Play —— จากผู้ใช้จริง

ตู้กดฝีมือคนไทย ที่ไม่มีใครนั่งอยู่ข้างใน

ช้าเกินปุยมุ้ย… ถ้าอยากจะเห่อตู้กดอัตโนมัติกับเขาบ้าง

หลังจากกระแสตู้เต่าบินกลายเป็นไฮป์ในโลกโซเชียลจนใครๆ ก็ต้องไปต่อคิวลอง บ้างก็ชื่นชมในความดีงามจนต้องไปเล่นมุกพิสูจน์ว่ามีใครนั่งอยู่ข้างในรึเปล่า พวกเราชาวไอแอลไอยูก็อยู่ไม่สุข มานั่งคิดกันต่อว่าตู้กดอัตโนมัติฝีมือคนไทยที่ดีๆ มันต้องมีมากกว่านี้สิ ต้องมีแน่ๆ นี่บ้านเราคือไทยแลนด์ 4.0 แล้วนะ (เหรอ)

หลังจากกระแสตู้เต่าบินกลายเป็นไฮป์ในโลกโซเชียลจนใครๆ ก็ต้องไปต่อคิวลอง บ้างก็ชื่นชมในความดีงามจนต้องไปเล่นมุกพิสูจน์ว่ามีใครนั่งอยู่ข้างในรึเปล่า พวกเราชาวไอแอลไอยูก็อยู่ไม่สุข มานั่งคิดกันต่อว่าตู้กดอัตโนมัติฝีมือคนไทยที่ดีๆ มันต้องมีมากกว่านี้สิ ต้องมีแน่ๆ นี่บ้านเราคือไทยแลนด์ 4.0 แล้วนะ (เหรอ)

เพื่อไม่ให้หมดกำลังใจในนวัตกรรม เราจึงแยกย้ายกันไปกระทำการเสาะหาตู้กดอัตโนมัติแบบไทยๆ ที่ดีงามตอบใจผู้บริโภค แม้จะไม่ได้มีชื่อเสียง รางวัล หรือไฮป์ใดๆ มาการันตี แต่เมื่อได้ลองใช้แล้วรีวิวแบบลงดีเทล ก็พบว่ามันมีแง่งามทั้งในมุม local , conscious และ creativity ที่น่าชื่นชมไม่แพ้ตู้เต่าบินเหมือนกัน

001 ตู้สะดวกซื้อที่ขายถูกกว่าเซเว่น 

Low Price Machine Store by Six.Eleven
จุดที่พบ: ย่านชุมชน (และใกล้ 7-eleven)

จริงๆ เราตื่นเต้นตั้งแต่ตู้อัตโนมัตินี้ออกตัวแรงว่าจะมาเป็นศัตรูคู่แข่งกับ 7-eleven ด้วยนโยบายขายถูกกว่าในราคาเริ่มต้นที่ 6 บาท ตั้งชื่อเอาให้รู้ว่า 6.11 ไม่ได้มาเล่นๆ นะจ๊ะ แถมสาขาส่วนใหญ่ก็ตั้งอยู่ใกล้ๆ ข้างๆ หรือประจันหน้ากับเซเว่นตามแหล่งชุมชน เพราะมีเป้าหมายให้ผู้มีรายได้น้อย มีทางเลือกสะดวกซื้อ ‘อื่น’ กับเขาด้วย

จากความตั้งใจที่ว่า ตู้เครื่องดื่มแบรนด์นี้เลยมีชาเขียวราคา 8 บาท น้ำวิตามิน เกลือแร่ ไปจนถึงเครื่องดื่มชูกำลังราคาย่อมเยาให้เลือกกด และในบางสาขาที่ไม่ได้มาแค่ตู้ แต่เป็น 6.11 corner ก็จะมีตู้อื่นๆ มาประกบ ไม่ว่าจะเป็นตู้เครื่องดื่มร้อน/เย็น ตู้ขายซิมราคาประหยัด หรือตู้ขายหน้ากากผ้า ฯลฯ แล้วแต่ว่าย่านนั้นๆ น่าจะต้องการสินค้าประเภทไหน แถมยังเข้าอกเข้าใจลูกค้า ตู้ที่ตั้งในย่านโรงงานฯ หรือชุมชนที่มีเพื่อนบ้านชาวพม่าอยู่หนาแน่น ตู้ย่านนั้นก็มี UX/UI ภาษาพม่าอำนวยความสะดวกให้ด้วยนะ  

