Love —— Safe Zone First

Safe Zone First EP. 05 จะเป็นยังไง…ถ้าเราเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้ ‘ตัวเราเอง’

“มันคือกระดาษเปล่าๆ เลยครับ” คือคำตอบที่ทำเราเซอร์ไพรส์ไปหลายวินาที เมื่อเราร้องขอให้ชายผู้นี้ช่วยนิยามคำว่า ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ด้วยการวาดหรือเขียนลงไปบนกระดาษ

แปลกใจนักว่าทำไม พื้นที่ปลอดภัย หรือ #เซฟโซน แฮชแท็กยอดฮิตที่ผู้คนในสังคมยุคนี้พูดถึงอย่างโหยหา ต้องการ และเรียกร้องที่จะเป็นเจ้าของ จึงถูกอธิบายง่ายๆ ด้วยความว่างเปล่า แค่นั้นเองเหรอ

และกระดาษเปล่านี้เอง ที่นำไปสู่การนั่งสนทนายาวๆ ว่าด้วยคำว่าเซฟโซน กับ วิจักขณ์ พานิช หรือ อ.ตั้ม ผู้อำนวยการสถาบันแห่งการเรียนรู้ทางใจที่ชื่อ ‘วัชรสิทธา’ และผู้ร่วมก่อตั้งสเปซภาวนาใจกลางเมืองแบบไม่จำกัดศาสนาที่ชื่อ ‘อวโลกิตะ’ เราเตรียมคำถามไปเต็มกระเป๋า ตั้งแต่นิยาม คุณค่า วิธีลงมือทำสำหรับคนที่ไม่ได้มีความเชื่อหรือศาสนา และอาจลึกล้ำไปถึงการชวนคุยเรื่องปรัชญาชีวิต

บางคนที่กล้าๆ กลัวๆ กับการอ่านบทสัมภาษณ์นี้ เพราะคำว่า นักวิชาการ นักปรัชญาศาสนา หรือ นักออกแบบการเรียนรู้ทางจิตวิญญาณ ซึ่งเปรียบเสมือนยี่ห้อที่ติดอยู่บนตัวของ อ.ตั้ม อาจทำให้กำแพงของคุณสูงขึ้นมา แต่ในฐานะผู้เขียนและผู้คุย อยากบอกคุณว่าหากเราเข้าใจเรื่องนี้ได้ดีพอ มันอาจจะพาเราไปสู่การเรียนรู้ที่จะรักตัวเองได้มากขึ้นอีกนิด ซึ่งมันสำคัญกับการดำรงชีวิตของเรา ขอเพียงแค่มีหัวใจที่กล้าจะเปิดกว้างมากขึ้นอีกหน่อย

ขอให้บทสัมภาษณ์ปิดท้ายคอนเทนต์ซีรีส์ #SafeZoneFirst #พื้นที่ปลอดภัยไว้ก่อน นี้ได้เป็นกุญแจดอกแรกๆ ที่พาเรา คุณ หรือทุกคนซึ่งอาจกำลังอ่อนแอหรือเหนื่อยล้าอยู่ ไปค้นเจอวิธีอยู่กับตัวเองที่อ่อนโยนและยั่งยืนมากขึ้นในไม่ช้านี้

Q: พื้นที่ปลอดภัยคืออะไร หน้าตาเป็นยังไง

ถ้าในทางศาสนา แพตเทิร์นของพื้นที่ปลอดภัยจะคล้ายๆ กับว่าเรา renounce (สละหรือละทิ้ง) ตัวเองออกจากสังคม ออกจากครอบครัว ออกจากวัฒนธรรม เข้าสู่ป่า เป็นทิศทางที่เราจะเสาะแสวงหาความจริง แบบเดียวกับพระพุทธเจ้า โยคี หรือว่านักบวช ถ้ามองลึกลงไปอีกจะเห็นว่า มันเป็นการเปลี่ยนจากพื้นที่ที่เต็มไปด้วยข้อกำหนด เงื่อนไข คำตัดสิน การนิยามถูกผิด ดีไม่ดี ควรไม่ควร ไปสู่พื้นที่ของอิสรภาพ ซึ่งในแง่นี้ พื้นที่ที่ปลอดภัยทางจิตวิญญาณที่สุดก็คือพื้นที่ป่า ลองสังเกตว่าเดี๋ยวนี้ก็มีเทรนด์ไปอาบป่า เข้าหาธรรมชาติ ไปรีชาร์จตัวเอง ไปพบเซนส์ของการฮีลลิ่ง การได้ยินเสียงภายในเช่นกัน 

สัญญะของป่าในทางจิตวิญญาณ คือพื้นที่ที่ไร้การตัดสิน เป็นพื้นที่ที่เปิดกว้าง เป็นพื้นที่ที่เงียบ เป็นพื้นที่ที่ผ่อนคลาย เป็นพื้นที่ที่เราได้ยินเสียงชีพจร เสียงหัวใจ เสียงเนื้อตัว เสียงข้างในของเรา แล้วเราสามารถสัมผัสกับเสียงเหล่านั้นในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสติปัญญาของเรา ในการที่จะเข้าใจสิ่งต่างๆ อย่างที่เป็น สรุปว่าพื้นปลอดภัยสำหรับเราก็เป็นแบบนี้แหละ ไม่ตัดสิน มีความหลากหลาย มีความเป็นจริง มีความเงียบ มีการสร้างสรรค์ตามธรรมชาติ อะไรอย่างนี้ครับ 

Q: ทำไมคำว่า ‘พื้นที่ที่ไร้การตัดสิน’ เป็นคอนเซปต์ที่คนในสังคมยุคนี้สนใจเยอะขึ้นมากๆ 

ไม่ใช่แค่สังคมยุคนี้ ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน เราต้องการพื้นที่แบบนี้ในการเติบโตทางจิตวิญญาณอยู่เสมอ ไม่ใช่แค่เรื่องศาสนานะ แต่เป็นทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นคนทำงานศิลปะ นักทดลอง นักวิทยาศาสตร์ นักดาราศาสตร์ เชฟ นักเขียน ไม่ว่าเป็นอะไร คุณต้องการพื้นที่ที่คุณไม่ตัดสินตัวเอง และคนอื่นก็ไม่ตัดสินคุณ เพื่อที่เราจะได้อยู่กับประสบการณ์ที่มันแปรเปลี่ยนตลอดเวลา มีสิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลาตรงหน้า แล้วเอาสิ่งตรงหน้าเป็นวัตถุดิบให้กับการเรียนรู้เพื่อผลิตงานสร้างสรรค์ของเราได้ 

แต่สมัยก่อน มีเพียงกลุ่มคนบางกลุ่มเท่านั้นที่เป็นคนกำหนดว่าอะไรถูกผิด อะไรดีไม่ดี อะไรที่ควรค่าแก่การรักษาส่งต่อ มันอาจจะเคยมีชุดความจริงชุดเดียว เป็นคุณค่าสูงสุดอย่างเดียว ไม่ว่าจะศาสนาเอย ประเพณีเอย ศีลธรรมเอย ซึ่งพวกนี้จะผูกโยงกับผู้มีอำนาจ แต่โลกสมัยใหม่ไม่ใช่โลกแบบนั้น เป็นโลกที่เรายึดหลักความเท่าเทียมกัน แล้วก็ empower ว่าทุกคนมีสติปัญญา มีการสร้างสรรค์ในแบบตัวเอง เราฝึกชื่นชมความหลากหลาย ซึ่งมันทำให้เวลาเราพูดถึงการเติบโตของปัจเจกบุคคล เราต้องการ conscious แบบนั้น ต้องการการไม่ตัดสิน ความเคารพซึ่งกันและกัน เคารพในเส้นทางที่หลากหลาย เพราะการแสวงหาความรู้ของแต่ละคนอาจจะไม่ได้ตรงตามประเพณีหรือค่านิยมของผู้มีอำนาจ ของครูบาอาจารย์ ของพ่อแม่ แต่เราก็ยังมีพื้นที่ปลอดภัยให้คนนั้นได้ ถ้าเขารู้ว่าทำอะไรอยู่ เราก็ให้พื้นที่ที่ไม่ตัดสินแก่เขา เพื่อให้เขาได้เรียนรู้

