Body —— สาระสำคัญ

ดูออกนะ!! ดูให้รู้ความต่างของเครื่องสำอางสายคลีน

เรารู้กันดีว่าวงการบิวตี้ในปัจจุบันนั้นเฟื่องฟูแค่ไหน สารพัด ‘ของมันต้องมี’ ไม่ว่าจะเป็นสกินแคร์ เครื่องสำอาง รวมถึงอุปกรณ์ความงาม เป็นไอเท็มไลฟ์สไตล์ที่ไม่เพียงส่งผลโดยตรงต่อร่างกายของเรา ยังส่งผลต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย

ทั้งต่อสัตว์ไม่ว่าจะเป็น หนู กระต่าย แมว นก สุนัข ลิง และอีกสารพัดที่ถูกใช้เป็นสัตว์ทดลอง ส่งผลต่อการใช้แรงงานเด็กในการขุดแร่ธรรมชาติที่ใช้เพิ่มความวิบวับในเครื่องสำอาง ส่งผลต่อท้องทะเล ปะการังที่ได้รับผลกระทบจากสารเคมีที่เป็นส่วนผสมของครีมกันแดด ไปจนถึงบรรจุภัณฑ์จำนวนมากที่ถูกทิ้งขว้างนอนเคว้งคว้างกลายเป็นภาระบนผืนโลก 

เมื่อคนทั่วโลกมีไลฟ์สไตล์ที่ใส่ใจโลกมากขึ้น เราจึงได้เห็นไอเท็มบิวตี้สายคลีนจำนวนมากที่บอกว่าตัวเองไม่ได้ดีต่อคนอย่างเดียวนะ ยังดีต่อสัตว์และสิ่งแวดล้อมด้วย แต่ปัญหาคือยิ่งกระแสรักษ์โลกมาแรง เรายิ่งได้เห็นประเภทของความงามที่ดีต่อเราและสิ่งแวดล้อมหลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ออร์แกนิก cruelty-free วีแกน หรือคลีนบิวตี้ จนเราชักงงว่าเครื่องสำอางแต่ละประเภทมันต่างกันอย่างไร ดีต่อเราและดีต่อโลกแบบไหน 

ในฐานะของผู้บริโภคที่อยาก conscious กับตัวเองและสิ่งแวดล้อมมากขึ้นอีกหน่อย เราจึงอยากจะชวนทุกคนมาทำความเข้าใจนิยามอันหลากหลายของเครื่องสำอางสายคลีนไปด้วยกัน

สวยไร้สารเคมี ต้อง Organic cosmetics 

หากแปลกันตรงตัว organic cosmetics ก็คือเครื่องสำอางที่ใช้ส่วนผสมออร์แกนิก ซึ่งเป็นสารสกัดจากธรรมชาติที่ไม่ผ่านกระบวนการทางเคมีใดๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ยาเคมี ยาฆ่าแมลง ปุ๋ยสังเคราะห์ หรือกระบวนการ GMOs ตั้งแต่การปลูกจนสกัดเป็นสารในสกินแคร์ แต่ในความเป็นจริงแล้วจักรวาลของ organic cosmetics นั้นกว้างใหญ่และซับซ้อนมากกว่าที่หลายๆ คนรู้

เพราะการที่แบรนด์เครื่องสำอางจะเรียกสินค้าตัวเองว่าเป็นออร์แกนิกได้ จะต้องได้รับ certified จากองค์กรรับรอง เช่น USDA COSMOS EcoCert NATRUE เพื่อยืนยันว่าเครื่องสำอางนั้นใช้ส่วนผสมที่เป็นออร์แกนิกจริงๆ

แต่ความซับซ้อนก็เกิดขึ้นตรงนี้ เพราะแต่ละมาตรฐานนั้นก็กำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำของวัตถุดิบออร์แกนิกต่างกันไป และในมาตรฐานเดียวกันยังได้แบ่งเกรดแบ่งเลเวลของความออร์แกนิกยิบย่อยมากไปอีก 

เครื่องสำอางที่เราเห็นปะตราว่า organic อาจจะไม่ได้ออร์แกนิก 100% ที่จริงแล้วแทบจะไม่มีแบรนด์ไหนที่ทำได้ขนาดนั้นด้วยซ้ำ ดังนั้น หน้าที่ของเราคือต้องรู้รายละเอียดเหล่านี้เอาไว้ประกอบการตัดสินใจด้วย

