Home —— The Conscious shopper

เตรียมบ้านและเตรียมใจ ก่อนถอยรถ EV คันใหม่

หลายคนที่เคยชินกับการขับรถไปเติมน้ำมันอาจรู้สึกว่าการเตรียมบ้านเพื่อติดตั้งจุดชาร์จไฟเป็นเรื่องที่ยุ่งยากมากกว่า แต่เหล่านี้คือการเปลี่ยนเพียงครั้งเดียวเพื่อการใช้งานระยะยาวและยั่งยืนกว่า ยิ่งในปีใหม่ที่รถยนต์ไฟฟ้ากำลังมาแรง พร้อมนโยบายสนับสนุนจากรัฐที่ทำให้คนอยากซื้อมากขึ้น แล้วเราต้องเตรียมบ้านรองรับรถประหยัดพลังงานนี้ยังไงล่ะ อาจเป็นคำถามที่รอคำตอบจากช่างไฟฟ้าอย่างเดียวไม่ได้ ถ้าเราช่วยตระเตรียมบ้านและมีความรู้ช่วยเช็คความเหมาะสมได้ด้วย ย่อมดีกว่าแน่ๆ

ปล่อยมลพิษน้อยกว่า เงียบกว่า คิดถึงอนาคตมากกว่า

รถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV (Electric Vehicle) คือยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าแทนการใช้เครื่องยนต์ น้ำมัน หรือพลังงานอื่นที่มีการเผาไหม้ โดยอาศัยกลไกการเปลี่ยนแปลงพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่มาใช้ในการขับเคลื่อนยานยนต์ เมื่อไม่มีกลไกซับซ้อนและการเผาไหม้เพื่อขับเคลื่อนแบบการใช้น้ำมันอย่างเก่า รถจึงเคลื่อนที่ได้เงียบกว่า ไม่มีไอเสียจากการเผาผลาญ แถมช่วยประหยัดค่าซ่อมบำรุงและค่าน้ำมันที่มีแต่จะสูงขึ้นทุกวัน จึงเป็นทางเลือกใหม่ของผู้ใช้ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมทั่วโลก บ้านยุคใหม่เลยต้องปรับเปลี่ยนเพื่อรองรับการมีอยู่ของรถยนต์ไฟฟ้าด้วย

วิธีเตรียมบ้านไว้ต้อนรับรถยนต์ไฟฟ้า

01 เช็คมิเตอร์ว่าไหวไหม ไม่ไหวอย่าฝืน

ก่อนอื่นต้องรู้ว่ามิเตอร์ไฟฟ้าที่เห็นตามบ้านมาจาก Kilowatt-hour Meter ซึ่งเครื่องวัดที่ให้หน่วยเป็นกิโลวัตต์นี้ได้จากการวัดปริมาณกำลังไฟฟ้า และมิเตอร์ที่ว่าไม่ได้มีแค่ประเภทเดียว แต่แบ่งตามลักษณะการใช้งาน เช่น บ้านสำหรับอยู่อาศัย กิจการขนาดเล็ก-กลาง-ใหญ่ องค์กรไม่แสวงผลกำไร กิจการสูบน้ำเพื่อการเกษตร แต่ละสถานที่มีขนาดมิเตอร์ไฟฟ้าที่ต่างกัน

หากลดสเกลลงมาดูในระดับบ้านก็ยังแบ่งมิเตอร์ได้อีกหลายขนาด โดยการเลือกมิเตอร์ต้องอาศัยการคำนวณจำนวนสมาชิกในบ้านและจำนวนเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน พูดอย่างง่ายได้ว่าขนาดของมิเตอร์ไฟฟ้าขึ้นอยู่กับขนาดของบ้าน จำนวนคนในบ้าน และปริมาณการใช้ไฟฟ้าในปัจจุบันและเผื่อไปยังอนาคตด้วย* บ้านอยู่อาศัยทั่วไป ใช้มิเตอร์ไฟฟ้าประเภท Single-Phase 5(15)A หรือ Single-Phase 15(45)A เหล่านี้สามารถเช็คได้จากตัวเลขที่ระบุบนมิเตอร์ที่บ้าน โดยตัวเลขแรก หมายถึง ขนาดของมิเตอร์ไฟฟ้ามีหน่วยเป็นแอมป์ ส่วนตัวเลขในวงเล็บ หมายถึง ความสามารถในการใช้ไฟฟ้าสูงสุดต่อเนื่องไม่เกินสามชั่วโมง ซึ่งไม่พอต่อการชาร์จรถพลังงานไฟฟ้า 

