Work —— ทัวร์ลง

ทัวร์ลง EP. 01 ลง ‘เรือไฟฟ้า’ ไปคุยกับซัน คนทำทัวร์ล่องคลองฝั่งธน (จนเป็นงาน)

ภาพจำของการลงเรือเที่ยวคลองของคุณเป็นแบบไหน ใช่เรือหางยาวๆ นักท่องเที่ยวนั่งเป็นแถวโบกมือผลอยๆ น้ำกระเซ็นแรงๆ พร้อมเสียงแว้นที่ทำเอาหูอื้ออึงไปพักนึงหรือเปล่า เราเองก็เคยคิดถึงแต่อะไรทำนองนั้น จนกระทั่งได้ลองทัวร์คลองด้วย ‘เรือไฟฟ้า’ กับ Sun-powered Boat ก็ทำเอาโลกเปลี่ยนไปเลย

“ผมทำงานอนุรักษ์มาตลอด มาทำเรือท่องเที่ยวเพราะอยากจะให้คนมาเห็นของดีริมคลอง แล้วอยากรักษามัน แต่กลายเป็นว่าเรือของเรามันสร้างปัญหา แล้วก็ทำลายสิ่งที่เราอยากอนุรักษ์ซะเอง ทำให้ผมล่องเรือไม่มีความสุขอีกเลย”

ซัน-ศิระ ลีปิพัฒนวิทย์ เล่าให้พวกเราฟังขณะบังคับเรือไฟฟ้าให้ล่องไปอย่างเชื่องช้าในคลองฝั่งธน (แน่นอนว่านุ่มนวล เสียงเบา และไร้ควัน) ว่าทำไมอดีต NGOs อย่างเขาถึงเจ็บปวดกับเรือแท็กซี่ดีเซลรุ่นเก่าที่เคยใช้ และทำไมถึงต้องมุ่งมั่นเปลี่ยนมันให้กลายเป็นเรือพลังงานไฟฟ้าให้ได้ แม้จะต้องใช้ทั้งเวลา แรงสมอง และแรงงานกะดึก (หลังส่งลูกเข้านอน) ของตัวเองกว่าสองปี

เก้าโมงเช้าถึงหัวค่ำ บนเรือไฟฟ้าที่หลังคาเต็มไปด้วยแผงโซล่าร์เซลล์ ซันพาพวกเราลัดเลาะล่องไปในคลองฝั่งธนที่ไม่เคยไป ฟังเรื่องเก่าที่ไม่เคยรู้ เห็นชีวิตในกรุงเทพฯ แบบที่ไม่ค่อยได้เห็น ถือเป็นทัวร์พาเที่ยวที่อิ่มอกอิ่มใจและคุ้มค่า และนอกเหนือบรรดาสตอรี่สองข้างคลองที่เยอะแยะจนเก็บมาเล่าต่อได้ไม่หมด ยังมีของแถมเป็นการได้รับรู้ถึงปัญหาริมคลองที่คนนอกอย่างเราไม่เคยผ่านหูผ่านตา ซึ่งถูกบอกเล่าด้วยสายตาคนขับเรือสายแอคติวิสต์

ถ้าชีวิตบนท้องถนนมันเร็วเกินไปจนไม่มีเวลาได้พัก อยากชวนมาปล่อยใจให้ลมเอื่อยๆ ตีหน้า แล้วล่องเรือไฟฟ้าแบบช้าๆ บนผืนน้ำไปกับบทสัมภาษณ์นี้ด้วยกัน

เรานัดกันลงเรือเก้าโมงครึ่งที่ท่าน้ำเล็กๆ ในวัดหงส์รัตนาราม ก่อนอื่นใด เราขอให้ซันเล่าเรื่องราวของเขาไปพลางๆ ระหว่างเดินทางไปยังจุดแวะแรก

ก่อนจะกลายมาเป็นชาวเรือ ซันเริ่มต้นอาชีพเป็น NGOs ทำงานรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมอยู่ที่มูลนิธิโลกสีเขียว ยืนหยัดในอาชีพเดียวมาสิบกว่าปีจนกระทั่งแต่งงานและมีลูก จึงอยากหารายได้เสริม มองไปมองมาคิดถึงสิ่งที่ใกล้ตัวที่สุดก็คือคลอง เลยคิดอยากซื้อเรือรับคนมาเที่ยวในคลอง 