ในแง่การใช้งาน นี่ก็ตู้กดเครื่องดื่มอัตโนมัติทั่วๆ ไปล่ะนะ จะหยอดเหรียญก็ได้ จ่ายผ่านคิวอาร์โค้ดก็ได้ หรือจะจ่ายผ่าน true money wallet ก็ได้ด้วย (เป็นคู่แข่งแต่ไม่เป็นศัตรู กลยุทธ์เหนือชั้น!) จริงๆ คำว่า ‘เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง’ ก็ฟังดูสามัญ แต่ก็ต้องยอมรับว่าในประเทศที่ทางเลือกน้อยอย่างบ้านเรา ได้มีทางเลือกบ้างก็อยากเชียร์ให้อยู่ยาวๆ แล้ว

002 ตู้ ข.ขวด แลก ข.ไข่ 

Recycling Vending Machine by TESCO Lotus
จุดที่พบ: โลตัส บางแค และอีกบางสาขา

มีขวดพลาสติกเต็มบ้าน ไม่อยากรวมทิ้งถังขยะเฉยๆ ให้เขาเอาไปรวมกัน อยากได้ปลายทางที่ดูมีความหวังว่าจะนำไปรีไซเคิลได้จริง ลองหิ้วขวดให้ครบ 10 ใบมารวมรีไซเคิลที่ตู้ขวดแลกไข่กันดู

‘ตู้ ข.ขวด แลก ข.ไข่’ คือตู้รับขวดพลาสติกอัตโนมัติขนาดกะทัดรัด ตั้งอยู่ในเทสโก้ โลตัส (บางสาขา) รอรับขวดพลาสติกใส (PET) ที่ทำความสะอาดมาเรียบร้อย รวมสะสมไว้เพื่อนำไปรีไซเคิลหลอมเป็นพลาสติกหมุนเวียนเข้าสู่ระบบอีกครั้ง โดยวิธีการทำงานของเจ้าตู้นี้คือ เมื่อเรากดหน้าจอเริ่มทำรายการ รอสัญญาณไฟสีเขียวเพื่อหยอดขวด และเว้นจังหวะเมื่อเจอสัญญาณไฟสีแดง โดยระหว่างการหยอดต้องกดยืนยันจำนวนขวดที่หน้าจอทุกครั้ง เมื่อหยอดขวดครบ 10 ขวด ตู้จะปรินต์คูปองแลกไข่มาให้ 1 ใบ และเราก็ต้องนำคูปองที่ได้ไปรับไข่ไก่ที่จุดบริการลูกค้า หยอด 20 ขวด ก็จะได้คูปองแลกไข่ไก่ 2 ใบ ตามลำดับ

ถึงแม้จะใช้ไข่ไก่มาล่อใจที่ดูแล้วก็น่าจะเวิร์กอยู่ แต่สิ่งที่คิดว่าเวิร์กกว่าคือ เราสามารถมั่นใจได้ว่า ขวดที่เราหยอดไปจะถูกนำไปรีไซเคิลได้จริงๆ อิงจากหลายโครงการที่โลตัสทำก่อนหน้า เช่น รับพลาสติกยืดใช้แล้ว ส่งให้ ‘วน’ ไปจัดการต่อ เป็นต้น

