Body —— จากผู้ใช้จริง

ระยะเปลี่ยนผ่านของการดูแลตัวเองแบบแคร์โลก

ในวันที่ชีวิต เดินเข้ามาถึงจุดเปลี่ยน

เก่งมากสำหรับคนที่ไม่อ่านประโยคข้างบนด้วยน้ำเสียงคุณแม่กมลา สุโกศล ส่วนใครที่ยังงงๆ ว่าการจั่วหัวว่าดูแลตัวเองแบบแคร์โลก นี่มันคืออะไรยังไง ก็จะขอเกริ่นว่ามันคือการเลือกใช้และวิธีใช้แชมพู สบู่ สกินแคร์ ผ้าอนามัย ฯลฯ และสารพัดไอเท็มให้ขยะน้อยลง สร้างผลกระทบลบๆ ต่อโลกน้อยลงอีกหน่อยนึง

ถ้าเราเริ่มอินเรื่องสิ่งแวดล้อมขึ้นมาตะหงิดๆ เรื่องการหันมาใช้ผลิตภัณฑ์เคมีต่ำหรือปลอดเคมี ออร์แกนิก ลองมีวิถีซ้ำเติม (ขอเล่นคำหน่อย) ไปจนถึงการคอนเซิร์นเรื่องขยะแพ็กเกจจิ้ง มันก็ดูน่าสนใจและอยากลองทำอยู่แล้วแหละ

แต่พอเอาจริงเอาจังเข้าจริงๆ มันก็ไม่ง่ายเหมือนกันนะ เลยอยากมาเล่าระยะเปลี่ยนผ่านของการเปลี่ยนวิธีดูแลร่าง ที่ยังประนีประนอมมาก ทำได้บ้างไม่ได้บ้าง ถือซะว่าเป็นหนูทดลองให้คนที่อยากลองเข้าวงการได้เห็นความผิดพลาด อุปสรรค การต่อรองกับคนข้างๆ และชี้เป้าเท่าที่ทำได้แล้วกัน

ระยะลองไม่ใช้แชมพูหนึ่งเดือน กับเรื่องหลังจากนั้น

เคยคุยกับอาจารย์นุ่น นักเคมีหัวใจสีเขียว อาจารย์บอกว่า จริงๆ แล้ว แชมพูและครีมนวดผมคือ ‘ของเกิน’ ที่ผมเราไม่ได้ต้องการ อธิบายสั้นง่ายคือแชมพูที่เต็มไปด้วยครีมข้นคลั่ก (บ้างก็มีสีมุกแวววาวให้ดูแพง) นั้นทำให้ผมเราแห้ง เราจึงต้องใช้ครีมนวดผมเพื่อทำให้ผมเรานุ่มอีกที ซึ่งมันคือสารเคมีล้วนๆ ไม่ได้อันตรายกับเราขนาดนั้น แต่ก็ตกค้างชะล้างลงไปในสิ่งแวดล้อม ทางนี้ก็เลยเริ่มต้นด้วยการเลิกใช้ครีมนวดผมดู เปลี่ยนมาใช้แชมพูสมุนไพรบ้างสลับๆ กันไปตามความขี้เกียจ ผลลัพธ์จึงเป็นไปตามความขี้เกียจ นั่นคือแห้งๆ แข็งๆ ฟูๆ เหมือนยังตามหาแชมพูสมุนไพรปลอดเคมีที่ตรงกับความต้องการไม่เจอซะที

