Love —— สาระสำคัญ

ไหว้เจ้า 9 ศาล กับ 9 คำอธิษฐานเพื่อเมืองที่ดีกว่านี้

แรงบันดาลใจจากคอนเทนต์ขอผู้ ขอลูก ขอให้ร่ำรวยเฮง เฮง เฮง ในโลกออนไลน์ บวกกับวาระวันที่ 9 เดือน 9 ที่ฟังดูมงคลดี ili U เลยขอประเดิมคอนเทนต์แรกในธีม Urbanice ชวนมาเป็นคนที่ไนซ์กับเมืองหน่อย ด้วยการเล่าถึงประเด็นเมืองต่างๆ ที่เรา ‘หวัง’ อยากให้มันดีขึ้นผ่านการไปบนบานศาลกล่าว ตามศาลและสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ

ออกตัวก่อนเลยว่า เราเป็นแฟนคลับกรุงเทพฯ รักบ้านนี้เมืองนี้เกินกว่าจะเกลียดชังและหนีไปอยู่ที่อื่น (ถึงใครจะไล่เราก็ไม่ไป) แต่เพราะอยู่ด้วยกันมานาน เราจึงเห็นด้านที่ไม่สมบูรณ์ ควรแก้ไข ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง หรืออย่างน้อยก็ควรมองเห็นปัญหานี้ร่วมกัน จึงเป็นที่มาของการ ‘อธิษฐานดังๆ ’ ให้คนข้างๆ และสังคมได้ยิน โดยหาได้มีเจตนาลบหลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดไม่   


ทุกคนรู้ ปัญหาเมืองมันทั้งใหญ่ ทั้งแก้ยาก นอกจากการลงมือทำเท่าที่ทำได้ในฐานะคนคนหนึ่ง การร่วมด้วยช่วยกันส่งเสียงออกมาดังๆ ก็เป็นอีกวิธีกดดันเท่าที่เราทำได้ มาอธิษฐานไปด้วยกัน และมีความหวังว่าเมืองนี้จะดีขึ้นกันเถอะ

“ขอให้นายทุนไม่ทำลายชุมชนเล็กๆ และประวัติศาสตร์ดีๆ จนหายไปหมด”

อธิษฐานที่: ศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง

เดินไปทางไหนก็เจอแต่ตึกๆๆๆ ชีวิตของข้าพเจ้าเติบโตมาพร้อมกับการเห็นชุมชนเล็กๆ รอบตัวทยอยหายไป จากบ้านเปลี่ยนเป็นห้างฯ ไม่ก็คอนโดฯ หรูตึกยักษ์ จนอดหวั่นใจไม่ได้ว่าสักวันหนึ่งกรุงเทพฯ อาจไม่เหลือประวัติศาสตร์อะไรไว้้ส่งต่อให้คนรุ่นหลังอีกแล้ว!

ป้อมมหากาฬ ชุมชนนางเลิ้ง สลัมคลองเตย ชุมชนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนหนึ่งในนี้คือตัวอย่างของชุมชนที่หายไปแล้ว และอีกส่วนคือชุมชนที่กำลัง (หรือเคย) ต่อสู้กับการเข้ามาของนายทุนใหญ่ แม้จะมีตัวอย่างการต่อสู้ของชาวบ้านให้เห็นมากมาย แต่การไล่ที่ก็ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเหมือนสิ่งนี้จะไม่มีวันหยุดจนกว่ากรุงเทพฯ จะกลายเป็นป่าคอนกรีตอย่างสมบูรณ์แบบ

ล่าสุดกับ #Saveศาลเจ้าแม่ทับทิม แหล่งยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวบ้าน นิสิตบุคลากรและชาวบ้านจำนวนหนึ่งในชุมชนสามย่าน สะพานเหลือง และปทุมวัน ซึ่งแน่นอนว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ข้าพเจ้าได้เห็นความพยายามในการเปลี่ยนแปลงพื้นที่แถบนี้ให้กลายเป็นตึกสูง ห้างร้านทันสมัย หรืออะไรก็ตามที่อ้างว่าเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา!?!

ในอดีตชุมชนรอบศาลเจ้าแม่ทับทิมแห่งนี้ เคยเต็มไปด้วยบ้านเรือน ร้านค้า และวัฒนธรรมของชาวจีนที่สืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น แต่เมื่อเวลาผ่านไป บ้านเรือนบริเวณนี้กลับค่อยๆ หายไป แทนที่ด้วยรั้วสังกะสี ภาพจำลองของตึกหอพักนิสิตและบุคลากรขนาดยักษ์ คงเหลือไว้แต่ทางเข้าแคบๆ แบบที่ถ้าไม่มองก็คงไม่เห็น สู่ศาลเจ้าแม่ทับทิมกลางไซต์ก่อสร้าง

ถึงจะมีการออกมาพูดว่า เดี๋ยวจะย้ายองค์อาม่าไปยังสถานที่ใหม่ แต่ก็เกิดคำถามตามมาอีกมากมายว่าแล้วสถานที่ชั่วคราวก่อนจะมีศาลใหม่บริเวณอุทยาน 100 ปี จุฬาฯ นั้นมีความพร้อมแค่ไหน แล้วศาลใหม่จะไปเหมือนกับศาลปัจจุบันที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 และมีศิลปะแบบจีนแต้จิ๋วอันเป็นเอกลักษณ์ได้อย่างไร ในเมื่อที่ตั้งของศาลใหม่นั้นห้ามจุดธูป ห้ามจัดแสดงมหรสพ และยังห้ามไม่ให้คนเฝ้าศาลเข้ามาดูแลพื้นที่แห่งนี้ตามปกติ จนหลายๆ คนให้ความเห็นว่าการรื้อถอนศาลเจ้าแม่ทับทิมก็ไม่ต่างอะไรกับการรื้อประวัติศาสตร์บนพื้นที่นี้ออกไปด้วย

