Love —— มนุษยสัมพันธ์

ทำไมต้องจ่ายภาษี แค่เกิดมามีประจำเดือน

“ประจำเดือนเป็นสิ่งที่คนเกิดมามีเพศสภาพเป็นผู้หญิงเลี่ยงไม่ได้ การต้องจ่ายภาษีผ้าอนามัย จึงเหมือนการที่เราโดนเลือกเก็บเงินจากการเกิดมาเป็นผู้หญิง”

ประโยคข้างต้นคือเสียงสะท้อนของ ริน-รินทร์ อินทโรดม และ เบส-ฟ้าใส เชี่ยวบางยาง สองนิสิตคณะแพทย์ศาสตร์ ปี 2 จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ขับเคลื่อนแคมเปญ #DontBleedMyPurse หรือ #เสียเลือดไม่เสียตังค์ ของ Scora Thailand ซึ่งเริ่มต้นอย่างจริงจังเมื่อกลางปีที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายให้ภาครัฐยกเลิกภาษีผ้าอนามัย ซึ่งเป็นสินค้าพื้นฐานของผู้มีประจำเดือน

หากคุณใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการไถฟีดในแอปฯ นกสีฟ้า การเรียกร้องผ้าอนามัยปลอดภาษี น่าจะเป็นวาระที่ผ่านตาคุณมาอยู่เรื่อยๆ – อย่างน้อยก็ 2 ปีได้แล้ว นับตั้งแต่มีการตั้งคำถามกันในสภาฯ ว่าผ้าอนามัยถูกจัดเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยจริงหรือ (ซึ่งคำตอบก็คือไม่ แต่กลับเป็นสินค้าที่รัฐเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% นะจ๊ะ) และล่าสุดกับประเด็นที่รัฐจัดหมวดผ้าอนามัยแบบสอดให้กลายเป็นสินค้าหมวดเครื่องสำอาง (ซึ่งภาครัฐก็ยืนยันอีกว่าไม่ได้จะเก็บภาษีเพิ่มเป็น 30% อย่างที่ใครบอกนะจ๊ะ)

อย่างไรก็ตาม เมื่อเรื่องนี้ถูกจุดประเด็นขึ้นมาเมื่อไหร่ ก็มักจะกลายเป็นการถกเถียงกันใหญ่โตบนโลกออนไลน์เสมอ แน่ล่ะ มันอาจจะเข้าใจยากสักหน่อยหากคุณไม่ได้เกิดมามีประจำเดือน หรืออาจจะดูเป็นเรื่องเฉยๆ หากคุณไม่ได้รู้สึกเดือดร้อนกับการต้องซื้อผ้าอนามัยเป็นประจำทุกเดือน

แต่เอาเป็นว่า ลองสละเวลามาฟังรินและเบสกันสักหน่อยว่าทำไมพวกเธอสองคนถึงต้องพยายามออกมาเรียกร้องเรื่องผ้าอนามัยปลอดภาษีกันอย่างจริงจังขนาดนี้ แล้วคุณอาจพบว่าผ้าอนามัยที่ใครว่าเป็นเรื่องของผู้หญิง อาจเป็นเรื่องของเราทุกคนก็ได้นะ

นักศึกษาแพทย์ = พลเมืองของประเทศ

ก่อนไปทำความรู้จักกับแคมเปญ #DontBleedMyPurse เราขอชวนเท้าความไปถึงองค์กร Scora Thailand กันก่อน องค์กรนี้เป็นคณะกรรมการภายใต้สมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์นานาชาติแห่งประเทศไทย ซึ่งรวบรวมนิสิตนักศึกษาแพทย์จากทุกสถาบันที่มีความสนใจเรื่องสุขภาวะและสิทธิทางเพศ โดยแต่ละมหาวิทยาลัยจะมีธีมที่สนใจและประเด็นที่ขับเคลื่อนแตกต่างกันไป 

