Love —— มนุษยสัมพันธ์

ครอบครัวที่รัก และ___________

ขอเกริ่นด้วยความจริงทื่อๆ ว่า ‘ครอบครัว’ คือสถาบันแรกที่เรารู้จักและใกล้ชิดกับชีวิตเราที่สุด

สำหรับเรา มันคือสถาบันที่มีสถานะพิเศษ จัดตั้งและขับเคลื่อนกันบนพื้นฐานของความรัก ความห่วงใย ความหวัง ฯลฯ และในบางครั้งก็แฝงความกดดัน ความไม่ลงรอย หรือกระทั่งบาดแผล มาด้วย

ความคุกรุ่นทางการเมืองที่ไม่เคยหายไป โรคระบาดที่ไม่มีทีท่าจะคลี่คลาย สร้างผลกระทบหลายอย่างไม่เว้นแม้แต่สถาบันครอบครัว นอกจากเรื่องเล่าสุดโต่งที่เราได้ยินอย่างลูกถูกไล่ออกจากบ้านเพราะเห็นต่างทางการเมือง หรือสามีภรรยาที่ต้องเลิกรากันไปเพราะต้องอยู่ด้วยกันตลอด 24 ชั่วโมง เราก็รู้กันดีว่า แต่ละบ้านยังมีปัญหาที่หลากหลายเฉดกว่านั้น ทั้งมีรายละเอียดชิ้นเล็กชิ้นน้อยที่เราไม่ค่อยพูดกัน เพราะมันเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ส่วนตัว และดูไม่น่ารักเมื่อต้องพูดถึงเรื่องไม่น่ารักของครอบครัว

ในสถานการณ์ยากลำบาก เราชวนสมาชิกครอบครัวที่รักที่ต้องรับมือกับเรื่องยากๆ ในนามของความรักมาแชร์เรื่องราวของเขา แม้จะเป็นมุมมองเดียวกันในฐานะลูก แต่เราเชื่อว่ามันน่าจะชวนให้คนเป็นลูกด้วยกัน หรือแม้แต่พ่อแม่เอง (ถ้าได้อ่าน) ทบทวนความรักและวิธีอยู่ร่วมกันโดยไม่สร้างบาดแผลให้กันและกันอีก 

ในโลกที่ยากเย็น โปรดช่วยกันทำให้ครอบครัวเป็นพื้นที่ปลอดภัยเถิด

0

ครอบครัวที่รักและไม่เคารพความเห็นต่าง ของลูกชายคนเล็กวัย 30

“บ้านผมเป็นครอบครัวคนจีน ซึ่งสิ่งที่ลูกคนจีนมักจะเจอใกล้ๆ กันก็คือ ครอบครัวจะพยายามปลูกฝังและคาดหวังให้เราเป็นเจ้าคนนายคน พ่อแม่อยากให้เป็นหมอ เป็นวิศวกร ถ้าเราอยากมีชีวิต มีความฝันของตัวเองที่ต่างไปจากสิ่งที่เขาคิด เราก็ต้องฝ่าฟันและเหนื่อยหน่อย ผมอยากเรียนสถาปัตย์ แต่ที่บ้านก็จะคิดว่าจะเรียนไปทำไม ซึ่งถ้าเราไม่ดื้อขนาดนี้ เราจะไม่มีทางได้เรียน 

“บ้านไม่ใช่เซฟโซนของผมตั้งแต่ตัดสินใจแหวกขนบของบ้านนี้ไปแล้ว พอกลายเป็นคนดื้อที่แหกคอกออกมา จิตใจเราก็ไม่ค่อยเซฟแล้วเวลาจะเล่าอะไรให้ฟัง

มันทำให้เราไม่กล้าที่จะแลกเปลี่ยนหรือคุยเรื่องชีวิตกับเขา เพราะถ้าเขารู้ว่าคิดไม่เหมือนกัน เราจะถูกห้าม ก็คุยกันแต่เรื่องทั่วๆ ไป กินข้าวหรือยัง จะซื้ออะไรดี พวกเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน แต่เรื่องสำคัญของชีวิตจะไม่คุยกันเพราะรู้ว่าจะทะเลาะกัน

