Eat —— มนุษยสัมพันธ์

มนุษย์สัมพันธ์ 01 : คุยกับ 3 คนไกลบ้าน เปิดกล่องเสบียงอาหารจากครอบครัว

ในช่วงล็อกดาวน์ที่ผ่านมา นอกจากเราจะได้เห็นเพื่อนในโลกออนไลน์หลายๆ คนลุกขึ้นมาเข้าครัวเตรียมตัวเป็นมาสเตอร์เชฟแล้ว เรายังได้เห็นคนจำนวนไม่น้อยที่ได้รับกล่องเสบียงอาหารจากทางบ้าน ที่เปรียบเสมือนตัวแทนความเป็นห่วงเป็นใยของพ่อแม่ผู้กลัวลูกจะไม่มีความมั่นคงทางอาหารในช่วงที่ร้านอาหารทั้งเมืองกรุงเทพฯ ต้องปิดหน้าร้าน

แน่นอนว่าอาหารจากทางบ้านมักจะมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร บ้างก็เป็นอาหารโปรดที่กินที่ไหนก็ไม่เหมือนบ้าน บ้างก็หาซื้อในกรุงเทพฯ ไม่ได้ บ้างก็เป็นวัตถุดิบที่แต่ละครอบครัวปลูกเอง แต่สิ่งที่เหมือนกันคือทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นอาหารที่เรารู้ที่มา สามารถเชื่อใจได้ว่าทั้งอร่อยและปลอดภัย เพราะพ่อแม่เลือกมาให้แล้ว!!

เราเองก็เป็นหนึ่งคนได้เสบียงอาหารจากที่บ้านในช่วงโควิด ซึ่งวัตถุดิบที่ทางบ้านส่งมาให้ทั้งน้ำพริก หมูแดดเดียว หมูกรอบ ในสถานการณ์ปกติเราคงเก็บอาหารเหล่านี้ไว้ในช่องลึกๆ ของตู้เย็น รู้ตัวอีกทีก็กินไม่ทัน เพราะการอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ทำให้เรารู้สึกว่ามีทางเลือกในการกินมากมายไม่มีทางอดตาย 

แต่เมื่อเจอภาวะวิกฤตที่การออกไปซื้ออาหารข้างนอกเป็นเรื่องลำบาก การสั่งอาหารจากนอกบ้านมากินบ่อยๆ ก็สิ้นเปลือง บรรดาร้านอาหาร ซูเปอมาร์เกต รวมถึงตลาด ก็มีให้เลือกน้อยจนนับนิ้วได้ นั่นทำให้เราเห็นคุณค่าของเสบียงจากที่บ้านขึ้นมาทันที

เพราะเสบียงอาหารเหล่านี้ไม่เพียงแค่สะท้อนความห่วงใยของคนทางบ้านหรือความหลากหลายของอาหารที่หาไม่ได้ในกรุงเทพฯ แต่ยังสะท้อนถึงความมั่นของทางอาหารของต่างจังหวัดที่มีมากกว่ากรุงเทพฯ เพราะในยามวิกฤตที่บ้านเราก็ยังพอจะมีอาหารเหลือกินที่แบ่งปันมาให้ลูกได้ ต่างจากเราที่ทางเลือกของอาหารมีจำกัด แถมยังต้องแย่งกันกินกันใช้ ต้องคอยดูข่าวว่ามีวัตถุดิบใดขาดตลาดไปหรือไข่ไก่ยังราคาปกติดีใช่ไหม?

