Play —— ili U & OKMD

วัตถุต้องสงสัย 00: สุ่มหาคำตอบที่สงสัย จากสิ่งเล็กๆ ในย่านอารีย์ (และประดิพัทธ์)

“ทำไมต้องมีเสาธงที่วงเวียนหน้าหมู่บ้านพิบูลวัฒนา” 

“ทำไมพหลโยธินเธียร์เตอร์ยังขายตั๋วหนังใบละหกสิบบาท” 

“ทำไมมีผ้าขายในตลาดสะพานควายเยอะแยะ” 

“ทำไมมีป้ายรับแลกเงินอยู่แถวประดิพัทธ์หลายเจ้าเลย” 

ฯลฯ

หากมาอารีย์ไม่กี่หน ผ่านประดิพัทธ์เป็นครั้งแรกๆ คงไม่มีใครนึกสงสัยอะไรแบบคำถามข้างบน เพราะอารีย์แรกรู้จัก ชวนให้เราตื่นเต้นไปกับคาเฟ่ขึ้นกล้อง ร้านอาหารที่ต้องจองคิว ความคึกคักขวักไขว่ของคนรุ่นใหม่ที่กำลังขับเคลื่อนผ่านกิจกรรมและกิจการ

แต่เมื่อไหร่ที่เราชักจะเริ่มสนิทสนมกับย่านนี้ เราจะเริ่มสังเกตเห็น ‘วัตถุต้องสงสัย’ ที่มีอยู่มากมาย ด้วยอายุอานามของย่านที่ไม่ใช่น้อยๆ จากเรือกสวนไร่นาในอดีต เจริญเติบโตอย่างมากหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เกิดเป็นชุมชนข้าราชการและบ้านนักการเมืองทรงอิทธิพล ขยับขยายสู่ย่านค้าขายคึกคักยุคที่ผู้คนเริ่มมีเงินจับจ่ายใช้สอย เป็นศูนย์รวมทหารจีไอยุคสงครามเวียดนาม เปลี่ยนผ่านสู่ย่านธุรกิจที่อุดมไปด้วยอาคารสำนักงานใหญ่ และเดินทางผ่านกาลเวลามาจนถึงปัจจุบัน วัตถุพยานในย่านจึงหลากหลายทั้งหน้าตาและเรื่องราว ชวนให้เราตั้งคำถามอยู่แถวๆ ป้ายรถเมล์ ในซอยแคบ ร้านข้างทาง หรือกระทั่งจัดแสดงอยู่ในตู้โชว์พิพิธภัณฑ์

บางวัตถุได้รับการดูแลและบอกเล่าอย่างดี บางวัตถุต้องมีพยานเป็นคนเก่าแก่ในย่านมาช่วยเล่า บางวัตถุเป็นจิ๊กซอว์ให้ปะติดปะต่อเรื่องราวเล็กๆ ให้กลายเป็นภาพใหญ่ 

และบางวัตถุก็ชวนให้เราคิดถึงวันข้างหน้า

01 ป้ายต้องสงสัย

ป้ายชื่อถนนและชื่อซอย มักเป็นสิ่งแรกๆ ที่ทำให้เรารู้จักแต่ละย่านมากขึ้น

ยกตัวอย่างง่ายๆ ซอยบ้านบาตรบอกให้รู้ว่าชุมชนนี้ตอกบาตรขาย ตรอกมะตูมใบ้คำให้ว่าซอยนี้เขาทำมะตูมเชื่อมขายกันเป็นล่ำเป็นสัน ถนนท่าพระจันทร์บอกเราว่ามีท่าน้ำชื่อพระจันทร์ตั้งอยู่ แต่บางชื่อบางป้ายก็ไม่ได้บอกใบ้กันตรงๆ แต่ก็ชวนให้ตั้งคำถามและไปหาคำตอบต่อได้ 

อย่าง ป้ายถนนพหลโยธิน ที่ได้ชื่อนี้มาจากนามสกุลหัวหน้าคณะราษฎร์ พอไปค้นประวัติต่อ ก็ทำให้เราเชื่อมโยงต่อได้ว่า หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีการตัดถนนประชาธิปัตย์จากอนุสาวรีย์ชัยฯ ไปดอนเมืองและลพบุรี จนทำให้ย่านเรือกสวนไร่นาอย่างอารีย์-สะพานควายคึกคักขึ้น และมีการเปลี่ยนชื่อเป็นถนนพหลโยธินเป็นอนุสรณ์ให้หัวหน้าคณะราษฎรตอน พ.ศ. 2493