“ก่อนหน้านี้ในทวิตเตอร์มีกระแสเรื่องภาษีผ้าอนามัยอยู่เรื่อยๆ แต่เราก็ไม่เคยเห็นการเปลี่ยนแปลงจากภาครัฐที่เป็นรูปเป็นร่างเลย พอดีกับที่เราได้ไปเจอคนที่พยายามขับเคลื่อนกฎหมายด้านนี้อยู่ เลยคิดว่าอยากสนับสนุนพวกเขาบ้าง พวกเราเองก็น่าจะเป็นกระบอกเสียงได้ เลยลุกขึ้นมาทำแคมเปญ #dontbleedmypurse กัน” เบสเล่าถึงจุดเริ่มต้นของแคมเปญนี้

หากเล่าให้พอเห็นภาพ #DontBleedMyPurse คือแคมเปญในทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กของ Scora Thailand ที่ให้ความรู้ด้านสุขภาวะและสังคมในจักรวาลของผู้มีประจำเดือนแบบเข้าใจง่าย เป็นอินโฟกราฟิกขนาดสั้น และมีงานเสวนาออนไลน์ Webinar ร่วมกับกลุ่มอื่นๆ ที่กำลังขับเคลื่อนเรื่องนี้ด้วยกันเป็นครั้งคราว เพื่อสร้างความเข้าใจปัญหาการเข้าถึงผ้าอนามัย โดยมีเป้าหมายปลายทางคือการยกเลิกภาษีผ้าอนามัย และทำให้ผ้าอนามัยเป็นสิ่งเข้าถึงง่ายของกลุ่มผู้มีประจำเดือน

“ภาษีผ้าอนามัยเป็นเรื่องที่มักทำให้เกิดการโต้เถียง และเกิดความเข้าใจผิดบ่อยมาก ตอนที่เราทำก็เคยคิดนะว่า ถ้ามี backlash (การตอบโต้รุนแรง) กับประเด็นนี้จะเป็นอย่างไร เราเลยลองเทียบผลดีกับผลเสียดู

จนพบว่าถ้าเราทำยังไงก็มีคนได้ประโยชน์ อย่างน้อยมาอ่านแล้วได้ตั้งคำถามว่าถุงยางอนามัยยังแจกฟรีได้เลย ทำไมผ้าอนามัยถึงแจกฟรีบ้างไม่ได้ หรือได้รู้ว่าผู้หญิงต้องแบกรับค่าใช้จ่ายเยอะขนาดนี้เลยเหรอก็คุ้มแล้ว เราว่าการสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมมันคุ้มกว่าการมานั่งกลัวการโดนโจมตีแล้วอยู่เฉยๆ ปล่อยให้เรื่องนี้เงียบไปเยอะเลย” เบสอธิบาย

ทั้งเบสและรินยอมรับว่าช่วงเริ่มทำแคมเปญใหม่ๆ พวกเธอก็เคยให้ข้อมูลที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดอยู่เหมือนกัน ด้วยความที่พวกเธอเป็นนิสิตแพทย์ ทำให้บางครั้งอาจไม่สามารถแตะประเด็นทางสังคมได้ลึกซึ้งนัก แต่นี่ก็คือการเรียนรู้ระหว่างทางที่ทีมงานทุกคนยินดีปรับปรุงแก้ไข และหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อให้สิ่งที่สื่อสารออกไปสร้างการเปลี่ยนแปลงได้มากขึ้นเรื่อยๆ

อินโฟกราฟิกสีสันสดใสตรงหน้าเราจึงมีเบื้องหลังเป็นการการอ่านรีเสิร์ชปริมาณมหาศาลของทีมงานทุกคน และยังมีข้อมูลที่พวกเธอได้จากการไปร่วมงานกับกลุ่มความเหลื่อมล้ำทางเพศ ม.ธรรมศาสตร์ และกลุ่ม ALSA หรือชมรมองค์กรนิสิตนักศึกษากฎหมายแห่งเอเชียด้วย

ฟังดูไม่ใช่เรื่องง่ายนักกับการรับบทนิสิตแพทย์ที่ขึ้นชื่อว่าแค่เรียนก็แทบไม่ไหว แต่พวกเธอยังสละเวลามาผลักดันประเด็นทางสังคมอีก ทำได้ยังไงกัน – เราสงสัย

