Home —— The Conscious shopper

สรุปวิธีแยกขยะในบ้าน ไต่ระดับจากง่ายไปแอดวานซ์

ช่วงปีที่ผ่านมาน่าจะเป็นเวลาที่หลายคนอยู่บ้านกันมากขึ้น จากที่เคยออกไปทำงานตอนเช้า กลับมาตอนค่ำ กลายเป็นต้องอยู่บ้านทั้งวัน แต่ละพื้นที่ใช้สอยถูกใช้งานครบทุกอาณาบริเวณอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน นอกจากจะต้องทำความสะอาดกันบ่อยกว่าเดิม อีกสิ่งที่เพิ่มเติมอย่างมีนัยสำคัญคือ ปริมาณขยะในบ้าน ทั้งขยะใช้เพียงครั้งอย่าง กล่องข้าว แก้ว หลอดพลาสติก ขยะจากเศษอาหาร และขยะอันตรายอย่าง แบตเตอรี่ หลอดไฟ หลายบ้านมีการคัดแยกตามความสะดวกของเจ้าของ แต่อีกหลายบ้านยังไม่รู้จะเริ่มต้นที่จุดไหน อยากชวนให้เริ่มจากอ่านบทความนี้ก่อนก็ได้ เพื่อทำความเข้าใจขยะฟรอมโฮมว่ามันไม่ได้แยกยากอย่างที่คิด

ขยะฟรอมโฮม เป้าหมายง่ายๆ คือไม่ทิ้งรวม 

จุดเริ่มต้นคือเราต้องเข้าใจก่อนว่าสิ่งที่เห็นว่าเป็นขยะ อาจไม่ใช่ขยะเสมอไป ในความหมายของบางสิ่งยังไม่ควรค่าแก่การทิ้งให้กลายเป็นขยะไร้ค่า และบ้านเป็นต้นทางที่ดีในการคัดแยก ขยะในบ้านแบ่งออกคร่าวๆ เป็น ขยะที่ย่อยสลายได้ และ ย่อยสลายไม่ได้ ที่ย่อยสลายได้ก็จะกลายเป็นปุ๋ยหมักสำหรับต้นไม้ ที่ย่อยไม่ได้ยังมีปลายทางเป็นจุดรับบริจาค ซาเล้งรับซื้อ หรือส่งต่อให้พนักงานเก็บขยะนำไปจัดการ แต่ถ้าทิ้งรวมเมื่อไหร่ เหล่านั้นจะกลายเป็นขยะไร้ค่าที่อาจเน่าเสีย ปนเปื้อน และไม่ปลอดภัยกับใครเลย ดังนั้นก่อนพาขยะออกไปจากบ้านทุกครั้ง ลองฝึกแยกเพื่อสร้างชีวิตใหม่ให้ขยะย่อยสลายไม่ได้มีชีวิตต่อไปได้ และไม่ลำบากเราที่ต้องเดินออกไปทิ้งแบบนับครั้งไม่ถ้วน

เริ่มแยกแบบเบสิกให้ได้ ค่อยไต่สู่ระดับแอดวานซ์

ถ้าคุณมีความรู้สึกว่าการแยกขยะเป็นเรื่องยาก แสดงว่าคุณยังไม่เคยลงมือแยก เพราะการแยกขยะไม่เคยยากอย่างที่คิด ลองเริ่มต้นจากแบบง่ายมากๆ ก่อนก็ได้ แล้วค่อยไต่ระดับไปเป็นแบบละเอียดยิบ 

สูตรแยกแบบเบสิก > เศษอาหาร (เปียก) / ขยะทั่วไป (แห้ง) 

1. ขยะเศษอาหาร/ขยะย่อยสลายได้ เช่น อาหารที่กินไม่หมด เศษผักที่เหลือจากการปรุง เปลือกผลไม้ เตรียมตะกร้าเหลือใช้มากรองส่วนที่เป็นของเหลวออกจากขยะเศษอาหารก่อน เพื่อให้เศษอาหารนั้นแห้งที่สุด จากนั้นเทใส่ถุงหรือถัง แยกกันกับขยะทั่วไป ปัจจุบันมีเครื่องย่อยสลายเศษอาหารให้กลายเป็นปุ๋ยพร้อมใช้สำหรับบ้านที่อยู่อาศัยให้การกำจัดขยะง่ายขึ้นกว่าเดิมด้วย