เขยิบต่อมาที่ ถนนสาลีรัฐวิภาค ถนนสายสั้นๆ ที่ช่วยเชื่อมถนนสุทธิสารวินิจฉัย ถนนอินทามระ และถนนประดิพัทธ์เข้าด้วยกัน พอค้นข้อมูลใน Ari Time ต่อ เราก็พบว่า เจ้าคุณสาลีรัฐวิภาคคือคนบริจาคที่ดินให้รัฐบาลเพื่อสร้างถนนนี้ และถ้าค้นต่อไปอีกหน่อย เราก็ได้รู้ว่าที่ซอยพหลโยธิน 9  มีชื่อเล่นว่า ‘ซอยสีฟ้า’ เป็นเพราะรั้วบ้านเจ้าคุณท่านนี้ที่ตั้งอยู่ที่ปากซอย ทาสีฟ้าโดดเด่นนั่นเอง 

แต่บางป้ายหรือบางชื่อก็ไม่มีประวัติให้ค้นหา ทว่าการเดินดุ่มๆ อยู่ในย่านและมองหาพยานคนเก่าแก่ให้ถามไถ่ ก็ทำให้เราได้รู้ว่าคุณพ่อเจ้าของบ้านเขมวรรณใน ซอยราชครู คือคนที่ตั้งชื่อซอยนี้เอง คุณลุงตุ้ม-ประภัสสร์ เจ้าของบ้านยุคปัจจุบันเล่าให้เราฟังว่า คุณพ่อมาจับจองซื้อที่ดินจัดสรรของพระมหาราชครูวามเทพมุนี พอจะทำบุญขึ้นบ้านใหม่ ไม่รู้ว่าจะสื่อสารอย่างไรว่าให้เลี้ยวซอยไหน จึงเขียนป้ายตัวโตๆ ว่าซอยราชครูไปติดหน้าปากซอยบ้าน เพื่อสื่อสารให้แขกเหรื่อรู้กัน เหตุผลง่ายๆ คือซื้อที่ดินจากพระมหาราชครูมา แต่ไปๆ มาๆ พอเขตฯ มาสำรวจพื้นที่เพื่อกำหนดชื่อซอยอย่างเป็นทางการ ก็เลือกใช้ชื่อนี้ไปด้วย

ส่วน ซอยสันติเสวี ในซอยพหลโยธิน 11 แม้จะฟังดูเหมือนชื่อหรือนามสกุลของใคร แต่ถ้าไปค้นบันทึก จะพบประวัติหลวงเสรีเริงฤทธิ์ (จรูญ รัตนกุล) หนึ่งในคณะราษฎรที่ทำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 และอธิบดีกรมรถไฟ กระทรวงเศรษฐการ เพราะหลวงเสรีฯ มีลูกน้องในความดูแลมากมาย จึงซื้อที่ดินใกล้บ้านพักตัวเองในย่านประดิพัทธ์ และจัดสรรให้ลูกน้องมาอยู่อาศัย และตั้งชื่อซอยนี้ด้วยคำอยู่เย็นเป็นสุขอย่าง ‘สันติ’ ส่วนคำว่า ‘เสวี’ แปลว่าข้าราชการในราชสำนัก นั่นเอง

และไม่ใช่แค่ป้ายชื่อถนนหรือตรอกซอย แต่ป้ายโฆษณาเก่าเลือนที่ยังคงค้างอยู่ตามร้านค้าเก่าแก่ ก็บอกอะไรเราได้หลายอย่าง อย่าง ป้ายรับแลกเงิน หรือ ป้ายรับซื้อของเก่า ภาษาไทยบ้าง ภาษาอังกฤษบ้างที่อยู่ตามตึกแถวร้านรวงบนถนนประดิพัทธ์และแยกสะพานควาย คือวัตถุพยานที่บอกเราว่า ในยุคที่ย่านนี้มี ‘ฝรั่ง’ มากมาย ทั้งทหารจีไอที่มาอาศัยอยู่ตามคอร์ทย่านอารีย์และประดิพัทธ์ และนักท่องเที่ยวที่มาใช้เวลาในกรุงเทพฯ นานๆ ที่นี่คือย่าน ‘รับจำนำ’ แหล่งใหญ่ของฝรั่งตาน้ำข้าว เมื่อเที่ยวแล้วเงินหมด ก็เอาสร้อย แหวน นาฬิกา ของมีค่าติดตัวมาเปลี่ยนเป็นเงินกันที่ย่านนี้ หรือจะแลกเงินสกุลต่างๆ ต่อ ที่นี่ก็มีบริการให้ แม้ปัจจุบันกิจการนี้จะล้มหายตายจากไปตามกาลเวลา แต่ถ้าแหงนหน้ามอง อาจจะพบพยานปากสำคัญอยู่ตามฟาสาจตึกแถว