ข้อจำกัดในการใช้งานตอนนี้ คือมีเจ้าตู้นี้กระจายอยู่น้อยเหลือเกิน บางตู้ก็เสีย (ยังไม่มาซ่อมสักที) บางตู้ก็อยู่ไกล แต่ได้ยินมาว่ามีแผนเพิ่มจำนวนเครื่องรับขวดพลาสติกนี้อยู่ อีกหนึ่งอย่างที่น่าจะยากกับผู้สูงอายุคือ ระบบ UX/UI ยากไปนิดไม่รู้จะจิ้มปุ่มไหน ทางที่ดีควรให้ลูกหลานทำให้ไปเลย และบางครั้งเราอาจเจอเครื่องเออเร่อระหว่างหยอดขวด ใครที่เตรียมไป 10 ขวดเป๊ะ เครื่องอาจจะนับให้แค่ 9 ขวด กลายเป็นว่าอดได้ไข่ไก่ ในเคสนี้ลองไปติดต่อที่จุดบริการลูกค้าได้ หรือพกขวดไปเกินก็ดี 

‘ตู้ ข.ขวด แลก ข.ไข่’ ตอนนี้มีทั้งหมด 7 สาขา อยู่ที่โลตัส บางแค, พระราม4, รัตนาธิเบศร์ และยังมีที่ต่างจังหวัด ได้แก่ โลตัส ตราด, สระบุรี, กุมภวาปี และโกเฟรช ริมโขง นครพนม ซึ่งตำแหน่งการวางแต่ละสาขาก็ต่างกัน ลองถามที่จุดบริการลูกค้าก่อนได้ ใครบ้านใกล้สาขาไหนก็ลองไปใช้ และฟีดแบ็กให้ทางเทสโก้ โลตัสได้นะ

003 ตู้สีข้าวสาร (ออร์แกนิก) กรอกหม้อ

Rice Milling Machine by Salana
จุดที่พบ: กรูเมต์มาร์เก็ต เดอะมอลล์ งามวงศ์วาน

จะกินกาแฟแบบสายลึกต้องเลือกเมล็ดลงลึกถึงแหล่งปลูก โพรเซส โรงคั่ว ไปจนถึงการบดสดใหม่แก้วต่อแก้ว แล้วถ้าอยากกินข้าวแบบสายลึกล่ะ ต้องทำยังไง

คนส่วนใหญ่อาจจะคุ้นเคยกับการกินข้าวอะไรก็ได้ในแต่ละวันตามที่ร้านอาหารตามสั่งหรือร้านข้าวราดแกงเลือกมาให้ หรือใครเข้าครัวก็อาจจะได้เลือกซื้อข้าวสารถุงโตในห้างมาซาวเอง หุงเอง เราเองก็เป็นหนึ่งในนั้น จนกระทั่งได้ลองกินข้าวสีสดๆ หุงใหม่ๆ แล้วพบว่ามันหอม นุ่ม อร่อยผิดกันจนประทับลิ้น ถึงกับไปเสิร์ชหาว่ามันมีเครื่องสีข้าวแบบโฮมยูสขายไหม เราลงทุนเพื่อเข้าสู่การกินข้าวสายลึกดีหรือเปล่า ซื้อข้าวแบบซิงเกิลออริจินมาสีเองให้รู้แล้วรู้รอดไปเลย ซึ่งเอาจริงๆ ก็พบว่าทั้งยุ่ง ทั้งยาก และทั้งแพง (ฮ่า) ก็เลยยอมแพ้ ทำได้แค่เลือกข้าวดีมากินแทน

การมีอยู่ของตู้สีข้าวอัตโนมัติจึงเป็นความดีใจ เพราะเราสามารถซื้อข้าวสารและสีสดใหม่ไปหุงเองได้ แถมสะดวกสบายเพราะอยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ตที่ต้องซื้อของตุนเข้าบ้านอยู่แล้ว ซึ่งเราโปรตู้สีข้าวของแบรนด์ศาลานาที่สุด (ทั้งในฐานะลูกค้าผู้น่ารักที่จ้างเราทำคอนเทนต์ และในฐานะที่เราเป็นลูกค้าซื้อข้าวเขากินเป็นประจำ) เพราะแบรนด์นี้เขาเป็น Social Enterprise ที่เอากำไรทั้งหมดไปสนับสนุนเกษตรกรอินทรีย์และนโยบายซื้อข้าวล่วงหน้าแบบแฟร์เทรด ทุกเหรียญที่หยอด (หรือสแกนจ่ายด้วยคิวอาร์โค้ด) ก็ชวนให้อิ่มอกอิ่มใจว่าเงินจะถูกส่งไปถึงพี่ๆ ชาวนาตั้งใจดี 