2. ขยะทั่วไป/ขยะที่ย่อยสลายไม่ได้ เช่น พลาสติก ขวดน้ำ แก้ว กล่องพัสดุ บรรจุภัณฑ์ เตรียมถุงหรือถังขนาดปานกลางมาแยกใส่ขยะทั่วไปเอาไว้ ระวังอย่าให้ปะปนกับขยะเศษอาหารหรือขยะเปียก จากนั้นรวมเอาออกไปทิ้งทีเดียวเพื่อให้พนักงานเก็บขยะนำไปคัดแยกได้ง่ายๆ 

สูตรแยกแบบแอดวานซ์ > เปียก / ติดเชื้อ / รีไซเคิล / อิเล็กทรอนิกส์ 

1. ขยะเศษอาหาร/ขยะย่อยสลายได้ ทำเหมือนการแยกทิ้งแบบเบสิกคือ แยกขยะเศษอาหารลงถังหมัก > ได้ปุ๋ยใส่ผักสวนครัวที่ปลูกในบ้าน

2. ขยะทั่วไป/ขยะติดเชื้อพร้อมทิ้ง

กระดาษชำระ กระดาษที่ปนเปื้อน ใส่ถุงขยะมัดปากถุงให้เรียบร้อยแล้วทิ้งได้เลย

หน้ากากอนามัย พับครึ่งแบบหันด้านนอกออกแล้วม้วนเก็บ รัดด้วยสายคล้องหู แยกใส่ถุงขยะแบบใสให้มองเห็นได้ง่ายๆ อย่าลืมระบุหน้าถุงว่า “หน้ากากใช้แล้ว” เพื่อความปลอดภัยของทุกคน

3. ขยะรีไซเคิลพร้อมส่งต่อ จับขยะรีไซเคิลได้มาล้างสะอาด แยกประเภทและชิ้นส่วนอย่างละเอียด ส่งต่อให้หน่วยงานที่รับขยะเหล่านี้นำไปแปรรูปเพื่อใช้งานต่อไป

กลุ่มพลาสติก 

  • ขวดน้ำ ฝาขวด ถุง หลอด และพลาสติกใดใด > ส่งไปหลอมเป็นภาชนะชิ้นใหม่ได้
    • ขวดและฝาพลาสติก แยกขวดน้ำกับฝา ทำความสะอาด ตากให้แห้ง ส่งไปทำกระถาง แจกัน ได้ที่ Precious Plastic Bangkok จักรพงษ์วิลล่า เลขที่ 396/1 ถนนมหาราช ท่าเตียน เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200
    • หลอดใช้แล้ว ล้างสะอาด ตากให้แห้ง ส่งไปเปลี่ยนเป็นหมอนให้ผู้ป่วยติดเตียง ได้ที่มูลนิธิพลังที่ยั่งยืน เลขที่ 555 หมู่ที่ 1 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวง/เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900 หรือติดต่อ 02-537-3308 
  • ช้อนส้อมและหลอดพลาสติกที่ยังไม่ได้ใช้งาน > ส่งไปให้ผู้ที่ต้องการ เช่น โรงพยาบาลสนาม หน่วยงานที่ดูแลกลุ่มผู้ป่วยติดเตียง เอาไปใช้งาน (เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงจุดรับอยู่ตลอด สามารถค้นหารายชื่อโรงพยาบาลสนามที่รับบริจาคสิ่งของเหล่านี้ได้ด้วยตัวเอง และโทรเช็คทุกครั้งก่อนส่งไป ไม่ให้เป็นภาระเจ้าหน้าที่)

กลุ่มโลหะ

  • กระป๋อง ฝากระป๋อง และอลูมิเนียมใดใด > บริจาคให้มูลนิธินำไปทำขาเทียมหรืออุปกรณ์ค้ำยันได้
    • ห่วงฝากระป๋อง ล้างสะอาด ตากให้แห้ง ไปทำขาเทียมได้ที่กรมควบคุมมลพิษ เลขที่ 92 ซอยพหลโยธิน 7 ถนนพหลโยธิน เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400 หรือติดต่อ 02-298-2000
    • ส่งไปทำอุปกรณ์ค้ำยันได้ที่สมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล เลขที่ 802/410 หมู่ที่ 12 ต.คูคต อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี 12130 หรือติดต่อ 02-990-0331 
  • กระป๋องสเปรย์ที่ใช้จนหมด ให้กดไล่ของเหลวให้ระเหยออกจนเกลี้ยงเพื่อลดแรงดัน แยกไว้ต่างหาก (เป็นขยะอันตรายที่รีไซเคิลได้) > ส่งต่อให้ผู้รับซื้อเพื่อนำไปเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล 

