Uncategorized —— สาระสำคัญ

HEY U!_2021.ZIP

ปีที่ผ่านมา ไม่ได้มีแต่เรื่องแย่สักหน่อย เรารวบรวมเรื่องราวและมูฟเมนต์ที่น่าสนใจของทั้ง 6 หมวดใน ili U มาใส่ลงในไฟล์ zip ให้เป็นที่เรียบร้อย!

สำหรับใครที่ตามอ่านไม่ทัน หรือเพิ่งกดติดตาม ili U ไปหมาดๆ อ่านแพ็กเกจไฟล์แบบใหญ่บิ๊กนี้แล้วก็อย่าลืมยกนิ้วโป้ง ส่งเสียงชื่นชมใครที่โดนใจ เพราะตลอดปีที่ผ่านมา ผู้คนในวงการต่างๆ เขาพยายามขับเคลื่อนไลฟ์สไตล์สุด conscious ไปในทิศทางที่สนุกขึ้น แถมยังน่าสนใจขึ้นมากๆ พวกเราเดินมาไกลใช้ได้เลยล่ะ

ลองมาดูกันดีกว่าว่าตลอดปี 2021 ที่ผ่านมา มีเรื่องราวในวงการต่างๆ ที่น่าสนใจอะไรบ้าง

BODY: ปีนี้ใครไม่แคร์ชุดซ้ำ ถือว่าทำได้ดี

หลังจากที่จับตาและเกาะติดไลฟ์สไตล์ #ConsciousBody มาตลอดปี เราตัดสินใจมอบมงให้มูฟเมนต์ ‘ใส่ชุดซ้ำ’ เป็นที่สุดแห่งความคอนเชียสในหมวด Body ประจำปี 2021 นาทีนี้ แม้กระทั่งดาราหรือคนดังสายแฟ (ชั่น) บ้านเราก็กล้าใส่ชุดเดิมซ้ำๆ ออกงานแบบไม่แคร์สื่อ แถมยังภูมิใจกว่าเดิมด้วยซ้ำ 

ลองไปทบทวนและขอบคุณตัวเองแบบ Hey U!_2021.zip กันหน่อยว่า เราช่วยกันขับเคลื่อน slow fashion กันไปขนาดไหนแล้ว ในปีที่ผ่านมา

1 – #wearวนไป แฮชแท็กตั้งต้นจากไอจีของครูลูกกอล์ฟ-คณาธิป ที่บอกว่าทุกคนไม่ต้องตามทุกเทรนด์แฟชั่นบนโลกใบนี้ แถมยังชวนหยิบเสื้อผ้าตัวโปรดที่มีมาจับคู่เป็นลุคใหม่ เพื่อบอกโลกว่าการใส่ชุดซ้ำไม่ใช่เรื่องหน้าอาย แฮชแท็กนี้กลายเป็นกระแสแห่งปีที่คนดังในวงการบันเทิงและเหล่าอินฟลูเอนเซอร์สายแฟออกมาแชร์ประสบการณ์ร่วมอีกเพียบ เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า เราช่วยกันส่งเสียงตะโกนเพื่อลดการบริโภคฟาสต์แฟชั่นและสร้างค่านิยมที่ดีกว่าเดิมได้นะ (ปรบมือ)

2 – loopers แพลตฟอร์มที่คนอยากส่งต่อเสื้อผ้ามือสองตามหามานาน ในที่สุดเราก็หากันจนเจอแล้ว เพราะที่ loopers หน้าที่ของเรามีแค่คัดเสื้อผ้าที่เรารักและส่งต่อมาให้ทีมงาน จากนั้นให้เป็นหน้าที่ของทีมเขาที่จะช่วยถ่ายรูปเสื้อผ้า ตามหาคนซื้อที่เป็นเพอร์เฟกต์แมตช์ ตอบลูกค้า วัดสเปก ส่งของ รอโอนเงิน ส่งเลขแทร็กกิ้ง ฯลฯ แถมยังมีดีเทลจุกจิกที่ตอบใจทั้งฝั่งผู้ซื้อ-ผู้ขาย เมื่อได้ลองใช้งานก็กลายเป็นลูกค้าประจำกันไปหลายราย เราเองก็ขอเชียร์ให้แพล็ตฟอร์มนี้เติบโตไปเป็นมาร์เก็ตเพลสเสื้อผ้ามือสองที่ใครๆ ก็เข้ามาใช้กันในอนาคต

3 – เม็ดกะหล่ำแฟชั่นวีค ฝรั่งมีงาน MetGala เมืองไทยก็มีงาน MedGalam อีเวนต์โดยแบรนด์ SWAPSHOP ที่ฉีกทุกกฎของงานแฟชั่นวีค เพราะแทนที่พวกเขาจะชวนคนดังมาเดินแฟชั่นโชว์ความหรูหรา แต่กลับดันให้ทุกคนกลายเป็นดาราได้ด้วยการแต่งเสื้อผ้าชุดเก่ามาอวดกันในรันเวย์ พร้อมกิจกรรมแลกเสื้อผ้า เพื่อสื่อสารให้คนหันมาบริโภคสินค้าแฟชั่นอย่างมีสติ และรักในเสื้อผ้ามือสองกันมากขึ้น ลองกดไปชมภาพจากแฮชแท็กแล้วจะเข้าใจว่าพลังของคนรุ่นใหม่นี่มันช่างสร้างสรรค์อะไรที่สนุก ตลก และใส่ใจโลกได้ขนาดนี้!