“เหตุผลที่เลือกเรือ บ้านผมอยู่ริมคลอง ตอนเด็กพ่อแม่พามานั่งริมน้ำทุกวัน มีฝรั่งนั่งเรือผ่านไปก็โบกมือบ๊ายบาย นี่เป็นสิ่งที่ชาวคลองปลูกฝังกันมา จนเรา 9 ขวบ พ่อก็ไปซื้อเรือมาให้ สอนเราพายเรือ ตอนพายได้นี่เราตื่นเต้นมาก เพราะตั้งแต่เด็กไม่เคยไปไหนทางน้ำเลย นั่งมองมันอย่างเดียว พอได้โอกาสพายเองก็อยากจะสำรวจว่าถัดจากบ้านเราคืออะไร ผมกับพี่ชายแอบพ่อแม่ลงเรือ พายไปให้ไกลที่สุด อยากรู้ว่าจะไปถึงไหน หน้าตาเป็นยังไง ผมใช้เวลา 2 ชั่วโมงพายไปถึงบ้านศิลปิน คลองบางหลวง แต่ก่อนตรงนั้นไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยว แต่เป็นบ้านไม้ริมน้ำ เห็นชาวบ้านยังใช้เรือพายขนของขนอาหารกัน เราก็รู้สึกเจ๋งมากเลยว่ายังมีชีวิตแบบนี้แถวบ้านเราด้วย ไม่ต้องไปถึงอัมพวา ซึ่งต่างจากตรงบ้านเราที่มีแต่เรือยนต์เสียงดังมาก คลื่นกระแทกปั้กๆๆ

“ขากลับมาผมไปเจอภาพประทับใจ ตอนนั้นมืดแล้ว ไม่มีไฟยิ่งมืดสนิท พอเราลอดผ่านพ้นสะพาน เราก็เจอบ้านขุนนางเก่าอยู่ข้างซ้าย มีสะพานไม้ยื่นมาตรงกลางน้ำ มีต้นลำพูต้นนึง จังหวะนั้นเอง หิ่งห้อยก็บินขึ้นมาจากสะพานไม้ เกาะเต็มต้นเลย นี่คือฉากประทับใจวัยเด็กผม ภาพนี้มันฝังอยู่ในใจ ที่ผ่านมาเราไปทำงานอนุรักษ์อย่างอื่น ไม่ได้สนใจคลองเท่าไหร่ เช้าก็ออกจากบ้าน เย็นกว่าจะถึงบ้านก็สองสามทุ่ม แทบไม่ได้สนใจน้ำ แต่พอต้องคิดถึงอาชีพเสริม เราก็กลับมานึกถึงสิ่งที่ฝังใจวัยเด็กนี่แหละ เรารู้สึกว่าในคลองมีของที่เราภูมิใจ มีของที่เราประทับใจที่เราอยากจะเล่า อยากจะรักษา 

ซันชะลอเรือ พาเราไปแวะไปชะโงกดูโรงเต้าเจี้ยวโบราณอายุกว่า 100 ปี วิถีริมน้ำแบบโบราณที่ยังมีชีวิตอยู่จนวันนี้ (ซึ่งหลงเหลืออยู่น้อยมาก) ที่จริงพวกเราเกือบจะได้เข้าไปชมแบบเต็มๆ แล้วล่ะ แต่น่าเสียดายที่เถ้าแก่แกไม่สบายวันนี้ เลยไม่ได้มาเปิดให้เราเข้าไป ได้แต่ชะโงกมองโอ่งหมักเต้าเจี้ยวจากบนเรือกันไปก่อน

“การที่เราจะไปบอกให้คนอื่นรักษาของอะไรสักอย่าง โดยที่เขาไม่รู้จักและไม่รู้ความสำคัญมัน แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย การทำทัวร์คลอง มันน่าจะเพิ่มโอกาสให้คนมารู้จักของดีแบบที่เราเห็น ในมุมมองของเรา แล้วเราก็หวังว่า พอคนรู้จักแล้ว คนก็จะหวงแหนมันแบบที่เรารู้สึก”

การพาคนนั่งเรือชมวิถีชีวิตโบราณอาจฟังดูเป็นเรื่องหอมหวาน แต่ซันเล่าว่าอีกมุมหนึ่งที่เขาอยากสื่อสาร และปักธงในใจไว้ตั้งแต่แรกที่คิดจะซื้อเรือเพื่อทำทัวร์ คือ pain point ที่ชาวบ้านริมคลองต้องเผชิญ

“ตอนซื้อเรือ เรารู้อยู่แล้วว่าเพนพอยต์ของบ้านริมคลอง มี 3 อย่าง หนึ่งคือคลื่นใหญ่ ทำให้ตลิ่งบ้านพัง ท่าน้ำทรุดเอียง สองคือเสียงดัง บางทีตีหนึ่งตีสองก็ยังมีเรือยนต์วิ่ง ยิ่งคนแก่ที่หลับยากตื่นยากเขาก็ยิ่งลำบาก ดูละครตอนจบกำลังอิน เรือวิ่งปื๊ดมา หายไปสองนาที ฉากสำคัญดูไม่รู้เรื่อง อันนี้เป็นเรื่องที่ชาวบ้านมีอารมณ์ร่วมกัน เป็นเรื่องฝังใจนะ และสามคือมลพิษ บางทีแล่นปรื๊ดควันออกมาเป็นยวงเลย มันก็ลอยต่ำอยู่ในอากาศ ไม่ได้ขึ้นสูงไป” 