การต่อสู้นี้ไม่รู้จะจบที่ตรงไหน และข้าพเจ้าเองก็ไม่รู้ว่าผลจะเป็นอย่างไร ข้าพเจ้าเลยได้แต่อธิษฐานให้องค์อาม่าช่วยปกป้องคุ้มครองชุมชนน้อยใหญ่ที่มีวัฒนธรรมดีๆ ให้คงอยู่ หรืออย่างน้อยก็ขอให้วัฒนธรรมเหล่านี้สามารถอยู่คู่กับความเจริญในเมืองได้โดยไม่ถูกทำลายไปจนหมด

“ขอให้การเดินข้ามทางม้าลายแคล้วคลาดปลอดภัย ไม่โดนรถชนด้วยเถิด”

อธิษฐานที่: ศาลเจ้าแม่โพสพ ลาดพร้าวซอย 1

ตั้งแต่เด็กจนโต การเดินบนท้องถนนของข้าพเจ้าไม่เคยรู้สึกปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นการข้ามทางม้าลาย หรือเดินบนฟุตบาท ข้าพเจ้าก็ยังต้องระแวดระวังตัวเพราะกลัวว่าจะมีรถพุ่งมาจากมุมไหนก็ได้ 

ทั้งที่ตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก ผู้ขับขี่ต้องให้สิทธิแก่คนเดินเท้าในทางข้าม แต่ข้าพเจ้ายังเห็นข่าวคราวคนเดินถนนโดนรถเฉี่ยวรถชนเป็นประจำ จนอดคิดไม่ได้ว่าคนเดินเท้าอย่างข้าพเจ้ามีสิทธิ์ใช้ถนนจริงไหม

นอกจากปัญหาเรื่องความปลอดภัยแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่มองข้ามไม่ได้เลยเกี่ยวกับปัญหาทางเท้าในกรุงเทพฯ เลยคือทางเท้าที่เดินไม่ได้จริง เพราะเต็มไปด้วยสิ่งกีดขวาง หลุม บ่อ ฟุตบาทบางที่ก็เล็กจนไม่มีที่เดิน เต็มไปด้วยป้ายโฆษณา หรือบางที่ก็ไม่มีกระทั่งฟุตบาทด้วยซ้ำ แต่ไม่มีใครพยายามจะแก้ไข เพราะประเทศไทยมีวัฒนธรรมที่ปลูกฝังกันมาว่ารถยนต์เป็นใหญ่ หรือกระทั่งเรามีสะพานลอยมากกว่าทางม้าลาย ซึ่งชี้วัดได้ว่าเมืองนี้เอื้อประโยชน์ให้กับคนขับรถยนต์ มากกว่าคนเดินเท้า

ทั้งที่หลายๆ เมืองหลวงทั่วโลกต่างมุ่งพัฒนาสู่ ‘เมืองเดินดี’ (Walkable city) หรือเมืองที่ผู้คนส่วนใหญ่ใช้การเดินเพื่อสัญจร เพราะการเดินนอกจากจะส่งผลดีต่อสุขภาพ ยังเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เมืองมีชีวิตชีวา ย่านที่มีคนเดินกันเยอะๆ ร้านค้าต่างๆ จะทยอยมาเปิด ทางเท้าที่คึกคักจะกระตุ้นให้คนออกมาจับจ่าย ในระบบเมืองที่มีการเดินเท้าที่ดี และมีพื้นที่สาธารณะที่เอื้อต่อการเดิน จะทำให้ผู้คนในเมืองมีปฏิสัมพันธ์ ซึ่งเป็นพื้นฐานที่นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างสร้างสรรค์ ถือเป็นการเพิ่มกิจกรรมด้านเศรษฐกิจในท้องถิ่น และยังจะสร้างความสุขให้กับคนในย่าน ทำให้คุณภาพชีวิตในดีขึ้น แต่ทุกวันนี้ข้าพเจ้าก็ยังไม่เห็นว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาผลักดันหรือสร้างนโยบายอะไร ข้าพเจ้าจึงทำได้เพียงขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยดูแลบ้านเมืองให้

เขาบอกกันว่าศาลที่มีม้าลายเยอะๆ แสดงให้เห็นว่าศาลแห่งนี้เหมาะกับการขอพรแล้วสัมฤทธิ์ผล หากเป็นอย่างนั้น ข้าพเจ้าจึงอยากจะขอพรจากศาลแห่งนี้ ขอให้คนใช้รถใช้ถนนเคารพในสิทธิของคนเดินเท้า ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสนใจกับการพัฒนาเมืองที่ให้ความสำคัญกับทางเดินเท้ามากขึ้น ให้เป็นทางเดินที่ใครๆ ก็สามารถใช้งานได้ ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ คนพิการ หรือคนใช้รถเข็น ให้เราสามารถใช้ท้องถนนได้อย่างปลอดภัย ทำให้เมืองนี่น่าเดินได้จริงๆ

“ขอให้เจอเนื้อคู่ ในเมืองที่ไม่รู้จะไปหาคู่ที่ไหน”

อธิษฐานที่: ศาลพระตรีมูรติ หน้าห้างเซ็นทรัลเวิลด์

คนเมืองอย่างเรานั่นชีวิตแสนลำบาก ใครจะไปคิดว่าการใช้ชีวิตแสนเร่งรีบ การสูญเสียเวลาไปกับการเดินทาง การไม่มีพื้นที่สาธารณะดีๆ ที่เราจะไป-เดินเล่น พักผ่อนหย่อนใจจะทำให้เรากลายเป็นคนจน อ้วน และไม่มีแฟนได้ !! 