“ส่วนตัวเราสนใจเรื่องความหลากหลายทางเพศอยู่แล้ว จบไปก็อยากเป็นสูตินรีแพทย์ นี่จึงเป็นพื้นที่ให้เราได้มาเรียนรู้เรื่องพวกนี้มากขึ้น” รินกล่าว

“ยอมรับเลยค่ะว่าเรียนหนักมาก แต่เราก็ไม่อยากให้การเรียนมาแยกเราออกจากเรื่องทางสังคม เพราะในฐานะพลเมืองคนหนึ่ง เรื่องเพศอยู่รอบตัวเราอยู่แล้ว จะเป็นเรื่องสุขภาวะทางเพศหรือความเท่าเทียมก็ตาม ถ้าเราสามารถช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ เราก็อยากทำ” เบสสมทบ 

เพศสภาพที่ถูกบังคับให้จ่ายมากกว่าถึง 7 เปอร์เซ็นต์

7 เปอร์เซ็นต์ คือเรตภาษีมูลค่าเพิ่มที่คิดเพิ่มอยู่ในราคาของผลิตภัณฑ์ผ้าอนามัย 

ในหนึ่งปี ผู้มีประจำเดือนต้องเสียเงินอย่างน้อยปีละ 1,512 บาทไปกับผ้าอนามัย เอาเข้าจริง เรารู้ว่าหลายคนเสียเงินไปเยอะกว่านั้นมาก เพราะบางเดือนประจำเดือนก็มาน้อยเสียที่ไหน และผ้าอนามัยที่หาได้ง่ายในท้องตลาดก็ไม่ได้ราคาถูก

“ประจำเดือนเป็นสิ่งที่คนเกิดมามีเพศสภาพเป็นผู้หญิงหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย แล้วการที่ผู้หญิงต้องมาจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มตรงนี้ ก็เหมือนเราโดนเลือกปฏิบัติ โดนเก็บเงินจากการเกิดมาเป็นผู้หญิง” รินออกความเห็น

น่าคิดว่าในขณะที่สินค้าหลายอย่างทั้งข้าวปลาอาหาร ระบบขนส่ง หรือแม้แต่หนังสือกลับไม่ถูกคิดภาษี เพราะได้รับการจัดหมวดเป็น ‘สินค้าพื้นฐานในชีวิตประจำวัน’ ผ้าอนามัยซึ่งเป็นสินค้าที่คนเกิดมามีประจำเดือนไม่สามารถเลี่ยงได้กลับยังถูกเก็บภาษี และมักถูกนำไปจัดหมวดให้วุ่นวายเหมือนภาครัฐไม่เคยเข้าใจว่านี่ก็เป็นสินค้าพื้นฐานไม่ต่างกัน

“พูดในเชิงสุขอนามัย ผ้าอนามัยที่ดีจะต้องเปลี่ยนทุก 3-4 ชั่วโมง นั่นหมายความว่าในหนึ่งวัน เราต้องใช้ผ้าอนามัย 4 แผ่นเป็นอย่างต่ำ ประจำเดือนมาเฉลี่ย 5 วัน หนึ่งรอบเดือนเราจึงต้องใช้ผ้าอนามัยอย่างน้อย 20 แผ่น แล้วราคาผ้าอนามัยที่ต่ำที่สุดอยู่ที่ 5 บาท จำนวนเงินนี้อาจไม่ได้มากอะไรสำหรับคนบางกลุ่ม แต่ถ้าคิดว่าเราต้องจ่ายเงินเท่านี้ตลอดช่วงชีวิต 20 ปี มันจะเยอะขนาดไหน มันมีกลุ่มคนที่ไม่สามารถจ่ายได้จริงๆ นะ

“มีเด็กหลายคนต้องขาดเรียนเพราะไม่มีผ้าอนามัยใส่ บางคนต้องตัดสินใจว่าจะซื้ออะไรระหว่างข้าวกับผ้าอนามัย เรือนจำหญิงไม่มีผ้าอนามัยที่ดีและมากพอให้ผู้ต้องขัง หรือตอนรีเสิร์ชข้อมูล เรายังเจอว่าพนักงานโรงงานที่มีรายได้ต่ำจำนวนมากต้องใช้ผ้าอนามัยให้น้อยแผ่นต่อวันที่สุด หรือบางคนต้องใช้ผ้าขี้ริ้วแทน ซึ่งนี่อันตรายกับสุขอนามัยโดยรวมของพวกเขามาก” เบสอธิบาย