พูดไม่ทันขาดคำ เรือยนต์หางยาวก็แล่นฉิวผ่านไปข้างๆ ทำเอาบทสนทนาเราต้องชะงักไปชั่วครู่ ซันเล่าต่อว่าเรือยนต์เจ้าปัญหาที่ว่าส่วนใหญ่คือเรือท่องเที่ยวแทบทั้งหมดเลย จะมีประกอบอาชีพอื่นบ้างประปราย 

“แต่จะไปโทษเขาก็ไม่ได้ กลุ่มเรือท่องเที่ยวที่เราเห็นเหล่านี้ จะเรียกว่าเรือหาเช้ากินค่ำก็ได้ มันคือระบบวินเรือที่จ่ายค่าแรงไม่เป็นธรรม คนขับเรือได้ประมาณ 600 บาทต่อชั่วโมง แต่ไม่ได้รวมค่าเสื่อมเรือ ค่าน้ำมัน ค่าแรงคนขับ หักไปหักมา ผมว่าเขาอาจจะกำไรแค่ 200 บาท ทำให้รายได้ไม่พอเลี้ยงตัว ทีนี้ก็เกิดปัญหา พอเรือเสียคนขับก็ต้องจ่ายเงินก้อน ถ้าเสียตอนไม่มีเงินก็ต้องกู้ แล้วคนที่เขากู้ง่ายสุดคือเจ้าของวิน ส่วนใหญ่เขาก็ติดหนี้เจ้าของวินกันทั้งนั้น สุดท้ายแล้วกลายเป็นว่าเขาก็ติดอยู่ในวงจรนี้ เจ้าของวินสั่งอะไรก็ต้องยอม ไม่ขึ้นค่าแรงก็ยอม ต่อรองมากไม่ได้ เงินไม่มีจ่ายก็ยึดเรือ ทีนี้เขาก็ต้องวิ่งเร็วเพื่อให้ได้รอบเยอะๆ วงจรนี้มันคือวงจรอุบาทว์ของระบบการท่องเที่ยวทางน้ำของเรา นี่เป็นปัญหาที่ผมอยากเล่าให้ผู้ว่า กทม. ฟังเหลือเกิน

ซันส่งพวกเราลงเที่ยวที่จุดแรก บ้านวัชโรทัย บ้านไม้เก่าริมน้ำของหลวงอนุสิษฐ์ศุขศาสตร์ อดีตสถาปนิกที่สร้างผลงานไว้มากมาย ปัจจุบันบ้านไม้ถูกส่งต่อมาให้ทายาทอย่างป้าจิ๋มเป็นผู้ดูแลต่อ ซึ่งแกก็รับหน้าที่เจ้าบ้านผู้น่ารักคอยรับแขกเรือหน้าใหม่อย่างเราๆ พาเข้าไปเปิดบ้านเรือนไทยหลังเก่า ดูอุปกรณ์ข้าวของเครื่องใช้ที่ตระกูลยังเก็บรักษาไว้อย่างดี (เก็บไว้แม้กระทั่งหนังสือพิมพ์หายากอย่างฉบับวันที่ 14 ตุลา!)

“ชมรมเรือไฟฟ้าของผม 7 ลำ เราผูกพันกันหลวมๆ ต่างคนต่างรับลูกค้า แต่เราช่วยกันแนะนำว่าที่ไหนน่าแวะ อุดหนุนเขาได้ยังไง ที่เราพยายามทำแบบนี้ คือเราต้องการกระจายรายได้สู่ชุมชน สู่บ้านสวยๆ ริมคลอง ให้เขาเกิดความภาคภูมิใจ เกิดความหวงแหน อย่างบ้านวัชโรทัยนี้ ถ้าเรามาหาเขาบ่อยๆ เขาก็คิดว่าบ้านเขามีคุณค่า สมควรปัดกวาดเช็ดถูซ่อมแซม ยิ่งวันนี้เขากำลังจะโดนเขตทำกำแพงที่คลองข้างบ้านเขา ซึ่งถ้าทำขึ้นมายิ่งลดความสวยงาม ป้าเขาเลยต้องการรูปถ่ายว่ามีคนแวะมาที่นี่นะ อยากให้อนุรักษ์ไว้เพื่อการท่องเที่ยวด้วย หรืออย่างโรงเต้าเจี้ยวนี่เป็น hidden gem เลยนะ แต่บ้านเราไม่ได้ให้ค่างานฝีมือแบบนี้ 

“อย่างบ้านวัชโรทัย ก็เป็นตัวอย่างที่สะท้อนปัญหาตลิ่งพังเพราะคลื่นเรือด้วย ที่เห็นผมถอยเข้าถอยออกหลายรอบกว่าจะจอดได้ เพราะหน้าบ้านแกเคยมีบันไดลงมา แล้วบันไดแกก็โดนคลื่นจากเรือเร็วเนี่ยซัดไปเรื่อยๆ จนพังหมดแล้ว ตอนนี้เหลือแต่ตอ ถ้าผมขับไม่ดี ท้ายเรือชนตอแน่นอน ก็เลยต้องถอยเข้าถอยออกให้ได้จังหวะว่าไม่โดนแน่ๆ”