จนกระทั่ง ได้ยินเรื่องสุดโต่งสำหรับเราอย่าง No Poo ขึ้นมา นั่นคือการเลิกใช้แชมพูเด็ดขาด สระด้วยน้ำเปล่าเท่านั้น วันไหนผมมันเกินทนก็ผสมน้ำส้มสายชูหมักหรือแอปเปิ้ลไซเดอร์กับน้ำสัดส่วนเท่ากันแล้วใช้ล้างผม ได้ทั้งความนุ่มและความเงางาม ทางนี้เห็นว่าง่ายดี ฟังดูประหยัดดีด้วยนะ ก็เลยลองสักตั้ง เพราะเสียงจากผู้ใช้จริงหลายคนก็ออกมาทางชอบใจ แต่ผลสำหรับเราคือไม่ค่อยสบายใจวันที่ใช้น้ำส้มสายชูเพราะกลิ่นมันติดจมูกร่ำไปแม้ใครจะไม่ได้กลิ่น และก็รู้สึกไม่สะอาดสะอ้านหัวตามประสาคนที่ติดสระผมทุกวัน 

แชมพูกู้ชีพ

แต่พอทนมาได้ครบเดือน ก็เริ่มไม่อยากยอมแพ้กลับไปใช้แชมพูเคมีสีครีมมุกอีกแล้ว ก็เลยถือขวดเปล่าไปร้าน Bad Habit ที่มีผลิตภัณฑ์ประเภทรีฟิลให้เลือกมากมาย บอกไปว่าแชมพูแบบไม่มีเคมีเลยมีไหม เลยได้แชมพู Conscious Living ที่มีส่วนผสมอย่าง Soap Nut (ฟังดูเก๋ แต่ชื่อไทยคือประคำดีควาย พืชที่ให้ฟองจนไม่ต้องเติมสารเคมีเลย) ก็กลับมาสระผมได้เป็นปกติ แล้วลองยืดระยะสระเป็นวันเว้นวันเพื่อไม่ให้ผมแห้งเกินไป

ที่ชอบใจคือไม่ต้องใช้ครีมนวดผมหรือดูแลเพิ่มเติมอะไรเลย แต่อาจจะเพราะเราผมสั้นและหยักศกนิดๆ ไม่ต้องพึ่งไดร์พึ่งครีมแต่งผมอะไร ไม่แน่ใจว่าคนผมยาวจะได้ผลลัพธ์เดียวกันไหม แต่เอาเป็นว่าเราพึงพอใจกับการเปลี่ยนมาดูแลหัวแบบนี้มาก

แชมพูบาร์ร่วมด้วย

แต่ด้วยความอยากลองสักตั้งเรื่องแชมพูบาร์ แชมพูในรูปแบบก้อนเหมือนสบู่ ลดการใช้บรรจุภัณฑ์และเป็นส่วนผสมจากธรรมชาติร้อยเปอร์เซนต์ชัวร์ เมื่อเร็วๆ นี้ก็เลยลองสั่งจาก Nuan Eco-Friendly มาลองใช้ดู ฟองฟ่อดสะใจ แต่ก็รู้สึกว่าผมแห้งไปนิด ใครเลือกสายนี้สามารถไปผมนุ่มด้วยการใช้น้ำส้มสายชูได้

ด้วยความที่เราผมสั้นอีกนั่นแหละ มันจึงไม่ได้แห้งจากฟูฟ่องลำบากลำบนอะไร จึงเอาไว้ใช้สลับๆ กัน วันไหนสระผมตอนกลางคืนก็ใช้แบบแชมพูบาร์ เพราะผมแห้งไวกว่าอย่างมีนัยสำคัญ 

ระยะเอาไงกับหน้าดี แต่ก็ต้องไม่ลืมตัวด้วย

เวลาสติหลุดซื้อสกินแคร์เคาน์เตอร์แบรนด์แพงๆ มา จะรู้สึกไม่สบายใจเวลาใช้ (แถมยังคาดหวังกับมันเกินเหตุ เช่น หน้าฉันต้องดีขึ้นทันที ร่องรอยตรงนี้ต้องหายไปได้แล้ว-ซึ่งมันไม่มีทางได้ดั่งใจหรอก) แล้วสกินแคร์มันเป็นสิ่งที่ใช้ทุกวันน่ะ เราก็เลยให้ความสำคัญว่าสิ่งที่เลือกมาควรสบายใจทั้งคุณภาพ ราคา และโลกด้วย

เอาเข้าจริง เรื่องสกินแคร์เกี่ยวกับหน้าตาที่ดีกับโลกมักเปลี่ยนง่าย แค่เปลี่ยนผลิตภัณฑ์ ไม่ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมเท่าไหร่ แค่เลือกว่าจะลองอะไรดี

บอดี้วอชแบบธรรมชาติ ก็ใช้เป็นเฟเชียลวอชได้ ถ้าใจเราว่าได้!