ในช่วงเวลาวิกฤตที่ผ่านมาไม่ได้มีแค่เราเท่านั้นที่ต้อง conscious กับการใช้ชีวิตและการกินมากขึ้นเป็นเท่าตัว ยังมีอีกหลายคนที่พบว่าเสบียงอาหารจากทางบ้านทำให้ชีวิตง่ายขึ้น ปลอดภัยมากขึ้น เราจึงชวนคนไกลบ้านทั้งหลายมาเปิดเสบียง โชว์กล่องอาหาร พร้อมเล่าเรื่องราวความเป็นห่วงเป็นใยและความปลอดภัยของแต่ละครอบครัวให้เราฟัง 

  • ชื่อ: ณัฐ
  • อายุ: 26 ปี
  • อาชีพ: copywriter
  • ระยะไกลบ้าน: 608 กิโลเมตร (เจริญกรุง กรุงเทพฯ – ห้างฉัตร ลำปาง)
  • ไอเท็มเด็ดจากทางบ้าน: เนื้อแดดเดียว แคบหมู ไข่เค็ม เห็ดถอบ น้ำพริกแมงมัน น้ำพริกข่า น้ำพริกน้ำย้อย น้ำพริกตาแดง ดอกเงี้ยว ผักเชียงดา กล้วยตากนึ่งน้ำผึ้ง

แม้จะทำอาหารเองเป็นประจำ แต่การระบาดของโควิดระบาดก็ทำให้ณัฐต้องใส่ใจเรื่องอาหารมากขึ้นเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเรื่องความสะอาดและปลอดภัยในการเดินทางเพื่อหาซื้อวัตถุดิบนอกบ้าน กล่องเสบียงอาหารจากลำปางจึงเป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้เธอกินของอร่อยแบบปลอดภัย แถมยังได้สัมผัสรสชาติจากบ้านในยามที่กลับลำปางไม่ได้ด้วย

“ที่บ้านไม่เคยส่งมาให้เลยหรือเป็นเพราะไม่เคยขออันนี้ไม่แน่ใจ แต่ช่วงโควิดเค้ากลัวไม่มีกิน เพราะร้านปิดเยอะและออกไปไหนไม่สะดวก แกก็จะถามว่าอยากได้อะไรไหม จริงๆ เราบอกให้เขาส่งเนื้อแดงแดดเดียวมาให้อย่างเดียว เพราะมันเป็นอาหารที่บ้านทำเอง หาซื้อที่ไหนก็ไม่ได้จริงๆ แต่ที่เหลือมันคือโบนัสห้อยท้ายส่วนใหญ่จะเป็นพวกวัตถุดิบต่างๆ ที่หาซื้อในกรุงเทพฯ ไม่ค่อยได้ อย่างเห็ดถอบ ดอกเงี้ยว ผักเชียงดา น้ำพริกแมงมัน น้ำพริกข่า พวกนี้ เพราะเราก็ทำอาหารเอง”

“แต่จริงๆ ช่วงโควิดเราไม่ได้รู้สึกว่าอาหารหากินยากนะ เพราะทำอาหารเองอยู่แล้ว เลยไม่ได้มองว่าร้านปิดเป็นปัญหา แต่เรา concern มากขึ้นโดยเรื่องความสะอาดกับความปลอดภัยคือไม่อยากให้ออกไปไหน เสบียงอาหารก็ช่วยได้ รสชาติที่บ้านถือว่าเป็นโบนัสด้วย”

  • ชื่อ: จิ๊บ
  • อายุ: 27 ปี
  • อาชีพ: แม่บ้าน 
  • ระยะไกลบ้าน: 492 กิโลเมตร (บรรทัดทอง กรุงเทพฯ – อำเภอเมือง ร้อยเอ็ด)
  • ไอเท็มเด็ดจากทางบ้าน: ข้าวหอมมะลิ มะม่วงจากสวน มะม่วงกวน เนื้อแดดเดียว หม่ำ

ไม่ใช่แค่ช่วงโควิด แต่จิ๊บได้รับเสบียงจากบ้านมาตลอดตั้งแต่เข้ามาทำงานในกรุงเทพ จิ๊บบอกเราว่าวัตถุดิบที่ส่งมาให้เป็นประจำนั้น ไม่เพียงแค่ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้ แต่ยังคุณภาพดีกว่า เพราะเป็นอาหารที่บ้านทำเอง 