โลกสมัยใหม่เปิดกว้างเรื่องความคิด เรื่องไลฟ์สไตล์ เรามีทางเลือกเยอะมากขึ้น เราส่งเสริมให้คนค้นหาตัวเอง ให้คนคิดนอกกรอบ ให้มีความคิดสร้างสรรค์ที่จะเดินไปบนเส้นทางที่คนไม่เคยเดินมาก่อน แม้ว่าใครจะมาบอกว่าเราบ้ายังไง ถ้าเรารู้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ รู้ว่ามันเป็นสิ่งที่มีคุณค่าสำหรับเรา เราก็จะกลายเป็นนักสร้างสรรค์ เป็นผู้เรียนรู้ได้ วิถีทางแบบนี้มันเปิดกว้างกว่าสมัยก่อนมาก พูดง่ายๆ ว่าพื้นที่ที่ไม่ตัดสิน มันจึงกลายเป็นเสรีภาพที่เราเอามาปฏิบัติกันมากขึ้นในชีวิตประจำวัน

Q: หรือเพราะเรารู้สึกว่าสังคมตอนนี้ไม่ปลอดภัย เราเลยเรียกร้อง

เราคิดว่ามันไม่ใช่เพราะสังคมไม่ปลอดภัยมากขึ้น แต่มันเป็นบริบทที่ต่างกัน คนสมัยก่อนเวลาเราพูดถึงการบวช การสละโลก มันจะเป็นเรื่องขาวกับดำ คุณต้องเลือกทางโลกหรือทางธรรมไปเลย ทางโลกก็กำหนดมาตายตัวมากว่าคุณต้องทำแบบนี้ ถ้าพ่อแม่คุณขายซาลาเปา คุณก็ต้องขายซาลาเปาต่อ ถ้าคุณไปมีคำถามปุ๊บ คุณก็อยู่ไม่ได้แล้ว ถ้าคุณมีความคิดอะไรที่แหวกออกมา เขาก็จะหาว่าคุณบ้า การที่มีพื้นที่ปลอดภัยในการสละโลกไปสู่วิถีชีวิตที่เรียกว่าพระ นักบวช โยคี หรือแม้แต่ที่เขานิยามว่าคนบ้าก็ตาม อย่างน้อยก็เพื่อที่จะได้มีอิสระ มันเป็นสิ่งที่ต้องแลกมาในโลกสมัยก่อน เพราะบริบททางสังคมและการเมืองมันไม่ได้เอื้อให้คนเป็นปัจเจกบุคคล 

แต่โลกสมัยนี้เป็นโลกของปัจเจกบุคคล มีเรื่องของ individuality ค่อนข้างสูง เราคุ้นเคยแล้วกับคำว่า “คุณต้องเป็นตัวของตัวเอง” แต่ในยุคพ่อแม่เรา สิ่งนี้มันไม่มีอยู่ในสารบบ เราคิดว่ายุคนี้การเติบโตของวุฒิภาวะของปัจเจกบุคคลมันได้รับการส่งเสริมด้วย มันเลยเป็นสิ่งที่เป็นคุณค่าหลักที่สำคัญ 

มันเป็นไปไม่ได้เลยถ้าคุณบอกให้เป็นตัวของตัวเอง คิดนอกกรอบ มองหาอะไรใหม่ๆ สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ แต่คุณยังทรีตคนแบบเดิม ครอบครัวยังใช้วิธีการกับลูกแบบเดิมๆ โรงเรียนก็ทรีตนักเรียนแบบเดิมๆ รัฐบาลก็ทรีตพลเมืองแบบเดิมๆ ดังนั้น การที่คนพูดเรื่องพื้นที่ปลอดภัยกันเยอะในตอนนี้ เพราะสังคมที่เราอยู่ตอนนี้ ยังไม่ได้เป็นสังคมที่ส่งเสริมเสรีภาพและความเสมอภาค เราถึงพูดเรื่องนี้กันเยอะในสื่อ ว่าในการเรียนรู้และทำความเข้าใจตัวเอง สิทธิเสรีภาพเป็นเรื่องที่สำคัญ เป็นเหมือนน้ำ เหมือนอากาศบริสุทธิ์ที่เราต้องการ จิตวิญญาณของเราจึงจะเติบโตได้

Q: การมีพื้นที่ปลอดภัยให้เราได้เป็นตัวเอง มันเท่ากันกับการที่เรามี self-esteem ไหม

เมื่อเราอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย มันไม่ได้หมายความว่าเราจะมี self-esteem แล้วนะครับ แต่สิ่งที่พื้นที่ปลอดภัยเป็นให้เราได้เลย คือเป็นพื้นที่ที่ไม่มีการบีบคั้น ไม่มีการกดทับ ไม่มีการปรุงแต่งที่เป็นมลพิษจากคนอื่น เป็นพื้นที่ที่เปิดกว้าง เป็นธรรมชาติ เป็นพื้นที่ที่เรารู้สึกผ่อนคลายในวินาทีนี้ ในประสบการณ์ที่กำลังเจอ ถ้าเรากำลังสับสนอยู่ ก็ผ่อนคลายที่จะอยู่กับความสับสนของเรา ถ้าเรายังไม่รู้ว่าจะเรียนคณะอะไร ก็อยู่กับความไม่รู้ หรือว่าเราอาจจะคิดอะไรบางอย่างที่มันแปลก แล้วเราอยากใช้เวลากับมันสักนิด ก็เป็นพื้นที่ที่ทำให้เรารู้สึกว่าสามารถจะอยู่กับสิ่งนั้นได้ โดยไม่มีใครบอกว่าไอเดียคุณมันแย่ ต้องไปคิดอย่างอื่น 

มันไม่ได้เป็น self-esteem แต่อาจจะนำไปสู่ self- esteem ก็ได้ เมื่อคุณอยู่ในพื้นที่แบบนั้นเป็นระยะเวลาหนึ่ง คุณได้มีโอกาสอนุญาตให้ตัวเองได้รู้สึก อนุญาตให้ตัวเองได้ปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น โดยที่คุณเป็นตัวของตัวเองในช่วงเวลาหนึ่ง มันก็จะเกิดการเรียนรู้ การที่บอกว่าเรามีพื้นที่ปลอดภัย แล้วเรารู้จักตัวเอง ก็อาจทำให้เราเกิด self-esteem ก็ได้ เพราะมันเป็นพื้นที่ที่รุ่มรวยไปด้วยความเป็นไปได้

อย่างตัวเราเองก็เป็นผลผลิตของการศึกษากระแสหลัก เราเรียนหนังสือตั้งแต่อนุบาลจนจบมหาวิทยาลัย แต่พูดตรงๆ เราไม่รู้จักตัวเองเลย มันอาจจะเป็น self-esteem ปลอมๆ ว่าฉันจบมหาวิทยาลัยนี้ คณะนี้ เอาไว้พูดกับคนอื่นได้ แต่ถามว่าลึกๆ แล้วเรามี self-esteem ในแง่ของคุณค่าที่เรารู้สึกกับตัวเองจริงๆ จากการที่เราลองผิดลองถูกด้วยตัวเองไหม เรารู้จักความคิด รู้จักความทุกข์ไหม 

เราคิดว่าระบบการศึกษาไทยยังไปพาเราไปไม่ถึง มันไม่ได้ก่อให้เกิดพื้นที่ปลอดภัยในห้องเรียนที่ทำให้เกิดการพูดคุยที่เป็นมนุษย์ เลยกลายเป็นว่าสิ่งที่เราคุยกันในห้องเรียนมันไม่ได้ออกมาจากตัวตน ความรู้สึก และประสบการณ์คนนั้นจริงๆ แต่ออกมาจากตำราบ้าง มาจากสิ่งที่ควรต้องพูด ควรต้องปฏิบัติต่อกันบ้าง ประสบการณ์ที่เราเจอในระบบการศึกษาไทย มันอาจจะเป็นเหตุผลที่เราอยากสร้างพื้นที่การเรียนรู้ที่ทำให้คนที่มาเรียนรู้สึกปลอดภัย เป็นตัวของตัวเอง อยู่กับประสบการณ์ที่เขาเจอในช่วงเวลานั้นๆ ได้ 

Q: แล้ว comfort zone ล่ะ เท่ากับ safe zone ไหม

ไม่ คนละอันกันเลย comfort zone มันคือเซ้นส์ของการที่เราอยู่ในความคุ้นเคยบางอย่างที่เราผลักออกไปยากพอสมควร เช่น เราเกิดในครอบครัวชนชั้นกลาง เราก็อาจจะรักความสบาย ชอบอยู่ในที่ที่มีการปรุงแต่งให้เรารู้สึกโอเค มีเครื่องปรับอากาศเวลาเราร้อน มีฮีตเตอร์เวลาเราหนาว ความสะดวกสบายเหล่านี้ มันสร้าง comfort zone ขึ้นมา และทำให้เราออกจากตรงนั้นเพื่อไปเผชิญกับสิ่งที่เป็น unknown ได้ยาก 