ส่วนตัวเราชอบอุดหนุนแบรนด์ท้องถิ่นน่ารักที่เน้นวัตถุดิบธรรมชาติเพราะราคาไม่แรงมาก และได้สนับสนุนคนจิ๋วทำสิ่งแจ๋ว แบรนด์โปรดคือ น ว ย น า ด บอดี้วอชชื่นจิตหอมฟุ้งและปลอบโยนจิตใจได้ดีมาก หลักๆ เราเอาไว้ใช้ล้างหน้า แต่วันไหนคันยุบยิบตามตัวขึ้นมาก็จะใช้อาบน้ำด้วย เพราะมีพวกสมุนไพรอีสานแก้ผิวระคาย อีกเหตุผลที่ชอบแบรนด์นี้คือการหยิบเอาวัตถุดิบจากอีสานและน้ำซับในหมู่บ้านมาใช้เป็นส่วนผสม เลิฟความโลคอล เมื่อก่อนก็อาศัยซื้อเวลามาออกร้านตลาดคิวท์ หรืออุดหนุนตามร้านที่ฝากขาย แต่มีขวดเยอะมากจนหลังๆ ต้องนัดแนะถือขวดใหญ่ไปเติมเอง ลดการใช้ขวดไปได้อีกหน่อย 

ด้วยความงก บวกนานๆ จะได้เจอกันที ก็จะใช้สลับกับสบู่ธรรมชาติแบบโคลด์ โพรเสส ที่ซื้อง่าย มีขายเยอะแบบ (แต่ที่มีอยู่ตอนนี้หน้าตาเหมือนมะขามเปียกน่วมๆ เลยไม่ได้เอามาโชว์) จริงๆ เคยทำเองครั้งนึงก็ชอบใจในความคุ้ม แต่ขี้เกียจทำต่อตามฟอร์ม ไว้ขยันจะเริ่มใหม่

อีกไอเท็ม น ว ย น า ด ที่เพิ่งได้ลองแล้วชอบ คือมาส์กตื่นก่อนพระอาทิตย์ (จริงๆ มีคู่หูเป็นหลับก่อนพระจันทร์ แต่เราไม่ชอบสลีปปิ้งมาส์กเลยไม่เลือกมาใช้) วันเฉาๆ จะตั้งใจตื่นเช้ามาโปะหน้า ชอบที่ยังรู้สึกฉ่ำๆ แม้จะล้างออกไปแล้ว

อื่นๆ อีก แต่ไม่ต้องมากมายก็ได้นะ

นอกนั้นเป็นไอเท็มไลน์ออร์แกนิกในแบบที่ไม่แพงมาก เพราะพอแพงไปมักจะเครียดตอนใช้ จริงๆ แบรนด์ที่แปะป้ายออร์แกนิกมันมักจะมีดอกจันคลุมเครือเสมอ บางแบรนด์ใช้ส่วนผสมออร์แกนิกชนิดเดียว บางแบรนด์หกชนิด บางแบรนด์ทุกชนิดเลยจ้า (ซึ่งแบบหลังนี่ก็จะแพงหน่อย ยังครุ่นคิดอยู่เสมอว่าเมื่อไหร่เราจะสามารถใช้ facial oil ขวดครึ่งหมื่นของ three ได้โดยไม่รู้สึกผิดบาปในฐานะ) เอาเป็นว่าก็บอกตัวเองให้เลือกเอาเท่าที่โอเค ไม่รู้สึกว่าถูกหลอกเหมือนฟอกเขียว แต่ก็ไม่แพงจนรู้สึกผิด