“บ้านเราส่งอาหารมาให้ตั้งแต่ช่วงเริ่มเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ เมื่อ 4 ปีก่อนแล้ว จะส่งมาประมาณ 6 เดือนครั้ง ส่วนใหญ่ก็จะเป็นข้าวหอมมะลิกับผลไม้จากสวนของที่บ้าน ”

“เราติดกินข้าวหอมมะลิของที่บ้าน เป็นข้าวจากนาของเราเอง ช่วงเรียนที่เชียงใหม่ก็ต้องแบกกลับไปด้วย หุงข้าวกินเองประหยัดได้เยอะ นอกจากประหยัดแล้วเรารู้สึกว่าข้าวที่กรุงเทพฯ ไม่อร่อย แข็ง แต่ข้าวที่บ้านของเรามันมัน นุ่ม ร่วน แถมหุงง่าย”

“พอมาทำงานแม่ก็เลยจะส่งข้าวมาให้ด้วย มันอารมณ์แบบคนต่างจังหวัดอะ กลัวลูกอดก็เอาข้าวไปด้วยนะ ไม่มีตังค์อย่างน้อยก็ยังมีข้าว

“นี่แม่ของเราฝากมากับรถตู้ของคนแถวบ้าน ซึ่งคนแถวนั้นเขาก็ฝากข้าวกันมาเยอะแยะเลย มีเรื่องตลกตรงที่พอมันฝากมาเยอะๆ เค้าก็ส่งให้เราผิด ต้องวนรถมาส่งใหม่เพราะข้าวมันซ้ำกันเยอะ” 

ไม่เพียงแค่ข้าวสาร แต่จิ๊บยังมีอาหารอื่นๆ จากทางบ้านด้วยไม่ว่าจะเป็นมะม่วงจากสวน เนื้อแดดเดียว และหม่ำ เพื่อให้สามารถทำอาหารกินได้ในยามที่ไม่อยากออกนอกบ้านหรือนึกไม่ออกว่าจะกินข้าวนอกบ้านอะไร เป็นเหมือนความมั่นคงทางอาหารที่มีติดบ้านไว้ในทุกๆ สถานการณ์

  • ชื่อ: นาย 
  • อายุ: 26 ปี
  • อาชีพ: ถ่ายและตัดต่อวิดีโอ
  • ระยะไกลบ้าน: 680 กิโลเมตร (รัชดาซอย 7 กรุงเทพฯ – สันป่าตอง เชียงใหม่)
  • ไอเท็มเด็ดจากทางบ้าน: ข้าวสาร อาหารแห้ง แคบหมู ดอกเงี้ยว

จากคนไม่เคยทำอาหารกิน ไม่มีแม้กระทั่งอุปกรณ์ทำอาหารในหอ การ WFH ตลอดเวลาในช่วงที่ผ่านมาก็กำให้นายได้ทดลองเป็นมือใหม่หัดปรุงเหมือนกับหลายๆ คน ซึ่งการทำอาหารกินเองนอกจากจะช่วยประหยัด ไม่ต้องออกไปเผชิญกับความไม่ปลอดภัย ยังทำให้นายได้กินรสชาติอาหารเหนือแต้ๆ จากวัตถุดิบที่บ้านส่งมาให้อีกด้วย 

“ปกติที่บ้านไม่ค่อยได้ส่งอะไรมา แต่ช่วงที่ชัตดาวน์แม่แพนิกมากๆ กลัวลูกไม่มีอะไรกินเลยส่งของกินมาให้ ส่วนใหญ่จะเป็นวัตถุดิบพวกข้าวสาร อาหารแห้ง ของแปรรูปต่างๆ เอามาทำอาหารอีกที”

