Body —— จากผู้ใช้จริง

ฝาก ‘รอยเท้า’ เอาไว้!

สัจธรรมของรอยเท้า คือการฝากรอยประทับของการกระทำเอาไว้ เวลาใครทำอะไรไม่ดีไว้ รอยเท้าของคนนั้นก็จะยังคงประทับอยู่ชัดเจนแม้เวลาจะผ่านไป … การเลือกซื้อและใช้รองเท้าของเราเอง ก็ฝากรอยเท้าเป็นคาร์บอนที่ก่อมลพิษให้โลกไม่น้อยเช่นกัน

จังหวะที่ต้องอยู่แต่บ้านนี่แหละ จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะหันมองกล่องรองเท้าของตัวเองที่เรียงรายจนฝุ่นจับเพราะไม่ค่อยได้ใช้มันอย่างคุ้มค่า แล้วตั้งปณิธานว่าจากนี้จะช่วยลดภาระให้โลก จะลด ละ และเลิกตัดสินรองเท้าจากหน้าตาและความสบายเป็นใหญ่ แต่ใส่ใจเรื่องความยั่งยืนให้มากกว่าเดิม ฉันจะพยายามไม่ฝากรอยเท้าให้โลกไปมากกว่านี้!

ในฐานะมือใหม่ในเรื่องนี้เลยขอเริ่มต้นที่ก้าวแรก ว่าแล้วก็เดินไปหยิบรองเท้าของตัวเองที่ (คิดเอาเองว่า) ปล่อย carbon footprint ให้โลกน้อยที่สุด 3 คู่ มารีวิวให้รู้ดำรู้แดงไปเลยว่ามันยั่งยืนจริงไหม พร้อมชวนมือใหม่มาเรียนรู้ไปด้วยกันเลยว่า low carbon footwear เขาวัดกันจากปัจจัยอะไรบ้าง

CARBON FOOTPRINT ON FOOTWEAR

รอยเท้าคาร์บอนบนรองเท้า มาจากไหนบ้าง?

เลกเชอร์ก่อนเผื่อใครลืมว่า ‘รอยเท้าคาร์บอน’ หรือ carbon footprint คือปริมาณก๊าซเรือนกระจกหรือ CO2 ที่ถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศจากกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันของเรา ซึ่งการวัดรอยเท้าคาร์บอนของรองเท้าที่เราซื้อ ไม่ได้คำนวณแค่ตอนที่เราใส่มันเท่านั้น (ตอนใส่ไม่ค่อยได้ใช้พลังงานหรือปล่อยคาร์บอนเท่าไหร่หรอก) แต่ต้องคำนวณตลอดทั้งวัฏจักรชีวิตของรองเท้าตั้งแต่เกิด แก่ พัง ไปจนถึงตาย 

วิธีประเมินรอยเท้าคาร์บอนในรองเท้า เริ่มจากดู วัตถุดิบ ก่อนว่าทำจากอะไร เช่น ถ้ารองเท้านี้ทำจากหนัง นั่นหมายความว่ามันต้องผ่านกระบวนการฟอกหนัง (ซึ่งอาจมีการใช้เชื้อเพลิงรวมทั้งสารเคมีนะ) ก่อนส่งต่อไปที่ กระบวนการผลิต ในโรงงานว่าผ่านขั้นตอนมากน้อยแค่ไหน ยิ่งประกอบชิ้นส่วนเยอะ ยิ่งมีโอกาสปล่อยคาร์บอนมากกว่า การขนส่ง มาถึงมือผู้บริโภคอย่างเรายังไง มาด้วยระยะทางไกลแค่ไหน จากนั้นก็ต้องดู การใช้งาน ว่ามีการใช้พลังงานหรือไม่ (ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมี แต่รองเท้าสนีกเกอร์ล้ำๆ บางคู่อาจมีระบบอิเลกทรอนิกส์ติดมาก็ได้) รวมไปถึงการดูแลรักษาว่าต้องซักบ่อยไหม และทนทานหรือเปล่า ไปจนถึงวาระสุดท้ายบั้นปลายชีวิตของรองเท้าว่ามี จุดจบ ที่ไหน เผา ฝังกลบ ย่อยสลายได้ หรือรีไซเคิล

