Home —— สาระสำคัญ

Beyond KonMari: จัดบ้านแบบสปาร์กจอยไม่ไหว ทำไงได้อีก

เมื่อชีวิตยังไม่ดีขึ้นสักด้าน เพราะยังจัดบ้านครั้งเดียวไม่สำเร็จ…

ในฐานะมนุษย์ที่บ้านรกมาก ของเยอะมาก แต่ก็ชอบอยู่บ้านมาก (แถมยังติดพินเทอเรสต์มาก) ทำให้ฉันหมกมุ่นกับการจัดบ้านเป็นอย่างมาก ได้ลองมาแล้วหลายวิธีหลายสำนักที่เขาว่าดีกัน แต่จนแล้วจนรอดฉันก็ยังทำไม่สำเร็จสักที และไม่อาจมุ้ปอรจากสิ่งนี้ได้เลย

ไหนๆ ก็มีประสบการณ์ตรงด้านความล้มเหลว จึงอยากแปลงความล้มเหลวให้เป็นประโยชน์บ้าง เราจึงรวบรวมข้อมูล วิธีคิด ไปจนถึงประสบการณ์เล็กๆ จากการลงมือทำมาไว้ในที่นี้ หากใครกำลังคิดจะจัดบ้าน โละของ หรือสะสางชีวิตเวอร์ชั่นที่อยู่อาศัยใหม่ จะได้มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจว่าจะจัดการชีวิตอย่างไรดี 

เพราะนอกจากเรื่องการย้ายสสารรกรุงรังออกจากบ้าน เราว่าสิ่งที่ต้องคิดต่ออีกหน่อย น่าจะเป็นเรื่องที่ไปของสิ่งที่เราไม่ต้องการแล้วด้วยเช่นกัน เพราะไม่อย่างนั้นก็เท่ากับโยนปัญหาออกไปนอกบ้านเท่านั้นเอง

ถ้าแบ่งหมวดหมู่ decluttering หรือการจัดบ้านมักจัดอยู่รวมๆ กับหมวดหมู่การพัฒนาตนเอง mindful living ไปจนถึงอะไรทำนอง life-coaching อยู่บ้าง เพราะมันคือการพยายามจัดการคุณภาพชีวิตจากจุดเริ่มต้น เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม นิสัย และความเป็นอยู่ เราเองก็สนใจเรื่องนี้ในแง่นั้น ทุกครั้งที่เราหาของไม่เจอ นอกจากบ้านที่รกเกินไป มันยังหมายถึงระบบจัดการที่กำลังรวนของตัวเอง หรือการที่เราอยากตื่นมาทำอาหารเช้ากินเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีไหม ก็มักจะขึ้นอยู่กับว่าเราจำได้ไหมว่าซื้ออะไรยัดใส่ตู้เย็นไว้บ้าง 

จนกระทั่งเราได้เห็นข่าวว่ารายการ Tidying Up With Marie Kondo ในเน็ตฟลิกซ์ ทำให้ Charity Shop จำนวนมากในอเมริกาต้องปิดรับบริจาค เพราะของที่ไม่สปาร์กจอยจากบ้านทั่วอเมริกาถูกส่งมาอย่างถล่มทลาย ฟังเผินๆ ก็เหมือนจะถูกต้อง เพราะการนำมาบริจาคก็ยังนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ แต่ในความเป็นจริง ข้าวของเหล่านั้นเสื่อมสภาพและนำไปขายต่อไม่ได้ด้วยซ้ำ นั่นจึงเท่ากับนำภาระไปทิ้งให้คนอื่นหรือเปล่า

หรือหากมันถูกโยนลงถังให้เป็นภาระคนเก็บขยะไปเลยดื้อๆ โอกาสที่ขยะไม่ย่อยสลายบางอย่างจะกระจายไปอยู่ในทะเลก็มีไม่น้อย อย่าลืมว่านอกจากหลอดพลาสติกที่เราอินกัน เสื้อผ้ากีฬา ตุ๊กตาบาร์บี้ หรือแผ่นซีดี ก็เป็นพลาสติกเหมือนกัน 

