Love —— สาระสำคัญ

ที่พูดไป ใช่ freedom of speech ไหมนะ?

‘เราจำได้ว่าแต่ก่อนคนนี้นิสัยเสียมากเลย ไม่มีใครชอบสักคน’

‘เป็นเกย์ก็เหมือนเป็นโรคนั่นแหละ’

‘ฆ่ามันเลย เรื่องแบบนี้จะได้จบซะที’

‘คนประเภทนี้ก็โง่ทั้งนั้น อยู่ไปก็รกประเทศ’

ในฐานะพลเมืองเน็ต ข้อความเหล่านี้คงเป็นหนึ่งในรูปแบบคำพูดเจ็บแสบที่เราเห็นผ่านตากันอยู่บ่อยๆ ดีไม่ดีนี่อาจเป็นข้อความที่เราเห็นกันจนชินไปซะแล้ว เพราะทุกวันนี้โลกโซเชียลก็ไม่ต่างอะไรจากสมรภูมิรบขนาดย่อมที่ผลิตคำพูดเสียดแทงและเสียดสี พร้อมเชิญชวนให้เราเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการวิพากษ์วิจารณ์อยู่เสมอ ไม่ว่าเรื่องเหล่านั้นจะเป็นเรื่องการเมือง สภาพสังคม หรือแม้แต่เรื่องไอดอลคนโปรดก็ตาม 

แน่นอนว่ามีหลายครั้งที่ข้อความเหล่านั้นเกิดจากความมันมือจนหยุดไม่อยู่ และอีกหลายๆ ครั้งเช่นกันที่ข้อความเหล่านี้นำไปสู่การโต้เถียงถึงความเหมาะสมในการแสดงความคิดเห็น 

พอพูดเรื่องความเหมาะสมขึ้นมาเราก็มักจะเห็นคำพูดประมาณว่า นี่แหละคือการแสดงความคิดเห็นตามหลัก ‘freedom of speech’ หรือบางครั้งพอมีคนพูดว่า ‘เธอกำลังสร้าง hate speech อยู่นะ’ ก็มักจะมีการโต้เถียงกันอีกยาวว่านี่ใช่ hate speech จริงมั้ย หรือนี่ก็แค่การแสดงความคิดตามสิทธิที่เราพึงมีกันแน่

แล้วสรุปขอบเขตของคำเหล่านี้มันอยู่ที่ไหนกันนะ?

freedom of speech เปิดกว้าง ตามใจปากหรือด่าใครก็ได้?

หากแปลกันตรงๆ ตามพจนานุกรมของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ freedom of speech หมายถึงสิทธิในการแสดงความคิดเห็นอย่างเปิดเผย แต่ถ้าขยายชัดอีกหน่อยตามความหมายของ Amnesty หน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชน เจ้าคำนี้จะหมายถึงสิทธิในการเข้าถึง การพูด การแสดงความคิดเห็นเรื่องอะไรก็ตามด้วยวิธีอะไรก็ได้ตามหลักประชาธิปไตย (ขีดเส้นใต้ย้ำๆ) ดังนั้นถ้าเราอยากจะร้องเพลง เล่นละคร หรือถือป้ายประท้วงก็ย่อมทำได้โดยไม่มีใครมาสั่งห้ามแน่นอน!

นั่นหมายความว่าไม่ว่าจะเป็นเรื่องขาว ดำ เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย เราทุกคนล้วนมีสิทธิในการวิพากษ์วิจารณ์ โต้กลับ ออกความคิดเห็นกันได้อย่างเท่าเทียมบนพื้นฐานที่ทุกคนเคารพซึ่งกันและกัน แล้วก็ต้องระลึกไว้ด้วยว่าเมื่อพูดบางสิ่งออกไปก็อาจโดนตอบกลับจากคนที่ไม่เห็นด้วยจะเป็นเรื่องปกติ แม้บางทีมันอาจมาในรูปแบบของคำหยาบสุดช็อกก็ตาม 

จากอิสระทางความคิดสู่ hate speech ที่ส่งต่อความรุนแรง

ถึงลิมิต (จริงๆ) ของ freedom of speech จะดูกว้างขนาดไหน แต่การแสดงความคิดเห็นที่นำไปสู่ความเกลียดชังก็ไม่ใช่การใช้สิทธิที่ถูกต้อง

พจนานุกรมของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ได้ให้คำนิยามไว้ว่า hate speech คือคำพูด หรือการแสดงความคิดเห็นผ่านวิธีใดก็ตามที่ส่งเสริมให้เกิดความเกลียดชัง ความรุนแรงต่อกลุ่มคนใดกลุ่มคนหนึ่ง หรือกลุ่มเชื้อชาติ ศาสนา เพศ สีผิว 