แม้จะเคลมว่าซึมซับได้ดีเยี่ยมแค่ไหน แต่ผ้าอนามัยก็ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ที่ถูกออกแบบมาให้ใส่ตลอดวัน ความเสี่ยงจากการใส่ผ้าอนามัยโดยไม่เปลี่ยนนานเกินไปจึงอาจนำมาซึ่งเชื้อโรคที่กระจายไปได้ถึงทวารหนักและรูปัสสาวะ หนักกว่านั้นอาจติดเชื้อไปถึงกระแสเลือด ส่งผลร้ายแรงถึงชีวิต จึงไม่ต้องคิดเลยว่าหากผู้มีประจำเดือนเลือกใช้สิ่งอื่นทดแทนผ้าอนามัย ความรุนแรงจะยิ่งทวีคูณไปอีกกี่เท่า

ประจำเดือนไม่ได้เป็นแค่เรื่องของผู้หญิง

“เราพยายามใช้คำว่ากลุ่มผู้มีประจำเดือนแทนผู้หญิง เพราะไม่ใช่แค่ผู้หญิงเท่านั้นที่มีประจำเดือนได้” รินอธิบายให้เราฟังหลังจากเราคุยกันไปได้สักพัก

นอกจากกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจนจากการไม่สามารถเข้าถึงผ้าอนามัยราคาถูกแล้ว ผ้าอนามัยที่มีภาษียังสะท้อนไปถึงกรอบของเพศที่จำกัดอยู่แค่ความเป็น ‘หญิง’ และ ‘ชาย’ ด้วย

“ในประเทศไทยมีชุมชนทรานส์เมน (ชายข้ามเพศ) อยู่เยอะทีเดียว แต่คนที่ได้รับการผ่าตัดแปลงเพศเมื่อเทียบกันแล้วยังน้อย ส่วนใหญ่พวกเขาเลยยังต้องใช้ผ้าอนามัยอยู่ นอกจากนี้ยังมีกลุ่ม non-binary (ผู้ที่ไม่รู้สึกว่าตนเองเป็นหญิงหรือชาย), demigirl (ผู้ที่มีสำนึกทางเพศส่วนหนึ่งเป็นผู้หญิง และอีกส่วนเป็นเพศอื่น) และเพศอื่นๆ ที่มีประจำเดือนอีก”

รินชี้ให้เห็นว่า การที่ผ้าอนามัยยังเป็นสิ่งเข้าถึงยากสำหรับคนอีกหลายเพศ นั่นหมายถึงการละเลยของภาครัฐที่ไม่สามารถจัดหาสวัสดิการสุขภาพพื้นฐานให้กับคนทุกเพศทุกวัยได้จริง และปัญหานี้ยังยาวไปถึงการละเลยต่อความหลากหลายทางเพศที่มีอยู่ในประเทศนี้ด้วย

“จริงๆ เรื่องนี้อาจจะไปถึงเพศที่ไม่จำเป็นต้องใช้ผ้าอนามัยด้วยนะ หลายคนอาจจะมองว่าเรื่องนี้ไม่ได้เป็นปัญหา แต่สุดท้ายเราก็อาศัยอยู่ในสังคมเดียวกัน ซึ่งการเมืองหรือรัฐสวัสดิการเป็นเรื่องพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของทุกคน” รินกล่าว

เรียกร้องเพื่อผ้าอนามัย ที่ใครๆ ก็เข้าถึงได้

หากให้สรุปไทม์ไลน์คร่าวๆ เมื่อต้นปีที่ผ่านมากลุ่มความเหลื่อมล้ำทางเพศ ม.ธรรมศาสตร์ ได้เข้ายื่นหนังสือถึงคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ ผ่านนายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล เพื่อให้มีการพิจารณายกเลิกภาษีผ้าอนามัยไปแล้ว

