Love —— ili U & FOOD FOR GOOD

SAME SHAME BUT DIFFERENT

หลายคนโตมากับการบูลลี่ในโรงเรียน ถูกเพื่อนตบหัวแล้วลูบหลังด้วยคำว่า “ล้อเล่น” “ขำๆ แก” “รักนะ ถึงแซว” “เล่นด้วยไม่ได้เหรอ” บางคนรับมือได้และปล่อยมันไปพร้อมการเติบโต แต่บางคนก็แบกไว้จนใช้ชีวิตยาก เพราะการถูกตีตราด้วยรูปร่าง ปมด้อย หรือความแตกต่าง มันไม่ใช่เรื่องน่าดีใจเลยสักนิด

นอกเหนือจากการส่งเสียงซ้ำๆ ว่าเราไม่ควรปล่อยให้วัฒนธรรมนี้คงอยู่ตลอดไป เหมือนเลิกรับน้องในมหา’ลัย เลิกระบบโซตัสได้ เลิกตัดสินกันด้วยเพศได้ก็เลิกเหอะ เรายังพบว่าเรื่องบูลลี่กันขำๆ ในรั้วโรงเรียนมันยังมีมุมที่เราไม่ค่อยได้พูดถึง  

ไอแอลไอยูได้ทำงานกับ FOOD FOR GOOD ผ่านแคมเปญและคอนเทนต์สื่อสารปัญหาโภชนาการเด็ก และบอกเล่าเครื่องมือแก้ปัญหาผ่านถาดหลุมโรงเรียน นั่นทำให้เราฉุกคิดขึ้นมาได้ว่า การโดนเรียก “ไม้เสียบผี” “น้องเบาหวิว” “ช้างน้ำ” หรือ “ไอ้เตี้ย” มันไม่ใช่แค่การตัดสินกันที่รูปร่าง แต่ยังสะท้อนไปถึงต้นทางของปัญหาอย่างโภชนาการของเด็กๆ ที่ได้จากอาหาร ไม่ว่าจะที่บ้านหรือโรงเรียน เราจึงชวนเจ้าของฉายาในอดีต มาคุยถึงความในใจ รวมทั้งความทรงจำเกี่ยวกับอาหารของพวกเขา ในโปรเจกต์ ili U & Friends อีกรูปแบบคอนเทนต์ที่เราจะจับมือกับเพื่อนหลากหลายวงการเพื่อสื่อสารประเด็นที่เราอาจขับเคลื่อนและสร้างแรงกระเพื่อมเล็กๆ ในคนรอบตัวได้ 

Same Shame but Different คือโปรเจกต์แรกที่ว่า ซึ่งนอกจากจะส่งเสียงว่าเราไม่ควรบูลลี่กัน เราอาจจะต้องหันมาสนใจปัญหาโภชนาการเด็กกันอย่างจริงๆ จังๆ ดูสักที

01 ชื่อที่เพื่อนเรียก: ไอ้เตี้ย | ชื่อนี้ที่อยากให้เรียก: จอย

ตอนประถมเราต้องยืนหัวแถวตลอด ก็จะโดนเรียกว่าไอ้เตี้ย ไม่ค่อยรุนแรงมาก ยังมีความเบสิกๆ อยู่ แต่มันก็ส่งผลกับเรานะ เหมือนเราฝังใจกับรูปร่าง กับส่วนสูงของตัวเองตลอด กับเพื่อนๆ อาจจะไม่ค่อยเท่าไหร่ เด็กประถมอาจจะยังแซวไม่เก่งมาก แต่กับญาติๆ จะเยอะ ครอบครัวคนจีน วันอาทิตย์เจอกันบ้านอาม่า ก็จะเทียบกันแล้ว ‘อุ๊ย จอย ทำไมเตี้ยอย่างนี้ ดูน้องซิ เขาสูงถึงไหนแล้ว’ หรือ  ‘น้องจะสูงทันแล้วเนี่ย’ 