  • USDA แบ่งเป็น ‘100% Organic Certified’ และ ‘Organic Certified’ ที่แปลว่ามีส่วนผสมออร์แกนิก 95% ขึ้นไป 
  • Soil Association Cosmos แบ่งเป็น ‘Organic Certified’ คือมีส่วนผสมออร์แกนิก 95% ขึ้นไป และ ‘Made with Organic’ ซึ่งมีส่วนผสมออร์แกนิก 10% ขึ้นไป
  • ECOCERT COSMOS แบ่งเป็น ‘COSMOS organic certification’ ที่กำหนดให้สกินแคร์มีส่วนผสมอย่างน้อย 20% เป็นออร์แกนิก ส่วนผลิตภัณฑ์ประเภทใช้แล้วล้างออก หรือผลิตภัณฑ์ประเภทผง สัดส่วนเปอร์เซ็นต์อาจเป็น 10% และ ‘COSMOS natural certification’ ที่ส่วนผสมทั้งหมดต้องผ่านการทดสอบว่าเป็นส่วนผสมที่ได้จากธรรมชาติแต่ไม่ได้กำหนดสัดส่วนขั้นต่ำของส่วนผสมออร์แกนิก
  • NATRUE แบ่งเป็น ‘1 ดาว’ คือมีส่วนผสมของสารสกัดแบบธรรมชาติและพืช (ไม่ได้ระบุเปอร์เซ็นต์แบบเป๊ะๆ) ส่วน ‘2 ดาว’ คือมีส่วนผสมของสารสกัดแบบธรรมชาติและพืช 70% และ ‘3 ดาว’ คือมีส่วนผสมของสารสกัดแบบธรรมชาติและพืช 95%

สิ่งที่เราต้องการจะบอกก็คือ นอกจาก organic cosmetics ไม่ได้แปลว่าจะปลอดภัยไร้สารเคมี 100% มาตรฐานเหล่านี้ยังไม่ได้รับประกันว่า % ที่เหลือ จะไม่มีส่วนผสมของสารเคมีที่เสี่ยงแพ้หรือระคายเคืองอยู่ในนั้นด้วย เช่น แอลกอฮอลล์ น้ำหอมสังเคราะห์ ฉะนั้น นอกจากจะสังเกตสัญลักษณ์มาตรฐานออร์แกนิกที่แปะอยู่บนขวด ก็อย่าลืมพลิกดูว่ามีส่วนผสมที่อาจจะระคายเคืองผิวได้ เช่น SLS, Paraben, Mineral Oil, Artificial Color / Colorants, Formaldehyde, Harsh Chemical ฯลฯ ถ้าเจอก็เลี่ยงซะ!

สวยรักสัตว์ ต้อง cruelty-free cosmetics 

หลายคนอาจจะไม่รู้ว่ากว่าเครื่องสำอางและสกินแคร์แต่ละชิ้นจะนำมาวางจำหน่ายได้นั้น ต้องมีกระบวนการทดลองกับสัตว์มากมาย เพื่อให้มั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์นั้นปลอดภัยกับคนจริงๆ หลายๆ ครั้งการทดลองนั้นก็โหดร้ายสุดๆ เช่น ถ้าจะทดสอบว่ามาสคาร่าไม่เป็นอันตรายต่อดวงตาคน ก็จะต้องใช้วิธีการฉีดสารที่จะทดสอบนั้นๆ เข้าไปในดวงตาของสัตว์โดยตรง 

การทดลองอันโหดร้ายนี้ทำให้ผู้บริโภคและแบรนด์เครื่องสำอางจำนวนมากค่อยๆ ลุกขึ้นมาต่อต้านการทดลองเครื่องสำอางกับสัตว์หรือที่เรียกว่า cruelty-free แล้วหันมาทดสอบความปลอดภัยด้วยวิธีอื่นแทน

เช่น การเพาะเนื้อเยื่อหรือสร้างอวัยวะทดแทนสัตว์ทดลอง การทดลองบนผิวอาสาสมัครจริงๆ ซึ่งวิธีนี้นอกจากจะไม่โหดร้ายต่อสัตว์แล้วยังแม่นยำกว่าด้วย เพราะได้ทดลองกับผิวคนจริง