สนนราคาต่อหนึ่งกิโลกรัมคือ 30 บาท ได้ข้าวเบลนด์สูตร 5 สายพันธุ์ไปหุงกินแบบนุ่มๆ หอมๆ ที่บ้านทันที ได้เป็นคนกินข้าวสายลึกสมใจแบบไม่ต้องลงทุนสูง

004 ตู้รีฟิลน้ำยาปรับผ้านุ่มที่ทีมแม่บ้านอยากหอม

Hygiene Refill Station by Hygiene Thailand
จุดที่พบ: Big C Extra สาขา Mega Bangna

แม่บ้านคนไหนที่พิถีพิถันกับการซักผ้าและหลงใหลผ้าหอมฟุ้ง เราขอผายมือให้คุณไปลองเล่นสนุกกับตู้รีฟิลน้ำยาปรับผ้านุ่มที่ Big C Extra สาขา Mega Bangna กันดูสักครั้ง บอกเลยว่าคุณจะรู้สึกอิจฉาทีมแม่บ้านฝั่งบางนาสุดๆ ที่มีเจ้า vending machine เครื่องนี้อยู่ใกล้บ้าน!

‘Hygiene Refill Station’ คือตู้รีฟิลน้ำยาปรับผ้านุ่มของแบรนด์ Hygiene ที่ตั้งตระหง่านอยู่ในโซนน้ำยาซักผ้าของห้างฯ ไม่ต้องวนเดินหาเลยจ้ะ เห็นง่ายมากๆ แถมบางวันก็จะมีพี่พนักงานคอยยืนข้างๆ ตู้ รอให้ความช่วยเหลือลูกค้าด้วย

ก่อนออกบ้านไปใช้บริการตู้รีฟิลน้ำยาปรับผ้านุ่ม สิ่งที่ห้ามลืมหยิบติดมือมาเลยคือขวดน้ำยาปรับผ้านุ่มใบเก่า หรือขวดอะไรก็ได้ที่มีขนาดมากว่า 480 ml. (ฟีลเริ่มต้นใหม่กับคนเดิม ไม่สิ ขวดเดิม!) แต่ถ้าลืมจริงๆ ก็ไม่ต้องกังวลนะ เพราะที่ตู้มีขวดเปล่าให้เรากดซื้อในราคา 28 บาทด้วย ซึ่งถ้ากลับมาเติมน้ำยารอบหน้าก็ต้องวนใช้น้องให้คุ้มกันด้วยเด้อ

ขวดพร้อมแล้วก็จิ้มหน้าจอเลือกกลิ่นที่ใช่กันต่อเลย ซึ่งที่ตู้มีน้ำยาปรับผ้านุ่มให้เลือกมากถึง 8 กลิ่น ตามด้วยการเลือกปริมาตรที่ต้องการเติม เริ่มต้นที่น้องเล็กสุด 480 ml. ราคา 40 บาท 1,250 ml. ราคา 100 บาท 2,000 ml. ราคา 150 บาท และแม็กซ์สุด 2,500 ml. ตกอยู่ที่ 180 บาท ซึ่งเราสามารถเลือกจ่ายเป็นเงินสดหรือสแกนคิวอาร์โค้ดก็ได้ จ่ายเสร็จแล้วก็ยืนรอตู้เติมน้ำยาลงขวด เพียงเท่านี้ก็เสร็จเรียบร้อย!