สำหรับเราแล้ว การเรียนรู้ตัวเองที่ดี มันจำเป็นต้องออกจาก comfort zone เพราะถ้าเราอยู่แต่ในตัวตนที่เรายึดถือไว้ ไม่เคยเจอเรื่องที่ trigger หรือท้าทายเรา เหมือนขับรถออกจากบ้าน แล้วเจอม็อบชาวนานั่งอยู่ริมถนน เราก็อาจจะรู้สึกว่าคนเหล่านั้นทำให้เราไม่ค่อย comfortable เราอาจจะด่าเขา รำคาญเขาที่มาเรียกร้อง แต่ถ้าเราพร้อมจะพาตัวเองลงจากรถ ออกไปดูว่าเขากำลังประท้วงอะไร พาตัวเองเข้าไปสู่การพูดคุยที่เราไม่รู้ว่าจะพาเราไปสู่อะไร ความไม่รู้แบบนั้นต่างหากที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้ โลกของเรามันจะกว้างขึ้น การเติบโตของจิตใจก็จะกว้างขึ้น รวมถึงทำให้คนอื่นเข้ามาได้มากขึ้น 

การทำพื้นที่เรียนรู้ก็เหมือนกัน บางคนรู้สึกว่าการมา วัชรสิทธา เนี่ย เป็นอะไรที่อยู่นอก comfort zone ของเขามากๆ แต่ที่นี่ก็ทำให้การต้องมาพูดต่อหน้าคนอื่นที่เป็นใครก็ไม่รู้ หรือการที่บางคนมาร้องไห้ต่อหน้าคนอื่น กลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยขึ้นมาได้ เพราะมันไม่มีการตัดสินประสบการณ์ของกันและกัน

Q: ฟังดูเหมือนว่า พื้นที่ปลอดภัย เป็นสิ่งที่สังคมหรือคนอื่นต้องสร้างให้เรา แล้วถ้าเราจะสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ตัวเองล่ะ เป็นไปได้ไหม

ได้ เราคิดว่าพื้นที่ปลอดภัยมันทำได้ทุกระดับ แน่นอน ถ้าสังคมสังคมเข้าใจความหลากหลาย นักการเมืองหรือคนที่มีอำนาจดูแลประเทศก็จะมีนโยบายสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ประชาชน คนที่หลากหลาย มีพื้นที่ของเด็กแว้น สก๊อย คนทำงานกราฟิตี้ ศิลปินทำงานสร้างสรรค์ เยาวชนคนรุ่นใหม่ รวมถึงการประท้วงชุมนุม เช่นกันกับการมีพื้นที่สาธารณะ สวน พื้นที่สีเขียว ทางเท้าที่ดี ถนนที่ดี ก็ล้วนเป็นการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้คนรู้สึกว่าเมืองที่เราอยู่มันน่าอยู่ ชวนให้เรารู้สึกการภาวนา ชวนให้เรารู้สึกผ่อนคลาย ชวนให้เรารู้สึกว่าไม่ต้องเร่งรีบ แข่งขัน แก่งแย่ง การสร้างพื้นที่เหล่านี้ก็คือการสร้างพื้นที่ปลอดภัยทั้งหมดเลย มันส่งผลต่อการเจริญเติบโตของคนนะ 

บางทีเราคิดว่าคนที่อยู่ต่างประเทศ เขาอาจจะไม่ได้ฉลาดกว่าเรา แต่ระบบการเมืองของเขามันทำให้ไอเดียของการสร้างพื้นที่ปลอดภัยในระดับสังคมมันเกิดขึ้นได้ ทำให้คนผ่อนคลาย แล้วก็ empower ให้เกิดกิจกรรมที่สร้างการเรียนรู้ ไม่ต้องไปทำอะไรก็ได้ แค่ได้เดินทางเท้าดีๆ ก็ปฏิสัมพันธ์กับคนแล้ว ขับรถไปบนถนนดีก็ได้เรียนรู้แล้ว ป้ายที่ไม่รกเกินไปก็ได้เรียนรู้แล้ว แลนด์สเคปของเมืองที่มีวิวทิวทัศน์และธรรมชาติมาปฏิสัมพันธ์กับเราก็ได้เรียนรู้แล้ว เหล่านี้ล้วนเป็นพื้นที่ปลอดภัยทางสังคม ทางธรรมชาติ

แต่ถ้าพื้นที่แบบนั้นไม่มีในสังคม แล้วเราจะไม่มีพื้นที่ปลอดภัยเลย ไม่ใช่ เราสามารถสร้างพื้นที่ปลอดภัยในระดับความสัมพันธ์ เช่นกับครอบครัว กับเพื่อน ครูบาอาจารย์กับลูกศิษย์ ถึงแม้ว่าสังคมจะ F*ck Up แต่เราก็สามารถหานวัตกรรมบางอย่าง ที่อย่างน้อยทำให้ชุมชนของเรา กลุ่มเพื่อนของเรา ห้องเรียนของเรา สถาบันของเราเป็นพื้นที่ปลอดภัย แม้คนข้างนอกจะต้องใส่หน้ากากเข้าหากัน จะต้องต่อสู้แข่งขันกัน แต่เมื่อคุณเข้ามาสู่พื้นที่แห่งการสัมพันธ์กันแบบนี้แล้ว เราจะจำลองพื้นที่ปลอดภัยให้แต่ละคนได้เป็นตัวเอง เล่าประสบการณ์ที่จริงแท้ของตัวเองแก่กัน ซึ่งพื้นที่แบบนี้ในระดับความสัมพันธ์ ระดับองค์กร ระดับสถาบันเนี่ย มันก็จะมีอิมแพ็กต์ในระดับสังคม ประเทศด้วยเช่นเดียวกัน 

ไม่ได้เป็นสิ่งที่เรียกร้องให้ทุกคนต้องทำนะ แต่ว่าทำได้ เพราะแต่ละคนมีร่างกาย มีลมหายใจ มี well-being ของตัวเอง ที่เราจะสามารถดูแลพื้นที่ในจิตใจหรือจิตวิญญาณ ถ้าเรามีพื้นฐานตรงนี้ แล้วเราไปต่อสู้ข้างนอก มีเรื่องรำคาญใจ สับสน แม้ว่าสังคมจะแย่ แม้ชีวิตจะทุกข์ก็ตาม เราก็เข้ามาดู รู้ตัว แล้วไม่ปล่อยให้มันเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ที่ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ กลับมาที่ peace within เราจะสามารถตื่นรู้กับสิ่งที่อยู่ในใจเราได้ เป็นกระบวนการที่ไม่เกิดความรู้สึกตัดสินตัวเองหรือตัดสินสิ่งที่เป็นอยู่มากเกินไป จนสุดท้ายกลายเป็นมุมมองที่ลบต่อชีวิต มุมมองที่สิ้นหวัง มุมมองที่รู้สึกไม่อยากมีชีวิตอยู่ 

อันนี้มันจะเป็นกำลังภายในนิดนึง แต่ถ้าเกิดว่าเราได้เรียนรู้เรื่องนี้บ้าง แม้ว่าชีวิตจะแย่แค่ไหน เราก็จะมีพลังงานตื่นขึ้นมาทำอะไรบางอย่างที่สามารถดูแลพื้นที่ปลอดภัยในใจเราได้ เราจะเจอทุกข์ยังไง มันจะแปรเปลี่ยนความทุกข์เหล่านั้น ให้กลายเป็นสติปัญญา 

ที่วัชรสิทธา เราเป็นพื้นที่การเรียนรู้ที่อยู่บนพื้นฐานของการภาวนา การรู้ตัว แล้วก็เราคิดว่าพยายามจะสื่อสาร meditation หรือการภาวนา ในภาษาที่มันเข้าใจได้ง่ายขึ้น เชื่อมโยงกับสิ่งง่าย ๆ ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะเรื่องการเรียนรู้

Q: ถ้าอยากมีกำลังภายในที่ว่า ทำไมต้องเป็นการ ‘ภาวนา’ 

