Play —— Bangkok PLAYlist

Bangkok PLAYlist ep.05: ฮาวทูเลือกผู้ว่าฯ ที่ใช่ (Feat. ดร.สติธร)

กะพริบตาอีกไม่กี่ครั้ง ก็จะถึงวันที่ 22 พ.ค. 65 วันเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่ห่างหายไปนาน 9 ปี และเลือกตั้ง สก. ที่ห่างหายไปนาน 12 ปีแล้ว

ที่ผ่านมา บรรยากาศของกรุงเทพฯ อันเต็มไปด้วยปัญหา (เยอะไม่แพ้จำนวนป้ายหาเสียง) ประกอบกับคนกรุงที่ตาสว่างและพร้อมจะส่งเสียงกันมากขึ้น รวมถึงอุณหภูมิของการเมืองที่ร้อนระอุในใจมายาวนาน ทำให้มั่นใจได้ว่าเลือกตั้งหนนี้ ชาวกรุงแทบทุกคนไม่ว่าจะผู้ใช้สิทธิหน้าเก่าหรือใหม่ คงมีผู้สมัครที่นั่งอยู่ในใจกันแล้วเรียบร้อย 

แต่ก่อนจะเดินเข้าคูหา กาคนที่ชอบให้มันสาแก่ใจที่รอคอยมานาน อยากชวนตั้งคำถามและตั้งสติกันอีกสักหน่อย ว่านอกจากวลีโก้ๆ ที่ผู้สมัครแปะไว้ตัวโตๆ บนป้ายหาเสียงหรือตะโกนดังกังวานออกมาจากเวทีดีเบต ยังมีเรื่องเบสิก 101 เกี่ยวกับ กทม. ที่พวกเราต้องรู้ (แต่ยังไม่เคยรู้) และต้องทำความเข้าใจ (แต่ยังไม่เคยเข้าใจ) คู่ขนานกันไปประกอบการตัดสินใจ อะไรอีกบ้าง

ไอแอลไอยู ถือชุดคำถามแทนใจคนกรุงเทพฯ ที่ร้างลาจากการเลือกตั้งมานาน บึ่งฝ่ารถติดไปขอคำปรึกษาจาก ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย ถึงที่ออฟฟิศสถาบันพระปกเกล้า แล้วเรียบเรียงออกมาเป็นบทสัมภาษณ์ถาม-ตอบ ที่คุณจะได้อ่านต่อจากนี้ 

รีบอ่านก่อนไปเลือกตั้งนะ ไม่งั้นจะไม่ทันการ

Q: ผู้ว่าฯ กทม. มีบทบาทหน้าที่ในกรุงเทพฯ มากน้อยแค่ไหนยังไง?

ดร.สติธร: จริงๆ กทม. ถูกดีไซน์รูปแบบการปกครองไว้ไม่ต่างกับเทศบาลหนึ่ง เพราะฉะนั้นผู้ว่าฯ กทม. ก็ไม่ต่างอะไรกับนายกเทศมนตรี อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายเขียนไว้กว้างๆ ว่าดูแลความเป็นอยู่ทั่วไปของคนในเมือง จับหมา ฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้า ฉีดยุง เก็บขยะ แต่ทีนี้พอเมืองมันใหญ่ก็เลยมีเรื่องคมนาคม ขนส่ง สะพานลอย จิปาถะเข้ามาด้วย และมีบทบาทหน้าที่ที่งอกขึ้นมาตามปัญหา เช่น รถติด ผู้ว่าฯ ก็ต้องมาแก้รถติดให้ด้วยนะ เปรียบผู้ว่าฯ เหมือนพ่อบ้านที่ดูแลบ้าน แต่พอดีบ้านมันหลังใหญ่ไปหน่อย อารมณ์นั้น

Q: แล้ว สก. ล่ะ ทำงานต่างกันหรือร่วมกันยังไง?

ดร.สติธร: พอผู้ว่าฯ คือฝ่ายบริหาร ทำหน้าที่ออกนโยบายจัดสวัสดิการ ถ้าผู้ว่าฯ ทำงานไม่ดีใครจะตรวจสอบ ก็มี สก. นี่แหละที่เป็นตัวแทนประชาชนเพื่อให้เกิดการตรวจสอบถ่วงดุลทั้งการทำงานและการใช้งบ คล้ายกับเรามีนายกฯ กับ สส. คอยถ่วงดุลกันในการเมืองระดับชาติ 