งั้นต้องยังไงดี? ไปดูข้อดีข้อเสียของแต่ละวิธีกันมะ

01 KonMari Method

จากหนังสือ ชีวิตดีขึ้นทุกด้าน ด้วยการจัดบ้านครั้งเดียว ของมาริเอะ คนโดะ การเป็นบุคคลผู้ทรงอิทธิพลในนิตยสาร Times สู่รายการในเน็ตฟลิกซ์ที่สร้างปรากฎการณ์ คือสิ่งยืนยันว่าแนวคิด KonMari Method ทัชใจมหาชนคนอยากจัดบ้านขนาดไหน ในฐานะผู้อ่าน (ที่อ่านจบแล้วอยากจัดบ้าน แต่ลงท้ายด้วยการหาไม่เจอว่าหนังสือหายไปไหน!) หนังสือเล่มนี้ตอบโจทย์ว่าเรื่องบ้านเกี่ยวข้องกับชีวิตเรายังไง อธิบายความผาสุกในจิตใจเมื่ออยู่ในบ้านเรียบโล่ง และไม่จำเป็นต้องอยู่กับข้าวของที่ไม่ต้องการอีกต่อไป ก่อนจะแทรกฮาวทูที่ละเอียดลออ เข้าใจอินไซต์คนบ้านรกอย่างแท้จริง ซึ่งส่วนนี้คือส่วนที่เราชอบมาก โดยเฉพาะการพับผ้าใส่ลิ้นชักในแนวตั้งที่ช่วยให้เราเห็นเสื้อผ้าทุกชิ้น ไม่มีตัวไหนถูกทับจนลืมไม่หยิบมาใช้ คือการแก้ปัญหาตรงจุดที่เรียบร้อยสวยงาม เปิดลิ้นชักทีไรก็จอยใจทุกที

รีแคปเล็กน้อยสำหรับคนที่ยังไม่รู้ ว่าวิธีการที่เรียกว่า KonMari Method คือการต้องจัดบ้านครั้งเดียวให้จบ รวบรวมลมปราณแล้วจัดหมวดหมู่ เสื้อผ้า หนังสือ เอกสาร และข้าวของจุกจิก หลักสำคัญอยู่ที่การทิ้งให้หมด เลือกเก็บเฉพาะสิ่งของที่ปลุกเร้าความสุขในจิตใจหรือ Spark Joy จับชิ้นไหนแล้วไม่จอยก็ให้กล่าวขอบคุณแล้วทิ้งโลด เสื้อผ้ารอผอมที่ไม่ผอมซะที หนังสือที่คิดว่าจะอ่านแต่ไม่เคยได้อ่าน เอกสารที่เก็บเผื่อเพื่อจะหาไม่เจอตอนต้องใช้ เหลืออะไรค่อยมาจัดให้เข้าที่เข้าทางอีกที ซึ่งมันเป็นทางลัดที่ช่วย ‘คัดทิ้ง’ ได้ดีจริงๆ แหละ แต่ปัญหาคือมีสิ่งตกกระป๋องรอกำจัดกองพะเนินทีเดียวตามที่บอกไป 

และจากการทดลองทำ บอกเลยว่าบ้านตึกแถวสี่ชั้นที่มีข้าวของอัดแน่นทุกอณู ทำให้ไม่อาจรวบรวมลมปราณทำรวดเดียวจบได้จริงๆ เคยประนีประนอมทำแค่ชั้นเดียว ก็เจอของไม่จอยใจและต้องทิ้งมากจนตกใจ ไม่กล้าเอาไปทิ้งเพราะเกรงใจคนทิ้งอีกที พอมาคัดแยกเป็นหมวดหมู่ ส่งบริจาค และแยกขยะตามหมวด ก็กินเวลามากมาย โอกาสทำทั้งบ้านจึงไม่เคยเกิดขึ้น!