ถ้าในหมวดแบรนด์ต่างชาติ เลือกที่มี certified ที่ไว้วางใจก็ดีนะ แต่สำหรับแบรนด์ไทยที่รู้จักมักจี่ ไว้วางใจกันดี ไม่ต้องพึ่งตราก็ได้ (เพราะการได้มาซึ่งมาตรฐานก็ใช้เงินมากอยู่ เกษตรกรหรือผู้ผลิตรายเล็กมักสู้ไม่ไหว อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับการคุยจนวางใจแล้วกัน)

ส่วนในแง่ความปลอดภัย ก็พลิกหาส่วนผสมตัวจิ๋วแล้วอ่านซะหน่อย ว่าอย่างน้อยก็ขอไม่มี SLS, Paraben, Mineral Oil, Petroleum jelly ก็ยังดีน่ะ

ส่วนใครจะอินต่อเรื่อง Cruelty-free, vegan cosmetics ไว้เดี๋ยวเรามาคุยกันต่อในคราวต่อๆ ไปเมื่อขยันอีกรอบ 

ถ้าถามว่าทำไมต้องออร์แกนิก สำหรับเรา มันคือต้นทางการได้มาซึ่งวัตถุดิบที่โอเคกับโลก ปลูกโดยใส่ใจดิน ใส่ใจผลกระทบ ใส่ใจแรงงาน ถ้าเราอุดหนุนวงจรนี้ มันก็จะค่อยๆ โต ค่อยๆ ขยายการดูแลโลกได้มากขึ้นนั่นแหละ

ระยะเช็ดแล้วไม่ทิ้ง

พกผ้าเช็ดหน้าใส่กระโปรงนักเรียนมาตลอด ใช้บ้างไม่ใช้บ้างแต่ก็สนิทสนมอุ่นใจ จนพอเปลี่ยนมาใส่กระโปรงนิสิตที่มันไม่มีกระเป๋า เราก็เลิกใช้ผ้าเช็ดหน้าแล้วซื้อทิชชู่จิ๋วพกเฉยเลย

พออินเรื่องนี้เลยพยายามกลับมาพกผ้าเช็ดหน้าอีกครั้ง เพิ่มความสนุกด้วยการแมตช์ลายที่ชอบกับชุดในวันนั้น หรือเลือกตามฟังก์ชั่นเป็นผ้าขนหนูบางๆ ในวันฝนตกหรือต้องออกไปเหงื่อตกข้างนอก เอาจริงๆ บางวันก็ลืมหยิบออกมาใช้ บางวันก็หยิบทิชชู่บนโต๊ะอาหารมาเช็ดปากด้วยความเคยชิน แต่พอนึกได้ก็จะพยายามใช้ให้มากขึ้น ลดเลิกนิสัยใช้แล้วทิ้งให้ทุเลาลง 

พอกันที สำลีฟอกขาว

สำลีแผ่นคือไอเท็มติดโต๊ะเครื่องแป้งไว้เช็ดเครื่องสำอาง ซึ่งก็ไม่เห็นจะเป็นปัญหาเท่าไหร่เพราะก็ย่อยสลายได้นี่นา แต่การปลูกฝ้าย = พืชที่สูบน้ำและพื้นที่ปลูกมหาศาล) มาทำสำลีมันก็มีรอยเท้าย่ำโลกเยอะเหมือนกัน

ตามร้านกรีน ร้านรีฟิลหลายร้านก็มีแผ่นผ้าขนหนูไซส์สำลีแผ่นที่ซักใช้ซ้ำได้มาขายหลายแบบ เราเลือกแบบผ้าใยไผ่ ชอบที่ซักง่าย แห้งง่าย ตากในร่มได้เพราะบ้านไม่มีแดด เรามีแค่ 2 แผ่นใช้วนๆ ไปก็โอเคนา จริงๆ มันก็ซักไม่ออกหมดจดขาวกิ๊งเหมือนสำลีฟอกขาวหรอก แต่บางทีก็ต้องบอกตัวเองนะว่ามันไม่ต้องขาวจั๊วะก็ได้จ้ะ 

