Love —— จากผู้ใช้จริง

ฉันอ่าน ฉันจึงมีหวัง

ที่เราอยากพูดเรื่องหนังสือในคราวนี้ ก็เพราะเหตุการณ์การเสียชีวิตของ ‘ทมยันตี’ ในช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ทำให้เราเห็นการกลับมาพูดถึงบทบาทของหนังสือกับการนำสังคมและความคิดของผู้คนอีกครั้ง ซึ่งหากเคยผ่านผลงานของทมยันตีกันมาบ้าง ก็น่าจะพอรู้ว่าการนำสังคมในแบบที่เราหมายถึงคืออะไร (เชื่อเถอะว่าหนังสือทมยันตีสักเล่มต้องเคยอยู่ในลิสต์วิชารักการอ่านของคุณแน่นอน!) หรือถ้าไม่เคยอ่าน ลองนึกถึงพล็อตละครไทยหลังข่าวที่เราคุ้นเคยกันก็ได้ แนวคิดที่ส่งต่อกันมาก็เป็นประมาณนั้นแหละ

แล้วผลงานของนักเขียนไทยจะนำสังคมไปในทางที่ดีไม่ได้เลยเหรอ? นี่คือสิ่งที่เราตั้งคำถามจากกระแสตีกลับของนิยายทมยันตีบนโลกออนไลน์ จนพบว่าช่วงหลังเราเองได้อ่านงานของนักเขียนไทยหลายคนที่สะท้อนปัญหาสังคม และทำให้เรายังรู้สึกมีหวังกับประเทศนี้อยู่หลายชิ้นเหมือนกัน

ยิ่งในสถานการณ์ที่ทุกคนต่างหดหู่กับการต่อสู้ที่ไม่รู้ว่าจะชนะเมื่อไหร่ การเสพข่าวซ้ำๆ จากโลกออนไลน์ก็ทำให้ท้อและหมดหวังได้ง่ายๆ แต่หนังสือพวกนี้กลับทำให้เราเห็นว่าเรามาไกลจากเดิมกันมากแล้ว และทำให้เรารู้ว่ายังมีใครอีกหลายคนที่มองเห็นความหวังในดินแดนที่ดูเหมือนจะไร้หวังแห่งนี้อยู่เสมอ 

อย่าเพิ่งหมดไฟกันเลยนะ แวะพักใจมาอ่านหนังสือเติมพลังเหล่านี้ก่อน แล้วค่อยกลับไปสู้ใหม่กันอีกครั้งก็ยังไม่สาย

*ออกตัวก่อนว่าเราไม่ใช่หนอนหนังสือเบอร์ที่อ่านหนังสือได้ทุกแนว จะให้บอกว่าอ่านหนังสือมานับไม่ถ้วนก็คงไม่ถึงขนาดนั้น เพราะทุกวันนี้หนังสือที่ตามซื้อ ตามเก็บก็อาศัยปากคำของคนรอบตัวและรีวิวจากแอปฯ อ่านหนังสือเป็นหลัก ดังนั้นการรีวิวหนังสือของเราคงไม่ได้เฉียบคมระดับผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านประสบการณ์มานานปี*

อ่านเพื่อให้รู้ว่าในวันหนึ่งคนรุ่นใหม่จะเป็นผู้ชนะ

  • ปีศาจ (พ.ศ. 2500)
  • เสนีย์ เสาวพงศ์

ขึ้นชื่อว่าเป็นวรรณกรรมอมตะ เราจะไม่พูดถึง ‘ปีศาจ’ ได้อย่างไร ปีศาจเป็นหนังสือที่วนเวียนอยู่กับเรามาตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย เป็นหนังสือที่เพื่อนๆ พี่ๆ ที่เรียนวิชาการอ่านและวิเคราะห์พูดมาตลอดว่าต้องอ่านให้ได้ แต่เพราะไม่ได้เรียนวิชานี้ กว่าเราจะได้มาตามเก็บนิยายอมตะเรื่องนี้ก็เป็นฉบับรีปรินต์ครั้งล่าสุดเข้าไปแล้ว

บอกเลยว่าเปิดมาก็ฮึกเหิมตั้งแต่คำนิยมของอาจารย์ประจักษ์ที่มีส่วนหนึ่งบอกว่า ‘ตราบใดที่ยังเดิน ก็จะไปถึงที่หมายได้ใช่ไหม’ ซึ่งน่าจะเป็นบทสรุปของปีศาจได้เป็นอย่างดี

