Eat —— วิธีทำ

ดูสารคดีจน Guilty แต่ก็ยังกินต่อให้ Guilt-Free ได้อยู่!

กระแสรณรงค์ลดการใช้พลาสติก ใช้ชีวิตแบบโกกรีน อีโค่เฟรนด์ลี่อยู่ในสายตาของเรามายาวนานหลายปี แต่ปัญหาสิ่งแวดล้อมว่าด้วยเรื่องอาหารและการกินกลับไม่ถูกพูดถึงเป็นวงกว้างมากเท่าไหร่ อาจมีอยู่บ้างเป็นพักๆ จนกระทั่งการมาของสารคดีอย่าง ‘Seaspiracy’ ที่เล่าความคาวของอุตสาหกรรมการประมง และพยายามบอกเราอยู่เนืองๆ ตลอดความยาวกว่า 90 นาทีของสารคดี ว่า “ถ้าเห็นแล้วว่าไม่ดี ก็เลิกกินปลาสิจ๊ะ (วิงค์)”

ความโหดร้ายของอุตสาหกรรมประมงที่ดูแล้วเกิดก้อนความรู้สึกผิดกระจุกอยู่ในใจโดยอัตโนมัตินี้ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าทำเอาเราเองเผลอคล้อยตามไปด้วยจนอยากจะเลิกกินอาหารทะเลไปเลย!

แน่นอนว่าหลายคนคงรู้สึกไม่ต่างจากเราเท่าไหร่นัก เพราะในช่วงที่สารคดี Seaspiracy ออกอากาศได้ไม่นาน ก็จุดให้เกิดการพูดคุยถึงการ ลด-ละ-เลิกอาหารทะเล และทำให้เกิดการพูดคุยของนักวิชาการ นักสิ่งแวดล้อม และหลายๆ องค์กรในไทยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง ซึ่งทุกคนต่างก็ออกมาพูดเป็นเสียงเดียวกัน (และสับสารคดีจนแหลก) ว่าสิ่งที่ถูกถ่ายทอดออกมานั้น “ไม่ใช่เรื่องจริงซะทีเดียว” เพราะสารดคีพยายามจูงใจคนดูผ่านการเล่าเรื่องด้วยน้ำเสียงสุดดราม่า และการตัดต่อชวนเชื่อด้วยการเอาข้อมูลเก่าที่ผ่านมาหลายปีมายำรวมกันให้ดูเหมือนว่าสถานการณ์ตอนนี้ช่างย่ำแย่

ถึงจะช้ำใจไปแล้วกับ Seaspiracy แต่เรื่องราวเหล่านี้ก็น่าสนใจเกินกว่าจะหยุดไว้แค่สารคดีเรื่องเดียว ด้วยความอยากรู้อยากเห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมีอะไรอีก เราเลยเลือกไปดูสารคดีอื่นๆ ต่อ คนรอบตัวแนะนำให้เราลองดู Cowspiracy กับปัญหาความ cow ของปศุสัตว์ และซีรีส์ยาว Rotten ที่เราเลือกดูไปสองตอน คือ Bitter Chocolate ที่พูดถึงปัญหาของอุตสาหกรรมโกโก้ ขนมหวานที่ครองใจคนทั้งโลก และ The Avocado War ที่เล่าปัญหาของซูเปอร์ฟู้ดส์อย่างอะโวคาโดที่กำลังเป็นลูกรักของผู้ฝักใฝ่ในความเฮลตี้

แม้การเล่าเรื่องของ Rotten จะชี้ให้เห็นปัญหาอย่างมีที่มาที่ไป พูดถึงต้นตอของปัญหา มุ่งไปสู่การแก้ไขแบบยั่งยืน และไม่ได้เล่าด้วยน้ำเสียงที่หลอกล่อให้เราหยุดการสนับสนุนอุตสาหกรรมอาหารเหล่านี้เหมือนกับ Seaspiracy และ Cowspiracy แต่ก็ปฏิเสธได้ยากว่าหลังดูเราก็เกิดคำถามกับตัวเองเหมือนกันว่าแล้วเราจะกินอย่างไรให้เป็นมิตรกับโลก

การเลิกกินเป็นการแก้ปัญหาที่เราทำได้วิธีเดียวจริงไหม?