“ก่อนเกิดโควิดเราไม่ได้ทำอาหารเลยค่ะ คือไม่คิดจะซื้ออุปกรณ์ทำอาหารด้วยเพราะห้องที่อาศัยอยู่ไม่ค่อยเหมาะกับการทำอาหารสักเท่าไหร่ เมื่อก่อนก็จะไปทานที่ร้าน ไม่ก็สั่งเดลิเวอรี่แต่ตอนนี้มันจำเป็นต้องซื้อมาทำเพราะร้านข้าวอะไรก็ปิดหมด จะให้สั่งอาหารมาทานทุกวันก็ไม่ไหว พอแม่ส่งวัตถุดิบจากบ้านที่หาไม่ค่อยได้มาให้ อย่างเช่น แคบหมูที่แม่ส่งมาให้เป็นแคบหมูแบบติดมันชิ้นหนาๆ ไม่แน่ใจว่าที่กรุงเทพฯ หาซื้อยากไหมเพราะไม่เคยไปตามหาซื้อ แต่จริงๆ ก็ไม่ค่อยเห็นแคบหมูแบบนี้ขายที่ไหนเลยในกรุงเทพฯ เราเลยได้ทำอาหารเหนือที่ตัวเองอยากกินด้วย”

“จริงๆ แล้วร้านอาหารเหนือในกรุงเทพฯ มันหาไม่ยากนะ แต่ถ้าหาร้านที่ทำรสชาติถูกปากคือหายาก เคยเจอร้านหนึ่งทำน้ำเงี้ยวใส่น้ำตาลปี๊บ กินแล้วคือเสียความรู้สึกมากๆ ตอนนั้นเลยรู้สึกว่าไม่อยากไปตามหาร้านอาหารเหนือกินแล้ว เพราะกลัวผิดหวัง ส่วนใหญ่จะกินแค่พอหายอยากแค่นั้น แต่ตอนนี้มีอุปกรณ์ทำครัวแล้วเลยแก้ปัญหาโดยการทำกินเองเลย พอได้ทำเองมันรู้สึกประมาณว่า นี่แหละ รสชาติที่ฉันต้องการ สาแกใจมากๆ ค่ะ”

อาจจะพูดได้ว่าวิกฤตโควิดทำให้หลายๆ คนมีมุมมองต่ออาหารเปลี่ยนไป บ้างก็ได้ลิ้มรสวัตถุดิบท้องถิ่นที่ไม่ได้กินมานาน บ้างก็ได้ค้นพบทักษะทำอาหาร อย่างเราเองก็เห็นความหมายที่แท้จริงของความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงเหตุผลที่เราสนับสนุนให้ชุมชนรักษาความหลากหลายทางอาหารเอาไว้ เพื่อให้เรามีกินอย่างยั่งยืนได้ไม่ว่าในอนาคตเราจะเจอกับวิกฤตอะไรก็ตาม

Content Designer

#เกิดจังหวัดตาก #ไปเรียนที่เชียงใหม่ #กำลังเป็นนักเขียนอยู่ในเมืองกรุง

Read More:

Eat สาระสำคัญ

ส่องวัตถุดิบรสนัว ก้นครัวชนพื้นเมือง

เข้าใจวิถีชีวิตชนเผ่าพื้นเมืองบ้านเรา ผ่านอาหารและจักรวาลการครัว

Eat มนุษยสัมพันธ์

มนุษยสัมพันธ์ 05: จักรวาลขนมปังของเชฟแก้ว Salee Bakehouse ที่พูดเรื่อง welfare ของเกษตรกร

ชวนเชฟแก้ว-กมลา ธานีโต คุยเรื่องการทำขนมปังแบบเข้าใจตัวเอง การเป็นครู และสิ่งสำคัญที่อยากส่งต่อให้กับนักเรียนในคลาสขนมปัง

Eat บันทึกประจำวัน

Urban Foraging BKK บันทึกเด็ดดอกไม้กินจริงๆ ไม่ได้เล่นขายของ

ความสนิทสนมกับต้นไม้ในซอยบ้านนี่แหละ ที่จะทำให้เรากลมเกลียวกับโลกใบนี้มากขึ้น