็นคลองระบายน้ำด้วยได้ไหม แล้วมีสวน มีต้นไม้ มีเส้นทางเล่นระดับตามแปลนแบบนั้น มันเวิร์กจริงหรือเปล่า ตกลงที่บอกว่าจะเปิดสวนเฟสแรก 25 ธันวานี้ เราจะได้เกาะกลางถนนสวยเช้งมาอีกหนึ่งอัน เหมือนได้คลองโอ่งอ่างสวยเช้งพายเรือคายัคได้ เพราะกันไม่ให้น้ำเน่าจากคลองที่เชื่อมกันไหลเข้ามา? (อันนี้เราถามเองด้วยอีกคน)

ภาพจากสำนักประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร

3

เราจะไม่งอแงดึงดันขอให้สกาล่ายังคงอยู่ เปิดฉายหนังตั๋วร้อยนึงให้เราไปจนวันตาย นี่ก็ไปบอกลาสกาล่ารอบสุดท้ายอย่างเข้าอกเข้าใจมาด้วยนะ ว่าสแตนด์อโลนก็ย่อมเป็นไปตามกรรม แต่อย่างน้อย สถาปัตยกรรมแสนสวยนี้ก็ไม่ควรถูกทุบทิ้ง และในฐานะที่มันตั้งอยู่ในพื้นที่ของสถานศึกษา เราก็ได้แต่ฝันว่า สกาล่าจะถูกพัฒนาให้เป็น Public Space ด้านภาพยนตร์ ศิลปวัฒนธรรมที่เป็นประโยชน์ต่อผู้คนส่วนใหญ่ โดยไม่ต้องแลกมาด้วยการจับจ่ายขายซื้อ

ตัดภาพมา สำนักทรัพย์สินจุฬาฯ คัดเลือกให้เซ็นทรัลพัฒนาได้พื้นที่ทั้ง block A (สยามสแควร์ ซอย 1) ไปด้วยสัญญา 30 ปี และจะยังอนุรักษ์สถาปัตยกรรมเดิมเอาไว้ให้เป็นแลนด์มาร์ก และปรับพื้นที่ให้กลายเป็นช้อปปิ้งสตรีท เติมเต็มความเป็นสยามสแควร์ และล้อมรั้วพื้นที่ก่อสร้างเนียนๆ ไปแล้วเมื่อปลายเดือนตุลานี่เอง

ไม่อยากจะกล่าวเสียงสบถในหัวที่ดังขึ้นหลังทราบข่าว คือในฐานะสถานศึกษา คุณมีหน้าที่ทำช้อปปิ้งสตรีท ช้อปปิ้งมอลล์ และช้อปปิ้งเซ็นเตอร์เหรอ และที่เขาออกมาเรียกร้องกัน ทั้ง #Saveศาลเจ้าแม่ทับทิม หรือ #Saveสกาล่า นี่ไม่เคยถูกนำไปพิจารณาหรือทำความเข้าใจเรื่องประวัติศาสตร์พื้นที่ ความเป็นชุมชน หรือความเป็นมนุษย์หน่อยเหรอ (ว้อย!)

แต่เรายังไม่สิ้นหวัง เลยจะมาชวนส่งเสียงเรียกร้อง เซ็นทรัลคะ คุณเป็นนายทุน คุณคงรู้ว่าโลกมันเปลี่ยนไป คุณค่าแบบเดิมมันถูกสั่นคลอนแล้ว หวังว่าคุณบาลานซ์เงินทองกับคุณค่าได้ และสร้างพื้นที่สำหรับผู้คนแทนห้างเซ็นทรัลอีกหนึ่งสาขา เราเชื่อว่าคุณจะได้ทั้งเงินและคำชื่นชมนะ 

4

ดึงดราม่าในฐานะชาวฝั่งธน ที่คลองสานพลาซ่าเคยเป็นสยามสแควร์ย่อมๆ ของคนไม่อยากข้ามเรือแล้วนั่งรถเมล์สาย 36 ไปถึงสยามตัวจริง คือแหล่งช้อปเสื้อผ้าราคาถูกตามเทรนด์ และแหล่งของกินอิ่มหนำ และมีคนสัญจรเรือข้ามฟากไปฝั่งพระนครกันแบบขวักไขว่ พอเห็นว่าร้านรวงแน่นขนัดถูกรื้อทุบ ใจจะหายก็ไม่ใช่เรื่องเกินงาม

ข่าวธุรกิจให้ข้อมูลว่า ร.ฟ.ท. ขอปรับเพิ่มค่าเช่าพื้นที่จาก 1.6 ล้าน เป็น 15 ล้านบาท ผู้เช่าเดิมทั้งเรือข้ามฟากและตลาดจ่ายไม่ไหว เพราะหลังๆ กิจการก็ซบเซาลงไปตามวาระเวลา ซึ่งบริษัทลูกที่ดูแลสินทรัพย์การรถไฟ ก็เตรียมพัฒนาพื้นที่ให้กลายเป็น Mixed-Use มูลค่า 895 ล้านแล้วเปิดประมูลกันในปีหน้า ให้สมกับเป็นพื้นที่ทองคำติดแม่น้ำเจ้าพระยา ห้างหรู และโรงแรมไฮเอนด์