พอได้ลองนั่งคิดเล่นๆ ถึงเรื่องผลกระทบที่เราไม่ได้ตั้งใจก่อ ก็พบว่ายุคนี้ แค่การสั่งอาหารเดลิเวอรี่ของของเรา ก็อาจไม่ได้จบที่เราได้อาหาร คนขายได้กำไร และพนักงานส่งได้รอบอีกต่อไป แต่การซื้อหนึ่งครั้งของเราอาจกำลังสนับสนุนสิ่งที่แย่เกินจินตนาการโดยที่เราไม่ทันได้รู้ตัวด้วยซ้ำ เพราะแอปพลิเคชั่นเดลิเวอรี่ที่เราใช้ อาจเป็นแอปฯ ที่ กดค่าแรงพนักงาน หนักหน่อยก็อาจมีหุ้นส่วนเป็นมหาเศรษฐีที่ใช้อำนาจของตัวเองคุกคามคนในองค์กร  แถมร้านอาหารหน้าตาดูดีที่เรากดสั่งซื้อเพราะอยากสนับสนุนคนในชุมชน ความจริงแล้วเจ้าของก็อาจเป็นนายทุนใหญ่ที่มาแย่งตลาดสตาร์ทอัพรายย่อย แถมวัตถุดิบที่ใช้ก็อาจกดราคาเกษตรกรมาอีกทีเพื่อให้ขายได้กำไรงาม โอ้มายก็อด โลกยุคนี้ช่างซับซ้อน

เช่นเดียวกัน ถ้าวันนึงเรานึกครึ้มอยากคลายเครียดด้วยช็อกโกแลต แต่ช็อกโกแลตที่ซื้อมาดันเป็นยี่ห้อที่สนับสนุนทาสยุคใหม่ แรงงานเด็ก และการตัดไม้ทำลายป่าล่ะ? แบบนั้นเราจะยังอร่อยกับช็อกโกแลตได้เหมือนเดิมรึเปล่า หรือสุดท้ายแล้วการเลิกขาดจะเป็นวิธีเดียวที่พาเราไปสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง?

กองความคิดพวกนี้ไว้ตรงนั้น! จริงๆ แล้วการเลิกกินไม่ใช่ทางออกเดียวของสถานการณ์ในตอนนี้ เพราะภาพที่สารคดีนำเสนอออกมาเป็นแค่ปัญหาที่วนเวียนอยู่ในประเทศมหาอำนาจแบบอเมริกา และหลายๆ ประเทศใกล้เคียงเท่านั้น แต่ไทยยังมีประมงพื้นบ้าน เกษตรกรท้องถิ่น ผลิตภัณฑ์ชุมชน และธุรกิจรายย่อยของไทยเองก็ไม่ได้ใหญ่จนสามารถมีการกดขี่แรงงานอย่างเป็นระบบแบบนั้นได้ การหยุดบริโภคไปเลยอาจไม่ได้ช่วยให้การผลิตมากเกินขนาดลดลง กลับกันอาจส่งผลเสียกับการมีอาชีพ และความเป็นอยู่ของธุรกิจรายย่อยที่ยังต้องการการสนับสนุนได้เลยนะ 

เมื่อรู้แบบนี้แล้ว การ ‘เลิก’ ในตอนนี้ อาจจะไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด แต่การ ‘เลือก’ จึงเป็นทางเลือกที่เราคิดว่าน่าจะโอเคกว่า และอยากแนะนำให้ลองดู! 

สารคดี Rotten กับอะโวคาโดลูกเล็กในอุตสาหกรรมใหญ่ที่ใช้น้ำไม่น้อย

อะโวคาโดถูกโฆษณาอย่างยิ่งใหญ่ว่าเป็นซูเปอร์ฟู้ดส์จนกลายเป็นอาหารยอดนิยมที่กระแสดีไม่มีตกในอเมริกา แต่บังเอิญว่าภูมิประเทศของอเมริกาไม่ได้เหมาะกับการปลูกอะโวคาโดเท่าไหร่นัก หวยจึงตกไปอยู่ที่ประเทศใกล้เคียงแบบชิลีและเม็กซิโกที่ต้องส่งออกอะโวคาโดให้อเมริกา สิ่งที่ตามมาคือการเกิดอุตสาหกรรมอะโวคาโดขนาดใหญ่ ถึงขั้นมีการบังคับให้ปลูกอะโวคาโดนอกฤดูเพื่อให้ผู้บริโภคหาซื้อได้ตลอดทั้งปี และปัญหาที่ตามมาอีกก็คือภัยแล้งในชิลี เพราะอะโวคาโดเป็นผลไม้ที่ใช้น้ำเยอะมากซึ่งน้ำที่ใช้ยังต้องเป็นน้ำสะอาดอีกต่างหาก! 