มีงานวิจัยของ Robert Putman ที่พบว่า 1 ใน 4 ของอเมริกันชนไม่มี meaningful relationship หรือความสัมพันธ์ที่มีความหมาย ซึ่งหนึ่งในปัจจัยสำคัญคือวัฒนธรรมรถยนต์ที่รุ่งเรือง เพราะวัฒนธรรมนี้ทำให้เราอยู่แต่ในพื้นที่แคบๆ ในบ้าน ขับรถไปที่ทำงาน แล้วก็ขับรถกลับบ้าน ใช้เวลานานบนท้องถนน ซึ่งมีตัวเลขบอกว่า 10 นาทีที่เสียไปกับการเดินทาง จะทำให้ความผูกพันทางสังคม (social ties) ลดลง 10 เปอร์เซ็นต์ แล้วข้าพเจ้าผู้อยู่ในประเทศที่คนใช้บนถนนนานที่สุดในโลก ถึงประมาณ 48,000 นาทีต่อปี จะมีโอกาสมีความผูกพันทางสังคมกับมนุษย์คนไหนได้หรือ?

แม้ว่าประเทศไทยจะมีขนส่งสาธารณะ แต่ก็มีน้อยและไม่มีประสิทธิภาพพอ ทำให้คนแย่งกันขึ้นจนแออัด ยากที่จะเกิดความโรแมนติกได้ นอกจากการจราจรแสนติดขัดที่ทำให้ข้าพเจ้าไม่มีโอกาสเจอใคร ในเมืองที่แห้งแล้งมองไปทางไหนก็ไม่มีอะไรสวยเจริญหูเจริญตา ไม่มีพื้นที่สาธารณะดีๆ ให้คนไปใช้เวลาร่วมกัน ก็เป็นอีกหนึ่งในปัญจัยสำคัญที่ทำให้ข้าพเจ้ามีโอกาสหาคู่น้อยลงได้

ข้าพเจ้าจึงขออธิษฐานตามใบคาถาคำขอพรพระตรีมูรติ ‘จึงอยากจะขอองค์พระตรีมูรติที่ยิ่งใหญ่ พระองค์เคยประทานพรแด่ทวยเทพทั้งผู้ปฏิบัติดี ผู้ปฏิบัติชอบทั้งหลาย บัดนี้ ข้าพเจ้ามากราบเบื้องบาทแด่พระองค์ท่านแล้ว จึงขอพรจากพระองค์ซึ่งประทานไว้ ณ บัดนี้ ขอให้ข้าพเจ้าเจอเนื้อคู่ แม้จะอาศัยอยู่ในเมืองที่ไม่รู้จะไปเจอคู่ที่ไหนและตอนไหนด้วยเถิด’

“ขอให้เรามีสตรีทฟู้ดข้างทาง ให้ฝากท้องตลอดกาลนานเทอญ…เพี่ยง!”

อธิษฐานที่: ศาลเจ้าเจียวเองเบี้ยว บางรัก

ที่ผ่านมากรุงเทพฯ ไม่เคยปล่อยให้ข้าพเจ้าหิวจนท้องกิ่ว อาหารริมทางและแผงลอยราคาย่อมเยาได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต ความอิ่มและเอมของการได้สรรหาสตรีทฟู้ดกิน ตอบสนองกายใจของข้าพเจ้ามาเป็นเวลานาน จนกระทั่ง…

ปี 2557 รัฐบาล คสช. ได้เริ่มดำเนินนโยบาย ‘คืนทางเท้าให้กับประชาชน’ โดยกล่าวว่าเป็นการจัดระเบียบทางเท้า แต่ในการดำเนินการจริง กลับเป็นการออกคำสั่งห้ามขายแบบฉุกละหุกหรือสั่งให้ย้ายที่กะทันหัน (หลงเหลือไว้เพียงไม่กี่ที่) โดยไม่มีนโยบายดูแลพ่อค้าแม่ค้าตาดำๆ ที่มีรายได้น้อย ไม่คำนึงถึงส่วนได้ส่วนเสียของสตรีทฟู้ด แถมการจัดระเบียบนี้ยังกลายเป็นช่องทางให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์บางแห่งเข้ายึดครองพื้นที่เพื่อสร้างคอนโดฯ หรือห้างฯ อีกต่างหาก หรือข้าพเจ้าเข้าใจผิดไปเองว่าทางเท้าควรต้องเป็นพื้นที่สาธารณะที่ผู้คนใช้งานร่วมกัน? การจัดระเบียบควรเป็นไปบนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมระหว่างคนกิน คนขาย และคนเดินเท้า หรือเขาลืมไปแล้วว่าผู้คนทั่วโลกให้สมญานามกรุงเทพฯ ว่าเป็นสวรรค์ของคนชอบกิน?