ไม่ต้องเป็นผู้ชายก็ใช้ผ้าขาวม้าได้

เราใช้ผ้าขาวม้าแทนผ้าเช็ดตัวมาหลายปี แล้วพบว่ามันดีมากจนอยากแนะนำให้ทุกคนใช้กัน ซับน้ำดี แห้งไว เหมาะมากกับบ้านตึกแถวไร้ที่ตากผ้าให้หอมแดด วันไหนอากาศชื้นๆ แล้วทำให้ผ้าขนหนูมีกลิ่นอับๆ มันก็ชวนเศร้าใจ แต่พอใช้ผ้าขาวม้าแล้วไม่ประสบปัญหาอีกเลย 

มีทริกเล็กน้อยสำหรับคนอยากเข้าวงการ นอกจากจะเลือกคู่สีและลายที่ถูกใจเป็นไพออริตี้ อย่าลืมว่าคุณสมบัติสำคัญเพื่อการนี้คือเรื่องซับน้ำ ต้องเลือกเส้นใยที่ดูบวมๆ นิดนึง ส่วนใหญ่มักเป็นผ้าขาวม้าแบบฝ้ายทอมือแบบบ้านๆ ยิ่งย้อมสีธรรมชาติยิ่งน่ารัก มันจะอุ้มน้ำกว่าผ้าขาวม้าเส้นใยละเอียดหรือบางเสมอกัน และถ้าถามว่ามันดีกว่าผ้าขนหนูยังไง ก็จะตอบเนิร์ดๆ ว่า ผ้าขนหนูยุคใหม่มักเป็นใยสังเคราะห์ ซึ่งทุกครั้งที่ซักก็จะมีไมโครพลาสติกหลุดออกไปแล้วไหลลงแหล่งน้ำเสมอ 

ระยะหลอกฟัน (ให้ชิน)

ที่ปรากฎในภาพ เป็นแปรงแปะป้ายอีโค แต่จริงๆ เป็นพลาสติกแบบ Biodegradable คือสลายได้ แต่ไม่หายไปจากโลก คิดว่าหมดอายุการใช้งานอันนี้ก็คงไม่ซื้อต่อ

ไม่ยอมเปลี่ยนแปรง!
แต่ออกตัวแรงเรื่องยาสีฟัน

แน่นอนแหละว่ามาทางนี้ต้องลองซื้อแปรงสีฟันไม้ไผ่มาลองใช้ เมื่อรู้ว่าแปรงสีฟันที่เราใช้ๆ กันรีไซเคิลยากมากถึงยากที่สุด! แต่ด้วยความบ้านตึกแถวที่ตากผ้าขนหนูไม่แห้งและห้องน้ำไม่มีหน้าต่างระบายอากาศ ยังผลให้ด้ามแปรงไม้ไผ่ขึ้นรา! อันนี้ยังหาทางแก้ไขไม่ได้ และเป็นพวกติดขนแปรงแบบนุ่มป๋อย ก็ได้แต่ใช้แปรงสีฟันทั่วไปแล้วเก็บรวบรวมไว้ก่อน หวังว่าสักวัน TerraCycle ที่ชาติอันพัฒนาแล้วเขาจะส่งแปรงสีฟันไปให้หน่วยนี้รีไซเคิล จะมาเปิดรับขยะที่เมืองไทยบ้าง

