Eat —— ปฎิทินฤดูกิน

ปฏิทินฤดูกิน | สวัสดีเดือนมีนาคม

ช่วงเวลาบอกลาอากาศที่ (เกือบ) เย็น เตรียมเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเต็มรูปแบบ หลายคนอาจนึกถึงผลไม้หอมหวานที่ได้เก็บทานบ่อยๆ ช่วงหน้าร้อน บ้างอาจนึกย้อนไปถึงวัยเด็กที่ได้ลัดเลาะรอบรั้วเก็บพืชผักตามฤดูกาลมาทำอาหารกับที่บ้าน หรือต่อให้บอกว่าบ้านอยู่ในตึกแถวหรือคอนโด ไม่คุ้นเคยกับต้นไม้หรือพืชผลตามฤดูกาล แต่ถ้าลองนึกดีๆ เราก็น่าจะพอรู้จักเมนูห้ามพลาดที่ต้องกินเฉพาะช่วงเวลาอยู่บ้างแหละ

ไม่ใช่แค่ความอร่อยจากการกินอาหารจากวัตถุดิบในช่วงเวลาที่ดีที่สุดของมัน แต่การเลือกกินอาหารตามฤดูกาล ทำให้เราได้สนับสนุนเกษตรกรและผู้ผลิตรายย่อยที่ยังทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยการพึ่งพาธรรมชาติโดยตรง ซึ่งผลผลิตหลายอย่างที่เขาปลูก ผลิต และปรุง ก็ลงมือทำกันอย่างใส่ใจ คอลัมน์ ‘ปฏิทินฤดูกิน’ ของเราจึงอยากมาแนะนำของกินที่ดีต่อทั้งคนปลูก คนทำ คนกิน ครบถ้วนทั้งกระบวนการ ให้ทุกคนได้ไปสนับสนุนกันเป็นประจำทุกเดือนจากนี้ 

  • มะม่วง

เดือนมีนาคมที่ใกล้เข้าหน้าร้อนเต็มที นอกจากอากาศที่ร้อนฉ่าจนเราเหงื่อไหล เหล่าต้นไม้ก็มีการเปลี่ยนแปลงเหมือนกัน บ้านใครปลูกมะม่วง (1) ถ้าแหงนมองก็จะเห็นว่าเริ่มสุกแล้วเหมือนกัน อย่าลืมสอยมะม่วงรอบบ้านมากิน ดอง หรือกวนแจกเพื่อน ก่อนที่จะร่วงหมดต้นแล้วอดกินล่ะ! 

  • ผักหวาน

มองไปรอบๆ อีกนิดที่ริมรั้วบ้านบางคนอาจจะมีผักหวาน (2) ขึ้นตามธรรมชาติอยู่ด้วย ฤดูนี้ผักหวานก็กำลังโตเต็มที่ ได้เวลาแล้วที่จะเก็บไปต้ม ไปผัดกัน ใครไม่มีต้นไม้เหล่านี้อยู่รอบบ้าน ขอส่งสัญญาณให้ไปหามะม่วงกับผักหวานตามตลาด ช่วงนี้กำลังอร่อยและราคาไม่แพงเลยล่ะ

  • น้ำผึ้งชันโรง

ลองจินตนาการว่ากำลังขึ้นเหนือ ลึกเข้าไปในป่าที่เชียงใหม่ ที่ชุมชนปกาเกอะญอ ตอนนี้ก็เป็นฤดูของ น้ำผึ้งชันโรง (3) อยู่พอดี ผึ้งขนาดเล็กจิ๋วที่ชื่อชันโรงเหล่านี้ จะทำหน้าที่เก็บเกสรจากดอกไม้ขนาดเล็กและสมุนไพรนานาชนิดมาผสมเป็นน้ำผึ้งสุดพิเศษ ที่ให้รสชาติซับซ้อน แตกต่าง ละหลากหลาย แล้วแต่ว่าชันโรงตัวนั้นๆ ไปผสมเกสรกับอะไร ที่ไหน แต่นี่แหละคือตัวแทนความหลากหลายของป่าที่หาไม่ได้ง่ายๆ จากผึ้งเลี้ยง แถมความพีคคือยังต้องรอ 3-4 ปี กว่าเกสรจะตกตะกอนเป็นน้ำผึ้งให้เราได้กินกัน น้ำผึ้งชันโรงจึงเป็นซูเปอร์ฟู้ดหาทานยากที่มีโพรโพลิสสูง มีสรรพคุณเป็นยา จะกินวันละช้อนเพื่อสุขภาพ นำไปปรุงอาหาร หรือเอาไปผสมกับน้ำผึ้งที่บ้านใช้ดองผลไม้รสเปรี้ยวก็อร่อยสุดๆ