เจ้าตู้นี้ไม่ได้ช่วยให้เราลดการสร้างขยะพลาสติกจากถุงรีฟิลเท่านั้น แต่ยังเอื้อให้เราได้ซื้อน้ำยาปรับผ้านุ่มในราคาที่ถูกลงด้วย (ต่อจากนี้คือชั่วโมงคณิตศาสตร์ ใครไม่ไหวอ่านพารากราฟต่อไปเลยค่ะ) ถ้าลองคิดจากราคาต่ำสุดคือ 40 บาท หารด้วยปริมาตร 480 ml. เท่ากับว่าน้ำยาปรับผ้านุ่มที่เราซื้อกับตู้ ราคาต่อ 1 ml. คือ 0.0833 บาท แต่ถ้าเป็นเวอร์ชั่นถุงรีฟิลของไฮยีน ราคา 72 บาท หารด้วยปริมาตร 600 ml. ราคาต่อ 1 ml. ก็จะเป็น 0.1200 บาท เทียบกันแบบกดเครื่องคิดเลขโชว์ขนาดนี้แล้ว ก็อยาก cheer up ให้ทีมไฮยีน กระจายตู้นี้ให้ทั่วเมืองเสียวันพรุ่งนี้มะรืนนี้!

005 ตู้คีบไอติมสายเห็นใจ คีบยังไงก็ต้องได้กิน

Ice-cream Vending Machine by Kane Mochi
จุดที่พบ: โลตัส หลักสี่ และอีกหลายแห่งทั่วกรุงเทพฯ 

คุณคือคนหนึ่งใช่ไหม ที่เล่นตู้คีบอัตโนมัติทีไรก็ไม่เคยคีบได้ แม้จะกำเหรียญลงทุนไปหลักหลายร้อยก็ไม่ได้ช่วยเพิ่มความเป็นไปได้ใดๆ เพราะดวงไม่มี ความสามารถก็ไม่ถึง สุดท้ายกระเป๋าฟีบกลับบ้านไป ตุ๊กตาหรือของเล่นที่ใฝ่ฝันก็ยังนอนหน้าตายอยู่ในตู้ ใครเป็นแบบเดียวกันเชิญมารวมตัวที่หน้าตู้คีบไอติมนี้!

นี่คือตู้คีบไอติมของแบรนด์ KANE MOCHI ที่เราขอยกคะแนนให้กับความ empathy เพราะทันทีที่เราหยอดเงิน 40 บาทลงไปในตู้แล้ว ยังไง้ยังไงก็ต้องคีบไอติมขึ้นมาจนได้ ถ้าไม่ได้ก็ยอมให้เราคีบวนไปอยู่อย่างนั้นจนกว่าจะคีบได้ นี่แหละคือความเห็นใจ! ความเห็นใจมันเป็นอย่างนี้!

ความสนุกต่อที่สองคือ ไอติมโมจิที่เราต้องคีบจะอยู่ในไข่ที่หน้าตาเหมือนกาชาปอง มีสติกเกอร์แปะบอกรสอยู่บนไข่ ใครมีสกิลหน่อย ก็เล็งเลือกได้ว่าจะคีบเอารสไหน แต่ถ้าใครไม่ค่อยมีสกิลก็เอาที่มันอยู่บนๆ ตำแหน่งที่คีบง่ายๆ ไปก่อน จะได้ไม่อายคนข้างหลังที่มาต่อคิวเนอะ 

พบตู้คีบไอติมสีส้มสดใสนี้ได้ที่ห้างสรรพสินค้าทั่วไป ซึ่งมีกระจายตัวอยู่มากมายในกรุงเทพฯ จนบอกไว้ในนี้ไม่ไหว ขอเชิญชวนให้ไปดูที่เพจของแบรนด์กันเอาเอง 

แล้วการเล่นตู้คีบของเรา ก็ไม่มีน้ำตาอีกต่อไป แถมอร่อยชื่นใจด้วย!