เวลาผู้ว่าฯ จะทำหรือแก้ปัญหาอะไร บางเรื่องมันมีนโยบายอยู่แล้วที่ไม่จำเป็นต้องไปแก้กฎหมาย เพราะกฎหมายมันรองรับอยู่แล้ว อันนี้ผู้ว่าฯ ก็ทำไปเลย แต่บางเรื่องมันเป็นเรื่องใหม่ ยังไม่มีกฎหมายมารองรับ จะไปบังคับใครให้ทำได้ อย่างเช่น จะขึ้นค่าปรับจากร้อยเดียวเป็นหนึ่งพัน คนจะได้กลัว ไม่อยากจ่ายเงินเยอะ ผู้ว่าฯ ทำยังไง ก็ต้องออกนโยบายไปแก้กฎหมายเพื่อบังคับใช้ แล้ว สก. ก็จะเป็นคนพิจารณาเห็นชอบ สองฝ่ายนี้ก็จะทำหน้าที่ถ่วงดุลกันไป

Q: ถ้า สก. ทำหน้าที่ถ่วงดุลผู้ว่าฯ แล้วทำไมผู้สมัครถึงหาเสียงแบบแพ็กคู่ อยากให้เลือกทีมเดียวกัน?

ดร.สติธร: จะมีคนตั้งคำถามว่า ผู้สมัครอิสระกับผู้สมัครสังกัดพรรคที่มีทีม สก. ของตัวเองเนี่ย แบบไหนได้เปรียบเสียเปรียบ คำถามนี้ตั้งขึ้นราวกับว่า สก. กับผู้ว่าฯ มันต้องเป็นทีมเดียวกัน ทั้งๆ ที่ในการดีไซน์ของระบบไม่ใช่นะ มันควรจะเป็นคนละทีมด้วยซ้ำ เพื่อให้เกิดการตรวจสอบถ่วงดุล ถ้านโยบายที่ผู้ว่าฯ อยากทำมันใช้เงินเยอะ แต่ไม่น่าจะได้ผลตอบแทนที่ดี ประชาชนบอกไม่เห็นชอบ สก. มีฐานะเป็นตัวแทนคนแต่ละเขตก็อาจจะโหวตไม่ให้ผ่าน ใช่ไหม นี่คืออุดมคติที่เราอยากเห็น แต่ในโลกความเป็นจริงอาจไม่เป็นอย่างนั้น

ความจริงที่เกิดขึ้นคือพอ สก. กับผู้ว่าฯ มาจากพรรคเดียวกัน ผู้ว่าฯ อยากทำอะไรที่พรรคอยากได้ สก. ต้องสนับสนุนผู้ว่าฯ นะ แล้วก็ยกมือสนับสนุนผู้ว่าฯ ทุกเรื่อง โดยประชาชนจะชอบไม่ชอบไม่รู้ เราเป็นพรรคเดียวกันเราใช้เสียงข้างมากจัดการ โลกความเป็นจริงนี่แหละที่ทำให้คนถกเถียงกันว่าผู้ว่าฯ กับ สก. ควรจะเป็นทีมเดียวกันหรือคนละทีม บางมุมบอกว่าควรเป็นทีมเดียวกัน เพราะถ้าคนละทีมเมื่อไหร่ ผู้ว่าฯ อยากได้อะไร สก. ก็จะขัดใจผู้ว่าฯ ตลอด ยิ่งเป็นการเมืองแบบแบ่งพรรคแบ่งขั้ว ก็จะขัดกันไปขัดกันมาอยู่อย่างนี้

Q: ฟังดูยากเหมือนกัน ที่จะฟันธงว่าแบบไหนคือความถูกต้อง?

ดร.สติธร: เพราะฉะนั้นมันเลยไม่มีถูกไม่มีผิดไง ถามว่าคนเข้าใจผิดไหมที่เลือกทีมเดียวกัน ก็ไม่ถึงขนาดเข้าใจผิด เพราะว่าเขาอาจเข้าใจถูกใจอีกมุมหนึ่งก็ได้เพราะเขากลัว Scenario ที่ว่าไป ยิ่งถ้าเขาเป็นคุณลุงคุณป้า เขาอาจจะเคยเห็นผู้ว่าฯ ทำงานกับ สก. มาหลายแบบ แล้วแบบที่เขารู้สึกว่าทำงานราบรื่นคือเป็นพวกเดียวกัน แต่สิ่งที่เขาคิดก็อาจจะไม่ใช่ความเข้าใจที่ถูกเสมอไป ถ้าไปดูข้อมูลจริงๆ เราอาจจะเจอว่าผู้ว่าฯ กับ สก. คนละทีมอยู่ตลอดอยู่แล้ว แต่ก็ทำงานได้

Q: ที่เราเข้าใจว่า สก. มีบทบาทเป็นคนคอยแก้ปัญหาในเขต เช่น พาหมาไปหาหมอ ลอกท่อ เป็นความคิดที่ผิดหรือถูก