จากความนิยมที่พุ่งทะยานอย่างรวดเร็ว ทำให้อะโวคาโดเปรียบเหมือนทองของเม็กซิโก สำหรับเม็กซิโก อะโวคาโดมีค่าในระดับที่หากวันหนึ่งหายไปก็อาจทำให้เศรษฐกิจภายในประเทศล้มครืน พืชเศรษฐกิจชนิดนี้จึงกลายเป็นธุรกิจล้ำค่าที่เตะตามาเฟียในพื้นที่ คนกลุ่มนี้จึงเข้ามาเช็กให้แน่ใจว่าธุรกิจของตนยังดำเนินต่อไปได้แบบไม่สะดุด พาลให้เกิดการใช้ความรุนแรงกับคนในพื้นที่เพื่อผลประโยชน์ทางการเงินจนไม่สนใจความเป็นอยู่หรือสิ่งแวดล้อมอะไรเลย 

อะโวคาโดไทย ไม่ต้องห่วงเรื่องน้ำ เพราะเกษตรกรไทยรายย่อยปลูกกันเองในพื้นที่และไม่มีใครมาบังคับปลูก! 

ทุกวันนี้มีเกษตรกรในภาคเหนือจำนวนหนึ่ง ที่ทำฟาร์มปลูกอะโวคาโดเป็นของตัวเองแบบไม่มีขาใหญ่คอยคุม และไร้ปัญหาการใช้น้ำเกินจำเป็นเพราะเป็นเพียงฟาร์มเล็กๆ เท่านั้น หลายๆ เจ้าตอนนี้ยังเริ่มลงมาทำการตลาดออนไลน์มากขึ้นแบบไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ทำให้เราซื้ออะโวคาโดคุณภาพดีตรงจากฟาร์มเองได้เลย 

นอกจากนั้นเกษตรกรภาคเหนือยังมีผลไม้อื่นๆ อีกมากมาย ถ้าลองเปลี่ยนมาสนับสนุนเกษตรกรโดยตรง นอกจากจะได้ผลไม้ตรงฤดูกาล ปราศจากการบังคับปลูกนอกฤดูที่เป็นสาเหตุของอีกหลายๆ ปัญหาแล้ว การซื้อผลไม้กับเกษตรกรยังช่วยแก้ปัญหาเรื่องการจำใจทิ้งยามพ่อค้าคนกลางไม่รับซื้อผลไม้ขนาดไม่ตรงเกณฑ์ที่กำหนด หน้าตาไม่สวยงามจนทำให้อะโวคาโดในไทย (และผลผลิตทางการเกษตรชนิดอื่นๆ) ต้องนอนแอ้งแม้งรอวันถูกทิ้งอย่างน่าเสียดาย

ถ้าอยากซัพพอร์ตผลไม้จากเกษตรกรโดยตรง แต่ไม่รู้จะเริ่มยังไง ลองเข้าทวิตเตอร์แล้วส่องดูจากแฮชแท็กอย่าง #ผลไม้ #ผลไม้ตามฤดูกาล #ตลาดนัดออนไลน์ กันดูได้ มีคนมาขายเพียบ! 

สารคดี Rotten กับช็อกโกแลตหวานอมขมกลืนที่แลกมาด้วยแรงงานทาส


ทุกวันนี้ช็อกโกแลตกลายเป็นหนึ่งในขนมโปรดของคนทั่วโลก แม้ธุรกิจแปรรูปช็อกโกแลตจะเติบโตจนบริษัทขนมหวานต่างๆ ร่ำรวยขนาดไหน แต่แหล่งปลูกโกโก้ในแถบแอฟริกากลับตรงกันข้าม เพราะที่นั่นมีทั้งปัญหาแรงงานทาสยุคใหม่ที่ได้ค่าตอบแทนน้อยนิดจากการเก็บเกี่ยวโกโก้ ลามมาถึงการใช้แรงงานเด็กเพราะปัญหาการขาดรายได้ และแรงงานไม่เพียงพอกับความต้องการ 

หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ปัญหาทั้งหมดทั้งมวลนี้เกิดขึ้น เป็นเพราะประเทศเหล่านั้นไม่สามารถแปรรูปช็อกโกแลตได้เอง ทำได้แค่ปลูกโกโก้เพื่อแลกค่าตอบแทน จนทำให้เกิดปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อนำมาปลูกโกโก้ให้มากพอกับความต้องการ นอกจากนี้ยังมีการสร้าง Carbon Footprint มากมายจากการส่งเมล็ดโกโก้ออกไปยังประเทศแถบยุโรป

โกโก้ไทยไม่ขมขื่น เพราะไร้แรงงานทาส เกษตรกรปลูกเอง แปรรูปเอง ผลิตขายเอง 

ทุกวันนี้ธุรกิจโกโก้และช็อกโกแลตในประเทศไทยกำลังพัฒนาและเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะเป็นการปลูกเองในชุมชนโดยไม่พึ่งการแปรรูปจากต่างประเทศ ทำให้โกโก้ไทยนั้นสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน แถมยังสร้างอาชีพให้กับคนในชุมชนได้ด้วย 

โกโก้ไทยมีตัวเลือกจากหลากหลายจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นจันทบุรี ชุมพร น่าน เชียงใหม่ และอีกหลายๆ พื้นที่ แค่ลองเสิร์ชว่า ‘ช็อกโกแลตแบรนด์ไทย’ ดู ก็มีขึ้นมาให้เลือกสรรกันหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์อย่าง PARADAi (ภราดัย), Kad Kokoa (กาดโกโก้) นอกจากนั้นยังมีรีสอร์ทที่เป็นร้านช็อกโกแลตในตัวอย่าง Cocoa Valley ด้วยนะ!

และด้วยสภาพดินที่แตกต่างกันจึงทำให้คาแรกเตอร์รสชาติของช็อกโกแลตในแต่ละที่ออกมาไม่เหมือนกัน ทั้งหมดนี้ทำให้การเลือกอุดหนุนช็อกโกแลตไทยเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะนอกจากจะหมดปัญหาเรื่องการใช้แรงงานทาส ช่วยลด Carbon Footprint จำนวนมหาศาลแล้ว เรายังได้สนุกกับการทำเควสต์ตามชิมรสชาติโกโก้ที่ต่างกันของแต่ละพื้นที่ไปด้วย! 

สารคดี Seaspiracy กับความจริงของประมงไทยที่ถูกบิดเบือน

ปัญหาเกี่ยวกับระบบนิเวศในทะเลที่ถูกนำเสนอผ่านสารคดีเรื่องนี้กำลังบอกเราว่า อุตสาหกรรมประมงโลกทุกวันนี้มีการทำผิดจริยธรรมเกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการใช้อวนตาถี่ที่จับสัตว์น้ำพลอยได้ ทำให้มีลูกปลาตัวเล็กและปลาชนิดอื่นๆ ติดมากับการจับปลาจนระบบนิเวศพังกันเป็นแถบ แถมยังเจาะจงมาที่ประเทศไทยเป็นพิเศษว่าเป็นประเทศที่ใช้แรงงานทาสในอุตสาหกรรมนี้! แต่ข้อมูลเหล่านี้พูดถึงแค่การประมงเชิงพาณิชย์เท่านั้น นอกจากจะไม่ใช่ข้อมูลที่ถูกต้องทั้งหมดแล้ว บางส่วนยังเป็นข้อมูลเก่าอีกด้วย และการตีขลุมไปอีกว่าชาวโลกควรเลิกสนับสนุนการประมง นั้นเป็นการสรุปที่ผิดอย่างร้ายแรง เพราะในความเป็นจริงยังมีการทำประมงที่ไม่ผิดจริยธรรมอยู่ในไทยนะ