ปัญหาของรองเท้าที่เคลมว่ารักโลก (โดยเฉพาะกลุ่มรองเท้าสนีกเกอร์) ก็คือแม้แบรนด์จะบอกว่าเลือกใช้วัสดุรีไซเคิลมาทำรองเท้า แต่ความเป็นจริงในกระบวนการผลิตอาจจะยังสร้างคาร์บอนเพียบอยู่ มีงานวิจัยที่สังเกตเห็นว่าโรงงานผลิตรองเท้ามักจะทิ้งเศษวัสดุที่ไม่ได้ใช้มากมายที่เกิดจากการตัด เชื่อม และประกอบชิ้นส่วนรองเท้ายิบๆ ย่อยๆ เข้าด้วยกัน ดังนั้น เราต้องจำไว้ว่าการหาวัสดุอัพไซเคิลมาทดแทนเพียงอย่างเดียว อาจไม่พอในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมก็ได้

อีกเรื่องที่ยากก็คือ พวกรายละเอียดและตัวแปรที่เกี่ยวข้องมากมาย มักจะไม่ได้ถูกเขียนหรือปะป้ายอยู่บนกล่องรองเท้า แต่เป็นเรื่องที่คนซื้ออย่างเราจะต้องไขว่คว้ารีเสิร์ชเพื่อมาประเมินเบื้องต้นเอง

จริงอยู่ที่เราไม่มีทางคำนวณคาร์บอนฟุตปรินต์ออกมาเป็นตัวเลขได้เป๊ะๆ หรอก แต่อย่างน้อยหลักการนี้ก็ทำให้เรามองเห็นภาพรวมผลกระทบและวิเคราห์ความยั่งยืนของรองเท้าที่เราใส่ได้ชัดขึ้น 

ไหนลองดูสิว่ารองเท้าคู่โปรดที่เป็นเพื่อนที่ดีกับเท้าของเรา มันเป็นเพื่อนที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมแค่ไหน 

รองเท้าเดินเที่ยว Melissa

นี่คือรองเท้ารัดส้นที่ยกเป็นคู่โปรด ชอบเพราะใส่ไปทำงานได้ เท้าหายใจสะดวก และพร้อมลุยฝน (รวมถึงน้ำกระเด็นจากอิฐบล็อกทางเท้าด้วย) หลายคนน่าจะรู้จักแบรนด์ Melissa ในฐานะรองเท้าเจลลี่สีสดใสที่มีกลิ่นหอม แต่อาจจะรู้น้อยว่าแบรนด์ที่มีต้นกำเนิดจากบราซิลนี้ เขาเคลมว่าให้ความสำคัญเรื่องการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย ว่าแต่มันจริงแค่ไหนล่ะ?

เริ่มที่จุดขายคือวัสดุของรองเท้า ทำจากวัสดุพลาสติก PVC ที่ยืดหยุ่นคล้ายยางซึ่งจดสิทธิบัตรในชื่อว่า Melflex® โดยบริษัทชื่อ Grendene ซึ่งเคลมหนักๆ ว่าแม้จะเป็นพลาสติก แต่มันรีไซเคิลได้ 100% และถ้าสังเกตให้รอบรองเท้าจะเห็นว่าเขาตั้งใจผลิตด้วยการฉีดขึ้นรูปแบบชิ้นเดี่ยว แล้วเอามาเย็บต่อกัน ทำให้ถอดแยกชิ้นส่วนและรีไซเคิลได้ง่าย และแน่นอนว่าการที่มันทำจากพลาสติกแทบทั้งหมด (มีโลหะนิดนึง) รวมทั้งการ finishing ต่างๆ ที่ไม่มีส่วนผสมจากสัตว์และไม่ทดลองกับสัตว์ ทำให้แบรนด์เคลมได้ว่าเป็น Vegan ด้วย

ปัญหาก็คือ เหล่านักสิ่งแวดล้อมไม่ได้เห็นด้วยกับการใช้ PVC เลย องค์กรใหญ่อย่างกรีนพีซถึงกับออกมาโต้ว่าพีวีซีเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุดในบรรดาพลาสติกทั้งหมด แถมยังมีสารเคมีจากคลอรีนที่ถูกปล่อยออกมาในทุกขั้นตอนของการผลิต ซึ่งเมื่อสะสมในร่างกายอาจส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพ กรี๊ด! ซึ่งเรื่องนี้แบรนด์ไม่ได้มาตอบหรือพิสูจน์อะไร และยังคงอ้างว่าวัสดุที่ใช้ยังดีต่อโลกอยู่ (ดีต่อคนรึเปล่าไม่แน่ใจ)

ข้อดีที่พอใจชื้นได้หน่อยคือกระบวนการผลิต ถ้าเข้าไปส่องในเว็บของบริษัทจะเห็นการยืนยันเรื่องการประหยัดพลังงานมาก โดยเริ่มใช้พลังงานหมุนเวียน 85% ในการผลิตมาตั้งแต่ปี 2013 เน้นเรื่องลดการใช้พลังงานและน้ำ และรียูสน้ำเสียมาใช้ใหม่ได้ถึง 99% แถมพวกวัสดุที่เหลือจากกระบวนการผลิตและสต็อกรองเท้าที่ล้นตลาด จะถูกนำไปรีไซเคิลและทำเป็นรองเท้าใหม่ แอบไปส่องก็เจอแคมเปญรับบริจาครองเท้าคู่เก่าจากลูกค้าอยู่เนืองๆ 

สรุปการประเมินจากภาพรวมในความคิดของเรา รองเท้า Melissa คู่นี้น่าจะยังไกลจากคำว่ายั่งยืนพอสมควร ทั้งเรื่องวัสดุที่ยังถกเถียง การผลิตที่ไม่ค่อยได้พูดเรื่องคาร์บอน การขนส่งที่มาไกลจากบราซิลถึงกรุงเทพฯ แต่ถ้าจะให้หาข้อดีก็คงเป็นความทนทานที่ต้องยอมรับว่าใส่มาหลายปีก็ไม่เยินง่ายๆ แถมกลิ่นก็ยังหอมอยู่ จนงงว่าน้ำหอมที่ใส่ (แบรนด์ยืนยันว่าปลอดภัยกับผู้ใช้ รับรองโดยองค์กร International Fragrance Association) ถ้าจะหอมติดทนนานขนาดนี้ ก็ไม่น่าจะทำมาจากธรรมชาติหรอก

ในฐานะคนที่ซื้อมาแล้ว ถ้าอยากให้ยั่งยืนก็ต้องใส่ให้คุ้มจนหยดสุดท้าย และหาทางส่งมันไปรีไซเคิลเป็นรองเท้าคู่ใหม่ให้ได้อย่างที่เขาเคลมล่ะ

รองเท้าเดินป่า KEEN

อีกหนึ่งรองเท้าคู่โปรดที่หยิบมาใส่ทุกครั้งเวลาเดินเข้าป่าฝ่าน้ำตก (ช่วงนี้ก็ร้างไปนาน) ย่ำได้สะเทิ้นน้ำและบกแบบไม่ต้องถอดให้ยุ่งยาก แบรนด์ KEEN นี่เขาก็เป็นอีกแบรนด์ที่อวดสรรพคุณเรื่องความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมเสมอมา ลองมาพิสูจน์ความจริงเท่าที่ทำได้แล้วกัน

สิ่งที่เราเสิร์ชเจอคือนโยบายเรื่องความยั่งยืนอันยาวเหยียด (ที่ไม่ค่อยสนใจเรื่องการลดคาร์บอนเท่าไหร่) ในการเลือกใช้วัสดุทั้งการใช้สารกันน้ำ PFC-Free เคลือบผิวรองเท้า ไม่มีสารเคมีที่มีฟลูออรีนปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม การใช้สารควบคุมกลิ่น Eco Anti-Odor ที่ทำจากจุลินทรีย์โปรไบโอติก แทนที่จะใช้ยาฆ่าแมลงบนแผ่นรองพื้นรองเท้า การเลือกใช้หนัง LWG-certified leather ที่รับรองว่าฟอกด้วยกระบวนการที่ลดใช้สารเคมีและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และวัสดุเชือก (strap) ที่ทำจากขวดน้ำพลาสติก PET 