“ผมไปม็อบแล้วได้ยินเสียงระเบิด ได้ยินเสียงกระสุนที่ใกล้มาก มันปวดร้าวนะ แต่กลับบ้านมาก็ต้องแอบไม่ให้เขารู้อีกว่าเราไปม็อบมา มันไม่มีเซฟโซนสำหรับเราเลย ไปข้างนอกก็อันตราย กลับมาบ้านก็ต้องหลบๆ ซ่อนๆ จะฟังอภิปรายไม่ไว้วางใจก็ต้องใส่หูฟัง ไม่มี privacy เลย นอกจากเรื่องเซฟโซน ในงานสถาปัตยกรรม สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับครอบครัวคือทุกคนต้องมีพื้นที่ส่วนตัว ปัญหาของครอบครัวเอเชียคือเราอยู่กันอย่างนี้ มันเลยตีกันตลอด โต๊ะกินข้าวก็ต้องโต๊ะกลม ห้องนอนก็ต้องนอนรวมกัน ความขัดแย้งแบบเอเชียมันจึงเป็นแบบนี้”

“พวกซีนต่างๆ ที่พูดกันว่าทะเลาะกับที่บ้านเรื่องการเมืองแล้วต้องเจอตรรกะวิบัติอะไรบ้าง ผมเจอมาหมดแหละ (หัวเราะ) พยายามวิเคราะห์ว่าทำไมการเมืองถึงเป็นเรื่องใหญ่ของแม่ ผมคิดว่าพอถึงจังหวะชีวิตของแม่ที่เริ่มว่าง มันว่างทั้งวัน แล้วช่วงนั้นเริ่มมีกระแสไล่ทักษิณ เขามีเวลาเหลือในชีวิตเยอะพอที่จะนั่งฟังเรื่องพวกนี้ตลอดเวลา ตอนเด็กๆ เราก็เห็นตลอดว่าเขาดูรายการอะไรบ้าง ตั้งแต่ม็อบเสื้อเหลืองของสนธิ ลิ้มทองกุล แล้วก็ไล่มาเรื่อยๆ ช่องบลูสกาย ช่องเนชั่น ช่องท็อปนิวส์ จนไม่นานมานี้ ได้ยินเขาคุยกับญาติ เขาบอกว่าเขาไปม็อบตลอด กว่าจะได้นายกคนนี้มามันลำบากมากนะ แต่เรารู้ว่าเขาไม่เคยไป มันน่ากลัวเหมือนกันนะ เหมือนเขาเสพสิ่งนี้จนรู้สึกว่าได้ไปเองเลย 

“ก่อนหน้านี้เขาคงไม่รู้หรอกว่าผมคิดเห็นยังไงเรื่องการเมือง แต่ช่วงหลังๆ มานี้การเมืองมันแย่มากจนเราก็ทนไม่ได้ บางทีเขาเปิดเนชั่นตอนกินข้าว ผมได้ยินข้อมูลบางอย่างก็น็อตหลุด เถียงออกไป เขาก็เริ่มรู้ จนพอรู้ว่าเราไปม็อบที่พูดเรื่องสถาบัน มันคงเป็นจุดที่เขารับไม่ได้ ซึ่งการทะเลาะกัน มันทำให้เรารู้ว่าปัญหานี้มีอยู่จริง เราต้องยอมรับว่าเราเห็นต่างกันจริง และไม่สามารถจะเปลี่ยนความคิดของอีกฝ่ายได้ ตอนนี้ก็จะพยายามไม่จุดประเด็นที่จะทำให้ทะเลาะกันลดแรงปะทะ มองในแง่ความสัมพันธ์เชิงเชื้อสาย เมื่อเราก็ต้องอยู่กันเป็นครอบครัวอย่างนี้ มันต้องมองแยกเรื่องไปเลย เรื่องการเมืองเราเกลียดวิธีคิดของเขา แต่ในชีวิตประจำวัน เราก็ยังกินข้าวเย็นด้วยกันได้”

“มันมีอีกวาทกรรมที่เขาเชื่อว่า พวกเด็กที่เขาเหมาว่าสามกีบล้มเจ้าไม่สามารถอยู่ในประเทศนี้ได้ ออกไปไหนก็ไม่มีใครรัก ไม่มีงานทำ ต้องไม่ตายดี เราก็แค่ต้องพิสูจน์ว่าวิธีคิดเขาผิดที่กลัวว่าเราจะไม่มีอนาคต