006 ตู้ประทับรอยสักแบบไม่ถาวร

Tattoo Machine by Teaspoon Studio
จุดที่พบ: ป๊อปอัพตามอีเวนต์สร้างสรรค์ เช่า+สั่งทำพิเศษได้

เห็นแซวกันนักว่าตู้เต่าบินมีคนนั่งอยู่ข้างใน แต่รู้ไหม ตู้ที่มีคนนั่งอยู่ข้างในน่ะมีจริงๆ และมีมาก่อนกาลด้วย

หากยังไม่รู้ ขอผายมือให้รู้จักกับ Tattoo Machine หรือตู้ติดแทททูแบบไม่ถาวรที่เป็นระบบอัตโนมือ! พูดง่ายๆ ก็คือตู้นี้เขาทำงานด้วยระบบแมนน่วลที่แท้ เพราะมีคนนั่งอยู่ข้างในเพื่อติดแทททูด้วยมือให้เราจริงๆ ขั้นตอนก็เพียงแค่ลงนั่งหน้าตู้ เลือกลายแทททูที่เราอยากได้ สแกนจ่ายด้วยคิวอาร์โค้ด จากนั้นก็ยื่นแขนข้างที่อยากประทับแทททูเข้าไปในช่องที่เขาจัดไว้ให้ เพียงไม่กี่วินาทีก็ได้รอยสักสุดน่ารักประทับอยู่ที่แขนแล้ว 

แต่หากคุณคลุกคลีอยู่ในวงการดีไซน์หรือชอบเดินงานแฟร์สายเก๋เป็นทุน ก็น่าจะรู้จักหรือเคยเห็นเจ้าตู้นี้ผ่านตามาก่อน เพราะนี่คือโปรเจกต์สุดน่ารักที่มีชื่อว่า @randommachineproject ของพิม จงเจริญ ดีไซเนอร์เจ้าของเดียวกับ @Teaspoon Studio นั่นเอง 

พิมเล่าว่าเริ่มต้นทำเจ้าตู้นี้ครั้งแรกเพื่อออกงานแฟร์สนุกๆ เมื่อหลายปีก่อน จากที่เคยเป็นแค่เวอร์ชั่นฝาตู้แบบ 2 มิติ แต่พอได้ฟีดแบ็กเป็นคิวที่ล้นหลาม เลยพัฒนามันกลายเป็นตู้ 3 มิติแบบจริงๆ และต่อยอดมาสู่โปรเจกต์ที่จะมีตลอดไป เปิดโอกาสให้ใครที่อยากได้ตู้แทททูเป็นของตัวเอง เช่าตู้ไปตั้งในงานหรือร้านตัวเองก็ได้ หรือจะสั่งทำแบบคัสตอมเมดก็ได้อีกเหมือนกัน

ถึงจะอัตโนมือ ไม่อัตโนมัติ แต่ให้คะแนนความครีเอทีฟแบบเต็มสิบ ใครอยากทดลองมีรอยสัก (ชั่วคราว) เป็นของตัวเอง คุณโชคดีมาก เพราะตอนนี้ตู้แทททูแมชชีนไปตั้ง pop-up อยู่ที่คาเฟ่ xxxyyy ใกล้บีทีเอสสถานีบางนา ดังนั้น อย่าปล่อยให้แขนสองข้างว่าง ไปลองเล่นกัน!

007 ตู้ฝากบุญไว้กับเบื้องบน พร้อมพรอัตโนมัติ!

Automatic Donation Machine (ADM) by Anonymous 
จุดที่พบ: วัดทั่วประเทศไทย

เพราะคนไทยอยู่คู่กับวัดมาช้านาน เหตุไฉนจะมีนวัตกรรมที่เกิดมาเพื่อคนไทยสายบุญไม่ได้กันเล่า… และนี่คือตู้อัตโนมัติในวัดที่หากคุณไม่โฟกัส อาจจะมองข้ามมันไปได้ ทั้งที่มันตั้งโดดเด่นอยู่ทั่วไปตามวัดในประเทศไทย แถมยังมีหลากหลายรูปแบบและเจตนารมย์ให้สายบุญได้เลือกสรร