ส่วนหลอดยาสีฟัน ก็เป็นอีกไอเท็มที่รีไซเคิลยาก เพราะใช้พลาสติกหลายชนิดเหลือเกิน ก็เลยลองเลือกใช้ ยาสีฟันผง (ขวดนี้ซื้อมาจากสวนดินคานาอัน ที่ขายพัฟฟ์ย่างตามตลาดกรีน) เป็นผงสมุนไพรแบบโบร่ำโบราณ (ที่ช่วยให้แผลร้อนในหายเร็วขึ้นด้วย!) รสอาจโหดหินสำหรับคนชินกลิ่นเมนทอล รสฟลูโอไรด์ และความฟองฟ่อดของยาสีฟันเดิมๆ อยู่สักหน่อย ช่วงเริ่มต้นแนะนำให้บีบยาสีฟันเดิมน้อยลง แล้วจุ้มแปรงลงไปในขวดให้ผงสีฟันติดมา แล้วก็แปรงไปตามปกติ จนถึงวันหนึ่งจะสามารถตัดขาดจากยาสีฟันเดิมได้ 

อีกไอเท็มฮิตอย่างยาสีฟันเม็ด อันนี้คุณ Cheww.co เขามีโมเดลน่ารักด้วยระบบเหมือนผูกปิ่นโตแล้วส่งยาสีฟันแบบแพ็กเกจดีต่อโลกให้ทุกๆ กี่เดือนว่ากันไป แต่เราแค่ซื้อมาลองจากร้านรีฟิล และไม่ค่อยได้ใช้ประจำ ส่วนใหญ่ไว้ใช้พกเวลาไปต่างที่เพราะง่ายและเล็กดี ใส่กล่องยาจิ๋วเนียนเป็นยาช่วยย่อยได้ (อย่าเชื่อ!)

จะดีไหม?

ส่วนไหมขัดฟัน เราตัดสินใจลองไหมขัดฟันในขวดแก้วลุคมินิมัลที่เมื่อไหมหมดแล้วสามารถซื้อแค่ไส้ในเติมได้ รู้สึกผิดน้อยกว่าไหมขัดฟันเส้นใยสังเคราะห์กล่องพลาสติกที่ต้องทิ้งทุกครั้ง แต่เส้นไหมของเวอร์ชั่นนี้มันโตหน่อย และเราดันเป็นมนุษย์ฟันชิด มีฟันเกยหลายจุดอีกต่างหาก จึงใช้ค่อนข้างลำบากแต่ก็ยังสู้ นอกจากวันไหนเกินเยียวยา จะไปขโมยไหมขัดฟันของคนในบ้านที่ยังไม่เปลี่ยนมาใช้แบบเดียวกัน แก้ขัดในจุดที่เข้าไม่ถึงจริงๆ 

ระยะทางของรักแร้

รักแร้เป็นอีกเรื่องที่โคตรจริงจัง ก่อนหน้านั้นระดับนับสิบปี ใช้สารส้มก้อนแทนโรลออนเพราะรู้สึกโลคอลจัง น่ารักดี แต่ก็ไม่ได้มั่นใจในกลิ่นขั้นนั้น แค่ไม่อยากใช้โรลออนที่แพ็กเกจมันดูรีไซเคิลยากจัง แบบสเปรย์ก็ยิ่งเข้าไปใหญ่

ไม่รู้มั่นใจมาจากไหน ลองหาสูตรจากพินเทอร์เรสต์ดู แล้วอาศัยช่วงนึกคึกลองทำเอง วัตถุดิบมีวิชฮาเซล เบกกิ้งโซดา ทีทรีออยล์ เกลือหิมาลายัน อะไรทำนองนี้ ผสม เขย่าๆ แล้วใส่ขวดสเปรย์เก่าๆ ขวดถัดไปมีลองใช้น้ำใบย่านางสไตล์โอทอป เอาจริงๆ ก็โอเคดีนะ แค่ฉีดแล้วต้องรอแห้งก่อนใส่เสื้อ และในวันที่เหงื่อท่วมแน่ๆ พี่ดีไอวายนี้ก็เอาไม่อยู่หรอก