นอกจากคุณค่าเชิงวัฒนธรรมอาหาร มีงานวิจัยบอกว่าสตรีทฟู้ด หรือบรรดาหาบเร่แผงลอยมีความสำคัญต่อชีวิตคนกรุงเทพฯ 3 ด้าน ได้แก่ หนึ่ง เป็นแหล่งของกินของใช้ราคาถูกโดยเฉพาะสำหรับคนชั้นล่าง สอง หาบเร่แผงลอยเป็นอาชีพสร้างรายได้ โดยเฉพาะในกลุ่มสตรี ผู้สูงวัย และคนมีการศึกษาน้อย แถมช่วยเลี้ยงปากท้องคนในครอบครัว และสาม หาบเร่แผงลอยช่วยเป็นหูเป็นตาในพื้นที่สาธารณะ ในเมื่อสตรีทฟู้ดมีคุณค่าต่อคนในเมือง และถ้าคิดให้ดี เราจะพบว่าสตรีทฟู้ดไม่ใช่ต้นตอของปัญหาทางเท้าทั้งหมด ดังนั้น เราจึงต้องการนโยบายการจัดระเบียบทางเท้าที่ประนีประนอมทั้งผู้บริโภค ผู้ค้า และคนเดินถนน โดยไม่ละเลยที่จะแก้ปัญหาโครงสร้างในการในการบำบัดรักษาความสะอาดในเมืองไปพร้อมๆ กัน

ถ้าเมืองไม่เห็นค่าของแผงลอย รถเข็น ร้านอาหารริมทาง และกวาดล้างมันไปหมด ข้าพเจ้าก็คงไม่เหลืออาหารราคาสบายกระเป๋าให้ฝากท้องอีกต่อไป ขอให้เจ้าโปรดเห็นใจ ดลบันดาลให้สตรีทฟู้ดที่ยังรอดชีวิตอยู่ ได้มีที่ยืน เพื่อให้เราคนกรุงฯ ได้มีที่พึ่งพายามหิวต่อไป… สาธุ

“ขอให้ต้นไม้ในเมืองทุกต้น ยืนเป็นร่มเงาไปอีกหมื่นปี โค่นไม่ลงตราบชั่วลูกชั่วหลาน”

อธิษฐานที่: ศาลเสด็จพ่อเทพาดำทุ่ง ใต้ต้นกร่างอายุ 200 กว่าปี เจริญกรุง 57 

เหตุผลที่ดิฉันตัดสินใจมาหาเสด็จพ่อถึงในซอยนี้ เป็นเพราะความอัศจรรย์ใจในเรื่องเล่าถึงความศักดิ์สิทธิ์ของท่าน ไม่ใช่แค่เรื่องที่ใครมาบนบานขอเรื่องงานหรือการเรียนแล้วสุขสมหวัง แต่เป็นเรื่องที่เล่าต่อกันมาว่า ท่านได้ดูแลต้นกร่างต้นนี้เป็นอย่างดี ถ้าใครคิดจะตัดหรือทำลายต้นกร่างนี้ก็จะเจออุปสรรค แม้กระทั่งโรงเรียนยังเจอกับเหตุการณ์ที่ทำให้ต้องสร้างรั้วหลบ เพื่อให้ต้นกร่างอายุ 200 กว่าปีที่สูงเกือบเท่าตึก 7 ชั้นนี้ ขยายกิ่งก้านให้ชุมชนต่อไปได้ 

ดิฉันน้อยเนื้อต่ำใจ เมื่อได้รู้ข้อมูลน่าเศร้าจากสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. ว่าอัตราส่วนพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนประชากรในกรุงเทพฯ ในปี 2561 คือ 6.18 ตารางเมตรต่อคน ซึ่งน้อยเกินกว่าที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ (9 ตารางเมตรต่อคน) และแม้ว่าพื้นที่สีเขียวใน กทม. จะน้อยนิดอยู่แล้ว แต่จากที่ประสบพบเจอต้นไม้ใหญ่ที่ถูกตัดจนเหี้ยนด้วยตาตัวเองอยู่บ่อยๆ ก็ยืนยันความเศร้าไปอีกว่า เมืองที่ดิฉันอาศัยอยู่นั้น ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการอยู่ร่วมกับต้นไม้เลย (รวมถึงวิธีการตัดแต่ง) แม้กระทั่งต้นที่อยู่มานานระดับรุ่นปู่ทวดอีกหลายๆ ต้น ก็ถูกโค่นลงเพื่อสร้างสิ่งอื่นไปแล้วอย่างง่ายดายไร้เยื่อใย

การตัดต้นไม้ในลักษณะที่ผิด หรือการโค่นต้นไม้ ไม่ได้มีผลกระทบกับคนเมืองแค่เรื่องทัศนียภาพหรือความสวยงาม แต่มันคือการลดทอน ‘พื้นที่สีเขียวในเมือง’ ให้หดหาย ซึ่งต้นไม้เหล่านี้ทำหน้าที่เป็นทั้งร่ม เป็นทั้งเครื่องกรองอากาศ ฟอกอากาศเป็นพิษ ที่นับวันก็ยิ่งเพิ่มขึ้นๆ จากปริมาณรถยนต์ โรงงาน รวมไปถึงวิกฤตหมอกควันที่จะแวะมาเยี่ยมทุกต้นปี

ถ้าเรามีต้นไม้ในเมืองมากเพียงพอ สถานการณ์คงจะไม่เลวร้ายอย่างที่ผ่านมา

ด้วยความห่วงใยในคุณภาพชีวิตของคนในเมืองทั้งรุ่นดิฉันเอง และลูกหลานที่จะต้องอาศัยอยู่ต่อไป ขอให้ท่านจงปกปักษ์คุ้มครองต้นไม้ใหญ่ในเมืองที่หลงเหลืออยู่ ให้ได้มีลมหายใจ มอบร่มเงา สร้างลมเย็นๆ ชื่นใจให้คนเมืองต่อไป แบบไม่จำเป็นต้องรอให้ใครใช้กุศโลบายนำผ้าสามสีไปโอบรอบ

“ขอเทพเจ้าดลบันดาลให้เมืองมีระบบจัดการขยะดีๆ สักที”

อธิษฐานที่: กองขยะ..[-_-]!!!!!