และการพิสูจน์ในขั้นต่อไป คือการทำให้เห็นว่า เราใช้ชีวิตด้วยกันได้จริงๆ นอกจากผมมีงานทำ มีเงินใช้ เราก็ยังอยู่เป็นครอบครัวกับเขาได้จริงๆ เห็นต่างกันได้ แต่ก็อยู่ด้วยกันได้นะ ถ้าเป็นไปได้ ผมก็อยากไปให้ถึงจุดนั้น ซึ่งกว่าจะถึง มันก็ต้องผ่านการทะเลาะและพิสูจน์อยู่ตลอดเวลา 

“มันก็เหนื่อยนะ แต่พอเห็นอีกหลายคนต้องเจอสิ่งที่แย่กว่าเรา หรือบางคนไม่กล้าแม้แต่จะบอกสิ่งที่ตัวเองคิดกับครอบครัว มีคนอีกจำนวนมากที่กลัว ไม่กล้าต่อต้าน มันก็เป็นความอึดอัดอีกแบบนึงแทน ผมเลยรู้สึกว่าการที่เรายอมทะเลาะ แลกกับการได้ส่งเสียงออกมามันก็คุ้มนะ เพราะเราได้อิสระทางความคิดมากขึ้น”

“ความเป็นครอบครัวที่โกรธกันแป๊บเดียว เดี๋ยวก็หาย ก็อาจจะเป็นข้อดีอย่างหนึ่งนะ ทะเลาะกัน สักพักก็กลับมาคุยกันได้ ถ้าทะเลาะกับคนอื่นก็คงจะไม่ได้เจอกันอีกเลย คงต้องแยกย้าย เลิกคบ แต่กับครอบครัว เราเลิกคบไม่ได้ ก็อาจจะเป็นวิธีการที่เราต้องค่อยๆ เรียนรู้กันไป” 

02

ครอบครัวที่รักและเป็นเจ้าของชีวิต ของลูกสาวที่ต้องแยกกันอยู่กับสามี 

“แม่เราน่ารักมากนะ รักเรามาก ทุ่มเทให้เราทุกอย่าง ใส่ใจรายละเอียดในชีวิตเรา เคารพการตัดสินใจของเราเสมอ อาจจะหวงและห่วงมากหน่อยตามประสาลูกสาวคนเดียว เราเองก็พยายามจะเป็นลูกที่ดีเท่าที่จะเป็นได้ ให้เขาเลิกทำงาน ดูแลเขา ทดแทนกับที่เขาลำบากเพื่อเราตอนเด็กๆ ยิ่งพอพ่อเสียไปเพราะมะเร็ง แม่ก็ทำใจไม่ได้อยู่พักใหญ่ๆ เราก็ยิ่งสปอยล์เขามากเข้าไปอีก 

“จนเราตัดสินใจแต่งงาน ซึ่งเรารู้ว่าเขาช็อกนะ เพราะมันเป็นการสูญเสียเราในอีกรูปแบบหนึ่ง แม้จะยังอยู่บ้านเดียวกัน กินข้าวพร้อมหน้าพร้อมตาทุกวัน อีกอย่างหนึ่งคือแม่มีวิธีคิดว่าลูกสาวของฉันต้องได้รับสิ่งที่ดีที่สุด สามีเราทำอะไรก็ไม่เคยดีในสายตาเขา เรื่องเล็กๆ น้อยๆ แค่ไหนเขาก็ไม่พอใจ ซึ่งมันไม่ใช่การบ่น ด่า หรือทะเลาะกันนะ แม่มีทักษะที่ทำให้คนรอบตัวรู้สึกผิดเก่งมาก (หัวเราะ) ถ้าเขาไม่พอใจเขาจะงอน ป่วย ขังตัวเองอยู่ในห้อง บรรยากาศในบ้านมันจึงค่อนข้างกดดัน