แต่ถ้าว่ากันเรื่องคาร์บอน พอวิเคราะห์ข้อเสียเองได้หยาบๆ ว่าเมื่อใช้วัสดุ 4-5 อย่าง ก็น่าจะมีการปล่อยคาร์บอนมากขึ้นในกระบวนการได้มาของแต่ละวัสดุ ส่วนเรื่องการย่อยสลาย แม้ว่าจะย่อยสลายไม่ได้ แต่จากการสังเกตด้วยตาคิดว่าตอนทิ้งน่าจะพอแยกส่วนพลาสติกกับยางแล้วส่งไปรีไซเคิลได้อยู่

สรุปสำหรับ KEEN ขอให้คะแนนความพยายามต่อความยั่งยืนในภาพรวมของบริษัทและโรงงาน (ณ ตอนนี้ยังไม่เจอใครต่อต้านนะ แต่ถ้าใครเห็นก็ส่งข่าวมาบอกได้) ข้อดีที่ไม่เคยรู้มาก่อนคือเขามีโรงงานผลิตอยู่ที่ไทย และไปพลิกกล่องดูก็ดีใจว่ารุ่น UNEEK ที่เราซื้อนี่เมดอินไทยแลนด์แบบเต็มๆ เอาน่า อย่างน้อยก็ได้คะแนนเรื่องการลดคาร์บอนค่าขนส่งไปได้แล้ว

รองเท้าแตะ ทะเลจร

รองเท้าแตะคู่โปรดของเราเวลาใส่เดินรดน้ำต้นไม้รอบบ้าน ขอยกให้ ‘ทะเลจร’ แบรนด์ไทยจากปัตตานีที่เต็มไปด้วยเรื่องราว เพราะวัตถุดิบหลักของรองเท้ามาจากขยะรองเท้ายางที่กลุ่มอาสาเก็บขยะ Trash Hero ไปเก็บมาได้ตามชายหาดและหมู่เกาะต่างๆ เช่น พีพี หลีเป๊ะ ภูเก็ต ตรัง ชุมพร กระบี่ รวมถึงที่ปัตตานีเอง (แถมรับบริจาคขยะรองเท้าจากทั่วโลกด้วย!) แล้วเอามาทำเป็นพื้นรองเท้าที่กลายเอกลักษณ์ของทะเลจร 

ด้วยความที่รองเท้าแตะไม่ได้เรียกร้องวัสดุอะไรมาก วัตถุดิบอื่นที่เอามาประกอบเป็นรองเท้าก็มีแค่เชือกหรือหูรองเท้าจากหนังเทียมชิ้นเล็กๆ ส่วนกระบวนการผลิตของรองเท้าที่ไม่จำเป็นต้องผ่านโรงงาน แต่ผ่านแค่เครื่องจักรบดอัดของภาควิชาเทคโนโลยียางและโพลีเมอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เลยไม่ใช้พลังงานมากเท่าโรงงานใหญ่ๆ 

การประกอบร่างขึ้นมาเป็นรองเท้าก็แทบไม่เสียคาร์บอนเลย เพราะเป็นงานทำมือโดยกลุ่มแม่บ้านคลองมะนิง ตำบลกรือเซะ ซึ่งช่วยสร้างงานสร้างอาชีพในชุมชน และสร้างความร่วมมือกับหลายหน่วยงานให้เกิด Circular Economy ในจังหวัดด้วย ถือเป็นโมเดลที่ยั่งยืนทั้งกับสิ่งแวดล้อมและในแง่มุมของเศรษฐกิจและสังคมด้วย 

ภาพรวมของรองเท้าทะเลจรมีความยั่งยืนในหลายมิติ จนเรารู้สึกคุ้มค่าที่ได้ซื้อมาใส่ แม้พื้นรองเท้าจะไม่ได้มาสายนุ่มนิ่มเดินสบาย (ใส่เดินนานคงไม่ไหว) แต่เวิร์กมากสำหรับการเป็นรองเท้าแตะหนึ่งคู่ที่จะมีไว้ใส่เดินในระยะแถวบ้าน

คิดเรื่องรอยเท้าคาร์บอนอย่างเดียวไม่ได้ ก่อนซื้อรองเท้าต้องคิดอะไรอีก?