ข้าพเจ้ารู้ดีว่าปัญหาขยะเป็นเรื่องใหญ่ระดับโลก และยิ่งตระหนักถึงปัญหามากขึ้นเมื่อเห็นภาพเต่าทะเล พะยูน วาฬ และสัตว์น้ำอีกมากมายได้รับผลกระทบจากการทิ้งขยะไม่เป็นที่เป็นทางของมนุษย์ ข้าพเจ้าจึงเริ่มไม่รับถุง ไม่รับหลอด แยกขยะ ลดการซื้อฟาสต์แฟชั่น ลดขยะให้มากที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ แต่ข้าพเจ้าก็ไม่แน่ใจว่าการลดและแยกขยะของข้าพเจ้าจะช่วยน้องสัตว์ในท้องทะเลได้จริงไหม เมื่อระบบการจัดการขยะดูจะไม่มีประสิทธิภาพเสียเท่าไหร่

แม้เราจะเห็นว่ารัฐบาลกำลังรณรงค์ให้คนไทยลดการใช้ถุงพลาสติกกันอย่างจริงจัง แต่เราก็ยังมีขยะพลาสติกล้นประเทศ เพราะเมืองไทยเราสามารถรีไซเคิลขยะได้เพียง 25% เท่านั้น ซึ่งปลายทางของขยะที่รีไซเคิลไม่ได้ก็หนีไม่พ้นการนำไปฝังกลบ รอวันไหลลงทะเล สร้างอันตรายให้สัตว์น้อยใหญ่เหมือนเดิม

ระบบการจัดการขยะที่ไม่ดีนอกจากจะส่งผลให้เกิดขยะตกค้างมากมายในธรรมชาติ ยังทำให้รัฐต้องนำเข้าขยะเศษพลาสติกจากต่างประเทศจำนวนมากมารีไซเคิลเป็นพลาสติกราคาถูกขายให้คนในประเทศ เนื่องจากประเทศเรารีไซเคิลขยะเพื่อหมุนเวียนใช้ในประเทศไม่ทัน ซึ่งการนำเข้าพลาสติกนั้นกลับยิ่งเพิ่มปัญหาให้กับจัดการขยะ เพราะจะทำให้ขยะราคาถูกลง จนเกิดปัญหาซาเล้งไม่เก็บขยะเพราะไม่คุ้มค่าตอบแทน ก่อให้เกิดปัญหาขยะล้นเมือง เพิ่มมลภาวะให้กับประเทศอีกทางหนึ่ง

ที่ผ่านมาข้าพเจ้าเห็นวิชาการหลายคนออกมายืนยันอย่างชัดเจนว่าไม่มีนโยบายการกำจัดขยะใดที่มีประสิทธิภาพที่มาจากการปฏิบัติของประชาชนเพียงฝ่ายเดียว แต่ภาครัฐควรมีบทบาทเชิงรุกในการแก้ปัญหาองค์รวมให้เป็นระบบ การจัดการขยะจึงจะประสบความสำเร็จ

ข้าพเจ้าจึงอยากจะขอให้เทพที่สถิต ณ ศาลแห่งนี้ บันดาลให้เมืองของข้าพเจ้ามีระบบการจัดการขยะดีๆ สักที เพื่อให้ความพยายามแยกขยะของข้าพเจ้าไม่สูญเปล่า เพื่อให้เมืองแห่งนี้สะอาด ท้องทะเลสดใส ไม่มีสัตว์น้ำได้ผลกระทบจากขยะพลาสติกที่ไหลลงทะเลอีกต่อไป สาธุ

“ขอให้ชีวิตของคนไร้บ้านมีทางเลือกที่ดีกว่านี้”

อธิษฐานที่: ณ ดินแดนในกทม.

ข้าพเจ้ามักจะได้ยินข้อโต้เถียงเกี่ยวกับการจัดการคนไร้บ้านอยู่บ่อยๆ แต่ก็ไม่เห็นจะมีข้อสรุปแน่ชัดสักทีว่าจะมีมาตรการอะไรช่วยเหลือกลุ่มคนเหล่านี้อย่างเป็นรูปธรรมบ้าง

คนไร้บ้าน คือตัวชี้วัดมาตรฐานเศรษฐกิจอันย่ำแย่ของประเทศ ชี้ช่องโหว่ของนโยบายรัฐ ความเหลื่อมล้ำอันสูงลิ่ว และทำให้ข้าพเจ้าได้รู้ว่าเมืองแห่งนี้ไม่ได้เป็นบ้านสำหรับพวกเขาเลย