  • ฮ่อวอ

ยังไม่หมดนะ ในไร่ของชาวปกาเกอะญอยังมี ฮ่อวอ (4) หรือพืชวงศ์เดียวกับกะเพรา ฮ่อวอถือเป็นสัญลักษณ์ของไร่หมุนเวียน เพราะเจอได้ตลอดการทำไร่นา ชาวปกาเกอะญอจะเก็บส่วนของดอกไปตากแห้งเพื่อให้พร้อมกินในเดือนนี้ บ้างก็เอามาแปรรูปเป็นผงโรยข้าวสไตล์ญี่ปุ่น แต่ส่วนใหญ่จะเอาไปใส่เป็นเครื่องเทศเพื่อเพิ่มรสชาติในอาหาร ใส่แกง ชงชา หรือเอาไปใส่ตอนทำแครกเกอร์ ก็จะให้กลิ่นและรสชาติที่ยูนีคไม่เหมือนใคร ซับซ้อนเหมือนยี่หร่า ตะไคร้ สะระแหน่ผสมกัน มีสรรพคุณช่วยล้างพิษในตับ จึงถือเป็นยาธรรมชาติชั้นดีตัวหนึ่งเลย

  • มันมือเสือ

พืชของชาวปกาเกอะญออีกชนิดที่เติบโตช่วงนี้พอดีก็คือ มันมือเสือ (5) พืชใต้ดินรสสัมผัสเหนียวหนึบ ถือเป็นฐานอาหารสำรองของคนปกาเกอะญอเลยก็ว่าได้ เพราะปลูกง่าย เก็บได้หลังฤดูเก็บเกี่ยวพอดี ปีไหนข้าวน้อย ชาวปกาเกอะญอจะเพิ่มมันมือเสือมาเป็นวัตถุดิบหลักในมื้ออาหาร เมนูซิกเนเจอร์จากมันมือเสือก็คือ ‘ข้าวเบ๊อะ’ คล้ายข้าวต้มทรงเครื่อง ต้มข้าวแล้วเติมผักและเนื้อสัตว์แบบจัดเต็ม ต่อด้วยมันมือเสือเพิ่มความหนึบหนับ เราก็จะได้ลิ้มรสข้าวเบ๊อะตามฤดูกาลที่ว่ากันว่าอร่อยสุดๆ หรือใครจะนำมันมือเสือไปต้ม ผัด หรือทำแกงก็อร่อยไม่แพ้กัน

วัตถุดิบจากป่าทางเหนือและไร่นาของชาวปกาเกอะญอที่เราเล่ามาทั้งหมด ขอแปะพิกัดให้ไปตามสั่งกันได้ที่ HostBeeHive และ LittleFarminBigForest ทั้งสองร้านเป็นของ จั้มพ์-ณัฐดนัย ตระการศุภกร ชาวปกาเกอะญอรุ่นใหม่ที่ทำงานกับชาวปกาเกอะญอท้องถิ่นโดยตรง แล้วจะรู้เลยว่าวัตถุดิบโลคอลเหล่านี้จะไม่ใช่เรื่องกินยากแบบที่คิด

แล้วเดือนมีนาคมของคุณล่ะ นึกถึงเมนูไหนหรือมีวัตถุดิบอะไรในดวงใจบ้าง 

Content Designer

#อดีตนิสิตภาควารสารฯ #เรียนจบแล้ว #นักเขียน

Communication Designer

#กราฟิกดีไซเนอร์ #นิสิตออกแบบสื่อสาร

Read More:

Eat วิธีทำ

Stay (and Cook) at Home เมนูกักตัวอยู่บ้านยอดฮิตของคนทั่วโลก

รวมเมนูฮิตจากวาระเก็บตัวของคนทั่วโลก

Eat บันทึกประจำวัน

Urban Foraging BKK บันทึกเด็ดดอกไม้กินจริงๆ ไม่ได้เล่นขายของ

ความสนิทสนมกับต้นไม้ในซอยบ้านนี่แหละ ที่จะทำให้เรากลมเกลียวกับโลกใบนี้มากขึ้น

Eat บันทึกประจำวัน

#ก็อปเกรดบี ทำเนียนเลียนแบบอาหารร้านโปรด

ลอกเมนูที่ชอบๆ จากร้านโปรดที่ไปประจำ มาทำกินเองที่บ้านให้หายคิดถึง