ดร.สติธร: ปัญหาแบบพาหมาไปหาหมอ ลอกท่อเนี่ย ไปหวังกับผู้ว่าฯ ได้ เพียงแต่ในระดับกรุงเทพฯ ปัญหานี้มันอาจจะดูเล็กเกินไปหน่อย แต่ถ้าเอาปัญหาเดียวกันนี้ไปขอให้ สก. ช่วยแก้ จริงๆ แล้วไม่ถูกตามกฎหมายซะทีเดียว เพราะ สก. ไม่ได้มีหน้าที่นั้น ไม่สามารถผันงบประมาณมาลงเขตได้โดยตรงหรือเอาโครงการอะไรมาให้เขตได้ เพราะ สก.ทำหน้าที่แค่หนึ่งคือออกกฎหมายเพื่อสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนผู้ว่าฯ สอง คือทำหน้าที่ประสานเชื่อมโยง บทบาทหน้าที่จริงๆ เป็นการทำงานเพื่อตรวจสอบผู้ว่าเป็นหลัก

Q: แล้วทำไมเราถึงเห็นผู้สมัคร สก. หาเสียงด้วยการบอกว่าจะมาแก้ปัญหา?

ดร.สติธร: เพราะเขาอาจตีความกฎหมายว่าเป็นงานประสานเชื่อมโยง เขาไม่ได้มีอำนาจอย่างเป็นทางการว่าจะไปสั่ง ผอ. เขตได้ แต่โดยความสัมพันธ์ทางสังคม ฉันเป็น สก. พรรคเดียวกับผู้ว่าฯ นะ เพราะฉะนั้นประชาชนเขตนี้อยากได้อะไร ฉันจะไปบอกผู้ว่าฯ ให้ได้ ผู้ว่าฯ ก็มีหน้าที่ไปผันงบประมาณทำโครงการมา แล้วในแง่ของงบประมาณมันต้องอนุมัติโดย สก. ไง เลยกลายเป็นว่า สก. มีส่วนในการตัดสินใจว่าอะไรจะไปอยู่ที่ไหนได้ในระดับหนึ่ง แต่ไม่ใช่หน้าที่โดยตรง 

Q: เลือกตั้งรอบนี้ สข. หายไปไหน?

ดร.สติธร: ต้องย้อนเล่าก่อนว่า สมัยก่อนรัฐออกแบบ สข. หรือสภาเขตไว้ เขตหนึ่งมี 7-8 คน สภาเขตจะทำหน้าที่ถ่วงดุลกับ ผอ.เขต ซึ่งเป็นฝ่ายบริหารที่มาจากการแต่งตั้งของผู้ว่าฯ ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง สข. เลยเหมือนเป็นตัวแทนประชาชนที่มาดูตรงนี้ ทีนี้ด้วยบทบาทที่มี กับจำนวน สข. เยอะแยะมากมายที่ต้องเสียงบประมาณไปจ่ายเงินเดือนให้ รัฐบอกว่ามันไม่ค่อยคุ้ม เพราะฉะนั้นในทางกฎหมาย รอบนี้ สข. จึงถูกพักไปก่อน แต่อาจจะดีไซน์ให้กลับมาอีกก็ได้ในเลือกตั้งครั้งหน้า 

ในทางบริหารมันกลายเป็นว่า บทบาทที่เดิมเป็นของ สข. คนก็จะมาคาดหวังที่ สก. ด้วย เพราะถือว่าเป็นตัวแทนของเขตที่มาจากการเลือกตั้งเพียงคนเดียว ถูกฝากความหวังว่าต้องมีหน้าที่ทั้งระดับส่วนกลางทั้งหมดของ กทม. ในการไปถ่วงดุลกับผู้ว่าฯ ในขณะเดียวกันก็ต้องมาถ่วงดุลกับ ผอ. เขตด้วย ในทางการเมืองเราก็จะเห็นว่ารอบนี้การแข่งขันของ สก. มันเลยโหดมาก เพราะคนที่เคยมีพื้นที่จากการเลือกตั้ง สข. มันไม่มีแล้ว ทุกคนที่เคยเป็น สข. ก็ต้องโยกมาลงสมัคร สก. วัดดวงกันหมด อย่างน้อยๆ แสดงศักยภาพให้โลกรู้ว่าฉันมีเสียงเท่าไหร่ เอาไว้เป็นฐาน

อีกอย่างคือ สก. รอบนี้ ดันมาเลือกพร้อมผู้ว่าฯ ลำพังฐานคะแนนที่ไปดูแลสารทุกข์สุกดิบในชีวิตประจำวันกันไว้ เกณฑ์มาให้หมดก็ยังไม่พอ เพราะมีคนที่บรรดาผู้สมัครทั้งหลายเข้าไม่ถึงอยู่ตามบ้านล้อมรั้ว ตามคอนโด หรือคนที่ย้ายเข้ามาใหม่ เพราะฉะนั้นโจทย์มันเลยยากกว่าปกติ สองโจทย์รวมกันหนัก เลยดุเดือด