การเปิดใจที่จะเรียนรู้ tools ของการภาวนามันเป็นเรื่องจำเป็น เหมือนเมืองที่ต้องมีพื้นที่สาธารณะ พื้นที่สีเขียว ห้องสมุด ทางเท้าที่กว้าง ถนนที่ไม่มีมลพิษ อากาศที่ดี น้ำที่ใส การภาวนาก็เหมือนกัน เราใช้การตื่นรู้ รู้ตัว ทำให้พื้นที่ข้างในเราได้รับการชำระล้างดูแล เราใช้กระบวนการนั่งอยู่กับตัวเองเฉยๆ ตั้งแกน แล้ว connect กับลมหายใจ กับความรู้สึกตัว กับร่างกาย กับ space ภายในของเรา

ถ้าเรานั่งกันเป็นกลุ่ม ก็จะรู้สึกถึง space ที่ทุกคนในกลุ่มแชร์กัน เวลาเราฟังเพื่อนพูด เราไม่ interrupt เขา เพราะเราเคารพใน space ที่แชร์ร่วมกัน อะไรแบบนี้คือส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ในมิติของการภาวนา เราพยายามจะมองให้เห็นว่า การภาวนาหรือการสัมพันธ์กับ space มันเป็นสิ่งที่สากลมากๆ เป็นพื้นฐานการสัมพันธ์กับตัวเราเอง สัมพันธ์กับอารมณ์ ความรู้สึก ความคิดสร้างสรรค์ต่างๆ เมื่อเรามี space ให้กับสิ่งเหล่านี้ ทีนี้เวลาเราสัมพันธ์กับคนอื่น เราก็ต้องมี space ให้เขาด้วยการฟัง ด้วยการรับรู้ความรู้สึกของเขา มันเป็นพื้นฐานของ empathy 

สมมติว่าในพื้นที่ที่คนมีความคิดที่หลากหลาย ง่ายๆ เช่น การประชุมในห้องเรียน เราก็จะมี space ให้แต่ละคนได้พูด ทีละคน แล้วก็มีการใคร่ครวญ มีเซ้นส์ของการตริตรอง ขยายไปสู่พื้นที่การปฏิสัมพันธ์กันในระดับสังคม พื้นที่หลากหลาย คนที่หลากหลาย ชนชั้นที่หลากหลาย ล้วนต้องการพื้นที่ในการอภิปรายและรับฟัง ไม่ว่าจะในสภา ในการทำประชาพิจารณ์ต่างๆ มันเป็นพื้นที่ลักษณะเดียวกันที่ขยายกว้างไปสู่มิติที่หลากหลายในสังคมมากขึ้น เราคิดว่าทั้งหมดนี้เป็นพื้นฐานการภาวนา

Q: ภาวนา ไม่ได้เท่ากับการนั่งนิ่งๆ เสมอไปเหรอ

อันนั้นคือเทคนิค แต่มันมีวิธีการที่หลากหลายมากที่จะนำไปสู่การที่เรามีพื้นที่ คำว่า space เป็นหัวใจหลักของวัชรสิทธาเลย นอกจากที่นี่จะเป็น space ของการเรียนรู้แล้ว กระบวนการทั้งหมดของการเรียนรู้ที่นี่ ก็เพื่อที่จะทำความเข้าใจ space ในแง่ประสบการณ์ภายในว่ามันหมายความว่ายังไง เวลาเราภาวนาแล้วรู้สึกตัว รู้สึกถึงลมหายใจ แล้วมันรู้สึกถึง space ที่เรามีให้กับความคิดที่ผ่านเข้ามาโดยไม่ตัดสิน มีให้กับความทุกข์ที่ผ่านเข้ามาโดยไม่ตัดสิน มีให้กับเรื่องราวต่างๆ ที่เราเข้าไปรับรู้โดยไม่ตัดสิน มันเป็นหัวใจหลักของการเรียนรู้ที่นี่ 

Q: เป็นคนล่ก เป็นคนยุกยิก จะภาวนาได้ไหม

ได้สิ การที่เรามาทำอะไรแบบนี้ ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องเปลี่ยนสิ่งที่เราเป็นนะ ไม่ใช่เลย space มันไม่ได้เป็นเผด็จการอย่างนั้น เราอาจจะคุ้นเคยกับคอร์สนั่งสมาธิแบบไทยๆ ใช่ไหมเลยทำให้เราเกร็ง แต่ที่นี่เราไม่ได้ทำแบบนั้น การมาเข้ากระบวนการ กิจกรรม คนที่เป็นวิทยากรหรือกระบวนกร จะเตรียมพื้นที่ให้เราเป็นตัวของตัวเอง ซื่อตรงกับประสบการณ์ที่เราเจอ ถ้าเกิดว่าเรามาอยู่ในห้องภาวนา แล้วรู้สึกปวดขา ยุกยิก มีความคิดเต็มไปหมด เราก็ฝึกที่จะอยู่กับประสบการณ์นั้น เวลาเราแชร์ ก็บอกตรงๆ ได้เลยว่ายังมีความคิดเข้ามา มีอาการปวดนั่นปวดนี่ พอเราได้พูดออกมา ได้แชร์ออกมา ก็จะเป็นกระบวนการหนึ่งว่ามีสิ่งนี้เกิดขึ้น เป็นอุปสรรคที่ทำให้เราไม่สามารถอยู่กับพื้นที่เปิดกว้างได้ นั่นคือการเรียนรู้อย่างหนึ่ง 

ถ้าเราอยากจะฝึกไปในทิศทางที่เปิดกว้าง เราก็ต้องเข้าสู่กระบวนการรู้จักเทคนิคบางอย่าง ค่อยๆ พาตัวเองไปหาสภาวะผ่อนคลายในเนื้อในตัว ค่อยๆ รดน้ำด้านนั้นในตัวเองทีละนิดๆ กระบวนการฝึกมีหลากหลายมาก แต่ที่สำคัญคือเรามีความซื่อตรงต่อประสบการณ์ที่เกิดขึ้น แล้วก็ในลักษณะการสอนของที่นี่ จะมีพื้นที่การแชร์ประสบการณ์ด้วย ไม่ว่าจะผิดจะถูกยังไง ทุกประสบการณ์สามารถมี awareness ได้ทั้งหมด มันไม่ได้เป็นเรื่องของเป้าหมาย แต่เป็นเรื่องของกระบวนการ

Q: ถ้ายังไม่พร้อมมาภาวนาด้วยการนั่งกำหนดลมหายใจ มีวิธีอะไรที่จะทำให้เรารู้ตัวเองได้อีกไหม

จริงๆ แล้วเราคิดว่าเวลามองเรื่องการภาวนา เขามักจะมองแต่เทคนิค ว่าคุณต้องมานั่งสมาธิ ต้องถูกสะกดจิตด้วยใครสักคนหนึ่ง มันดูไม่ empower ดูไม่เป็นอิสระ แต่เราคิดว่าจริงๆ แล้วมันตรงกันข้ามเลย เรามักจะอธิบายให้เข้าใจว่า ‘ทุกคนน่ะ ภาวนาอยู่แล้ว’ กระบวนการภาวนามันเป็นสิ่งพื้นฐานที่ทำให้ทุกคนมี sanity (สติ) เวลาเราโกรธ ถึงจุดหนึ่งก็จะรู้ตัวแล้วปล่อย เวลาเรากินบุฟเฟ่ต์ไม่บันยะบันยัง ถึงจุดหนึ่งเราจะอ้วก เราก็ต้องหยุด ดื่มน้ำ ไปเดินให้อาหารย่อย อันนี้คือการภาวนา

Q: คือทุกคนมีความสามารถที่จะทำมัน หรือทำมันอยู่แล้วด้วยซ้ำ

ใช่ การกระทำพวกนี้มันขยายความถึงภาวะเหล่านั้นที่เราแอบรู้อยู่แล้ว เรามีเซ้นส์ว่าเราจะพอแค่ไหน เราจะดูแลตัวเองได้ยังไง ผ่อนคลายได้ยังไง มีความสุขกับชีวิตได้ยังไง มี well-being ในชีวิตประจำวันของเราได้ยังไง เราก็แค่มาขยายมันให้ชัดขึ้นด้วยกระบวนการเรียนรู้ภายในของเราบางอย่าง เปรียบเทียบเหมือนกับการกำมือ กำแน่นๆ ถึงจุดหนึ่งก็เหนื่อย ร่างกายจะบอกเอง กำไปเรื่อยๆ จะรู้สึกชา รู้สึกทุกข์แล้ว ขอแค่รู้ คุณก็ปล่อย พอคุณคลายออก ก็จะรู้สึกว่ามันสบาย เราเรียนรู้แบบนี้ว่าภาวะอะไรบ้างที่ทำให้เกิด tension (ความเครียด) ไม่ว่าจะเป็นระดับร่างกาย อารมณ์ หรือความคิด เรารู้ตัวเองมากขึ้นว่าอะไรที่นำไปสู่ความทุกข์ แล้วคุณจะคลาย tension นั้นได้ยังไง เพื่อกลับสู่ภาวะที่เป็นปกติ แล้วเปิดกว้างอีกครั้งหนึ่ง 