การติดตั้ง EV Charger ในบ้านต้องใช้กระแสไฟมากขึ้น โดยมิเตอร์ไฟฟ้าที่ใช้ได้ต้องมีขนาดไม่ต่ำกว่า 30 แอมป์ หรือมาตรฐานที่การไฟฟ้าฯ แนะนำให้เปลี่ยนคือมิเตอร์ขนาด Single-Phase 30(100)A

*สูตรการคำนวณ

กำลังวัตต์ (Watt หน่วยของกำลังไฟฟ้าบนฉลากของเครื่องใช้ไฟฟ้า) หารด้วยโวลต์ (Volt หน่วยขนาดแรงดันไฟฟ้าในประเทศไทยคือ 220V) จะได้ค่าแอมป์ (Amp หน่วยของปริมาณกระแสไฟที่ไหลผ่านตัวนำหรือสายไฟ) คูณจำนวนอุปกรณ์ไฟฟ้าชนิดนั้น แล้วนำทั้งหมดมาบวกกัน คูณด้วยปริมาณไฟฟ้าที่อาจใช้เพิ่มขึ้นในอนาคตด้วยตัวเลข 1.25 อีกทีจะได้ค่าเพื่อเทียบดูความเหมาะสมของขนาดมิเตอร์ที่บ้านได้

02 ระบบไฟ ใหญ่พอหรือเปล่า

เพิ่มขนาดมิเตอร์แล้ว ที่ต้องเปลี่ยนตามมาคือ ขนาดสายไฟฟ้า (สายเมนเข้าอาคาร) ต้องเปลี่ยนให้เป็น 25 ตร.มม. และ MCB (Main Circuit Breaker) ต้องมีขนาดสูงสุดไม่เกิน 100 แอมป์ ใจความสำคัญคือขนาดของ มิเตอร์ สายไฟ และ MCB สามส่วนนี้จำเป็นต้องสัมพันธ์กันเพื่อรองรับการใช้ไฟฟ้าที่มากขึ้น

ต่อมาคือ ตู้ควบคุมไฟฟ้า หรือ MDB (Main Distribution Board) ลองมองหาช่องว่างสำรองสำหรับติดตั้ง Circuit Breaker เพราะการชาร์จไฟรถยนต์จะแยกวงจรกับเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ ถ้าตู้ควบคุมไฟฟ้าไม่มีช่องว่างเหลือแล้ว ให้เพิ่มตู้ควบคุมย่อยสำหรับชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าอีกหนึ่งตู้เข้าไปด้วย

03 ถ้าไฟรั่ว เราต้องรอด

เมื่อเกิดการใช้ไฟเกินพอดี เหตุไฟฟ้าลัดวงจร หรือเหตุการณ์ธรรมชาติอย่างฟ้าผ่า อาจนำมาซึ่งการเกิดไฟดูดแก่ผู้ใช้หรือเจ้าของบ้าน โดยเราจะรอดหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่าบ้านเราติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันไฟฟ้ารั่ว หรือ RCD (Residual Current Devices) เอาไว้มั้ย โดยเครื่องป้องกันไฟฟ้ารั่วตามมาตรฐานต้องมีพิกัดขนาดกระแสไฟฟ้ารั่วไม่เกิน 30 mA ต้องตัดไฟได้ภายในระยะเวลาเพียง 0.04 วินาที เมื่อมีไฟรั่วขนาด 5 เท่าของพิกัด (150 mA) แต่ถ้าตัวชาร์จรถยนต์ที่จะติดตั้งมีระบบตัดไฟอยู่แล้ว อาจไม่จำเป็นต้องติดตั้ง RCD เพิ่ม 

04 เข้ามาเลย พร้อมชาร์จ!