Q: เพราะอะไร เราถึงเห็นผู้สมัครลงในนาม ‘อิสระ’ เต็มไปหมด โดยเฉพาะตัวเก็งๆ ที่น่าจับตา 

ดร.สติธร: ภาพกรุงเทพฯ กับพรรคการเมืองมันชัดมาก ยิ่งถ้าดูจากเลือกตั้งในอดีตมันยิ่งชัด รอบนี้เลยคลายๆ ไปหน่อยเพราะเป็นยุทธศาสตร์ในการสู้ ถามว่าผู้สมัครอย่างอาจารย์ชัชชาติทำไมไม่ลงในนามเพื่อไทย เพราะเขามีบทเรียนปี 56 ที่เจอการเมืองแบบแบ่งขั้ว การเอาตัวไปติดกับเพื่อไทยเยอะๆ ก็อาจจะแพ้ เพราะว่าคนมองข้ามตัวบุคคลไป มองที่ขั้วการเมืองอย่างเดียว ไม่เลือกเราเขามาแน่ อย่างนี้ เพราะฉะนั้นพยายามทำตัวให้ห่างออกมาจากพรรค วางตัวเป็นอิสระไว้ก่อน มันก็ยังดีกว่าสวมเสื้อเพื่อไทย อารมณ์มันจะต่างกัน 

อย่างน้อยการมีผู้สมัครอิสระมากขึ้น มันเปิดพื้นที่ให้คนที่เขาไม่ลงใจกับพรรคการเมืองมากนัก หรือถ้าติดกับพรรคนี้เมื่อไหร่ฉันไม่ไหวอะ ยังพอทำใจเลือกได้ แล้วมาดูที่ตัวบุคคลแทน เขาหวังอย่างนั้น เลยมองเป็นยุทธศาสตร์เพื่อเปิดให้คนกลุ่มนี้คลายใจลงมาบ้าง พลังประชารัฐก็คล้ายๆ กัน ออกแนวว่าถ้าใช้ชื่อพลังประชารัฐส่งผู้ว่าฯ ลองเช็กเรตติ้งแล้วไม่ไหว เลยลงอิสระไป 

Q: ถ้างั้นเราควรยังไงดี เล่นเกมด้วยหรือไม่เล่นดีกว่า?

ดร.สติธร: แล้วแต่ เล่นเกมอาจจะสนุกก็ได้ อยากคิดซับซ้อนก็คิดไป ไม่เป็นไร

แต่โดยปกติ เอาที่เราชอบผมว่าง่ายสุด เลือกตั้งจริงๆ มันก็มีสูตรแค่เลือกคนที่ชอบ คนนี้เราคิดว่าโอเค เอาให้มันตรงกับความคาดหวังของเรา เราหวังในตัวเขาแค่ไหน เราอยากให้เขาไปเป็นผู้ว่าฯ ยังไง ทำอะไร แล้วก็เลือก แค่นั้นแหละ มันไม่สามารถสมบูรณ์แบบได้เพราะมันแค่หนึ่งตำแหน่งทางการเมืองที่เลือก มันยังมีตำแหน่งอื่นอีกที่จะต้องไปทำงานเกี่ยวข้องกันในระบบทั้งหมด ยังมี สส. ที่คุณต้องไปเลือก ให้เขาไปหานายกฯ มาให้คุณอีก


Q: ความเจ็บปวดที่ผ่านมา ผู้ว่าฯ บอกว่าเขามีอำนาจกำหนดนโยบาย จะเป็นพ่อบ้านให้เรา แต่ทำไมกลับจัดการปัญหาไม่ได้ทุกเรื่องจริงๆ แบบที่บอก อย่างเรื่องใกล้ตัวที่สุด เช่นรถเมล์ 

ดร.สติธร: ยกตัวอย่างแค่เดินออกไปถนน ผู้ว่าฯ ไม่ได้กำกับดูแลเองแทบทุกเรื่องเลยนะ อย่างที่บอกว่ารัฐดีไซน์ กทม. ขึ้นมาจากเทศบาล แล้วเราก็จะเห็นว่าเทศบาลในต่างจังหวัดทำหน้าที่แค่ไม่กี่อย่าง ต่อให้ กทม. เขียนหน้าที่มาเยอะถึง 28 ข้อ แต่ไล่ดูเถอะมันก็เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แล้วก็เป็นเรื่องที่มีหน่วยงานส่วนกลาง เช่น กระทรวงคอยกำกับแทบทุกเรื่อง เช่น เรื่องจราจรก็กระทรวงคมนาคม เรื่องสิ่งแวดล้อมก็กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องดูแลสังคมก็มีสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคง คือสิ่งที่คนอยากให้ กทม. แก้มันมีกระทรวงทำได้อยู่แล้ว คำถามคือมันจะแบ่งแยกกันยังไง 

อาการมันก็จะออกคล้ายๆ ตอนช่วงโควิด ตัวอย่างชัดเลย โรงพยาบาลสังกัดกทม. กับโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงที่อยู่ในเขตกรุงเทพฯ ทำงานกันยังไง แค่นี้ก็วุ่นแล้ว เรื่องหาเตียงยุ่งมากเลย จะส่งต่อกันก็ไม่ได้ อะไรกัน นี่มันกรุงเทพฯ ด้วยกันหรือเปล่า ยังไม่นับระบบเอกชนที่อิสระอีก เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาใน กทม. มีคนที่มีอำนาจหน้าที่ในการแก้อย่างน้อยๆ 2 พวกอยู่แล้วชัดๆ

Q: งั้นการที่ผู้สมัครบอกว่าฉันจะเปลี่ยนสิ่งนั้น ทำสิ่งนี้ มันจริงได้แค่ไหน?

ดร.สติธร: เขามีสิทธิ์ที่จะคิดว่าเขาจะทำได้ ตราบใดที่มันอยู่ในขอบเขตอำนาจ 28 ข้อ แต่เขาจะทำได้แค่ไหน เช่น บอกว่าจัดการเรื่องน้ำท่วมได้ ก็แน่ล่ะ แต่ภายใต้อำนาจขอบเขตหน้าที่และคุณมีงบอยู่เท่านี้ คุณมีวิธีการที่คุณทำได้ภายใต้อำนาจของความเป็น กทม. ประมาณนี้ แต่ขณะเดียวกันก็ํมีหน่วยงานที่ดูแลเรื่องเกี่ยวกับการระบายน้ำของประเทศนี้อยู่ด้วยนะ แล้วบางส่วนที่มันเกินจากสิ่งที่คุณทำได้ มันอยู่ที่เขา หน้าที่ของผู้ว่าฯ คือหนึ่ง ทำในส่วนของตัวเองให้ดีที่สุดเต็มศักยภาพ แต่สอง ต้องบวกส่วนที่เกินขอบเขตอำนาจหน้าที่ ที่คุณต้องไปทำ ไปจูงใจ หรือไปประสานงานให้คนที่เขารับผิดชอบตรงนั้นมาร่วมกับคุณ ก็คงต้องดูเป็นเรื่องๆ ไปเพราะปัญหา กทม. มันซับซ้อนและใหญ่ทุกเรื่อง

มันไม่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ หนึ่ง งบมันก็ไม่พอหรอกที่จะไปทำเบ็ดเสร็จได้ทุกเรื่อง มันได้แค่บางเรื่อง เรื่องเล็กๆ ที่อาจจะดูเหมือนไม่ค่อยมีปัญหามากในสายตาคนทั่วไปอาจจะเบ็ดเสร็จได้ เช่น เก็บขยะ กวาดถนน แต่ถ้าไปลงรายละเอียดมันก็มีปัญหาอยู่ดี อย่างเรื่องเก็บขยะ เก็บได้แต่ไม่มีที่ทิ้ง คนก็บอกว่านี่ไงสุดท้าย กทม. ก็ต้องไปเช่าที่ตามขอบเมือง คุณเอาขยะตัวเองไปทิ้งที่อื่น อย่างนี้มันก็ไม่ใช่ ต่อให้ กทม. บอกว่าฉันทำเรื่องนี้ได้เบ็ดเสร็จ ปัญหามันก็ยังมีความละเอียดอ่อนซับซ้อนอยู่ดี

Q: ทำไมสุดท้ายเรามักได้โครงการที่ไม่ค่อยได้แก้ปัญหาแบบเป็นชิ้นเป็นอัน หรือบางทีก็ได้ช้ามาก?

ดร.สติธร: ก็ต้องเชื่อมโยงถึงความซับซ้อนของ กทม. อีกขั้นหนึ่ง คือเรื่องงบประมาณ กทม. ไม่ได้มีแค่งบประมาณเกือบ 80,000 ล้านบาทตามปกติ แต่ยังมีการตั้งบริษัทเอกชนขึ้นมาชื่อกรุงเทพธนาคม นั่นแปลว่าวิธีบริหารงบของกรุงเทพฯ จริงๆ แล้วทำไปพร้อมกัน 2 ระบบเป็น Duo System แท่งหนึ่งเป็นระบบราชการปกติ อันนี้จ่ายกระจายลงเขตไปตามอำนาจหน้าที่ แล้วค่อยกระจายงบให้สำนักงานส่วนกลาง กับเอาไว้จ่ายเงินเดือนข้าราชการ ส่วนอีกแท่งหนึ่งทำในรูปแบบบริษัทเอกชน โดย กทม. ถือหุ้นอยู่ 99% ในบริษัทนี้ เพื่ออ้างเรื่องความคล่องตัว ลองไปดูว่าคือผลงานไหนบ้างที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว เป็นการใช้งบก้อนนี้หรือเปล่า ไม่ใช่การใช้เงินผ่านสำนักที่ดูแลตามปกติ

Q: ฟังดูเหมือนถ้าบริหารก้อนนี้ดีๆ เราน่าจะได้โครงการที่แก้ปัญหาให้เราได้แบบไม่ต้องรอนาน?