Q: หมายความว่า แต่ละคนอาจจะทำได้ด้วยวิธีของตัวเองเหรอ

ใช่ คุณอาจจะทำงานศิลปะ ออกกำลังกาย โยคะ จัดดอกไม้ กวาดบ้าน ถูบ้าน ขัดห้องน้ำ นอน ฟังเพลง วิธีการเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัวของเรา กลับมาอยู่กับ space พื้นฐานของชีวิตเรา ถ้ารู้สึกว่าตัวเรามันหดแคบ เราก็ต้องหาอะไรทำให้มันคลายออก กลับมาเปิดกว้างพร้อมสำหรับวันใหม่ แต่กิจกรรมเหล่านั้น บางครั้งเป็นสิ่งที่เราทำเมื่อมันเกิดปัญหาอะไรบางอย่างแล้ว 

แต่ถ้าเราเข้าใจกระบวนการทั้งหมด เข้าใจว่ามันเกิดขึ้นได้ยังไง คลี่คลายได้ยังไง ด้วยการเรียนรู้อย่างที่ วัชรสิทธา ก็อาจทำให้เกิดความเข้าใจตัวเองมากขึ้นว่า อ๋อ เราไม่จำเป็นต้องปล่อยให้ตัวเองไปถึงจุดที่ไฟแดงขึ้นแล้ว เราสามารถดูแลตัวเองระหว่างทาง เห็นแพตเทิร์น เห็นความเคยชิน หรือปมปัญหาที่เราวิ่งหนีมาตลอด แล้วทำงานกับมัน เผชิญหน้ากับมัน เพื่อที่ว่ามันจะไปช่วยให้เราเปลี่ยนลูปของไฟแดงครั้งแล้วครั้งเล่า ให้ไม่ต้องไปชนกำแพงเดิม ไม่ต้องไปฟังเพลง หนีเที่ยว ลางาน กินเหล้า กระบวนการบางอย่างที่เข้าใจนั้นอาจจะไปช่วยเปลี่ยนแพตเทิร์น นำไปสู่สุขภาวะที่ยั่งยืนของตัวเรามากขึ้น

Q: อาจจะไม่ใช่แค่การหนีไปทำกิจกรรมอื่นๆ แต่ถ้าเรารู้ตัวว่าเราทำบางอย่างแล้วไม่ทุกข์ เราก็แค่ทำมัน แค่นี้ใช่การภาวนาหรือยัง

เราคิดว่าอันนี้ก็เป็นการเรียนรู้การภาวนาในชีวิตประจำวัน ถ้าเราเห็นว่าตัวเองมักเดินชนกำแพงในเรื่องนี้ ความสัมพันธ์ลักษณะนี้ หรือคนประเภทนี้ เราก็จะเกิดความรู้ตัว มองเข้ามาที่ตัวเราเองว่า ทำไมความสัมพันธ์ของเราทำให้เกิดความทุกข์ใจซ้ำแล้วซ้ำอีก หรือทำไมเราปฏิเสธคนแบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดการเรียนรู้ได้เหมือนกัน 

หรือเวลาเราบอกเพื่อนว่าวันนี้มีแต่เรื่องซวยๆ ไปกินเหล้ากันเถอะ มันก็อาจจะเป็นการภาวนาอย่างหนึ่ง แต่ว่าการทำแบบนั้นมันไม่เกิดกระบวนการเรียนรู้ไง แต่ถ้าคุณมาภาวนา แล้วเรามี awareness กับกระบวนการนี้ในเนื้อในตัวได้ ผมคิดว่ามันจะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่รากเลย อย่างน้อยคิดว่ามันทำให้เรารู้จักตัวเองมากขึ้นว่าเวลาอยู่ในโหมดแบบนี้ เราจะสามารถหยุดมันได้

แต่สิ่งที่มหัศจรรย์ของ meditation หรือการภาวนา คือมันไม่มีเงื่อนไข เราไม่ได้คิดล่วงหน้าว่าเราจะทำสิ่งนี้ไปเพื่ออะไร เราแค่ใช้ช่วงระยะเวลาหนึ่งในการนั่งเฉย ๆ อยู่กับผืนดินของความรู้สึกตัว อยู่กับเนื้อกับตัวแบบนี้ แล้วเป็นเรื่องที่น่าแปลกมาก เมื่อเราผ่อนคลายกับเนื้อกับตัว อยู่กับกระบวนการของภาวนาเป็นระยะเวลาหนึ่ง มันจะมีประสบการณ์ที่มันปรากฏขึ้นมาเอง เหมือนสิ่งที่มันถูกกดไว้ ปัญหา หรือสิ่งที่เครียดๆ ในเนื้อในตัวเรา เป็นรูปของความคิดบ้าง อาจมาในรูปของความกระสับกระส่ายหรือความเจ็บปวดร่างกายจุดนั้นจุดนี้ เพราะร่างกายเป็นเหมือนที่ที่รวมของเรื่องราว ประวัติศาสตร์ เป็นเหมือนผืนดินที่เต็มไปด้วยศักยภาพของการรู้อยู่แล้ว 

เราบอกไม่ได้ว่า space ที่เกิดขึ้นตอนเราภาวนา มันจะนำแต่ละคนไปสู่เรื่องอะไร มันอาจจะนำไปสู่ความเข้าใจเหตุการณ์นั้นมากขึ้น อาจจะนำไปสู่ความอ่อนโยนกับตัวเราเองมากขึ้น มันอาจจะนำไปสู่ความกรุณาต่อคนอื่นมากขึ้น มันอาจจะนำไปสู่การให้อภัยมากขึ้น มันอาจจะนำไปสู่ความรู้สึกการปล่อยวางได้เร็วขึ้น มันบ่มเพาะคุณสมบัติเหล่านั้นอะ

ร่างกายจริงๆ มันคือปัญญา ปัญญาอยู่ในร่างกาย มันรู้ทุกอย่าง อาจจะเป็นสิ่งที่สะสมมามากกว่าชีวิตนี้ของเราด้วยซ้ำ อาจเป็นการเดินทางที่ยาวนาน ฝังอยู่ในการก่อตัวของเซลล์ของร่างกาย หรือของพลังงานอะไรบางอย่างที่ออกมาจากร่างกาย เวลาที่เราภาวนา มันเป็นการเชื่อมต่อกับทั้งหมดที่อยู่ข้างในตัวเรา จากเดิมที่มันเคยอยู่ในระดับ unconscious ปรากฏขึ้นในเวลาที่เราไม่รู้ตัว เวลาที่เราถูก trigger เวลาเราอยู่ในความฝัน มันจะปรากฏขึ้นมาสู่ awareness ของเรา สู่ consciousness ของเรา 

Q: อาจจะไม่ต้องไปกินเหล้าแล้ว 

สิ่งสำคัญคือ เราต้องอยู่กับกระบวนการ สำหรับเราการภาวนาเป็นพื้นฐานของการเผชิญ ศาสนาพุทธจะพูดถึงการบ่มเพาะความเข้าใจ เป็นปัญญา 3 ระดับ หนึ่งคือปัญญาจากการฟัง สองคือปัญญาจากการคิดใคร่ครวญ การมี critical thinking แล้วสุดท้ายปัญญาระดับที่ 3 เป็นปัญญาระดับภาวนา หลายคนก็อาจจะงงว่าเป็นปัญญาจากการนั่งสมาธิเหรอ ไม่ใช่ มันคือปัญญาจากการไม่คิด ฝึกที่จะไม่คิด เอาเนื้อตัวของเราอยู่ในสถานการณ์นั้นๆ ภาษาอังกฤษเรียกว่า be present กับสถานการณ์ที่อยู่ตรงหน้า กระบวนการนั้นแหละที่จะทำให้เกิดการบ่มเพาะสติปัญญา และทำให้เกิดคุณสมบัติของจิตใจที่เพิ่มขึ้น เป็นปัญญาขั้นที่ประเสริฐที่สุด เป็นปัญญามือหนึ่งจริงๆ ที่ออกมาจากเนื้อตัวของเรา 