หลังพ้นสถานการณ์โควิด-19 สสส. คาดการณ์ว่าจำนวนคนไร้บ้านทั่วประเทศจะเพิ่มขึ้น 30% จากการว่างงาน และไม่มีเงินเช่าที่อยู่อาศัย แม้ในกรุงเทพฯ จะยังไม่สามารถระบุจำนวนคนที่เพิ่มขึ้นได้อย่างแน่ชัด แต่ทุกวันนี้ก็มีคนไร้บ้านอยู่ในเมืองประมาณ 1,300 คนแล้ว เรื่องน่าเศร้าก็คือในช่วงโควิด-19 ที่รัฐบาลสั่งให้พวกเรากักตัว กลุ่มคนเหล่านี้กลับไม่มีที่อยู่ และยังเป็นกลุ่มเปราะบ้างที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบสาธารณสุขที่ดีจนกลายเป็นกลุ่มเสี่ยงติดเชื้ออันดับต้นๆ อีกต่างหาก

แต่ถึงจะไม่มีโควิด สถานการณ์ของกลุ่มคนเหล่านี้ก็ไม่ได้ดีสักเท่าไหร่หรอก

เพราะกลุ่มคนไร้บ้านถูกจัดเป็น ‘คนไทยไร้สิทธิ’ ที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการของภาครัฐได้อย่างเราๆ เพียงแค่พวกเขาไม่มีบัตรประชาชน แม้แต่สิทธิ์ 30 บาทรักษาทุกโรคที่มอบให้ประชาชนทุกคนบนแผ่นดินไทยก็ดูจะเป็นเรื่องไกลตัวพวกเขาเหลือเกิน แถมการจะกลับไปทำบัตรใหม่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเมื่อข้อมูลของพวกเขามักจะโดนลบออกจากทะเบียนราษฎร์ไปหมดแล้วหลังจากขาดการติดต่อกับสำนักงานเขตไปนาน และบางครั้งพวกเขายังไม่มีเอกสารใดๆ ติดตัวมาด้วยเมื่อออกจากบ้าน ซึ่งก็น่าตั้งคำถามว่าทำไมการออกบัตรประชาชนให้กับกลุ่มคนไร้บ้านถึงเป็นเรื่องยากนักในเมื่อคนไร้บ้านหลายคนสามารถระบุข้อมูลส่วนตัวของตนเองได้อย่างแม่นยำ

การไม่มีบัตรประชาชนยังทำให้พวกเขาไม่สามารถเข้าถึงสิทธิเบื้องต้นอื่นๆ ได้อีกทั้งการได้รับการศึกษา การได้รับเบี้ยเลี้ยงยังชีพ หรือหากได้ทำงานก็ยังเป็นเรื่องยากที่จะได้รับค่าตอบแทนแบบสะดวกรวดเร็ว เพราะเป็นเรื่องยากที่จะยืนยันตัวตนกับบริษัทต่างๆ แล้วไหนจะต้องเป็นกังวลเวลาเจอเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาขอตรวจสอบข้อมูลอีก

ในฐานะคนเมือง เราทุกคนสามารถช่วยกันผลักดันเรื่องนี้ได้ตามกำลังที่ไหว ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนองค์กรต่างๆ ที่ทำงานกับกลุ่มคนไร้บ้าน ช่วยกันผลักดันนโยบายรัฐให้พวกเขาได้รับสิทธิอย่างเท่าเทียมกับทุกคน หรืออย่างน้อยการลบภาพจำเดิมๆ เกี่ยวกับคนไร้บ้านที่เรากลัวหรือรังเกียจ แล้วปฏิบัติกับพวกเขาเหมือนอย่างมนุษย์คนหนึ่ง ก็ถือเป็นการต้อนรับพวกเขากลับสู่บ้านหลังใหญ่นี้ได้แล้วล่ะ

“ขอให้ประเทศไทยไม่มีรัฐประหารอีกเลย” 

อธิษฐานที่: อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน

ลูกช้างเกิดมาในประเทศที่มีรัฐประหารมาแล้ว 13 ครั้ง (ไม่นับที่ไม่สำเร็จ 9 ครั้ง) และอยู่ใน Top Ten ประเทศที่มีการรัฐประหารมากที่สุดในโลก

จากที่เป็นเด็กน้อยเรียนรู้เรื่องการรัฐประหารผ่านตำราที่เน้นท่องจำ (และสงสัยว่าทำไมเยอะจังวะ) มาจนถึงการได้มีประสบการณ์ตรงถึง 3 ครั้งในอายุสามสิบกว่าปี ลูกช้างได้เห็นรัฐประหารที่จบลงด้วยสงครามกลางเมือง เห็นรัฐประหารที่มีดอกกุหลาบว่อนถนน เห็นรัฐประหารที่มาจากเสียงเป่านกหวีด (และได้เห็นผลลัพธ์เป็นรัฐธรรมนูญที่ลิดรอนสิทธิการเลือกตั้งอย่างยากจะทำใจ) จนอดสรุปเองในใจว่าที่ประเทศไม่ไปถึงไหนซะที เพราะมัวแต่แก้ปัญหา (ที่อ้างว่าเพราะ) ความขัดแย้ง ด้วยรัฐประหารนี่แหละ 


