การแสดงออกในครั้งนั้นทำให้หลายคนหันมาพูดคุยถึงเรื่องอำนาจนิยมในโรงเรียนที่ไม่เคยเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กๆ ได้เป็นตัวเอง ได้ทำตามความฝัน และจุดกระแสให้นักเรียนออกมาเรียกร้องสิทธิ์ของตัวเองในรั้วโรงเรียน
เราต่างรู้ว่าโรงเรียนกดทับความหวัง ความฝัน ชีวิต และการเติบโตของเด็กๆ แต่เราก็อดคิดไม่ได้ว่าถ้าวันหนึ่งโรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้ทุกคน แล้วอนาคตของเด็กๆ จะเป็นยังไง
พอเห็นการเดินทางของพลอยจากวันที่เธอยังเป็นนักเรียน ไปนั่งกลางสยาม รอคนมาลงโทษเธอ มาจนถึงวันนี้ที่เธอตัดสินใจออกจากระบบการศึกษา และออกแบบตารางเรียนและชีวิตของเธอเองไปพร้อมๆ กับเรียกร้องความเท่าเทียมเพื่อทุกคน เราเลยอยากรู้ว่าความฝันของเธอคืออะไร แล้วชีวิตของนักเรียนคนนี้จะเป็นยังไงถ้าวันนั้นโรงเรียนเข้าใจและซัพพอร์ตความฝันของเธอ
ชีวิตของพลอย ถ้าในวันที่โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัย
“ป่านนี้ก็คงได้วาดรูป แล้วก็ขายผลงานของตัวเองไปนานแล้ว”
พลอยตอบกลับมาในทันทีที่ถามว่าถ้าวันนี้โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยและพร้อมซัพพอร์ตทุกความฝัน ชีวิตของพลอยจะเป็นยังไง ก่อนจะเสริมต่อว่า “เราอยากเป็นศิลปิน เราเลยอยากตั้งใจวาดรูป จะได้วาดรูปขายและมีรายได้ต่อยอดใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ ได้ซื้อของที่อยากซื้อ ได้กินของที่อยากกิน แล้วก็ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ อย่างเช่นได้ออกไปทำเวิร์กช็อปไปเรียนรู้ศึกษาเรื่องที่เราสนใจ การศึกษามันไม่ได้มีแค่ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ”
“ชีวิตคงมีทางเลือกที่หลากหลายกว่านี้ มีพื้นที่ให้เราให้เราได้แสดงออก ได้เติบโต ได้ใช้ชีวิตมากกว่านี้” พลอยทิ้งท้าย
โรงเรียนในฝันที่พลอยอยากเห็น
เชื่อว่าเราอาจเคยได้รับโจทย์ให้เขียนเรียงความถึงโรงเรียนในฝัน ในวัยนั้นเราอาจนึกถึง โรงเรียนที่ครูจะไม่ดุ โรงเรียนที่มีเพื่อนๆ มากมาย โรงเรียนที่มีต้นไม้เยอะๆ โรงเรียนที่มีของกินอร่อยๆ
สำหรับพลอย โรงเรียนในฝันของเธอคือโรงเรียนที่ทุกคนสามารถไปเรียนได้ ไม่ว่าจะยากจนหรือไร้สัญชาติ
“ไม่ต้องเป็นโรงเรียนใหญ่หรือมีชื่อเสียงก็ได้ แต่อยากให้เป็นโรงเรียนที่เข้าถึงเด็กทุกคนในพื้นที่บริเวณนั้น เข้าถึงเด็กที่ทั้งไม่มีโอกาสได้รับการศึกษาหรือเด็กที่ไม่มีสัญชาติ“