แต่รินและเบสก็อธิบายตามความเป็นจริงว่ากว่าคำร้องดังกล่าวจะได้รับการพิจารณาก็อาจใช้เวลาอีกนับปี ด้วยเพราะยังมีร่างกฎหมายอื่นๆ อีกมากมายที่จ่อเข้าคิวพิจารณาอยู่ และประเด็นเรื่องเพศก็แทบจะจัดอยู่ในลิสต์ท้ายๆ ที่ภาครัฐให้ความสำคัญ

“ระหว่างนี้เราก็พยายามทำหลายอย่างนะ เช่น ร่วมงานกับกลุ่มความเหลื่อมล้ำทางเพศของธรรมศาสตร์ ทำเรื่องจัดหาผ้าอนามัยให้โรงเรียนต่างๆ แล้วก็ทำงานกับองค์การบริหารสโมสรนิสิต จุฬาฯ ด้วย เพื่อจัดจุดแจกผ้าอนามัยฟรีในมหาวิทยาลัย เพราะนิสิตส่วนใหญ่ยังไม่สามารถหารายได้ด้วยตัวเองได้” รินเล่า

“พูดแล้วดูเศร้า แต่ตอนนี้สิ่งที่เราทำได้ก็คงต้องเริ่มจากตัวเองก่อน” เบสหัวเราะ

“เราอยากผลักดันให้เรื่องนี้กลายเป็นสวัสดิการรัฐโดยแท้จริง เราอาจไม่ต้องเป็นกลุ่มเปราะบางหรือผู้เสียประโยชน์ถึงจะลุกมาเรียกร้องได้ เพราะเราล้วนเป็นผู้มีสิทธิและเสรีภาพเท่าเทียมกัน เรามองเห็นปัญหาของคนกลุ่มหนึ่ง เราก็สามารถช่วยเรียกร้องให้พวกเขาได้รับสวัสดิการที่เท่าเทียมกับทุกคนได้เหมือนกัน

“ความจริงประเทศไทยไม่เคยเก็บสถิติอย่างจริงจังเลยว่ามีคนชนชั้นกลาง หรือคนทำงานออฟฟิศที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องภาษีผ้าอนามัยมากแค่ไหน แต่สมมติง่ายๆ เกิดเรามีประจำเดือนขึ้นมาก็ไม่ต้องคิดว่าจะวิ่งไปหาซื้อผ้าอนามัยที่ไหน เพราะรัฐมีสวัสดิการให้เราเข้าถึงได้ทันที หรือวันหนึ่งผ้าอนามัยที่เราซื้อได้มีราคาถูกลงอีกจะดีแค่ไหน เราอาจจะเคยชินกับการที่ภาครัฐเก็บภาษีเรามาตลอด ไม่ได้คิดว่ามันมีปัญหาอะไร แต่การไม่เกิดปัญหา ไม่ได้หมายว่ามันเป็นเรื่องดี หรือเป็นเรื่องปกติในสังคมเสียหน่อย” 

ประเทศปิตาธิปไตยที่ ‘ปิดตา’ ปัญหาทางเพศ

“แค่เกิดมามีเพศสภาพเป็นผู้หญิงตอนนี้ก็โดนลบ 1 แล้ว เพราะต้องเสียภาษีผ้าอนามัย แต่ว่าคนที่ไม่มีประจำเดือนเขาเริ่มต้นที่ 0 นะ ที่เราเรียกร้องอยู่ตอนนี้ ก็แค่อยากให้คนที่เกิดมาเป็นผู้หญิงได้เริ่มต้นที่ 0 เหมือนกัน ไม่ได้หมายความว่าจะให้ผู้หญิงกลายเป็นเพศที่เหนือกว่าเลย” เบสกล่าว

ถึงอย่างนั้นเราก็ยังเห็นว่ามีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการเรียกร้องการยกเลิกภาษีผ้าอนามัยอยู่เรื่อยๆ บนโลกออนไลน์ ทั้งการบอกว่าผ้าอนามัยจะจำเป็นสักแค่ไหนกันเชียว ก็เหมือนการซื้อทิชชู่นั่นแหละ บางทีก็เอาผ้าอนามัยไปเทียบกับการซื้อกางเกงในบ้างล่ะ หนำซ้ำยังมีความเข้าใจอีกว่าหากมีประจำเดือนก็กลั้นเอาสิ จะได้ซื้อผ้าอนามัยน้อยลงไง!