ดร.สติธร: งบฝั่งนี้ถ้าผู้ว่าฯ เป็นมืออาชีพจะทำอะไรได้เยอะเลย เพราะมันคือเอกชนไง ไม่ต้องไปติดระบบราชการหรือขั้นตอนโน่นนี่เท่าไหร่ หมายความว่ามัน Flexible ในแง่การบริหารจัดการงบตัวนี้ อันนี้มันเหมือนกับ กทม. เอาเงินไปลงทุนไว้ คล้ายๆ กับประเทศถือหุ้นรัฐวิสาหกิจ แต่ กทม. ถือหุ้น 99% เลย ถ้ามันขาดทุนแปลว่าสินทรัพย์ของ กทม. ก็ลดลง มันจึงควรต้องมีกำไรด้วย

Q: ซึ่งก็เป็นความเสี่ยง เพราะถ้าทำกำไรก็แปลว่าภาระอยู่กับประชาชน?

ดร.สติธร: ใช่ๆ ซึ่งอันนี้ต้องคอยตั้งคำถามและคอยฟังผู้สมัครให้ดีว่า ถ้าเข้าไปเป็นผู้ว่าฯ เขาจะบริหาร 2 มือ 2 ไม้นี้ยังไง แต่โดยหลักคือฝั่งงบประมาณปกติก็น่าจะเอาไว้ทำภารกิจรูทีนต่างๆ ส่วนภารกิจแอดวานซ์ก็มักจะอาศัยงบกรุงเทพธนาคม ผมคิดว่ายิ่งอวดนโยบายไหนมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งต้องมาอาศัยงบช่องนี้ เพราะฝั่งงบประมาณหลักมันไม่มีทางแก้ปัญหาใหญ่ๆ เสร็จเป็นเรื่องเป็นราวภายในสี่ปีหรือเทอมเดียวของผู้ว่าฯ หรอก มันต้องอาศัยตัวงบฝั่งเอกชนที่ช่วยปลดเปลื้องทุกพันธนาการ ซึ่งประชาชนอย่างเราๆ ก็ควรที่จะตรวจสอบการใช้งบประมาณพวกนี้ด้วย 

Q: ปัญหาคลาสสิกค่ะ ชอบนโยบายคนนี้ มีผู้ว่าฯ ในใจแล้ว แต่จะมีวิธีรู้ได้ไหมว่าเขาไม่ขายฝัน?

ดร.สติธร: หาข้อมูลให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพื่อให้เรามีหลักตั้งต้น ในขณะที่ผู้สมัครแต่ละคนอาจจะโม้มา 120 แต่มีอำนาจอยู่แค่ 80 อย่างนี้คุณก็ชั่งน้ำหนักเอาเองแล้วกันว่าใครจะทำได้จริงไม่จริง

ลองดูนโยบายที่เขาพูด มันแบ่งได้เป็น 2 ส่วนคือส่วนที่เป็นคอนเทนต์ ปัญหานี้จะแก้แบบนี้ เพราะว่ามีตัวอย่างประเทศโน้นประเทศนี้ที่เขาแก้ได้ แต่ส่วนที่เป็นโจทย์ต่อไปก็คือ ภายใต้คอนเทนต์ที่ว่ามานี้ คนพูดมีความสามารถที่จะทำได้จริงเปล่า 

Q: แล้วจะประเมินศักยภาพจากอะไรได้?

ดร.สติธร: วัดได้ 2 ส่วนคือดูจากตัวเขาเอง เรียนจบที่ไหน เป็นลูกศิษย์ใคร สังกัดพรรคไหน อยู่กลุ่มไหน ใครแบ็กอัพ อีกส่วนคือทีมงานเบื้องหลังคือใคร มันก็แสดงศักยภาพได้ ถ้าตัวเขาเองโคตรเก่งแต่อยู่พรรคที่ไม่โอเค ก็อาจจะทำอะไรไม่ค่อยได้ หรือบางทีคนนี้อาจจะไม่ค่อยเก่งเท่าไหร่ แต่อยู่พรรคดี หรือทีมงานดี เปิดตัวรองผู้ว่าฯ ในทีมมานี่โอ้โห มีทั้งนักผังเมือง นักเศรษฐศาสตร์ ฯลฯ เขาก็น่าจะทำได้ดี หรือใครที่มีทั้ง 2 ส่วนคือมีทั้งทีมดีและตัวเองก็เก่งด้วย อย่างนี้ก็น่าจะทำในสิ่งที่โม้ได้อย่างน้อยๆ 70-80% เราก็ต้องชั่งน้ำหนักเอาในหลายๆ ส่วน 

Q: ถ้าเราจริงจังกับการเลือกผู้ว่าฯ แบบสายลึก ก็เอาชื่อทีมไปเสิร์ชได้?