EV Socket Outlet หรือเต้ารับสำหรับเสียบสายชาร์ตต้องเป็นชนิดสามรู และมีสายต่อลงดิน ทนต่อกระแสไฟฟ้าได้ต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 16 แอมป์ (หรืออาจเป็นเต้ารับสำหรับงานอุตสาหกรรม) โดยรูปแบบอาจปรับเปลี่ยนตามประเภทรุ่นของรถยนต์ที่ใช้ แบ่งเป็น Type 1 สำหรับรถยนต์แบรนด์ญี่ปุ่นและสหรัฐฯ Type 2 สำหรับรถยนต์แบรนด์ยุโรป และ Type GB/T สำหรับรถยนต์แบรนด์จีน

ชวนเช็คทุกจุดให้ชัวร์แล้วติดต่อไปที่ช่างไฟที่มีความเชี่ยวชาญ / การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค PEA Call Center 1129 / การไฟฟ้านครหลวง MEA Call Center 1130 ได้เลย (มีค่าธรรมเนียมการตรวจสอบและติดตั้ง)

ตั้ง EV Charger ตรงไหนในบ้านดี

การติดตั้งจุดชาร์จไม่ใช่ว่าตั้งตรงไหนก็ได้ที่สายไฟไปถึง เนื่องจากมีระยะเหมาะสมของมันอยู่ 

  • ห่างได้ แต่อย่าเกิน 5 เมตร 

จากจุดติดตั้งเครื่องชาร์จไปถึงจุดจอดรถไม่ควรเกิน 5 เมตร เนื่องจากสายชาร์จ EV Charger ทั่วไปมีความยาวไม่เกิน 7 เมตรเท่านั้น ลองนึกถึงการเติมน้ำมันแบบที่เราคุ้นเคยก็ได้ ถ้าระยะไกลไป สายก็ไปไม่ถึงตัวรถ หรือหากต้องใช้การดึงบ่อยเข้าก็คงไม่ดีกับสายชาร์จแน่ 

  • เดินไฟอย่าไกลตู้

เลือกพิกัดติดตั้งจุดชาร์จที่สามารถเดินสายไฟไปได้ไม่ไกลจากตู้ควบคุมไฟฟ้า นอกจากช่างจะทำงานสะดวก ประหยัดเวลาแล้ว ยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินสายไฟด้วย 

  • โปรดชาร์จใต้หลังคา 

อย่างสุดท้ายที่ต้องไม่ลืมคือจุดชาร์จควรอยู่ในร่มหรือเป็นบริเวณที่มีหลังคา เพราะถึง EV Charger จะมีระบบกันน้ำในตัว แต่คงไม่เหมาะกับการตากแดดตากฝนทั้งวันทั้งคืน ยังไงก็ควรถนอมไว้ให้ดีเพื่อการใช้งานที่ยาวนานขึ้นด้วย

[Conscious Tips by ili U] 

EV Charger Point นอกบ้าน มีที่ไหนพร้อมให้เราเข้าชาร์จบ้าง

MEA EV Charger 

จุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวงให้บริการในพื้นที่ของสำนักงานการไฟฟ้าหลายเขตใกล้บ้าน สามารถเช็คจุดบริการได้ที่แอปพลิเคชั่น MEA EV (มีค่าบริการ) 

PEA VOLTA

จุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคให้บริการครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 4 ภาคของไทย สามารถเช็คจุดบริการได้ที่แอปพลิเคชั่น PEA VOLTA (มีค่าบริการ)

EV STATION

จุดชาร์จที่ให้บริการฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อรองรับวิถีใหม่ในการหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าของกลุ่มลูกค้าในเครือเซ็นทรัล สถานีตั้งอยู่ที่ เซ็นทรัลชิดลม บริเวณลานจอดรถชั้น B และ เซ็นทรัล เอ็มบาสซี บริเวณลาดจอดรถชั้น B1

Contributor

อดีตกองบรรณาธิการสำนักพิมพ์ ปัจจุบันรับจ้างเขียนเป็นการเลี้ยงชีพ

graphic designer

Freelance Graphic Designer ชอบการทำเลย์เอาต์หนังสือและงานกระดาษ รักการเก็บสะสมพืช และมีแมวในการดูแลหนึ่งหน่วย

Read More:

Home ผลการทดลอง

ทดลองทำ Un-Shopping List (ได้จริงหรอ?)

หยุดช้อป กลั้นใจไม่ซื้อของใหม่ 1 เดือนเต็ม

Home วิธีทำ

เราจะทำตามสัญญา ถ้าหยุดนำเข้าเศษพลาสติก

ตะโกนบอกรัฐว่าคนตัวเล็กๆ พร้อมจัดการขยะพลาสติกตั้งนานแล้ว!

Home

#จับฉลากของขวัญเคยรัก หมายเลข 1 | เจ้าของเก่า: โอ๋

ของขวัญเคยรักปริศนาหมายเลข 1 ที่จะนำมาจับฉลากสิ้นปีนี้ในธีม จับฉลากของขวัญเคยรัก!