“เราว่าปัญหานี้ย้อนไปได้ถึงระบบการศึกษาเลยนะ ผู้ชายหลายคนยังคิดอยู่เลยว่าประจำเดือนอั้นได้ ซึ่งเขาก็ไม่ผิดหรอก สิ่งที่เราทำได้ตอนนี้จึงเป็นการพยายามให้ข้อมูล เพื่อพวกเขาจะได้เข้าใจและอยากมาร่วมกับเราในอนาคต” รินอธิบาย

“รากฐานของเรื่องนี้คือการศึกษา ถ้าการศึกษาปูมาดี ต่อไปเราก็น่าจะขับเคลื่อนเรื่องนี้ไปได้ไกลขึ้น ไม่ใช่แค่เรื่องของผู้มีประจำเดือนเท่านั้นนะ แต่เราหมายถึงเรื่องความหลากหลายทางเพศอื่นๆ ด้วย ถ้าเพศศึกษาสอนให้เห็นถึงความแตกต่างตรงนี้ ก็น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีเลยล่ะ ซึ่งปัญหาที่เกิดตอนนี้ก็สะท้อนไปถึงการให้ความสำคัญของภาครัฐด้วย ว่ารัฐไม่ได้ให้ความสำคัญกับผู้หญิงและเพศที่หลากหลายเท่าไหร่นัก” เบสสมทบ

ทั้งสองคนเล่าให้เราฟังต่อว่านอกจากระบบการศึกษาที่ดีแล้ว หลายประเทศธุรกิจผ้าอนามัยยังผูกขาดอยู่กับภาครัฐ ทำให้กำหนดราคาและจัดการภาษีทำได้ง่าย แต่ใช่ว่าในระบบทุนนิยมที่มีการแข่งขันสูงแบบนี้ภาครัฐจะไม่สามารถจัดการอะไรได้เลย 

“สิ่งที่รัฐสามารถแทรกแซงได้คือการยกเลิกภาษี ยังไม่ต้องไปถึงการแจกฟรีหรอก แค่ยกเลิกภาษีได้ก็เป็นก้าวแรกที่ยิ่งใหญ่มากแล้ว

“ผ้าอนามัยที่ประเทศเยอรมนีถูกมาก ราคาแค่ 1-2 บาทรวมภาษีแล้วนะ คนเยอรมันยังออกมาเรียกร้องให้ยกเลิกภาษีเลย เพราะรัฐไม่ควรได้เงินจากความเจ็บปวดของเราเลย 1 บาทกับ 0 บาท มันอาจจะต่างกันไม่มาก แต่ถ้ามองในแง่สวัสดิการ มันก็ไม่ควรมีการเก็บเงิน” รินออกความเห็น

“ข้อมูลที่เราได้จากฝั่งกฎหมาย พบว่าผู้ผลิตผ้าอนามัยเขาไม่ได้ทำแค่ผ้าอนามัยอย่างเดียว ดังนั้นมันเลยมีความซับซ้อนเรื่องราคาภายในด้วย การจะไปแก้ให้ต้นทุนการผลิตถูกลงจึงดูเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุไปหน่อย เพราะนั่นหมายถึงค่าแรงของแรงงานอีกหลายชีวิตเลย และปัญหาจริงๆ มันอยู่ที่ว่า ทำไมรัฐบาลถึงมาทำเงินบนสิ่งที่ผู้หญิงต้องจ่ายอย่างเลี่ยงไม่ได้ล่ะ