4 – Reviv ปีนี้เราไม่ได้มีแค่แพล็ตฟอร์มเสื้อผ้ามือสองแบบจริงจัง แต่ข่าวดีคือเรายังมีแพล็ตฟอร์มบริการซ่อมเสื้อผ้า ที่ไม่ได้แค่อำนวยความสะดวกสบายและความหลากหลายของลวดลายการปะชุนให้เลือกเท่านั้นนะ แต่ความพีคคือยังได้ช่วยสร้างอาชีพให้กับพี่น้องแรงงานม้ง ซึ่งเคยต้องไปเป็นแรงงานในโรงเย็บเสื้อผ้าที่ไม่ค่อยจะเป็นธรรม ให้ได้มีสกิลซ่อมระดับโปร ตอบโจทย์คนใส่เสื้อผ้ายุคนี้ที่ไม่รังเกียจการใส่ซ้ำ ยิงปืนนัดเดียวได้แก้ทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อมและสังคม ขอชมทีมงานที่คิดสิ่งนี้จากใจ

5 – #แบนSHEIN กระแสแอคทีฟเรื่องฟาสต์แฟชั่นส่งท้ายปลายปี เมื่อผู้คนในโซเชียลหันมาส่งเสียงแบนธุรกิจเสื้อผ้าแบรนด์ใหญ่จากจีน ที่ผลิตเสื้อผ้าราคาถูกหลายล้านชิ้นต่อปีออกสู่ตลาดแบบไม่สนว่ามันจะกลายเป็นขยะมหาศาล พร้อมข่าวลือทั่วโลกโซเชียลว่าใช้แรงงานเด็กและจ่ายค่าจ้างแรงงานต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ หนำซ้ำยังนำผลงานดีไซเนอร์หลายคนไปใช้แบบไม่จ่ายค่าลิขสิทธิ์ ทั้งหมดนี้ทำให้ผู้คนพร้อมใจกันติดแฮชแท็กประนามและบอกให้โลกรู้ว่า พวกเราไม่เอาแฟชั่นที่ทั้งฟาสต์และไม่แฟร์ (กับแรงงานและมันสมอง) เชื่อว่าพลังจากเสียงของผู้บริโภคนี้ ทำเอาแบรนด์อื่นๆ เสียวสันหลังตามไปด้วยอย่างแน่นอน

WORK: ปีนี้ งานที่รัก จะรักเรา และทำให้เรารักคนอื่นด้วย

2021 น่าจะเป็นปีที่ยากเย็นของคนทำงาน ไหนจะเวิร์กฟอร์มโฮมจนงานและชีวิตปนเปมั่วซั่วกันไปหมด ไหนจะอุปสรรคจุกจิกปิดเปิดไมค์ ไหนจะงานหดเงินหาย และอีกสารพันปัญหาที่ทำให้หลายคนหมดไฟ แพสชั่นหาย อยากเปลี่ยนงาน หรืออยากอยู่เฉยๆ ก็ได้เงิน!

เห็นเครียดๆ เฉาๆ แต่เราก็ยังมองเห็นวิธีเอาตัวรอด และวิธีขับเคลื่อนหัวใจของคนรักงานที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย และหลายครั้งก็ทำให้เชื่อว่า งานที่รัก จะรักเราตอบ และทำให้เรารักคนอื่นไปพร้อมๆ กัน เลยขอรวบใส่โฟลเดอร์ Hey U!_2021.zip มาแชร์กัน ให้เอาไปหยิบใช้หรือดาวน์โหลดติดตั้ง ไว้พร้อมสู้งานในปี 2022! 

1 – Productive junkie กรุ๊ปเฟซบุ๊กแชร์เครื่องมือที่ช่วยให้งานโปรดักทีฟแบบเนิร์ดนิดๆ แต่เวิร์กจริงถ้าทำจริงๆ จังๆ ชอบที่มีความเป็นคอมมูนิตี้แชร์ไอเท็ม แชร์ทิปส์กันอย่างเป็นมิตรและเข้าใจหัวอกคนทำงาน บางทีก็มีเรื่องเยียวยาให้ใจไม่พังในยุคที่การทำงานยากสุดขีดด้วย เข้ากรุ๊ปนี้อาจจะไม่ได้อยากซื้อโต๊ะคอม เก้าอี้เออร์โก หรือจอที่สอง แต่อยากจะหาโซลูชั่นที่ดี ที่ทำให้เราโปรดีกทีฟแบบที่ยังเป็นมนุษย์อยู่ <3