ลองมาดูประมงพื้นบ้านของไทย ไม่ต้องกังวลใจเรื่องจับปลาเล็ก

ประมงพื้นบ้านเป็นการทำประมงขนาดเล็กเพื่อการยังชีพโดยใช้เรือพื้นบ้านและเครื่องไม้เครื่องมือที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ เช่น อวนตาห่างที่ไม่ทำให้มีสัตว์น้ำพลอยจับได้ ทำให้ปลาเล็กได้เติบโตและอยู่ในระบบนิเวศต่อไปจนโต นอกจากนั้นการประมงพื้นบ้านยังช่วยให้คนในชุมชนชายฝั่งได้มีอาชีพ ต่างจากการประมงเชิงพาณิชย์ที่มีการทำลายสิ่งแวดล้อมและอาจทำผิดจริยธรรมการประมง

ทุกวันนี้มีแหล่งซื้อขายอาหารทะเลจำนวนมากบนโลกออนไลน์รอให้เราไปอุดหนุนอยู่ ในกรุงเทพฯ เองก็มีนะ เช่น ร้าน ‘คนจับปลา Fisherfolk’ กับ ‘ปลาออร์แกนิก’ ซึ่งเป็นหนึ่งในร้านขายปลาบนเฟซบุ๊ก ที่นำอาหารทะเลสดจากชาวประมงพื้นบ้านมาจำหน่าย พร้อมการันตีเรื่องความเฟรนด์ลี่กับธรรมชาติและสัตว์น้ำด้วยนะ

นอกจากนั้นยังมีอีกหลายเพจ เช่น ‘ปักษ์ใต้ ดีจังฮู้’ ที่ช่วยสื่อสารเกี่ยวกับการประมงในภาคใต้ และยังคอยแบ่งปันร้านค้าเล็กๆ ที่มาจากชาวประมงโดยตรงให้เราได้ไปอุดหนุนกัน หรือจะเลือกอุดหนุน ‘สมาคมรักษ์ทะเลจะนะ’ ที่การกินของเราสามารถช่วย #saveจะนะ ด้วยการกระจายรายได้ ซัพพอร์ตชาวจะนะจากการเข้ามาของนิคมอุตสาหกรรมที่อาจทำลายวิถีชีวิตของชุมชนและสูญรายได้ไปกับกลุ่มนายทุนได้ด้วยนะ และหากเป็นประมงพื้นบ้านแล้ว รับประกันได้เลยว่าชาวประมงใช้อวนตาห่าง ไม่มีการทำประมงพลอยได้ที่มีการจับปลาเล็กให้กวนใจ แล้วยังทำให้เราได้สินค้าคุณภาพดีที่ไม่ผ่านสารแช่อีกด้วย

สารคดี Cowspiracy กับมีเทนทำลายล้างโลกจากตดวัว

ปัญหาของอุตสาหกรรมโคเนื้อและโคนมคือการผลิตก๊าซเรือนกระจกจำนวนมาก และสิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่าตดวัวก็ได้สร้างมีเทนจำนวนมหาศาล นอกจากนั้นการเลี้ยงวัวยังใช้น้ำจำนวนมาก ป่าดิบชื้นถูกทำลายเพื่อมาทำฟาร์ม และความเป็นอยู่ของน้องวัวก็ดูจะไม่สู้ดีนัก เพราะหลายที่มีการบังคับให้วัวออกผลผลิตจนสภาพน้องดูซูบโทรม 

จากลีลาการเล่าชวนเชื่อที่สารคดีพยายามกล่อมเรา ทำให้เราพลอยคิดไปว่า วัวนั้นคือตัวร้ายของโลกนี้หรือเปล่า!? แต่จริงๆ แล้วปัญหาของการทำปศุสัตว์นั้นไม่ใช่วัว เพราะวัวอยู่กับเรามาตั้งแต่ก่อนที่อุตสาหกรรมนี้จะเติบโตแล้ว สาเหตุของปัญหาที่แท้จริง คือการผลิตที่มากเกินขนาดเพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของคนต่างหาก!

ฟาร์มโคในไทยรายย่อย ปล่อยมีเทนไม่เยอะเท่า!