โดยหลักๆ มันก็คือการพูดถึงกลุ่มคนเหล่านี้ด้วยถ้อยคำรุนแรงเช่น ‘ไปตายซะ’ ‘ออกจากประเทศไปเหอะ’ หรือเหมารวมว่าพวกเขาเป็นคนแบบนั้นแบบนี้ ทำให้คนที่ผ่านมาเห็นรู้สึกคล้อยตามว่ากลุ่มคนเหล่านี้สมควรได้รับการปฏิบัติแย่กว่ามนุษย์ทั่วไป ซึ่งเลเวลความรุนแรงอาจหนักไปถึงการสนับสนุนการฆ่าฟันกันเลยก็ได้

แรงมาแรงกลับไม่โกง แล้วลิมิตของการพูดอยู่ที่ไหน?

เอาเข้าจริงประเด็นนี้ก็เป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงกันอีกยาวว่าขอบเขตของคำพูดแต่ละประเภทจะไปตัดสินกันจริงๆ ที่ตรงไหน เพราะจากบทบัญญัติเพิ่มเติมของรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาหรือ First Amendment อันเลื่องชื่อเรื่องสิทธิเสรีภาพ เขาก็มีพาร์ตที่ว่าด้วยเรื่องเสรีภาพของการพูดอย่างจริงจังเพื่อป้องกันสื่อและประชาชนโดนปิดปากจากภาครัฐ แต่มันก็ไม่ได้ระบุขอบเขตชัดเจนว่าคำพูดไหนควรพูดหรือไม่ควรพูด ตราบใดที่คำพูดเหล่านั้นไม่ก่อให้เกิดการกระทำที่รุนแรงก็พอ 

อย่างประเด็น Westboro Baptist Church ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นกลุ่มต่อต้าน LGBTQ+ ของสหรัฐฯ ที่สมาชิกในโบสถ์มักมีกิจกรรมประท้วงต่อต้านกลุ่ม LGBTQ+ อยู่บ่อยๆ ด้วยการทำป้ายขอบคุณพระเจ้าที่สร้างเหตุการณ์โกลาหลให้ผู้คนล้มตาย โดยพวกเขาเชื่อว่ามันคือการลงโทษที่อเมริกามีกลุ่ม LGBTQ+ มากเกินไป ฟังแล้วคงรู้สึกเดือดๆ (แถมหลายๆ คนก็ลงความเห็นกันว่านี่แหละคือศูนย์รวม hate speech ของจริง) แต่เมื่อขึ้นศาลพวกเขากลับไม่โดนข้อหาใดๆ เพราะศาลมองว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ก่อให้เกิดการกระทำที่รุนแรง

ในขณะเดียวกันกฎหมายของหลายประเทศ เช่น เยอรมันนี ฝรั่งเศส หรือแม้แต่ความเข้าใจในโลกออนไลน์เอง ขอบเขตของมันก็มักจะหยุดอยู่ที่คำพูดที่ไม่ก่อให้เกิดความเกลียดชังนี่แหละ 

ฟังดูแล้วขอบเขตของการตัดสิน hate speech นั้นมีหลากหลายระดับ แต่บทเรียนที่ผ่านมาก็ทำให้เราเห็นแล้วว่าการให้ความสำคัญกับคำพูดที่หลุดออกไปนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้ามจริงๆ

จากเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว (Holocaust) ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองก็ถือเป็นหนึ่งในบทเรียนสำคัญที่ทำให้คนทั้งโลกเห็นว่าการสร้างวาทกรรมแสดงความเกลียดชังนั้นส่งผลกระทบรุนแรงขนาดไหน ทั้งจากความเชื่อที่พรรคนาซีส่งต่อว่าชาวยิวน่ารังเกียจ เพราะมีศาสนาและความเชื่อที่แตกต่างจากชาวยุโรปอื่นๆ ไปจนถึงความเชื่อที่ว่าคนเยอรมันคือกลุ่มชาติพันธุ์ที่ดีที่สุด ทำให้ต่อมามีการสนับสนุนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวไปมากถึง 6 ล้านคน 

นั่นจึงเป็นสาเหตุว่าทำไมกฎหมายของเยอรมันในปัจจุบันถึงให้ความสำคัญกับคำพูดมากถึงขนาดมีการปรับโซเชียลมีเดียต่างๆ เป็นเงินจำนวนมหาศาลได้เลย หากพวกเขาไม่ยอมระงับการเผยแพร่ข้อความที่ส่งเสริมความเกลียดชัง