สุดท้าย ป้ายภาพพอร์ตเทรตของจอมพลอากาศฟื้น รณนภากาศ ฤทธาคนี ที่จัดวางอยู่ใน Marshall Social Club ประดิพัทธ์ ก็เฉลยกับเราว่า อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศคนนี้คือเจ้าของบ้านหลังสีฟ้า ที่ถูกรีโนเวทและปรับเปลี่ยนเป็นคาเฟ่ในบรรยากาศบ้านยุคเก๋า และยังบอกเล่าประวัติศาสตร์ของสถานที่ไว้อย่างเคารพ

02 เสาต้องสงสัย

หน้าหมู่บ้านจัดสรรมักจะมีอะไรอยู่ข้างหน้า?

น้ำพุอลังการ ม้าแปดตัวตามฮวงจุ้ยมงคล รูปปั้นโรมันหรูหรา ซุ้มประตูใหญ่โตพร้อมป้อมยามรักษาความปลอดภัย 

แต่ที่ หมู่บ้านพิบูลวัฒนา สิ่งนั้นคือ เสาธง

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง สิ่งที่จอมพล ป. พยายามทำ คือการสร้างความกินดีอยู่ดีให้กับประชาชน โครงการต้นแบบจึงเกิดขึ้นเป็นว่าเล่น หนึ่งในนั้นคือโครงการหมู่บ้านจัดสรรโดยภาครัฐ ซึ่งเป็นภาพฝันของจอมพล ป. ที่อยากสร้างความศิวิไลซ์ให้เกิดขึ้นรวดเร็ว นอกจากโครงการพิบูลเวศม์ย่านพระโขนงซึ่งเป็นหมู่บ้านจัดสรรแห่งแรก พิบูลวัฒนา คือน้องเบอร์สองที่เกิดตามกันมาหนึ่งปี โดยเลือกสร้างในย่านเมืองใหม่ที่เพิ่งขยายตัวเพื่อสร้างเคหะชุมชนที่อยู่อาศัยสมบูรณ์แบบ (Complete Housing Community) บ้านที่มีหน้าตาแบบเดียวกัน มีถนนหลัก และระบบสาธารณูปโภคสำคัญรองรับ และมีเสาธงตามประกาศรัฐนิยม ที่นอกจากจะส่งเสริมให้คนไทยแต่งตัวแบบสากล เชิญชวนคนไทยเลิกกินหมากพลู ยังกำหนดให้คนไทยแสดงความเคารพเมื่อได้ยินเสียงเพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมี เสาธงที่หน้าหมู่บ้านในฝันของจอมพล ป. แห่งนี้ จึงกลายเป็นวัตถุพยานชิ้นสำคัญ!

03 เสียงต้องสงสัย

แกรนด์เปียโนที่ห้องอาหาร Saint Coffee Shop โรงแรมอลิซาเบธ ไม่ได้มีเสียง เพราะมันถูกตั้งไว้โดยไม่ได้มีคนเล่น