2 – หนังสือ Designing Your Work Life หนังสือฮาวทูเรื่องงานล้นแผง มีชื่อชวนหยิบมากมาย แต่เล่มที่เราชอบใจคือเล่มนี้ หนังสือแบบฝึกหัดที่ชวนให้เรา ‘ออกแบบ’ งานที่ใช่ เพื่อให้เข้าใจตัวเองให้ชัดๆ ก่อนจะไปมองหาจากเพื่อนร่วมงาน เจ้านาย หรือองค์กร เพราะแม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกๆ จิ๊กซอว์มีผลกับงานที่ดี แต่การเห็นตัวเองให้ชัดมันช่วยให้ตัดสินใจง่ายขึ้น ใครมีคำถามวนเวียนว่าจะลาออกดีไหม หนังสือเล่มนี้ทำให้เราตอบตัวเองได้ และหลายคนคงพบว่า การลาออกไม่ใช่ทางออกของทุกปัญหาซะหน่อย! 

3 – @Readery Medley #11 พอดแคสต์รักการอ่านช่องโปรดของหลายคน ที่คัดมาให้เฉพาะประเด็นเรื่องงานที่มีความหมาย จะเบิร์นเอ้าท์จากที่ทำงาน จะปั้น mindset ยังไงไม่ให้บ้าก่อนงานเสร็จ หรือจริงๆ แล้ว จะคืนชีวิตให้ชีวิต ไม่ถูกกลืนกินไปด้วยงานได้จริงไหม ยิ่งความพอดแคสต์ฟังง่าย ความหนอนหนังสือที่คุ้นเสียงคุ้นรสนิยม การคิดเรื่องนี้จริงจังดูสักตั้งระหว่างฟังก็ช่วยได้มากทีเดียว

4 – ราคาวิชาชีพ จากเรื่องไว้บ่นกระปอดกระแปดกับเพื่อนในวงเหล้า หรือนั่งเศร้าเวลาเงินเข้าบัญชีไม่พอใช้ ถูกทำให้กลายเป็นมูฟเมนต์ว่าด้วยราคาที่ต้องจ่าย ตามเรตเหมาะสมของงานสร้างสรรค์ ไล่ตั้งแต่คลิปดราม่าเทียบราคาออกแบบโลโก้ ก่อนที่คนทำงานสร้างสรรค์ฟากฝั่งอื่นๆ จะออกมาพูดเรื่องเรตราคากันมากขึ้น เลยรวมไปถึงการพูดเรื่องเงินอย่างชัดถ้อยชัดคำ ไม่ใช่การไว้ก่อน เพื่อนๆ กัน หรือพูดเรื่องเงินแล้วน่าเกลียด เพราะหากเรามีอาชีพ เราก็ควรได้คุยเรื่องค่าตอบแทนอย่างมืออาชีพเช่นกัน

5 – Workers’ Union อีกมูฟเมนต์ที่เติมไฟให้ความหวังด้วยสิทธิที่คนทำงานควรเรียกร้อง การขับเคลื่อนของ WorkersUnion.th ทำให้คำว่า ‘สหภาพ’ ไม่ใช่เรื่องของโรงงานหรือรัฐวิสาหกิจเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่เราทุกคนในฐานะคนทำงานควรรู้ว่ามี และสามารถทำให้คุณภาพชีวิตของเราและเพื่อนร่วมอาชีพดีขึ้นได้ แม้จะยังไม่มีรูปธรรมชัดถ้อยชัดคำนัก แต่ก็ได้เห็นแล้วว่า เราไม่ใช่พลเมืองก้มหน้าก้มตาหรือพนักงานไร้เสียงอีกต่อไป!

EAT: ปีนี้บอกตัวเองไว้ว่าไม่เอาแล้วนะ ขยะอาหาร!

ต้องบอกเลยว่าปีนี้ ภาวะโลกรวนที่มีขยะอาหารเป็นหนึ่งในสาเหตุร่วม เป็น topic ที่ถูกพูดถึงในระดับนโยบายมากขึ้น แต่ถึงยังไง ด้วยความเป็นมนุษย์ที่หยุดบริโภคไม่ได้ การไม่สร้างอาหารเหลือทิ้งในระบบเลย ก็ยังคงเป็นเรื่องที่ท้าทายความรับผิดชอบของพวกเราอยู่ดี

ทว่าหนึ่งในมูฟเมนต์สุดคอนเชียสที่เราอยากติดแฮชแท็ก #ขอบคุณจากใจคนชอบกินค่ะ นั่นคือการที่ผู้ประกอบการเจ้าต่างๆ พยายามนำเสนอทางเลือกใหม่ๆ ที่จะช่วยเปลี่ยนการบริโภคของเราให้น่ารักกับโลกใบนี้มากขึ้น เส้นทาง #ConsciousEat นี้มีใครน่าซูฮกบ้าง Hey U!_2021.zip รวมมาให้แล้วด้านล่างนี้!