“พอเริ่มขึ้นมัธยม ไซส์เริ่มระเบิด แต่ก็ยังไม่ได้กังวลเรื่องความสวยอะไร จนพอขึ้นมัธยมปลาย เริ่มแบบรู้สึกว่าทำไมคนอื่นใส่ชุดม.ปลายแล้วดูสวย ใส่เข็มขัดแล้วมีเอววะ ทำไมกูดูป้อมๆ เพราะเราไม่สูงด้วย เวลาไปซื้อกระโปรงกับเพื่อนที่สหกรณ์ เพื่อนเอว 24-25 แต่เรา 26 แล้วก็ข้ามไป 27 ไป 28 เราเรียนโรงเรียนหญิงล้วน ก็จะมีแซวๆ ว่ามึงขาใหญ่อะ มึงตูดบาน บางทีไม่ได้แซวต่อหน้า แต่รู้สึกว่ามีคนพูดอยู่ข้างหลัง อุ๊ย ตูดใหญ่เหมือนกันเนอะ เราก็ยิ่งไม่ค่อยเซลฟ์กับร่างกายตัวเอง 

ความไม่เซลฟ์นี้มันมีผลอีกทีตอนมหา’ลัย พอเราต้องเริ่มเข้าสังคมที่มีผู้หญิงผู้ชายเยอะขึ้น เริ่มเป็นสาวขึ้น ห่วงเรื่องความสวยความงาม แม้จะไม่ได้อ้วนมากแต่เราไม่เซลฟ์เลย ก็เลยกินยาลดความอ้วน กินจนความดันต่ำ หน้ามืด ก็ยังกินต่อ เพราะรู้สึกว่าเราไม่โอเคกับร่างกาย

ตอนนั้นเพื่อนเริ่มล้อ ‘เฮ้ย จอย มึงแม่งเป็นขาใหญ่’พานพุทธ’ ซึ่งยาลดความอ้วนมันเอฟเฟ็กต์เราประมาณหนึ่ง พอหยุดยาแล้วมันโยโย่กลับมาดับเบิ้ล ทำให้เราอาย ไม่กล้าออกไปไหนอยู่ช่วงหนึ่ง ใครชวนไปไหนก็ไม่ไป บอกว่าอ่านหนังสือ เก็บตัวจนกว่าตัวเองจะเข้าที่เข้าทาง ถึงจะออกไปกับเพื่อนอีกครั้ง 

“มีครั้งหนึ่งตอนเรียนจบ เริ่มทำงานแล้ว ตื่นขึ้นมาจะไปเข้าห้องน้ำ แล้วรีบลุกจนเวียนหัวแล้วล้ม คางลงพื้น คิดว่าไม่เป็นไรมั้ง เจ็บหน่อยๆ ก็วิ่งไปห้องน้ำ แล้วกลับมานอน นอนไปสักพัก อะไรเปียกๆ วะ เปิดไฟดู เลือดไหลที่คางเป็นทาง เลยรีบไปหาหมอเย็บอยู่หลายเข็มเหมือนกัน เลยคิดว่าต้องดูแลสุขภาพตัวเองเยอะขึ้นนะ การที่เรากินยาลดความอ้วนติดต่อกันนานๆ เปลี่ยนคลินิกไปเรื่อยๆ มันคงต้องหยุดละ ก็ค่อยๆ เริ่มหาวิธีใหม่ๆ ให้ตัวเอง เช่นออกกำลังกาย แต่กว่าน้ำหนักจะลดลงมาก็เป็น 10 ปี คือหาว่าอะไรที่เฮลท์ตี้กับเราจริงๆ ทั้งการออกกำลังกายและอาหาร

“ถามว่าอาหารมีผลไหม เราว่ามี ตอนเด็กๆ เกิดมาในยุคที่พ่อแม่ยังตั้งตัวไม่ค่อยได้ มันก็เอฟเฟกต์เรื่องอาหารด้วย พ่อแม่ต้องทำงานหาเงิน ตอนเช้าไม่ได้มีเวลาเตรียมอาหารให้เรามาก ข้าวเช้าตอนรอรถโรงเรียนก็คือกินข้าวต้มกับหมูหยอง ไข่ต้ม หรืออะไรง่ายๆ  หรือบางวันแม่ทำโจ๊ก แต่เป็นโจ๊กที่ไม่อร่อยอะ คือรู้ว่าแม่อาจจะไม่ได้มีเวลา ก็เลยทำให้ไม่รู้สึก Enjoy Eating เท่าไหร่ 

