Body —— สาระสำคัญ

Freedom of Choice ในฮิญาบ ที่เราและโลกก็ควรเข้าใจ ด้วยความเคารพ

ว่ากันโดยหลักการ ไม่ว่าใครบนโลกใบนี้ก็ควรมีเสรีภาพในการนับถือศาสนาหรือความเชื่อ แต่แค่เท่าที่เรามีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ (ไม่ต้องย้อนไปเห็นประวัติศาสตร์ความขัดแย้งทางศาสนาในอดีต) เราต่างแบ่งแยก ทำร้าย เกลียดชัง กีดกันมนุษย์ด้วยกันเพียงเพราะความแตกต่างในศรัทธาซ้ำแล้วซ้ำเล่า

วันที่ 22 สิงหาคมของทุกปี UN กำหนดให้เป็นวันรำลึกถึงเหยื่อความรุนแรงที่มาจากศาสนาและความเชื่อ แม้จะเป็นวันเล็กๆ (และคงไม่รู้, ถ้าไม่เปิดปฏิทิน UN) ที่ชวนให้รู้สึกว่ามันช่างไกลตัว แต่เรากลับคิดว่าความรุนแรงทั้งหมดล้วนมีจุดเริ่มต้นจากการไม่เคารพเสรีภาพในศรัทธาของกันและกันนั่นแหละ

ด้วยเหตุนี้ เราเลยอยากชวนมามอง ‘ฮิญาบ’ ผ้าผืนเล็กๆ ที่ใช้คลุมผมของหญิงชาวมุสลิมตามหลักศาสนา แต่กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อสิทธิและเสรีภาพของผู้หญิงในหลายแง่มุม แล้วชวนทำความเข้าใจไปด้วยกันว่า ในความแตกต่างนี้ เราเปิดใจมอบเสรีให้พวกเธอได้ไหม?

 

01

เนื่องจากผลงานที่ผ่านมาภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบันเมื่อ 20 ปีก่อน ผู้หญิงและเด็กหญิงอัฟกันถูกลิดรอนสิทธิและเสรีภาพหนักหนา ทั้งห้ามเรียนหนังสือ ห้ามทำงาน ห้ามออกจากบ้านโดยไม่มีผู้ชายไปด้วย และถูกบังคับให้สวม ‘บูร์กา’ หรือฮิญาบรูปแบบหนึ่งที่ปกปิดทั้งร่างกาย มีเพียงตาข่ายที่ดวงตาไว้ให้มองเห็นเท่านั้น 

การยึดอำนาจสดๆ ร้อนๆ และให้คำมั่นสัญญาว่าจะไม่ละเมิดสิทธิสตรี และคำแถลงขายฝันจึงยังเป็นที่กังขา ข่าวจากแดนไกลทำให้เรารู้ว่าแม่และยายต่างรีบขุดเอาชุดบูร์กาที่เคยเก็บไว้ก้นตู้ออกมาเตรียมให้ลูกหลานในบ้านใส่เพื่อไม่ให้เป็นอันตราย (มากกว่าจะรู้สึกเห็นดีเห็นงาม) หรือหญิงมุสลิมยุคใหม่เริ่มรวมตัวประท้วงอย่างกล้าหาญว่าพวกเธอจะไม่ยอมสวมบูร์กาที่ไม่ใช่หลักการอิสลามตามที่พวกเธอเข้าใจ

02

หลังจากปฏิวัติอิหร่านในปี 1979 ผู้หญิงอิหร่านทุกคนถูกบังคับให้ต้องแต่งกายมิดชิดและต้องสวมฮิญาบ แต่หลายๆ เสียงที่เราได้ยินจากผู้คนในประเทศนี้คือพวกเขาคิดว่าการสวมฮิญาบไม่ควรเป็นกฏหมายบังคับ แต่ควรเป็นสิทธิที่เลือกสวมหรือไม่สวมก็ได้ และควรปฏิรูปกฎหมายนี้กันเสียที 