1 – Happy Grocers ร้านผักผลไม้เดลิเวอรี่ที่มีบริการส่งถึงบ้านและ grocery truck ที่จอดเปิดท้ายกระบะขายผักตามย่านต่างๆ ในกรุงเทพฯ ของ โม-สุธาสินี สุดประเสิรฐ และ มุก-ปัทมาภรณ์ ดำนุ้ย ด้วยความตั้งใจที่อยากจะช่วยลดปริมาณผักหน้าเบี้ยวที่ถูกคัดทิ้งระหว่างทาง ที่ร้านเลยจัดทำ Surplus Box หรือกล่องสุ่มที่บรรจุผักผลไม้หน้าบูดเบี้ยวหลากชนิด ชวนคนชอบเข้าครัวมาช่วยกันเซฟชีวิตผักหน้าเบี้ยวที่คุณภาพยังดีอยู่ ช่องทางการอุดหนุนก็ง่ายๆ แค่กดสั่งผ่านเว็บ happygrocers.co หรือ Grab Mart จ่ายเงินเสร็จก็รอรับของหน้าบ้านได้เลย!

2 – Wasteland แบรนด์เครื่องดื่มคราฟต์โซดาที่ตั้งใจหยิบวัตถุดิบโลคอลและเศษเหลือทิ้งจากวัตถุดิบอาหารจากร้านพันธมิตรต่างๆ มาเป็นวัตถุดิบหลักในการคราฟต์เครื่องดื่ม ตัวอย่างเช่น ‘Kokoa Root Beer’ ที่นำเปลือกเมล็ดโกโก้จาก Kad Kokoa ผสมกับโมลาสมะพร้าวจากเพียรหยดตาล และวนิลาที่ปลูกในอำเภอปากช่อง หรือคราฟต์โคล่ารสซับซ้อนอย่าง ‘Chaff Cola’ ที่ทำมาจากเปลือกกาแฟเหลือทิ้งจากร้าน Kohi ผสมกับเครื่องเทศสมุนไพร อุดหนุนครั้งเดียวได้ทั้งลด waste และ support local แบบนี้ สัญญาว่าจะติดตามผลงานของทีมนี้ไปอีกยาวๆ เลย

3 – Laika ไหนๆ ก็อยากช่วยโลกลด food waste แล้ว ไม่ต้องกลัวว่าทำคนเดียวแล้วจะเหงา เพราะเดี๋ยวนี้ทาสทั้งหลายสามารถชวนลูกพี่ที่บ้านมามีส่วนร่วมปณิธานนี้ได้! ขอผายมือไปยัง Laika แบรนด์ขนมสำหรับน้องหมาที่ทำจากแมลงที่ถูกเลี้ยงด้วยเศษผักผลไม้ออร์แกนิกที่ถูกคัดทิ้งจากโรงงานแปรรูปอาหารต่างๆ แถมงานนี้ไม่ต้องกลัวว่าลูกพี่จะเมิน เพราะผู้ผลิตรีเสิร์ชเรื่องคุณค่าทางโภชนาการสำหรับน้องหมามาแล้วเรียบร้อยว่า โปรตีนสูงและอูมามิสำหรับลูกพี่แน่นอน

4 – Bio Trash ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่แต่ละบ้านจะทำให้อาหารทุกมื้อเป็นมื้อปลอดขยะ ดังนั้น การรู้จักวิธีจัดการขยะอาหารที่เหมาะสมก็น่าจะเป็นโซลูชั่นที่เวิร์กที่สุด ในฐานะคนที่ปักหลักอยู่คอนโดฯ เราเลยชื่นชอบถังหมักปุ๋ยสีขาวสะอาดตาที่ออกแบบโดยไร่หลังฉางและฟาร์มลุงรีย์ถังนี้มากเป็นพิเศษ ที่สำคัญยังเหมาะกับมือใหม่หัดหมักปุ๋ยสุดๆ เพราะมากับคู่มือการใช้งานที่เข้าใจง่าย ปีใหม่นี้ไม่รู้จะให้ของขวัญเพื่อนเป็นอะไร ให้ถังหมักปุ๋ยก็ดูเป็นไอเดียที่น่าสนใจอยู่นะ 

5 – SOS Thailand อย่าลืมว่าการตุนอาหารสำเร็จรูปต่างๆ ไว้จนเลยวันหมดอายุก็ถือเป็นการสร้างขยะอาหารอย่างหนึ่ง หน่วยกู้ภัยอาหารหน่วยนี้ นอกจากจะประสานงานร้านอาหาร ซูเปอร์มาร์เก็ต หรือแบรนด์ผู้ผลิตอาหารต่างๆ เพื่อขอรับอาหารและวัตถุดิบส่วนเกินที่ยังคุณภาพดี พวกเขายังเปิดรับอาหารแห้ง เช่น ข้าวสาร บะหมี่แห้ง อาหารกระป๋อง และน้ำมัน เครื่องปรุงต่างๆ ที่ยังไม่หมดอายุจากภาคครัวเรือน เพื่อแบ่งปันให้ผู้ที่ขาดแคลนด้วยนะ ที่แน่ๆ ต้องย้ำว่า ก่อนส่งไปบริจาคเราเองก็ต้องตรวจของให้ดี บรรจุภัณฑ์ยังต้องอยู่ในภาพสมบูรณ์ ไม่มีรอยบุบเบี้ยว หรือการเปิดใช้นะ