“ทีนี้ อาหารที่โรงเรียนก็ไม่อร่อยอีก กินไม่ค่อยได้ ต้มยำเห็ดนางฟ้า มีกระดูกไก่กับเศษๆ ไก่พ่วงมาด้วย หรือผัดผักจืดๆ แต่แน่ๆ คือข้าวเยอะ ยิ่งถ้าวันไหนลงมากินข้าวช้า กับข้าวก็จะไม่ค่อยเหลือแล้ว ได้กินข้าวราดน้ำแกงอะไรแบบนี้ เน้นกินข้าวให้อิ่ม ไม่ค่อยได้คิดถึงเรื่องโภชนาการเท่าไหร่ หรือพอโตมา เริ่มเอนจอยเพราะมีเพื่อนกินด้วย แต่ก็จะกินแต่อะไรโง่ๆ ยำโง่ๆ ขนมหวาน แต่ยังคงเบสิกเดิมคือกินข้าวเยอะ น้ำหนักก็เลยขึ้นมาเยอะ แต่ในที่สุด เราก็ต้องออกกำลังกาย ต้องหาอะไรที่เฮลท์ตี้กับเราจริงๆ ซึ่งกว่าน้ำหนักจะลดลงมาจนสเตเบิล ก็เป็น 10 ปีนะ  อยู่ในวังวนของการไม่โอเคกับร่างกายตัวเองนานมาก

“การเปรียบเทียบ มันทำให้เรารู้สึกว่าเราจำเป็นต้องเเคร์สายตาคนรอบข้างตลอด กังวลตลอดว่าจะถูกตัดสิน ถ้าร่างกายเราไม่เป็นไปตามที่สังคมวางไว้

“เราอยากให้หยุดเปรียบเทียบได้แล้ว ไม่ว่าอะไรก็แล้วแต่ ผลการเรียน รูปร่าง หน้าตา ไม่มีใครอยากดูไม่ดี ไม่มีใครอยากเรียนไม่เก่ง วัฒนธรรมการเปรียบเทียบกันโดยเฉพาะในหมู่ญาติ ควรจะน้อยลงกว่านี้ได้แล้ว คนใกล้ชิดที่อยู่ในวงที่ใกล้กับเรา มันส่งผลกับเรานะ ถึงเราจะหัวเราะแหะๆ ไป เหมือนจะไม่คิดอะไร แต่เราก็น้อยใจแหละ 

“แต่ถ้าเป็นเพื่อน ตอนนี้ก็จะบอกว่า เรื่องของกู” (หัวเราะ) 

02 ชื่อที่เพื่อนเรียก: ไม้เสียบผี | ชื่อนี้ที่อยากให้เรียก: ปังปอนด์

“เราไม่ชอบที่เมื่อก่อน ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียนทำให้รู้สึกว่าการผอมไม่ใช่เรื่องดี เขาพยายามหาอาหารเสริมมาให้ พาไปหาหมอ เวลาไปไหนกับพ่อแม่ จะเจอคนอื่นบอกว่า เลี้ยงลูกยังไง ทำไมลูกผอมจัง ทำให้รู้สึกว่าการผอมคือการไม่โอเค เพราะคนอื่นรู้สึกว่าเราไม่แข็งแรง เราดูป่วย ทั้งๆ ที่เราไม่เคยป่วยเลย ไม่เคยต้องเข้าโรงพยาบาล เป็นเด็กปกติ แต่ที่บ้านทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่แข็งแรง ประคบประหงม ไม่ค่อยอยากให้เราทำนู่นทำนี่ เพราะว่าเราอ่อนแอ แต่จริงๆ แล้วเราไม่ได้เป็นแบบนั้น

“และด้วยความที่ผอมมาก ครูให้เราชั่งน้ำหนักแล้วส่งจดหมายบอกผู้ปกครองเราว่า ลูกคุณน้ำหนักไม่ได้มาตรฐานนะ โรงเรียนจะจัดมื้ออาหารเสริมให้เพื่อให้เด็กมีโภชนาการเท่าเด็กปกติ เขาก็จะให้เรากินนมบ้าง กินแซนด์วิชบ้าง แต่ตอนนั้นเรารู้สึกแปลกแยกมาก ไม่ชอบเลย เวลาประชาสัมพันธ์ประกาศว่าตอนนี้เวลา 11 นาฬิกา เด็กที่ต้องรับอาหารเสริมให้มาพร้อมกันที่โรงเรานั่งเรียนอยู่ก็ต้องลุกออกไปกลางคัน เพื่อไปรับอาหารเสริมกับกลุ่มเด็กที่เหมือนๆ เรา บางคนเป็นเด็กผู้ชายตัวเล็ก บางคนเป็นเด็กผอมมากเหมือนเรา แล้วเพื่อนในห้องจะแซวว่า ลุกไปเลย เขาเรียกแล้ว เอาราดหน้ามาฝากด้วยนะ ซึ่งเรารู้สึกว่าไม่โอเค เราอาย ไม่ชอบ รู้สึกเป็นตัวตลกของเพื่อน จนเราบอกแม่ว่าเราไม่อยากไปโรงเรียน เราไม่อยากโดนเรียก แต่แม่ก็บอกว่าดีจะตาย ได้กินเยอะกว่าคนอื่นนะ

