Body —— วิธีทำ

วิธี Anti-Haul เลิกซื้อ เลิกอวด เลิกแกะกล่อง

เปิดถุง เปิดกรุ แกะกล่อง เราเข้าใจว่าเป็นธรรมดาที่โลกของยูทูบจะเต็มไปด้วยคอนเทนต์เห่อของ โดยเฉพาะกลุ่มเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายและเครื่องสำอาง ที่มักมีเบื้องหลังเป็นการตลาดของผลิตภัณฑ์ การทำวิดีโอ #haul (เห่อของหลายๆ อย่างที่เพิ่งซื้อมา) หรือ #unbox (แกะกล่อง) จึงเป็นช่องทางรายได้สำคัญของเหล่ายูทูบเบอร์ส่วนใหญ่

แต่หลายปีที่ผ่านมา พอสังคมเริ่มตระหนักเรื่องการบริโภคและสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น ก็มียูทูบเบอร์อีกกลุ่มที่เลือกทำคอนเทนต์ในขั้วตรงข้าม จนกลายเป็นคำศัพท์ใหม่และมูฟเมนต์เล็กๆ ที่เรียกว่า #anti-haul ซึ่งแทนที่พวกเขาจะแชร์ไลฟ์สไตล์ของนักช้อป ก็เปลี่ยนมาแชร์วิถีของนักงด นักน้อย นักช้า แทน

เราในฐานะผู้ติดตาม สับตะไคร้ และกดกระดิ่ง เลยรวบรวมวิธี slow fashion ของเหล่าคนรักในวิถี slow life ที่เราลองทำแล้ว แต่สำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง มาแชร์กัน เพราะเชื่อว่ามันน่าจะเหมาะเจาะมากสำหรับใครที่อยากเริ่มต้นนิสัยใหม่ๆ ที่เป็นมิตรกับโลกในปี 2021 นี้

 

ขั้นตอนที่ 1: เข้าใจก่อนว่าทำไมต้อง Anti-Haul 

เพราะของบางอย่าง ไม่ต้องมีมัน เราก็อยู่ได้

ไอเดียของการ Anti-Haul ถ้ามองแง่ลบก็เหมือนมันกำลังต่อต้านการซื้อของหรือช้อปปิ้งของเรา แต่จริงๆ แล้วมันคือการสนับสนุนให้เราใช้ประโยชน์จากสิ่งที่เรามีอยู่แล้วให้คุ้มค่าที่สุดซะก่อน มีวิจารณญานให้มากขึ้นกับการซื้อของแต่ละอย่าง และไม่กดดันให้ตัวเองต้องซื้อของเพิ่ม ถ้าเราไม่ได้ต้องการมันจริงๆ

เพราะของบางอย่าง เรามีอยู่แล้วนี่

นอกจากเราจะชอบวิ่งหาของใหม่ และมองไม่ค่อยเห็นคุณค่าของสิ่งที่มีอยู่แล้ว (ซึ่งจริงๆ มันก็ใช้ได้นี่นา) คนยุคเรายังมีของ ‘ใช้แล้วทิ้ง’ อยู่ในชีวิตเยอะไปหมด จนเราไม่ได้มีความผูกพันอะไรกับสิ่งของที่เราซื้ออีกต่อไป เมื่อไหร่ที่ของบางสิ่งเสียหรือพัง เราก็พร้อมที่จะหาซื้อสิ่งอื่นมาทดแทนได้ทันที ก็แหม ของมันถูกจะตายไป 

เพราะของบางอย่าง ทำให้คนอื่นเดือดร้อน

ของที่ราคาถูก ผลิตออกมาจำนวนมากๆ เป็นธรรมดาที่มันจะต้องทำกำไร และจุดนั้นเองที่ทำให้ผู้ผลิตเลือกจะไม่สนใจจริยธรรมในระหว่างกระบวนการ (ไม่ว่าจะเรื่องสิ่งแวดล้อมและการใช้แรงงาน) เรื่องแย่ๆ แบบนี้เราคงได้ยินบ่อยๆ ในเคสของเสื้อผ้าและเครื่องสำอาง 

ขั้นตอนที่ 2: หาสไตล์ตัวเองให้เจอ แล้วเลิกตามเทรนด์ใหม่ ที่ยังไงก็ไม่ใช่ตัวฉันเลย