จนได้เจอ Hooray Deo สายอีโค่ที่ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติล้วนเหมือนกัน (จริงๆ ตอนหาสูตรในพินเทอร์เรสต์ก็เคยเห็นใกล้ๆ นี้ แต่คิดว่าทำเองยากไป 555) ซื้อมาลองใช้ก็ชอบเลย ง่ายกว่าทำเอง และเก็บกลิ่นได้จริงไม่ต้องเหนียมอายเวลาชูแขนสูงในคลาสโยคะ

อีกไอเท็มติดห้องน้ำคือ เบกกิ้งโซดา สครับคู่บ้านแบบไม่ต้องพึ่งไมโครบีดส์ ใช้ร่วมกับสครับไฮโซที่ตอนแรกใช้แบบงกๆ แต่พอใกล้หมดอายุก็เอามาผสมเบกกิ้งโซดาขัดน้องจั๊กทุกสัปดาห์ หรือจะใช้ขัดไล่เซลลูไลท์ส่วนใดเป็นพิเศษ ก็พอไหวอยู่นะ

ระยะวันนั้นของเดือน 

การตัดสินใจใช้ถ้วยอนามัยคือเรื่องใหญ่ในชีวิต

อ่านรีวิวเป็นร้อยรอบ ใครก็ว่าดี สบายจนน่าจะรู้จักมาตั้งนานแล้ว นู่น นี่ นั่น นี่ก็คิดว่าเอาวะ (แม้ว่าจะกลัวจังวะก็ตาม) แล้วพบว่าครั้งแรกมันยากเกินไป กว่าจะใส่ได้มันยากมากเลยเว้ย แต่พอใส่ได้ก็พบความดีงามตามที่ทุกคนบอก มัน ดี มาก จริง จริง เบา สบาย ไม่ต้องพะวงกับผ้าอนามัยเกะกะ ปกติเวลามีประจำเดือนจะเลิ่กลั่ก ห่วงหน้าพะวงหลัง กังวลการซึมเปื้อนตลอดเวลา (คิดถึงแอคติ้งของเพื่อนร่วมเฟรมญาญ่ากับเต้ย จรินทร์พร ในโฆษณาผ้าอนามัยเอาไว้) แต่การใส่ถ้วยอนามัยทำให้เราลืมภาวะเหล่านั้นไปเลย จนกระทั่งตอนเอาออกนี่แหละจ้ะ ประสบปัญหาเอาออกยากมากจนตอนนั่งอ่านรีวิวการเอาออกในห้องน้ำ คิดถึงขั้นว่านี่ฉันต้องไปให้หมอสูติฯ เอาออกให้ป่าววะ ในที่สุดก็เอาออกมาได้แหละนะ แต่ก็กลัวจนเก็บเข้ากรุไปหลายเดือนละ

แต่เอาเข้าจริง นี่ก็กะว่าจะลองดูอีกสักตั้งนะ เพราะซื้อมาแล้วไม่ได้ใช้ นอกจากเปลืองตังค์ ยังเปลืองทรัพยากรโดยใช่เหตุ

ด้วยความรู้สึกพ่ายแพ้ ก็เลยหาว่ามีใครที่ใช้ถ้วยอนามัยไม่ได้บ้างไหม เพราะเสียงส่วนใหญ่บอกว่ายากแค่ครั้งแรกแหละ แป๊บเดียวก็ชิน (แต่นี่ไม่ชินซะทีจนยอมแพ้) ก็พบว่ามีเหมือนกันที่อาจจะต้องตามหาถ้วยที่ถูกต้องกับช่องของตนเอง หรือต้องแคร็กวิธีที่เหมาะกับตัวเองให้เจอ พูดมาขนาดนี้ ถ้าถามว่าควรลองไหม ก็ยังเชียร์ให้ลองนะ เพราะตอนใส่ได้มันก็ ดี มาก จริง จริง และถ้าใครกลัวล้มเหลวแบบเรา ก็ลองสั่งซื้อกับ refill station เพราะเขาดีลกับ organic cup มาว่าถ้าลูกค้าไม่พอใจสามารถเคลมได้จ้ะ