“แล้วยิ่งนานเข้า เรื่องมันจะเล็กน้อยมากขึ้นเรื่อยๆ “ล่าสุดเราบอกแม่ว่าตอนนี้เว้นการกินข้าวพร้อมกันไปก่อนดีไหม กลัวเรื่องโควิด แม่ไม่ยอมออกจากห้องเลย 1 สัปดาห์ หรือเราเคยนั่งเล่นมือถืออยู่ด้วยกัน 3 คนบนโซฟาหน้าทีวี แล้วแม่กับสามียื่นคลิปมาให้เราดูพร้อมกัน แล้วเราก็หันไปดูเครื่องของสามีก่อนเพราะเราแค่ถนัดซ้ายน่ะ มันหันซ้ายไปโดยอัตโนมัติ ระเบิดควันขมุกขมัวกระจายเต็มห้อง นี่ฉันกลายเป็นลูกที่ไม่เห็นหัวแม่ ทำให้แม่รู้สึกเป็นส่วนเกินของชีวิตไปแล้ว” 

 “แต่ทุกครั้งที่บ้านกลับมาดีขึ้น มันไม่ใช่การคุยถึงปัญหาแล้วปรับความเข้าใจกันนะ แม่หลีกเลี่ยงที่จะพูด บอกว่าไม่มีอะไร แค่ไม่สบาย ถ้าเขาหายโกรธแล้วก็คือจบ มันเลยยิ่งทำให้เราอยู่กันอย่างระวังตัว สปอยล์กันให้มากที่สุดเพราะไม่อยากให้บ้านมาคุ แต่มันยิ่งบั่นทอนจิตใจนะ ไม่มีใครได้สิ่งที่ต้องการ ไม่มีใครมีความสุข แต่ต้องทำเป็นมีความสุขในฐานะครอบครัว

“วิธีการดีลกับสิ่งนี้ของเราคือการใช้เหตุผล แม่เป็นแบบนี้เพราะเราเป็นของรักที่เขาหวงแหนและไม่อาจทำใจแบ่งปันให้ใคร สามีเราไม่มีความสุขเพราะเขารู้สึกถูกบั่นทอนคุณค่า การตัดสินใจแยกกันอยู่กับสามีก็ใช้เหตุผลชั่งตวงแล้วว่ามันไม่มีอะไรดีขึ้น แม่ไม่ได้แค่เป็นวัยทอง แม่ไม่ได้แค่พิสูจน์ความอดทนลูกเขยแล้ว

พอแยกกันอยู่จริงๆ มันก็เจ็บปวดมากเลย เราเป็นลูกที่ดี เป็นคนรักที่ดีมาตลอด นี่คือสิ่งที่เราควรได้รับจริงๆ เหรอ แล้วพอเศร้า ก็วนกลับไปใช้เหตุผลใหม่” 

“ครั้งเดียวที่ได้คุยกันจริงๆ จังๆ ตอนสามีออกจากบ้านไป เราเปิดใจคุยกันหลายเรื่อง แม่ตัดพ้อฉันว่าไม่มีความสุขทำไมไม่บอก ฉันว่าฉันเคยพยายามบอกแม่แล้ว แต่การบอกโดยไม่ฟูมฟายมันคงอ้อมค้อมเกินไปจนแม่ไม่เข้าใจ แม่บอกว่าแม่รู้ว่าแม่คือปัญหา เข้าใจว่าพอแต่งงานแล้วจะให้ลูกเป็นเหมือนเดิมมันก็คงไม่ได้ แต่พอเขาเสียใจ เขาก็เป็นของเขาอย่างนี้ เราคิดว่าเขาก็ไม่ได้อยากให้ชีวิตคู่ของเราพังหรอก เพราะมันคือหลักฐานที่ชัดเจนว่าความรักมันทำร้ายกันได้ขนาดนี้

“ความสัมพันธ์ของแม่กับลูกสาวในวัฒนธรรมตะวันออกมันเป็นความซับซ้อนที่น่าเศร้านะ

คนเป็นแม่เติบโตมาอย่างไร้ตัวตนในครอบครัว อยู่กับการถูกปฏิเสธซ้ำๆ พอมีครอบครัวของตัวเอง จึงพยายามให้ทุกอย่าง เพราะไม่อยากให้ลูกเจอเหมือนที่ตัวเองเคยเจอมา แต่ความกลัวการถูกปฏิเสธยังฝังแน่น แล้วก็ดันกลายเป็นคนที่ปฏิเสธทุกอย่างซะเอง ไม่ว่าเราจะทำดีแค่ไหน เขาก็จะรู้สึกว่ายังดีไม่พอ ขณะที่คนเป็นลูกก็จะคาดคั้นเอาเป็นเอาตาย ว่าจะต้องให้ฉันทำอย่างไรถึงจะดีพอในสายตาแม่ กดดันตัวเองทุกอย่าง คือเราก็รู้นะว่านอกจากการกดดันจากแม่แล้ว เรายังกดดันตัวเองหนักเกินไป จนมันเป็นอย่างนี้”