“พอครบเดือน ครูก็จะเรียกไปชั่งน้ำหนักใหม่ ว่าน้ำหนักเราโอเคขึ้นยัง อาหารเสริมช่วยเราได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งน้ำหนักเราก็ไม่ได้กระเตื้อง ก็เลยพยายามเอาดิกชันนารียัดกระเป๋ากระโปรงเพื่อไปชั่งน้ำหนัก แต่ก็ไม่ช่วยอะไร (หัวเราะ) ก็ต้องอยู่ในโปรแกรมนี้ตั้งแต่ป. 1 จนถึง ป. 5

“ที่ตลกคือทุกคนที่เราเจอกันตอนกินอาหารเสริมก็ยังอยู่กันเหมือนเดิม ทุกคนไม่ได้เปลี่ยนแปลงเลย (หัวเราะ) ตอนที่ต้องกินอาหารเสริม เราก็นั่งยิ้มเจื่อนๆ คุยกันว่าแม่มารับกี่โมงบ้าง คุยปรับทุกข์อะไรกันไป ทุกคนก็ถืออาหารไปอย่างนั้น ไม่ได้กินด้วยซ้ำ บางวันเราก็เอาข้าวเหนียวที่เขาให้กินใส่กระเป๋าไว้จนถึงบ้าน

คือเขาให้เรานั่งอยู่ตรงนั้นเราก็นั่ง ครูมีหน้าที่เอามาให้เรากินเสร็จแล้วก็ไป ไม่ได้มาดูว่าเรากินหรือเปล่า ทำไมเราไม่กินกัน เหมือนเด็กๆ ก็ทำไปอย่างนั้น ครูก็ทำไปอย่างนั้น มันเลยไม่ได้ช่วยอะไร 

“เราเข้าใจที่ผู้ใหญ่เป็นห่วงนะ แต่เขาไม่เคยฟังเราจริงๆ ที่บ้านเป็นครอบครัวใหญ่ มีผู้ใหญ่ มีคนแก่อยู่เยอะ มันเลยไม่มีอาหารสำหรับเด็กขนาดนั้น มีปลาราดพริก มีผัดดอกไม้กวาดใส่ตับ อะไรแบบนี้ เราไม่เอนจอยเลย เพราะเราชอบกินอาหารเดิมๆ ที่เราชอบเท่านั้น ก็กลายเป็นเด็กกินยาก พ่อกับแม่ก็ไปซื้อน้ำมันตับปลาให้เรากินก่อนกินข้าว ก็ยิ่งทำให้เราไม่อยากกินข้าวเข้าไปอีก เพราะรู้สึกว่าก่อนจะได้กินข้าว ต้องถูกป้อนน้ำมันตับปลาก่อน การกินเป็นเรื่องบั่นทอนเรา ทั้งเพื่อนล้อเป็นตัวตลกที่โรงเรียน อาหารเสริมที่ที่บ้านยัดเยียด 

“เรารู้สึกแย่ที่ผอมมากตอนเด็ก แต่พอโตมา เพื่อนๆ กลับมาบอกว่ากูอยากผอมแบบมึงบ้าง อิจฉาที่เรากินยังไงก็ไม่อ้วน คือเราเพิ่งเข้าใจว่าไม่มีใครพึงพอใจในสิ่งที่เราเป็นทั้งหมดหรอก คนอ้วนก็อยากผอม คนผอมก็อยากอ้วน แต่สุดท้ายคือไม่มีใครอยากได้ยินคำจำกัดความเกี่ยวกับรูปร่างของเราหรอก 