ดร.สติธร: ใช่ๆ คือถ้าย้อนกลับไปเรื่องเดิม คือเราดูแค่ผู้ว่าฯ กับ สก. อย่างนี้ไม่ถูกแนว จริงๆ เราต้องไปโฟกัสว่าสิ่งที่คุณพูด คุณจะทำด้วยวิธีการไหน ดีเทลและวิธีการนั้นๆ ลำพังตัวคุณคนเดียวทำได้เหรอ คุณมีใครมาช่วยคุณบ้าง หรือคุณจะไปพึ่งระบบราชการ กทม. อย่างเดียวไม่พอนะ คุณควรจะมีทีมรองผู้ว่าฯ มีทีมอะไรเยอะแยะที่ช่วยได้

Q: วันนี้เรากำลังต่างหวังและฝันว่ากรุงเทพฯ จะดีขึ้นได้ แต่ถามจริงๆ เราฝันกับกรุงเทพฯ ได้เยอะแค่ไหน?

ดร.สติธร: ฝันได้เยอะครับ ถ้าได้ผู้ว่าฯ คนที่เขาทำความฝันเราเป็นจริงได้ แต่อย่าลืมว่ากรุงเทพฯ ก็คือกรุงเทพฯ ต้องเข้าใจว่ายังไงซะกรุงเทพฯ มันยังต้องอยู่ในประเทศไทย คือประเทศไทยมันได้ประมาณนี้ กรุงเทพฯ มันจะไปได้ประมาณไหน มันก็มีขีดจำกัดของมันอยู่แล้ว หรือต่อให้มันทะลุขีดจำกัดของมัน แปลว่ามันอาจต้องไปดูดเอาทรัพยากรของเมืองอื่นมาบำรุงบำเรอมัน ซึ่งมันแฟร์หรือเปล่าล่ะ  

คือถ้าเราคุยกันบนข้อมูลที่เราปูกันมาตั้งแต่ต้น ว่าอำนาจหน้าที่เขามีแค่นี้ เราก็จะเห็นว่าศักยภาพ กทม. มันก็แค่ส่วนหนึ่งของประเทศ ที่มีระบบใหญ่ครอบมันอยู่อีกที ด้วยตัว กทม. เองก็มีศักยภาพประมาณหนึ่งแหละ แต่ยังไงมันก็ต้องไปยุ่งเกี่ยวกับกลไกอื่น ซึ่งมันก็มีทั้งกลไกที่ทำงานด้วยแล้วดี กับที่ทำงานด้วยแล้วเป็นปัญหา เพราะฉะนั้น

ถ้าเราอยู่บนฐานแห่งความเป็นจริงอันนี้ เราก็จะไม่คาดหวังอะไรที่มันเกินไปว่าผู้ว่าฯ กทม. จะต้องเป็นเทวดาจะมาเปลี่ยนเมืองนี้ พลิกโฉมเมืองนี้ภายใน 4 ปี เปลี่ยนกรุงเทพภายใน 4 วินาที ไม่ใช่ขนาดนั้น

Q: งานที่ ‘สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย’ ทำเกี่ยวกับเลือกตั้ง เลยไม่ได้มองว่าจะจบแค่ที่การเลือกตั้ง? 

ดร.สติธร: เลือกตั้งรอบนี้ เรามีนวัตกรรม 4 ชิ้นที่ทำขึ้นมา พยายามจะเชื่อมระบบของการมีส่วนร่วมของผู้คนให้มันครบวงจร อันแรกที่เปิดตัวไปแล้วคือฐานข้อมูลที่เรียกว่า BANGKOK FOLLOW-UP ทำข้อมูลไว้เลยว่ากรุงเทพมหานครคืออะไร มีบทบาทหน้าที่อะไร สก. ผู้ว่าฯ ทำอะไรได้บ้าง เสร็จแล้วเราก็ลงไปที่ 5 ประเด็นปัญหา เช่น พื้นที่สีเขียว การจัดเก็บขยะ น้ำขังน้ำท่วม สิ่งที่เราให้เป็นข้อมูลคือช่วง 10 ปีที่ผ่านมางบประมาณมันถูกจัดสรรลงไปแก้ปัญหาในแต่ละเขตยังไงบ้าง เราก็หวังว่ามันจะเป็นการให้ข้อมูลโหวตเตอร์ เวลาผู้สมัครมาหาเสียงก็อย่าไปฟังเขาว่าเขาจะทำโน่นทำนี่อย่างเดียว ต้องเรามีข้อมูลอยู่ในมือ แล้วหยิบข้อมูลนี้มาตั้งคำถามกับเขา 