PLAY: กิจการกะทัดรัดที่เรารักและซูฮก

พ้นจากเรื่องปากท้อง ก็เป็นเรื่องห่อเหี่ยวใจที่โรคระบาดทำให้เราแทบไม่ได้ใช้ชีวิต ความบันเทิงเริงใจหดเล็กเหลือแค่จอเหลี่ยมๆ ในมือ จนเมื่อเริ่มขยับปรับตัวได้ เราจึงรู้ซึ้งแล้วว่าจะมีอะไรดีกว่าการได้ออกไปใช้เมือง ซัพพอร์ตกิจการเล็กๆ ที่เจอมรสุมหนักมายาวนาน และตักตวงความรื่นรมย์แบบ #ConsciousPlay ให้เต็มที่!

และในบรรดากิจการเล็กๆ มากมาย 5 พิกัดนี้ คือความกะทัดรัดที่เรารักและซูฮกจนต้องยกมาเชียร์อย่างออกนอกหน้า ใน Hey U!_2021.zip ประจำหมวดนี้!

1 – Doc Club & Pub โรงหนังคือสถานที่แรกที่เราพุ่งตัวออกไปเมื่อมั่นใจว่าปลอดภัยพอ และการมาของ Doc Club & Pub คือการเยียวยาใจขั้นสูงสุด ไม่ใช่แค่การคัดสรรหนังเจ๋งๆ แบบที่เราไม่ต้องไปง้อโรงใหญ่ แต่คือการเป็นพื้นที่สำหรับภาพยนตร์และคนรักหนังให้มาแฮงก์เอาต์กันในมวลที่พอดิบพอดี มีหนังสือให้อ่าน มีพื้นที่ให้นั่งคุย มีเครื่องดื่มให้จิบเพลินๆ จุดที่จิบเหล้าบ๊วยรอดู Drive My Car คือความพึงพอใจที่ไม่อาจแทนได้ด้วยปุ่ม skip intro 

2 – Vacilando Bookshop ถึงจะยังสั่งหนังสือออนไลน์ให้ส่งมาที่บ้านได้ แต่การได้ไป Vacilando Bookshop ถึงร้าน (บนชั้น 3 ตึกอะไร อะไร) ได้คุยกับเจ้าของร้าน ได้เปิดคอลเล็กชั่นที่จัดไว้เป็นห้องสมุดชวนอ่าน เลยรวมไปถึงได้ช้อปงานศิลปะจากกระดาษกุ๊กกิ๊กเก๋ไก๋ วันธรรมดาๆ ก็กลายเป็นวันคุณภาพ เพราะสิ่งที่เราต้องการไม่ใช่แค่หนังสือ แต่คือบทสนทนา คือพื้นที่ คือเวลา ที่อยู่ระหว่างบรรทัดของหนังสือภาพในร้านนี้

3 – จับหูชนปาก ร้านแผ่นเสียงและบาร์กะทัดรัดของคนทำเทศกาลดนตรี (Grass on the moon ไง!) ซ่อนตัวอยู่ในย่านพรานนก และเปิดให้ไปจับหูชนปากกันตามนัดแนะผ่าน DM เท่านั้น แม้จะดูยุ่งยากอยู่สักนิด แต่อยากเชียร์ให้ไปนั่งหน้าบาร์ จิบความมึนเมาตามถนัดพร้อมกับแกล้ม แล้วตั้งใจฟังเพลย์ลิสต์ที่เจ้าของร้านเรียงมาให้ผ่านการเปิดแผ่นเสียงทีละแผ่น ทีละแผ่น ชอบแทร็กไหนก็ชวนคุยหรือแชร์กันได้ เป็นความรื่นรมย์ที่ส่วนตัวกำลังดี เพลิดเพลินกำลังงาม เยียวยาความหมองหม่นตลอดปีได้ชะงัดนักแล 

4 – Highland Cafe ก่อนหน้านี้เราตื่นกัญชากันจนเห็นใบกัญชาอยู่แทบทุกคาเฟ่ บ้างก็อยู่ในจานผัดกะเพรา แต่นั่นมันแค่กระแส ตัวจริงที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้มานาน พูดเรื่องกัญชาเสรีอย่างจริงจัง และเป็นพื้นที่ให้เราเรียนรู้คัลเจอร์กัญชาและใช้อย่างเข้าใจ คือคาเฟ่โควต้าบ้านใกล้ไอแอลไอยูแห่งนี้ เราประทับใจความจริงจังจริงใจ และชวนให้เราไฮแบบไม่หลอกกันเหมือนนโยบายกัญชาเสรีของรัฐบาล 

5 – Mischa Cheap ยังไม่ได้แกรนด์โอเพ่นนิ่งอย่างเป็นทางการด้วยซ้ำ แต่บาร์ของนักทำปาร์ตี้อย่าง Dudesweet ก็เปลี่ยนข้าวสารให้มีสีสันใหม่ๆ จนสายปาร์ตี้ สายฮอปปิ้ง หรือสายไหนๆ ก็มุ่งสู่ถนนข้าวสาร สร้างความคึกคักให้ธุรกิจกลางคืนที่เคยซบเซาให้มีความหวัง ซึ่งนอกจากจะชวนไปแฮงก์เอาท์ฟังเพลงหรือมึนเมา ที่นี่ยังตั้งใจให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ มีจัดฉายหนังกลางแปลง ออกแบบไว้เผื่อเป็นเวทีทอล์ก หรืออยากจะขับเคลื่อนอะไรสนุกๆ ก็ทำได้ รอดูเลยว่าปีหน้า Mischa Cheap จะมาไม้ไหนตอนเปิดตัวเต็ม!

HOME: ปีแห่งการส่งขยะพลาสติกกลับบ้านไปเกิดใหม่   

ปีนี้น่าจะเป็นปีที่หลายคนใช้ชีวิตอยู่บ้านนานที่สุดและก็เชื่อว่าน่าจะผลิตขยะพลาสติกจากในบ้านเยอะที่สุดด้วย (ถ้าคุณสั่งอาหารเดลิเวอรี่แทบทุกมื้อ เราคือเพื่อนกัน) 

แต่ขยะพลาสติกที่พอกพูน ก็ไม่อาจขัดขวางความ #ConsciousHome ของพวกเราได้ หลายบ้านแยกขยะพลาสติกกันได้เก่งและละเอียดขึ้นมาก โดยเป็นการทำร่วมกันกับองค์กรเอกชนที่อ้าแขนต้อนรับขยะพลาสติกเพื่อนำไปรีไซเคิลอัพไซเคิลเป็นจริงเป็นจัง (กาดอกจันนิดนึงว่าขยะที่ว่าต้องผ่านการล้างให้สะอาดก่อนนะ) ปีนี้ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีเลยล่ะ ดังนั้น ปีหน้าไม่ว่าคุณจะเป็นคนที่เพิ่งเริ่มต้นแยกขยะหรือจะเป็นนักแยกมือฉมังที่อยากจะเพิ่มปลายทางให้พลาสติกในบ้าน ลองแยกขยะตามประเภทที่แต่ละองค์กรรับและส่งไปที่ปลายทางที่เรารวมมาให้ใน Hey U!_2021.zip กันได้เลย!

1- พลาสติกยืดที่ฉีกไม่ขาด ส่งไป Won (วน) เหล่าพลาสติกยืดทั้งหลายที่ผ่านการทดสอบโดยใช้มือดึงแล้วไม่ขาด สุดเหนียวหรือยืดได้เยอะมากจนกว่าจะขาด อาทิ ซองไปรษณีย์พลาสติก พลาสติกกันกระแทก ถุงซิปล็อก สามารถเก็บรวมกันแล้วส่งไปที่โครงการ Won (วน) ได้ วนเขาจะนำพลาสติกเหล่านี้กลับมารีไซเคิล ให้กลายเป็นเม็ดพลาสติกที่สามารถหมุนเวียนอยู่ในระบบและนำกลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง เพื่อลดขยะพลาสติกที่จะหลุดรอดไปในสิ่งแวดล้อมเรานั่นเอง

2- ถุงขนมวิบวับเคลือบฟิล์ม ส่งไป GreenRoad ถุงวิบวับที่เป็นชื่อเรียกของถุงอลูมิเนียมฟอยล์ที่ด้านในจะเป็นเป็นฟิล์มสีเทาเงาๆ ใช้เป็นหีบห่อสินค้าหลายประเภท อาทิ ถุงขนม ซองกาแฟสำเร็จรูป ข้อดีคือช่วยยืดระยะเวลาเก็บสินค้าได้นานขึ้น แต่ข้อทุกข์ใจคือนำไปรีไซเคิลยากมากเพราะต้องผ่านกระบวนการแสนยุ่งและใช้ทุนสูง แต่อย่าเพิ่งท้อใจ เราสามารถรวมส่งไปให้ทาง GreenRoad แปลงเป็นของใช้ใหม่ได้ ทั้งบล็อกปูพื้นถนน โต๊ะ เก้าอี้ ทำเป็นหลังคาบ้านก็ยังได้!