“นอกจากเรื่องสุขภาพ เรื่องโภชนาการนะ ถ้าเราแข็งแรงดี เราอยากให้ทุกคนเข้าใจว่า ฉันผอมก็ดูดีได้ หรือฉันจะอ้วนฉันก็ดูดีได้ รู้สึกมั่นใจในตัวเองกันดีกว่า”

03 ชื่อที่เพื่อนเรียก: ไอ้แหบ | ชื่อนี้ที่อยากให้เรียก: เป้า

“เคยนั่งดูโฆษณานมผงกับแม่ แล้วเราบอกว่าเวอร์ แม่ก็บอกว่าจริงด้วย ยุคหนึ่งโฆษณาชอบทำให้ดูว่ามันดีมาก วิเศษมากเลย กินแล้วฉลาด มาสมัยนี้เขาเพิ่งมาบอกว่านมแม่ดีที่สุด แม่ก็เริ่มเล่า เอ้อ เนี่ย ตอนเลี้ยงม้าก็ใช้นมผง เราก็ถามว่าม้าไม่ได้ให้นมแม่เลยเหรอ ค่อยๆ ตะล่อมถาม กว่าจะแคะได้ คือแกก็คงรู้สึกผิดอะ ตอบโย้ไปเย้มา พยายามเลี่ยงที่จะบอกตรงๆ แต่แน่ๆ คือแกเคยเชื่อว่านมผงมันดีมากเลย กินแล้วฉลาด เด็กจะมีเซลล์สมองที่ดี แกก็ไม่ให้นมแม่เลย ให้แต่นมผงอย่างเดียว

“เราเป็นลูกชายคนสุดท้อง เหมือนอยู่ในช่วงที่บ้านพอจะมีเงินแล้ว ตอนเลี้ยงพี่ๆ สองคนยังไม่ค่อยมี ’ตังค์ ก็คล้ายๆ พ่อแม่สมัยนี้นะ คือ ฐานะไม่ดีหรอก แต่ต้องซื้อที่ดีที่สุดให้ลูก แต่ก็กลายเป็นไม่ดีไปนะ คือเราจะอ่อนแอที่สุดในบ้าน แม่ชอบบอกว่าเราน้ำเหลืองไม่ดี เวลาไปเที่ยวทะเล ฝนตกหน่อย อากาศไม่ดีหน่อยเราก็จะป่วย แต่พี่ๆ ไม่ป่วยกัน ก็จะมีการเปรียบเทียบ เรากลายเป็นเด็กอ่อนแอหน่อย  ซึ่งมันก็ฝังหัวนิดนึงว่าสุขภาพร่างกายเราไม่ดีนะ เจอฝนต้องหลบๆ รู้สึกว่าเราอ่อนแอ ถ้าไม่อยากป่วย ไม่อยากนอนซม จะต้องกลัวสภาพแวดล้อมนิดนึง เคยมีเถียงกับพ่อแม่บ้าง เขาจะเป็นห่วงเรา แปะป้ายว่าเราอ่อนแอ ก็จะรู้สึกรำคาญนิดนึง เล่นน้ำฝนก็ไม่ได้ ตากแดดนานก็ไม่ได้ ตากแดดแล้วเข้าห้องแอร์เย็นๆ ไม่ได้ หรือแม้แต่ตอนนี้ ทำงานดึกๆ ด้วยกันกับเพื่อน เพื่อนไม่เป็นอะไร ส่วนเราภูมิแพ้มาหนักเลย

พอไปโรงเรียน ก็ต้องจับกลุ่มกับเพื่อนที่อ่อนแอเหมือนกัน สมัยประถม เด็กที่ร่างกายดีๆ จะเป็นผู้นำหน่อย เล่นกีฬาแล้วรวมทีม เพื่อนก็จะวิ่งเข้าไปอยู่ด้วย เด็กที่ดูมาโชจะได้เป็นหัวหน้าหมู่ลูกเสือ ดูมีความเป็นผู้นำสูง เด็กอ่อนแออย่างเราก็จะจ๋อง ๆ หน่อย 

