Home —— The Conscious shopper

วิธีเลือก ‘ทอปเปอร์’ เข้าห้องนอน ไอเท็มฮิตของคนปวดหลัง

เพราะคนส่วนใหญ่มีปัญหากับอาการปวดหลัง ทอปเปอร์เลยกลายเป็นไอเท็มฮิตที่ต้องมีไว้ประจำที่นอน ด้วยความง่ายต่อการปรับให้รองรับสรีระมากยิ่งขึ้น แถมช่วยยืดอายุการใช้งานของที่นอนไม่ให้ต้องเปลี่ยนใหม่อยู่บ่อยๆ โดยทอปเปอร์แต่ละแบบทำจากหลายวัสดุ ทั้งยางพารา ใยสังเคราะห์ ขนห่าน เมโมรีโฟม ที่ต้องทำความเข้าใจให้ดีก่อนซื้อ ว่าเลือกอย่างไรถึงจะดีกับเราและโลก

ทอปเปอร์ รองรับหลังของเราอย่างไร

ด้วยวิถีชีวิตปัจจุบันพาให้แต่ละคนนั่งนานมากกว่าจะลุกเดิน รวมถึงความเครียดสะสม น้ำหนักส่วนเกินที่ร่างกายต้องแบก การยกของผิดท่า ล้วนเป็นสาเหตุแห่งการปวดหลังได้ทั้งนั้น อื่นใดไปจากนี้ การนอน ก็เป็นสาเหตุหลักที่นำอาการปวดหลังมาให้ร่างกายได้เหมือนกัน 

การนอนคือการพักผ่อนที่ดีที่สุด เป็นช่วงเวลาที่ทุกสัดส่วนของร่างกายได้หยุดพักและผ่อนคลาย โดยกระดูกสันหลังจะรับแรงดันน้อยที่สุดเมื่อเรานอนถูกท่า กลับกัน หลายคนตื่นนอนมาพร้อมอาการปวดเมื่อยเหนื่อยล้า นั่นอาจเป็นเพราะการนอนผิดท่าผิดทาง รวมถึงปัญหาของที่นอนด้วย ท่านอนที่ดี คือ ท่านอนหงายหรือนอนตะแคงที่ความสูงของหมอนในระดับหัว คอ และหลังช่วงบนอยู่ในระดับเดียวกัน (ขึ้นอยู่กับสรีระ) และท่านอนที่แพทย์ไม่แนะนำคือ การนอนคว่ำ ยิ่งนอนคว่ำเล่นสมาร์ตโฟนหรืออ่านหนังสือ รับรองว่าได้ปวดหลังเรื้อรังไปยาวๆ ส่วนเรื่องของ ที่นอนที่ดี มีหลักการคือ ต้องช่วยพยุงกระดูกสันหลัง ลงตัวพอดีกับร่างกาย ไม่นิ่มนุ่มจนตัวจม และไม่แข็งเกินไปจนหลับไม่สบาย ถึงตรงนี้หลายคนเลือกทอปเปอร์เข้ามาเป็นตัวช่วย

ต้องเคลียร์ความเข้าใจก่อนว่าทอปเปอร์เป็นเพียง ‘แผ่นรองนอน’ สำหรับปูทับบนที่นอนอีกชั้นหนึ่ง เกิดจากเทคโนโลยีการแยกส่วนประกอบด้านบนสุดของที่นอนออกมาใช้ ทอปเปอร์จึงมีความหมายของ ‘ด้านบน’ ตรงตามวัตถุประสงค์การใช้งาน ทอปเปอร์ที่ดีจะต้องพอดีกับสรีระและที่นอนของเรามากที่สุด มีคุณสมบัติช่วยรองรับสรีระได้ดีขึ้น ช่วยกระจายน้ำหนักของผู้นอนทำให้หลับสบาย ไม่มีอาการปวดเมื่อย ช่วยยืดอายุการใช้งานของที่นอน และป้องกันการสัมผัสกับไรฝุ่นบนที่นอน

การใช้งานของทอปเปอร์มีดอกจันตัวโตๆ อยู่ตรงนี้ เนื่องจากทอปเปอร์มีความหนาแน่นที่เบาบางกว่าที่นอนและเป็นเพียงส่วนบนของที่นอนตามที่บอก จึงไม่สามารถใช้แทนที่นอนได้ ไม่ควรนอนบนทอปเปอร์อย่างเดียวแบบไร้ที่นอนรองรับและไม่ควรวางทอปเปอร์ทับที่นอนเดิมที่ยุบตัวแล้ว เพราะรูปทรงของทอปเปอร์จะยุบตัวลงไปตามลักษณะของที่นอน

ความหนา แน่น และวัสดุ

จะเลือกทอปเปอร์เข้าบ้านทั้งที ต้องเลือกจากความหนา ความแน่น และวัสดุ เป็นสำคัญ ทอปเปอร์ทั่วไปมีความหนาให้เลือก 4 ระดับ ตั้งแต่ 1-4 นิ้ว ขึ้นอยู่กับความชอบและสรีระของผู้นอน รวมถึงความหนา-บางของที่นอนด้วย อย่าลืมว่าเราต้องวางทอปเปอร์บนที่นอนอีกที ถ้าที่นอนที่มีค่อนข้างหนาแล้วก็ไม่จำเป็นต้องใช้ทอปเปอร์เพิ่มความหนาเข้าไปอีก แต่ถ้าที่นอนบางก็ต้องเลือกทอปเปอร์ที่มีความหนาขึ้นมาหน่อยให้พอเหมาะพอดีกับที่นอน ส่วนความแน่นจะช่วยรองรับน้ำหนักตัวของผู้นอนได้ดี ซึ่งที่มาของความแน่นสอดคล้องกับวัสดุที่ใช้ด้วย

ทอปเปอร์จากยางพารา

ด้วยความเป็นวัสดุธรรมชาติ ทำให้มีอายุการใช้งานยาวนาน สามารถรองรับสรีระและกระจายน้ำหนักได้ดี ผิวสัมผัสหนาแน่นทำให้นอนสบาย และช่วยป้องกันไรฝุ่นด้วย ส่วนข้อเสียคือเรื่องราคาที่สูง และน้ำหนักที่มาก ทำให้เคลื่อนย้ายไม่สะดวกนัก

ทอปเปอร์จากใยสังเคราะห์

ใยสังเคราะห์หรือโพลีเอสเตอร์ ขึ้นชื่อเรื่องสัมผัสนุ่มและทำความสะอาดง่ายกว่าวัสดุอื่น แถมราคาต่ำกว่าวัสดุอื่นๆ (รวมถึงใยธรรมชาติจากฝ้าย) แต่อาจมีระยะการใช้งานไม่ยาวนาน ทำให้ต้องเปลี่ยนใหม่อยู่บ่อยๆ

ทอปเปอร์จากขนห่าน

ให้สัมผัสนุ่มและบางเบาจากธรรมชาติของขนสัตว์ ทำให้ผู้นอนรู้สึกเย็นสบาย ช่วยลดแรงสะเทือนจากการขยับตัว มีความทนทานใช้งานได้ยาวนาน เหมาะกับผู้ที่แพ้วัสดุสังเคราะห์ แต่ทอปเปอร์จากขนสัตว์มีราคาสูงกว่าทอปเปอร์จากวัสดุอื่น และอาจไม่สามารถรองรับสรีระได้เต็มที่ ไม่เหมาะกับผู้ที่มีอาการปวดหลัง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัสดุที่ใช้ และความหนาแน่นภายในด้วย แต่คงไม่เหมาะกับชาววีแกนแน่ๆ

ทอปเปอร์จากเมมโมรีโฟม

ช่วยรองรับสรีระได้ดี มีความยืดหยุ่นสูง คืนตัวช้า ช่วยหนุนกล้ามเนื้อและข้อต่อ เหมาะกับผู้นอนที่มีอาการปวดหลัง ช่วยลดเสียงรบกวนจากการขยับตัวได้ และมีความทนทาน แต่ในช่วงแรกอาจมีกลิ่นของเคมีที่ใช้การผลิตหลงเหลืออยู่ และส่วนมากอาจระบายอากาศได้ไม่ดีเท่าที่ควร ต้องเลือกแบบที่ระบายอากาศได้ดีด้วย

[Conscious Tips by ili U] 

ฮาวทูทิ้งที่นอนเก่า ที่เราไม่ใช้แล้ว

ปัญหาเวลาซื้อของใช้ชิ้นใหญ่ๆ อย่างเช่นที่นอนหรือทอปเปอร์ใหม่เข้าบ้าน คือเราไม่รู้ว่าจะกำจัดที่นอนเก่ายังไงไม่ให้เป็นภาระพี่ๆ คนเก็บขยะ เพราะเป็นขยะใหญ่ทิ้งยาก ยิ่งต้องจัดการให้ถูกต้อง

ทิ้งให้ถูกที่

ผ่านโครงการ นัดทิ้ง นัดเก็บ ขยะชิ้นใหญ่ ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) 

ที่มีให้บริการทิ้งขยะชิ้นใหญ่ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ตามจุดนัดทิ้งแต่ละเขต

สามารถเช็คตารางทิ้งผ่านเว็บไซต์ www.prbangkok.com

หรือโทรสอบถามได้ที่สำนักงานเขตใกล้บ้านได้เลย

ทิ้งเพื่อส่งต่อ

ผ่านการบริจาคเพื่อนำไปแปรสภาพหรือนำกลับมาใช้ใหม่

Contributor

อดีตกองบรรณาธิการสำนักพิมพ์ ปัจจุบันรับจ้างเขียนเป็นการเลี้ยงชีพ

graphic designer

Freelance Graphic Designer ชอบการทำเลย์เอาต์หนังสือและงานกระดาษ รักการเก็บสะสมพืช และมีแมวในการดูแลหนึ่งหน่วย

Read More:

Home มนุษยสัมพันธ์

มนุษยสัมพันธ์ 04: ชวน อ.ธนาศรี คุยเรื่อง plant therapy ระดับทำเองได้ ไปจนถึงใช้เยียวยาเหยื่อข่มขืน และบำบัดคนในเมือง!

มาทำความรู้จักกับ plant therapy ตั้งแต่การปลูกต้นไม้เอง การใช้ต้นไม้บำบัดผู้ป่วย และการสร้างสวนเพื่อบำบัดคนในเมือง

Home

ทำไมต้องตัดใจจากเขา เอ้ย ของ ให้เป็น?

ชวนเรียนรู้กระบวนการบอกเลิก บอกเล่า และบอกแลก ของเคยรัก ในเวิร์กช็อป Barter System Club: Pre-loved Talk & Trade

Home จากผู้ใช้จริง

ป้ายยาและรีวิวแก้วกาแฟเทกอะเวย์แบบมนุษย์วัตถุนิยม (และไม่มีโฆษณาเข้า)

ป้ายยาและรีวิวแก้วกาแฟด้วยประสบการณ์การใช้งานจริง