ปัญหาเหล่านี้เป็นการพูดถึงอเมริกันชนอีกครั้ง เพราะในบริบทของประเทศไทย ด้วยความเชื่อและอะไรหลายๆ อย่าง เนื้อวัวจึงไม่ใช่เนื้อสัตว์ที่เป็นที่นิยมมากเท่าไหร่นัก ถ้าได้ลองเปลี่ยนใจมาบริโภคของในบ้านเราเอง นอกจากจะสนับสนุนปศุสัตว์รายเล็กให้เกิดการกระจายรายได้แล้ว ยังทำให้เกิดการพัฒนาของปศุสัตว์ในไทยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม

นอกจากนั้นตลาดธุรกิจฟาร์มโคนม โคเนื้อของประเทศไทยหลายๆ เจ้าเองก็มีแนวคิดที่เฟรนด์ลี่เกี่ยวกับปัญหาสวัสดิภาพสัตว์ และมุ่งทำปศุสัตว์แบบยั่งยืนที่ทุกฝ่ายแฮปปี้ เหมือนกับ ‘ฟาร์มบ้านภู’ ที่ไม่ได้มองไปแค่สวัสดิภาพสัตว์แบบผิวเผิน แต่อยากให้วัวได้มีชีวิตอิสระ มีคุณภาพชีวิตที่ดีในเวลาที่ยังมีชีวิต ให้วัวได้มีพฤติกรรมตามธรรมชาติ ได้กินอาหารดี อยู่ในสถานที่เหมาะสม ไม่สร้างความเครียดให้กับวัว นอกจากนั้นคนทำงานเองก็ต้องมีชีวิตที่ดีไปพร้อมกัน ถ้าอยากรู้จักฟาร์มบ้านภูให้มากขึ้นกว่าเดิม ลองอ่านบทความที่พูดถึงฟาร์มบ้านภูดูได้นะ ถ้าตัดใจจากนมวัวและเนื้อวัวไม่ได้จริงๆ ลองหันกลับมาทำความรู้จักและศึกษาฟาร์มวัวในไทยที่ให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้เพื่อช่วยกระจายรายได้กัน! เพราะนอกจากจะเราจะได้ผลิตภัณฑ์คุณภาพดีแล้ว  เกษตรกรยังมีรายได้ แถมได้ปุ๋ยขี้วัวที่ทั้งคุณภาพดีและมีราคาแพงเป็นของแถมอีกด้วยนะ!

ถ้าอยากซัพพอร์ตชาวโลคอล 2 คำถามนี้ยังไงก็ต้องติ๊กถูกก่อนซื้อ!

จากที่พูดไป การทำความรู้จักกับสิ่งที่เรากำลังจะบริโภคนั้นสำคัญไฉน ถึงจะมีตัวอย่างดีๆ ให้เห็น แต่ปัญหาความเหลื่อมล้ำของกลุ่มคนในแวดวงอุตสาหกรรมอาหารก็เป็นปัญหาที่ยังหลงเหลืออยู่ในประเทศไทย เพราะฉะนั้นอย่าได้หลงกลให้กลุ่มคนหน้าเลือดที่หาประโยชน์จากเกษตรกรหรือชาวประมงเลย! เมื่อคิดจะซื้อแล้ว ลองศึกษาดูให้ดีก่อนจะควักเงินออกมาว่า แหล่งที่เรากำลังไปอุดหนุนนั้นผ่านเกณฑ์สองข้อนี้ไหม

  • เงินของเราไปถึงตัวคนทำโดยตรงรึเปล่า 

ถ้าร้านนั้นมีคนในชุมชนเป็นเจ้าของเองก็มั่นใจได้ในระดับนึงเลยว่าเงินที่จ่ายจะไปถึงเกษตรกรหรือชาวประมงโดยตรงแน่นอน วิธีสังเกตง่ายๆ บางครั้งร้านค้าเหล่านี้อาจจะไม่ได้ทำแบรนด์ดิ้งที่ดูอลังการ ไม่มีมีการตกแต่งดูดี แต่เป็นการขายกันแบบบ้านๆ ง่ายๆ สบายๆ

  • ถ้าเป็นธุรกิจขนาดเล็กที่มีการจ้างแรงงาน เขาให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพแรงงานรึเปล่า นอกจากคนแล้ว เขาใส่ใจสิ่งแวดล้อมด้วยไหมนะ 

ธุรกิจรายย่อยหลายเจ้าให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก ลองเช็กดูให้แน่ใจว่าร้านที่เรากำลังจะซื้อ เขาสนใจและใส่ใจประเด็นเหล่านี้ไหม เมื่อพิจารณาแล้วว่าดี การทำความรู้จักกันไปอีกเรื่อยๆ ก็ยังจำเป็น เพราะบางครั้งถึงแม้ภาพลักษณ์จะดูใส่ใจ แต่คนในแอบมากระซิบว่าไม่โอเคก็มีให้เห็นได้อยู่บ่อยๆ 

ถ้าสองข้อนี้ผ่านแล้วก็ลุยโลด! 