แต่กว่าที่ลูกช้างจะกระจ่างใจว่ารัฐประหารคือปัญหาของระบอบประชาธิปไตย ลูกช้างก็เคยถูกกล่อมเกลาด้วยวาทกรรม ‘ประชาธิปไตยแบบไทยๆ ไม่เหมือนชาติใดในโลก’ ‘คนไทยยังไม่พร้อมจะมีใช้สิทธิและเข้าใจหน้าที่ของตัวเอง’ ‘การเมืองเป็นเรื่องของผลประโยชน์ นักการเมืองแม่งก็โกงกินกันทุกพรรค’ ‘ก้มหน้าก้มตาทำมาหากินของเราไปเถอะ’ ฯลฯ มาก่อน จึงหลับหูหลับตาท่ามกลางความ ‘ไม่เป็นประชาธิปไตย’ มามากมาย อาทิ ความอยุติกรรมผ่านการตัดสิทธิ์ทางการเมืองด้วยมูลเหตุงี่เง่าและซ้ำแล้วซ้ำเล่า ความสองมาตรฐานและการเลือกปฏิบัติของกลุ่ม ‘คนดี’ และอีกหลากหลายความเซอร์เรียลที่เกิดขึ้นจริง 

จนกระทั่งลูกช้างมีเทคโนโลยีในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และได้เห็นความหวังของคนรุ่นใหม่ที่เชื่อว่าประเทศนี้ดีขึ้นกว่าเดิมได้ #ถ้าการเมืองดี ลูกช้างจึงตระหนักได้ว่าสิ่งที่เราควรยึดถือ คือตรรกะอันเรียบง่ายของประชาธิปไตย ว่าเสียงของเรามีค่าและไม่ควรถูกฉีกทิ้งด้วยอำนาจนอกสภาที่เราไม่ได้เลือก หากสิ่งที่เราเลือกมามีปัญหา ก็จงให้ระบบที่ออกแบบมาให้จัดการกับปัญหานั้นๆ ได้ทำหน้าที่ของมัน มันอาจจะยากเย็น ไม่ทันใจ แต่อย่างน้อยก็ไม่ใช่การล้มกระดานแล้วเริ่มต้นใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า และทำราวกับไม่เห็นหัวเราในฐานะผู้มีสิทธิ์มีเสียงคนหนึ่งในสังคม

ลูกช้างรู้ว่ามันย้อนแย้ง ที่มาอธิษฐานขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ดลบันดาลไม่ให้เกิดรัฐประหารขึ้นอีก ทั้งที่ต้นตอปัญหารัฐประหารก็มาจากการไม่เชื่อว่าระบบประชาธิปไตยแก้ไขปัญหาได้ เลยเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจออกมาแก้ปัญหาแทน และอันที่จริง การบนบานต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็ออกจะเป็นการแสดงออกที่ ‘จารีตนิยม’ อยู่มาก ลูกช้างจึงขอแก้เคล็ด บูชาอำนาจอธิปไตยด้วยการอ่านหนังสือ ‘เสรีนิยมยืนขึ้น!” ของปราบดา หยุ่น หนังสือที่ว่าด้วยแนวคิดเสรีนิยมในสังคมจารีตแบบไทยๆ ซึ่งช่วยกระจ่างความสับสนสงสัยในจิตใจชนชั้นกลางที่เคยก้มหน้าก้มตาเช่นลูกช้างยิ่งนัก    

…รัฐใดที่อ้างว่าเป็นหรือต้องการเป็นประชาธิปไตย แต่ยังยอมให้มีการฉีกรัฐธรรมนูญโดยกลุ่มที่เข้ามายึดอำนาจด้วยการใช้กำลังและอาวุธ, หลักนิติรัฐ-นิติธรรมยังสามารถถูกละเมิดโดยอภิสิทธิ์ชน, กลุ่มอำนาจเก่ายังมีอิทธิพลชักใยกลไกสำคัญต่างๆ ในการปกครองตั้งแต่การร่างรัฐธรรมนูญไปจนถึงการทำงานของกระบวนการยุติธรรม, และแนวคิดเสรีนิยมยังถูกกีดกันข่มเหงอย่างเป็นระบบในทุกมิติ, อำนาจอธิปไตยในสังคมนั้นย่อมไม่ได้อยู่ที่ประชาชนอย่างแท้จริง… คือถ้อยความบางตอนจากหนังสือปกสีชมพูเล่มนี้

หากอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยอย่างที่รัฐธรรมนูญเขียนไว้จริง ก็อย่าลิดรอนสิทธิ์ของเราด้วยการยึดอำนาจอีกเลย

“ข้าพเจ้าและคู่สมรส ขอให้เราได้มีลูกที่เกิดมามีคุณภาพชีวิตที่ดี สาธุ”

อธิษฐานที่: ศาลเจ้าพ่อเสือ เสาชิงช้า 

คำถามยอดฮิตที่ได้ยินบ่อยที่สุดตั้งแต่แต่งงานก็คือ “เมื่อไหร่จะมีลูก”

ข้าพเจ้าและคู่สมรสปรึกษาเรื่องนี้กันเสมอ และได้ข้อสรุปว่าเราไม่อาจมีลูกได้หากไม่อาจมั่นใจว่าเราพร้อมให้คุณภาพชีวิตที่ดีกับเด็กที่เกิดมา ซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีในที่นี้ไม่ใช่การที่เรามีเงินไปคลอดบุตรในโรงพยาบาลเอกชน ไม่ใช่การมีบ้านในหมู่บ้านล้อมรั้วขนาดใหญ่ที่การันตีว่าเพื่อนบ้านน่าไว้วางใจ และไม่ใช่การมีความสามารถที่ส่งเสียให้ลูกเรียนโรงเรียนทางเลือกที่มีแนวคิดน่าสนใจได้