อันที่ 2 คือแอพ Politimate เป็นแอพพลิเคชันที่จะช่วยตอบคำถามว่าตกลงเราจะเลือกผู้สมัครยังไงดี คล้ายๆ เล่นเกมตอบคำถาม ช่วย matching ความต้องการของเรากับนโยบายของผู้สมัคร ตรงกันหรือเปล่าแค่ไหนอย่างไร จะเลือกตามไหมก็แล้วแต่นะ แต่อย่างน้อยๆ ให้เรารู้ว่าตกลงนโยบายผู้สมัครว่ามามากมาย priority ที่เขาจะทำก่อน มันใช่สิ่งที่เราอยากได้ไหม ส่วนอันที่ 3 จะทำในวันเลือกตั้งครับ ชวนให้คนมามีส่วนร่วมในการติดตามการเลือกตั้งมากกว่าแค่เข้าคูหาไปกาแล้วไปนอนรอผลที่บ้าน ชวนมาเป็น อาสาสมัครสังเกตการณ์การเลือกตั้ง ไปดูว่ามีอะไรไม่ชอบมาพากลหรือเปล่าระหว่างวันตั้งแต่เปิดหีบยันปิดหีบ ตอนนับคะแนนก็จะไปคอยรายงานผล อันนี้ทำร่วมกับสื่อทุกสำนัก

ส่วนอันสุดท้ายเป็นเกม Hack Nakhon คล้ายๆ เกมจับโปเกมอน แต่เปลี่ยนมาเป็นจับปัญหาในกรุงเทพฯ แทน ถ่ายภาพปัญหาแล้วรายงานเข้ามา ส่วนหนึ่งมันเป็นเกมเก็บเลเวลอะไรกันไปครับ อีกส่วนหนึ่งคือเราจะเอาข้อมูลปัญหาที่พวกเรารายงานเข้าไป เชื่อมไปหาอนาคตผู้ว่าฯ ให้ได้จริงๆ เพื่อให้เขามา response มัน จะไม่ใช่แค่การรายงานปัญหาที่ไปกองเป็นขยะอยู่ในโลกออนไลน์ หรือไปอยู่ในกล่องข้อร้องเรียนแล้วไม่มีใครเปิดอีกต่อไป หรือไปไกลกว่านั้น เราอยากสร้างความเป็นคอมมูนิตี้ บางเรื่องเราเห็นปัญหาแล้วเรามาช่วยกันแก้เลย ไม่ต้องรอ

Q: คือมันไม่ได้จบแค่การเลือกตั้ง จริงๆ บทบาทของคนกรุงเทพฯ มันต้องมีส่วนร่วมต่อไป

ดร.สติธร: ใช่ ซึ่งอันหลังสุดมันก็คือตลอดวาระของผู้ว่าฯ คนนี้ เราก็คาดหวังว่าถ้าเราเชื่อมกับเขาแต่เนิ่นๆ ผ่านการรายงานอะไรแบบนี้ เขาน่าจะตอบรับ หมายความว่าเวลาข้อมูลเราส่งไปถึงเขา เขาก็จะเอาไปสั่งการต่อว่าเขตนี้มีปัญหาเรื่องนี้นะ ไปดูแลให้หน่อย มันก็จะไม่สูญเปล่าไป แล้วมันก็เป็นสิ่งที่เราทำได้ทุกวันจนกว่าจะได้เลือกตั้งอีกรอบหนึ่ง เราพยายามให้ครบวงจรประมาณนี้

Content Designer

#อดีตเป็นบรรณาธิการสารคดีนิตยสารวัยรุ่น #เขียนหนังสือบ้างตามโอกาส #ปัจจุบันเป็นเจ้าของบริษัทคอนเทนต์ขนาดเล็ก #กำลังตั้งใจเรียนรู้ที่จะใส่ใจสิ่งรอบตัวมากขึ้นผ่านการเล่าเรื่องราวในไอแอลไอยู

Read More:

Play จากผู้ใช้จริง

มองโลกให้น่ารักแบบแก๊งหมอ!

ส่องความ empathy ที่แอบอยู่ในซีรีส์ ส่งท้าย Hospital Playlist

Play

Self-guided Tour Manual คู่มือเดินทัวร์ย่านอารีย์-ประดิพัทธ์

ต้องมีแล้วไหม? คู่มือเดินทัวร์ย่านอารีย์-ประดิพัทธ์

Play จากผู้ใช้จริง

ตามพ่อแม่ไปดู ว่าทำไมสวนลุมถึงเป็น Third Place ของสูงวัย

แชร์โล Third Place ของผู้สูงวัย เขาไปทำอะไรที่สวนลุมทั้งวัน