Eat —— จากผู้ใช้จริง

ผักไม่สวยก็มีที่ยืนในจานได้!

ในปี 2013 พืชผักกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ในระบบเกษตรกรรมกลายเป็นขยะ เพียงเพราะหน้าตาไม่สวย!

จนถึงวันนี้ ตัวเลขนี้ไม่ได้ขยับลดไปไหน และเหล่าพืชผักหน้าเบี้ยวก็ยังคงไม่มีที่ยืนบนชั้นในซูเปอร์มาร์เก็ต หรือแม้แต่บนแผงของตลาดใกล้บ้านเหมือนเคย ต่อให้พวกมันหลุดรอดมาให้เราเห็นอยู่บ่อยๆ แต่ด้วยความบิดเบี้ยวกับรอยเปรอะเปื้อน ก็มักจะทำให้พวกมันถูกมองข้าม โดนทิ้งไว้เศร้าๆ บนชั้น แล้วสุดท้ายก็ต้องไปจบชีวิตอยู่ในภูเขาขยะที่ไม่ได้รับการย่อยสลายอย่างถูกต้องอยู่ดี

แม้จะบอกว่ามีพืชผักที่เสียหายไประหว่างทางก่อนจะมาถึงมือเรามากมาย ทั้งจากการเน่าเสียติดต้น หรือกระบวนการขนส่งที่กินเวลานาน แต่ไม่น่าเศร้าไปหน่อยเหรอ ที่แอปเปิ้ลบางลูกต้องถูกโยนทิ้งเพราะแค่ไม่ได้มีสีแดงสด แครอทจำนวนหนึ่งถูกคัดตกรอบเพราะมีสองขา ไหนจะมันฝรั่งบิดเบี้ยว หรือเห็ดราคาแพงหลายชนิดที่อดเดินทางเข้าภัตตาคารหรูแค่เพราะมีรอยขีดข่วนนิดเดียว

ขอย้ำอีกครั้งว่าพวกมันไม่ได้รสชาติไม่ดีหรือกินไม่ได้ แค่ไม่สวยเท่านั้นเอง!

แต่ใช่ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนี้จะถูกละเลยจนต้องมีพืชผักผลไม้อีกมากมายถูกโยนทิ้งอย่างไร้ค่า ในหลายๆ ประเทศเขาก็เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการกู้ชีพน้องๆ เหล่านี้ให้กลับมามีประโยชน์กันแล้ว อย่างที่สหรัฐอเมริกา ก็มีซูเปอร์มาร์เก็ตออนไลน์สุดเก๋ในชื่อ Misfits Market ซึ่งส่งตรงผลไม้หน้าเบี้ยวจากฟาร์มถึงบ้านในราคาคุ้ม แล้วยังมีแบรนด์น้ำผลไม้ ขนมทอดกรอบ และซอสอีกจำนวนหนึ่งที่เลือกใช้พืชผักหน้าเบี้ยวเป็นวัตถุดิบ เพราะสุดท้ายพวกมันก็ถูกแปรรูปจนดูไม่ออกอยู่ดี ในไทยเองก็เคยมีแคมเปญของร้าน Greyhound ที่เลือกรับพืชผักผลไม้หน้าตาไม่สวยแต่คุณภาพดีเต็มร้อยมาประกอบอาหารอยู่ช่วงหนึ่งเหมือนกัน แต่ก็น่าเสียดาย ที่เรายังเห็นการช่วยชีวิตพืชผักหน้าเบี้ยวน้อยเสียเหลือเกินในประเทศนี้ 

ดังนั้นเราเลยขอมาช่วยชีวิตพืชผักหน้าเบี้ยวแบบง่ายๆ ให้พวกมันได้อยู่รอดไปถึงมื้ออาหารในบ้านด้วยตัวเองแทน!

ขอออกตัวก่อนว่าเรายังพึ่งซูเปอร์มาร์เก็ตและตลาดใกล้บ้านอยู่ ไม่ได้เป็นเซียนถึงขั้นซื้อผักผลไม้โดยตรงกับเกษตรกรท้องถิ่น ที่มักจะขายพืชผักหน้าเบี้ยวด้วย วัตถุดิบที่เราพอจะช่วยชีวิตมาได้ เลยมีรูปร่างที่ไม่ได้แปลกอะไรมากนัก แล้วก็อาจจะไม่ได้มีสองขา สามแขนเหมือนอย่างที่เราคุ้นเคยกันเมื่อพูดถึงพืชผักหน้าเบี้ยวทั่วไป แต่ก็ถือว่าเป็นการช่วยน้องๆ ที่มีแววจะโดนทิ้งเอาไว้บนชั้นได้อยู่เหมือนกันนะ