การตามหาสไตล์ตัวเองมันไม่ใช่แค่เรื่องแฟชั่นหรอกนะ ที่จริงแล้วมันเป็นจุดเริ่มต้นของการที่เราจะมีวิถี slow fashion เลย เพราะถ้ารู้จักว่าเราชอบอะไร เราก็ไม่ต้องไหลไปตามกระแสของฟาสต์แฟชั่น ในแง่จิตใจก็ทำให้เราพอใจกับตัวเองมากขึ้น และการงดซื้องดช้อปของเราก็จะไม่ใช่เรื่องยาก 

แต่สิ่งที่บางคนอาจจะบ่นว่ายาก คือขั้นตอนหาสไตล์ตัวเองนี่แหละ ไม่ต้องเครียดว่าจะต้องไปตามหาที่ไหน เพราะจริงๆ แล้วมันเริ่มต้นได้ที่การกลับไปมองตู้เสื้อผ้าของตัวเองนี่แหละ 

  • Wardrobe Declutter โละตู้เสื้อผ้า

How to Find Your Personal Style by Jenny Mustard

ยูทูบเบอร์สายแฟชาวสแกนดิเนเวียน บอกว่าวิธีง่ายๆ คือให้เริ่มจากการมองหาเหล่าไอคอนสไตล์ชัดในอินสตาแกรม แล้วดูว่าแนวไหนที่ใกล้เคียงกับตัวเรา จากนั้นก็ให้ลองเขียน 3 คำที่อธิบายสไตล์การแต่งตัวของเราออกมา 

เราลองคิดดู สามคำที่น่าจะบ่งบอกสไตล์ของเราคือ loose, modern, boyish ก็เลยลองเลือกเสื้อผ้าในตู้เฉพาะที่เข้าข่าย 3 คำนี้ออกมากองๆ ไว้ก่อน

7 Wardrobe Curation & Decluttering Tips That Changed My Life by Audrey Coyne  

ยูทูบเบอร์สายยั่งยืนอีกคน แนะนำว่าให้ลองมองหา Year-Round Color Palette, Fabric & Patterns ดูว่าตลอดปีที่ผ่านมาเราชอบสีแบบไหน ผ้าแบบไหน และลวดลายแบบไหน แล้วทั้งหมดนั้นมันเป็นสไตล์ของเรารึเปล่า ถ้าใช่ก็เก็บไว้ ถ้าไม่ใช่ ก็ไม่ถึงกับต้องโยนทิ้งทั้งหมด ลองย้ายมันออกไปจากตู้เสื้อผ้าของเราก่อน จนแน่ใจว่าเราไม่ได้คิดถึงมันอีกต่อไปแล้วล่ะ ค่อยโละได้

Year-Round Color Palette ของเราคือ สีฟ้า-น้ำเงิน น้ำตาล ดำ แล้วก็แดง (เซอร์ไพรส์!) ส่วน Year-Round Fabric ของเราคือผ้าคอตตอนผสมที่ไม่ค่อยยับ และ Year-Round Patterns ของเราคือลายทางตรง พอคิดได้แล้วก็ลองเช็กในกองดูอีกที ว่ามีตัวไหนที่ไม่ใช่ ก็คัดออกไปก่อน

  • 30×30 Capsule Wardrobe Challenge ใส่เสื้อผ้า 30 ชิ้นวนไปในหนึ่งเดือน

แบบฝึกหัดท้าทายตัวเองที่ยากไปอีกขั้น แต่ยืนยันว่าสนุก คือชาเล้นจ์ที่เรียกว่า Capsule Wardrobe Challenge ให้เรากำหนดจำนวนชิ้นของเสื้อผ้าและจำนวนวันที่เราจะใส่มันวนไป ค่ามาตรฐานที่ชาวมินิมัลส่วนใหญ่เล่นกันและว่ากันว่าดีที่สุดก็คือ 30×30 (ใส่เสื้อผ้า 30 ชิ้น ภายใน 30 วัน) 

Autumn 30×30 Wardrobe Challenge by Lumiere d’Helen

ยูทูบเบอร์สาวที่มาเล่าว่ามิกซ์แอนด์แมตช์ลุคยังไง ให้ไม่ซ้ำซาก

เราเลือกเล่นแบบ 20×20 วันซึ่งยากไปนิดสำหรับการแมตช์ให้ไม่ซ้ำ คลิกอ่านได้ที่นี่ แต่พอเล่นได้สำเร็จมันเหมือนได้ปลดล็อกเลยว่า เฮ้ย ตู้เสื้อผ้าเราไม่ได้จำเป็นต้องมีให้เลือกเยอะขนาดน้าน!