“ตอนประถมเราจะเข้าแถวหน้าๆ หน่อยเพราะตัวเล็ก แล้วพอเข้ามัธยมร่างกายมันเปลี่ยน ตัวยืดขึ้น กูเตะบอลเป็นว่ะ วิ่งได้ด้วย เป็นเด็กผอมๆ กากๆ เนอะ แต่เสือกวิ่งได้ที่หนึ่ง ชนะคนที่เป็นนักกีฬา นักบอล ทำให้เริ่มเป็นที่รู้จัก เริ่มได้เตะบอลกับเพื่อน เป็นทีมของห้อง สลัดภาพเด็กติ๋มไปได้ คือสมัยนั้นไม่มีใครมีชื่อจริงเลย เพื่อนเรียกเราไอ้แหบ เพราะเสียงแตกก่อนเพื่อน หรือเพื่อนที่เป็นหวัดบ่อย ขี้มูกไหลตลอดเวลาก็จะเรียกไอ้ขี้มูก คือบางคนอาจจะรู้สึกไม่ดี แต่เราไม่ได้คิดอะไรเท่าไหร่ เพราะรู้สึกว่ามันเหมือนการได้รับการยอมรับจากเพื่อน กลายเป็นว่ามีฉายาแล้วจะเหมือนได้เข้าแก๊ง คือมันจะมีแค่คนที่เพื่อนไม่ค่อยจำเท่านั้นที่ไม่มีฉายา เรียบร้อยมาก พูดจาสุภาพ เพื่อนก็จะเรียกพงษ์พันธุ์ คือทางการมาก (หัวเราะ)

“แต่เรื่องอาหารโรงเรียนนี่ไม่รู้เป็นทุกโรงเรียนหรือเปล่า บางโรงเรียนอาจจะไม่ดี มันเลยไปสร้างความทรงจำที่ไม่ได้ดีให้เด็กๆ เรายังจำได้ทุกวันนี้เลยนะ ภาพติดตาคือเขาทำข้าวมันไก่ เปิดน้ำมันปาล์ม เทลงไปในข้าว ไอ้เชี่ย ด้วยความที่เด็กมันเยอะ คงไม่มีการเอาไก่มาต้มแล้วให้น้ำมันไก่มันอยู่ในข้าว หลายคนก็เกลียดอาหารบางอย่างเพราะถาดหลุม ทุกวันนี้เรากินเส้นใหญ่ราดหนน้าไม่ได้เลย เพราะได้กลิ่นน้ำมันเหม็นๆ ลอยมาเลย แต่ที่บ้าน ต้องให้เครดิตแม่ที่ไม่ตามใจเรานะ เราบอกว่าอยากกินของทอดๆ เขาพาเราไปกินอะไรแปลกๆ กินข้าวยำใต้ เด็กที่ไหนกินกัน กินเมี่ยงคำ variety ทางอาหารที่บ้านสูงมาก ทุกวันนี้ไปประเทศไหน ไปอยู่กับชาวบ้าน ไปอยู่กับปกาเกอะญอก็กินได้หมด 

เพราะความเชื่อผิดๆ แม่อาจจะให้เรากินแต่นมผงเพราะเชื่อว่าลูกจะฉลาด บังคับไม่ให้เราเขียนมือซ้ายเพราะความเชื่อเดิมคือเด็กเขียนมือซ้ายจะโง่ คือในมุมของคนทำโฆษณานะ เราว่ามันควรจะแฟร์เกม อย่าส่งสารที่บิดเบี้ยวที่ฝังความเชื่อคน คุณจะขายของก็ได้ แต่ก็ควรจะสื่อสารความจริงเพราะคุณอาจจะเปลี่ยนชีวิตใครบางคนเลยก็ได้นะ

04 ชื่อที่เพื่อนเรียก: ฮิปโป | ชื่อนี้ที่อยากให้เรียก: มิลค์

“บ้านเราเป็นบ้านคนจีน เราอยู่ด้วยกันเยอะและมีคนอ้วนอยู่ในบ้านอยู่แล้ว เป็นบ้านที่ Enjoy Eating มากๆ อยากกินอะไรป๊าสั่งให้หมด ถ้าบอกว่าอยากกินเฟอเรโร่ เราไม่ได้แค่สามเม็ดนะ จะได้แพ็กใหญ่ 24 เม็ดเลย (หัวเราะ) คืออาจจะเป็น Pain ในวัยเด็กป๊าที่เมื่อก่อนเขาอยากกินอะไรแล้วอากงไม่ให้ เรากับน้องอยากกินอะไรป๊าก็จะให้กินเลย กินเลยลูก ซื้อให้ทุกอย่าง สนุกมาก หม่าม้าเป็นเชฟด้วย เขาจะเป็นคนทำกับข้าวให้หมดเลย เสาร์อาทิตย์บ้านเราจะเป็นบ้านใหญ่ที่มีคนมาที่บ้านสิบกว่าคน ก็ทำอาหารกินด้วยกันทุกอาทิตย์เลย