3- ถุงแกง ถุงขนม รวมขยะกำพร้า ส่งไป N15 ขยะกำพร้าเป็นอีกหนึ่งชื่อของขยะที่ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ ขายต่อไม่มีมูลค่า (ถุงขนมวิบวับก็ด้วย) อาทิ ซองบะหมี่ ถุงรีฟีลน้ำยาซักผ้า ถุงปุ๋ย หน้ากากอนามัยและชุดตรวจ ATK ของผู้ที่ไม่ป่วย ยาเม็ดหมดอายุ เป็นต้น ซึ่งวิธีกำจัดอีกทางคือส่งไปเป็นขยะเชื้อเพลิงที่ N15 เมื่อก่อนใครที่เคยไปส่งที่ N15 อาจต้องแพ็กขยะเป็นกระสอบวิ่งไปส่งเองที่โรงงาน แต่เดี๋ยวนี้เขามีกิจกรรมรับขยะกำพร้าสัญจร เช็กจุดรับแต่ละเดือนว่าใกล้ที่ไหน ก็หอบขยะใส่รถไปฝากได้ ชีวิตง่ายขึ้นมากๆ

4- แยกไม่ไหว รวมพลาสติกหลากชนิดไว้ ส่งไป CirPlas ก็ล้างและแยกพลาสติกไว้แหละ แต่ไม่รู้ว่าพลาสติกชนิดนี้อยู่ประเภทอะไรแล้วต้องส่งไปไหน ไม่เป็นไรๆ เราเข้าใจ อย่างพวกเหล่าพลาสติกจากฟู้ดเดลิเวอรี่ทั้งหลาย แก้ว ฝา หลอดพลาสติก ขวดนม ถ้วยโยเกิร์ต ช้อนส้อมพลาสติก ก็รวมมาส่งที่ CirPlas ได้ ทางทีม CirPlas จะทำการคัดแยกประเภทอีกครั้ง ก่อนส่งเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลหรืออัพไซเคิลเพื่อลดขยะส่งไปล้นที่บ่อฝังกลบ 

5- แยกพลาสติกไว้เยอะมาก อยากขาย เปิดแอปฯ Green2Get ที่บ้านแยกขยะไว้เยอะมาก อยากขายแต่ไม่รู้จะขายที่ไหน ขอแนะนำแอปพลิเคชั่นช่วยแยกขยะที่มาแรงที่สุดในปีนี้ นั่นคือ Green2Get ที่พัฒนาอย่างต่อเนื่องโดย ลุงซาเล้งและขยะที่หายไปพร้อมผองเพื่อน ในแอปฯ นี้นอกจากจะช่วยเราหาร้านขายขยะใกล้ๆ บ้านแล้ว ยังบอกจุดรับบริจาค บอกวิธีการแยกขยะแต่ละประเภทให้ง่ายขึ้นอีกด้วย ลองโหลดมาใช้กันได้ รองรับทั้ง ios และ Android ฟรี!

ขอบคุณทุกองค์กรที่ช่วยกันรับขยะกลับบ้านทำให้เกิดใหม่อีกรอบ และขอขอบคุณทุกคนด้วยที่ช่วยกันเป็นมูฟเม้นต์ช่วยส่งขยะกลับบ้านในปี ทุกคนทำได้ดีมาก ทำต่อไปนะ!

LOVE: ปีนี้แค่ได้ส่งเสียงว่าเราแคร์ ก็ดีมากๆ แล้ว

ไม่รู้ว่าปีนี้จะเป็นปีที่ใจดีหรือใจร้ายสำหรับทุกคน แต่ที่เรารู้คือมีหลายๆ คนที่ใจดีกับปีนี้มากๆ ขอบคุณมากเลยนะ! เพราะในความท้อแท้และหมดหวังกับปัญหาสังคมสารพัด เราก็ยังได้ยินเสียงของผู้คนมากมายซึ่งพยายามตะโกนออกมาดังๆ ว่า ‘เราแคร์อยู่นะ’ และจะไม่ยอมนิ่งเฉยกับสิ่งที่เกิดขึ้นแน่นอน

‘empathy’ เลยน่าจะเป็นอีกหนึ่งคีย์เวิร์ดสำคัญที่ยึดโยงเรากับปี 2021 ไว้ ปีนี้เรามีโอกาสได้เห็นมูฟเมนต์ต่างๆ ที่น่าสนใจ จากเสียงของคนรุ่นเก่า รุ่นใหญ่ รุ่นใหม่ ที่ลุกขึ้นมาสะท้อนปัญหาที่ตนเองอินในแบบที่สนุกและง่าย ที่สำคัญ เราในฐานะพลเมืองคนหนึ่งยังสามารถมีส่วนร่วมส่งเสียงเล็กๆ น้อยไปกับมูฟเมนต์ต่างๆ เหล่านี้ได้ด้วย เราได้แพ็กส่วนหนึ่งของเรื่องราวน่าแคร์ในปีที่ผ่าน Hey U!_2021.zip ไว้แล้ว มาเปิดไฟล์ดูกันว่าจะมีอะไรบ้าง แล้วก็อย่าลืมใจดีกับปีนี้กันเยอะๆ เหมือนเคยนะ!