  • Minimal Wardrobe Planner ทำแพลนเสื้อผ้าให้ไม่ซ้ำ

สำหรับคนที่ทำได้ในชาเล้นจ์ครั้งแรก อยากจะทำสิ่งนี้ให้ยั่งยืนต่อไปได้ตลอดปี และเป็นคนชอบจดบันทึก ขอแนะนำการทำแพลนเนอร์สำหรับเสื้อผ้าโดยเฉพาะ! อาจจะแทรกไปในแพลนเนอร์ที่ใช้อยู่ปกติ สรุปตารางสี เสื้อผ้าที่จะใส่ และเป้าหมาย เพื่อวางแผนว่าในแต่ละวันในช่วงเดือนนี้ เราจะมิกซ์แอนด์แมตช์เสื้อผ้ายังไงให้ไม่ซ้ำเดิม 

Capsule Wardrobe Planning by Bunnyplans เขาทำแพลนเนอร์กันแบบนี้!

ขั้นตอนที่ 3: ทำ Product I regret buying Checklist ลิสต์ออกมาว่าของอะไรบ้าง ที่ซื้อมาแล้วจะเสียใจทีหลัง

รู้จักตัวเองแล้ว โละตู้ก็แล้ว แพลนเสื้อผ้าแล้ว ทีนี้คีย์เวิร์ดสำคัญ คือการที่เราจะต้อง ‘ไม่ซื้อ’ หรือ ‘ซื้อเท่าที่จำเป็น’ ให้ได้ ง่ายที่สุดคือลองสังเกตชีวิตประจำวันของตัวเอง แล้วลิสต์ออกมาว่าอะไรบ้างที่ถ้าซื้อมาแล้วจะเสียใจทีหลัง เช่น

  • เสื้อผ้าตามเทรนด์ / ตามฤดูกาล 

เสื้อผ้าตามเทรนด์แต่ไม่ใช่ตัวฉัน นี่ลืมไปได้เลย เพราะซื้อมายังไงก็ไม่ใส่หรือใส่ไม่คุ้มแน่ๆ ส่วนเสื้อผ้าตามฤดูกาล เตือนตัวเองเลยจ้ะว่าเราอาศัยอยู่ในประเทศแถบศูนย์สูตร อากาศร้อนเป็นประจำ ท่องไว้ว่าบ้านเรามัน #Seasonless อากาศหนาวมีแค่สามถึงเจ็ดวัน ฤดูใบไม้ร่วงหรือผลิใดๆ ก็ไม่มี ดังนั้น เสื้อผ้าหลักๆ คือฤดูร้อน ร้อน และร้อนเท่านั้น ส่วนเสื้อกันหนาวมีไว้แค่พออบอุ่นในยามอากาศเปลี่ยนเท่านั้นเอง ปีนี้ลมหนาวมา ก็ยังใส่เสื้อกันหนาวของปีเก่าได้ 

  • ของใช้ที่ไม่จำเป็นต้องแบ่งเพศ 

ถ้าสังเกตชีวิตประจำวันดีๆ จะพบว่าเสื้อผ้าบางตัว เราแชร์กับคนรักและคนในครอบครัวที่ไม่ใช่เพศเดียวกันได้นะ เช่น เสื้อยืดเบสิก ลอง #WardrobeSharing ดูบ้างก็ได้ (ผู้หญิงคนไหนชอบแต่งตัวบอยๆ อยู่แล้วยิ่งแชร์ง่าย) หรือของใช้บางอย่าง จริงๆ มันไม่ต้องแบ่งเพศก็ได้นี่นา แต่พวกผลิตภัณฑ์ต่างๆ ก็ชอบแบ่งเพศมาให้เราแบบไม่จำเป็น เช่น โฟมล้างหน้า (แบ่งทำไม) สกินแคร์ หรือแม้แต่เครื่องสำอาง เราเปลี่ยนของใช้ส่วนตัวให้ #Genderless ได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องให้แบรนด์ทำของกลุ่มนี้ออกมาเลยด้วยซ้ำ 

  • เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมเยอะไป แถมยังเพิ่มความเสี่ยง