Q: มันไม่ใช่ความฉลาดที่จะเอาชนะ แต่มันคือการปล่อยเป็น 

ปล่อยจากความคิด ปล่อยจากสิ่งที่เราคิดล่วงหน้า ปล่อยจากคำตัดสิน แล้วเราเปิดที่จะอยู่กับสถานการณ์ตรงหน้า เปิดให้มันเป็นอย่างที่มันเป็น มันอาจจะวุ่นวาย อาจจะเครียด เราอาจจะไม่รู้จะแก้ปัญหามันยังไง แต่เราฝึกที่จะอยู่กับมัน

Q: แต่ก็ยังแอบรู้สึกว่ามันทำเองได้ยากอยู่ รึเปล่า

เอาจริงๆ มันอาจจะเปลี่ยนวิธีคิดเรามากกว่า ว่าพื้นที่ปลอดภัยไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งที่คนอื่นจะต้องสร้างให้เรา หรือจะต้องมีอยู่ก่อน เราคิดว่ามันต้องพลิกเปลี่ยน ทัศนคติตรงนี้ ว่าทุกคนมีศักยภาพในการสร้างพื้นที่ปลอดภัย ให้กับตัวเอง มันเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิอำนาจ ที่เรามีตั้งแต่เกิด ถึงแม้ข้างนอกจะยังไงก็ตาม เราก็สามารถดูแลพื้นที่ในใจของเราได้ มันเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นปัจเจกบุคคลนะ 

เมื่อเราเคลมความเป็นปัจเจกบุคคลของเรา เราก็ต้องรับผิดชอบตัวเอง อิสรภาพนำมาสู่ความรับผิดชอบด้วย ที่จะต้องดูแลสิ่งต่างๆ ในชีวิตได้มากขึ้น คนตะวันตกก็เป็นนะ เขาก็เริ่มเหนื่อยกับเสรีภาพเหมือนกัน เพราะมันก็ต้องรับผิดชอบมากขึ้น การที่เราให้คุณค่าเรื่อง freedom เป็นเรื่องที่ดี แต่ขณะเดียวกันเราก็ต้องเคลมการมีสิทธิอำนาจในการดูแลตัวเองของเราด้วย ไม่ใช่บอกว่าอยากได้เสรีภาพจากพ่อแม่ หรือจากใครบางคน แต่เราก็ไม่พร้อมที่จะดูแลตัวเอง ไม่พร้อมที่จะไปทำงาน เพื่อที่จะขอเงินพ่อแม่น้อยลง คุณเรียกร้องเสรีภาพ แล้วก็เรียกร้องการคุ้มครองจากคนอื่นด้วย อันนั้นมันไม่ได้ 

คุณเรียกร้องเสรีภาพ ถูกต้องแล้ว แต่ก็ต้องเรียกร้องการดูแลตัวเองด้วย ซึ่งอันนี้เราคิดว่ามันต้องมาคู่กัน สิทธิอำนาจตรงนี้ไม่ว่าจะเป็นการภาวนา การดูแลจิตใจรูปแบบต่างๆ เราคิดว่ามันเป็นสิ่งที่เราทุกคนทำได้ และพื้นที่ปลอดภัยตรงนี้เป็นส่วนหนึ่งของสัญชาตญาณ เป็นส่วนหนึ่งของการที่เราจะทำทำยังไงให้พร้อมเจอเรื่องราวต่างๆ ถ้าเราเห็นคุณค่าของสิ่งที่จะไปเรียนรู้ในวันพรุ่งนี้ เราก็จะรู้สึกว่าเราต้องเตรียมพร้อม แต่ต้องกล้าที่จะเอาตัวเองมาเป็นวัตถุดิบในการทดลอง มองเข้าไปข้างในตัวเอง เข้าใจตัวเองจริงๆ ว่าเกิดอะไรกับชีวิตเราบ้าง อะไรที่เป็นความทุกข์ อะไรที่เป็นปัญหา เอาสิ่งนั้นมาเป็นวัตถุดิบในการเรียนรู้จากตัวเอง รวมถึงเรียนรู้จากกันและกันด้วย ถ้าเราเปลี่ยนมุมมองสักนิดก็ไม่ใช่เรื่องที่ยากเลย เพียงแต่อาจจะไม่เคยใส่ใจมากกว่า

Q: คำถามคือ แล้วเราจะรักและหันมาดูแลข้างในตัวเองยังไง ไม่ให้โลกสวยเกินจริง เราสามารถมีพื้นที่ปลอดภัย โดยที่ยังแอคทีฟกับสังคม ไม่ใช่คนที่สนใจตัวเองโดยไม่สนใจสิ่งรอบตัวได้ไหม

เราไม่ได้ต้องเป็นแบบนั้นครับ พื้นที่ปลอดภัยข้างในที่เราแต่ละคนมี มันคือความรับผิดชอบในการดูแลชีวิตตัวเองให้ยังมีพลัง มีชีวิตชีวา มีความคิดสร้างสรรค์ มีความรู้สึกรักตัวเอง เคารพตัวเอง ทั้งหมดนี้ มันจะก่อกำเนิดคุณค่าต่างๆ เป็นพลังของชีวิตให้เราไปทำงานให้โลกใบนี้ 

มันไม่ใช่ว่าคนที่มี well-being ทุกคนจะเป็นคนที่เห็นแก่ตัว มันอาจจะมีแพตเทิร์นของคนที่สนใจเรื่องการปฏิบัติธรรมและการภาวนา แล้วไม่เอาเรื่องอื่นเลย ไม่สนใจการเมือง ไม่สนใจครอบครัว ไม่สนใจเรื่องความสัมพันธ์ กลายเป็นคนที่สุดท้ายก็เห็นแก่ตัว แต่เราต้องเปลี่ยนภาษาในการเข้าใจเรื่องนี้ มองว่าการดูแล space ข้างในเป็นพื้นฐานของการดูแล space ในความสัมพันธ์ เป็นพื้นฐานการดูแล space ระดับสิ่งแวดล้อม สังคม และอื่นๆ ทั้งหมด 

เวลาที่เราดูแลสภาวะจิตใจของเรา เคารพความเป็นมนุษย์ของเรา มันเป็นท่าทีเดียวกันกับการรับฟังความเป็นมนุษย์ของคนอื่น ท่าทีเดียวกันกับเวลามีสถานการณ์ทางการเมือง มีการเรียกร้อง มีการชุมนุมประท้วง เรารู้สึกถึงเซ้นส์ของ solidarity (ความเป็นหนึ่งเดียวกัน) ที่เราจะโอบรับความทุกข์ของคนอื่นไม่ต่างจากความทุกข์ของเรา ถ้าเราเข้าใจความหมายและประสบการณ์ของ space ที่เป็นสากลแบบนี้ จะไม่มีความขัดแย้ง มันเป็นอะไรที่สากลมาก ดังนั้นการที่เรา mature หรือเป็นผู้ใหญ่ขึ้นในระดับปัจเจก เราก็มีความ mature ขึ้นในระดับ Interpersonal และในระดับสิ่งแวดล้อม สังคม การเมืองเช่นกัน

Q: สรุปได้ไหมว่า พื้นที่ปลอดภัยในตัวเอง คือเบสิกของการที่เราจะมีพื้นที่ปลอดภัยในทุกระดับ

ใช่ อย่าง ili U ก็พูดถึงเรื่อง conscious lifestyle ใช่ไหม ก็เป็นไอเดียที่ดี อย่างเวลาที่เราฝึกภาวนา ดูแลพื้นที่ภายในของเรา มันก็คือเรื่องของ conscious เรามีสติ เราตระหนักรู้ รู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้นภายใน และอันนี้มันเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เรา conscious ในการปฏิสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ เพราะเราตระหนักว่า ไม่มีตัวตนที่แยกขาดจากสิ่งอื่น ตัวตนที่แยกขาดไม่มีจริง เราเป็นตัวเราทุกวันนี้ก็เพราะความสัมพันธ์ต่างๆ ที่เชพเราให้เป็นคนแบบนี้ แม้แต่เราในวินาทีนี้ก็ปฏิสัมพันธ์กับผู้คน ครอบครัว สังคม สิ่งแวดล้อม สิ่งเหล่านี้มันเชพให้เราเป็นตัวตนทุกวันนี้ 