1 – #ปล่อยเพื่อนเรา เป็นอีกปีที่มีนักโทษทางการเมืองเยอะเหลือเกิน หนักเข้าไปใหญ่คือเด็กและเยาวชนกลายเป็นส่วนหนึ่งในนั้น แค่เพราะการออกมาเรียกร้องอนาคตที่ดีกว่าให้ตัวเอง เพื่อ #ปล่อยเพื่อนเรา ให้ได้ออกมาสู้ต่อ เราเลยอยากชวนทุกคนมาร่วมสนับสนุนเงินทุนให้กับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พวกเขาจะได้มีทุนช่วยนักโทษคดีทางการเมืองต่อสู้คดีในชั้นศาล และดำเนินการช่วยเพื่อนๆ ของเรากันมากขึ้น

2 – สมรสเท่าเทียม อีกหนึ่งการต่อสู้อันยาวนาน แถมยังชวนหัวร้อนจากคำแถลงของศาลรัฐธรรมนูญ! #สมรสเท่าเทียม เลยเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ติดเทรนด์อันดับหนึ่งในโลกออนไลน์บ่อยครั้ง ล่าสุดมีม็อบครั้งใหญ่สุดปังไปแล้ว มีเว็บไซต์ลงชื่อออนไลน์ ยอดก็ปาเข้าหลักแสน เหลืออย่างเดียวจริงๆ คือการที่ศาลและรัฐสภาจะฟังเสียงของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศอย่างจริงจัง และทำให้สิทธิของพวกเขาเท่าเทียมกับเสียงของทุกๆ คนในประเทศนี้สักที 

3 – You We Me Us https://you-me-we-us.com นิทรรศการออนไลน์เข้าใจง่ายที่ชวนเราไปทำความรู้จักกลุ่มชาติพันธุ์ในไทยผ่านควิซสั้นๆ เพื่อให้รู้ว่าในบ้านหลังใหญ่นี้ไม่ได้มีแต่คน ‘ไทย’ อย่างเดียว แต่ยังมีเพื่อนๆ ที่มีวัฒนธรรมและภาษาหลากหลาย ซึ่งจำนวนมากในนั้นกำลังถูกกดทับจากความเป็นไทยอยู่ด้วย เล่นควิซเสร็จแล้วยังแวะไปทำความเข้าใจประเด็นความหลากหลายทางชาติพันธุ์ได้ด้วยการชมหนังสารคดี ‘Becoming Home’ ที่ว่าด้วยเรื่องของเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติในไทยต่อได้ด้วยนะ

4 – Tuk Up ในฐานะติ่งที่ตื่นตาตื่นใจกับการได้เห็นป้ายวันเกิดศิลปินคนโปรดติดอยู่ตามสถานีรถไฟฟ้า บอกเลยว่าการได้เห็นป้ายวันเกิดของพวกเขาติดอยู่ตามรถตุ๊กตุ๊กทั่วเมืองเป็นอะไรที่เจ๋งยิ่งกว่า ทั้งดีต่อใจแฟนคลับ ได้อวดศิลปินที่รักไปทั่วเมือง ดีต่อเจ้าของอู่ตุ๊กตุ๊กเพราะได้สนับสนุนธุรกิจโลคอล แล้วยังได้ต่อชีวิตพี่ๆ คนขับอีกมากมายด้วย ขอซูฮกให้กับทีมผู้ริเริ่มโครงการ Tuk Up ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่ในวงการติ่งไทยและต่างชาติ สุดยอดไปเลย! 

5 – Unmute People หนึ่งในโปรเจ็กต์ช่วง 6 ตุลาฯ ที่รวบรวมศิลปินทั้งนักดนตรี นักร้องน่าสนับสนุน มาร่วมสร้างสรรค์บทเพลงเพื่อชีวิต เพื่อประชาชน ในรูปแบบฟังเพลิน ฟังง่าย แถมสไตล์ของแต่ละวงยังชัดแจ๋วเหมือนเดิม ขอแปะเพลย์ลิสต์ไว้ให้แวะไปลองฟังกันในวันที่หมดหวัง bit.ly/3DgInmM แล้วจะได้รู้ว่ามีเพื่อนๆ คอยร่วมทางสู้ไปกับพวกเราอีกเยอะแยะเลย 

Content Designer

#อดีตนิสิตภาควารสารฯ #เรียนจบแล้ว #นักเขียน

Read More:

Uncategorized

รู้น้า ว่าบางทีก็ขี้เกียจอ่านอะไรยาวๆ ใช่ไหม?

รวมคอนเทนต์สั้นหน้าใหม่ (และเก่า) ทั้ง 6 หมวด มาเป็นเพื่อนคุณในวันที่อยากอ่านอะไรสั้นๆ ย่อยง่าย หลายเนื้อหา

Uncategorized จากผู้ใช้จริง

จาก U ใช้จริง 2021 .rar

รวมสารพัดเรื่องใช้จริง ที่เราลองแล้วว่าดีตลอดปีที่ผ่านมา