“ตอนเด็กๆ เราคิดว่าเพราะเราเป็นลูกแหง่ จึงได้รับการปฏิบัติแบบนี้ แต่ตอนนี้อายุก็ไม่น้อยแล้ว แต่งงานแล้ว จะเลยวัยมีลูกได้แล้วด้วยซ้ำ

แต่ความรู้สึกว่ามีเจ้าของชีวิตไม่เคยหายไปเลย เราเลยกลัวการมีลูกมาก เรากลัวที่เราจะกลายเป็นเจ้าของชีวิตใคร ทั้งๆ ที่เราก็เจ็บปวดกับสิ่งนี้ แต่เราอาจจะส่งต่อสิ่งนี้ไปโดยไม่รู้ตัวก็ได้”

03

“ตอนเด็กๆ แม่ไม่เป็นแบบนี้ ถ้าพยายามหาสาเหตุ เราคิดว่ามันเป็นปัญหาตั้งแต่วัยเด็กของแม่เลย แม่เป็นลูกสาวคนโตในครอบครัวคนจีน ซึ่งมีบาดแผลจากการเลี้ยงดูของตากับยายมาก่อน นอกจากพ่อแม่ไม่ค่อยรักแล้วนะ แม่ยังถูกต่อว่าตลอด ในขณะที่ลูกชายคนรองถูกเสมอ เขาเลยออกมาจากครอบครัวตั้งแต่วัยรุ่น แล้วก็มีความฝันของชีวิตเลยว่าอยากมีครอบครัวที่อบอุ่น มีลูกที่น่ารัก พอมาเจอพ่อเรา ซึ่งเป็นคนน่ารัก อารมณ์ดี มันคือความฝันที่ได้รับการเติมเต็มของแม่ มีสามี มีบ้านของตัวเอง มีลูกสาวที่น่ารัก เราในวัยเด็กเป็นเด็กหัวอ่อน แม่สอนอะไรก็เชื่อทำอะไร ก็ทำตาม  แม่ก็เลยเป็นแม่ที่น่ารักมาก 

“แต่จริงๆ เราก็เริ่มรู้ตั้งแต่เด็กๆ แล้วล่ะ ว่าเวลาแม่โกรธ แม่จะแปลกๆ แล้วมันจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เราต้องไปตรงข้ามเพื่อบาลานซ์ ก็เลยกลายเป็นคนที่มองโลกในแง่ดีกว่าปกตินิดหน่อยเพื่อคานกับแม่ที่มองโลกในแง่ร้ายกว่าปกติ รวมถึงเราเป็นคนอารมณ์ดีมากกว่าปกติเพราะแม่เป็นคนอารมณ์ร้ายมากกว่าปกติ คนอื่นจะมองว่าเราน่ารัก อยู่กับเธอแล้วโลกสดใส พลังบวก แต่จริงๆ แล้ว มันเป็นกลไกการป้องกันตัวของเราที่สร้างขึ้นมาว่า เมื่อเจอความเจ็บปวดจากแม่ เราต้องมีบวกไว้สอง เพราะยังไงเราก็ต้องเจอลบจากแม่เป็นฐาน” 