กระแส Anti-Hijab ในอิหร่านจึงยังดำเนินต่อไปผ่านการขับเคลื่อนที่ชื่อว่า หญิงสาวแห่งถนนปฏิวัติ (The Girls of Revolution Street)  แม้ว่าผู้หญิงที่เรียกร้อง ออกมาแสดงอารยขัดขืนในการไม่สวมฮิญาบยังต้องติดคุกหรือหนีออกนอกประเทศ

03

แม้หลายคนจะมองว่าฮิญาบคือสัญลักษณ์ของการกดขี่เพศหญิง จับผู้หญิงขังอยู่ในผ้าคลุมมิดชิดที่แสนจะปิตาธิปไตย 

แต่ต้องไม่ลืมว่านี่ก็อาจเป็นความคิดที่เหมารวมและยัดเยียดชุดความคิดของเราใส่พวกเธอด้วยเช่นกัน หลังเหตุการณ์ 9/11 และการเกลียดชังสุดโต่งระหว่างศาสนาที่มีมาอย่างต่อเนื่อง หญิงมุสลิมกลายเป็นเป้าถูกทำร้ายในที่สาธารณะ เด็กหญิงในโรงเรียนถูกบุลลี่ กระแสหวาดกลัวมุสลิมกลายเป็นโรคระบาด การเลือกสวมฮิญาบจึงเป็นการต่อสู้เรื่องสิทธิในการนับถือศาสนาของพวกเธอ โปรดจงเคารพความแตกต่างในศรัทธาของฉัน การสวมฮิญาบโดยสมัครใจของหญิงมุสลิมในโลกตะวันตกจึงกลายเป็น Freedom of expression ในทางหนึ่ง 

04

ในบ้านเรา แม้จะไม่มีมูฟเมนต์ใหญ่โตให้เราเห็น แต่ก็ไม่ได้แปลว่าพวกเธอไม่ได้สู้เพื่อเรื่องนี้ และเรายังได้ยินข่าวการร้องเรียนที่บางหน่วยงานยังมีกฎห้ามสวมฮิญาบกันใน พ.ศ. นี้ เอาล่าสุดเมื่อเดือนมิถุนายน สมาคมนักศึกษาไทยมุสลิมยังต้องยื่นหนังสือกับคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ร้องเรียนที่นิสิตพยาบาลในมหาลัยเอกชนต้องใส่ยูนิฟอร์มแขนสั้นและไม่สามารถสวมฮิญาบได้ในการฝึกงาน ทั้งที่พยาบาลวิชาชีพก็ยังสวมฮิญาบได้นี่! (น้ำเสียงนี้เติมเอง ไม่ได้อยู่ในข้อร้องเรียน)

และถ้าค้นย้อนกลับไป สิทธิการสวมฮิญาบในเมืองพุทธก็ต้องต่อสู้เช่นกัน ใน พ.ศ. 2530 นักศึกษามุสลิมหญิงในยะลาขออนุญาตสวมฮิญาบในวิทยาลัย แต่ถูกปฏิเสธ พวกเธอจึงแสดงอารยขัดขืนด้วยการสวมฮิญาบไปเรียน ยิ่งถูกกดดัน จำนวนฮิญาบยิ่งเพิ่มขึ้นๆ จนกลายเป็นการเคลื่อนไหววงกว้าง มีการประท้วงใหญ่ที่มีการชุมนุมโดยนักศึกษาและประชาชนนับหมื่นเพื่อเรียกร้อง จนรัฐยอมรับข้อเรียกร้องในการปรับแก้กฎหมายที่ลิดรอนสิทธิของมุสลิมหญิงในไทยในปีถัดมา 

05

#pastoucheamonhijab คือแคมเปญเรียกร้องสิทธิในฮิญาบของพวกเธอ เพื่อต่อต้านร่างกฎหมายของฝรั่งเศสที่ห้ามแม่สวมฮิญาบพาลูกไปโรงเรียน ห้ามสวมชุดคลุมเบอร์กินี (ชุดว่ายน้ำแบบเต็มตัว) ในสระว่ายน้ำสาธารณะ และห้ามเด็กหญิงสวมฮิญาบใน public space 