ช่วยชีวิตออกจากตู้แช่ในซูเปอร์มาเก็ต

จริงๆ แล้วซูเปอร์มาร์เก็ตก็มีพืชผักหน้าเบี้ยวหลุดรอดมาเยอะพอสมควร แต่ก็อาจจะไม่ได้มีหน้าตาผิดแปลกจากผักปกติสักเท่าไหร่ ด้วยมาตรฐานสินค้าที่ตั้งไว้ค่อนข้างสูง จากการสำรวจซูเปอร์มาร์เก็ตในสหรัฐอเมริกา พบว่ามีผลไม้กว่า 20 เปอร์เซ็นต์ ที่ส่งให้ห้างร้านไม่ได้มาตรฐาน แค่เพราะผลไม้บางลูกเล็กหรือใหญ่จนเกินไป จนต้องปัดตกจากกระบวนขนส่ง และนั่นส่งผลให้เกษตรกรสูญเสียรายได้ไปอีกมหาศาล

เท่าที่เราลองเดินสำรวจซูเปอร์มาร์เก็ตแถวบ้านมา เราก็ผักที่ไม่ค่อยสวยหลุดมาเหมือนกันทั้งแครอทเบี้ยว หัวไชเท้าไซส์ประหลาด มันเทศมีขางอก ซึ่งทั้งหมดที่ว่ามาเราไม่กิน พวกมันก็เลยอดกลับบ้านมาด้วยกันอย่างน่าเสียดาย แต่เราก็ได้ช่วยมันฝรั่งที่มีแขนสั้นและผองเพื่อนกลับมาผัดเนยกินที่บ้าน พอตัดมันฝรั่งออกเป็นแว่นๆ ก็ดูไม่ออกแล้วว่ามันมีรูปทรงบิดเบี้ยว สามารถเอามาทำอาหารได้ปกติเลย

ผลไม้อีกชนิดที่แม่ช่วยด้วยการเอากลับมาไหว้พระที่บ้านได้ก็คือฝรั่งหัวปูด ที่พอเอามาฝานกินแล้วก็ไม่ได้แตกต่างจากฝรั่งลูกกลมๆ สวยๆ เลยแม้แต่นิดเดียว 

จากการไปเดินสำรวจซูเปอร์มาร์เก็ตในช่วงที่ผ่านมา เราพบว่าการตามหาพืชผักหน้าเบี้ยวจากตู้แช่นั้นค่อนข้างจะยากสักหน่อย ด้วยมาตรการช่วงโควิด-19 ห้างบางแห่งเลยคัดเลือกผักใส่ถุงพลาสติกให้เราแล้วเรียบร้อย แต่ถ้าซูเปอร์ฯ ที่ไหนยังเปิดให้หยิบผักเองอยู่ อย่างเราเองก็เจอผักที่ไม่ค่อยสวยจากชั้นที่ให้หยิบเองเสียส่วนใหญ่ ก็ลองเปลี่ยนมาพาน้องๆ ที่หน้าตาบิดเบี้ยวกลับบ้านแทนผักสวยๆ บ้างก็ดีนะ

ช่วยชีวิตจากแผงผักสดในตลาด

ด้วยความที่ตลาดใกล้บ้านนั้นเป็นดินแดนบ้านๆ ที่เจอได้ตั้งแต่ของคุณภาพดีเยี่ยมไปยันคุณภาพกลางๆ เราก็เลยได้แตงกวาหัวลีบกลับมาพร้อมกับเพื่อน แตงกวาชิ้นอวบ และมะม่วงแผลเพียบ ที่เต็มไปด้วยรอยขีดข่วน ทั้งหมดนี้ถูกนำไปแปลงร่างเป็นเครื่องเคียงของข้าวคลุกกะปิมื้อเย็นที่บ้าน มะม่วงที่มีรอยเหวอะหวะนี้ไม่ได้มีผลกระทบอะไรกับเนื้อด้านในเลยแม้แต่นิด 

แล้วก็ไม่ต้องกลัวว่าแตงกวาลีบๆ แบบนั้นจะกินได้หรือเปล่า เพราะได้รับการพิสูจน์แล้วเรียบร้อยจากคนในบ้านว่ากินกับข้าวไปก็แยกไม่ออกแล้ว แค่อาจจะชุ่มฉ่ำน้อยกว่าแตงกว่าทั่วไปนิดหน่อยเท่านั้นเอง