ถ้าให้สรุปการรีวิวนี้ เราคิดว่าคำว่ายั่งยืนกับการเลือกซื้อรองเท้า เอาจริงๆ ก็ไม่ได้มีแค่เรื่องคาร์บอนไดออกไซด์ที่มันปล่อยออกมาในวงจรชีวิต (ยังมีเรื่องน้ำหรือสารพิษจากโรงงานอีก) หรือแม้แต่แบรนด์รองเท้าที่ออกมาพิสูจน์ว่าใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ทำให้สร้างคาร์บอนฟุตปรินต์น้อยที่สุดในโลก ก็ไม่ได้แปลว่าเขาจะยั่งยืนไปเสียหมดทุกแง่มุม (การผลิตอาจจะยังแย่อยู่ก็ได้) 

อย่าลืมว่ารองเท้าก็เป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมฟาสต์แฟชั่น ที่มีเรื่องไม่ยั่งยืนในแง่มุมอื่นๆ ให้ค้นหาและมองเห็นอีกเพียบ เช่น เรื่องความไม่เป็นธรรมกับแรงงาน ทั้งในมุมรายได้ สุขภาพ และความเป็นมนุษย์ ถ้าอยากเป็นนักช้อปที่ดี ก็ควรจะขยันหาข้อมูลก่อนซื้อรองเท้าในหลายๆ แง่มุมดูก่อน

สารภาพว่าความจริงจุดเริ่มต้นของการทำคอนเทนต์นี้ เพราะเราอยากได้รองเท้าสนีกเกอร์คู่ใหม่ (แหม ก็เขาเคลมว่ามัน low carbon) แต่พอมาลองรีวิวรองเท้าที่ตัวเองมีอยู่ ก็เหมือนได้เรียกสติอีกครั้ง เขย่าไหล่ตัวเองอีกทีว่าเธอยังใส่รองเท้าที่มีไม่คุ้มค่ากับชีวิตของมันเลย ทางที่ดีที่สุดคืองดซื้อถ้าไม่จำเป็น ใครกำลังอยากได้รองเท้าใหม่เหมือนกับเราในตอนนี้ ก็ลองเอาคำถามเหล่านี้ไปทบทวน (รองเท้า) ตัวเองก่อนซื้อดูอีกทีก็แล้วกัน

  • คิดว่าใส่คู่เก่าคุ้มหรือยัง
  • คิดว่าซื้อมือสองได้หรือเปล่า
  • คิดว่าโดนแบรนด์หลอกไหม
  • คิดถึงความเป็นธรรมต่อเพื่อนมนุษย์และสัตว์ด้วย 

Content Designer

#อดีตเป็นบรรณาธิการสารคดีนิตยสารวัยรุ่น #เขียนหนังสือบ้างตามโอกาส #ปัจจุบันเป็นเจ้าของบริษัทคอนเทนต์ขนาดเล็ก #กำลังตั้งใจเรียนรู้ที่จะใส่ใจสิ่งรอบตัวมากขึ้นผ่านการเล่าเรื่องราวในไอแอลไอยู

Graphic Designer

#กราฟิกดีไซเนอร์ #เป็นเด็กหญิงMoodyGirl #แต่ถ้าได้กินของอร่อยฟังเพลงเพราะนอนเต็มอิ่มจะจิตใจแจ่มใสและหัวใจพองโต

Read More:

Body จากผู้ใช้จริง

ระยะเปลี่ยนผ่านของการดูแลตัวเองแบบแคร์โลก

การเลือกใช้และวิธีใช้แชมพู สบู่ สกินแคร์ ผ้าอนามัย ฯลฯ และสารพัดไอเท็มที่สร้างผลกระทบลบๆ ต่อลกน้อยลงอีกหน่อยนึง

Body วิธีทำ

First (NO) Bra REMAKE

หยิบเสื้อเก่ามาโมใหม่ ให้โนบราได้แบบไม่โป๊

Body สาระสำคัญ

Freedom of Choice ในฮิญาบ ที่เราและโลกก็ควรเข้าใจ ด้วยความเคารพ

ไม่ว่าจะนับถือศาสนาไหน ก็ควรเคารพในศรัทธาที่แตกต่างกัน