ปีศาจว่าด้วยเรื่องราวของชายหนุ่มจากต่างจังหวัดนามว่าสาย สีมา ซึ่งเสนีย์ เสาวพงศ์ตั้งใจตั้งชื่อให้สอดคล้องกับคำว่าตาสีตาสา ยายมียายมา เพื่อสื่อว่าหนุ่มสายคนนี้เป็นคนธรรมดาสามัญไม่มีชาติตระกูลของแท้ แต่เขาก็โชคดีได้รับโอกาสให้เข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ จนจบมหาวิทยาลัย และได้รู้จักกับกับรัชนี ลูกสาวของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่คนหนึ่ง

รายละเอียดของหนังสือมีอีกยิบย่อย แต่หัวใจหลักคือการเล่าถึงคนยุคใหม่ในขณะนั้น ซึ่งมีแนวคิดใหม่ เริ่มตั้งคำถามกับขนบธรรมเนียมเดิมๆ ทั้งเรื่องความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้น ความแตกต่างของคนเมืองและต่างจังหวัด การใช้เส้นสายในระบบราชการ และภาพของผู้หญิงที่เมื่อรู้มากเข้ากลับถูกมองว่าฉลาดเกินไปจนคุมไม่ได้ สิ่งเหล่านี้กลายเป็นการจุดประกายให้หนุ่มสาวเริ่มลุกขึ้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลง จนถูกคนรุ่นเก่ามองว่าเป็น ‘ปีศาจ’  หรือผีร้ายอันตราย คอยหลอกหลอนพวกเขาให้กินไม่ได้นอนไม่หลับ เพราะปีศาจพวกนี้จะทำให้พวกเขาเสียอำนาจและความเชื่อที่มีติดตัวมานานแสนนาน

แม้เวลาจะผ่านมาแล้ว 60 ปี แต่เราก็พูดได้เต็มปากว่าบริบทสังคมในวันนั้นและวันนี้แทบไม่เปลี่ยนไปเลย (หรือนี่จะเป็นเหตุให้คนเรียกนิยายเล่มนี้ว่าอมตะกันนะ?) แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัดก็คือจำนวนของปีศาจที่กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และคงไม่มีวันหยุดได้ แม้ทุกอย่างจะดำเนินไปอย่างช้าๆ เหมือนกาลเวลาที่เรารู้สึกว่าช่างผ่านไปนานเหลือเกิน ถึงอย่างนั้นเราก็คงหยุดเวลาให้อยู่กับที่ และหยุดให้สังคมอยู่ในรูปแบบเดิมไม่ได้ คงเหมือนกับวลี ‘เวลาอยู่ข้างเรา’ ที่เราได้ยินกันบ่อยๆ ในช่วงนี้

และเหมือนที่สายกล้าลุกขึ้นมาพูดต่อหน้าสมาคมผู้ใหญ่ชั้นสูงว่า “ท่านอาจจะเหนี่ยวรั้งอะไรไว้ได้ บางสิ่งบางอย่างชั่วครั้งชั่วคราว แต่ท่านไม่สามารถจะรักษาทุกสิ่งทุกอย่างไว้ได้ตลอดไป” นั่นหมายความว่าไม่ช้าก็เร็ว เราจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน

อ่านเพื่อให้รู้ว่าประวัติศาสตร์ในวันนั้นจะไม่ถูกลืม

  • มนุษย์ 6 ตุลา (พ.ศ. 2563)
  • มนุษย์กรุงเทพฯ

หนังสือเรียนวิชาสังคมศึกษาบอกเราว่า เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ คือการชุมนุมใหญ่ของนักศึกษาที่มีคอมมิวนิสต์เป็นผู้หนุนหลัง ทำให้เกิดการปราบปราม จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก จบ.

เราไม่เคยรู้เรื่องราวในวันที่ 6 ตุลาฯ มากกว่านั้น ซ้ำร้ายเราเคยเป็นหนึ่งในนักเรียนอีกหลายหมื่นชีวิตที่แยกไม่ออกว่า 6 ตุลาฯ และ 14 ตุลาฯ ต่างกันอย่างไร หากจะโทษว่าก็ไม่เคยไปหาข้อมูลอ่านเองก็คงได้ แต่อีกส่วนก็เพราะนี่คือประวัติศาสตร์ที่ถูกปิดบังไม่ให้รับรู้มาตลอดต่างหาก!

กว่าจะมาเข้าใจเรื่องราวของ 6 ตุลาฯ อย่างถ่องแท้ ก็ผ่านมานานเหลือเกิน ที่น่าเศร้ากว่านั้นคือข้อมูลหลายส่วนที่เราเคยรู้กลับเป็นเรื่องราวที่ถูกปั้นแต่งมาเพื่อเป็นข้ออ้างในการกำจัดชีวิตผู้เห็นต่างเท่านั้น ยิ่งได้ลองอ่าน ‘มนุษย์ 6 ตุลาฯ’ หนังสือรวบรวมเรื่องราวของมนุษย์ 18 ชีวิตที่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เราก็ยิ่งได้เข้าใจเหตุการณ์ในวันนั้นผ่านมุมมองของมนุษย์ธรรมดาๆ ที่ไม่ได้ต้องการอะไรไปมากกว่าการความเท่าเทียมในชีวิต

ทุกชีวิตในหนังสือแทบจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าพวกเขาไม่ใช่คอมมิวนิสต์ ไม่ใช่คนหนักแผ่นดินอย่างที่ใครพยายามยัดเยียด พวกเขาเป็นเพียงนิสิตนักศึกษาที่ฝันเห็นสังคมที่ดีกว่านี้ สังคมที่ไม่กดทับใครให้ลืมตาอ้าปากไม่ได้ สังคมที่ไม่เอื้อให้คนบางกลุ่มได้ประโยชน์เกินหน้าเกินตาจนลืมหันมามองคนที่อยู่ข้างหลัง สังคมที่การเห็นต่างไม่ใช่อาชญากรรม และเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำอีก การส่งต่อเรื่องราวในวันนั้นออกไปให้ไกลที่สุด จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุดเช่นกัน

แม้เรื่องราวในหนังสือจะมีบางช่วงที่ชวนหดหู่ใจไปบ้าง แต่การได้ทำความเข้าใจความจริงเหล่านี้ให้มากขึ้น และยอมรับว่านี่ไม่ใช่สิ่งที่ควรลบล้างให้หายไป ก็คือการส่งต่อความหวังให้นักสู้รุ่นเก่าได้รู้ว่า เรื่องราวในวันนั้นยังไม่เคยถูกลืม และเราในฐานะคนรุ่นใหม่ที่ยังมีหวัง ก็ยังยินดีจะสู้เท่าที่เสียงของตัวเองจะทำได้เพื่อให้ทุกคนได้เห็นประชาธิปไตยแบบที่พี่ๆ เดือนตุลาฯ ฝันเห็นในสักวัน

อ่านเพื่อให้รู้ว่าทุกความเห็นต่างมีความหมายเสมอ

  • เสรีนิยมยืนขึ้น (พ.ศ. 2562)
  • ปราบดา หยุ่น

ยอมรับเลยว่าช่วงแรกๆ ของหนังสือเล่มนี้ เราต้องเว้นมานั่งนิ่งๆ และค่อยๆ ทำความเข้าใจเนื้อหาข้างในอยู่พอสมควร เพราะแม้ภาษาที่เขียนจะเข้าใจง่าย แต่การนิยามความเป็น ‘เสรีนิยม’ ก็สลับซับซ้อนใช่เล่น ไหนจะในบริบทเชิงสังคม เชิงวัฒนธรรม และในอีกหลายเชิง แต่เมื่ออ่านไปเรื่อยๆ หนังสือเล่มนี้กลับทำให้เราตกตะกอนได้ไม่หยุด

ขอเล่าคร่าวๆ ก่อนว่า ‘เสรีนิยมยืนขึ้น’ คือหนังสือที่ว่าด้วยแนวคิดเสรีนิยมตามชื่อ และเขียนขึ้นในภาวะที่ประเทศไทยถูกนิยามว่าอยู่ในช่วงป่วยไข้เต็มที จะเรียกว่าปกครองด้วยระบบประชาธิปไตยก็พูดได้ไม่เต็มปาก ปราบดาจึงเชื่อว่าการทำความเข้าใจแนวคิดเสรีนิยม อาจเป็นทางออกสู่รูปแบบสังคมที่ดีขึ้น หรืออย่างน้อยก็ทำให้เราอยู่ในประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยจารีตประเพณีได้อย่างสบายใจมากกว่านี้

ถึงแม้เนื้อหาส่วนใหญ่จะมีความโปรเสรีนิยมพอควร แต่หนังสือก็เผยให้เห็นมุมของการต่อสู้ระหว่างเสรีนิยมและจารีตนิยมที่ค่อนข้างเข้มข้นในหลายประเทศ อย่างเช่นประเทศที่เรียกตัวเองว่าเป็นเสรีนิยม แต่ก็ยังมีวัฒนธรรมแบบจารีตจ๋า หรือการตีกลับของแนวคิดจารีตนิยมที่อยู่ๆ ก็กลับมามีอิทธิพลเสียดื้อๆ ไปจนถึงการทำให้เราเห็นว่าแม้จะมีแนวคิดเสรีนิยม แต่ถ้าสุดโต่งเกินไปก็อาจกลายเป็นพวกจารีตนิยมได้เหมือนกัน อ่านไปอ่านมาเลยอดคิดไม่ได้ว่าแนวคิดที่ว่านี่เวิร์กจริงไหมนะ

ก่อนจะคิดไปไกล ในที่สุดหนังสือก็เฉลยให้เราเห็น ‘ความพอดี’ ของเสรีนิยม ที่อย่างน้อยก็หมายถึงการมีสิทธิมีเสียงแสดงความคิดเห็นได้โดยไม่โดนจับเข้าคุกเหมือนอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ไม่ว่าคุณจะเป็นคนยึดถือจารีตประเพณีหรือเป็นคนหัวก้าวหน้ามากแค่ไหนก็ตาม ซึ่งนี่แหละคือหนทางสู่การมีประชาธิปไตยที่แท้จริง

หนังสือไม่ได้บอกให้เราฝันลมๆ แล้งๆ และไม่ได้บอกให้เราหมดหวัง เพราะการสร้างสังคมที่ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการเชื่อและสื่อสารสิ่งที่เชื่อได้โดยไม่มีใครปิดกั้น จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีใครสักคนกล้าที่จะ ‘ยืนขึ้น’ แล้วพูดสิ่งเหล่านั้นออกมา หรือต่อให้ยังมีคนอีกเป็นหมื่นเป็นแสนที่ยังไม่เข้าใจแนวคิดเสรีนิยม หนังสือเล่มนี้ก็น่าจะเป็นตัวช่วยให้คนเหล่านั้นเข้าใจได้มากขึ้น และจุดประกายความหวังให้ผู้คนได้รู้ว่าความเห็นที่แตกต่างไม่ได้หมายถึงการต้องปิดปากและกำจัดทิ้ง แบบที่สังคมไทยกำลังเผชิญเสมอไป

อ่านเพื่อให้เข้าใจความหวัง ของชีวิตเล็กๆ ที่อยากมีหวัง

  • ไม่มีใครเป็นเจ้าของความหวังเพียงผู้เดียว (พ.ศ. 2564)
  • ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

นี่คือหนังสือเล่มเกือบล่าสุดที่เราอ่าน และแน่นอนว่าซื้อจากกระแสรีวิวของคนรอบตัวที่ค่อนข้างดีอีกเช่นเคย

‘ไม่มีใครเป็นเจ้าของความหวังเพียงผู้เดียว’ เป็นหนังสือรวมบทความ 13 เรื่องซึ่งส่วนหนึ่งเคยลงในเว็บไซต์ the101world พูดถึงเรื่องราวของคนตัวเล็กตัวน้อย ในหลายสาขาอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นหญิงขายบริการ แรงงานข้ามชาติ นักมวย เซียนหวย รวมไปถึงคนกลุ่มใหญ่ที่ตัดสินใจลงถนนในช่วงปีที่ผ่านมา 

มองเผินๆ อาจดูเหมือนเป็นเรื่องราวของกลุ่มคนที่โดนกดทับจากระบบโครงสร้างที่แทบไม่เปิดโอกาสให้พวกเขาได้มีหวังลืมต้าอ้าปากอย่างที่ควรจะเป็น แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะมีสิทธิไปปิดกั้นความหวังที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้นของพวกเขานี่นา

การยังคงแทงม้าแม้รู้ว่าโอกาสถูกนั้นแสนน้อย การซื้อหวยด้วยความเชื่อที่ว่าพรุ่งนี้รวย การหอบหิ้วสัมภาระไปทำงานยังต่างแดนเพราะค่าแรงที่ดีกว่า หรือแม้กระทั่งการลงถนนเพื่อเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงโดยไม่รู้เลยว่าจะได้เห็นสิ่งนั้นในวันไหน – นี่แหละคือความหวัง

สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าแม้หนทางแห่งความสำเร็จอาจดูเหมือนอยู่ไกล แต่เพราะเรามีหวัง เราถึงยังลงมือทำในสิ่งที่เราหวังจะเห็นอยู่แบบนี้ ทำไปเรื่อยๆ แม้บางครั้งอาจคิดยอมแพ้ แต่เพราะในใจลึกๆ เราต่างก็เชื่อว่า ถ้าเราทำมันต่อไป เราก็จะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในสักวันไม่ใช่เหรอ

อ่านเพื่อให้รู้ว่าเรามาไกลกันแค่ไหนแล้ว

  • ในแดนวิปลาส (พ.ศ. 2564)
  • รัช

‘ในแดนวิปลาส: บันทึกบาดแผลสามัญชนบนโลกคู่ขนาน’ เป็นหนึ่งในหนังสือที่เราประทับใจมากที่สุดในปีนี้ เพราะผู้เขียนเลือกหยิบเอาประเด็นอันบิดเบี้ยวในสังคมไทย มาเล่าใหม่ในรูปแบบนวนิยาย ที่อ่านไปอ่านมาก็พอจะตีความได้ไม่ยากว่าเรื่องเหล่านั้นสื่อถึงอะไร

แม้เรื่องราวทั้งหมดจะบอกเล่าความอยุติธรรมในสังคมไทย ที่ถูกฉาบหน้าด้วยความดีและความถูกต้องแบบไทยๆ จนทำให้หลายชีวิตต้องกลายเป็นเหยื่อจากการแสดงจุดยืนที่แตกต่าง แต่จากคำนำของหนังสือที่รัชเขียนเอาไว้ว่า “แรกเริ่มเดิมที ตั้งใจให้งานชิ้นนี้เป็นช่องทางระบายน้ำหนักของกระเป๋า แต่ระหว่างนั้นจู่ๆ สถานการณ์ทางสังคมก็พลิกผัน ความมหัศจรรย์ของปี 2563 ทำให้ชิ้นส่วนในกระเป๋ากลายเป็นเรื่องล้าสมัย เพดานที่ว่าสูงแล้วของสิบปีก่อน ก็เห็นได้ชัดว่าต่ำเตี้ยเสียจนคนอาจหาว่าโม้” ก็คงจะเป็นเครื่องยืนยันได้แล้วว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในหนังสือ กำลังถูกมองด้วยมุมที่ต่างไป

ไม่มีใครกลัวอีกแล้วว่าการวิจารณ์ของตัวเองจะกลายเป็นเรื่องผิด คนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกหัวรุนแรงในวันนั้น ถูกยอมรับในฐานะผู้กล้าต่อสู้กับระบบชนชั้นในวันนี้ ท้องถนนทั่วเมืองกลายเป็นที่ที่คนนับหมื่นชีวิตกล้าออกมาแสดงจุดยืนทางความคิดของตัวเอง เพดานของเราสูงจนไม่สามารถกดให้ต่ำลงได้อีกแล้ว 

ถึงอย่างนั้นก็อย่าได้ลืมว่าเรื่องราวความอัปลักษณ์อย่างที่หนังสือเล่าไว้ ยังมีให้เห็นอยู่เนืองๆ ในปัจจุบัน สิ่งสำคัญคือเรื่องเหล่านี้ไม่ควรจะเกิดขึ้นอีก การบันทึกเรื่องราวที่เกิดขึ้นจึงเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญ ทำให้เราได้ย้อนมองกลับไปยังวันที่เพดานยังต่ำเตี้ย และกลายเป็นเชื้อไฟแห่งความหวังให้ทุกคนได้รู้ว่า เรามาไกลกันขนาดไหนแล้ว และถ้าเรายังไม่หยุด เพดานที่ว่าก็คงจะยิ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ จนไม่มีที่สิ้นสุดแล้วล่ะ