“จนเราเข้ามาเรียนมหา ’ลัยที่กรุงเทพฯ เราก็อยู่บ้านที่ต่างจังหวัดน้อยลง ความคิดต่างๆ มุมมองที่เรามีต่อโลกก็ค่อยๆ เปลี่ยนไป ในขณะที่เวลาของแม่ยังหยุดอยู่ที่เดิม แม่ยังคิดและเชื่อเหมือนเดิม เวลาเรากลับบ้านไปเจอความคิดหรือมุมมองต่าง ๆ ที่มันไม่เหมือนกัน ก็กลายเป็นว่า ทำไมเราไม่เหมือนเดิม เราก็จะโดนตำหนิว่าเราเป็นคนก้าวร้าวรุนแรง  ทั้งที่ตอนเด็กๆ เราน่ารักมาก เชื่อฟังพ่อแม่ ตั้งใจเรียน ทำไมโตขึ้นมาถึงกลายเป็นคนแบบนี้  เขาผิดหวัง และเริ่มเกรี้ยวกราดฉุนเฉียวใส่คนอื่นโดยที่เขาไม่รู้ตัวเลยว่าเขาทำ พยายามบังคับให้เราคิดเหมือนเขา ถ้าคิดไม่เหมือนคือผิด มันไม่ใช่แค่เรื่องการเมือง แต่มันคือทุกๆ เรื่องเลย ตัดผมทรงนี้ แต่งตัวแบบนี้ ถ้าเราทำอะไรที่มันแตกต่างหรือที่เขาไม่เข้าใจ เราจะถูกตัดสิน ซึ่งมันทำให้บ้านแย่มาก

“เราพยายามบอกตัวเองว่าอย่าเก็บมาคิดมาก เพราะอาการซึมเศร้าด้วยจึงทำให้แม่มีมุมมองหรือวิธีคิดบางอย่างที่ผิดไปจากปกติ ซึ่งการเลือกที่จะไม่ปะทะ เราก็เลยกลายเป็นกระสอบทรายที่ชกกลับไม่ได้ พยายามประคับประคองความสัมพันธ์อย่างมีระยะห่างที่เหมาะสม

ช่วงที่โควิดระบาดหนักๆ เราควรกลับไปอยู่กับเขาที่ต่างจังหวัด แต่เวลาเราอยู่บ้าน ใจเราจะคิดวนอยู่กับเรื่องแย่ๆ จากเขา เหมือนใจเรามีสีดำอยู่ตลอดเวลา แต่พอออกจากบ้านมา ใจเราจะค่อยๆ เป็นสีเทาแล้วก็ขาวขึ้นเรื่อยๆ จะกลับไปดำใหม่เมื่อกลับบ้าน เราจึงไม่สามารถอยู่ในบ้านเดียวกันได้ 

“มีอยู่ครั้งนึง เขาโกรธเราแล้วบอกว่าเราไม่ต้องมาเป็นแม่ลูกกันแล้วก็ได้นะ เราเองก็เคยคิดว่าถ้าความสัมพันธ์มันไม่แฮปปี้ เราเซ็นใบหย่าจากการเป็นครอบครัวได้ไหม แต่สุดท้ายเราก็ยังเป็นห่วงเขาแหละ เพราะเขาก็จะเป็นคนที่อ่อนแอแล้วก็แก่ลงเรื่อยๆ พอเขาปล่อยไพ่นี้ออกมาเราก็ต้องเป็นฝ่ายอ่อนข้อแล้วพูดว่ามีอะไรให้คุยกันก่อน เราต้องทำความเข้าใจกันนะ ความสัมพันธ์มันต้องรับฟังกันนะแม่ พาเขาไปหานักจิตบำบัด แต่แม่ก็จะฟังแต่ความคิดเห็นที่ตัวเองเชื่อเท่านั้น แต่ถ้าเป็นความคิดเห็นที่ตรงกันข้ามเขาจะไม่รับเลย มันเลยยังไม่ค่อยมีอะไรเปลี่ยนแปลงเท่าไหร่ แม่ยังพยายามควบคุมชีวิตเราเหมือนเดิม อาจจะอ่อนลงแต่ความต้องการอยากเปลี่ยนแปลงยังเท่าเดิม” 

“ตอนเจอกับแฟน เราก็บอกเขาแต่แรกเลยว่าแม่เราเป็นแบบนี้นะ มันต้องหาคนที่ยอมรับกับเรื่องนี้ได้เพื่อไม่ให้มีปัญหากระทบเรื่องความสัมพันธ์ เอาจริงๆ ที่ยังดำรงจิตใจทุกวันนี้อยู่ได้เพราะว่ามีเขา ถ้าเราโดนกระแทกอะไรมาเราจะมีเขาเป็นหมอน มันต้องหาคนที่พร้อมจะเยียวยาเราทุกเมื่อ ไม่อย่างนั้นเราคงเหวอะหวะกว่านี้ ถ้าลองนึกภาพว่าเราไม่มีเขาหรือคนในชีวิตที่รับฟัง เราอาจจะเป็นบ้านะ หรือแม่อาจจะแย่กว่านี้ก็ได้เพราะเราอาจจะอาละวาดหรือระเบิดในสักวันหนึ่ง แต่เราไม่เคยระเบิดสักครั้งเลยนะ เราเก็บอารมณ์และมีสติทุกครั้งเวลาแม่ไม่มีสติ