เราไปต่อกันที่จุดแวะลำดับที่สอง คือศาลเจ้าซัมซัวก๊กอ๊วง (ที่แปลว่าสามขุนเขา) อายุกว่า 160 ปี ซึ่งความพิเศษคือยังคงประตูทางเข้าศาลที่เป็นทางน้ำเอาไว้ ตอนนั่งเรือไปถึงจึงต้องนั่งรออาเจ็กสมศักดิ์ ผู้ดูแลศาลเจ้า มาเปิดประตูให้พวกเราเข้าไปได้

อาเจ็กเปิดภาพเก่าๆ ของศาลเจ้าให้เราดู วันที่เกิดอุปสรรคอย่างน้ำท่วมก็ยังฝ่าฟันมาได้ด้วยแรงของชุมชน ก่อนจะแนะนำว่ากิจกรรมที่พลาดไม่ได้เมื่อมาที่ศาลเจ้าแห่งนี้คือการเสี่ยงเซียมซี ด้วยไม้ติ้วเก่าแก่สุดคลาสสิกและคำทำนายภาษาจีนล้วนที่ต้องให้อาเจ็กแปลให้ฟังเท่านั้น!

เสร็จจากศาลเจ้า ฝั่งตรงข้ามเป็นวิวสุดป๊อปของชาวเรือที่มองไปแล้วจะเห็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ของวัดปากน้ำแบบพอดี เลยแชะภาพบนเรือร่วมกันเป็นที่ระลึก ก่อนจะย้อนกลับไปคุยกันต่อเรื่องเรือ

เรือของซัน ทีแรกไม่ได้ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าอย่างทุกวันนี้ แต่เป็นเรือแท็กซี่เครื่องยนต์ดีเซลทั่วไป เพราะคิดในเบื้องต้นว่าน่าจะเป็นเรือที่สร้างปัญหาน้อยที่สุดทั้งเรื่องเสียงและคลื่น ซันตัดสินใจซื้อเรือแท็กซี่มาในห้าแสนห้าหมื่นบาท แล้วตั้งใจว่าจะเอาเงินอีกส่วนไปปรับปรุงเครื่องยนต์ให้การเผาไหม้สมบูรณ์ขึ้น จะได้สร้างควันน้อยลง เสียงเบาลง แต่แล้วก็ต้องใจสลายเพราะไม่เป็นอย่างที่คิดไว้ ซันบอกว่าเหมือนเอาเงินไปทิ้ง แทบไม่ได้อะไรดีขึ้นมาเลย 

“แต่จุดเปลี่ยนจริงๆ คือพอมาใช้งานจริงแล้ว พบว่าเรือแท็กซี่มันปล่อยมลพิษ ไม่ใช่แค่ท่อไอเสียอย่างเดียว แต่มันปล่อยลงน้ำตลอดเวลา ถ้าเราสังเกตเรือทุกลำที่เป็นเรือยนต์ จะมีท่อพลาสติกที่มีน้ำไหลออกมาตลอดเวลา เป็นการดูดเอาน้ำในคลองมาระบายความร้อนเครื่องยนต์ แล้วจะปล่อยทิ้งลงคลองโดยให้น้ำผ่านท่อไอเสียไปด้วย ทีนี้ถ้าเครื่องมันเก่าจะมีของรั่วไหลซึมที่ถูกระบายออกไปด้วย คือทำให้น้ำร้อนขึ้นด้วย ระบายของเสียลงไปด้วย อันนี้เรื่องนึง 

“อีกเรื่องนึง พอใช้เครื่องยนต์มาถึงจังหวะที่ต้องเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง ด้วยข้อจำกัดเรื่องเวลาและค่าใช้จ่าย คนขับเรือมักเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องกันเอง และเนื่องจากช่องว่างระหว่างเครื่องยนต์กับท้องเรือค่อนข้างแคบ จึงมักง่ายด้วยการปล่อยน้ำมันเครื่องลงท้องเรือ แล้วใช้ผงซักฟอกโรย ตักน้ำสาด กวนให้เข้ากัน น้ำมันเหนียวๆ ดำๆ ข้นๆ จะหายหนืด กลายเป็นน้ำสีน้ำตาลใกล้เคียงกับสีน้ำคลอง แล้วก็สูบออกลงคลองได้ และจริงๆ คือการมีเครื่องยนต์เก่าอยู่บนเรือ จุดไหนรั่วไหลอย่างไร สุดท้ายมันก็หนีไม่พ้นลงไปผสมกับน้ำท้องเรือและถูกสูบทิ้งลงคลองไปเสียหมดอยู่ดี 