คุณภาพชีวิตที่ดีที่ข้าพเจ้าและคู่สมรสต้องการ คือการที่เมืองมีระบบที่ดี มีพื้นที่สาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงได้ มีการเคารพสิทธิขั้นพื้นฐาน มีความยุติธรรมพร้อมตัวอย่างประกอบให้เราอธิบายเด็กได้อย่างไม่อายปาก มีระบบการศึกษาและสาธารณสุขที่ไม่เหลื่อมล้ำ มีพื้นที่ให้เด็กๆ ได้เลือกเป็นและไม่เป็นตามที่เขาต้องการ และมีโอกาสให้เขาเลือกเติบโตอย่างมีความหวัง 

หากลอกการบ้านอารยประเทศ ตัวอย่างดีๆ ที่ข้าพเจ้าและคู่ชีวิตได้แต่อิจฉา คือการเป็นรัฐสวัสดิการ (Welfare State) ของประเทศอย่างอังกฤษ สวีเดน นอร์เวย์ ฝรั่งเศส ออสเตรีย หรือเยอรมนี ที่ใช้ระบบนี้เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม มิใช่การกดให้เด็กอยู่ในชุดนักเรียนและทรงผมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ทั้งๆ ที่ทุกคนก็รับรู้ถึงความเหลื่อมล้ำอยู่ในทุกมิติ 

อย่าอ้างว่า ถ้าอยากอยู่ในรัฐสวัสดิการดีๆ แบบนั้น ก็ต้องเสียภาษีหนักหนา เพราะข้าพเจ้าและคู่สมรสพร้อมจะเสียภาษีมากขึ้นเพื่อแลกกับความเหลื่อมล้ำที่น้อยลง ถ้าจะพูดเรื่องนี้ก็ต้องว่ากันยาว เพราะหากรัฐจัดการภาษีของเราอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่จ่ายให้สิ่งที่ไม่จำเป็นต้องจ่าย เราจะมีสวัสดิการรักษาพยาบาล เด็กๆ ได้เรียนหนังสือฟรีแบบไม่มีค่าใช้จ่าย แถมได้เรียนอย่างมีคุณภาพ และได้เลือกว่าอยากจะโตไปอย่างไร มากกว่าโตไปแล้วรวย และได้โปรดอย่าไล่ข้าพเจ้าออกนอกประเทศนี้ไปเป็นพลเมืองประเทศที่ข้าพเจ้าเห็นว่าดีเลย เพราะข้าพเจ้าและคู่สมรสเกิดที่นี่ และรักประเทศนี้เช่นเดียวกัน  

วันนี้เป็นวันดี ข้าพเจ้าและคู่สมรสมาไหว้ขอบุตรแก่องค์ตั่วเล่าเอี้ยกง ขอให้เจ้าพ่อโปรดประทานพรให้ข้าพเจ้า และคู่รักทุกคู่ (ไม่เว้นแม้แต่คู่รักเพศเดียวกัน) ที่อยากให้ลูกเกิดและเติบโตในเมืองที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีดังเช่นที่กล่าวมา ได้สมปรารถนาในเร็ววันนี้ด้วยเถิด สาธุ

Content Designer

#เกิดจังหวัดตาก #ไปเรียนที่เชียงใหม่ #กำลังเป็นนักเขียนอยู่ในเมืองกรุง

Content Designer

#อดีตนิสิตภาควารสารฯ #เรียนจบแล้ว #นักเขียน

Content Designer

#อดีตเป็นบรรณาธิการสารคดีนิตยสารวัยรุ่น #เขียนหนังสือบ้างตามโอกาส #ปัจจุบันเป็นเจ้าของบริษัทคอนเทนต์ขนาดเล็ก #กำลังตั้งใจเรียนรู้ที่จะใส่ใจสิ่งรอบตัวมากขึ้นผ่านการเล่าเรื่องราวในไอแอลไอยู

Content Designer

อดีตผู้ช่วยบรรณาธิการนิตยสาร #aday คือเจ้าของหนังสือทั้งเรื่องจริงและเรื่องแต่ง อาทิ #สนธิสัญญาฟลามิงโก #ร้านหวานหวานวันวาน คือบรรณาธิการอิสระและคอนเทนต์ครีเอเตอร์ฟรีแลนซ์ ก่อนจะมาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทออกแบบคอนเทนต์ที่ยังไม่รู้จะตั้งชื่อตำแหน่งตัวเองว่าอะไร

Graphic Designer

#กราฟิกดีไซเนอร์ #เป็นเด็กหญิงMoodyGirl #แต่ถ้าได้กินของอร่อยฟังเพลงเพราะนอนเต็มอิ่มจะจิตใจแจ่มใสและหัวใจพองโต

Read More:

Love มนุษยสัมพันธ์

ทำไมต้องจ่ายภาษี แค่เกิดมามีประจำเดือน

คุยกับแก๊งนักศึกษาแพทย์จาก Scora Thailand เจ้าของแคมเปญเรียกร้องให้ยกเลิกภาษีผ้าอนามัย

Love มนุษยสัมพันธ์

คุยกับ ‘แก้ว-มณีวรรณ’ เด็ก ม.ปลาย ที่เลือกตอบความฝันด้วยการศึกษานอกระบบ

"ครูคะ หนูขอลาออก"

Love จากผู้ใช้จริง

เข้าใจ ‘เฟม’ มากขึ้น ผ่าน 4 หนังสือเฟมินิสต์น่าอ่าน

ทำความเข้าใจว่าเฟมินิสต์คืออะไร จำเป็นต่อสังคมแค่ไหน ผ่านหนังสือน่าสนใจที่เราแนะนำ