“เราคุยกับแฟนบ่อยเหมือนกันเรื่องความคาดหวังของพ่อแม่ เราไม่เคยเป็นพ่อแม่ เราไม่รู้หรอกว่าเขาคาดหวังกับเราขนาดไหน แต่เราว่ามันคงจะเฮลท์ตี้กว่านี้ถ้าเราเคารพนับถือกันในฐานะมนุษย์คนหนึ่งซึ่งมีความเท่าเทียมกัน

แต่เรารู้สึกว่าแม่เราไม่เคารพเรา แม่ไม่เคารพพ่อ เขารู้สึกว่าตัวเองเหนือกว่า รู้มากกว่า เขามาจากชนชาติที่ดีกว่า ตอนนี้เกลียดคำว่ากตัญญูมากเลยนะ เราเอาค่านิยมและการตัดสินของสังคมมาด่าตัวเองในใจอยู่ตลอดเวลา พอแล้ว เราควรต้องหยุดด่าตัวเองได้แล้ว พ่อแม่ไม่ใช่เทวดา เขาก็เป็นคนคนหนึ่งที่แค่มีลูกออกมา และมีสิทธิ์ผิดพลาดได้ แค่คิดจะเป็นเจ้าของเราก็ผิดแล้ว คุณให้กำเนิดฉันมา แต่ฉันก็เป็นเจ้าของชีวิตของตัวเองนะ เขาจะคิดว่าเขาเป็นเจ้าของกระสอบทรายไม่ได้ เพราะเราเป็นกระสอบทรายมาตลอด และเราไม่อยากเป็นกระสอบทรายอีกแล้ว 

“แต่เราไม่กลัวการสร้างครอบครัวนะ ไม่เลย เรารู้ว่ามนุษย์หลากหลายมาก แค่แม่เราคนเดียวไม่ทำให้เรากลัวการมีครอบครัวได้หรอก เพราะคนเราไม่เหมือนกัน เราก็มีสิทธิ์เลือกแฟน เลือกสามีของเรา ถ้าเรามีลูก เราก็เลือกที่จะเลี้ยงลูกของเราด้วยวิธีที่เราคิดว่าถูกต้องได้” 

Content Designer

อดีตผู้ช่วยบรรณาธิการนิตยสาร #aday คือเจ้าของหนังสือทั้งเรื่องจริงและเรื่องแต่ง อาทิ #สนธิสัญญาฟลามิงโก #ร้านหวานหวานวันวาน คือบรรณาธิการอิสระและคอนเทนต์ครีเอเตอร์ฟรีแลนซ์ ก่อนจะมาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทออกแบบคอนเทนต์ที่ยังไม่รู้จะตั้งชื่อตำแหน่งตัวเองว่าอะไร

Graphic Designer

#กราฟิกดีไซเนอร์ #เป็นเด็กหญิงMoodyGirl #แต่ถ้าได้กินของอร่อยฟังเพลงเพราะนอนเต็มอิ่มจะจิตใจแจ่มใสและหัวใจพองโต

Read More:

Love บันทึกประจำวัน

เป็นแม่ค้าออนไลน์เวอร์ชั่นชังชาติก็ได้ แค่อยากช่วยเพื่อนร่วมชาติบ้าง

เปลี่ยนความโกรธให้มีมูลค่า ด้วยแชร์ริตี้ช้อปเวอร์ชั่นจิ๋วและส่วนตัวมาก

Love จดหมายเหตุ

ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งรื้อ

เมืองกำลังจะเปลี่ยนไป เราหวังอะไรได้ไหมกับการเปลี่ยนแปลง

Love สาระสำคัญ

#MushroomMission ปฏิบัติการเห็ดแปลงร่าง สื่อสารโครงการปันอาหารให้คนหิว

คุยกับผู้ริเริ่ม social project ชวนผู้คนมาวาดรูปเห็ด เปลี่ยนเรื่องหิวให้คิวท์และน่าเข้าร่วม