เครื่องสำอาง cruelty-free สังเกตได้ง่ายๆ จากการดูฉลากที่หน้าและหลังผลิตภัณฑ์ โดยส่วนใหญ่คำว่า ‘cruelty-free’ จะถูกระบุไว้ด้านหน้า เมื่อพลิกไปด้านหลังก็ให้มองหาสัญลักษณ์รับรอง cruelty-Free ไม่ว่าจะเป็น Leaping Bunny Certified, Choose Cruelty Free (CCF), Beauty Without Bunnies (PETA)

แต่สัญลักษณ์ cruelty-free ก็ยังมีข้อควรระวัง เพราะบางแบรนด์แม้จะเคลมว่าไม่ได้ทดลองกับสัตว์ แต่อาจจะรับส่วนผสมมาจากแหล่งผลิตที่ทดลองกับสัตว์มาแล้ว หรือบางแบรนด์อาจจะ cruelty-free เป็นบางไอเท็มหรือบางส่วน เนื่องจากต้องวางขายในประเทศที่บังคับให้ทดลองกับสัตว์อย่างจีน ฉะนั้น นอกจากสังเกตสัญลักษณ์รับรอง cruelty-free เราแนะนำให้เช็คกับเว็บไซต์ของ PETA ที่เขารวบรวมรายชื่อแบรนด์ cruelty-free แบบละเอียดเอาไว้ ผ่าน https://crueltyfree.peta.org เพื่อความมั่นใจเต็ม 100% ได้เลย

สวยรักสัตว์ ‘มากยิ่งกว่า’ ต้อง vegan cosmetics 

สำหรับใครที่แคร์สัตว์ขั้นกว่า ต้องมองหาเครื่องสำอางวีแกน เพราะนอกจากจะมีจุดยืนเรื่องไม่ทดลองกับสัตว์หรือ cruelty-free แล้ว

เครื่องสำอางกลุ่มนี้ยังต้องไม่มีส่วนผสมจากสัตว์หรือผลิตภัณฑ์ของสัตว์เลยด้วย ไม่ว่าจะเป็น ขนสัตว์ น้ำผึ้ง ขี้ผึ้ง ไขมันที่ได้จากขนแกะ คอลลาเจน แพลงก์ตอน ไข่ขาว พิกเม็นต์จากสัตว์ และอีกสารพัด 

โดยสังเกตความ vegan ได้จากส่วนผสมในฉลากและสัญลักษณ์ทั้ง Vegan Action, Vegan Society และ cruelty free & Vegan ของ PETA

แต่ก็ใช่ว่า vegan cosmetics จะเป็นส่วนผสม plant-based 100% เพราะสามารถมีส่วนประกอบของสารเคมี สารสังเคราะห์อื่นๆ ได้ด้วย ฉะนั้น อย่าลืมพลิกดูว่าส่วนผสมที่อาจจะระคายเคืองผิวได้ไหม เช่น SLS, Paraben, Mineral Oil, Artificial Color / Colorants, Formaldehyde, Harsh Chemical ฯลฯ เช่นเดียวกับเครื่องสำอางออร์แกนิกนะ

สวยปลอดภัยไม่มีสารพิษ ต้อง clean beauty

คลีนบิวตี้ถือว่าเป็นเทรนด์เครื่องสำอางที่มาแรงมากๆ ในต่างประเทศ คนไทยอาจจะยังไม่คุ้นเคยสักเท่าไหร่

คลีนบิวตี้นั้นจะให้ความสำคัญเรื่องความโปร่งใสและซื่อสัตย์ต่อลูกค้า ส่วนผสมทั้งหมดจะต้องระบุให้เห็นบนฉลากผลิตภัณฑ์ และต้องไม่มีส่วนผสมที่เป็นพิษหรือระคายเคืองกับผิวของเราตามประกาศที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) กำหนดไว้ เช่น แอลกอฮอล์ น้ำหอม ซิลิโคน สารปรอท สารไฮโดรควิโนน สเตียรอยด์ และกรดเรติโนอิก 

และส่วนผสมที่นำมาใช้ก็ต้องเป็น active Ingredient ที่มีประโยชน์ต่อผิวจริงๆ ซึ่งจะเป็นส่วนผสมจากธรรมชาติหรือสารสังเคราะห์ได้ แต่ต้องใช้ในปริมาณที่เหมาะสม ได้รับการทดสอบมาแล้วว่าปลอดภัยต่อผิว 