แต่ถ้าย้อนกลับไปสัก 20-30 ปีก่อน แกรนด์เปียโนหลังนี้คือไม้ตายที่โรงแรมอลิซาเบธใช้สู้ศึกกับ Coffee Shop และ Cafe อื่นๆ ที่คึกคักอยู่ในย่านนี้ ต้องบอกก่อนว่า ‘คาเฟ่’ ในอดีต ไม่ใช่ร้านกาแฟเก๋ไก๋ แต่คือที่แฮงก์เอาท์ดื่มกิน มีดนตรีให้ฟัง มีนักร้องขับกล่อม บางที่อาจเป็นนักร้องสาวสวยรอแขกมาคล้องพวงมาลัย บางที่เป็นหนุ่มๆ นักดนตรีเล่นเพลงตามกระแสเพื่อให้สาวๆ มาจองโต๊ะนั่งฟัง ซึ่งบนถนนประดิพัทธ์ คือย่านที่มีคาเฟ่และคอฟฟี่ช็อปอยู่หนาแน่น ชนิดที่แต่ละร้านต้องหาไฮไลท์มาแข่งกัน ในขณะที่ห้องอาหารชำมะเลียง โรงแรมมิโด้ จ้างนักร้องสายประกวดมาร้องประจำ (มัม ลาโคนิค คือตัวอย่าง!) โรงแรมอลิซาเบธฝั่งตรงข้าม ก็ต้องสู้กันสักตั้งด้วยแกรนด์เปียโนหลังโต 

หากคำถามถัดมาคือทำไมถึงมีโรงแรมเรียงราย จุดเริ่มต้นก็เป็นเพราะย่านอารีย์-ประดิพัทธ์ มีหน่วยงานราชการอยู่มาก นั่นแปลว่าโอกาสที่จะได้รับงานสัมมนาจากหน่วยงานต่างๆ ก็สูงตามไปด้วย บวกรวมกับพิกัดที่อยู่ใกล้หมอชิตและสนามบินดอนเมือง ก็เก็บตกนักเดินทางได้ไม่น้อย ส่วนแหล่งความบันเทิงยามค่ำคืน ก็มีโรงแรมเล็กๆ กึ่งม่านรูดรองรับอยู่เช่นกัน 

04 กระดาษต้องสงสัย

ถึงจะยังมีโปสเตอร์ภาพยนตร์คุ้นชื่อแปะอยู่ที่บอร์ด Coming Soon เคยมีรอบพิเศษฉายหนังอิสระเกี่ยวกับโรงหนังสแตนด์อโลนในโรงหนังสแตนด์อโลนที่แทบไม่เหลือรอดการทุบทิ้งแล้วในกรุงเทพฯ แต่ในยามปกติ พหลเธียเตอร์ ขาย ตั๋วหนังราคา 60 บาท โดยที่คนซื้อหน้าโรงอาจไม่สนใจด้วยซ้ำว่าโปรแกรมหนังที่ฉายอยู่คือหนังเรื่องอะไร ส่วนหน้าโรงก็ประกาศเอาไว้แค่ว่ามีเปลี่ยนหนังใหม่ทุกวันอังคารและวันศุกร์

ถ้าสัมผัสได้ โรงหนังแห่งนี้ไม่ได้ต้อนรับ ‘คนรักหนัง’ อย่างที่ควรจะเป็น และมีบรรยากาศอโคจรโชยออกมาชัดแจ้ง จากตอนแรกที่คิดว่าจะใจกล้า ขอซื้อตั๋วและเข้าไปเห็นกิจกรรมข้างในโรงด้วยตัวเองสักครั้ง แต่สายตาเย็นชาของเจ้าหน้าที่โรงหนังก็คล้ายจะปรามเราไม่ให้เข้าไปโดยไม่ได้กล่าวอะไรออกมา จนเมื่อเก็บความสงสัยมาถามไถ่ในโลกออนไลน์ เราจึงได้รู้ชัดๆ ว่ากลุ่มเป้าหมายของโรงหนังแห่งนี้ คือกลุ่มชายรักชายที่ใช้พื้นที่นี้สำหรับกิจกรรมทางเพศ 

ออกจะน่าเสียดายอยู่สักหน่อย ที่ทางรอดของโรงหนังสแตนด์อโลนแห่งนี้ไม่ใช่การฉายหนัง แต่ในแง่หนึ่ง มันก็ยังเป็นพยานปากสำคัญที่บอกเล่าความคึกคักย่านสะพานควายที่มีโรงหนังอยู่ติดๆ กันถึง 5 โรง มีร้านขายผ้าหลายร้านในตลาดที่ช่วยให้หนุ่มสาวไม่ต้องตะลุยไปถึงพาหุรัดเพื่อซื้อผ้าตัดเสื้อ และมีห้างสรรพสินค้าที่บ่งบอกความเป็นย่านการค้าใหญ่ในยุค 20-30 ปีก่อน  