เลยคิดว่าคนที่เลือกใช้วิธีนี้ ควรมีลมปราณและเวลามหาศาล หรืออย่างน้อยก็มีพื้นที่จำกัด ใครอยู่ห้องและคอนโดฯ วิธีนี้อาจได้ผลดีมาก เคลียร์ใจจบปิ๊งได้ในเวลาไม่กี่วัน แต่อย่าลืมคัดแยกหมวดหมู่ให้ทีก่อนกำจัดออกจากห้องนะ ทิ้งรวมๆ ใส่ถุงดำมันก็สะใจดี แต่ลองสงสารทรัพยากรที่ถูกใช้ไม่คุ้มหน่อย   

02 The Minimalists Packing Party

หากคิดว่าวิธีสปาร์กจอยยากแล้ว มาเจอด่านบอสที่นี่จ้ะ!

นี่คือวิธีที่ถูกคิดค้นโดย Ryan Nicodemus และ Joshua Fields Millburn คู่หู Minimalists ที่อาศัยอยู่ในบ้านโล่งๆ เพราะตระหนักแล้วว่าชีวิตไม่ได้ต้องการเสื้อหลายตัว สัญญาณไวไฟ หรือใดๆ ที่เราคิดว่าบ้านต้องมี จริงๆ หลักใหญ่ใจความที่สองคนนี้พยายามพูด คือลัทธิบริโภคนิยมที่เราต่างซื้อเพื่อมีตัวตน บริโภคเพื่อบอกตัวเองว่าเรามีคุณค่า (เพราะมีราคาที่ต้องจ่าย) เมื่อเราอยู่ในนิยมนี้ ก็เท่ากับเราอาศัยอยู่ท่ามกลางข้าวของที่เราจ่ายเพื่อให้ได้มา ทั้งๆ ที่เราไม่ต้องการมันขนาดนั้นหรอก

เมื่อสองคนนี้เอนไลท์เท่นจากสิ่งนี้ เขาเลยเดินหน้าเล่าเรื่องนี้ผ่านหนังสือและช่องทางมากมาย (สารคดีในเน็ตฟลิกซ์นั่นก็ด้วย) และก็มีคนเริ่มเห็นงามกับเขาพอสมควร ลัทธิน้อยๆ หน่อยนี้เริ่มเฟื่องฟูขึ้น และเขาก็ย้ำเสมอว่านี่ไม่ใช่เรื่องการจัดบ้านหรอกนะ แต่เป็นวิธีคิดต่อระบบต่างหาก เรื่องมันจึงเลยเถิดไปถึงการออกจากงานมั่นคง ออกจากความสัมพันธ์ห่วยๆ เลิกให้และรับของขวัญไร้สาระ และอีกนานาต้องกลับไปว่า เราจะหลุดจากความสุขปลอมๆ ของบริโภคนิยมได้ยังไง

แต่ไหนๆ คนจำนวนมากก็สนใจแนวคิดนี้จากการจัดบ้าน (เหมือนเรา) เขาก็เลยออกแบบเกมฝึกจิตมาให้ ด้วยการแพ็กทุกอย่างลงกล่องเหมือนจะย้ายบ้าน ชวนเพื่อมาปาร์ตี้เพื่อแพ็กด้วยกันก็ดี แล้วลองดูว่าใน 21 วันหลังจากนั้น เราต้องเปิดกล่องเพื่อหยิบใช้ไอเท็มไหนบ้างหรือเปล่า ถ้าไม่มี ก็แปลว่านั่นไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการใช้ในชีวิตประจำวัน ตาสว่างเถอะจ้ะว่าของที่ใช้อยู่มีไม่กี่ชิ้นก็พอ จากนั้นก็หาทางนำของเหล่านั้นไปอยู่ในที่ที่เหมาะสม จะบริจาค ขาย หรืออะไรก็ว่ากันไป เพราะกิจกรรมนี้ให้ความสำคัญเรื่องการเข้าถึงสัจธรรมว่าชีวิตไม่ต้องการข้าวของใดเลย