“ฉากนี้เป็นฉากที่ผมช็อก เพราะผมทำงานอนุรักษ์ ทำเรือเพราะอยากจะให้คนมาเห็นของดีริมคลอง รักษามัน แต่กลายเป็นว่าเรือของเรามันสร้างปัญหา แล้วก็ทำลายสิ่งที่เราอยากอนุรักษ์ซะเอง เลยทำให้ผมล่องเรือไม่มีความสุขอีกเลย หลังจากวันนั้นผมก็ไม่ออกมาขับเรือเล่นอีกเลย ขับเพื่อทำงานเท่านั้น แล้วก็เป็นการทำงานแบบเครียด ว่าเรือเรายิ่งวิ่ง ยิ่งทำลายสิ่งแวดล้อม มีทางออกเดียวคือต้องหนีเครื่องยนต์สันดาปให้ได้ ก็เลยมองเรื่องเรือไฟฟ้า ซึ่งในไทยยังไม่เคยมีใครทำก่อน

ซันส่งสเป็กเรือไฟฟ้าที่คิด ไปให้ดีลเลอร์เยอรมันที่อาจทำให้ได้ ลองตีราคา ปรากฏว่าถ้าลงทุนถ้าลงทุนไป 1.2 ล้านบาท ได้การันตีว่าขับได้แค่ 1 ชั่วโมง ชั่งน้ำหนักแล้วคงไม่ไหว ทำเอาเฟลกับชีวิตไปพักใหญ่ 

“ตอนนั้นคิดว่าเราเป็น NGOs ไม่ใช่นักธุรกิจ สงสัยเราคงจะเฟลแล้วล่ะ ตัดสินใจพลาดมาทำเรือ เป็นจังหวะว่าจะไปต่อหรือพอแค่นี้ จนมีวันนึง ชวนครอบครัวไปนั่งเรือแม่น้ำเจ้าพระยา ดับเครื่องแล้วปล่อยให้เรือมันไหลไปเรื่อยๆ ผมอยากรู้ฟีลลิ่งว่าถ้าเราทำเรือไฟฟ้าสำเร็จแล้ว ในความเงียบจะเป็นยังไง แล้วผมก็พบว่าเฮ้ย มันเจ๋งมากเลยนะ 

“เราเชื่อว่าถ้าเราทำมันสำเร็จ จะชุบชีวิตพวกเรือโบราณต่างๆ ได้ เพราะเทรนด์เรือท่องเที่ยวมันก็กำลังแย่ลง เครื่องก็เก่า เรือก็เก่า คนก็เก่า เสียงก็ดัง คนมานั่งครั้งเดียวพอ ไม่มีครั้งที่สอง พอลองลอยลำแบบเงียบๆ แล้วพบว่าฟินมาก เลยกลับมาทุ่มเทใหม่ ไปทางเยอรมันไม่ไหว ก็ลองไปทางจีน ไปๆ มาๆ น่าจะทำได้ในงบไม่เกินสามแสน ลุยจริงทำเองประกอบเองเลย ส่งลูกเข้านอนสองทุ่ม ผมใช้เวลาสองทุ่มถึงตีสองในการศึกษาไปเรื่อยๆ รวมๆ แล้วเกือบสองปีที่ทำแบบนี้ แก่ไปเยอะเลยครับ เพราะอดนอนทุกวันเลย แต่ใจเรามาทางนี้แล้ว เราก็จะไม่ถอย” 

พักเรื่องเข้มข้น ไปแวะลงวัดหนัง ซันบอกทางให้พวกเราเดินไปหาพิพิธภัณฑ์เล็กๆ ที่ อ.ป้อม เป็นคนสร้าง ด้วยความตั้งใจที่อยากจะสะสมเรื่องราวของชาวคลองฝั่งธนแถวบ้านที่กำลังค่อยๆ หายไปเอาไว้ เพื่อให้นักเรียนและคนรุ่นใหม่ได้ศึกษา ที่นี่ถือเป็น unseen museum แห่งนึงที่เราว่าน่าชื่นชมเลยล่ะ เพราะสัมผัสได้ว่ามันมาจากใจของผู้ทำจริงๆ หากใครมีโอกาสได้ไปทางบกหรือทางน้ำ ก็อยากให้ลองแวะเข้าไปดูกัน

ต่อจากวัดหนัง หนังท้องของพวกเราก็เริ่มสู้น้ำย่อยไม่ไหว ซันพาเราล่องเรือไปหาของกินที่ชุมชนริมคลองบางหลวง ชี้เป้าร้านก๋วยเตี๋ยวเย็นตาโฟทะเล และตัวเลือกอื่นๆ ที่เป็นร้านอาหารฝีมือชาวบ้านให้เราแยกย้ายกันไปอุดหนุนเป็นกลุ่มย่อยๆ 

ลืมเล่าไปว่า หนึ่งในสิ่งที่ลูกทัวร์ของซันจะได้รับการสื่อสารก่อนมาลงเรือ คือคำเชิญชวนให้ไม่สร้างขยะ single used plastic เพิ่ม พวกเราจึงเตรียมขวดน้ำส่วนตัวและถุงผ้ามากันแบบเตรียมพร้อม พอมาถึงบนเรือก็ยังมีปิ่นโตและภาชนะให้เราเลือกหยิบไปซื้อขนมได้ตามอัธยาศัย โดยไม่ต้องกลัวว่าจะไม่มีที่ล้างภาชนะ เพราะบนเรือก็มีสบู่ น้ำยาล้างจาน และน้ำประปาประมาณ 20 ลิตร สำรองไว้สำหรับล้างมือ ทำความสะอาดภาชนะด้วย

