Eat —— มนุษยสัมพันธ์

ถ้ารักกันจริง แค่เรื่องซื้อผักเราก็ต้องแคร์

ในมุมธุรกิจ Happy Grocers คือสตาร์ทอัพของคนรุ่นใหม่ที่เติบโตรวดเร็วสุดๆ แค่เริ่มต้นไม่ถึงปีก็มีแฟนคลับเหนียวแน่น และยังการันตีความเจ๋งของวิธีทำธุรกิจด้วยการคว้ารางวัลจากเวที Startup Thailand League 2020 มายืนกอด

ทว่าในมุมคนชอบทำอาหารที่ซีเรียสเรื่องต้นทางวัตถุดิบ ถ้าคุณได้รู้จัก Happy Grocers ร้านผักผลไม้เดลิเวอรี่ที่มีบริการส่งถึงบ้านและ grocery truck ที่ขับไปจอดเปิดท้ายกระบะขายผักตามย่านสำคัญต่างๆ ของสองสาว โม-สุธาสินี สุดประเสิรฐ และ มุก-ปัทมาภรณ์ ดำนุ้ย และเห็นความใส่ใจในการเล่าเรื่องที่มาที่ไปของผักในร้านของพวกเธอแล้วล่ะก็ เราการันตีได้เลยว่าคุณจะรู้สึกสนุกและแฮปปี้กับการอุดหนุนผักมากกว่าการไปตลาดหรือซูเปอร์ฯ ที่ตัวเองคุ้นเคย

ไหนๆ ก็สมัครใจเป็นลูกค้า (ไม่ค่อยประจำ) มาได้สักพัก คนขี้เม้าท์อย่างเราเลยขอใช้หน้าที่การงานใน ili U ชวนโมกับมุกมานั่งคุยเรื่องความตั้งใจที่อยู่หลังร้าน Happy Grocers แล้วก็ขอถือโอกาสนี้ชวนทุกคน มาถือตะกร้าช้อปปิ้ง เอ้ย มาผูกสัมพันธ์กับพวกเธอไปพร้อมๆ กัน

ธุรกิจที่เริ่มต้นจากการรู้จักความสุขของตัวเอง

โมกับมุกรู้จักกันตอนเรียนที่วิทยาลัยโลกคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำงานร่วมกันครั้งแรกจริงๆ ช่วงเรียนปี 2 เพราะเลือกฝึกงานในหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งในจังหวัดศรีสะเกษเหมือนกัน ซึ่งการฝึกงานภายใต้โครงการ International Develepment Design Summit นี้ เปิดโอกาสให้ทั้งคู่ได้ทำโปรเจกต์ร่วมกับบุคลากรของสถาบันการศึกษาชื่อดังอย่าง MIT และองค์กรนานาชาติจาก 14 ประเทศทั่วโลก

“หน้าที่ของเราตอนฝึกงานคือการเก็บข้อมูลคนในหมู่บ้าน ตั้งแต่เรื่องสุขภาพ การศึกษา อาชีพการงาน ฐานะการเงิน แล้วเอาข้อมูลทุกอย่างมารวมกันและสรุปเป็นประเด็นปัญหา จากนั้นก็แปลให้กับ participant ที่จะมาช่วยกันคิดว่า ภายในเวลา 2 สัปดาห์ องค์ความรู้ที่พวกเขามีนั้นจะช่วยแก้ปัญหาอะไรให้กับชุมชนได้บ้าง”

โมกับมุกในวัย 19 ใช้เวลากว่า 7 เดือนในการเบลนด์ตัวเองเข้ากับชุมชน คุยกับชาวบ้านหลายชีวิตเพื่อทำรีเสิร์ช และนั่นก็เป็นเวลาเดียวกันกับที่ทั้งคู่ เข้าใจว่าอะไรคือสิ่งที่ตัวเองรู้สึกแฮปปี้มากๆ ที่ได้ลงมือทำ