“เราอ้วนตั้งแต่เด็กๆ ก็มีญาติๆ แซวบ้างว่าไม่ไหวแล้วน้า ขาเป็นท่อนซุงเลย แต่พ่อแม่ก็จะคอยบอกว่าอย่าไปถือสาเขาเลย เขาพูดไปอย่างนั้นแหละ พอมาโรงเรียน เด็กผู้ชายก็จะบอกว่าเราอ้วนเหมือนช้าง บางทีก็เรียกฮิปโป เวลาเล่นกีฬาเราก็จะโดนเพื่อนบอกว่ามึงตัวใหญ่ รับบอลไม่เจ็บหรอก ไปเป็นคนปัด

หรือเราชอบว่ายน้ำนะเพราะมันสนุกดี แต่พอโดนเพื่อนล้อว่าแขนใหญ่ ขาใหญ่ เดินมาแล้วพื้นร้าว เราก็จะบอกครูว่าเราปวดหัว เราไม่สบาย วันนี้ว่ายน้ำไม่ได้เพราะเราไม่อยากใส่ชุดว่ายน้ำ

“โรงเรียนก็มีวัดส่วนสูงชั่งน้ำหนักตรวจสุขภาพประจำเทอม เขาก็บอกว่าเราน้ำหนักเกินกว่าเกณฑ์นะ แต่ก็ไม่ได้ต้องทำอะไรเป็นพิเศษ ก็กินข้าวโรงเรียนเหมือนเพื่อน แต่คือถาดหลุมที่โรงเรียนมันไม่อร่อยเหมือนที่บ้าน เราก็จะไม่ค่อยอยากกิน คือจะกินน้อยกว่าที่บ้าน ส่วนใหญ่จะกลับไปกินข้าวตอนเย็น 

“ชอบเมนูผัดกระเทียมเพราะว่ามันแห้ง คือข้าวโรงเรียนมันจะแฉะ เวลากินด้วยกัน มันบาลานซ์ (หัวเราะ) ถ้าเปียกๆ พวกแกงจะไม่เวิร์ก แล้วจะไม่ชอบขนมหวานเลย เพราะมันจะเป็นพวกถั่วเขียวต้มน้ำตาล เต้าส่วน ครูก็จะบอกว่าทำไมไม่กิน เสียดายของ อยากให้กินนะ เขาคิดคำนวณโภชนาการมาให้ อยากให้กินให้ครบทุกอย่าง แต่ก็ไม่ได้บังคับเรานะ เราก็จะบอกเขาว่าก็มันไม่อร่อยอะครู (หัวเราะ)

“พอเข้ามหา ’ลัย ปีหนึ่งเราติดละครเวทีของคณะ ทุกคนที่เข้ามาก็จะน่ารัก แบ๊วๆ ใสๆ ผอมๆ หน่อย เราจะน้ำหนักเยอะกว่าคนอื่น พี่ก็เดินมาเลย บอกว่าต้องลดน้ำหนักนะ เราต้องวิ่งเยอะกว่าคนอื่น 1 ชั่วโมง ต้องคุมอาหาร ห้ามกินน้ำเย็น น้ำหวาน ช็อกโกแลต เพราะเป็นกฎของละครอยู่แล้วว่าของพวกนี้จะทำให้คันคอ แต่คนอื่นๆ จะกินผัดกะเพราหรืออะไรก็ได้ แต่เราจะโดนบังคับว่าต้องกินสลัดที่ไม่ใส่น้ำสลัด อกไก่ต้องกินให้ถึง ต้องทำ IF รู้สึกเหมือนร่างจะแตก เพราะต้องซ้อมกับเพื่อนต่อด้วย ซ้อมละครอยู่ 4-5 เดือน น้ำหนักลงไปจนผอมเลย เพื่อนก็ทักว่า โห มึง กลายเป็นสาวเกาหลีเลย สวยเลย มันก็แฮปปี้นะที่ใส่เสื้อผ้าแบบคนตัวเล็กได้แล้ว เพื่อนพ่อทักเลยว่า เฮ้ย นี่ใครอะ คนละคนเลย 