แล้วระหว่างที่รอทำใจเรื่องถ้วยอนามัย เราก็เลยลองใช้ผ้าอนามัยแบบซักได้แทน ซึ่งจริงๆ ตอนแรกก็กลัวว่าจะขี้เกียจซักแหละ แต่เอาเข้าจริงมันก็ไม่ได้ยากเย็นขั้นนั้น อยู่ในระดับคนขี้เกียจเช่นเราทำได้ เพียงแต่ในวันผจญภัยนอกสถานที่ หรือวันฉุกเฉินที่มาแบบไม่ได้ตั้งตัว ก็ยังใช้ผ้าอนามัยแบบเดิมๆ อยู่บ้าง แต่ก็ลดจำนวนต่อเดือนไปได้อย่างมีแรงฮึดให้ทำต่อ

ระยะเปลี่ยนผ่านที่ต้องการเวลา 

จริงๆ ยังมีอีกหลายอย่างที่ยังเปลี่ยนแปลงไม่ได้และต้องค่อยเป็นค่อยไป เช่น ทางนี้ใช้เวลานานมากกว่าจะบอกให้มารดาผู้ชอบการช้อปปิ้งของเซลในซูเปอร์สโตร์เลิกซื้อผลิตภัณฑ์ต่างๆ มาตุนไว้เสียที เช่น ตอนนี้เรามีแปรงสีฟันพร้อมใช้ไปถึงธันวาคมแล้ว ครีมกันแดดแบบไม่เวิร์กกับปะการังยังไม่หมดง่ายๆ หรือโลชั่นบำรุงผิวที่พยายามใช้ขวดเดิมเท่าไหร่ก็ไม่หมดซะที เพราะแม่ซื้อไซส์ซูเปอร์คุ้มมา

แต่เราก็เลือกที่จะใช้สิ่งที่มีอยู่ให้หมดนะ เพราะถ้าเราอยากจะเปลี่ยนปุ๊บเลิกทุกอย่างปั๊บ ของที่ยังใช้ได้เหล่านั้นก็ต้องทิ้งลงบ่อฝังกลบไปเปล่าๆ ปลี้ๆ เหรอ 

ถ้าจะเลือกอย่างนั้น ก็ดูย้อนแย้งกับสิ่งที่ตั้งใจจะทำตั้งแต่ต้นนะ

Content Designer

อดีตผู้ช่วยบรรณาธิการนิตยสาร #aday คือเจ้าของหนังสือทั้งเรื่องจริงและเรื่องแต่ง อาทิ #สนธิสัญญาฟลามิงโก #ร้านหวานหวานวันวาน คือบรรณาธิการอิสระและคอนเทนต์ครีเอเตอร์ฟรีแลนซ์ ก่อนจะมาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทออกแบบคอนเทนต์ที่ยังไม่รู้จะตั้งชื่อตำแหน่งตัวเองว่าอะไร

Read More:

Body จากผู้ใช้จริง

อยู่บ้าน หยุดเชื้อ แต่หยุดออกกำลังกายไม่ได้!

รีวิวโปรเจกต์วิ่งวันละโล โยคะกับไบรไอนี่ ต่อยมวยตามคลิปยูทูบ อันไหนสนุก ทำที่บ้านไหว และทำต่อเนื่องไปได้ยาวๆ

Body จากผู้ใช้จริง

ขอเป็นมือที่สอง!

มารู้จักจักรวาลร้านเสื้อมือสอง แล้วลองไปช้อปตามสไตล์

Body จากผู้ใช้จริง

ฝาก ‘รอยเท้า’ เอาไว้!

รองเท้าคู่โปรด ฝากรอยเท้า (คาร์บอน) ไว้ให้โลกแค่ไหน