มันคือเรื่องของ consciousness พอเราเข้าใจประเด็นนี้ จะเข้าใจการยกระดับ consciousness ในสังคม การเมือง สิ่งแวดล้อม เวลาเราทำงานเชิงนโยบาย หรือมีส่วนร่วมทางสังคม แม้กระทั่งการทำเพจ ทำสื่อ มันก็จะไม่ใช่มุมมองแคบๆ ระดับส่วนบุคคล แต่เป็นการทำงานบางอย่างที่ทำให้เกิดการตระหนักรู้ที่มันกว้างขึ้น เราคิดว่ามันเป็นท่าทีหนึ่ง ถ้าเราไม่ได้มองว่าการนั่งภาวนามันคือการฝึกจิต ตีความใหม่มันก็คือเรื่องของการมี conscious กับสภาวะที่เราดำรงอยู่ 

เรื่องพวกนี้จะเชื่อมต่อกันหมด เพราะมันไม่มีจิตของฉัน จิตของเธอ ไม่ใช่ จิตมันไม่ได้เป็นของใคร สมมติเราเป็นนักจิตวิทยา เราฟังเรื่องจิตคนอื่น เราก็ทำงานกับ consciousness มันไม่ใช่ว่าเรากำลังช่วยใครคนใดคนหนึ่ง เขาถึงมีคำพูดไงว่า ถ้าเราสามารถสัมพันธ์ความทุกข์ของคนนี้ ฟังเขาได้ รับรู้เขาได้ มันเหมือนกับว่าเรากำลังช่วยเหลือคนอีกมากเลยนะ ที่กำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ต่างจากเขา ที่เราแชร์ประสบการณ์ร่วมกัน มันคือความเข้าใจในความเป็นมนุษย์ คือความเห็นอกเห็นใจมนุษย์ที่เริ่มจากความทุกข์ของตัวเรา มันอาจจะดูเหมือนเราทำงานกับความทุกข์ของตัวเองนะ แต่มันคือ consciousness ที่ร่วมกันของมนุษย์ การทำงานกับความทุกข์ในระดับกว้างแบบนี้ มันคือการทำงานกับมนุษยชาติ

Q: นี่คือพื้นที่ปลอดภัยในอุดมคติเลย

ใช่แล้ว แต่เราไม่ได้พูดถึงอะไรที่พิเศษ เรากลับมองว่าการที่เรามี conscious life มีชีวิตที่เรารู้จักตัวเองแบบนี้ มันจะดึงดูดสิ่งที่เป็นปกติแบบนี้เข้ามาในชีวิตเรา เป็นเรื่องของสุนทรียะ เป็นเรื่องของ way of life เป็นเรื่องของพลังงานที่เราจะดึงดูดคนที่อาจจะมองหาสิ่งเหล่านี้ แล้วก็แชร์ความเข้าใจที่คล้ายๆ กัน สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ซับซ้อนเลย 

ยกตัวอย่าง เราอยู่ในรัฐบาลประยุทธ์มา 8 ปี มีนโยบายนั่นนี่ออกมา คนที่เชียร์รัฐบาลประยุทธ์เขาอาจจะรู้สึกสะใจ พอใจ ว่าสังคมสงบราบคาบดี อะไรที่เป็นของเดิมก็ได้รับการปกป้อง ของใหม่ก็ไม่ต้องมีมาก ตัดทิ้งไป เขาก็ไม่แคร์ บรรยากาศแบบนี้ก็จะส่งเสริม consciousness แบบหนึ่ง คนที่คิดแบบอื่นก็ suffer หน่อย แต่สังเกตไหมว่าพอชัชชาติได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม. ขึ้นมา จะรู้สึกเหมือนมี consciousness อีกแบบผุดขึ้นมาจากไหนไม่รู้ จากที่เราเคยคิดว่าสังคมไทยสิ้นหวัง ไม่มีทางที่จะเปลี่ยนได้ง่ายๆ แต่แปลกมากเลยนะ พอมันเกิดคนที่เริ่ม ผมไม่คิดว่าเป็นที่ตัวบุคคลด้วยนะ คิดว่ากระบวนการของชัชชาติ ทำให้เกิด consciousness ถึงอะไรบางอย่างร่วมกัน 

แล้วมันไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่งนะ มันเป็นเรื่องของการตระหนักรู้ร่วมกันในสิ่งที่เราต้องทำงานด้วยกัน เผชิญด้วยกัน แก้ไขปัญหาด้วยกัน มีเป้าหมายร่วมกันในการที่เราจะทำกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองน่าอยู่ อันนี้ผมว่ามันจิตวิญญาณมากเลยนะ มันเป็นเรื่องส่วนหนึ่งของการเมือง เป็นเรื่องของวิสัยทัศน์ เกิดเซ้นส์ที่เราอยากผลักสังคมไปด้วยกัน ทำให้เกิดความตื่นตัว ทำให้คนรู้สึกถึงคุณค่าของการมีชีวิตอยู่ เราสามารถสร้างนิพพาน หรือโลกพระศรีอาริย์ ในความหมายของเรา ซึ่งก็คือกรุงเทพฯ ที่น่าอยู่ ในโลกความเป็นจริงได้ 

ผมเชื่อมั่นมากเรื่องการเรียนรู้ที่มีมิติภายใน คุณค่อยๆ ทำไปเรื่อยๆ เชื่อมโยงกับกลุ่มคนที่เข้าใจเรื่องการตระหนักรู้ เคารพมนุษย์ ส่งเสริมมนุษย์ เชื่อมั่นศรัทธาในมนุษย์ แล้วเมื่อมันถึงจุดคานงัด ระบบก็จะเปลี่ยนได้ แต่ตอนนี้ที่มันยังไม่เปลี่ยน เราก็อาจจะต้องอึดกันนิดนึง ไม่ว่าจะเป็นสื่อ คนทำงานด้านการศึกษา ด้านความเป็นมนุษย์ ก็ค่อยๆ ทำไป ค่อยๆ เปลี่ยนแลนด์สเคปทีละนิด เราคิดนะว่าจริงๆ ประเทศไทยก็ใกล้จุดเปลี่ยนแล้วแหละ แต่ระบบมันยังสกปรก มันก็เลยยังถูกกดอยู่ 

คนอาจจะมองว่าชัชชาติเหมือนกับเป็นซูเปอร์ฮีโร่ แต่เราคิดว่าไม่ จริงๆ แล้วเขามีทีมของเขา ที่กำลังพาคนจำนวนมากเลยที่แชร์ consciousness เดียวกับเขา เอาจริงๆ คนที่มีการศึกษา มีความคิด เปิดกว้างทางการเรียนรู้มีเยอะเลย เราไม่ได้หมายถึงสลิ่มในปี 2553 นะ ความคิดคนเปลี่ยนไปเยอะแล้ว คนที่เป็นสลิ่มในปี 2553 ตอนนี้ก็กลายเป็น liberal ไปแล้วก็มีเยอะ เราต้องให้โอกาสกันและกัน ว่าตอนนี้คนจำนวนมากแชร์ภาพเดียวกัน ว่าเราไม่สามารถอยู่ภายใต้เผด็จการได้อีกต่อไปแล้ว

Q: พูดง่ายๆ ว่าถ้าเรามีพื้นที่ปลอดภัยให้ตัวเอง โลกหรือสังคมที่รู้สึกว่าสิ้นหวังเหลือเกิน อาจจะมีความหวังมากขึ้นด้วย

ใช่ๆ ทีนี้มันจะลงไปลึกเหมือนกันนะ มันจะลงไปถึงคำถามพื้นฐาน ไม่ว่าทางปรัชญาหรือทางจิตวิญญาณ ว่าตกลงแล้วมนุษย์เชื่อมั่นได้หรือเปล่า เราเชื่อมั่นในมนุษย์ได้จริงหรือเปล่า ลึกลงไปกว่านั้นคือตกลงแล้วธรรมชาติของมนุษย์ มีความดีโดยพื้นฐานหรือความเลวร้ายโดยพื้นฐานกันแน่ มันเป็น fundamental question 