แน่นอนว่าเราก็ทำอันนี้ไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าต้องใช้กล่องกี่ใบถึงจะของหมดบ้าน แต่เคยลองแพ็กหนังสือยกชั้นแบบไม่เลือกใส่กล่องไว้ จริงๆ ทิ้งไว้เกือบ 2 เดือนเกินกว่าที่โจชัวกับไรอันบอกอีก ก็เลยรู้ว่าไม่เคยคิดจะเปิดหาอีกเลย พอมีคนมาขอเอาไปไว้ในห้องสมุดศูนย์คนพิการก็เลยยกให้เขาไปทั้งกล่อง มานึกเสียดายทีหลังว่ามีเล่มโปรดหลุดไปเหมือนกันนี่นา แต่ก็ไม่เห็นเป็นไรนี่แก อันนี้นับเป็นการเอนไลท์เท่นได้มะ! 

อย่างไรเสีย ก็ขอย้ำอีกทีว่าคิดถึงที่ไปของสิ่งที่ไม่ต้องการด้วยแล้วกัน หรือถ้าตอนปาร์ตี้แพ็กกล่อง ก็แยกหมวดหมู่ไว้เลยก็ได้ อันไหนสภาพดีพอบริจาค แบ่งประเภทเป็นอย่างๆ จะได้จัดการต่อง่าย ไหนๆ ก็เป็นของที่สภาพดีทั้งนั้น เหนื่อยเยอะหน่อยก่อนจะกลายเป็นคนน้อยๆ หน่อย ก็ดีไม่น้อยนะ!

03 Declutter Exercise

ร่างกายต้องการการออกกำลังกายฉันใด จิตใจฝักใฝ่ความเป็นระบบก็ต้องการความสม่ำเสมอฉันนั้น แนวคิดนี้ในหลายๆ คน ตั้งแต่สายไลฟ์โค้ช Zen Habit หรือสายจัดบ้านกำจัดน้ำหนักอย่าง Peter Walsh เจ้าของหนังสือ Lose the Clutter, Lose the Weight ก็บอกคล้ายๆ กันว่าให้ฝึกจิตให้คิดกำจัด จัดทุกวัน ทิ้งทุกวัน บางตำราบอกว่าห้านาทีต่อวันก็พอ บางสำนักของสิบนาที บางที่ก็ปาไปยี่สิบ แต่ที่เหมือนกันคือเน้นความสม่ำเสมออย่างน้อย 2 สัปดาห์ขึ้นไป 

งานนี้ เริ่มจากจุดเล็กๆ แค่หน้ากระจก ลิ้นชักชุดชั้นใน อ่างล้างจาน หรือตู้หมกของในห้องน้ำก็ได้ ค่อยๆ ทำไปวันละนิดละหน่อย ด้วยการถือถุงดำสองถุง ถุงนึงทิ้งสิ่งที่หมดสภาพ เครื่องสำอางหมดอายุ ครีมเทสเตอร์ที่ไม่ได้ใช้ มีดโกนสนิมขึ้น กับอีกถุงใส่สิ่งที่พอบริจาคหรือขายต่อได้ เสื้อผ้ายังใหม่แต่ใส่ไม่ได้ หนังสือที่อ่านจบแล้วและพอแล้ว ฯลฯ จากนั้นก็จัดการให้อยู่ในที่ที่ควร

นี่เป็นวิธีที่เราทำตลอด ไม่ใช่เพราะอยากเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม แต่เพราะจุดในบ้านมันอนันต์จริงๆ สิ่งที่เริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงคือโต๊ะหน้ากระจกเรียบร้อยขึ้นจริง และซื้อสกินแคร์น้อยลงจริงเพราะอยากให้โต๊ะโล่งๆ ลิ้นชักชุดชั้นในเรียบร้อยมาก เพราะเอาที่สภาพดีไปบริจาคให้ทัณฑสถานหญิงไปหมดแล้ว หรือขยะ e-waste ในลิ้นชักถูกจัดการดีสุดๆ แต่กับจุดใหญ่ๆ อย่างห้องหมกของก็ยังหมกอยู่อย่างนั้น เพราะวันละ 5-10 นาทีตามประสาคนไม่มีเวลา มันจัดสรรไม่ไหวอยู่แล้ว ก็เลยต้องรอวาระพิเศษและใช้วิธีพิเศษมาจัดการต่อไป

ข้อเสียอีกข้อคือเวลาน้อยแต่งานต้องละเอียดนะ บางวันเราเก็บ อีกวันเราก็เอาที่เก็บมาแพ็กใส่กล่องไปรษณีย์บริจาคไปยังจุดรับต่างๆ หรือหาเวลาไปตามที่ที่รับบริจาค ก็บริโภคเวลาในอีกรูปแบบหนึ่งแทน แต่ก็ดีกว่าทิ้งๆ ไปแหละเนอะ

04 Four Box Method 

เราว่าวิธีนี้เป็นระบบดีและประนีประนอมมากแล้ว คือไม่ได้เอะอะทิ้ง เอะอะโละ แต่เน้นจัดเก็บพร้อมจัดการ หลักการคือการเซ็ตวันจัดบ้าน แล้วหากล่อง (ซึ่งจะเป็นตะกร้าผ้า หรือภาชนะใดๆ ก็ได้ที่เพียงพอ) 4 ใบ มาจัดหมวดหมู่สิ่งของดังนี้ 

Relocate เดินหาให้ทั่วบ้าน ว่ามีอะไรอยู่ในที่ที่ไม่ควรอยู่ แล้วก็ใส่กล่องรวมกันไว้ คัดแยกเสร็จก็ค่อยๆ นำมันไปไว้ในที่ที่ควรอยู่ เช่น ไม่ควรมีมีดอยู่บนโต๊ะหน้าทีวี ไม่ควรแหมะเสื้อผ้าไว้ในห้องน้ำ ฯลฯ  

Donate กล่องนี้บริจาค พยายามคัดที่สภาพดี นึกถึงใจคนรับ นี่เคยมีคนรับบริจาคมาเม้าท์เพื่อนให้ฟังว่าบางคนเอามาบริจาคเหมือนเอามาฝากทิ้ง สภาพไม่ไหวแล้วจ้า เลยควรกดดันตัวเองบ้างว่าอย่าให้ความหวังดีกลายเป็นภาระให้ใครนะ

Trash กล่องนี้ทิ้งแน่ อะไรที่ไม่ใช้และไม่ใช่แน่ๆ ก็ใส่มา แต่วิธีที่เราว่าจะดีกว่าคือไปคัดแยกประเภทกล่องนี้อีกทีหลังจัดการบ้านเสร็จ เพราะถ้าคัดแยกคร่าวๆ เป็นขยะรีไซเคิลได้ หรือขยะอันตรายกำจัดยาก ก็ช่วยลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมไปได้เยอะนะ ถ้าอุตส่าห์พกถุงผ้า จริงจังกับพี่ๆ ฟู้ดเดลิเวอรี่เรื่องไม่เอาหลอด ไม่เอาช้อนส้อมพลาสติก ก็อย่าตีเบลอ โชว์เหนื่อยทิ้งของในบ้านง่ายๆ ด้วยนะ 

Sell แม้เฟซบุ๊กจะปิดกั้นการมองเห็นในโพสต์ขายของ แต่การขายข้าวของส่วนตัวทางออนไลน์อื่นๆ หรือแพลตฟอร์มต่างๆ ก็ยังได้เงินกลับมาให้พอชื่นใจ ถ้ายังเป็นของสภาพดี มีคนต้องการแน่ หรือจะเก็บไว้ร่วมกิจกรรม swap หรือแลกกันกับเพื่อนก็น่าสนใจ อย่างน้อยของก็ยังถูกใช้ต่อ ใครสายบุญจะเอาเงินที่ได้ไปบริจาคก็ยังได้ด้วยนี่

ข้อเสียของวิธีนี้คือยืดเยื้อยาวนาน ไม่จบปิ๊งเสกทุกอย่างหายวับ แต่จะเอาอะไรกับชีวิตนักหนา ค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไปบ้างก็ได้เนอะ

05 Mindful Consumer

วิธีสุดท้ายที่เหมือนจะไม่เกี่ยวแต่เกี่ยวสุดๆ กับเรื่องบ้านรก บ้านรุงรัง เพราะทุกอย่างมันเริ่มต้นที่การซื้อ! ไม่ว่าจะเก็บบ้านเรียบร้อยด้วยวิธีไหน แต่ถ้ายังซื้อเข้า ซื้อเอา ซื้อสนุกอยู่นั่น โอกาสที่บ้านจะกลับมารกซ้ำ และรกมากก็เดิมก็มีสูง (เชื่อคนเจ็บมาก่อนอย่างเราเถอะ) ยิ่งเวลาเคลียร์ตู้เสื้อผ้าโล่งๆ ใจมันจะอยากซื้อของใหม่โดยอัตโนมัติ เราอาจมีข้ออ้างเพิ่มขึ้นเพราะตัวนี้ยังไม่มี ตัวนั้นไม่ซ้ำหรอก แต่ถ้าไม่เท่าทันใจดีๆ ก็จะพบว่ามันสนองใจตอนซื้อมากกว่าตอนใส่ เช่นเดียวกันกับข้าวของอื่นๆ ในบ้านเหมือนกัน

สิ่งที่ยากแต่ทำได้แหละ เชื่อเรา คือการคิดเยอะอีกนิดก่อนซื้อ ว่ามันจะใช้คุ้ม ใช้นาน ใช้ไม่เบื่อ จริงไหม หรือซื้อเพราะอยากได้ อยากจับจ่าย อยาก cf ได้เป็นคนแรก เพราะถ้าเป็นอย่างหลัง สิ่งที่เหนื่อยยากตอนจัดบ้านทั้งหมดจะยังคงเหมือนเดิม (เสียงเอคโค่เตือนใจ)

พูดมาขนาดนี้ถามว่าแล้วแกทำได้ไหม ตอบภาคภูมิใจเลยว่าเราไม่ได้ซื้อเสื้อผ้าใหม่มา 2 ปีแล้ว! แต่จานชามมือสองยังมีหลุดรอดบ้าง หนังสือยังซื้อเสมอ และซื้อวัตถุดิบทำอาหาร (แบบไม่ได้ทำ) น้อยลงแล้วนะ 

ผลลัพธ์ฉับพลันไม่เกิด บ้านยังระเบียบบางมุม และรุงรังบางมุม แต่อย่างน้อยก็รู้ว่าทำไปทำไมน่ะนะ

Content Designer

อดีตผู้ช่วยบรรณาธิการนิตยสาร #aday คือเจ้าของหนังสือทั้งเรื่องจริงและเรื่องแต่ง อาทิ #สนธิสัญญาฟลามิงโก #ร้านหวานหวานวันวาน คือบรรณาธิการอิสระและคอนเทนต์ครีเอเตอร์ฟรีแลนซ์ ก่อนจะมาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทออกแบบคอนเทนต์ที่ยังไม่รู้จะตั้งชื่อตำแหน่งตัวเองว่าอะไร

Read More:

Home

บอกเลิกมันง่าย แต่ตัดใจทิ้ง ‘ของเคยรัก’ ยังไงถามหน่อย

คำตอบรออยู่ใน Barter System Club: Pre-loved Talk & Trade เวิร์กช็อปบอกเลิก บอกเล่า และบอกแลก ‘ของเคยรัก’

Home ผลการทดลอง

ทดลองทำ Un-Shopping List (ได้จริงหรอ?)

หยุดช้อป กลั้นใจไม่ซื้อของใหม่ 1 เดือนเต็ม

Home

#จับฉลากของขวัญเคยรัก หมายเลข 3 | เจ้าของเก่า: เต้

ของขวัญเคยรักปริศนาหมายเลข 3 ที่จะนำจับฉลากของขวัญเคยรัก ที่ใครได้ไปก็ได้ใช้แน่นอน!