“ชาว eco เขาจะดีใจมากเวลามาเจอแบบนี้ พูดแบบออกนอกหน้าเลยว่าชอบ แต่ลูกทัวร์ผมส่วนใหญ่เป็นสูงวัย กลุ่มครอบครัว อาจจะไม่ได้มาสาย eco หรือกรีนจ๋า แต่เขาก็ยอมมา practice กับเรานะ ขอความร่วมมือให้มาลองทำดูกัน”

ถ้าคุณเป็นวัยรุ่นที่ยังพอมีแรงเหลือ และสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมพอตัว เรือไฟฟ้าของซันก็ไม่ได้พาแค่ไปเที่ยวที่เก่าๆ แต่ยังเพิ่มรสชาติด้วยการจัดทัวร์แบบคัสตอมให้เราได้สัมผัสคลองแบบสัมผัสจริงๆ ด้วย!

ซันพาเราไปลองตักขยะในคลองมอญ คลองสายเล็กที่เราเห็นได้ชัดในระยะใกล้ว่ามีขยะลอยผ่านเรืออยู่เรื่อยๆ ว่าแล้วพวกเราก็คว้าอุปกรณ์กระชอนตาข่าย 2 อันพร้อมถัง 2 ใบ ออกไปยืนหน้าเรือช้อนขยะกันอย่างสนุกสนาน ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าในเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง เราตักขยะกันมาได้จนเต็มทั้งสองถัง

ลองวิเคราะห์ขยะที่ตักมาได้ ส่วนใหญ่เป็นขยะจากครัวเรือนชิ้นใหญ่ๆ ทั้งนั้น ไม่ว่าจะขวดพลาสติก ถุงพลาสติก ซองขนม รองเท้า ของเล่น หรือแม้กระทั่งซากอาหารอย่างหนังไก่ ซึ่งระหว่างทางที่เราตักขยะกัน มีชาวบ้านออกมาเชียร์กันยกใหญ่ เพราะขยะพวกนี้เมื่อโดนคลื่นเรือซัดมันก็จะไปกองรวมกันอยู่ใต้ถุนบ้านจนกลายเป็นปัญหา ต้องคอยมาช้อนเก็บเอง พอมีคนช่วยแบ่งเบาก็คงดีใจ (แต่ถ้าเลิกทิ้งลงไปได้ คงดีกว่าแน่ๆ)

บ่ายแก่ๆ หลังลงแรงกันจนเหงื่อออก เราก็นั่งพักพลางล่องเรือชมนก (นกยางเปีย) ชมไม้ ชมวิถีคน (และสัตว์ เช่น หมาน้อย ตัวเงินตัวทอง) ริมน้ำกันไป เราสังเกตว่าไม่ว่าจะแวะผ่านไปทางไหน ความน่ารักของซันและคนริมคลองคือความรู้สึกของการเป็นเพื่อนบ้านที่รู้จักและทักทายกันตลอดทาง (ที่สะเทือนใจเราที่สุด คือคุณลุงที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ทำให้บ้านริมน้ำของแกทรุดเอียง แต่ก็เรียกร้องอะไรจากใครไม่ได้!) หรือแม้กระทั่งตอนจอดเรือเทียบกับเรือหางยาว ระหว่างรอประตูน้ำเปิด ก็มีบทสนทนาเกิดขึ้นระหว่างคนขับเรือด้วยกันได้เสมอ

“ชาวเรือเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้ผมไม่อยากจ่ายค่าทำเรือหลักล้าน เราอาจจะยอมลงทุนได้นะเพราะอินเนอร์เรามา แต่เรารู้ว่าถ้าเราทำ มันก็จะกลายเป็นของที่คนเรือคนอื่นๆ เอื้อมไม่ได้ เพราะราคามันแพงมาก เราเลยตั้งเป้าว่าต้องทำให้ได้ในงบสามแสนบาท ถ้าชาวเรือแท็กซี่ต้องซื้อเครื่องเก่ามือสองจากญี่ปุ่นประมาณแสนนึง รวมค่าติดตั้งอีกห้าหมื่น ตีว่าทำใหม่จ่ายแสนห้า บวกค่าน้ำมันตลอดอายุการใช้งาน มันจะอยู่ในราคาสามแสนได้แน่ๆ ถ้าเขายอมจ่ายให้เรือไฟฟ้า งบนี้ก็เหมือนกับว่าเขาจ่ายล่วงหน้าค่าน้ำมันไปก่อน ประมาณนั้น แต่ส่วนใหญ่ชาวเรือเขาก็ยังไม่ทำกับผม คิดว่าซื้อเครื่องเก่าแล้วเจ๊งก็ค่อยซ่อมมากกว่า 