เพราะว่าถ้าเกิดลึกๆ แล้ว คุณยังมีความคลางแคลงใจ ไม่เชื่อมั่น มีความกลัว ไม่ไว้วางใจในมนุษย์เลย สมมติถ้าคุณเป็นครู ก็จะมีท่าทีปฏิบัติต่อเด็กแบบนั้น ไม่ว่าจะไปอ่านหนังสือมากี่เล่ม ก็จะไม่มีทางเชื่อมั่นศรัทธาได้หรอกว่าเด็กมีความสามารถที่จะเติบโตเรียนรู้ได้จริงๆ คุณก็จะต้องออกกฎระเบียบ สั่ง ควบคุม บงการ เพราะคิดว่าถ้าเด็กเหล่านี้ได้รับอิสรภาพจะเสียคน แต่ถ้าคุณเชื่อมั่นในมนุษย์และมีทิศทางปฏิบัติแบบนั้นกับตัวเองจริงๆ คุณก็จะมีความรู้สึกว่า ถ้าเด็กได้รับอิสรภาพ มีพื้นที่ทดลองในการตระหนักรู้ของเขาเอง เขาก็จะเติบโตเป็นคนที่ดี 

ระบอบเผด็จการเกิดขึ้นจากการที่เขาไม่ไว้วางใจคน แต่ระบอบประชาธิปไตย จะเกิดขึ้นจากความไว้วางใจ แล้วคำถามคือว่า แล้วเรารู้สึกยังไงกันแน่ในตัวเราเอง มันเลยกลับมาที่ inner work ว่าสุดท้ายแล้ว เราพูดถึงการศึกษา พูดถึงทรัพยากรมนุษย์ พูดถึงเด็กเยาวชน แต่ลึกๆ เรากลับยังมีปมปัญหาบางอย่างที่เรายังไม่สามารถให้อภัยตัวเองได้ หรือเรายังไม่เชื่อมั่นว่าตัวเราสามารถเติบโตและเรียนรู้ได้ สิ่งที่เราทำมันก็ fake คุณไม่ได้เปิดกว้างจริงนี่ คุณไม่ได้ศรัทธาในเพื่อนมนุษย์จริงนี่ หลายคนที่เราเห็นว่าต่อสู้ 14 ตุลาฯ หรือ 6 ตุลาฯ มา แล้ววันนี้กลายเป็นสลิ่ม แปลว่าเขาไม่ได้เชื่ออย่างนั้นจริงๆ นี่ ไม่ได้เชื่อในคนรุ่นใหม่จริงๆ inner work มันจะเป็นตัวที่ขุดถึงราก พลังงานของเรา ว่าตกลงแล้ว เรามีความเปิดกว้างต่อตัวเรา ต่อโลก ต่อคนอื่นยังไง


วิจักขณ์ พานิช (ตั้ม)

เติบโตมาในระบบการศึกษาไทยจนถึงระดับมหาวิทยาลัย เมื่อได้ค้นพบว่าระบบการศึกษายังไม่ได้สนับสนุนให้เกิดการเข้าใจตัวเองอย่างแท้จริง จึงเริ่มสนใจศึกษาเรื่องการเรียนรู้ภายใน ระหว่างที่ได้เรียนปริญญาโทด้านศิลปศาสตร์ที่สหรัฐอเมริกา อ.ตั้ม ได้เห็นตัวอย่างของสถาบันการศึกษาที่ว่าด้วยมิติภายในที่นั่น เห็นความงอกงามของพุทธธรรมในโลกตะวันตก และได้รับประสบการณ์ส่วนตัวในเรื่องการรู้จักตัวเอง จึงเกิดแรงบันดาลใจให้กลับมาร่วมก่อตั้งพื้นที่การเรียนรู้แบบนี้ให้เกิดขึ้นในไทยบ้าง และตั้งชื่อพื้นที่แห่งนี้ว่า ‘วัชรสิทธา’ ซึ่งมีคอร์สการเรียนรู้ว่าด้วยการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ตัวเองหลากหลายรูปแบบ ต่อด้วย ‘อวโลกิตะ’ พื้นที่ภาวนาใจกลางเมืองที่เปิดรับคนทุกความเชื่อและศาสนา และเร็วๆ นี้กำลังจะก่อตั้ง wellness center แห่งใหม่ชื่อว่า ‘ปัทมคาระ’ 

“เรารู้สึกมีความสุขเวลาเห็นประกายตาของผู้คนในพื้นที่การเรียนรู้แบบนี้ สุขที่ได้เห็นชีวิตชีวา การปลดปล่อยความเป็นมนุษย์ของเขา เหมือน magic ที่มันเกิดขึ้นในห้องเรียนที่เราไม่ได้คิดล่วงหน้า ไม่มีใครเขียนบทไว้ล่วงหน้า เรารู้สึกมีความสุข เวลาที่เราเห็นบทสนทนาที่มัน real แล้วเราก็ชอบการเรียนรู้ ชอบบรรยากาศของสถาบัน ห้องสมุด หนังสือ อะไรอย่างนี้ครับ แอบเป็นเนิร์ดนิดหนึ่ง

“ที่นี่เราเป็นสายปฏิบัติ ที่นี่มีบรรพบุรุษอยู่ แต่มันไม่ได้เป็นเซ้นส์ว่าใครต้องมากราบไหว้ เคารพ แล้วบรรพบุรุษเหล่านี้ เหตุผลที่เราให้ความเคารพเขา เพราะว่าเขาอยากให้เราเป็นมนุษย์ แล้วก็จริงแท้กับตัวเอง ไปพ้นจากกรอบคิดอะไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นศาสนา การเมือง เพศ ชาติ เชื้อชาติ ชนชาติ อะไรต่างๆ แล้วมาสู่ประสบการณ์ในปัจจุบันในตอนนี้ สิ่งที่มันอยู่ในตัวเรา เราอยากให้พื้นที่ตรงนี้โอบรับประสบการณ์ของผู้คนที่หลากหลาย คุณจะนับถือศาสนาอะไร มีแบ็กกราวด์ยังไงเราไม่แคร์ ถ้าคุณยินดีที่จะเอาตัวเองในแบบที่เป็นตัวเอง ไม่ต้องมีหมวก มีเสื้อคลุมมาด้วย ที่นี่เปิดรับและต้อนรับทุกคนเลย

“ทุกวันนี้ ชีวิตเราไม่ได้ smooth เลย ชีวิตเรา chaos มาก เต็มไปด้วยปัญหาหลายเรื่อง แต่เราคิดว่าชีวิตเรารุ่มรวย เราได้เจอคนที่น่าสนใจ เจอสถานการณ์ที่น่าสนใจ เรารู้สึกว่าตื่นมาแล้วก็ใช้ชีวิตกับสถานการณ์ที่เข้ามาเต็มที่ เวลาเราพูดถึงความเปลี่ยนแปลง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เราอาจจะรู้สึกว่าต้องหาทางออก หาความสำเร็จทางการปฏิบัติธรรมหรือการเรียนรู้ที่ทำให้เราเจอแล้ว แต่เราว่า เราไม่เจออะ เราแค่พอใจกับกระบวนการการอยู่กับความเป็นจริง แล้วเราก็รู้สึกว่าความไม่แน่นอน ความทุกข์ หรืออะไรที่เรายึดมั่นเป็นตัวตนไม่ได้เลยสักอย่าง มันคือความรุ่มรวย เป็นสิ่งที่เป็นชีวิตจริง การที่เราต้องอยู่กับสิ่งที่ควบคุมไม่ได้อย่างนี้แหละ ถูกแล้ว“

ขอบคุณภาพจาก: วิจักขณ์ พานิช
ออกแบบกราฟิก: paperis

Content Designer

#อดีตเป็นบรรณาธิการสารคดีนิตยสารวัยรุ่น #เขียนหนังสือบ้างตามโอกาส #ปัจจุบันเป็นเจ้าของบริษัทคอนเทนต์ขนาดเล็ก #กำลังตั้งใจเรียนรู้ที่จะใส่ใจสิ่งรอบตัวมากขึ้นผ่านการเล่าเรื่องราวในไอแอลไอยู

Read More:

Love มนุษยสัมพันธ์

ฟังเสียง 10 คนรุ่นใหม่ที่กำลังแอคทีฟเพื่อเมือง

10 คนรุ่นใหม่ขยับเมืองในหลากหลายประเด็น ที่เราอยากชวนมาฟังเบื้องหลังการลงมือทำของพวกเขา

Love จากผู้ใช้จริง

เข้าใจ ‘เฟม’ มากขึ้น ผ่าน 4 หนังสือเฟมินิสต์น่าอ่าน

ทำความเข้าใจว่าเฟมินิสต์คืออะไร จำเป็นต่อสังคมแค่ไหน ผ่านหนังสือน่าสนใจที่เราแนะนำ

Love มนุษยสัมพันธ์

เขาบอกว่า ศิลปะไม่ควรยุ่งกับการเมือง?

คุยกับ 4 ศิลปินรุ่นใหม่ที่ใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือวาดหวัง