Work —— ทัวร์ลง

ทัวร์ลง EP. 02 เดินเท้าเปล่าไป ‘อาบป่า’ คุยกับณิชา คนทำทัวร์อาบป่าในเมือง (จนเป็นงาน)

เคยสังเกตไหมว่าช่วงที่ชีวิตเหนื่อยจนท้อ ความคิดในหัวจะโหยหาแต่ธรรมชาติ เมื่อไหร่จะว่างไปทะเลนะ อยากตั้งแคมป์กลางป่าแล้ว คิดถึงหมอกหน้าหนาวบนภูเขาจัง ซึ่งคนเมืองอย่างเราๆ ต้องรอวันหยุดยาวถึงจะได้สัมผัส ลองมาปฐมพยาบาลใจ ด้วยการ ‘อาบป่า’ แบบไม่ต้องเข้าป่ากันก่อนดีไหม 

ณิชา ศิรินันท์ เจ้าของเพจ Forestory คือไกด์ที่พาเรามาอาบป่าในเมืองเป็นครั้งแรก เธอได้ดีกรี Certified Forest Therapy Guide จาก ANFT (Association of Nature and Forest Therapy) สหรัฐอเมริกา ณิชาพาเราเชื่อมโยงธรรมชาติเพื่อเยียวยาใจโดยการอาบป่าในสวนสาธารณะกลางเมือง เล่าวิธีการเชื่อมกับธรรมชาติให้ช่วยชำระความหนักหน่วงที่แบกไว้ทั้งในใจและในความคิด เป็นเครื่องมือเก็บไว้ใช้ต่อกรกับชีวิตประจำวันแสนวุ่นวาย

คอนเทนต์ซีรีส์ ‘ทัวร์ลง’ อีพีนี้ ถึงจะเป็นมินิทริปสี่ชั่วโมงสั้นๆ แต่ก็เปิดการเชื่อมโยงกับธรรมชาติ และยังทำให้เราเชื่อมโยงบางอย่างภายในตัวเองได้อย่างน่าตกใจ บางคำถามที่ค้างคาเจอวิธีแก้ปัญหาเห็นทางออก เรื่องบนบ่าที่แบกไว้เบาลงอย่างรู้สึกได้ สุดสัปดาห์นี้ถ้าว่างขอชวนถอดรองเท้า เดินเท้าเปล่าบนพื้นหญ้าไปพร้อมกันกับบทความนี้ 

เราเคยได้ยินคำว่า ‘อาบป่า’ มาก่อน รู้ว่าเป็นวิธีเยียวยาใจผ่านการกลับไปเชื่อมโยงธรรมชาติผ่านสัมผัสต่างๆ แต่การเป็นคนเมืองที่ต้องรอวันหยุดยาวกว่าจะหาเวลาเข้าป่าได้สักที เลยมองเป็นเรื่องยากที่จะเดินเข้าไปจับต้องกับธรรมชาติอย่างที่ตั้งใจ 


และโชคดีที่ได้รู้จักเพจ Forestory ที่นอกจากเขาจะพาไปอาบป่าที่ป่ากันจริงๆ ยังมีทริปอาบกันในสวนสาธารณะกลางเมืองด้วยชื่อว่า ‘Reconnect with Nature & Inner Self’ หลังจากอินบ็อกซ์ไปสมัครเป็นลูกทัวร์ด้วยความไวแสง ก็รอให้ถึงวันจัดกิจกรรมอย่างใจจดจ่อ!

แปดโมงเช้าวันเสาร์ เรามีนัดไป ‘อาบป่าในเมือง’ กับเพจ Forestory ที่สวนวชิรเบญจทัศ หรือสวนรถไฟ เมื่อคืนฝนตกหนักอากาศเช้านี้เลยเย็นสบาย จุดนัดพบของเราอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ เมื่อเดินมาถึงที่หมาย เสียงจอแจระหว่างทางเริ่มเบาลง เหลือเพียงเสียงนกและเสียงลมที่แว่วมาเป็นพักๆ

ณิชา ศิรินันท์ เจ้าของเพจ Forestory นั่งรอเราอยู่แล้ว ณิชามาเป็นไกด์ที่จะพาเราอาบป่าวันนี้ เธอเล่าให้ฟังว่าเธอสนใจเรื่องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว แต่ก่อนหน้านั้นยังไม่รู้จักกับคำว่าอาบป่า แค่ทุกครั้งมีเข้าป่า จะมีพลังงานที่ดีเกิดขึ้นกับเธอ และทำให้ตัวเธอโหยหาการออกไปหาธรรมชาติอยู่เสมอ 

“เราคำรู้จักคำว่าอาบป่าจากป้าแอ๊ด-ทิพวัน ถือคำ ทำโฮมสเตย์อาบป่าชื่อ บ้านกลางป่า Into The Forest ที่จังหวัดกาญจนบุรี แต่ว่าตอนนั้นป้าแอ๊ดไม่ได้พาเราอาบป่านะ เขาแค่เล่าให้ฟังแล้วเราสนใจมาก คำนี้มันเลยติดอยู่ในใจ เราเลยเอามาศึกษาต่อ 

“หลังจากนั้นเราไปทริปชื่อ Nature Connetion ที่เชียงดาว 5 วัน ในคืนสุดท้ายมีกิจกรรมนั่งล้อมวงรอบกองไฟกัน ทุกคนจะแชร์ประสบการณ์ที่ได้เจอมา มีคนหนึ่งพูดว่าป่าที่เราไปมาวันนี้ รู้ได้เลยว่าเขาเหงา เขาโดดเดี่ยว ไม่ค่อยมีมนุษย์เข้าไปเล่นกับเขา เช้าวันต่อมาเราเลยขี่จักรยานไปคนเดียว เราเจอต้นจามจุรีที่ใหญ่มากๆ เป็นคุณปู่เลย เขาให้ที่อยู่อาศัยกับสิ่งมีชีวิตเยอะมากๆ 

“เราเลยเข้าไปกอด แล้วรู้สึกว่าเราได้รับอะไรบางอย่าง เหมือนเวลาเรากอดคนแล้วใจเราเปิดกว้างมากๆ ขณะนั้นมันคือคำว่าปีติจริงๆ เราไม่รู้จะอธิบายสิ่งนี้ว่าอะไร แต่เรารู้สึกว่าความรู้สึกนี้มันจริง”

หลังจากกลับมาจากทริปเชียงดาว ความประทับใจนี้ยังปักหมุดในใจเธอมาตลอด ณิชาเลยไปลงเรียน Certified Forest Therapy Guide ซึ่งปกติแล้วคอร์สนี้ต้องบินไปเรียนที่อเมริกา แต่ในช่วงโรคระบาดจึงเรียนแบบออนไลน์และต้องทำแบบฝึกหัดพาคนอาบป่าให้ได้จริงๆ ทั้งป่าที่ต่างจังหวัด และสวนสาธารณะในเมือง 

“การอาบป่าที่ต่างจังหวัดกับในเมืองมันให้ความรู้สึกต่างกัน ถ้าเอาความรู้สึกเวลาเราเข้าป่าแล้วรู้สึกตัวเล็ก พลังงานในป่ามันเยอะกว่าอยู่แล้ว แต่การที่มาในเมืองแบบนี้ เรารู้สึกว่ามันเป็นเหมือนการปฐมพยาบาลเบื้องต้น เราอยากลบภาพว่าการอาบป่าต้องไปถึงป่าเลย เพราะกว่าเราจะได้หยุดยาว กว่าจะหาเวลาหาเงินไปเที่ยวธรรมชาติ มันก็ยากเหมือนกัน เราเลยพยายามหาพื้นที่อย่างสวนสาธารณะกว้างๆ ในกรุงเทพฯ ลองจัดการอาบป่าในเมืองขึ้นมา 

“คนที่มาส่วนใหญ่ 99% ไม่รู้จักการอาบป่ามาก่อน แค่อยากมาหาธรรมชาติ กำลังรู้สึกอะไรบางอย่าง กำลังค้นหาตัวเอง หรือกำลังหาคำตอบให้ตัวเอง”

นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ณิชาตั้งมินิทริปนี้ขึ้นมา ถึงแม้งานนี้จะไม่ใช่งานหลักเพื่อเลี้ยงชีพ แต่เธอขับเคลื่อนมันด้วยแพสชั่นอย่างตั้งใจ จนเกิดทริปแบบนี้ขึ้นมาหลายต่อหลายครั้ง

ไม่นานนักเพื่อนผู้เข้าร่วมของเราเริ่มเดินทางมาถึง เรานั่งล้อมวงใต้ต้นไม้ใหญ่ 

กิจกรรมแรก มีชื่อว่า ‘Arrival’ กิจกรรมที่พาทุกคนเช็กอินตัวเอง ทำความรู้จักกันและกันเบื้องต้น เป็นกิจกรรมที่ชวนให้เปิดตัวเองกับคนอื่น เพื่อพร้อมที่จะเปิดตัวเองกับธรรมชาติอีกที ซึ่งผู้พูดจะต้องถือ ‘ไม้’ สัญลักษณ์ของการส่งสาร และคนอื่นรอบวงจะเป็นผู้ฟังที่ดี โดยทุกกิจกรรมที่จะเกิดขึ้น เป็นแค่ ‘คำเชิญชวน’ ผู้เข้าร่วมสามารถแสดงออกเท่าที่สะดวกใจ โดยพื้นที่ในวงนี้จะอ้าแขนเปิดกว้างเสมอไม่ว่าใครจะพูดหรือไม่พูดเรื่องอะไร 

ปกติแล้วการอาบป่าจะมีลำดับกระบวนการ แต่ไม่ได้ตายตัว การอาบป่าครั้งนี้ จึงมีกิจกรรม ‘Oracle Reading’ จาก MemoSmile มาร่วมด้วย เริ่มที่ให้ทุกคนลุกมาหยิบไพ่คนละ 1 ใบ และเล่าเรื่องตัวเองผ่านไพ่ที่หยิบได้ 

“การอาบป่าในทุกๆ ประเทศจะมีลำดับช่วงแรกกับช่วงจบที่ไม่ต่างกันเท่าไหร่ ถ้าเป็นของญี่ปุ่นช่วงจบอาจจบด้วย Tea Ceremony แต่กิจกรรมระหว่างทาง เราสามารถออกแบบได้เลย เราเลยชวนแอ้ มาเปิดไพ่ออราเคิลกับเราด้วย” 

ไพ่ออราเคิล คือไพ่ที่ทำนายโดยการตีความตามหน้าไพ่และข้อความที่ไพ่บอก ซึ่งแอ้เป็นอีกคนที่ศึกษาเรื่องไพ่ออราเคิลจนมีไพ่หลายสำรับ 

“การอาบป่าของณิชาจะเน้นธรรมชาติกว้างๆ แต่การเปิดไพ่ของเราจะแตะอินเนอร์เซลฟ์ของแต่ละคนไปนิดนึง และในการออกแบบกิจกรรมเรากับณิชาต้องคุยกันเยอะมาก เช่น เราควรจะใช้ไพ่สำรับไหนเพื่อให้เข้ากับกิจกรรม หรือบางสำรับที่เลือกมา หลุดจากธรรมชาติไปหน่อยก็จะไม่ใช้” แอ้เล่าให้เราฟัง

คนแปลกหน้าทั้ง 7 คนเริ่มได้รู้จักกัน ความประหม่า ความกลัวที่ติดมาจากสังคมข้างนอกเริ่มละลายลง สายตาที่รู้ว่าผู้ฟังกำลังตั้งใจฟังเรา ทำให้รู้สึกว่าพื้นที่ตรงนี้กำลังจะกลายเป็นคอมฟอร์ตโซนขึ้นมา

หลังจากรู้จักกันเบื้องต้น ณิชาเชิญชวนทุกคนมา ‘เปิดผัสสะ’ คือสัมผัสทั้ง 5 การได้ยิน การได้กลิ่น การรับรส การสัมผัส และการมองเห็น ในกิจกรรมที่ชื่อว่า ‘Here & Now’ ให้ทุกคนอยู่ในท่าที่สบาย นั่งหรือนอนก็ได้ ณิชาให้เราหลับตาลองฟังเสียงที่ใกล้ตัวที่สุด ขยับไปฟังเสียงที่ไกลที่สุด เงี่ยหูฟังเสียงใบไม้กระทบกัน หรือเสียงผู้คนโดยรอบ 

หลังจากนั้นให้ลองดมกลิ่นลม ดมกลิ่นใบไม้ที่ร่วงบนพื้น หรือกลิ่นดินชื้นหลังฝนตก ลองชิมลมดูว่าเป็นอย่างไร ลองสัมผัสต้นหญ้า ก้อนหิน ถอดรองเท้าสัมผัสพื้นดิน ลองลืมตาดูว่าสิ่งแรกที่เห็นคืออะไร รู้สึกอย่างไร ค่อยๆ ตอบตัวเองในใจเท่าที่รู้สึก และอยู่กับปัจจุบันตรงนี้สักครู่

การค่อยๆ เปิดผัสสะที่ว่านี้ทำให้เราได้สังเกตธรรมชาติรอบตัวได้ชัดเจน วิธีการเหล่านี้เป็นจุดเริ่มต้นการเชื่อมโยงกับธรรมชาติ ถ้ารู้แล้ว สามารถนำไปปรับใช้สงบจิตสงบใจในพื้นที่สีเขียวท้้งสเกลเล็กและใหญ่ที่ไหนก็ได้ 

ถึงแม้การอาบป่าจะเป็นวิธีการหนึ่งของการบำบัด แต่ณิชาบอกว่าตัวเธอไม่ใช่นักบำบัด สิ่งที่บำบัดคนได้คือธรรมชาติ เธอมีแค่ไกด์แนวทางให้คนได้เชื่อมต่อกับธรรมชาติอีกครั้งเท่านั้น

“เราแค่ Hold Space นี้ พาทุกคนเปิดผัสสะเปิดเซนส์ที่ทุกคนมีอยู่แล้ว ทุกคนก็จะไปเจอทางของตัวเอง เราแค่อยู่ตรงนี้ คอยรับฟัง แต่เราจะไม่ได้ชี้นำ หรือบอกว่าใครต้องเจออะไรข้างในตัวเองขนาดนั้น

“เราแค่อยากพามนุษย์ ธรรมชาติ สรรพสิ่งมาเชื่อมโยงกัน เพราะในอดีตเราเคยเชื่อมโยงกันมาก่อน เมื่อทุกคนเปิดให้ตัวเองเชื่อมโยงกับธรรมชาติอีกครั้งได้ ทุกคนจะเชื่อมโยงกับข้างในตัวเองได้เช่นกัน”

เราทุกคนอยู่ในปัจจุบันขณะตรงนั้นสักพัก หลังจากลืมตา เรามาแชร์กันว่าแต่ละคนรู้สึกอย่างไร สำหรับเรามันเหมือนการนั่งสมาธิ (ที่ปกติไม่เคยทำได้เพราะใจอยู่ไม่นิ่ง) แต่ครั้งนี้เป็นการทำสมาธิที่ไม่ต้องนิ่งก็ได้ ปล่อยใจออกไปสัมผัสกับสิ่งรอบตัว ใจที่เคยหนักจากเรื่องราวมากมายก่อนหน้า ก็ค่อยๆ ผ่อนคลาย และเบาลงอย่างรู้สึกได้ 

ก่อนหน้านี้ณิชาพูดถึง ‘โรคขาดธรรมชาติ’ มีทฤษฎีที่บอกว่าเมื่อขาดธรรมชาติ จะรู้สึกไม่เชื่อมโยงกับทุกสิ่งรอบตัว เครียด เหงา ความคิดวนไปวนมา นอนไม่หลับ รู้สึกไม่เติมเต็ม 

ทุกคนที่มาร่วมกิจกรรมในวันนี้เป็นคนเมือง เป็นวัยรุ่นวัยทำงาน รับรู้ได้เลยว่าแบกความเครียดไว้เต็มบ่าและโหยหาบางอย่าง 

“ทุกครั้งที่เราจัดทริปแบบนี้ก็จะเห็นกับตาว่า แค่มาเชื่อมโยงกับธรรมชาติ ภาวะเหล่านั้นมันจะเบาลง ถึงเป็นแค่ช่วงสั้นๆ แต่เหมือนทุกคนได้กลับบ้าน ทุกคนจะรู้แล้วว่านี่คือรากของเขา แล้วเดี๋ยวทุกคนก็จะกลับมาเชื่อมโยงกับธรรมชาติอีก ในทางใดทางหนึ่ง

“มีงานวิจัยเกี่ยวกับอาบป่าโดยตรง ที่บอกว่าพอมนุษย์ได้เจอกับธรรมชาติแล้วฮอร์โมนเกี่ยวกับความเครียดมันลดลง ความดัน การหมุนเวียนโลหิตดีขึ้น มีตัวชี้วัดทุกอย่างเกี่ยวกับ Health Care บอกไว้”

กิจกรรมที่เราทำต่อจากการเปิดผัสสะนี้ชื่อว่า ‘Rhythm of Nature’ ให้ทุกคนลองออกไปเดินย่ำผืนหญ้า ลองเคลื่อนไหวช้าตามจังหวะที่ตัวเองต้องการ ค่อยๆ เดิน ค่อยๆ สังเกตสิ่งรอบตัว จะเดินไปทางไหนก็ได้ เมื่อได้ยินเสียงกระดิ่งดัง ค่อยกลับมาล้อมวงคุยกัน ว่าพบเจออะไรข้างในตัวเองบ้าง

คำเชื้อเชิญของธรรมชาติที่หยิบได้จากไพ่ในกิจกรรม ‘Oracle Reading’ จะเป็นส่วนหนึ่งในการไกด์ว่า เรากับธรรมชาติจะเชื่อมโยงกันอย่างไรได้บ้าง บ้างแนะนำให้ลองสัมผัส บ้างแนะนำให้ลองหาสีของธรรมชาติที่ตรงกับตัวเอง เป็นต้น 

อย่างที่บอก การเชื่อมโยงกับธรรมชาติเราทำได้ทุกที่ไม่ว่าธรรมชาติจะอยู่ในรูปแบบไหน คนเมืองที่อยู่คอนโด มีแค่สวนสีเขียวเล็กๆ ลองถอดรองเท้าเหยียบหญ้าดูสักพักก็ได้ ในห้องพักที่ดูไม่สดใส ลองปลูกต้นไม้ต้นเล็กๆ ให้มีสีเขียวชุ่มตา ดูบ้างก็ได้

“การที่เรามีธรรมชาติเข้ามาอยู่ในชีวิตเรามากขึ้นเท่าไหร่มันก็ยิ่งดี บางทีเราหยดน้ำมันหอมระเหย กลิ่นยูคาลิปตัส กลิ่นตะไคร้ กลิ่นทะเล กลิ่นป่า มันก็ช่วยฮีลเราได้เหมือนกันนะ” ณิชาบอก

มาถึงกิจกรรมที่แต่ละคนจะรับกระดาษคนละแผ่น หยิบปากกา สี ดินสอ ออกไปนั่งหาที่เงียบๆ อยู่กับตัวเอง วาดระบายสีความรู้สึกหรือสิ่งที่นึกคิดอะไรก็ได้ออกมา

แต่ละคนแยกย้ายหลบมุม เมื่อครบเวลาเสียงกระดิ่งดัง ทุกคนมาล้อมวงกันอีกครั้ง แต่ละคนจะเล่าเรื่องราวในภาพวาดของตัวเองให้เพื่อนๆ ฟัง หลังจากนั้น แอ้ลองให้เราตั้งคำถามว่า ‘สิ่งที่อยากเป็นหลังจากจบทริปนี้ไปคืออะไร?’ แต่ครั้งนี้ไม่ได้ให้หยิบไพ่ออราเคิลเหมือนครั้งก่อน เพราะภาพที่เราวาดนั่นแหละ คือไพ่ออราเคิลของเรา คำตอบทั้งหมดจึงอยู่ในภาพนั้น แล้วแต่บุคคลจะตีความ

ในการอาบป่าฉบับญี่ปุ่น หลายครั้งจะจบด้วยพิธีชงชา หรือ Tea Ceremony เป็นการขอบคุณธรรมชาติ ขอบคุณที่เราได้รับพลังงานที่ดีมาใช้ ขอบคุณที่เรากลับมาเชื่อมโยงกันได้อีกครั้ง ในท้ายสุดแต่ละคนจะได้วิธีการเชื่อมโยงธรรมชาติในแบบฉบับของตนเอง เพื่อเอาเก็บไว้ใช้ในเมืองที่วุ่นวาย

ณิชาวางแก้วชาจิ๋วเป็นวงกลม จำนวนพอดีกับผู้เข้าร่วม มีแก้วใบใหญ่หนึ่งใบสำหรับรินให้ Mother Earth หลังจากทุกคนพูดขอบคุณธรรมชาติในแบบตัวเอง แก้วชาทุกแก้วได้รินชารอไว้ โดยทุกครั้งที่รินจะรินให้แก้วของ Mother Earth ด้วย 

ณิชาเล่าว่า อยากจัดกิจกรรมอาบป่าในเมืองให้ได้เดือนละ 1-2 ครั้ง อยากให้คนกับธรรมชาติเพิ่มพลังให้กันและกัน และอยากให้มีคอมมูนิตี้ไกด์พาอาบป่าให้กว้างกว่านี้ เพื่อช่วยปลดเปลื้องความทุกข์ใจให้คนเมืองไม่มากก็น้อย

“สิ่งหนึ่งที่เราเรียนรู้จากการเป็นไกด์คือ งานของเราไม่ได้เริ่มในวันที่เราพาคนมาทริป แต่เราต้องฮีลตัวเองตลอดเวลากว่าจะมาถึงวันจัดทริป เพราะการ Hold Space ให้ทุกคนในวันกิจกรรม ข้างในเราต้องมั่นคงประมาณนึงเลย เราเลยต้องคอยทำงานกับข้างในตัวเองเหมือนกัน เรื่องนี้สำคัญที่สุดเลยเมื่อมาเป็นไกด์อาบป่า

“เราไม่อยากให้ธรรมชาติมันยาก มันคือวิถีในชีวิตประจำวัน คนที่เป็นไกด์เข้าใจด้วยใจจริงๆ รู้สึกและสื่อสารออกไป การเป็นไกด์คือการเชื่อใจธรรมชาติ เชื่อใจผู้เข้าร่วม เชื่อใจตัวเอง มันจะเกิดการวางใจทุกอย่าง และสิ่งที่เกิดขึ้นหลังกิจกรรมมันมหัศจรรย์ทุกครั้ง”

การเชื่อมโยงธรรมชาติจากการอาบป่านี้ ไม่ได้มีผลกับการบำบัดทางจิตใจเท่านั้น 

“เราเชื่อว่ามนุษย์จะไม่ปกป้องธรรมชาติ ถ้าเขาไม่รู้จักรักธรรมชาติก่อน หากเราอยากจะอนุรักษ์อะไรสักอย่างเราก็ควรที่จะรักและหวงแหนการมีอยู่ของมัน วันนี้เรากลับมาเริ่มต้นรักธรรมชาติรอบตัวมากขึ้น เจเนอเรชั่นหลังจากนี้ มนุษย์น่าจะเริ่มรู้ตัวว่าเราไม่ได้เหนือกว่าธรรมชาติ เราอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีธรรมชาติ เพราะมันคือรากของเรา”

การอาบป่าคือการใช้ธรรมชาติบำบัด เมื่อเราเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ เราจะรู้สึกว่าอยากอนุรักษ์ และรู้สึกอยากขอบคุณจากใจจริง 

อ่านซีรีส์ ‘ทัวร์ลง’ ทั้งหมด ที่นี่

ภาพถ่าย: ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์
ออกแบบกราฟิก: paperis

Content Creator

#นักเขียน #จบครูศิลปะ กำลังไล่อ่านหนังสือที่ซื้อมาให้หมดทุกเล่ม

Read More:

Work บันทึกประจำวัน

a day #233 ใครไม่แคร์ คนทำแคร์

บันทึกการแคร์โลกในแบบของกลุ่มคนทำคอนเทนต์

Work สาระสำคัญ

work from home ยังไง ให้งานยังเวิร์ก!

วิธีทำงานให้รอดและอยู่อย่างปลอดภัย เมื่อต้อง work from home

Work มนุษยสัมพันธ์

หมา-นุษย์ สัมพันธ์ เคาะประตูหาเพื่อน (สี่ขา) ข้างบ้าน ili

ออฟฟิศ pet-friendly ที่เงยหน้าจากงานปุ๊บ ก็เยียวยาใจปั๊บ