Body —— ของมันไม่ต้องมี

ของมันไม่ต้องมี 01: เสื้อตัวนี้ทำจากเส้นใยอีโค่

บางครั้งเรื่องยากๆ ในชีวิตประจำวันของมนุษย์เมืองคนหนึ่ง อาจเป็นเรื่องง่ายๆ ที่เกิดขึ้นตอนเดินผ่านร้านเสื้อผ้าแบรนด์ดัง เจอเสื้อสวยถูกใจ แต่ปฏิญาณตนไว้ว่าจะไม่อุดหนุนฟาสต์แฟชั่น จังหวะที่ในใจกำลังท่องซ้ำสามครั้งติดต่อกันว่า “ไม่ซื้อ” อยู่นั้น สายตาดันเหลือบไปเห็นคำบนแท็กเสื้อที่ว่า Conscious Collection ต่อด้วยประโยคที่เขียนว่า Made From TENCEL® Lyocell อีกเสียงในใจก็เถียงขึ้นมาว่า

“เอ๊ะ เทนเซลนี่มันเส้นใยรักษ์โลกนี่นา หรือว่าซื้อได้ ไม่ผิด?”

คำถามทำนองนี้เกิดขึ้นกับคุณบ่อยๆ เหมือนกันหรือเปล่า ถ้าใช่ เราคือเพื่อนกัน เพราะการมีวิถีชีวิตแบบส่งผลกระทบน้อยๆ ต่อโลก (และไม่รู้สึกผิดเลย) มันไม่ง่าย หลังจากเบรกตัวเองจากการช้อปเสื้อตัวนั้นเอาไว้ได้ ตกเย็นจึงต้องกลับมารีเสิร์ชเรื่องเส้นใยอีโค่ที่กำลังมาแรงอย่าง TENCEL ว่าตกลงมันยังไงกันแน่ จะหยิบมันใส่ตะกร้าพากลับบ้านได้อย่างสบายใจจริงหรือเปล่า?

เรื่องแรกที่ต้องรู้คือ TENCEL ไม่ใช่ชื่อชนิดของเนื้อผ้า แต่มันคือชื่อยี่ห้อหนึ่งของเนื้อผ้าประเภท Lyocell ซึ่งผลิตขึ้นจากเนื้อไม้ที่นำมาจากแหล่งปลูกที่ยั่งยืนโดยบริษัทออสเตรียเจ้าใหญ่ที่ชื่อ Lenzing AG ความเจ๋งของผ้านี้คือการที่มนุษย์เราหาวิธีเปลี่ยนเนื้อเยื่อไม้ให้กลายเป็นเส้นใยเซลลูโลสธรรมชาติ ด้วยกระบวนการผลิตที่ใช้พลังงานและน้ำน้อยกว่าผ้าฝ้ายหรือคอตตอนทั่วไป แถมพวกน้ำและสารเคมีที่ใช้ในการเปลี่ยนเนื้อไม้เป็นเส้นใย ยังเอากลับไปหมุนวนใช้ซ้ำในระบบได้ใหม่แบบหมดจด เป็นระบบปิดที่ไม่ทิ้งปฏิกูลให้สิ่งแวดล้อมด้วยอีกต่างหาก 

ความดีเด่นที่ทำให้ผ้า TENCEL ถูกยกยอว่ามาแรงแซงโค้งผ้าคอตตอนไปได้ ไม่ใช่แค่ carbon footprint ที่น้อยกว่า แต่เนื้อผ้าที่ได้ยังให้สัมผัสที่นุ่มแต่ทนทาน พร้อมคุณสมบัติซึมซับน้ำและระบายอากาศได้ดี เอาไปผลิตเป็นเสื้อผ้าได้ทั้งหมวดไลฟ์สไตล์และกีฬา (เทียบกับผ้าที่ยั่งยืนอันดับต้นๆ อย่างใยกัญชง ลินิน หรือแม้กระทั่งฝ้าย ก็ถือว่าใส่ง่ายและสบายตัวกว่ามาก) ทำให้แบรนด์แฟชั่นดังๆ หยิบยกมาผลิตและบิลด์มันให้เป็นจุดขายความรักษ์โลกของตัวเองกันยกใหญ่

ฟังดูดี แล้วมีอะไรที่ผู้บริโภคตาดำๆ ต้องคิดก่อนกด TENCEL ใส่ตะกร้าบ้าง?