เมื่อความตื่นตัวเรื่องการพูด เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์

ทุกวันนี้โลกออนไลน์เอง ก็หันมาตื่นตัวกับเรื่อง hate speech อย่างกว้างขวางมากขึ้น หลังจากทรัมป์ได้ทวีตข้อความสนับสนุนความรุนแรง ในการจัดการกลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้อง Black Lives Matter และต่อมาทวิตเตอร์ก็ได้ระงับทวิตนั้นของทรัมป์ทันที

ในขณะที่เฟซบุ๊กยังคงเพิกเฉยต่อสารพัดคำพูดเชิง hate speech ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงนั้นโดยไม่มีการแบนใดๆ หรือหากมีการระงับการแสดงของข้อความก็มักเกิดจากผู้ใช้รายอื่นที่แจ้งไป มากกว่านั้นยังมีการพบว่าเฟซบุ๊กเคยเรียกสำนักข่าว The Daily Caller และ Breibart News ว่าสำนักข่าวที่เชื่อถือได้ แม้สำนักข่าวทั้งสองจะเคยทำงานร่วมกับกลุ่มคนชาตินิยมผิวขาวอยู่บ่อยครั้ง

บริษัทยักษ์ใหญ่ทั่วโลก เช่น ยูนิลิเวอร์ โคคาโคล่า สตาบัคส์ และบริษัทอื่นๆ มากกว่า 200 แห่งทั่วสหรัฐฯ และยุโรปจึงร่วมกันเข้าร่วมแคมเปญ #StopHateforProfit หรือการถอนโฆษณาของตนออกจากเฟซบุ๊ก ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้รายได้กว่า 99% ของเฟซบุ๊กหายไป จนกว่าทางเฟซบุ๊กจะมีมาตรการจัดการกับคำพูดเชิง hate speech อย่างจริงจัง และยอมรับการอยู่ร่วมกันของผู้ใช้งานต่างสีผิวและเชื้อชาติอย่างเป็นรูปธรรม แทนการอ้างว่าตนเองนั้นเป็นกลางกับเหตุการณ์ที่ผ่านมา

ล่าสุดมาร์ก ซัคเคอเบิร์ก ก็ได้ออกมาประกาศอย่างเป็นทางการแล้วว่าเขาจะหามาตรการต่างๆ มาจัดการกับคำพูดเชิง hate speech ทั้งหลาย และจะมีการระงับข้อความเหล่านั้นก่อนจะออกไปสู่สาธารณะชน ซึ่งเราก็คงต้องมาติดตามกันว่าจะได้ผลมากน้อยแค่ไหน 

คุณกำลังจะพูดอะไรออกไป…

เหนือสิ่งอื่นใดการตระหนักให้ดีถึงสิ่งที่เราจะพูดก็คงเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด

เพราะสุดท้ายลิมิตของ freedom of speech หรือความรุนแรงของ hate speech จะอยู่ตรงไหนก็คงเป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงกันไปอีกยาว อีกอย่างการพูดถึงหรือวิจารณ์ใครสักคนก็ถือเป็นสิทธิในการแสดงความคิดเห็นที่เราไม่มีทางห้ามกันได้ แต่ผลกระทบที่ออกไปสู่วงกว้างมีให้เห็นเป็นบทเรียนกันอยู่บ่อยๆ

ดังนั้นทางที่ดีที่สุดก็คือการทบทวนตัวเองให้ดีถึงทุกคำที่เรากำลังจะพิมพ์ โพสต์และพูดออกไป เพราะสุดท้ายก็คงเป็นเราเองที่รู้ดีที่สุดนั่นแหละว่าอะไรที่ควรพูดหรือไม่ควรพูด 

Content Designer

#อดีตนิสิตภาควารสารฯ #เรียนจบแล้ว #นักเขียน

Read More:

Love สาระสำคัญ

แด่ผู้สูญหายที่ไม่อาจกลับมา

อะไรบ้างที่หายไป พร้อมการถูกบังคับสูญหาย

Love สาระสำคัญ

ไหว้เจ้า 9 ศาล กับ 9 คำอธิษฐานเพื่อเมืองที่ดีกว่านี้

รวมคำอธิษฐานจากเมือง ที่อยากให้เมืองนี้ดีและน่าอยู่มากขึ้น

Love มนุษยสัมพันธ์

ทำไมต้องจ่ายภาษี แค่เกิดมามีประจำเดือน

คุยกับแก๊งนักศึกษาแพทย์จาก Scora Thailand เจ้าของแคมเปญเรียกร้องให้ยกเลิกภาษีผ้าอนามัย