“โรงเรียนควรซัพพอร์ตความหลากหลายของทุกคน เพราะว่าพอนักเรียนรวมทั้งครูและคนในโรงเรียนเข้าใจอัตลักษณ์ของตัวเองและความหลากหลายเราก็จะได้เรียนรู้ถึงการอยู่ร่วมกัน มองเห็นคนอื่นเป็นมนุษย์เหมือนเรา มีความเคารพคนในแบบที่เท่าเทียมกัน เราว่าสังคมคงจะดีขึ้น โรงเรียนเรียนน่าจะสอนแบบนี้ มากกว่าที่จะลบอัตลักษณ์ของเด็กๆ ไปจนหมด”
นอกจากนั้น เธอยังมองว่าโรงเรียนที่เธออยากเห็นคือโรงเรียนที่ให้อิสระ เติมเต็มความคิดสร้างสรรค์ และซัพพอร์ตทุกความฝันของคนเรียน
“พลอยว่าเด็กแต่ละคนควรจะมีสิทธิ์ที่จะออกแบบคลาสเรียนของตัวเองได้ ว่าตัวเองอยากเรียนอะไร มีความถนัดในด้านไหน โดยที่ไม่ต้องมีกฎมีอะไรที่มันบังคับ เพราะเป้าหมายของการศึกษาคือมุ่งเน้นให้มนุษย์พัฒนาและสามารถที่จะใช้ชีวิตเติบโตไปต่อยอดในเส้นทางของตัวเองได้ ไม่ใช่ผลิตคนเพื่อที่จะไปเข้าสู่โรงงานที่เป็นแรงงานในระบบทุนนิยม มันควรจะเป็นพื้นที่ที่เด็กได้เรียนรู้ด้วยตัวเองแล้วก็เติบโตเพื่อที่จะทำตามความฝันของตัวเอง โดยที่ไม่ต้องมีใครมาชี้นำ บงการ หรือว่าบีบบังคับ”
นั่นคือภาพกว้างที่พลอยมองว่าเด็กทุกคนควรได้พบเจอโรงเรียนแบบนั้น แต่เมื่อถามถึงโรงเรียนของพลอยเองจะออกมาหน้าตาแบบไหน ”เป็นโรงเรียนที่มีวิชาเรียนไม่เยอะ แต่ว่าเอาเฉพาะที่น่าสนใจ เช่น วาดรูป ประวัติศาสตร์อะไรแบบนี้ ครูที่สอนก็อาจจะไม่ห่างกันมาก หรือเป็นกลุ่มเพื่อนมาแลกเปลี่ยนข้อมูล มาเรียนรู้ด้วยกันก็ยิ่งดีเลย”
“แน่นอนว่าต้องไม่มีกฎทรงผมหรือว่าระเบียบ อยากแต่งตัวอะไรก็แต่งมาเลย“
สำหรับพลอย โรงเรียนจึงไม่ใช่สถานที่ที่มาบังคับให้เราต้องรู้ในสิ่งที่ถูกกำหนดมาจากแกนกลาง กลับกัน โรงเรียนควรเป็นพื้นที่ทดลองให้ได้ทำในสิ่งที่อยากทำ ได้เรียนรู้ในสิ่งที่สนใจ นั่นคือโรงเรียนที่สร้างความสบายใจ และทำให้การเรียนรู้ไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อสำหรับเด็กๆ
ในวันที่เราสามารถออกแบบตารางเรียนของตัวเองได้
คงมีช่วงเวลาที่หลายๆ คนเคยคิดว่าถ้าออกแบบตารางเรียนได้คงสนุกดีนะ ซึ่งเราเองก็เป็นหนึ่งในนั้นเหมือนกัน เราก็เลยขอหยิบคำถามนี้ไปถามพลอย
“10 โมงเช้าเป็นเวลาที่ดีสำหรับพลอย พลอยจะเริ่มเรียน 10 โมง มีเรียนวิชาศิลปะ ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ แล้วก็ภาษาอังกฤษ หลักๆ มีแค่ 4 วิชานี้ ก็เรียน 5 วันต่อสัปดาห์ แล้วเลิกเรียนสักบ่ายโมง เรียนแค่ 2 – 3 ชั่วโมง แต่จะเพิ่มเวลาในการเรียนรู้นอกสถานที่ด้วย เพราะอย่างพลอยที่มีความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง สิทธิมนุษยชน ปัญหาระบบการศึกษาได้ มันมาจากการที่เราออกไปค้นหา ไปเรียนรู้นอกสถานที่ ไปใช้ชีวิต มากกว่าแค่นั่งเรียน”