หลุมพรางคือเรามักลืมถอยมาดูการตลาดของแบรนด์ ไม่ได้บอกว่าการเริ่มต้นของแบรนด์ที่หันมาลงทุนกับนวัตกรรมยั่งยืนมันไม่ดีนะ มันคือการเริ่มต้นที่ดีเลยแหละ แต่ระวังใจตัวเองด้วยว่าการเห็นคำว่า Conscious ตัวโตๆ ไม่ได้แปลว่าแบรนด์เขาเปลี่ยนมาใช้เส้นใยอีโค่ 100% ทั้งร้าน ถ้าเจาะลึกมาดูเนื้อผ้าในคอลเลกชั่นรักษ์โลกจริงๆ เราก็ยังพบว่าส่วนใหญ่ก็ยังเป็นเส้นใยผสมหลายๆ อย่างที่สุดท้ายแล้วอาจจะไม่สามารถย่อยสลายได้จริงอย่างที่เคลม หรือการโฆษณาด้วยคำว่า ‘เอาขยะมาสวมใส่’ ก็ไม่ได้แปลว่าการซื้อของเราจะไปลดหรือกำจัดขยะให้โลกได้หรอกนะ 

อาจจะใจร้ายสักหน่อยถ้าบอกว่ายังไงการช้อปปิ้งเสื้อผ้าแบรนด์ใหญ่ๆ มันก็ปฏิเสธได้ยากว่าคือความสิ้นเปลืองอยู่ดี จึงขอสรุปในฐานะมนุษย์คนหนึ่งว่าถ้าคุณมีสติอยู่เต็มตัวและมีเสื้อผ้าอยู่เต็มตู้แล้ว นี่ก็คือของที่มันไม่ต้องมี! แต่ในวันที่อยากจะใจดีกับตัวเองบ้าง และถ้าการซื้อเสื้อผ้าครั้งนี้มันเป็นสิ่งจำเป็น หรืออดใจให้กับกิเลสไม่ไหวจริงๆ การกด TENCEL ที่ราคาสูงกว่าชาวบ้านนิดนึงใส่ตะกร้า (อย่างรอบคอบ) ก็เป็นทางเลือกที่ eco-guilt free กว่าได้เหมือนกัน แต่ซื้อไปแล้วก็อย่าลืมดูแล ซ่อมแซม และใส่มันไปนานๆ ล่ะ

คอลัมน์ ‘ของมันไม่ต้องมี?’ เขียนโดยมนุษย์วัยสามสิบกลางๆ คนหนึ่ง ที่บางครั้งก็ยังหนีไม่พ้นการบำบัดความเครียดแบบโง่ๆ ง่ายๆ ด้วยการกดช้อปเสื้อผ้าที่ชอบใส่ลงตะกร้า แต่ปัญหาคือวินาทีก่อนที่จะจ่ายเงินให้ลุล่วงกระบวนการบำบัดทุกข์ไป ดันเกิด eco-guilt ว่าการช้อปปิ้งของฉันมันฝืนจรรยาบรรณในฐานะผู้ผลิตคอนเทนต์เรื่องผลกระทบของฟาสต์แฟชั่นหรือเปล่า จึงเกิดเป็นกระบวนการตกตะกอนส่วนตัวว่า ก่อนจะลงมือช้อปสิ่งใด อย่างน้อยขอรู้ให้ได้ก่อนว่าตกลงของชิ้นนี้เป็น ‘ของมันต้องมี’ หรือ ‘ของมันไม่ต้องมี?’ กันแน่

Content Designer

#อดีตเป็นบรรณาธิการสารคดีนิตยสารวัยรุ่น #เขียนหนังสือบ้างตามโอกาส #ปัจจุบันเป็นเจ้าของบริษัทคอนเทนต์ขนาดเล็ก #กำลังตั้งใจเรียนรู้ที่จะใส่ใจสิ่งรอบตัวมากขึ้นผ่านการเล่าเรื่องราวในไอแอลไอยู

Graphic Designer

#กราฟิกดีไซเนอร์ #เป็นเด็กหญิงMoodyGirl #แต่ถ้าได้กินของอร่อยฟังเพลงเพราะนอนเต็มอิ่มจะจิตใจแจ่มใสและหัวใจพองโต

Read More:

Body วิธีทำ

First (NO) Bra REMAKE

หยิบเสื้อเก่ามาโมใหม่ ให้โนบราได้แบบไม่โป๊

Body สาระสำคัญ

แคมเปญเลิกทาส ในศตวรรษที่ 21

ผู้บริโภคทำอะไรเพื่อเลิกแรงงานทาสในวงการแฟชั่นได้บ้าง

Body วิธีทำ

วิธี Anti-Haul เลิกซื้อ เลิกอวด เลิกแกะกล่อง

วิธีเลืกซื้อ เลิกอวด เลิกแกะกล่อง ของเหล่ายูทูบเบอร์สายมินิมัล