“แต่ สุดท้าย พอจบละคร กฎทุกอย่างที่ตั้ง หายไปเลย (หัวเราะ) เพื่อนบอกกินได้แล้ว ชาบู 5 ทุ่ม เราก็ไปเลยค่ะ จากนั้นมันก็โยโย่กลับมาเยอะอยู่ ด้วยความที่ขี้เกียจด้วยมั้งก็เลยเอาไม่ลงแล้ว ทุกวันนี้ก็ยังน้ำหนักเยอะอยู่ แต่เราแฮปปี้มากขึ้น เพื่อนรอบข้างก็ซัพพอร์ตเรา บอกว่าไม่เป็นไรมึง เอาแค่ที่มึงโอเค แต่ก็จะมีเตือนบ้างเรื่องสุขภาพ และซัพพอร์ตให้เรากล้าใส่เสื้อผ้าไซส์คนอวบ แต่ก่อนจะใส่เสื้อยืดปิดแขนตลอด กางเกงยีนส์โคร่งๆ ทุกวันนี้ก็จะใส่เดรสโชว์หลังบ้าง เพื่อนก็จะมาซัพพอร์ต บอกว่าแซ่บขึ้น (หัวเราะ) ทุกวันนี้ก็เลยแฮปปี้กับร่างกายตัวเอง แต่ต่ก็พยายามคุมๆ น้ำหนักอยู่ให้ยังเฮลท์ตี้

“ย้อนกลับไป ตอนเด็กๆ เราไม่ได้คิดอะไรหรอก โดนล้อก็โกรธ ณ โมเมนต์นั้น แต่ไม่ได้คิดจะปรับเปลี่ยนเพื่อใคร แต่มันฝังใจและมีผลกับเราตอนโตเหมือนกันนะ ถ้าพูดได้อย่างตรงไปตรงมา จะบอกว่ามันเป็นร่างกายของเรา เป็นสิทธิส่วนบุคคลของเรา เรารู้ว่าเราอาจจะไม่ได้สวย ดูดี หรือหุ่นดีแบบที่ทุกคนคิด แต่อยากบอกให้รู้ว่าเรามีความสุขกับมัน

บอกว่าเป็นห่วงเราได้ แต่อยากให้เลือกใช้คำพูดหน่อย เพราะบางทีคำพูดมันอาจจะอยู่ในใจคนนาน สำหรับเรา ผ่านเวลามา ก็อาจจะไม่ได้คิดถึงมันแล้ว แต่ยังมีคนอีกเยอะเลยที่เขาฝังใจเจ็บกับมัน แล้วสุดท้ายมันเป็นเอฟเฟกต์ในการใช้ชีวิตของเขา คำพูดคุณมันส่งผลต่อชีวิตคนคนหนึ่งไปตลอดกาลเลยนะ อยากให้คิดก่อนพูด

มาส่งเสียงและร่วมแก้ปัญหานี้กันที่ www.foodforgood.or.th/mybooschoolmeal

Content Designer

อดีตผู้ช่วยบรรณาธิการนิตยสาร #aday คือเจ้าของหนังสือทั้งเรื่องจริงและเรื่องแต่ง อาทิ #สนธิสัญญาฟลามิงโก #ร้านหวานหวานวันวาน คือบรรณาธิการอิสระและคอนเทนต์ครีเอเตอร์ฟรีแลนซ์ ก่อนจะมาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทออกแบบคอนเทนต์ที่ยังไม่รู้จะตั้งชื่อตำแหน่งตัวเองว่าอะไร

Graphic Designer

#กราฟิกดีไซเนอร์ #เป็นเด็กหญิงMoodyGirl #แต่ถ้าได้กินของอร่อยฟังเพลงเพราะนอนเต็มอิ่มจะจิตใจแจ่มใสและหัวใจพองโต

Read More:

Love วิธีทำ

วิธีคลายกังวล ในวันที่ใจกำลังไม่ไหวแล้ว

It's okay to feel worried

Love สาระสำคัญ

เราจะอยู่กันยังไง ในยุคที่กลัวคนไอ ไม่ไว้ใจคนไม่ใส่หน้ากาก

โลกตอนนี้มันอยู่ยาก แต่อยู่รอดคนเดียวไม่แบ่งใครยากกว่า

Love จดหมายเหตุ

ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งรื้อ

เมืองกำลังจะเปลี่ยนไป เราหวังอะไรได้ไหมกับการเปลี่ยนแปลง