กลุ่มแก้ว

  • ขวดแก้ว โหลแก้ว > ล้างสะอาด แยกเก็บไว้ใช้ซ้ำ / ส่งต่อให้ผู้รับซื้อเพื่อนำไปหลอมขึ้นมาใหม่

กลุ่มกระดาษ

  • กล่องพัสดุ บรรจุภัณฑ์ เศษกระดาษ > แยกทิ้ง / ส่งต่อให้ผู้รับซื้อเพื่อนำไปเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล

4. ขยะอิเล็กทรอนิกส์พร้อมกำจัด

แบตเตอรี่ ถ่านไฟฉาย หลอดไฟ หูฟัง สายชาร์จต่างๆ > แยกทิ้งลงกล่องรับขยะอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี

ล้าง ตาก แยก เพื่อบ้านไร้กลิ่น

รู้ว่าทิ้งแบบไหน แยกอย่างไรแล้ว ต่อไปเป็นเทคนิคจัดการขยะให้บ้านไม่เหม็นที่สำคัญไม่แพ้กัน

ล้างให้สะอาด ตากให้แห้ง ต้องล้างบรรจุภัณฑ์จากอาหารและเครื่องดื่มให้สะอาดทุกครั้งก่อนแยกทิ้ง เช่น กล่องข้าวพลาสติก ถุงแกง แก้วน้ำพลาสติก ขวดแก้ว โหลแก้ว การล้างขยะให้สะอาดและนำไปผึ่งแดดให้แห้งก่อนนำไปแยกทิ้งจะช่วยให้การรีไซเคิลขยะสะดวกและปลอดภัยมากขึ้น แถมช่วยให้การแยกขยะในบ้านถูกสุขลักษณะอนามัยและไร้กลิ่นด้วย เพราะถ้าทิ้งไปแบบเลอะๆ อาจเกิดการเน่าเสียและส่งกลิ่นได้ 

แยกลงถังหลายหลายสี

  • ถังควรทำจากวัสดุที่มีน้ำหนักเบาและทำความสะอาดง่าย 
  • ควรเป็นภาชนะที่ปิดมิดชิด และมีขนาดไม่ใหญ่เกินไปเพื่อไม่ให้เกิดการสะสมขยะในบ้านจนเกินจำนวน
  • ใช้ถังหลายสี โดยให้สีถังเป็นตัวช่วยในการแยกขยะ โดยมี 2 ถัง สำหรับแยกขยะแบบเบสิก และ 4-6 ถัง สำหรับแยกขยะแบบยิบย่อย 

แยกลงถุงรียูส/ย่อยสลายได้

  • นำถุงพลาสติกเหลือใช้ที่มีในบ้านมารียูสเป็นถุงแยกขยะได้
  • ถ้าซื้อถุงขยะควรเลือกแบบที่ย่อยสลายได้ Compostable Plastic (พลาสติกจากพืช ย่อยสลายได้ที่ต้องผ่านกระบวนการที่ถูกวิธี) และระวังอย่าสับสนกับ Biodegradable Plastic (พลาสติกผสมกับวัสดุที่ย่อยสลายได้และต้องได้รับการจัดการเป็นพิเศษ) หรือ Oxo-degradable Plastic (พลาสติกที่เติมโลหะหนักเพื่อให้แตกตัวได้เร็วขึ้น) ที่อาจสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมมากกว่าเดิม

แยกขยะยังไง ให้สนุกด้วยกันทั้งบ้าน

หากอ่านแล้วอยากเริ่มแยกขยะตั้งแต่วันนี้ เริ่มจากจัดมุมแยกขยะให้สะอาดและน่าสนใจ มีป้ายระบุประเภทขยะเอาไว้ชัดเจน แล้วชวนสมาชิกในบ้านมาแยกขยะไปด้วยกัน 