ลองลดจำนวนสกินแคร์และเครื่องสำอางที่ไม่จำเป็นออกดูไหม เพราะของบางอย่างยิ่งใช้เยอะ ยิ่งทำให้ผิวพังกว่าเดิม ไหนๆ ช่วงนี้เทรนด์ Clean Cosmetic & Skincare กำลังเป็นกระแส ก็เป็นเวลาอันเหมาะเจาะที่เราจะเรียนรู้การพลิกหลังกล่องเพื่อดูส่วนผสม รูทีนสำหรับคนทั่วไป ถ้าหน้าเราไม่ได้มีปัญหาอะไร ต้องการแค่ 3 ขั้นตอนคือ  Cleanser ทำความสะอาด Moisturiser ให้ความชุ่มชื้น แล้วก็ UV-protection กันแดดก็เอาอยู่แล้ว แถมยังเป็นการลดความเสี่ยงจากส่วนผสมแปลกๆ ในผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มเข้ามาด้วยนะ

  • ของใช้แล้วทิ้ง ที่มีสิ่งที่ใช้ได้นานกว่า ทดแทนได้ 

ของใช้ส่วนตัวโดยเฉพาะที่อยู่ในห้องน้ำ ตอนนี้เต็มไปด้วยของใช้แล้วทิ้งอยู่หรือเปล่า ลองเปลี่ยนสำลีใช้แล้วทิ้ง เป็นสำลีเช็ดหน้าที่ทำจากผ้า เปลี่ยนมีดโกนพลาสติกที่แป๊บเดียวทิ้ง เป็นมีดโกนโลหะที่ใช้ได้นานกว่า แถมทนกว่าด้วย แล้วค่อยๆ ขยับไปสู่โหมดยากขึ้นหน่อย เช่น ผ้าอนามัยแบบซักได้ หรือจะลองตัดบางอย่างที่ไม่จำเป็นออกไปเลย เช่น ครีมนวดผม ก็เป็นทางเลือกที่เราลองแล้วมันก็เวิร์กอยู่นะ ประหยัดด้วยอีกต่างหาก

  • ของที่เป็นอันตรายกับคนอื่น หรือทำให้ใครต้องเดือดร้อน

ข้อนี้ต้องขยันหาข้อมูลให้มาก ก่อนจะซื้อของใช้จำเป็นสักอย่าง ลองอยากรู้อยากเห็นมากขึ้นว่าแบรนด์ที่เราซื้อมีแนวคิดต่อสิ่งแวดล้อมแบบไหน กระบวนการผลิตเขาอยู่ที่ไหน เป็นยังไง สร้างปัญหาให้โลกบ้างไหม โรงงานปล่อยสารเคมีไปให้ใครรึเปล่า ใครเป็นคนลงแรงทำ หรือเขาไปทำให้แรงงานเดือดร้อนหรือเปล่า ฯลฯ อะไรที่เจอว่ามันไม่น่าดีต่อสิ่งแวดล้อม คน และสังคม ก็เลิกใช้ไปซะ เพราะต่อให้ของดีแค่ไหน ถ้าซื้อมาสุดท้ายก็เสียใจอยู่ดีที่ต้องเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องแย่ๆ เหล่านั้น

  • ฯลฯ ที่คิดได้เองว่าจะเสียใจ หรือเสียดายเงินแน่ๆ ที่ซื้อมา

ขั้นตอนที่ 4: Live a simple Life ฝึกรื่นรมย์กับสิ่งง่ายๆ บ้างก็ได้

ข้อนี้มันก็จะพุทธๆ คล้ายกับการปล่อยวาง แต่ก็ไม่ใช่ว่าต้องว่างเปล่าไปเสียทั้งหมด ถ้ามองให้ง่ายกว่านั้น Minimalist มันก็คือการใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายให้เป็น สุขกับสิ่งง่ายๆ ที่ไม่ได้ยึดติดว่าต้องเป็นสิ่งของแบบไหน ยูทูบเบอร์แต่ละคนเขาก็มีวิธีคิดที่ต่างกันไป