แม้ว่าพวกเธอจะแพ้ เพราะกฎหมายยังถูกบังคับใช้ เช่นเดียวกับหลายประเทศในยุโรปมีกฏหมายห้ามสวมฮิญาบในที่สาธารณะ แต่นั่นก็ยิ่งทำให้เสียงของพวกเธอไม่เคยเงียบหายไป และได้แต่หวังว่าเราจะยอมรับในศรัทธาที่แตกต่างกันโดยปราศจากความกลัว 

06

จะด้วยหลักการศาสนา ความปลอดภัย ความกลัว ความเกลียดชัง ฯลฯ ล้วนเป็นเหตุผลที่รัฐ โลก และเรา ใช้ถกเถียงกันเพื่อบอกว่าพวกเธอควรสวมหรือไม่สวมฮิญาบ แต่หากกลับมาที่หลักการสุดพื้นฐาน เราไม่อาจมอบเสรีภาพให้มนุษย์คนหนึ่งได้แสดงออกในศรัทธาอย่างที่เธออยากทำเชียวหรือ

มันเรียบง่ายนะ ที่เราทุกคนควรมี Freedom of Choice ไม่ว่าจะเรื่องใดๆ ก็ตาม 

07

ฟังความเคลื่อนไหวใหญ่ๆ ในหลากหลายเฉดของมุมโลก แล้วกลับมาถามตัวเอง ว่าเราได้ให้ Freedom of Choice กับเพื่อนมุสลิมหญิงใกล้ตัวแล้วหรือยัง และเราเผลอล้ำเส้นด้วยคำถามเหล่านี้ไหม

แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่หากเราเคารพสิทธิบนหัวเขาด้วยหัวใจ ความขัดแย้งรุนแรงที่เกิดขึ้นในโลกนี้ อย่างน้อยมันก็ไม่ถูกบ่มเพาะจากใจของพวกเรา 

อ้างอิง

https://www.un.org/en/observances/religious-based-violence-victims-day

https://www.thecut.com/2021/04/first-person-my-hijab-has-always-been-my-choice.html

https://www.bbc.com/thai/international-43332855

https://www.thairath.co.th/news/politic/2122607

https://thematter.co/thinkers/right-to-wearing-hijab/139319

Content Designer

อดีตผู้ช่วยบรรณาธิการนิตยสาร #aday คือเจ้าของหนังสือทั้งเรื่องจริงและเรื่องแต่ง อาทิ #สนธิสัญญาฟลามิงโก #ร้านหวานหวานวันวาน คือบรรณาธิการอิสระและคอนเทนต์ครีเอเตอร์ฟรีแลนซ์ ก่อนจะมาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทออกแบบคอนเทนต์ที่ยังไม่รู้จะตั้งชื่อตำแหน่งตัวเองว่าอะไร

Graphic Designer

#กราฟิกดีไซเนอร์ #เป็นเด็กหญิงMoodyGirl #แต่ถ้าได้กินของอร่อยฟังเพลงเพราะนอนเต็มอิ่มจะจิตใจแจ่มใสและหัวใจพองโต

Read More:

Body วิธีทำ

วิธี Anti-Haul เลิกซื้อ เลิกอวด เลิกแกะกล่อง

วิธีเลืกซื้อ เลิกอวด เลิกแกะกล่อง ของเหล่ายูทูบเบอร์สายมินิมัล

Body จากผู้ใช้จริง

ขอเป็นมือที่สอง!

มารู้จักจักรวาลร้านเสื้อมือสอง แล้วลองไปช้อปตามสไตล์

Body สาระสำคัญ

I Need Some Body Positivity ทำไมต้อง ‘ดูดี’ ทั้งที่ก็ต้องอยู่แต่ในบ้าน

วิธีเอาใจออกห่างไวรัสด้วยการหันมาดูแลตัวเอง ทั้ง ‘ข้างนอก’ (body) และ ‘ข้างใน’ (mind)