“เราคิดว่าง่ายที่สุดตอนนี้คือการที่รัฐมีสวัสดิการพื้นฐานให้กับกลุ่มนักโทษหญิงและคนไม่มีรายได้ และทำให้ผ้าอนามัยปลอดภาษีเพื่อประชาชนจะได้ไม่ต้องกังวลว่าวันนี้ตื่นมาจะต้องซื้อผ้าอนามัยหรือกินข้าว ส่วนคนที่มีกำลังซื้อก็สามารถหาตัวเลือกเป็นผ้าอนามัยในแบบที่เขาชอบได้ เพราะมันคงยากมากๆ ถ้าจะทำให้ไม่มีทุนนิยมในประเทศไทย” เบสอธิบายต่อ

ภาษีผ้าอนามัยอาจหายไปได้ ด้วย ‘เสียง’ ของเราทุกคน

ในวันที่คำร้องเรื่องการยกเลิกภาษีผ้าอนามัยยังติดการพิจารณาของคณะกรรมาธิการสามัญอยู่ สิ่งที่พวกเราทุกคน (ไม่ว่าเพศไหน) ทำได้ จึงเป็นการเลี้ยงกระแสและพูดถึงปัญหาผ้าอนามัยอย่างสม่ำเสมอไม่ให้เรื่องนี้หายไปไม่ว่าจะจากโลกออนไลน์หรือโลกจริงก็ตาม

อย่างง่ายที่สุดคือการเข้าไปช่วยรีทวิตในทวิตเตอร์ และแชร์ข้อความในเพจของ Scora Thailand ออกไปให้ไกลมากที่สุด หรือจะแวะไปเล่นฟิลเตอร์และแชร์เรื่องราวของแคมเปญ #DontBleedMyPurse ในอินสตาแกรม @Scora_Thailand ด้วยก็ได้ เพราะนอกจากการเรียกร้องให้ยกเลิกภาษีผ้าอนามัยแล้ว เบสและรินยังหวังว่าการพูดถึงเรื่องประจำเดือนจะกลายเป็นเรื่องปกติในสังคมได้เสียที

“เราอยากกระตุ้นให้คนทุกเพศหันมาเห็นความสำคัญของปัญหานี้ แล้วช่วยกันผลักดันให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายให้เร็วที่สุด” รินกล่าว

“สุดท้ายถ้าเราทำได้จริง มันจะทำให้เห็นเลยว่ารัฐบาลนี้สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศมากขนาดไหน แล้วเราก็อาจจะเป็นโรลโมเดลในการทำให้ประเทศอื่นทำตามได้ และก่อให้เกิดการตระหนักรู้ในวงกว้างได้ด้วย” เบสปิดท้าย

แม้ความหวังของการได้ซื้อผ้าอนามัยปลอดภาษีอาจจะยังดูห่างไกล แต่เสียงของทุกคนมีความหมาย และเราอาจช่วยกันสร้างความเปลี่ยนแปลงได้เร็วกว่าที่คิดก็ได้นะ

Content Designer

#อดีตนิสิตภาควารสารฯ #เรียนจบแล้ว #นักเขียน

Graphic Designer

#กราฟิกดีไซเนอร์ #เป็นเด็กหญิงMoodyGirl #แต่ถ้าได้กินของอร่อยฟังเพลงเพราะนอนเต็มอิ่มจะจิตใจแจ่มใสและหัวใจพองโต

Read More:

Love จากผู้ใช้จริง

เข้าใจ ‘เฟม’ มากขึ้น ผ่าน 4 หนังสือเฟมินิสต์น่าอ่าน

ทำความเข้าใจว่าเฟมินิสต์คืออะไร จำเป็นต่อสังคมแค่ไหน ผ่านหนังสือน่าสนใจที่เราแนะนำ

Love สาระสำคัญ

ไหว้เจ้า 9 ศาล กับ 9 คำอธิษฐานเพื่อเมืองที่ดีกว่านี้

รวมคำอธิษฐานจากเมือง ที่อยากให้เมืองนี้ดีและน่าอยู่มากขึ้น

Love สาระสำคัญ

เขื่อนเพื่อฉัน? ฝันเพื่อใคร?

เขาบอกว่าเขื่อนไม่ดี แล้วทำไมปี 2021 ใครบางคนยังอยากได้เขื่อนอยู่อี้ก (เสียงสูง)