นอกจากเรื่องความโปร่งใสแล้ว บางแบรนด์ยังมองว่าคลีนบิวตี้ยังต้องไม่มีผลกระทบต้องสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย เช่น LUSH ที่หยุดใช้แร่ Mica จากธรรมชาติในการสร้างผลิตภัณฑ์ความงามของแบรนด์ เพราะการได้มาซึ่งแร่ชนิดนี้ จะต้องใช้แรงงานเด็ก และยังมีไลน์ Packaging Free ที่ช่วยลดขยะบรรจุภัณฑ์ หรือ PAÑPURI ที่ไม่ใช้ไมโครบีดส์ในผลิตภัณฑ์สครับผิว รวมถึงส่วนผสมจากไทเทเนียมไดออกไซด์และซิงก์ออกไซด์ในผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดด ที่อาจส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมทางน้ำและสัตว์น้ำ

แต่ถึงอย่างนั้นคลีนบิวตี้ก็ยังเป็นแนวคิดที่ค่อนข้างใหม่ จึงยังไม่มีองค์กรใดที่มาตรวจสอบหรือให้คำนิยามที่เป็นสากล จะมีก็เพียงคำนิยามจากแบรนด์หรือร้านค้า เช่น THE ZEROLIST™ ของ PAÑPURI สัญลักษณ์ Clean at Sephora จาก Sephora เป็นต้น ฉะนั้นเพื่อความชัวร์ นอกจากจะพลิกฉลากดูก่อนว่าไม่มีส่วนผสมที่อาจจะระคายเคืองผิวจริงๆ ก็อย่าลืมสังเกตสัญลักษณ์ cruelty-free เพื่อให้มั่นใจว่าเครื่องสำอางนั่นๆ ไม่ได้ผ่านการทดสอบกับสัตว์มาด้วยนะ

สรุปทิ้งท้ายอีกที ว่าป้ายสัญลักษณ์ต่างๆ ทั้ง organic / vegan / cruelty-free / clean beauty อาจจะเป็นเครื่องมือแรกที่ช่วยให้ผู้บริโภคสาย conscious ไว้วางใจในสินค้านั่นๆ ได้ในแง่ของการส่งผลต่อตัวเราเองและสัตว์ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีข้อควรระวังอีกมากมายต่อเรื่องสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เราต้องช่วยกันตรวจสอบ 

การอ่านฉลากตรวจสอบส่วนผสมชื่อแปลกจึงยังเป็นเรื่องสำคัญ เพราะนอกจากจะเช็กส่วนผสมที่อาจจะระคายเคืองผิว ยังเช็กผลต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมได้ เช่น ใครที่กังวลเรื่องการใช้แรงงานเด็กต้องมั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ไม่มีส่วนผสมของแร่ Mica จากธรรมชาติ (หรือตรวจสอบความมั่นใจว่าแบรนด์นี้ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมได้คร่าวๆ ที่ i_made_a_list_of_makeup_brands_that_are_working )

สำหรับใครที่กังวลว่าครีมกันแดดที่เราใช้จะส่งผลต่อท้องทะเล ให้เลี่ยงส่วนผสมอย่าง benzophenone-3 (BP-3), ethylhexyl methoxycinnamate (EHMC) และ octocrylene (OC) และที่สำคัญ อย่าลืมรียูส แยก หรือรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์สวยๆ งามๆ ของเราหลังใช้หมดด้วยนะ

Content Designer

#เกิดจังหวัดตาก #ไปเรียนที่เชียงใหม่ #กำลังเป็นนักเขียนอยู่ในเมืองกรุง

Read More:

Body สาระสำคัญ

แคมเปญเลิกทาส ในศตวรรษที่ 21

ผู้บริโภคทำอะไรเพื่อเลิกแรงงานทาสในวงการแฟชั่นได้บ้าง

Body ผลการทดลอง

20 ชิ้น 20 วัน ฉันจะใส่เสื้อผ้าวนไป ไป ไป ไป!

20x20 challenge ท้าตัวเองให้ใส่เสื้อผ้าแค่ 20 ชิ้น วนไปภายใน 20 วัน

Body จากผู้ใช้จริง

ขอเป็นมือที่สอง!

มารู้จักจักรวาลร้านเสื้อมือสอง แล้วลองไปช้อปตามสไตล์