The Art of Simple Living by Fairyland Cottage

ยูทูบเบอร์ชาวไอร์แลนด์ผู้ใช้ชีวิตอยู่ในกระท่อมน่ารัก บอกว่าการใช้ชีวิตแบบ slow หรือ sustainable ของเธอคือการมีความสุขกับกิจกรรมง่ายๆ ที่อาจจะฟังดูเหมือนว่าสายลมแสงแดด แต่กิจกรรมที่ดูเหมือนซ้ำเดิมในแต่ละวันพวกนี้ทำให้เธอให้ความสำคัญกับคุณภาพมากกว่าปริมาณ ซึ่งเรารู้สึกว่าวิธีสร้างนิสัยให้อยู่แบบช้าๆ และมีความสุขกับมันไปเลยนี่แหละ มันน่าจะดีกว่าการไปตั้งใจบังคับหรือหักห้ามใจตัวเองให้งดโน่นงดนี่นะ

Minimalism Update After 7 Years by Heal Your Living

ยูทูบเบอร์สาวที่นิยามตัวเองว่า extreme minimalist นั่นแปลว่าวิถีชีวิตแทบทุกอย่างของเธอจะน้อยไปหมด (จนเราทำตามเธอครบไม่ได้แน่ๆ) แต่สิ่งที่น่าสนใจคือเป้าหมายของเธอที่มุ่งเน้นไปในด้านการเติบโตของจิตใจ Mindful Living ในคลิปนี้เธอบอกว่าการเป็นมินิมัลลิสต์มา 7 ปี ทำให้นิสัยของเธอเปลี่ยนไปยังไง เอาชนะตัวเองในเรื่องไหนบ้าง ความสัมพันธ์ของเธอเป็นยังไง รวมถึงเรื่องการเงิน ใครสนใจลองคลิกไปฟังดู

Top 10 Items that I got rid of to make my apartment cozy by Tommy

ยูทูบเบอร์ชาวญี่ปุ่นที่เราชอบและคิดว่าเลือกมาปรับใช้กับชีวิตได้ง่ายที่สุด เพราะไม่ถึงกับสุดโต่ง คงเพราะเจ้าตัวทำงานด้านออกแบบ เลยให้ความสำคัญกับเฟอร์นิเจอร์และสิ่งของดีไซน์สวยงาม แต่แก่นของการปรับชีวิตให้มินิมัลและง่ายก็ยังอยู่ มันถูกแสดงออกมาเป็นวิถีชีวิตที่ดูน้อย แต่ยังมีความเท่และ cozy สไตล์ญี่ปุ๊นญี่ปุ่น และบางอย่างก็รู้สึกว่า เออ เขาคิดได้ไง! ดูคอนเทนต์ของเขาแล้วเพลิน มีพลังไปทำตามได้หลายอย่างเลย

สุดท้ายนี้ อยากชวนทุกคนมาเริ่มทำ ไม่ต้องมองเพื่อโลก เอาแค่เพื่อตัวเองก่อน การทำสิ่งนี้ ไม่ใช่แค่ประหยัด แต่ยังช่วยจัดระเบียบจิตใจได้จำนวนหนึ่งเลย

Let’s go to the letting go!

Content Designer

#อดีตเป็นบรรณาธิการสารคดีนิตยสารวัยรุ่น #เขียนหนังสือบ้างตามโอกาส #ปัจจุบันเป็นเจ้าของบริษัทคอนเทนต์ขนาดเล็ก #กำลังตั้งใจเรียนรู้ที่จะใส่ใจสิ่งรอบตัวมากขึ้นผ่านการเล่าเรื่องราวในไอแอลไอยู

Graphic Designer

#กราฟิกดีไซเนอร์ #เป็นเด็กหญิงMoodyGirl #แต่ถ้าได้กินของอร่อยฟังเพลงเพราะนอนเต็มอิ่มจะจิตใจแจ่มใสและหัวใจพองโต

Read More:

Body จากผู้ใช้จริง

ฝาก ‘รอยเท้า’ เอาไว้!

รองเท้าคู่โปรด ฝากรอยเท้า (คาร์บอน) ไว้ให้โลกแค่ไหน

Body จากผู้ใช้จริง

บันทึกสถิติงดซื้อเสื้อใหม่ 2019-2020

บันทึกความฟูและเฟลของนักช้อปกลับใจ งดซื้อเสื้อใหม่ 2 ปี!

Body จากผู้ใช้จริง

ระยะเปลี่ยนผ่านของการดูแลตัวเองแบบแคร์โลก

การเลือกใช้และวิธีใช้แชมพู สบู่ สกินแคร์ ผ้าอนามัย ฯลฯ และสารพัดไอเท็มที่สร้างผลกระทบลบๆ ต่อลกน้อยลงอีกหน่อยนึง