  • สมาชิกวัยเด็ก ให้สมมติว่านี่คือการเล่นเกมแยกขยะ นอกจากสร้างอุปนิสัยการแยกขยะให้เด็กตั้งแต่เนิ่นๆ ยังเป็นการฝึกทักษะและสร้างความรู้ผ่านการแยกสีและประเภทของวัสดุด้วย รับรองว่าเด็กๆ พร้อมสนุกไปด้วยแน่ๆ
  • สมาชิกวัยผู้ใหญ่ ลองเล่าเหตุผลที่ต้องแยกขยะให้พวกเขาฟัง อาจสร้างแรงจูงใจด้วยกระปุกหนึ่งใบสำหรับเก็บเงินที่ได้จากการขายขยะ หรือให้พวกเขารับรู้ว่าขยะที่บ้านเราส่งต่อไปให้แต่ละหน่วยงานถูกเอาไปทำอะไรบ้าง เพื่อให้เห็นว่าขยะที่แยกก่อนทิ้งกลับกลายเป็นมูลค่าขึ้นมาได้จริง 

ค่อยๆ ลองชวนคนในบ้านมาปรับพฤติกรรมให้แยกทิ้งจนเป็นนิสัย ทำให้เราไม่ต้องแยกขยะอย่างเดียวดายอีกต่อไป

[Conscious Tips by ili U] 

ชี้เป้าปลายทาง จุดรับชุบชีวิตขยะ 

  • ถังวนถุง | มือวิเศษ x วน 

สิ่งที่รับทิ้ง ถุงและบรรจุภัณฑ์ฟิล์มพลาสติกสะอาด เช่น ห่อผ้าอ้อม พลาสติกหุ้มขวดน้ำ หรือฟิล์มกันกระแทก 
ทิ้งแล้วไปไหน นำกลับไปรีไซเคิลเป็นเม็ดพลาสติกใช้ในการผลิตถุงพลาสติก และผลิตภัณฑ์พลาสติกอื่นๆ 
จุดรับ ศูนย์การค้าในเครือเซ็นทรัล ปั๊มน้ำมันบางจาก และจุดบริการอื่นๆ 

  • ทิ้ง E-Waste | AIS

สิ่งที่รับ ขยะอิเล็กทรอนิกส์ 5 ประเภท คือ โทรศัพท์มือถือ แบตเตอรี่มือถือ สายชาร์จ พาวเวอร์แบงก์ และหูฟัง 
ทิ้งแล้วไปไหน นำขยะไปเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลและกำจัดอย่างถูกวิธี
จุดรับ ศูนย์การค้าในเครือเซ็นทรัล ไปรษณีย์ไทย AIS Shop และจุดบริการอื่นๆ 

  • Drive & Drop Recycle Station ​​| Central Pattana x Recycle Day

สิ่งที่รับ ขยะทุกประเภทที่ผ่านการคัดแยกมา เช่น กระดาษ พลาสติก โลหะ อลูมิเนียม และขวดแก้ว โดยทุกการทิ้งสามารถแลกรับคะแนน The1 และส่วนลดจากร้านค้าได้ด้วย
ทิ้งแล้วไปไหน นำขยะไปเข้าสู่กระบวนการแปรรูปและกำจัดอย่างถูกวิธี
จุดรับ แบบไดร์ฟทรูที่ เซ็นทรัล อีสต์วิลล์ และเซ็นทรัล ศรีราชา 

Contributor

อดีตกองบรรณาธิการสำนักพิมพ์ ปัจจุบันรับจ้างเขียนเป็นการเลี้ยงชีพ

graphic designer

Freelance Graphic Designer ชอบการทำเลย์เอาต์หนังสือและงานกระดาษ รักการเก็บสะสมพืช และมีแมวในการดูแลหนึ่งหน่วย

Read More:

Home

#จับฉลากของขวัญเคยรัก หมายเลข 2 | เจ้าของเก่า: บี

ของขวัญเคยรักปริศนาหมายเลข 2 ที่จะนำมาจับฉลากสิ้นปีนี้ในธีม จับฉลากของขวัญเคยรัก!

Home

#จับฉลากของขวัญเคยรัก หมายเลข 3 | เจ้าของเก่า: เต้

ของขวัญเคยรักปริศนาหมายเลข 3 ที่จะนำจับฉลากของขวัญเคยรัก ที่ใครได้ไปก็ได้ใช้แน่นอน!

Home สาระสำคัญ

waste from home แยกตัวมาเวิร์กที่บ้านแล้ว อย่าลืมแยกขยะที่บ้านด้วยนะ!

แยกตัวมาเวิร์กฟรอมโฮมแบบนี้ ลองมาแยกขยะที่บ้านกันด้วยสิ