อ่านเพื่อให้รู้ว่าเราส่งต่อความหวังให้คนรุ่นหลังได้

  • เด็กๆ มีความฝัน (พ.ศ. 2564)
  • สองขา

เราตัดสินใจซื้อหนังสือนิทานชุดนี้มาเพราะอยากรู้ว่าการเล่าเรื่องเกี่ยวกับความหวังแบบเด็กๆ เขาจะเล่ากันแบบไหน 

จริงๆ หนังสือนิทานชุดนิทานวาดหวังนี้มีทั้งหมด 8 เล่มแล้ว แต่เราเลือกซื้อแบบ 4 เล่ม ซึ่งเป็นชุดย่อยชื่อว่าฟ้าใหม่ ข้างในประกอบด้วย ‘นิทานเด็กๆ มีความฝัน’ ซึ่งพูดถึงสังคมในอุดมคติที่เด็กๆ อยากจะเห็น, ‘เสียงร้องของผองนก’ ซึ่งพูดถึงความแตกต่างของหมู่นก ที่แม้จะถูกจับหรือริดรอนสิทธิ์ไป ก็อยากจะเห็นอิสรภาพจนกล้าลุกขึ้นมาส่งเสียงของตัวเอง, ‘จ.จิตร’ เล่าประวัติแบบรวบรัดของจิตร ภูมิศักดิ์ และ ‘แม่หมิมไปไหน’ ที่เล่าเรื่องของทราย เจริญปุระกับการทำงานเพื่อประชาธิปไตย

สารภาพว่าเรางงตาแตกกับความตรงไปตรงมาของหนังสือบางเล่มในชุดนี้มาก จนแอบคิดไปว่าหนังสือบางส่วนน่าจะเป็นหนังสือการเมืองฉบับย่อให้ผู้ใหญ่มาอ่านได้สบาย และที่ทำให้เราประทับใจปนขำก็คืออยู่ดีๆ หนังสือนิทานชุดนี้กลับถูกกระทรวงศึกษาจัดให้กลายเป็นหนังสือล้างสมองเฉย จนมีการเรียกร้องให้ตรวจสอบว่าขัดกับหลักศีลธรรมอันดีงามของประเทศหรือไม่ (ซึ่งแสดงว่ามาถูกทางแล้วล่ะ) ทั้งๆ ที่หนังสือเหล่านี้แทบจะไม่ได้คืบของแบบเรียนที่ฝังข้อมูลประหลาดๆ ใส่หัวเรามาตลอดเลยด้วยซ้ำ

เราว่าการมีหนังสือนิทานเด็กที่กล้าสอนให้เด็กพูดถึงสิทธิ เสรีภาพ และประชาธิปไตยอย่างตรงไปตรงมา ถือป็นมิติใหม่มากๆ ในสังคมไทย และน่าจะเป็นสัญญาณดีที่สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ใครๆ ก็พูดได้ โดยไม่ต้องมานั่งแยกว่านี่คือเรื่องของผู้ใหญ่ที่เด็กไม่ควรฝัน รับรู้หรือพูดถึงเสียที

Content Designer

#อดีตนิสิตภาควารสารฯ #เรียนจบแล้ว #นักเขียน

Graphic Designer

#กราฟิกดีไซเนอร์ #เป็นเด็กหญิงMoodyGirl #แต่ถ้าได้กินของอร่อยฟังเพลงเพราะนอนเต็มอิ่มจะจิตใจแจ่มใสและหัวใจพองโต

Read More:

Love ผลการทดลอง

แฮ็กชีวิตเฉาสิ้นปี ด้วยการ 'ใจดี' กับคนที่เราก็ไม่รู้ว่าใคร

MY RANDOM ACTS OF NO-SELFISHNESS

Love ภาพเหตุการณ์จริง

ป้ายนี้ไม่ได้มาล้ม แต่มาบอกว่า...

ตามส่องป้ายประท้วง แล้วมาดูกันว่าคนในม็อบเขาพูดเรื่องอะไรอยู่

Love มนุษยสัมพันธ์

ทำไมต้องจ่ายภาษี แค่เกิดมามีประจำเดือน

คุยกับแก๊งนักศึกษาแพทย์จาก Scora Thailand เจ้าของแคมเปญเรียกร้องให้ยกเลิกภาษีผ้าอนามัย