จากใจคนที่ยืนซื้อดูดน้ำจับเลี้ยง 5 บาท แวะกินบัวลอยถ้วยละ 30 เดินไปเลือกกระเป๋ามือสองราคาย่อมเยา แล้วก็จ่ายเงิน 3.50 ข้ามฟากไปสี่พระยา มันจินตนาการไม่ออกเลยนะว่าพื้นที่มูลค่าเก้าร้อยล้านที่ว่า จะเห็นหัวเราได้ยังไง 

(อ้อ สำหรับใครที่สงสัยว่าที่ตรงนี้เกี่ยวอะไรกับการรถไฟ ต้องย้อนไปว่าทางรถไฟสายแม่กลองมีสถานีเริ่มต้นอยู่ที่คลองสาน ก่อนจะเขยิบไปเริ่มที่วงเวียนใหญ่) พื้นที่ตรงนี้เลยเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟ และมีอำนาจเต็มในการพัฒนาพื้นที่ ซึ่งเราก็ได้แต่ภาวนาว่า เขาจะมีเรา มีคนในชุมชน และมีประวัติศาสตร์ที่เพิ่งรื้อ อยู่ในสมการของการพัฒนาบ้าง ได้โปรดเถอะ

5

เราไปเดินงานกาชาดที่ลานพระรูปทุกปี แวะไปดูคนขายกุหลาบสักการะเสด็จพ่อร. 5 ตอนค่ำๆ ในวันชิลล์ ได้เห็นตอนมันกลายพื้นที่ชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรที่ปักหลักอยู่ยาวนาน หรือยังจำภาพประวัติศาสตร์ที่มีคนใส่เสื้อเหลืองเต็มลานพระรูปฯ ในการออกมหาสมาคมของรัชกาลที่ 9 (อ้อ งานอุ่นไอรัก คลายความหนาวด้วย) มันจึงช่วยไม่ได้ที่เราจะเข้าใจว่านี่คือพื้นที่สาธารณะที่เราทุกคนล้วนเป็นเจ้าของ

แต่เฮ้ย! ไม่เหมือนที่คิดกันไว้ หลังจากมีการสร้างรั้วด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยของพระราชวังดุสิต พร้อมย้ำว่านี่คือเขตพระราชฐาน ไม่ใช่พื้นที่สาธารณะอย่างที่เธอเข้าใจนะจ๊ะ เพราะฉะนั้น การสร้างรั้ว การห้ามชุมนุมทางการเมือง และการเปิดปิดเป็นเวลาจึงเป็นเรื่องที่สำนักพระราชวังทำได้ ถ้าจะเรียกให้ถูก มันกลายเป็นพื้นที่กึ่งสาธารณะที่สถาบันใจดีให้พวกเธอใช้ได้เหมือนเดิม เพิ่มเติมคือมีขอบเขต เฉกเช่นเดียวกับสนามหลวงที่มีรั้วกั้น (และหากเราจะเดินไปขึ้นรถเมล์ที่ป้ายสนามหลวง เราต้องเดินบนขอบฟุตบาทนะ เพราะพื้นที่ ‘กึ่งสาธารณะ’ ถูกล้อมไว้หมดแล้ว!)

เรายืนอยู่นอกรั้วมองตาปริบๆ รำลึกถึงหมุดคณะราษฎร์ที่ถูกถอนและแทนที่ด้วยหมุดหน้าใสเมื่อหลายปีก่อน แล้วได้แต่หวังว่าประชาธิปไตยจะไม่ถูกริบคืนด้วยอำนาจหรือรั้วใด

Content Designer

อดีตผู้ช่วยบรรณาธิการนิตยสาร #aday คือเจ้าของหนังสือทั้งเรื่องจริงและเรื่องแต่ง อาทิ #สนธิสัญญาฟลามิงโก #ร้านหวานหวานวันวาน คือบรรณาธิการอิสระและคอนเทนต์ครีเอเตอร์ฟรีแลนซ์ ก่อนจะมาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทออกแบบคอนเทนต์ที่ยังไม่รู้จะตั้งชื่อตำแหน่งตัวเองว่าอะไร

Graphic Designer

#กราฟิกดีไซเนอร์ #เป็นเด็กหญิงMoodyGirl #แต่ถ้าได้กินของอร่อยฟังเพลงเพราะนอนเต็มอิ่มจะจิตใจแจ่มใสและหัวใจพองโต

Read More:

Love วิธีทำ

มีเงินอย่างเดียวก็เป็นคนไนซ์ของเมืองได้

แจกผังหนุนเจ้าเก่า วิธีเชียร์ร้านประจำ และหน่วยที่อุดหนุนแล้วจะดีต่อเมือง

Love ผลการทดลอง

เรื่องตบแต่ง เมื่อฉันจัดงานแต่งงานแบบเอาใจโลก

ทดลองจัดงานแต่งงานแบบเอาใจโลก แต่ก็ต้องดูใจตัวเองไปด้วย

Love สาระสำคัญ

ไหว้เจ้า 9 ศาล กับ 9 คำอธิษฐานเพื่อเมืองที่ดีกว่านี้

รวมคำอธิษฐานจากเมือง ที่อยากให้เมืองนี้ดีและน่าอยู่มากขึ้น