ถ้าต้องเลือกสักหนึ่งแบบในบรรดาตู้ที่เคยเห็น เราขอยกให้ตู้ ADM ฝากบุญ เป็นที่หนึ่งในดวงใจ เพราะนี่คือนวัตกรรมที่น่าจะตอบใจคนทำบุญ ด้วยความเชื่อหนึ่งที่ว่าบุญที่ทำในชาตินี้จะถูกเก็บสะสมไปในชาติหน้า เจ้าตู้ ADM นี้จึงเกิดมาเพื่อสร้างทางเลือกให้ญาติโยมได้ทำบุญอย่างมีความหวัง ด้วยรูปลักษณ์ที่สุดแสนจะร่วมสมัย หลักการคือเลือกหยอดเท่าไหร่ก็ได้ เมื่อหยอดไปจะมีเสียงให้พรออกมาจากตู้แบบอัตโนมัติ ช่วยทุ่นแรงพระสงฆ์ได้อีกทาง

ด้วยความคันไม้คันมือ ลองเสิร์ชหาต้นทางผู้ผลิตจึงพบว่า ยังมีตู้บุญที่ให้พรอัตโนมัติอีกหลากหลายแบบ รับผลิตโดยหลากหลายเจ้า ไม่ว่าจะเป็นตู้ไปรษณีย์บุญแบบเลือกผู้รับ ตู้เสี่ยงเซียมซี ตู้รูปปิ่นโตยักษ์ ตู้ไปรษณีย์ตามวันเกิด หรือแม้กระทั่งตู้บุญรูปโลงศพเพื่อทำบุญให้ศพไร้ญาติ เป็นต้น

ไม่รู้เหมือนกันว่าใครคือต้นคิด แต่ถ้าถามว่านี่คือนวัตกรรมที่สุดแสนจะเมดอินไทยแลนด์ใช่หรือไม่ ก็คงต้องตอบว่าใช่ นอกเหนือไปกว่านั้น ขอจบแบบปลายเปิดให้ตั้งคำถามต่อไปก็แล้วกัน! 

Content Designer

หน่วยย่อยของนักเล่าเรื่องที่อยากเล่าเรื่องส่วนตัวเล็กๆ ง่ายๆ ที่อยู่ในวงโคจรและความสนใจเรื่องไลฟ์สไตล์ที่สร้างภาระต่อโลกน้อยลงหน่อย ด้วยสมมติฐานที่ตั้งเองว่า เราน่าจะมีทางเลือกในการใช้ชีวิตที่สนุกและสนิทกับโลกมากกว่าที่หลายคนคิดนะ

Communication Designer

#กราฟิกดีไซเนอร์ #นิสิตออกแบบสื่อสาร

Read More:

Play บันทึกประจำวัน

นัดหิ้วอาหารโลคอลใกล้บ้าน เสื่อปิกนิกกัน แบบ Zero Waste!

ชาวไอแอลไอยู นัดกันฉลองวันปิกนิกสากล ด้วยการออกไปใช้พื้นที่สาธารณะใกล้ออฟฟิศปูเสื่อปิกนิก นัดหิ้วอาหารโลคอลใกล้บ้านมาแชร์กัน

Play The Conscious Shopper

แชร์วิธีเช็คอินโรงแรมสีเขียว เที่ยวนี้ขอเฟรนด์ลี่กับโลกด้วย

ชวนเป็นนักท่องเที่ยวใส่ใจโลก ตอบรับกับที่หลายโรงแรมเริ่มมีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม

Play

คุณจะได้เจออะไรใน ทัวร์สุ่มสี่สุ่มให้ Ver 2.0 'ROUTE: Caffeine Calling'

เส้นทางที่คุณและเพื่อนใหม่แปลกหน้า จะมาเสพคาเฟอีนเข้าเส้นร่วมกัน ในย่านประดิพัทธ์-อารีย์ ตามลายแทงที่คุณไม่รู้ล่วงหน้า ทัก cup!