การเลิกขาดอาจไม่ใช่ทางออก แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่าการลดและละไม่จำเป็น

การปรับพฤติกรรมการกินให้เป็นไปอย่างพอเหมาะและอยู่ในปริมาณที่กำลังพอดีก็ยังจำเป็นอยู่ เพราะทุกปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากการมีอยู่ของ วัว อะโวคาโด โกโก้ หรือสัตว์น้ำชนิดไหน แต่เกิดขึ้นเพราะการบริโภคมากเกินขนาดของมนุษย์ในโลกทุนนิยมที่นำมาสู่การผลิตเกินปริมาณจนทรัพยากรธรรมชาติหดหาย 

และสุดท้ายนี้ แม้สารคดีบางตัวจะนำเสนอข้อมูลที่ไม่ครอบคลุมและพาให้เข้าใจผิดไป แต่นั่นไม่ได้แปลว่าเราควรจะเลิกสนใจปัญหาเหล่านี้ ยิ่งในโลกปัจจุบันที่เรากำลังมุ่งไปสู่การเป็นพลเมืองโลกแล้ว การมีเอมพาตี้ขึ้นอีกนิด รับผิดชอบสังคมขึ้นอีกหน่อยจะทำให้โลกน่าอยู่ขึ้นอีกมาก 

นอกจากการสนับสนุนชุมชนและธุรกิจรายย่อยในไทยแล้ว สิ่งที่เราสามารถทำควบคู่กันได้คือ เซย์โนให้กับการผลิตเกินขนาด พร้อมกับการเรียกร้องความโปร่งใสจากผู้ผลิตทั้งรายใหญ่และรายย่อย ให้ผู้บริโภคมีสิทธิพิจารณาและร่วมรับรู้ได้ตั้งแต่ต้นน้ำที่เป็นกระบวนการผลิตจนถึงปลายน้ำที่เป็นแหล่งจำหน่ายสินค้า ทางผู้บริโภคเองอาจจะต้องเพิ่มขั้นตอนการศึกษาสินค้าก่อนซื้อกันอีกสักหน่อย แต่เพื่อวันพรุ่งนี้ที่สดใส มาร่วมด้วยช่วยกันเพื่อสิ่งที่ดีกว่ากันเถอะ!

Content Creator - Trainee

#เด็กฝึกงานยุคโควิดที่มีฝันจะได้เข้าออฟฟิศ #ใช้ชีวิตเพื่อตามหาเต้าหู้และมีดทำครัวที่ดี

Graphic Designer

#กราฟิกดีไซเนอร์ #เป็นเด็กหญิงMoodyGirl #แต่ถ้าได้กินของอร่อยฟังเพลงเพราะนอนเต็มอิ่มจะจิตใจแจ่มใสและหัวใจพองโต

Read More:

Eat วิธีทำ

วิธีปรุงเมนูเหลือขอ! จากอาหารเหลือมื้อเก่าที่ร้องขอชีวิต

4 เมนูต่อชีวิตอาหารเหลือ ที่ขอเกิดใหม่เป็นจานอร่อย

Eat มนุษยสัมพันธ์

คุยกับ ‘ฟาร์มบ้านภู’ ฟาร์มโคนมที่แฮปปี้ได้ เมื่อวัวทุกตัวได้อยู่ดีกินดี

ชวน 'ปู-สรรพศิรินทร์ ทรัพย์อนันต์' เจ้าของฟาร์มโคนมอินทรีย์จากลพบุรี คุยเรื่องสวัสดิภาพของวัวที่เชื่อมโยงกับคุณภาพชีวิตคนต้นทางและปลายทาง

Eat สาระสำคัญ

ส่องวัตถุดิบรสนัว ก้นครัวชนพื้นเมือง

เข้าใจวิถีชีวิตชนเผ่าพื้นเมืองบ้านเรา ผ่านอาหารและจักรวาลการครัว