“คนที่ซื้อเราไปส่วนใหญ่เลยเป็นนักธุรกิจที่มีความผูกพันกับเรือกับน้ำ เขาเห็นราคานี้ก็จ่ายได้เลยชิลล์ๆ แล้วจ้างคนมาขับ รับงานอยู่ในคลองด้วยกัน ทำท่องเที่ยวเรือแบบนี้เหมือนกัน แต่ก็ไม่ได้ทำเต็มเม็ดเต็มหน่วย เหมือนกับผมที่ก็ทำแค่เสาร์อาทิตย์ให้พอเลี้ยงตัวเองอยู่ได้ ไม่อดอยาก เพราะเกมนี้ยังยากเรื่องการหาคน คนขับเรือทั่วไปเขาไม่แคร์สตอรี่หรือประเด็นสิ่งแวดล้อมขนาดนั้น เขายังไม่เข้าใจว่าจะมาขับช้าๆ แบบนี้ทำไม ก็ต้องหาคนนอกมาเทรนด์เอา

“ทุกวันนี้ ผมเปลี่ยนเรือแท็กซี่ให้เป็นเรือไฟฟ้ามาทั้งหมด 7 ลำ ลูกค้าก็บอกต่อกันว่าใครที่อยากได้เรือไฟฟ้าไซส์นี้ต้องมาหาผม เพราะผมทำจริง วิ่งได้แน่นอน คิดราคาถูก ค่าดัดแปลงเรือรวมค่าแรงและค่าของต่างๆ ทั้งหมดแค่สองแสนห้าหมื่นบาท จริงๆ ผมใช้เวลาเป็นเดือนในการทำเรือไฟฟ้าแต่ละลำ ถือว่าคิดค่าแรงถูกกว่าที่ควรจะเป็น แต่ที่ทำแบบนี้ เพราะผมอยากกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยน นี่อาจจะเป็นเรื่องที่แฟนผมไม่ค่อยพอใจเท่าไหร่” ซันเล่าแบบขำๆ 

ก่อนจบทัวร์ ซันพาเราปิดท้ายด้วยการพาเรือล่องออกแม่น้ำเจ้าพระยา ให้พวกเราคว้าเสื้อชูชีพมาใส่ แล้วออกไปสัมผัสความรู้สึกเงียบสงบกลางแม่น้ำแบบที่ซันเคยขับเรือพาครอบครัวออกมาสัมผัส 

พอเห็นปัญหาริมคลองแล้วรู้สึกว่าแย่จังนะ ที่เราทำอะไรไม่ได้เลย – เราพูด

“ผมคิดแค่พวกเรามาดู มาฟัง มารับรู้ปัญหาเหล่านี้แล้ว ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มของการอนุรักษ์และการแก้ปัญหา ถ้าเราสื่อสารเรื่องนี้ออกไปได้ เป็นหนทางสู่การแก้ปัญหาที่ดีเหมือนกัน เรื่องที่ผมอยากจะฝากคือเรื่องความเร็วเรือ มันคือหัวใจของการพลิกเกมการอนุรักษ์พื้นที่ธรรมชาติ 

“เท่าที่ผมศึกษามา ผมพบว่าโดยเฉลี่ยเรือในคลองต่างประเทศ เขากำหนดความเร็วเรืออยู่ที่ 6 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น เข้าใจว่าตอนนี้การสัญจรบ้านเรา ใช้ทางบกแบบเต็มศักยภาพแล้ว เหลือคลองที่ยังโล่งๆ อยู่ ทำความเร็วกันได้ รัฐก็เลยพยายามเอาการสัญจรทางน้ำมาแก้ปัญหาการสัญจรทางบก เขาก็เลยกำหนดให้เรือวิ่งเร็วๆ ซึ่งมันเกินสปีดลิมิตของทุกประเทศที่ผมหาข้อมูลมา และมันไม่แมตช์กันกับการอนุรักษ์เลย 

“การไม่เกิดคลื่นใหญ่เป็นการอนุรักษ์คลองให้กลับมีชีวิตด้วยตัวเองได้ ถ้าเราไม่ลดความเร็วเรือ ไม่พลิกฟื้นตลิ่งปูนให้กลับมาเป็นตลิ่งดิน โอกาสที่เราจะ rewind สิ่งแวดล้อมกลับมามันเป็นไปไม่ได้

“ถามว่าทำไมต้อง rewind เพราะตอนนี้ปัญหาสิ่งแวดล้อมโลกถึงจุด point of no return ถ้าไม่แก้ก็จะกลับมาไม่ได้ มันคือวิกฤตใหญ่ของมนุษยชาติ ถ้าไม่เร่งทำ อนาคตมันไม่มี เรื่องนี้ไม่ได้จำกัดแค่นักอนุรักษ์ ตอนนี้เราเห็นแล้วว่าแม้กระทั่งภาคธุรกิจก็มองว่าจะอยู่ได้ยังไงถ้าภัยพิบัติมันรุนแรง มันถึงจังหวะที่เราต้องมาร่วมกันแก้ปัญหา แค่แก้ความเร็วเรือ เราก็สร้างชีวิตกลับมาได้ เราก็จะลดการทำลายธรรมชาติไปได้เยอะเลย 