“เรารู้ตัวตั้งแต่ตอนเรียนแล้วว่าตัวเองหลงใหลเรื่องการดึง resource จากทั่วโลก มาทำอะไรสักอย่างกับโลคอล และประสบการณ์ฝึกงานตอนนั้น นอกจากจะทำให้เราเลิกกลัวคนเก่งแล้ว ยังทำให้รู้ว่าบทบาทที่เรามีต่อโลกใบนี้ คือการทำให้นานาชาติเข้าใจว่า ชีวิตคนรากหญ้าเป็นยังไง เพื่อที่คนทั้งสองฝั่งจะได้แก้ปัญหาไปด้วยกัน ซึ่งวิธีคิดของเรามันเลยถูกเชพตั้งแต่ตอนนั้นมาเลยว่า เวลาจะทำอะไร เราต้องเข้าใจมันให้ดีก่อน” โมสรุปบทเรียน ก่อนยื่นไมค์ให้มุกเล่าเรื่องสนุกให้เราฟังต่อ

“มุกเป็นคนที่ขลุกอยู่กับเรื่องการเกษตร ก็เลยได้ซึมซับความรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์ ได้เข้าใจว่ากว่าจะได้รับการรับรองว่าเป็นข้าวออร์แกนิกเนี่ย เกษตรกรต้องเจอความเหนื่อยอะไรบ้าง แล้วก็เริ่มได้รู้จักองค์ประกอบต่างๆ ที่อยู่ใน supply chain ของสินค้าเกษตร แต่ตอนนั้นเป้าหมายเราไม่ได้อยู่ในบริบทที่ว่าจะต้องช่วยเขาขายของ แต่เป็นเรื่องที่ว่าเราพอจะทำอะไรได้บ้างที่จะช่วยให้เขาทำงานเหนื่อยน้อยลง” 

กลุ่มของมุกเป็นกลุ่มที่เลือกลงมือดีไซน์เครื่องมือตัดหญ้าที่ถูกคิดมาอย่างละเอียดว่าต้องถือที่องศาเท่าไหร่ เกษตรกรถึงจะปวดหลังน้อยที่สุด แต่ก็ด้วยกรอบเวลาที่จำกัด บวกกับว่าทีมต้องแยกย้ายกันกลับประเทศ โปรเจกต์นั้นจึงจบอยู่ที่เครื่องมือตัดหญ้ารุ่น prototype ไปอย่างน่าเสียดาย

“หลังจากนั้นเราสองคนก็แยกกันทำงานตามความสนใจ อย่างมุกก็ไปทำงานบริษัทโฆษณา ส่วนโมก็ทำงานด้านท่องเที่ยวที่กระบี่ ซึ่งประสบการณ์การทำงานหลายๆ วงการมันก็ช่วยกรองเราทั้งสองคนด้วยว่า เราอยากโฟกัสไปที่อะไร แล้วกลายเป็นว่าเราสนใจเรื่องของเกษตรกรรมเหมือนกันพอดี”

จุดเริ่มต้นของ Happy Grocers จริงๆ เกิดจากการที่ทั้งสองคนเห็นปัญหาซึ่งเกิดขึ้นกับเกษตรกรที่ทั้งคู่เคยคอนเน็กต์เมื่อหลายปีก่อน

“เขาบ่นว่าไม่สามารถปล่อยของได้เพราะตลาดล็อกดาวน์หมด มีแค่ซูเปอร์มาร์เก็ตใหญ่ๆ ที่สามารถขายของได้ ซึ่งพอย้อนกลับไปที่ซัพพลายเชน ก็มีแค่เกษตรกรรายใหญ่เท่านั้นที่สามารถเอาของไปวางขายตรงนั้นได้ และของจากฟาร์มมันถูกผลิตมาเรื่อยๆ เพราะเกษตรกรมีการวางแผนการผลิตมาเป็นปีแล้ว เราสองคนรู้สึกว่าตรงนี้เป็นปัญหาเร่งด่วนที่เราน่าจะพอช่วยได้ โอเค งั้นสิ่งที่เราพอจะทำได้ ณ ตอนนั้น คือการช่วยพวกเขาปล่อยของ” มุกขมวดปม