นั่นคือตารางเรียนที่เห็นว่าการเรียนในโรงเรียนก็สำคัญ แต่การเรียนรู้นอกห้องเรียนก็จำเป็น ดังนั้นตารางเรียนที่พลอยฝันจึงเป็นบาลานซ์ของชีวิตทั้งในและนอกห้องเรียน
ในวันที่โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัย
เพราะโรงเรียนไม่ได้เป็นแค่ที่ให้ความรู้ แต่คือพื้นที่ให้เด็กๆ หรือนักเรียน หรือแม้กระทั่งครูเองได้เป็นตัวของตัวเองมากที่สุด ได้คอยดูแลสนับสนุนความฝันของแต่ละคน ในวันที่พื้นที่จากโลกภายนอกอาจไม่ได้ปลอดภัยพอ เหมือนอย่างที่พลอยเห็นว่าถ้าจะมีที่ไหนที่ควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่สุด ที่นั่นควรเป็นโรงเรียน
“จริงๆ เด็กไทยแทบจะทุกคนไม่มีพื้นที่ปลอดภัยเลย เด็กบางคนเจอกับครอบครัวที่กดดัน สังคมที่กดทับ แล้วยังจะมีรัฐบาลที่ไม่รับฟัง ไหนจะพิษเศรษฐกิจอีก”
“เด็กเป็นคนที่แทบจะไม่มีอำนาจเลยในสังคม” พลอยเน้นย้ำ
พลอยมองว่าเด็กๆ ต่างเจอพื้นที่ไม่ได้เป็นตัวเอง พื้นที่ที่ไม่ได้รับความรัก เจอความรุนแรงในครอบครัว พวกเขาต่างเจอสถานที่ที่ดับฝันไปเรื่อยๆ ซึ่งถ้าที่ไหนจะเป็นจุดเริ่มต้นให้เด็กๆ รู้สึกปลอดภัย โรงเรียนคือหมุดหมายที่พลอยนึกถึง
“เมื่อโรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัย ก็จะมีพื้นที่ที่เด็กจะได้เรียนรู้ที่จะรัก เคารพผู้อื่นและเคารพในตนเอง แล้วเด็กจะได้เติบโตไปเป็นคนที่ส่งต่อความรักให้คนอื่น เป็นผู้ใหญ่ที่น่าเคารพ เคารพตัวเองและเคารพผู้อื่นได้ ส่งต่อความเมตตาความใจดีให้ผู้อื่น”
“ถ้าโรงเรียนเป็นเซฟโซนจริงๆ อย่างน้อยเด็กก็ยังมีคนที่ยืนเคียงข้างเขา ในวันที่ไม่มีใครยืนเคียงข้าง”
ถ้าวันนั้นโรงเรียนซัพพอร์ตความฝัน วันนี้คงจะไม่…
- เลือกออกจากระบบการศึกษา เพราะโรงเรียนไม่ซัพพอร์ตความฝัน และเต็มไปด้วยอำนาจนิยม
- ถูกเจ้าหน้าที่รัฐคุกคาม และถูกหมายเรียกจากรัฐเพราะเรียกร้องความเท่าเทียมให้นักเรียนและทุกคน
ถ้าวันนั้นโรงเรียนซัพพอร์ตความฝัน พลอยคงได้เป็นนักเรียนศิลปะที่แฮปปี้และได้สร้างสรรค์ผลงานให้เราได้เห็นกัน
Read More:
มีเงินอย่างเดียวก็เป็นคนไนซ์ของเมืองได้
แจกผังหนุนเจ้าเก่า วิธีเชียร์ร้านประจำ และหน่วยที่อุดหนุนแล้วจะดีต่อเมือง
คุยกับ ‘แก้ว-มณีวรรณ’ เด็ก ม.ปลาย ที่เลือกตอบความฝันด้วยการศึกษานอกระบบ
"ครูคะ หนูขอลาออก"
ความลับที่ พส ซ่อนไว้…
ทำไมเกิดเป็นหญิง ถึงต้องซ่อนสิ่งเหล่านี้