“คือถ้าเราเป็นผู้มีอำนาจ ฟันโชะมาก็สำเร็จ แต่เราไม่ใช่ผู้มีอำนาจ เราก็ได้แค่ทำของเรา สื่อสารออกไป”

“ถ้าปล่อยไว้แบบนี้ ระยะสั้นหน่อย เสน่ห์ของริมคลองจะหายไปเรื่อยๆ บ้านเก่าสวยๆ จะทยอยพัง คลองสาขาก็ยิ่งปล่อยน้ำเสีย เพราะพอคนอยู่เยอะๆ แล้วระบบจัดการน้ำของเราไม่พัฒนา น้ำเสียกับน้ำฝนรวมกันเป็นน้ำคลอง มันก็ยิ่งเพิ่มปัจจัยเสี่ยงให้คลองของเราตาย ความหลากหลายทางชีวภาพจะพังอย่างเข้มข้น การฟื้นฟูตัวเองของธรรมชาติก็น้อยลงเพราะไม่มีเกาะแก่งธรรมชาติ ไม่มีตลิ่งดิน ไม่มีพืชชายน้ำที่ฟอกน้ำให้กลับมาดี เมืองเราก็จะปล่อยมลพิษสู่ทะเลสูงเป็นอันดับต้นๆ ต่อไปแน่นอน 

“ตอนนี้เรื่องขยะของเราคือ top 5 เรื่องน้ำเสียของเราก็น่าจะไต่อันดับขึ้นไปเรื่อยๆ แล้วเมืองเราเป็นเมืองอาหาร แต่เราเอาสวนไปสร้างเมือง เอาดินดีไปทำป่าคอนกรีต ปล่อยน้ำเสียลงอ่าวไทยที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก พอเจออย่างนี้เข้าไป ความเป็นครัวของโลกก็จะแย่ลง อาหารของเราก็จะปนเปื้อน เด็กของเราก็จะแพ้โน่นแพ้นี่ ฟังดูแล้วดาร์กจังเลยเนอะ

“เขาบอกว่าคนมีลูกจะมีความหวัง ผมว่าจริงนะ ผมก็สนับสนุนให้คนมีลูก ตอนนี้คนที่ตัดสินใจไม่มีลูก เพราะมองว่าอนาคตมันดูมืดมนเหลือเกิน คือคนที่ใส่ใจเรื่องพวกนี้นั่นแหละ แต่ถ้าคนที่ใส่ใจเรื่องนี้ ไม่พัฒนาบุคลากรที่ใส่ใจเรื่องนี้ออกมา มันยิ่งทำให้โอกาสของวันข้างหน้าที่ดีมันน้อยลงไปเรื่อยๆ หรือเปล่า

“ผมเป็นแฟนคลับคนทำหนังสารคดี The story of stuff เคยไปร่วมงานเสวนาตอนเขามาไทย ถามเขาว่าทำไมคุณดูร่าเริงและมีความหวังจังเลยกับโลกใบนี้ที่มันดูสิ้นหวังเหลือเกิน เขาตอบว่า เรื่องนี้มันมีแค่ 2 ช้อยส์เท่านั้น หนึ่งคือยังมีความหวังต่อไป สองคือหมดหวังแล้วก็ยอมจำนน คุณจะเลือกอะไรล่ะ ถ้ายอมจำนนนั่นคือจบสิ้น โลกไม่มีทางออก ถ้าเรายังหาทางที่จะมีความหวัง ดิ้นรนต่อไป มันยังมีความหวังเสมอ คือเราไม่มีสิทธิ์คิดที่จะสิ้นหวังครับ”

ภาพถ่าย: ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์
ออกแบบกราฟิก: paperis

Content Designer

#อดีตเป็นบรรณาธิการสารคดีนิตยสารวัยรุ่น #เขียนหนังสือบ้างตามโอกาส #ปัจจุบันเป็นเจ้าของบริษัทคอนเทนต์ขนาดเล็ก #กำลังตั้งใจเรียนรู้ที่จะใส่ใจสิ่งรอบตัวมากขึ้นผ่านการเล่าเรื่องราวในไอแอลไอยู

Read More:

Work สาระสำคัญ

งานที่ดี คือ งานที่_________

งานที่ดีคืองานแบบไหน ลองมานิยามกันดูไหมให้การทำงานเวิร์กขึ้น!

Work มนุษยสัมพันธ์

หมา-นุษย์ สัมพันธ์ เคาะประตูหาเพื่อน (สี่ขา) ข้างบ้าน ili

ออฟฟิศ pet-friendly ที่เงยหน้าจากงานปุ๊บ ก็เยียวยาใจปั๊บ

Work จากผู้ใช้จริง

รีวิวยกออฟฟิศไปเวิร์กช็อปศิลปะบำบัดที่ Studio Persona

เมื่อ ili ยกออฟฟิศ (ที่มีกันแค่ 6 ชีวิต) ไปสตูดิโอศิลปะบำบัด