ช่วยชีวิตสดๆ จากต้นในสวนหลังบ้าน

บ้านก็มีส่วนที่เราเผลอปล่อยให้พวกมันเน่าเสียไปอย่างไร้ค่ามากอยู่เหมือนกัน 

หลังจากสืบข้อมูลจากยายผู้เป็นคนทำอาหาร ก็ได้ความว่ามะนาวสีน้ำตาลแบบนี้เป็นมะนาวที่ใกล้แห้งแล้ว เก็บไม่ทัน แต่ใช่ว่าจะกินไม่ได้นะ แค่น้ำอาจจะน้อยและแห้งกว่ามะนาวทั่วไปหน่อย ซึ่งวันที่เราเจอมะนาวลูกนี้ก็เป็นวันที่ที่บ้านทำต้มยำกินพอดี เพราะฉะนั้นมะนาวแห้งๆ แบบนี้เลยไม่มีปัญหา บีบน้ำออกมาก็พอได้ ส่วนรสชาติก็เปรี้ยวจี๊ดเหมือนเดิม ไปเจอกับมะนาวลูกอื่นๆ ที่ยังดีอยู่ก็ได้น้ำมะนาวเยอะพอจะทำกับข้าวพอดี

อยากเป็นนักกู้ชีพ จะช่วยชีวิตพืชผักหน้าเบี้ยวได้ที่ไหนอีกบ้าง?

ส่วนใครที่คิดว่าการช่วยชีวิตผืชผักหน้าเบี้ยวจากตลาดหรือซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นด่านที่เบสิกไป แล้วอยากลองช่วยเหล่าพืชผักให้จริงจังมากขึ้น เราก็ขอแนะนำให้ลองไปซื้อผักโดยตรงกับเกษตรกรในพื้นที่ต่างๆ เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่จะขายผักแบบไม่ได้คัดหน้าตามากนัก แต่ไม่ต้องกังวลนะ เพราะยังไงคุณภาพก็ยังยอดเยี่ยมเหมือนเดิมแน่นอน วิธีการนี้นอกจะได้อุดหนุนเกษตรกรตรงๆ โดยไม่ต้องผ่านคนกลางแล้ว ยังเป็นการช่วยลดขยะจากผลไม้ที่อาจถูกคัดทิ้งระหว่างทางไปได้ด้วย

แต่อย่าลืมนะ ก่อนตัดสินใจซื้อวัตถุดิบเข้าบ้าน เราก็ควรตั้งสติให้ดีก่อน อย่าเผลอช่วยชีวิตกันเพลิน ซื้อมาเยอะเกินจนกินไม่ไหว สุดท้ายผักจำนวนหนึ่งเลยต้องไปนอนเหงาๆ ในตู้เย็นต่อจนเน่าเสีย แบบนี้แทนที่จะได้ลดขยะ ก็เลยกลายเป็นการช่วยเพิ่มปริมาณขยะแทนโดยไม่ได้ตั้งใจ น่าเสียดายกว่าเดิมอีก!

Content Designer

#อดีตนิสิตภาควารสารฯ #เรียนจบแล้ว #นักเขียน

Read More:

Eat บันทึกประจำวัน

Urban Foraging BKK บันทึกเด็ดดอกไม้กินจริงๆ ไม่ได้เล่นขายของ

ความสนิทสนมกับต้นไม้ในซอยบ้านนี่แหละ ที่จะทำให้เรากลมเกลียวกับโลกใบนี้มากขึ้น

Eat มนุษยสัมพันธ์

คุยกับ ‘ฟาร์มบ้านภู’ ฟาร์มโคนมที่แฮปปี้ได้ เมื่อวัวทุกตัวได้อยู่ดีกินดี

ชวน 'ปู-สรรพศิรินทร์ ทรัพย์อนันต์' เจ้าของฟาร์มโคนมอินทรีย์จากลพบุรี คุยเรื่องสวัสดิภาพของวัวที่เชื่อมโยงกับคุณภาพชีวิตคนต้นทางและปลายทาง

Eat วิธีทำ

อย่ากินเราเลย เรามีรสเศร้า

ถ้ายังเลิกกินเนื้อสัตว์ไม่ได้ ก็งดเมนูทำร้ายสัตว์เกินเบอร์เถอะ