กลับมาที่โรงหนัง พหลเธียเตอร์หรือพหลโยธินรามาในอดีต คือแหล่งดูหนังจีนและหนังฝรั่งวนไปยาวๆ ขณะที่มงคลรามา ของเสี่ยเจียง ฉายทั้งหนังไทย จีน ฝรั่ง ครบรส ก่อนจะต่อยอดธุรกิจกลายเป็นสหมงคลฟิล์มในปัจจุบัน ประดิพัทธ์เธียเตอร์ คืออีกโรงฉายหนังควบที่เป็นแหล่งบันเทิงวัยรุ่นขาโจ๋ เพราะใต้ถุนโรงหนัง มีโต๊ะสนุ๊กให้ดวลไม้คิวกันคึกคัก ส่วน นิวยอร์ค ยกระดับโรงหนังย่านนี้ขึ้นไปอีกขั้น ด้วยการฉายหนังเดี่ยวเรื่องเดียว ไม่ควบ ไม่วน  

สุดท้าย โรงหนังขวัญใจหนุ่มสาวที่ทำงานในบ้านเจ้านายย่านนี้ คือโรงหนังเฉลิมสินที่พวกเขาจะมาใช้วันหยุดอย่างวันอาทิตย์ด้วยการดูหนัง และในโอกาสพิเศษ โรงหนังแห่งนี้ก็แปลงร่างเป็นเวทีคอนเสิร์ต ให้นักร้องดังมาเปิดโชว์เอาใจแฟนๆ ช่วงที่พุ่มพวง ดวงจันทร์ โด่งดังสุดขีด เฉลิมสินก็เป็นอีกเวทีที่ราชินีลูกทุ่งมาเปิดคอนเสิร์ตด้วย! 

แม้จะเหลือแค่เรื่องเล่า แต่ตั๋วราคา 60 บาทใบนั้น ก็ทำให้เราจินตนาการถึงความคึกคักของย่านนี้ได้ชัดเจนขึ้น 

เช่นเดียวกับวัตถุพยานอีกมากมายที่ยังไม่ได้เล่า เชื่อเถอะว่า พวกมันกำลังรอให้เรามองเห็น สงสัย และหาคำตอบเพื่อเข้าใจการมีอยู่ของเราและเมือง

ส่องวัตถุต้องสงสัยกันต่อได้ที่นี่

วัตถุต้องสงสัย 01: ‘วัตถุ’ โบราณ ที่อยู่ทั้งนอกและในพิพิธภัณฑ์

วัตถุต้องสงสัย 02: วัตถุไฮ-ไฟ ที่เล่าเรื่องราวผ่านเสียงเพลง

วัตถุต้องสงสัย 03: ‘วัตถุ’ ประสงค์ดี ที่ช่วยให้ย่านนี้ยั่งยืน

Content Designer

หน่วยย่อยของนักเล่าเรื่องที่อยากเล่าเรื่องส่วนตัวเล็กๆ ง่ายๆ ที่อยู่ในวงโคจรและความสนใจเรื่องไลฟ์สไตล์ที่สร้างภาระต่อโลกน้อยลงหน่อย ด้วยสมมติฐานที่ตั้งเองว่า เราน่าจะมีทางเลือกในการใช้ชีวิตที่สนุกและสนิทกับโลกมากกว่าที่หลายคนคิดนะ

Read More:

Play

คุณจะได้เจออะไรใน ทัวร์สุ่มสี่สุ่มให้ Ver 2.0 'ROUTE: Nameless Street Food'

คุณและเพื่อนใหม่จะได้พากันไปกินของอร่อยย่านประดิพัทธ์-อารีย์ ตามลายแทงร้านชื่อไม่ดังที่คุณไม่รู้ล่วงหน้า แต่ไอแอลไอยูคัดเลือกมาให้แล้วว่าคนแถวนี้คอนเฟิร์มกันว่าดีจริง!

Play

คุณจะได้เจออะไรใน ทัวร์สุ่มสี่สุ่มให้ Ver 2.0 'ROUTE: Back to The 90s'

เส้นทางที่คุณและเพื่อนใหม่แปลกหน้า จะมาย้อนยุคทำคอนเทนต์ ย่านประดิพัทธ์-อารีย์ ตามลายแทงที่คุณไม่รู้ล่วงหน้า!

Play

Self-guided Tour Manual คู่มือเดินทัวร์ย่านอารีย์-ประดิพัทธ์

ต้องมีแล้วไหม? คู่มือเดินทัวร์ย่านอารีย์-ประดิพัทธ์