งานขายผักที่ให้แม่ค้าหน้าใหม่ได้ปล่อยของ

เมื่อตั้งใจว่าอยากจะใช้ของที่ตัวเองมี ช่วยพี่ๆ เกษตรกรปล่อยของที่อยากจะขาย ความเข้าใจเกี่ยวกับซัพพลายเชนตั้งแต่ที่มาที่ไปของผักในตลาดทั่วไปและตลาดอินทรีย์ ระบบพ่อค้าคนกลางแบบเก่าๆ ที่เอาเปรียบคนต้นทาง รวมถึงวิธีการกลับไปคอนเน็กต์กับเกษตรกรถึงหน้าฟาร์ม ก็ถูกดึงกลับมาใช้อีกครั้ง 

“เหมือนเราเคยคลุกคลีเกษตรกรมาประมาณหนึ่งแล้ว แต่การส่งมอบหรือการสร้างประสบการณ์ให้กับลูกค้าเป็นเรื่องที่เราไม่ค่อยมีในตอนที่เริ่มต้นทำ Happy Grocers นอกจากจะคอยดูว่าคนทำธุรกิจนี้ในไทยและต่างประเทศเขาทำกันยังไงแล้ว เราชาเลนจ์ตัวเองเสมอว่าจะบริการให้ลูกค้าได้มากกว่าสิ่งที่พวกเขาคาดหวังได้ยังไง 

“เราทั้งสองคนเป็นเหมือนน้ำที่ไม่เต็มแก้ว ถามลูกค้าตลอดว่ามีอะไรที่ต้องปรับปรุง อย่างการดีไซน์ร้านเป็น truck การเพิ่มบริการที่จะช่วยให้เขารู้สึกสะดวกมากขึ้น หรือชนิดผักที่นำมาขายก็มาจากการฟังเสียงลูกค้าแทบทั้งหมด

“แต่ทุกครั้งที่ได้ฟีดแบ็คมาเราก็พยายามดูด้วยว่าในเวลานั้นเราทำอะไรได้หรือไม่ได้ หรือถ้าคิดว่าสิ่งนี้ทำได้ ความสม่ำเสมอในการทำสิ่งนั้นก็สำคัญนะ นี่เหตุผลที่ทำไมตอนแรกๆ เราไม่ใช้ใบตองเลย เพราะเรารู้สึกว่าถ้าเรายังหาใบตองมาใช้ให้ได้ตลอดไม่ได้ แล้ววันหนึ่งที่ลูกค้าเขาไม่ได้ใบตองขึ้นมา มันอาจกลายเป็นประสบการณ์ที่ไม่ดีไป” มุกยกตัวอย่างความใส่ใจ

การบริการของร้าน Happy Grocers ในวันนี้แบ่งออกเป็น 3 รูปแบบหลักๆ หนึ่งคือ home delivery ที่ต้องหยิบผักผลไม้ใส่ในตะกร้าผ่านเว็บไซต์ happygrocers.co รอรับหน้าบ้านในวันถัดไป สองคือ grocery truck คันสีขาวที่เราแอบเรียกแบบเล่นๆ ว่ารถพุ่มพ่วงสไตล์ชาวเก๋ ที่มีตารางจอดตามย่านต่างๆ ในกรุงเทพฯ ได้แก่ สุขุมวิท สาทร อารีย์ บางนา ถนนวิทยุ และสาม บริการกดสั่งใน Grab Mart ที่เหมาะกับคนรีบๆ รอรับได้ภายใน 1 ชั่วโมง

พอให้ความสำคัญกับการฟังเสียงลูกค้ามากๆ ส่วนตัวเราเลยเชื่อมากๆ ว่า ความเจ็บช้ำจากการฟังเสียงลูกค้า ก็น่าจะเคยเล่นงานแม่ค้ามือใหม่ทั้งสองคนนี้มาแล้วแน่นอน โมคือคนแรกที่พยักหน้าและยิ้มให้กับความใคร่รู้ของเรา

“เราเคยมีลูกค้าประจำคนหนึ่งที่ลักษณะในการสื่อสารเขา aggressive หรือเลือกให้ฟีดแบ็กเราด้วยวิธีด่า จำได้ว่าตอนแรกๆ เรารู้สึกเลยว่า เฮ่ย หรือเราต้องยอมแพ้กับลูกค้าคนนี้แล้วนะ (หัวเราะ) แต่ทุกๆ ครั้งที่ด่า เขาอยากให้เราพัฒนาจริงๆ และมันช่วยเราปิดรูรั่วต่างๆ ได้หมดเลย สุดท้ายแล้วคนๆ นี้ทำให้เรารู้ว่าไม่ว่าจะได้ฟีดแบ็กแบบไหน มันขึ้นอยู่กับวิธีการที่เรามองว่าจะเอาไปพัฒนาบริการเรายังไง การโฟกัสที่ intention ไม่ใช่ emotion มันทำให้เราแข็งแรงขึ้นจริงๆ” โมเล่า

“กลายเป็นว่าจากสถานการณ์ที่เครียดๆ เราก็พลิกเป็นสถานการณ์ที่สนุกและท้าทายได้ พอเราเห็นออเดอร์เขากลับมาอีกเรื่อยๆ มันก็พรู๊ฟว่าสิ่งที่เขาบ่นๆ มาได้ถูกแก้ไขแล้ว และความพึงพอใจในการบริการของเขายังมีอยู่ ซึ่งถ้าเราทำแบบนี้กับเขาได้ ก็แปลว่าเราสามารถทำกับลูกค้าคนอื่นๆ ได้ด้วยเหมือนกัน” มุกช่วยสรุป

ชวนลูกค้ามาเซฟชีวิตผักหน้าเบี้ยวให้กลับมาแฮปปี้

ไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มช่องทางสร้างรายได้ให้เกษตรกรเท่านั้น การลดปริมาณผักที่ถูกทิ้งเพียงเพราะหน้าตามันไม่สวยเหมือนเพื่อนๆ เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ Happy Grocers มองว่าสำคัญ 

คนที่เป็นลูกค้าประจำคงคุ้นเคยกับ Surplus Box หรือกล่องผักหน้าเบี้ยวที่ทีม Happy Grocers รวบรวมขายเป็นเซ็ตผักหลากชนิดที่ต่างกันไปในแต่ละวัน ซึ่งสั่งผ่านเว็บไซต์และ Grab Mart ได้ ส่วนตัวเรามองว่า Surplus Box คือบริการที่ช่วยให้มนุษย์ขี้เกียจไปซูเปอร์ฯ ได้มีร่วมกู้ชีพผักหน้าเบี้ยวเหล่านั้น (และได้ชาเลนจ์ทักษะการทำอาหารตัวเองด้วย) แถมผักที่ได้ก็มีคุณภาพไม่ด้อยไปกว่าผักหน้าสวยเลย

“ผักผลไม้มีฤดูกาลของมัน ถ้าลูกค้าอยากได้ของหน้าตาดีและอินทรีย์ด้วย แปลว่าเราได้เพิ่มความกดดันให้กับเกษตรกร คือเขาอาจจะเลือกกลับไปใช้สารเคมี แต่ถ้าเราให้ข้อมูลที่มากพอให้กับลูกค้า expectation การซื้อผักหน้าตาดีนี้ก็อาจจะเปลี่ยน นี่คือสิ่งที่เราพยายามพรู๊ฟกันอยู่

“แม้วันนี้เราอาจจะยังไม่ได้ผลิตเครื่องมือเพื่อลดแรงที่ใช้ไปกับการผลิตอย่างที่เคยตั้งใจ แต่อย่างน้อยการสื่อสารที่ช่วยให้ผู้บริโภคเข้าใจซัพพลายเชนของผักอินทรีย์ สเราว่ามันก็เป็นการช่วยเกษตรกรโดยตรงเหมือนกัน นั่นคือการปล่อยให้ระบบมันเป็นไปตามธรรมชาติอย่างที่ควรจะเป็น” มุกอธิบาย

เล่าเรื่องยั่งยืนจากประสบการณ์และความเข้าใจ

“แบ็คกราวนด์เราสองคนเรียนเกี่ยวกับธุรกิจเพื่อสังคมมาโดยตรง โมเดลธุรกิจเราถูกคิดมาแต่ต้นเลยว่ามันต้องยั่งยืน แต่พอทำจริงๆ เราก็ได้เข้าใจว่าหลายอย่างมันต้องใช้เวลา

“คำว่ายั่งยืนสำหรับเรามันคือการที่ทุกๆ อย่างในซัพพลายเชนเราสร้างผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด พอจุดขายของ Happy Grocers คือความยั่งยืน เราก็ต้องเมกชัวร์ว่าเราได้สื่อสารสิ่งนี้กับลูกค้าเราด้วย เช่น ตอนนี้เราไม่สามารถทำให้บริการเราเป็น 100% plastic free ได้ เพราะการขนส่งผักบางชนิดมาที่โกดังยังจำเป็นต้องใช้พลาสติก อย่างกวางตุ้ง ฮ่องเต้ ปกติเขาจะแพ็กแยกมาถุงละ 200 กรัม ถ้าสั่ง 10 กิโลกรัมก็เท่ากับว่าเราใช้ถุงไป 500 ใบ แต่ของเราจะพยายามรีเควสว่าขอถุงเดียว 10 กิโลกรัมได้มั้ย 

“หรือระบบขนส่ง  ต้องบอกตรงๆว่าเรายังใช้รถกระบะดีเซลเป็นส่วนใหญ่ เราก็ต้องมานั่งคำนวณว่าจริงๆ แล้ว เราควรแพลนการวิ่งของรถขนของยังไงให้มีรอบได้น้อยที่สุด ซึ่งมันจะกลับไปที่่เรื่อง demand ว่า Happy Grocers มีดีมานด์ทั้งหมดเท่าไหร่ เพื่อที่จะสามารถใช้รถคนนั้นวิ่งได้คุ้มที่สุดโดยขนของเต็มกระบะ 3 ตัน คือเราต้องเซ็ต milestone ชัดเจนว่าในกรอบเวลาเท่านี้ เราอยากจะลดฟุตพริ้นต์เท่าไหร่ ลดด้วยวิธีไหน ซัพพลายเชนและการทำตลาดก็ต้องเปลี่ยนไปด้วย

“กลับมาที่หน้าร้าน หลายคนคิดว่าผักที่แพ็กอยู่ในถุงย่อยสลายได้คือสินค้าที่ยั่งยืน 100% แต่ความเป็นจริง เราต้องเริ่มดูตั้งแต่ดิน แหล่งน้ำ วิธีปลูก ตอนเก็บมีการคัดทิ้งไปเท่าไหร่ การแพ็ก การขนส่งและเดลิเวอร์ถึงมือลูกค้า มันคือทุกขั้นตอนของซัพพลายเชนจริงๆ” โมย้ำ

ใช่ว่าเรื่องนี้จะจบอยู่ที่ผักผลไม้เหล่านั้นถูดจัดวางบนโต๊ะอาหาร Happy Grocers ยังคิดถึงปลายทางของการบริโภค นั่นคือการจัดการบรรดาอาหารที่ลูกค้ากินไม่หมด โมแชร์ให้ฟังว่าตอนนี้พวกเธอมีไอเดียเปิดรวบรวมปุ๋ยหมักจากขยะอาหารของลูกค้าส่งคืนกลับไปที่เกษตรกรต้นทางไว้อยู่ ได้ยินแบบนี้แล้วเชื่อว่าคนที่ไม่เคยลองหมักปุ๋ย (เพราะไม่มีต้นไม้ให้ใส่) ก็น่าจะอยากหาถังหมักปุ๋ยมาตั้งไว้ที่บ้านรอเหมือนๆ กับเรา

สนุกก่อน เดี๋ยวสาระ (แบบแน่นๆ) ตามมาทีหลัง

สารภาพกันตรงนี้เลยว่าเราหลวมตัวเป็นลูกค้า Happy Grocers เพราะวิธีการสื่อสารและเรื่องเล่าสนุกๆ ที่พวกเธอแบ่งปันในโซเชียลมีเดียอย่างอินสตาแกรม พอได้เจอโมกับมุกตัวจริง ก็แทบไม่ต้องเดาเลยว่าความสดใสที่เราเจอในนั้นมาจากอินเนอร์ของใคร

“เราเชื่อว่าเจ้าของบริษัทควรเป็นแอดมินเอง เพราะแอดมินคือคนที่คุยกับลูกค้าโดยตรง การที่เราคุยกับลูกค้าเองก่อน มันทำให้เราได้เรียนรู้ว่าเราควรจะดีลกับเขายังไง กลับกัน ถ้าเราเป็นลูกค้า น้ำเสียงแบบไหนที่เราอยากได้ยินเราก็จะพูดแบบนั้น ซึ่งไดเรกชั่นในการขายของของเรามันถูกตั้งไว้แต่แรกเลยว่า เราจะทำให้คนเข้าใจข้อมูลที่เรามีได้ยังไง โดยที่ใส่ตัวตนของเราเข้าไปด้วย

“มีหลายคนบอกเราว่า ทำงานหนักขนาดนี้เดี๋ยวก็เบิร์นเอาต์หรอก แต่เราเชื่อว่าถ้าเขาได้เจอลูกค้าที่ชอบให้แรงบันดาลใจหรือบอกเรื่องราวดีๆ กลับคืนมา สำหรับเราเสียงเหล่านี้มันพรู๊ฟว่าสิ่งที่เราทำอยู่มันสามารถทำให้ชีวิตคนอื่นดีขึ้น หรือเห็นคุณค่าในอะไรสักอย่างมากขึ้นได้จริงๆ ไม่มีทางที่เราจะรู้สึกเบิร์นเอาต์หรือเหนื่อยได้เลยนะ” โมเล่าก่อนส่งไม้ต่อให้มุก

“เราให้ความสำคัญและให้คุณค่ากับความสนุก เวลาคนมาซื้อผัก เลยอยากทำให้บรรยากาศมันเอนจอยตลอด หรือเวลาลูกค้ามีคำถาม เราจะมีคำตอบให้เสมอ หรือถ้าไม่มีในตอนนั้น เราก็จะพยายามหามาให้ เพราะเราสองคนทำงานกับเกษตรกรที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญโดยตรง เหมือนปกติเราสองคนชอบตั้งคำถามกันอยู่แล้ว อย่างซัพพอลายเออร์ที่ทำงานกับเราจะรู้เลยว่าเราตั้งคำถามกันหนักแค่ไหน (หัวเราะ) ซึ่งสิ่งที่ลูกค้าอยากรู้มันก็ช่วย top up ความรู้เราไปด้วย”

Happy Grocers ไม่ใช่แผงขายผัก แต่เป็นคอมมูนิตี้

ลูกค้า Happy Grocers บางคนนิยามรถเปิดท้ายขายผักของพวกเขาว่าเป็น networking event ที่นอกจากจะคุย แลกเปลี่ยนข้อมูลกับโมกับมุกได้แล้ว ลูกค้าที่มาเจอกันที่หน้าร้านก็ชอบแบ่งปันความรู้ให้กัน กลายเป็นเพื่อนที่คุยถูกคอ ตามไปแฮงค์เอาต์กันต่อเลยก็มี

“เราอยากให้เกิดมูฟเมนต์ที่ไม่ใช่เรื่องการซื้อขายผักอย่างเดียว แต่อยากทำคนที่แคร์เรื่องเดียวกันได้รู้สึกว่า ไม่ได้มีเขาคนเดียวที่สู้กับตรงนี้นะ มีคนอีกเยอะที่พร้อมจะสู้ซื้อผักในราคาสูงกว่าตลาดไปกับเขาด้วย empower กันและกัน เพื่อที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงในอะไรสักอย่าง” โมเล่า

หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงที่ว่าคือการที่คนปลายทางหรือคนจ่ายเงินได้ตระหนักว่า พวกเขาเองก็มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนวิถีเกษตรกรรมของคนต้นทาง อย่างน้อยๆ หากดีมานด์ของผักผลไม้อินทรีย์มีเพิ่มขึ้น คนยอมจ่ายเงินเพื่อซื้อในราคาที่เชื่อว่าสมเหตุสมผลกับผู้ผลิตมากขึ้น ไม่มีทางเลยที่เกษตรกรจะปฏิเสธการปลูกผักอินทรีย์ ที่มาพร้อมกับประโยชน์เด้งที่สองที่ว่าด้วยเรื่องสุขภาพของพวกเขา

“พวกเราแฮปปี้ที่ได้ใส่ความครีเอทีฟหรือความคิดต่างลงไปในไดเรกชั่นของการทำธุรกิจ และเราไม่อยากหยุดที่ธุรกิจอาหารอย่างเดียว เราอยากขยายไปถึงเรื่องสินค้าอุปโภคด้วย เริ่มต้นจากการคัดเลือกผู้ผลิตที่มีวิชั่นเรื่องความยั่งยืนคล้ายๆ กัน เกิดเป็นคอมูนิตี้ของคนที่สนใจ topic เดียวกัน แล้วก็สร้างความสะดวกสบายให้กับเขา เพราะที่ผ่านมา เวลาที่เราเจอคน หลายๆ คนก็อยากจะมีส่วนร่วมในมูฟเมนต์นะ แต่ด้วยสภาพแวดล้อมหลายอย่างในบ้านเรามันไม่ค่อยเอื้ออำนวยเท่านั้นเอง

“โกลของเราคือยอดขายและการสร้างมุมมองใหม่ๆ ให้กับลูกค้าว่าการช่วยโลกมันไม่ได้ยาก ไม่ต้องไปเก็บขยะที่ชายหาดหรือปลูกป่า คุณสามารถทำได้จากการเลือกของบนโต๊ะที่คุณกิน” มุกทิ้งท้าย

ติดตามจุดจอด grocery truck และ say hi โมกับมุกได้ที่
FB: Happy Grocers
IG: @happygrocers
website: https://happygrocers.co/store 
tel.: 086 375 1942

เครดิตภาพ: ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์, Happy Grocers

Graphic Designer

#กราฟิกดีไซเนอร์ #เป็นเด็กหญิงMoodyGirl #แต่ถ้าได้กินของอร่อยฟังเพลงเพราะนอนเต็มอิ่มจะจิตใจแจ่มใสและหัวใจพองโต

Read More:

Eat มนุษยสัมพันธ์

ทริกทำ meal plan แบบไม่มี food waste เหลือทิ้ง

คุยกับคนจริงเรื่องกินไม่เหลือ แถมวางแผนเผื่อแบบมือโปร!

Eat มนุษยสัมพันธ์

คุยกับ ‘ฟาร์มบ้านภู’ ฟาร์มโคนมที่แฮปปี้ได้ เมื่อวัวทุกตัวได้อยู่ดีกินดี

ชวน 'ปู-สรรพศิรินทร์ ทรัพย์อนันต์' เจ้าของฟาร์มโคนมอินทรีย์จากลพบุรี คุยเรื่องสวัสดิภาพของวัวที่เชื่อมโยงกับคุณภาพชีวิตคนต้นทางและปลายทาง

Eat ผลการทดลอง

ทดลองเข้าครัวทำอาหารเช้ากินเอง!

บันทึกการทำอาหารเช้า 7 วันแบบคนไม่ถนัดทำอาหาร แต่ก็อยากกินดีและอยากลองทำอาหาร